เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 28 เมษายน 2024, 05:58:08
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  การเกษตร,ฟาร์มสัตว์,ปศุสัตว์ (ผู้ดูแล: bm farm)
| | |-+  {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 [9] 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 ... 95 พิมพ์
ผู้เขียน {{ เรื่องของข้าว การทำนาและเกษตรผสมผสาน }}  (อ่าน 407073 ครั้ง)
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #160 เมื่อ: วันที่ 11 มกราคม 2013, 21:59:24 »

ข้าววัชพืช

1. ข้าววัชพืช คืออะไร ต่างกับข้าวทั่วไปอย่างไร     

ข้าวที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไป  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza  sativa L. ใช้ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์  เรียกในที่นี้ว่าข้าวปลูก  เป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกคัดเลือกให้มีลักษณะที่ต้องการเช่นผลผลิตสูง  ข้าวสารมีสีขาว ใส คุณภาพหุงต้มนุ่มและหอม  ไปจนถึงร่วนแข็ง  ต้านทานต่อโรคหรือแมลงที่สำคัญ  ข้าวพันธุ์หนึ่งจะมีลักษณะทางการเกษตรต่างๆ  เหมือนกันและคงตัว  คือในพันธุ์เดียวกันจะมีลักษณะ  สีใบ ทรงกอ  ความสูง การออกรวง  สีเปลือก  สีข้าวกล้อง เหมือนกันและคงตัว   และทุกพันธุ์จะมีลักษณะสำคัญคือเมล็ดจะสุกแก่ใกล้เคียงกันคือหลังบานดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน  พร้อมที่จะถูกเก็บเกี่ยวและถูกนวดให้หลุดจากรวง  คือจะไม่สุกแก่ก่อนเวลาไม่หลุดร่วงเองได้ง่ายๆ  และข้าวเปลือกจะไม่มีหางหรือถ้ามีก็จะสั้นมาก

            ข้าวป่าเป็นบรรพบุรุษของข้าวที่ใช้ปลูกในปัจจุบัน  เป็นข้าวอีกชนิดหนึ่งที่มีตามธรรมชาติทั้งในที่ลุ่มลึกและบนที่ดอน  ข้าวป่ามีหลายชนิดและที่มีความสำคัญและคาดว่าจะเป็นเชื้อพันธุ์ของข้าววัชพืชมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Oryza  rufipogon Griff.   ข้าวป่าแม้จะสามารถแบ่งเป็นหลายชนิด  ในแต่ละชนิดจะมีหลายลักษณะ  แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการที่มีในข้าวป่าทุกชนิดคือ  เมล็ดในรวงเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกันตั้งแต่ 9-30 วัน  เมื่อสุกแก่ก็จะหลุดร่วงได้เอง  เมล็ดมีระยะพักตัวหลากหลายตั้งแต่ไม่มีระยะพักตัวไปจนถึงระยะพักตัวหลายปี  เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวกล้องของข้าวป่าจะมีหลากหลายสี  เมล็ดอาจมีหางยาวมากกว่า 10 เท่าตัวของเมล็ด และมีหลายสี

  “ข้าววัชพืช” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า weedy rice เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในนาภาคกลางจนถึงภาคเหนือตอนล่าง มีลักษณะเหมือนต้นข้าวจนแยกไม่ออกในระยะกล้า  มีชื่อเรียกต่างๆกันไปในแต่ละท้องถิ่นตามลักษณะของข้าววัชพืชที่ปรากฏเช่น ข้าวหาง เนื่องเมล็ดมีหางยาว  ข้าวดีด ข้าวเด้ง เนื่องจากเมื่อเมล็ดแก่ และถูกลมพัดหรือคนไปสัมผัส เมล็ดจะร่วง ข้าวลาย เนื่องเมล็ดมีเปลือกลาย ข้าวแดง เนื่องจากเมื่อแกะเมล็ดจะพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง  ดาวกระจาย เนื่องจากลักษณะรวงจะกางออกและเมื่อเมล็ดแก่จะร่วงและกระจายไปรอบๆ เป็นต้น เคยระบาดในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา   นครศรีธรรมราช   ปราจีนบุรี  และพิษณุโลกในปี 2518 ความเสียหายที่จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 80% แต่ก็มีการจัดการได้ซึ่งสมัยนั้นโดยการเผาฟาง เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การเขตกรรมโดยการไถล่อข้าววัชพืชหลายครั้ง เนื่องจากชาวนายังทำนาปีละ  1  ครั้งเท่านั้น  และพบการระบาดรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2544 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน ข้าววัชพืชขยายวงกว้างของการระบาดออกไปเรื่อย ๆ จากการสำรวจข้อมูลการระบาดของข้าววัชพืชในฤดูนาปี 2550 พบการระบาดในพื้นที่นาของประเทศไทยถึง  19.2  ล้านไร่

2. ข้าววัชพืชเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากการศึกษาของหลายหน่วยงานพบว่า ข้าววัชพืชเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวป่าธรรมชาติ   
(O. rufipogon L.) กับข้าวปลูก และมีการกระจายตัวของลูกหลานออกเป็นหลายลักษณะ  โดยอัตราการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่า และระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืช ลูกผสมที่กระจายตัวและเจริญแพร่พันธุ์ในแปลงปลูกมีลักษณะส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ต้องการของชาวนา

3. การจำแนกข้าววัชพืช
สามารถจำแนกตามลักษณะภายนอกของข้าววัชพืชได้เป็น 3 ลักษณะ  ดังนี้

ข้าวหางหรือข้าวนก
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีดำหรือสึน้ำตาลเข้ม  มีหางยาว  หางอาจจะมีสีแดงหรือขาวในระยะข้าวยังสด  เมล็ดร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงไปจนถึงขาว



ข้าวแดงหรือข้าวลาย 
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะสีข้าวเปลือกมักมีสีเข้มไปจนถึงลายสีน้ำตาลแดง  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่ไม่มีหาง  เมล็ดมีทั้งร่วงและไม่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  แต่สีของเยื่อหุ้มเมล็ดส่วนใหญ่มีสีแดง



ข้าวดีดหรือข้าวเด้ง
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะร่วงง่ายและร่วงเร็วโดยทยอยร่วงตั้งแต่หลังบานดอก 9 วันเป็นต้นไป  เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีหางสั้นหรือไม่มีหาง  ข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีสีเหลืองฟาง  สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงและขาว



4. สาเหตุการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช                                   
การแพร่ระบาดของข้าววัชพืช  มาจากสาเหตุ 5 ประการ คือ
 

4.1 ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวเนื่องจากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจากแหล่งไม่มีคุณภาพ ในรอบ 1 ปี ชาวนามีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณกว่า  1  ล้านตัน แต่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เชื่อถือได้   ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ได้มาตรฐานได้ไม่เกิน  15  % ของความต้องการของชาวนาเท่านั้น อีก 85 % ชาวนาจำเป็นต้องเสี่ยงในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์เองตามร้านค้าและแหล่งผลิตเอกชน  ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานและมีเมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย



4.2 ติดมากับอุปกรณ์ในการทำนา เครื่องมือเตรียมดิน,  เก็บเกี่ยวหรือภาชนะบรรจุข้าว โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว  เมื่อไปเกี่ยวข้าวในแปลงที่มีการระบาดของข้าววัชพืชรุนแรง เมล็ดข้าวที่ติดมากับรถเกี่ยวนวด มีจำนวนประมาณ  2-5  ถัง ซึ่งมีโอกาสที่เมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย และมาร่วงหล่นในนาแปลงใหม่ที่รถเกี่ยวนวดข้าวลงทำงาน



4.3 ติดมากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาจากนาข้าว เช่น ฟาง แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หน้าดินผสมจากท้องนา ซึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมีคุณสมบัติอยู่ได้นานในสภาพต่าง ๆ

4.4 การแพร่ไปกับน้ำ ในระบบชลประทาน (ข้าวหาง ข้าวครึ่งเมล็ด) ลอยไปกับน้ำลงสู่แปลงนาได้ 

4.5 ติดไปกับอาหารเสริมของเป็ดที่ปล่อยในนาข้าว ส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกที่มีราคาถูก มีสิ่งเจือปน

5. ลักษณะของข้าววัชพืชที่ทำให้เป็นปัญหาร้ายแรง
 ดังได้กล่าวมาแล้วว่าข้าววัชพืชมีลักษณะต่างๆที่คล้ายหรือแตกต่างกับข้าวปลูกอย่างไรบ้าง แต่ลักษณะสำคัญที่ทำให้ข้าววัชพืชเป็นวัชพืชร้ายแรง ดังนี้

5.1 ข้าววัชพืชมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว  มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าข้าวปลูก  ข้าววัชพืชอาจมีความสูงมากกว่าข้าว  จึงมีความสามารถในการแก่งแย่งธาตุอาหารและแสงแดดมากกว่าข้าว  ข้าววัชพืชที่ต้นสูงจะล้มทับข้าวในระยะออกรวงทำให้ต้นข้าวปลูกเสียหาย

5.2 ข้าววัชพืชบางชนิดออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูกและเมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อน  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้มีเมล็ดสะสมอยู่ในแปลงนา  ซึ่งจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นในฤดูต่อไป



5.3 เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงสะสมอยู่ในนามีระยะพักตัวหลากหลาย  จึงไม่ได้งอกพร้อมกันทั้งหมด  ทำให้ยากต่อการกำจัด

5.4 เมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว  จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก  ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์

5.5 เมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงปะปนไปกับผลผลิตข้าว  ทำให้ถูกตัดราคา


6. การป้องกันปัญหาข้าววัชพืช
แม้ว่าข้าววัชพืชจะเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นการป้องกันเมล็ดข้าววัชพืชจากแหล่งที่มีการระบาดแล้วไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในแปลงนาที่ยังไม่มีการปลอมปน และเพื่อไม่ให้เผชิญกับปัญหาข้าววัชพืช ดังนั้นชาวนาสามารถทำการป้องกันปัญหาข้าววัชพืชได้โดย

6.1 การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มาตรฐานไม่มีข้าววัชพืชปลอมปน
6.2 ทำความสะอาดเครื่องจักรกลเกษตรก่อนการทำงานในแปลงทุกครั้ง
6.3 การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่นำวัสดุจากนาข้าวมาผลิต หรือต้องมั่นใจว่าไม่มีข้าววัชพืชปนมา
6.4 น้ำชลประทานที่ผ่านท้องที่ที่มีการระบาดของข้าววัชพืช อาจมีเมล็ดข้าววัชพืชลอยมากับน้ำได้  การใช้ตาข่ายกั้นทางน้ำก็จะป้องกันข้าววัชพืชได้

7. การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม
การผสมผสานหลายวิธีการในทุกขั้นตอนของการทำนาดังต่อไปนี้  จะช่วยแก้ปัญหาข้าววัชพืชได้ไม่ต้องพึ่งพาสารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีใดๆ
 

7.1 การกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชโดยล่อให้งอกแล้วไถกลบ         
การเตรียมดินโดยการไถ พรวน หรือคราดทำเทือก  ควรเว้นช่วง 2-4 สัปดาห์  เพื่อเว้นระยะเวลาให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในดินได้มีโอกาสพ้นระยะพักตัวมากขึ้น  โดยการมีขั้นตอนดังนี้ ปล่อยให้แปลงแห้งก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วปล่อยให้แห้งต่ออีก อย่างน้อย  1 สัปดาห์ แล้วเอาน้ำเข้าแปลงพอชื้น เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชงอก ไถกลบ ปล่อยแปลงในสภาพชื้นต่ออีก 1-2  สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีก แล้วไถทิ้ง การล่อให้งอกแล้วไถกลบทำลายในแต่ละครั้งสามารถลดปริมาณข้าววัชพืชลงได้มากกว่า 50 %



7.2 เปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว                                                 
7.2.1 วิธีปักดำ                                                           
การปักดำด้วยมือ ใช้เครื่องจักรตกกล้าปักดำ  หลังปลูกให้ขังน้ำทันทีระดับน้ำลึก 3-5 ซม.  จะป้องกันการงอกข้าววัชพืชได้  แต่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์  และตกกล้าในแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชอยู่ก่อน  อย่างไรก็ตามแม้จะใช้วิธีปักดำและการขังน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจยังมีข้าววัชพืชงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้  ทั้งนี้ข้าววัชพืชที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้นี้จะอยู่นอกแถวหรือนอกกอของการปักดำ  ชาวนาจึงพบเห็นข้าววัชพืชได้สะดวกตั้งแต่ในระยะแรก  และสามารถถอนกำจัดเสียแต่ต้น



7.2.2  การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า                                                           
ปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เป็นการเพาะข้าวจำนวน 3-4 เมล็ดต่อหลุมลงในถาดพลาสติก มีหลุมขนาดเล็ก แต่ละหลุมบรรจุดินประมาณ  2.5  กรัม โดยใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพียง  3-4  กิโลกรัม เพาะลงในถาดจำนวน  50-60 ถาด นำไปโยนได้  1  ไร่ อายุต้นกล้าที่เหมาะสม  12-16  วัน หลังโยนกล้า  1-2  วัน ให้ขังน้ำและเพิ่มระดับน้ำ 5-10 ซม. จะป้องกันการงอกของข้าววัชพืชได้ดี แต่เกษตรกรจะต้องเตรียมแปลงให้สม่ำเสมอ และข้อสำคัญอย่าให้นาขาดน้ำ



7.3 การตรวจตัดข้าววัชพืช
การตรวจตัดข้าววัชพืชเป็นการลดปัญหาไม่ให้ข้าววัชพืชผลิตเมล็ดสะสมในแปลงนาเพิ่มขึ้น ในระยะแตกกอเริ่มเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยจะสังเกตเห็นข้าววัชพืชส่วนใหญ่มีความสูงมากกว่า ลำต้นและใบมีสอ่อนกว่าข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีถอนต้นข้าววัชพืชทิ้ง พอถึงระยะออกดอกจะเห็นความแตกต่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยข้าววัชพืชส่วนใหญ่จะออกดอกก่อนข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีตัดชิดโคนต้นข้าววัชพืช แล้วนำไปทิ้งนอกแปลง เนื่องจากข้าววัชพืชงอกไม่พร้อมกันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืชไม่พร้อมกัน ดังนั้นจึงควรมี



7.4 การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง                                                       
การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสามารถลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชที่หลุดร่วงอยู่บนผิวดินได้ โดยเป็ด 200 ตัว/ไร่  ปล่อยไว้เป็นเวลา 2 วัน สามารถลดความหนาแน่นข้าววัชพืชได้ถึง 50 %

8. การกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช             
 การใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากข้าววัชพืชมีพันธุกรรมใกล้ชิดข้าวปลูกมาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ  สารกำจัดวัชพืชที่สามารถกำจัดข้าววัชพืชได้ก็จะเป็นพิษต่อข้าวปลูกด้วย     จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสารกำจัดวัชพืชที่เลือกทำลายเฉพาะข้าววัชพืชโดยไม่ทำลายข้าวปลูก  แต่อาศัยเทคนิคที่ทำให้สารกำจัดวัชพืชไปออกฤทธิ์กับข้าววัชพืชมากกว่าข้าวปลูก  ก็จะสามารถใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชโดยข้าวปลูกที่อาจโดนพิษของสารกำจัดวัชพืชน้อยกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์  โดยสามารถใช้ได้ 3 ระยะดังนี้
 

8.1 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังเตรียมดินก่อนหว่านข้าว
หลังจากไถเตรียมดิน ทำเทือก และปรับระดับให้สม่ำเสมอ  ให้ขังน้ำไว้ 3-5 เซนติเมตร  พ่นหรือหยดสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ  สารกำจัดวัชพืชจะทำลายต้นอ่อนของข้าววัชพืช  ข้าวเรื้อ  และวัชพืช  ขังน้ำไว้ 3-5 วัน  ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้หมด แล้วหว่านข้าว  สารกำจัดวัชพืชส่วนใหญ่ที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะออกจากแปลงนาไปพร้อมกับน้ำที่ระบายออกไป ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินที่เรียบสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้ขังน้ำและระบายน้ำออกอย่างสมบูรณ์ สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ ไดเมทธานามีด (dimethenamid), เพรททิลาคลอร์ (pretilachlor) , บิวทาคลอร์ (butachlor) และ ไธโอเบนคาร์บ (thiobencrab)    สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น

8.2 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังหว่านข้าวแล้ว 8 -10 วัน           
ระยะ 8-10 วันหลังหว่านข้าว จะสังเกตเห็นได้ว่าข้าวปลูกสูงกว่าข้าววัชพืช  เพราะข้าวปลูกมีการแช่น้ำและหุ้มมาก่อน แล้วหว่านบนเทือก จึงมีอายุมากกว่า ในขณะที่ข้าววัชพืชเพิ่งเริ่มงอกหรืออยู่ในดินต้องใช้เวลางอกขึ้นมาเหนือดิน  จึงมีต้นเตี้ยกว่า  อาศัยความสูงที่ต่างกันนี้  ปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วมยอดข้าววัชพืช แต่ไม่ให้ท่วมสะดือข้าวปลูกหรือคอกระจาย ใช้วิธีหว่านสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ ถ้าเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดน้ำต้องคลุกกับทรายก่อนหว่าน สารกำจัดวัชพืชที่คลุกทรายก็จะละลายน้ำและดูดซึมเข้ายอดข้าววัชพืชที่อยู่ปริ่มน้ำ  แต่ดูดซึมเข้าข้าวปลูกน้อยกว่าเพราะสูงพ้นน้ำแล้ว  ดังนั้นจะใช้วิธีฉีดพ่นไม่ได้เพราะจะเป็นอันตรายกับข้าวปลูกมากกว่าข้าววัชพืช และจะต้องมีการเตรียมดินเรียบสม่ำเสมอเช่นกัน  สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ อ๊อกซาไดอาร์กิล (oxadiargyl),  เพนดิเมทาลิน (pendimethalin)  และ ไธโอเบนคาร์บ+2,4-ดี (thiobencrab + 2,4-D) สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น

8.3 การใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชในระยะออกรวง   
ในระยะข้าววัชพืชออกรวง(ตากเกสร) ใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชที่มีความสูงกว่าข้าวปลูก  เพื่อให้เมล็ดลีบไม่ให้สะสมเมล็ดในฤดูต่อไป  โดยใช้ผ้าที่อุ้มน้ำได้ดีพันรอบไม้ไผ่ยาวประมาณ  2  เมตรมัดให้แน่น  ราดด้วยสารกำจัดวัชพืชที่เตรียมไว้พอชุ่มไม่ให้มากจนหยดจะทำให้ข้าวปลูกที่อยู่ด้านล่างเสียหาย สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ กลูโฟซิเนท-แอมโมเนียม (glufosinate – ammonium), ควิซาโลฟอป-พี-เอธทิล (quizalofop-P-ethyl) และเอ็มเอสเอ็มเอ (MSMA), อย่างไรก็ตามการใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชนี้จะมีผลเฉพาะข้าววัชพืชที่ต้นสูงและออกดอกก่อนข้าวปลูกเท่านั้น


9. การกำจัดข้าววัชพืชต้องทำแบบผสมผสานและต่อเนื่อง
จากวิธีการป้องกันปัญหาข้าววัชพืช  การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม  และการกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช  ชาวนาจะต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานช่วยกันจึงจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผล  โดยสามารถสรุปเป็นภาพ และแผนภูมิการจัดการข้าววัชพืชแบบผสมผสานดังแสดงไว้ข้างล่างนี้  อย่างไรก็ตามเนื่องจากเมล็ดข้าววัชพืชมีการพักตัวหลากหลาย  ตั้งแต่ไม่พักตัวเลยไปจนถึงพักตัวนานหลายปี  จึงมีการทยอยงอก  หากมีการระบาดของข้าววัชพืชเพียงฤดูเดียว แล้วทำการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง  ข้าววัชพืชก็จะไม่เป็นปัญหาในช่วงนั้น  แต่ชาวนาไม่ควรวางเฉย  เพราะข้าววัชพืชที่เหลือเล็ดลอดไปได้ในฤดูถัดไปเพียงต้นเดียวก็อาจผลิตเมล็ดได้มากกว่า 1,500 เมล็ด  นั้นหมายความว่าในไม่ช้าข้าววัชพืชก็จะสามารถเพิ่มปริมาณและสร้างปัญหาได้ในอนาคตอันใกล้ 
แม้การป้องกันกำจัดจะได้ผลดีเพียงใด  ชาวนายังจะต้องหมั่นตรวจแปลงนาทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว  เพื่อทำการป้องกันกำจัดตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้ว  และมีตัวอย่างมากมายจากแปลงนาที่ทำการกำจัดข้าววัชพืชอย่างได้ผล  แต่ชาวนากลับละเลยการตรวจตราแปลงนาอย่างต่อเนื่อง  อันเนื่องจากความไม่เข้าใจถึงปัญหาข้าววัชพืชนี้อย่างลึกซึ้ง   แล้วข้าววัชพืชก็ได้กลับมาเป็นปัญหาระบาดในนาอีก

ที่มากรมการข้าว


IP : บันทึกการเข้า
khuanming
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 145


« ตอบ #161 เมื่อ: วันที่ 11 มกราคม 2013, 22:52:14 »

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ แล้วเชื้อไตโครเดอร์มาในเชียงรายหาชื้อได้ที่ไหนครับ ยิ้มเท่ห์
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #162 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:14:25 »

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ แล้วเชื้อไตโครเดอร์มาในเชียงรายหาชื้อได้ที่ไหนครับ ยิ้มเท่ห์

มีหลายที่ครับลองถามตามร้านขายปุ๋ยดูครับเคยเห็นมีเป็นแบบกระป๋องฝาสีเหลือครับ แต่ปกติแล้วผมจากสั่งจากที่นี่ครับ  คุณปุ้ย (บ้านสันทรายคลองน้อย ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ที่หมายเลข 087-2172876 หรือที่ e-mail ; psutanai@hotmail.com  ถ้าส่ง EMS มาได้ไวมากครับ 1-2 วันหลังโอนเงินก็ได้รับของแล้วครับ ราคาถ้าเพาะเชื้อเรียบร้อยแล้วกิโลกรัมละ 35 บาท แต่ปีนี้ไม่แน่ใจว่าราคาขึ้นหรือยังลองโทรถามดูก่อนครับ


* 1.jpg (191.48 KB, 454x693 - ดู 1935 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #163 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:23:42 »

วันนี้ไปย่ำเทือกครับแปลงที่จะหว่านก่อน 13 ไร่ครับออกบ้านแต่เช้าเริ่มย่ำเทือก 8 โมงพอดีครับเสร็จงานบ่าย 4 โมงเย็นกว่าจะเปลี่ยนล้อเหล็กและออกนาก็ 5 โมงเย็นรถของผมเปลี่ยนล้อใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีครับที่เปลี่ยนเพราะถ้าหากใส่ล้อยางมีโอกาสติดหล่มได้ครับเพราะยางมีขนาดเล็กกว่ารถแทรกเตอร์ทั่วไปเป็นรถไถนั่งขับจึงมีขนาดเล็กกว่า  ข้อดีของการใส่ล้อเหล็กคือช่วยย่ำเทือกทำให้ดินแตกและเละดีขึ้นครับ


* IMG_7790_resize.JPG (84.86 KB, 750x563 - ดู 1846 ครั้ง.)

* IMG_7794_resize.JPG (139.09 KB, 750x563 - ดู 1813 ครั้ง.)

* IMG_7839_resize.JPG (142.53 KB, 750x563 - ดู 1841 ครั้ง.)

* IMG_7829_resize.JPG (140 KB, 750x563 - ดู 1853 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #164 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:27:15 »

ย่ำเทือกด้วยปรับดินที่ดอนมาทางที่ต่ำด้วยเพื่อควบคุมระดับน้ำได้และช่วยลดวัชพืชครับ


* IMG_7813_resize.JPG (112.24 KB, 750x563 - ดู 1819 ครั้ง.)

* DSCN0904_resize.JPG (103.19 KB, 750x563 - ดู 2283 ครั้ง.)

* DSCN0902_resize.JPG (62.39 KB, 750x563 - ดู 1923 ครั้ง.)

* DSCN0936_resize.JPG (89.2 KB, 750x563 - ดู 1788 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #165 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:34:25 »

ข้าววัชพืชในนาครับ หลังจากก่อนหน้านี้ปล่อยน้ำเข้าและปล่อยให้ดินแห้งข้าววัชพืชจะเริ่มงอกขึ้น คิดดูครับหากข้าวพวกนี้หากขึ้นพร้อมข้าวที่เราหว่านเราจะเสียหายแค่ไหนเพราะเก็บเกี่ยวไม่ได้ พวกนี้เป็นเมล็ดข้าวนาปีที่ปลูกไปก่อนหน้านี้คือ กข15 มีอายุการเก็บเกี่ยว 160 วันซึ่งจะต้องปลูกในช่วง ฤดูฝนและเก็บเกี่ยวในฤดูหนาวเท่านั้นจึงจะได้ผลผลิต สำหรับข้าวที่ผมปลูกนาปรังจะปลูก กข41 ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน ถ้าข้าววัชพืชในนามากจะแย่งปุ๋ยในนาข้าวที่เราปลูกก็จะได้ผลผลิตน้อยตามแถมยาคุมหญ้าก็ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยครับ


* IMG_7808_resize.JPG (119.13 KB, 750x563 - ดู 1786 ครั้ง.)

* IMG_7805_resize.JPG (152.72 KB, 750x563 - ดู 1808 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #166 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 20:40:58 »

วันนี้เรียบร้อยไป 13 ไร่ ค่าน้ำมันหมดไป 400 บาทครับ  ย่ำเทือกทิ้งไว้ วันที่ 16 ค่อยไปลูบเทือกและชักร่องน้ำครับ จะหว่านในวันที่ 17 ครับเป็นวันฟู ถ้าถือตามฤกษ์ครับ ผมลองถามลุงที่ทำนาระแวกใกล้บ้านถ้าใช้รถไถเดินตามแกว่าจะย่ำเทือกได้ประมาณวันละ 4-5 ไร่/วันครับ


* DSCN0976_resize.JPG (64.51 KB, 750x563 - ดู 1814 ครั้ง.)

* IMG_7858_resize.JPG (78.15 KB, 750x563 - ดู 1751 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
khuanming
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 145


« ตอบ #167 เมื่อ: วันที่ 12 มกราคม 2013, 21:19:06 »

ขอบคุณครับ ปีนี้มีแต่คนหว่านข้าวจ้าว ยิ้มเท่ห์
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #168 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 10:53:44 »

วันนี้ว่างครับ ว่าจะไปหาซื้อดอกดาวเรืองมาปลูกที่คันนาครับ หากต้นราคาแพงก็จะไปดูแถวบ้านที่ปลูกเอาพันธุ์พื้นเมืองโดยเอาดอกแก่ ๆ มาเพาะครับ เคยเพาะสมัยตอนเด็ก ๆ เอาไปส่งอาจารย์  ดูหลาย ๆ เว็ปในบ้านเราก็มีคนสนใจเอาดอกไม้ไปปลูกริมคันนากัน ส่วนใหญ่จะนิยมดอกสีเหลืองซึ่งได้ทดสอบจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติหรืออีรี่ และยังมีข้อมูลนักวิจัยไทย คือ การใช้วิธีการ Ecological Engineering หรือ เทคโนโลยีนิเวศวิศวกรรมในการควบคุมแมลงศัตรูในนาข้าว กรมการข้าว ได้นำเรื่องนี้มาทดลองและขยายผลในหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ที่ อ.พาน โดย คุณนุชรินทร์ จังขันธ์ นักวิจัย พบว่าหลังจากปลูกพืชที่มีดอกสีสันต่างๆ บนคันนาแล้วทำให้มีปริมาณแมลงชนิดที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น แมลงปอ เต่าทอง เป็นต้นดีกว่าการซื้อสารเคมีมาพ่นครับ หรือแม้แต่การพ่นสมุนไพร่ขับไล่แมลงก็เหนื่อยไม่น้อย ต้องมีการพ่นทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ ให้ธรรมชาติควบคุมกันเองคงสบายกว่าครับ แต่แถวบ้านยังไม่มีใครนำมาปลูกคงมีแต่คนว่าเป็นผีบ้าแน่ๆ ครับ  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม

มาดูแปลงนาตัวอย่างของคุณ นาย สุภชัย ปิติวุฒิ  ที่ทดลองทำครับ


* large_IMG_2826.jpg (93.62 KB, 640x483 - ดู 1968 ครั้ง.)

* large_IMG_2828.jpg (86.63 KB, 640x483 - ดู 1935 ครั้ง.)

* large_IMG_2954.jpg (64.21 KB, 618x468 - ดู 1803 ครั้ง.)

* large_IMG_2962.jpg (79.77 KB, 618x468 - ดู 1799 ครั้ง.)

* large_IMG_2971.jpg (92.48 KB, 640x483 - ดู 2026 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #169 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 11:29:43 »

เผื่อใครจะนำดอกดาวเรืองมาเพาะเองครับ สามารถนำเมล็ดจากเกสรดอกแก่ ๆ หรือซื้อซองที่เขาขายก็ได้ราคาจะประหยัดกว่าซื้อที่เป็นต้นที่เค้าเพาะขายถุงดำค  ถ้าดอกมีมากก็ยังสามารถตัดขายได้ด้วยอาจทำเป็นอาชีพเสริมได้ครับ


* untitled.PNG (162.2 KB, 681x531 - ดู 1865 ครั้ง.)

* 1246554693-674-598.jpg (121.65 KB, 800x533 - ดู 1788 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #170 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:07:46 »

เจาะลึกอีกนิดนะครับเรื่องแมลงที่มีประโยชน์ที่ช่วยควบคุมแมลงที่เป็นศัตรูพืช

แมลงศัตรูธรรมชาติ ( Natural enemies)

แมลงศัตรูธรรมชาติ หมายถึง แมลงที่เป็นประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) 

แมลงตัวหํ้าและแมลงตัวเบียน

แม้ว่าแมลงจะมีการสืบพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวด เร็ว แต่แมลงก็มีศัตรูธรรมชาติมากมายที่คอยควบคุมประชากรของแมลงให้อยู่ในสมดุล ศัตรูธรรมชาติ ของแมลงได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นอันตรายต่อ แมลง และอีกอย่างที่สำคัญก็คือแมลงด้วยกันเอง แมลงหลายชนิดที่กินหรืออาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกตัวของแมลงชนิดอื่น แมลงเหล่านี้ เรียกว่า ตัวหํ้าและตัวเบียน ซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่จำนวนมากพอที่จะควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดหนึ่ง ๆ ให้อยู่ในสมดุล คือไม่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ไปมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม คือ ไปรบกวน เปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของแมลง จนทำให้ แมลงตัวหํ้า และตัวเบียน ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะกำจัดแมลงศัตรูพืช
       ปัจจุบันได้มีการช่วยเพิ่มปริมาณแมลงตัวหํ้าและตัวเบียน เช่น การเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านี้แล้ว นำ ไปปลดปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เรียกวิธีการนี้ว่า การป้องกันกำจัดแมลงแบบชีววิธี (Biological Control)ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อมต่างๆ

แมลงตัวหํ้า (Predators)
หมายถึง แมลงที่ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงที่เป็นเหยื่อ (Prey) ชนิดเดียวกันเป็นอาหาร แมลงตัวหํ้าจะมีลักษณะที่สำคัญต่างจากแมลงตัวเบียน คือ ส่วนมากมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเหยื่อที่ใช้เป็นอาหาร มักจะกินเหยื่อโดยการกัดกินตัวเหยื่อตายทันที

ตัวหํ้าหนึ่งตัวจะกินเหยื่อมากกว่า 1 ตัวในแต่ละมื้ออาหาร ดังนั้นจึงกินเหยื่อได้หลายตัว
ตลอดช่วงชีวิตการเจริญเติบโตของมัน ตัวหํ้าจะอาศัยอยู่คนละที่กับแมลงที่เป็นเหยื่อ และออกหาอาหารในที่ต่างๆ กันในแต่ละมื้อ

แมลงตัวหํ้าแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ

1. พวกที่มีความว่องไว กระตือรือร้นในการออกหาเหยื่อ พวกนี้มักจะมีอวัยวะที่ตัดแปลงไปเพื่อช่วย ในการจับเหยื่อ เช่น มีขาขื่นยาวสำหรับจับเหยื่อ เช่น ตั๊กแตนตำข้าว บ้างก็มีตาใหญ่เพื่อเพิ่มความสามารถในการมองเห็นเหยื่อได้ชัดเจน เช่น แมลงปอ เป็นต้น

2. พวกที่กินเหยื่ออยู่กับที่ เช่น ด้วงเต่าลายกินเพลี้ยอ่อนซึ่งไม่มีอวัยวะดัดแปลงพิเศษแต่อย่างใด      แมลงตัวหํ้าที่มีปากแบบกัดกินจะกัดเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วเคี้ยวกินเป็นอาหารเช่น ตั๊กแตนตำข้าว แมลงปอ เป็นต้น ส่วนตัวหํ้าที่มีปากแบบแทงดูดจะแทงปากเข้าไปดูดกินของเหลวต่าง ๆ ในตัวแมลงจนแห้งเหลือแต่ซากแล้วทิ้งไป เช่น มวนเพชฌฆาต แมลงบางชนิดเป็นแมลงตัวหํ้าทั้งในระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่นแมลงปอ ด้วงดิน แต่แมลงบางชนิดเป็นตัวตัวหํ้าเฉพาะตอนที่เป็นตัวอ่อน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะกินนํ้าหวานหรือเกสรดอกไม้แทน เช่น แมลงวันดอกไม้ และบางชนิดก็เป็นแมลงตัวหํ้าในช่วงที่เป็นตัวเต็มวัย ในขณะที่เป็นตัวอ่อนจะกินซากสัตว์เป็นอาหาร เช่น แมลงวันหัวบุบ เป็นต้น
       อย่างไรก็ตามได้มีการนำ แมลงตัวหํ้ามาใช้กำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตรจนประสบผลสำเร็จมาแล้วหลายตัวอย่าง ในต่างประเทศได้ใช้ด้วงเต่าลาย ทำลายเพลี้ยแป้งในสวนส้ม ใช้แมลงช้างปีกใส
       ในสวนเพื่อช่วยกำ จัดเพลี้ยอ่อนและมด เป็นต้น จนกระทั่งมีการเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านี้จำนวนมากเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการค้า

แมลงตัวเบียน (Parasites)

 หมายถึง แมลงที่พัฒนาการเจริญเติบโตระยะไข่ ระยะตัวหนอน ในแมลงอาศัย (Host) 1 ตัว และอาจจะเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกแมลงอาศัย ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหารแมลงตัวเบียนมีลักษณะที่แตกต่างจากแมลงตัวหํ้า คือ

- อาศัยกินอยู่ภายนอกหรือภายในตัวเหยื่อตลอดวงจรชีวิต หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต

- ตัวเบียนจะมีขนาดเล็กกว่าเหยื่อมาก ส่วนใหญ่เหยื่อหนึ่งตัวจะมีตัวเบียนอาศัยอยู่มากกว่า 1 ตัว

- ตัวเบียนจะค่อยๆ ดูดกินอาหารจากเหยื่ออย่างช้าๆ และทำให้เหยื่อตาย เมื่อตัวเบียนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
      แมลงตัวเบียนเมื่อเบียนแมลงด้วยกันเอง จะแตกต่างจากแมลงตัวเบียนที่เบียนสัตว์ชนิดอื่น คือทำให้แมลงที่เป็นเหยื่อตายในที่สุด แต่แมลงตัวเบียนสัตว์ชนิดอื่น เช่น หมัด ไรไก่ หรือ เหา จะแค่ดูดเลือดและแร่ธาตุ
     อาหาร มีผลเสียต่อร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายบ้างแต่ไม่ถึงกับตาย ความสัมพันธ์ระหว่างแมลงตัวเบียนและแมลงศัตรูพืชนั้น ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง บางชนิดจะทำลายแมลงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะแมลงในกลุ่มพวกต่อ แตน และแมลงวัน ซึ่งบางชนิดทำลายไข่ของเหยื่อ บางชนิดทำลายตัวอ่อนหรือดักแด้ โดยปกติจะไม่ทำลายตัวเต็มวัยของแมลง แมลงส่วนมากเป็นตัวเบียนตอนเป็นตัวอ่อน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะหากินเป็นอิสระ ตัวเบียนบางชนิดอาศัยในตัวแมลงและเจริญเติบโตโดยใช้นํ้าเลี้ยงในตัวแมลงเป็นอาหาร แต่บางชนิดก็อาศัยอยู่ภายนอกและทำลายผิวหนังของเหยื่อเพื่อดูดกินนํ้าเลี้ยงจากภายใน
       วงจรชีวิตของแมลงตัวเบียนเริ่มต้นจากตัวเบียนมาวางไข่ โดยใช้อวัยวะวางไข่ (Ovipositor) แทงเข้าไปวางไข่ในตัวเหยื่อ หรือบนตัวเหยื่อ ส่วนมากจะวางไข่หลายฟอง แล้วจึงหาเหยื่อตัวใหม่เพื่อวางไข่ต่อไป โดยไม่ได้ดูแลตัวอ่อนที่จะฟักออกมา ตัวเบียนบางตัวจะปล่อยสารพิษออกมาก่อนเพื่อจะให้เหยื่อเป็นอัมพาต จะได้วางไข่ได้ ง่ายขึ้น และนำเหยื่อที่มันวางไข่แล้วมาไว้ในรังเพื่อให้แน่ใจว่าตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะมีทั้งอาหารและที่อยู่อาศัย ปลอดภัยจากศัตรู ตัวอ่อนของแมลงตัวเบียนเมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะกินอาหารจากตัวเหยื่อ โดยเหยื่อก็จะยังคงมีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับตัวเบียนก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแมลงตัวเบียนเติบโตจนเริ่มจะเข้าดักแด้แล้ว เหยื่อก็จะตายเหลือเพียงเปลือกผนังลำตันเท่านั้น จากนั้นตัวเบียนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีชีวิตอยู่เป็นอิสระกินนํ้าหวานดอกไม้เป็นอาหาร ธรรมชาติมีแมลงตัวเบียนหลายชนิดช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชอยู่แล้ว แต่มนุษย์สามารถช่วยเพิ่ม ปริมาณให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการผลิตแตนเบียนหลายชนิด แล้วนำไข่ไปปล่อยในแปลงปลูกพืช เช่น แตนเบียนฝอยไตรโคแกรมม่า (Trichogramma) ซึ่งเป็นแตนเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อหลายชนิด ในประเทศไทยได้มีการผลิตแตนเบียนไข่ของหนอนผีเสื้อข้าวสาร แล้วนำไปปล่อยในแปลงอ้อย เพื่อใช้ กำจัดหนอนกออ้อย นอกจากนี้ยังมีการนำแตนเบียนจากที่หนึ่งไปปราบแมลงซึ่งกำลังระบาดอีก ที่หนึ่ง ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายและจำหน่ายแตนเบียนที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตรหลายชนิด ด้วย

ในจำนวนแมลงทั้งหมดนี้ แมลงที่มีพฤติกรรมเป็นตัวห้ำ มีประมาณ 87 วงศ์ (Family) ใน 5 อันดับ (Order) ส่วนแมลงที่มีพฤติกรรมเป็นตัวเบียนมีประมาณ 167 วงศ์ ใน 14 อันดับ (นุชรีย์, 2550) ซึ่งสามารถจำแนกออกตามความสำคัญได้ดังนี้

- Order Odonota: แมลงปอ แมลงปอทุกชนิดเป็นแมลงห้ำ โดยจะมีพฤติกรรมการห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ตัวอ่อน อาศัยอยู่ในน้ำ จับสัตว์น้ำเล็ก ๆ เป็นอาหาร ส่วนตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนบก จับเหยื่อขณะที่กำลังบินอยู่เป็นอาหาร เหยื่อที่กิน ได้แก่ ยุง แมลงวัน ผีเสื้อ ต่อ แตน เป็นต้น

- Oder Neuroptera: แมลงช้าง แมลงในอันดับนี้จะมีพฤติกรรมการเป็นแมลงห้ำ ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ระยะตัวหนอน ชอบอาศัยตามพื้นราบ ขุดหลุมดักจับแมลงที่ตกลงไปในหลุมเป็นอาหาร ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินเหยื่อชนิดเดียวกัน เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แมลงหวี่ขาว และแมลงขนาดเล็กอื่น ๆ ชนิดที่มีความสำคัญ คือ แมลงช้างปีกใส (Lacewing) ในวงศ์ Chrysopidae

- Oder Coleoptera: ด้วง ด้วงเป็นแมลงที่มีปริมาณมากที่สุดในจำนวนแมลงทั้งหมด มีทั้งที่เป็นศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ มี หลายชนิดที่เป็นแมลงห้ำที่สำคัญในแปลงปลูกพืช คือ วงศ์ Cicindellidae: ด้วงเสือ ทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัยมีอุปนิสัยเป็นแมลงห้ำ ระยะตัว หนอนจะขุดรูอยู่ตามดิน และหลบอยู่ภายใน เพื่อคอยดักจับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ที่เดินผ่านมาเป็นอาหาร

- วงศ์ Carabidae: ด้วงดิน เป็นแมลงห้ำทั้งระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย ชอบอาศัยอยู่ตามผิวดิน เคลื่อนไหวเร็ว จับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร ออกล่าเหยื่อในเวลากลางคืน
วงศ์ Coccinellidae: ด้วงเต่าลาย เป็นแมลงตัวห้ำที่มีความสำคัญมากในงานด้านกรควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี และยังมีความสำคัญในการควบคุมศัตรูพืชในแปลงปลูก ช่วยลดปริมาณของพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง

- วงศ์ Dytisidae: ด้วงดิ่ง เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย จับแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำกินเป็นอาหาร
 
- วงศ์ Staphylinida: ด้วงก้นกระดก มีประโยชน์ในทางการควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยด้วงก้นกระดกจะช่วยกำจัดไข่หนอนผีเสื้อ ทำลายไข่และหนอนของแมลงวัน
Oder Hemiptera: มวน แมลงกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นแมลงศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ แมลงที่มีพฤติกรรม

 เป็นแมลงห้ำในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. แมลงห้ำที่อาศัยในน้ำ แมลงห้ำในกลุ่มนี้กินแมลงและสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำเป็นอาหาร ได้แก่ แมลงในวงศ์ Corixidae (มวนกรรเชียง), Notonectidae (มวนวน), Belostomatidae (แมลงดานา), Gerridae (มวนจิงโจ้น้ำ)

2. แมลงห้ำในแปลงปลูกพืช แมลงห้ำในกลุ่มนี้ที่พบเสมอในแปลงปลูกพืช คือ แมลงในวงศ์ Pentatomide (มวนพิฆาต), วงศ์ Redueviidae (มวนเพชฌฆาต) แมลงห้ำที่สำคัญของหนอนผีเสื้อและแมลงทั่วไป คือ Geocoris (มวนตาโต), วงศ์ Anthocoridae (มวนดอกไม้) เป็นแมลงห้ำของเพลี้ยชนิดต่าง ๆ

- Oder Hymenoptera: ผึ้ง ต่อ แตน มด แมลงในกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดมีพฤติกรรมเป็นแมลงศัตรู ธรรมชาติที่สำคัญทางด้าน Biological Control มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ มีอวัยวะวาง (Ovipositor) สำหรับวางไข่ใส่แมลงอาศัย บางชนิดอวัยวะวางไข่

สามารถปล่อยสารเข้าไปยังแมลงอาศัย ทำให้เหยื่อเกิดอาการชา ไม่เคลื่อนไหว ทำให้สะดวกต่อการนำไปเป็นอาหาร แมลงในกลุ่มนี้ที่สำคัญ คือ

- วงศ์ Ichneumonidae: ต่อเบียน เป็นตัวเบียนที่สำคัญของ หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน หนอนด้วง และด้วงตัวเต็มวัย
วงศ์ Braconidae: แตนเบียน เป็นตัวเบียนที่สำคัญของ หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวัน หนอนด้วง และด้วงตัวเต็มวัย เช่นเดียวกันกับต่อเบียน

- วงศ์ Encyritidae และ Aphelinidae ตัวเบียนของแมลงในกลุ่ม Homoptera (เพลี้ย)

- วงศ์ Trichogrammatidae, Mymaridae และ Scelionidae เป็นตัวเบียนเฉพาะไข่แมลง

- วงศ์ Formicidae: มด เป็นแมลงห้ำที่มีบทบาทสำคัญมากในงานด้าน Biological Contr
Order Diptera: แมลงวัน ยุง แมลงในกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ ที่พบเสมอในแปลงปลูกพืช คือ วงศ์Tachinidae (แมลงวันก้นขน) แมลงในวงศ์นี้มีความสำคัญมาก และนำในใช้ประโยชน์ในงานด้านการควบคุมแมลงโดยชีววิธีมากกว่าแมลงวงศ์อื่น ๆ ในอันดับ Diptera มีความสำคัญในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ตัวเต็มวัยของด้วงในวงศ์ Scarabaeidae (ด้วงแรด, ด้วงกว่าง), Chysomelidae (ด้วงเต่าทอง, ด้วงหมัดกระโดด) และ Carabidae (ด้วงดิน) ระยะตัวหนอนเป็นแมลงเบียน ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานเป็นอาหาร (Free Living)

- วงศ์ Bombyliidae (แมลงวันผึ้ง) เป็นแมลงเบียนที่อันตรายต่อแมลงที่มีประโยชน์ ในอันดับ Hymenoptera ในวงศ์ Vespidae (ต่อรัง, ต่อหลวง), Sphecidae (ต่อหมาร่า), Apidae (ผึ้ง) และอันดับ Coleoptera วงศ์ Meloidea (ด้วงน้ำมัน)
แมลงในวงศ์อื่น ๆ ที่มีอุปนิสัยเป็นแมลงเบียน คือ วงศ์ Cyrtidae, Pipunoulidae, Conopidae สำหรับแมลงที่มีอุปนิสัยเป็นแมลงห้ำ คือ วงศ์ Tabanidae (เหลือบ), Asilidae (แมลงวันหัวบุบ) และ Syrphidae (แมลงวันดอกไม้) แมลงในอันดับอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมเป็นศัตรูธรรมชาติ คือ อันดับ Strrpsiptera (สไคโลปิดส์), Tricoptera (แมลงหนอนปลอกน้ำ), Mecoptera (แมลงแมงป่อง), Plecoptera (สโตนฟลาย), Thysanura (แมลงสามง่าม) และ อันดับ Dermaptera (แมลงหางหนีบ)


* 1281255537.jpg (133.85 KB, 488x377 - ดู 2205 ครั้ง.)

* 1281255631.jpg (148.84 KB, 450x372 - ดู 2428 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #171 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:16:33 »

ลองสำรวจใกล้แปลงนาก็จะพบดอกหญ้าครับ มีผึ้งเยอะแยะเลยครับ ถ่ายรูปมาฝาก ดูแล้วเพลินกับกิจกรรมของเค้าครับ


* DSCN1015_resize.JPG (125.63 KB, 750x563 - ดู 1773 ครั้ง.)

* DSCN1013_resize.JPG (137.16 KB, 750x563 - ดู 1700 ครั้ง.)

* IMG_7923_resize.JPG (140.82 KB, 750x563 - ดู 1720 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #172 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:28:03 »

วันนี้ช่วงบ่ายไปร้านขายดอกไม้เพื่อสอบถามราคาดอกดาวเรืองเพื่อจะมาปลูกริมคันนา ขายต้นละ 10 บาทใส่ในถุงดำต้นออกดอกเรียบร้อย ลองถามทางร้านดูว่าเป็นพันธุ์ที่ดอกเป็นหมันเมื่อแก่ไม่สามารถนำไปเพาะต่อได้เลยตัดสินใจไม่ซื้อ  กลับมาแถวบ้านไปขอดอกแก่ที่เค้าปลูกตามบ้านเป็นพันธุ์พื้นเมืองแต่ดอกจะเล็กกว่าที่เค้าขายครับตอนนี้เพาะเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็ไปสำรวจนาระแวกใกล้บ้านครับไปดูกิจกรรมชาวนากันช่วงนี้


พี่คนนี้กำลังหว่านข้าวครับปัจจุบันนิยมหว่านด้วยเครื่องเพราะประหยัดแรงงานและค่อนข้างรวดเร็ว เครื่องหว่านจะเป็นชนิดพ่นลมครับการหว่านนาปรังก็นิยมหว่านตั้งแต่ 20-30 กก/ไร่ ครับ



* IMG_7890_resize.JPG (144.47 KB, 750x563 - ดู 1732 ครั้ง.)

* IMG_7891_resize.JPG (257.44 KB, 750x563 - ดู 1777 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #173 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:34:00 »

แปลงนาหว่านหลังจากที่มีการทำเทือกจะต้องมีการชักร่องครับ รถไถเดินตามจะสามารถชักร่องได้สวยครับบ้านเราจะนิยมชักร่องเป็นแปรงถี่แบบนี้ครับส่วนหนึ่งเพราะบ้านเราแปลงนาสูงไม่ค่อยสม่ำเสมอกันในแต่ละแปลงข้อดีอีกอย่างมีอากาศถ่ายเทได้บ้างครับ


* DSCN0985_resize.JPG (190.32 KB, 750x563 - ดู 1957 ครั้ง.)

* DSCN0995_resize.JPG (210.48 KB, 750x563 - ดู 1730 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #174 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:37:25 »

แปลงนี้เป็นนาปลูกด้วยรถครับข้าวเรียงแถวสวยงามทีเดียว  แถวบ้านจ้างเพาะและปลูกไร่ละ 1200 บาทต้องเตรียมข้าวพันธุ์ให้เจ้าของรถไร่ละประมาณ 10-12 กก/ไร่ครับ


* DSCN0982_resize.JPG (184.4 KB, 750x563 - ดู 1699 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #175 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 21:46:51 »

นึกภาพไม่ออกการปลูกโดยรถดำนาก็ประมาณนี้ครับ ในไทยมีทั้งแบบเดินตามและแบบรถนั่งขับครับ ถ้าแบบรถนั่งขับเจอนาหล่ม ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกันแต่ข้อดีคือรวดเร็วและเหนื่อยน้อยกว่ามากครับ


* 56732cf6f.jpg (53.86 KB, 600x450 - ดู 1687 ครั้ง.)

* 567324923.jpg (30.7 KB, 600x450 - ดู 1849 ครั้ง.)

* s1QFrT.jpg (298.29 KB, 800x600 - ดู 1679 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #176 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 22:03:59 »

แมลงปอ เพชรฆาตในนาข้าว

แมลงปอเป็นสัตว์ที่ล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ธรรมชาติจึงสร้างให้มันมีคุณสมบัติของการเป็นนักล่า มีตาที่ไวและคม พลังปีกที่แข็งแกร่ง ทำให้มันบินจับเหยื่อได้อย่างว่องไว ลักษณะการบินของแมลงปอมีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการบินของเครื่องบินรวมกับเฮลิคอปเตอร์ มันสามารถบินได้เร็วถึง 100 กิโลเมตร : ชั่วโมง หรือเท่ากับ 20,000 - 30,000 ช่วงตัว ในเวลาเพียง 1 นาที เนื่องจากมันมีกล้ามเนื้อช่วยในการบินที่แข็งแรงมาก ที่เรียกว่า " antagonist muscles " 

แมลงปอได้รับการขนานนามว่า " mosquito hawk " เนื่องจากองค์ประกอบที่สำคัญคือมีตารวม ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อปีก ความรวดเร็วในการบิน และขาทั้งหกที่สามารถ จับเหยื่อได้อย่างแน่นหนา และมีประสิทธิภาพ มันชอบไล่จับเหยื่อที่มีชีวิตมากกว่าเหยื่อที่ตายแล้ว อาหารของแมลงปอ คือ ยุง ริ้น แมลงวัน ผีเสื้อ ผึ้ง รวมทั้งแมลงปอด้วยกัน จากกฎของธรรมชาติที่จะต้องเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในเวลาเดียวกัน เมื่อมันเป็นแมลงตัวอ่อนศัตรูของแมลงปอคือ ปลา ด้วงดิ่ง แมลงเหนี่ยงและมวนต่างๆ เช่น แมลงป่องน้ำ แมลงดาสวนที่ดุร้าย เพราะมันคอยไล่จับตัวอ่อนของแมลงปอมาดูดน้ำเลี้ยงจนตาย แมลงปอที่โตเต็มวัยอาจกลายเป็นอาหารของนก หรือสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เช่น จิ้งหรีด จิ้งเหลน ตุ๊กแก อึ่งอ่าง คางคก หรือแมลงมุม แมลงปอเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่กลับมีคุณประโยชน์สำหรับการควบคุมทางชีวภาพ และมันสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึง สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เพราะแมลงปอจะหายไปถ้าน้ำเริ่มเน่าและสกปรก


* 1.jpg (20.34 KB, 600x375 - ดู 2514 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #177 เมื่อ: วันที่ 13 มกราคม 2013, 23:00:05 »

รถดำนาที่ผมเคยไปถามจากคูโบต้า  ถ้าเป็นแบบเดินตาม 4 แถว ราคา  แสนกว่าบาท แถมถาดเพาะอีกได้ประมาณ 3-4 ไร่  ถ้าเดินตาม 6 แถวราคา 2 แสนบาทแถมถาดเท่า ๆ กัน เมื่อซื้อจะมีทีมเทคนิคมาสอนเราตอนดำนาครั้งแรก  แต่ถ้าเป็นรถดำนาแบบนั่งขับ 6 แถวราคา 4 แสนกว่าบาท   ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าราคาขึ้นหรือยังการเพราะกล้าจะใช้ถาดพลาสติก วัสดุเพาะจะใช้แกลบดำครับ ต่างจากนาโยนที่ใช้ดินอาจผสมปุ๋ยหมักในดินด้วยเพื่อให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น  แกลบดำสามารถหาซื้อที่โรงสีข้าวใหญ่ ๆ บางแห่งครับแต่ถ้าโรงสีแถวบ้านไม่มีก็สามารถทำเองครับ

เอาภาพตอนทำแกลบดำมาฝากวิธีการในรูปลองผิดลองถูกอยู่เหมือนกันแต่สุดท้ายก็สำเร็จครับ

วิธีการ

- หาปี๊ปเหล็กมาเจาะรูด้านข้าวครับ เจาะหลาย ๆ รูการเผาไหม้จะเร็วขึ้น ต่อท่อระบายอากาศข้างบนครับ
- เอาแกลบโรยบาง ๆ รองพื้นสูงซัก 1 นิ้วครับ
- เอากระดาษหนังสือพิมพ์จุดไฟและเอาปี๊บครอบไว้
- เอาแกลบโรยด้านข้างปี๊บจนท่วมปี๊บ ไฟจะลุกภายในปี๊ปและมีความออกจากท่อระบายอากาศครับ หมั่นโกยแกลบที่ไม่ไหม้เพื่อให้แกลบไหม้สม่ำเสมอครับ
- เมื่อแกลบไหม้ได้ที่แล้วเอาน้ำรดเพื่อดับครับ ใช้เวลากองหนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมงครับ แกลบไปขอตามโรงสีเล็ก ๆ แถวบ้านครับเค้าให้ฟรี  และสามารถนำแกลบดำที่ได้ปรับปรุงดินปลูกผักดอกไม้ ต้นไม้ได้ครับ


* 1360.jpg (167.11 KB, 640x480 - ดู 1740 ครั้ง.)

* 1386 (60).jpg (142.79 KB, 480x640 - ดู 1687 ครั้ง.)

* 1368.jpg (207.81 KB, 640x480 - ดู 2567 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 13 มกราคม 2013, 23:03:21 โดย ubuntuthaith » IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #178 เมื่อ: วันที่ 14 มกราคม 2013, 09:37:17 »

การทำงานของโรงสีเกี่ยวกับการสีข้าว

ขออธิบายอย่างง่าย ๆ ถ้าข้อมูลยังไม่ละเอียดพอก็ขอได้ไปดูของจริงจากโรงสี ซึ่งการทำงานของโรงสีทั้งหลายก็เหมือน ๆ กัน ก่อนอื่นเครื่องสีข้าวจะปฏิบัติงานได้นั้น  จำเป็นจะต้องมีเครื่องต้นกำลังทำการฉุด และเครื่องต้นกำลังที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้.-

1)  เครื่องจักรไอน้ำ ประกอบด้วย หม้อน้ำ ปล่องไฟ  และตัวเครื่องจักรต้นกำลัง  หลักการทำงานคือ ใช้แกลบ  ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้จากการสีข้าวเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำในหม้อน้ำให้เดือด  แล้วนำกำลังไอน้ำจากหม้อน้ำมาดันเครื่องจักรให้หมุน

2)  มอเตอร์ไฟฟ้า ใช้พลังงานจากมอเตอร์ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้า  มาทำการฉุดหมุนเครื่องสีข้าว

3)  เครื่องกล ที่ใช้น้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว  ข้าวเปลือกที่ได้รับจากชาวนา ยังไม่สะอาดพอที่จะส่งเข้าเครื่องสีเลย  จะต้องนำผ่านตะแกรงร่อนสิ่งเจือปนออก ได้แก่ ฟางข้าว เศษดิน เศษหิน และฝุ่นละออง แล้วจึงนำเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ซึ่งจะมีลูกยางกลม 2 ลูก  หมุนอยู่เมล็ดข้าวเปลือกที่ผ่านร่องระหว่างลูกกลมยาว 2 ลูกนี้ จะถูกแรงเสียดสีของลูกยาง  ทำให้เปลือกข้าวหลุดออก

จากเครื่องกะเทาะข้าวเปลือก  จะได้แกลบข้าวกล้อง  และข้าวเปลือกส่วนที่ยังไม่ถูกกะเทาะเปลือก  ผ่านต่อไปยังตะแกรงเหลี่ยม  ซึ่งมีแผ่นตะแกรงทำการร่อน แยกแกลบ ข้าวเปลือก  และข้าวกล้องออกจากกัน ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะเปลือกใหม่  ข้าวกล้องจะผ่านไปตะแกรงโยก  เพื่อทำการคัดข้าวเปลือกที่ยังมีผสมไปกับข้าวกล้องออกให้เหลือแต่ข้าวกล้องล้วน ๆ

แกลบ ที่ร่อนออกจากตะแกรงจะดูดพัดลมดูดไปไว้ต่างหาก  ขณะเดียวกันพัดลมจะดูดเศษข้าวกล้องละเอียด  หรือจมูกข้าวรวมทั้งแกลบละเอียดที่เกิดจากการกะเทาะเปลือกข้าวเปลือก ไปไว้ยังอีกทางหนึ่ง ส่วนนี้เรียกว่า รำหยาบ

ตะแกรงโยก มีหน้าที่คัดข้าวเปลือกออกจากข้าวกล้อง  ในตะแกรงโยก  มีแผ่นเหล็กบาง ๆ วางกั้นเป็นช่อง ๆ สลับฟันปลา  ตะแกรงโยกจะเดินหน้า ถอยหลังตลอดเวลา  ข้าวเปลือกและข้าวกล้องจะถูกคัดแยกไปคนละทาง  ข้าวเปลือกจะย้อนกลับไปเข้าเครื่องกะเทาะใหม่  ส่วนข้าวกล้องจะผ่านไปสู่หินขันข้าวเปลือก และหินขัดข้าวขาวต่อไป

หินขัดข้าวกล้องและหินขัดข้าวขาว มีลักษณะเป็นเหล็กทรงลูกข่าง  มีหินกากเพชรผสมปูนพอกไว้โดยรอบ  ตั้งบนแกนที่หมุนได้  ผนังที่หุ้มหินขัดข้าว  จะมียางเป็นท่อน ๆ เรียกยางขัดข้าว วางอยู่เป็นประจำ ข้าวกล้องจะผ่านช่องว่างระหว่างหินขัดข้าวและยางขัดข้าว  ในขณะที่หินขัดข้าวหมุนอยู่ตลอด ข้าวกล้องจะถูกขัดจนขาว โดยผ่านหินขัดข้าว 2 ครั้ง คือ หินขัดข้าวกล้อง และหินขัดข้าวขาว

ที่ผนังหุ้มหินขัดข้าวกล้อง  และหินขัดข้าวขาวจะมีช่องให้พัดลมดูดผิวของเมล็ดข้าวกล้องที่ถูกขัดออกไป ส่วนนี้เรียกว่า รำละเอียด

ข้าวขาวที่ออกจากหินขัดข้าว จะเป็น ต้นข้าว ข้าวหัก และ ปลายข้าว รวมกัน  จะต้องนำไปผ่านตะแกรงเหลี่ยม และตะแกรงกลม  เพื่อคัดออกมาเป็นชนิดข้าวตามต้องการต่อไป

ตะแกรงเหลี่ยม ที่จะคัดต้นข้าว และปลายข้าวนี้  ประกอบด้วยแผ่นตะแกรงซ้อนกัน  หลายแผ่น แต่ละแผ่นจะมีรูตะแกรงขนาดต่าง ๆ กัน  เพื่อให้ข้าวแต่ละชนิดผ่านได้และผ่านไม่ได้  ตัวตะแกรงเหลี่ยมจะเขย่าตลอดเวลาที่ทำงาน

ตะแกรงกลมที่ลักษณะเป็นแผ่นเหล็กม้วนกลม หมุนตลอดเวลาที่ทำงาน  ผิวแผ่นเหล็กด้านในมีรูลักษณะแบบเต้าขนมครกแต่เล็กกว่ามาก  เพื่อให้เมล็ดข้าวที่หักที่เล็กเกาะอยู่  ขณะที่ปล่อยให้เมล็ดใหญ่กว่าผ่านไปได้

ข้าวที่ผ่านการคัดของตะแกรงกลมแล้วจะได้ขนาดและชนิดตามต้องการ  ซึ่งแบ่งเป็นชนิดจากใหญ่ไปหาเล็ก  คือ ต้นข้าว ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ ปลายข้าว เอ.วันเลิศ ปลายข้าวซี

ข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กก. หรือ 100 ถัง สีเป็นข้าว 100%  ชั้น 2 จะได้รายละเอียดดังนี้

1.  ต้นข้าว                                             405  กก.

2.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศพิเศษ                     20  กก.

3.  ปลายข้าว เอ.วันเลิศ                           160  กก.

4.  ปลายข้าว ซี                                        90  กก.

5.  รำละเอียด                                          81  กก.

6.  รำหยาบ                                              30  กก.

7.  แกลบ+ละออง                                  214  กก.

(ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขโดยประมาณของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ)

ตัวเลขจากการสีข้าวข้างบนเป็นตัวเลขโดยประมาณ ต้นข้าวและปลายข้าวอาจจะได้มากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้  ซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  ชนิดของข้าวเปลือก  ประสิทธิภาพในการสี  และคุณภาพของข้าวสาร  และปลายข้าวที่ต้องการ

การสีข้าวจะสีตามกรรมวิธีที่อธิบาย ครั้งเดียว(หนเดียว) เท่านั้น



* 20.jpg (107.09 KB, 800x536 - ดู 1660 ครั้ง.)

* 21.jpg (88.79 KB, 800x571 - ดู 1716 ครั้ง.)

* 22.jpg (54.51 KB, 800x536 - ดู 1636 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
ubuntuthaith
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,044



« ตอบ #179 เมื่อ: วันที่ 14 มกราคม 2013, 10:29:24 »

มหัศจรรย์ข้าวเพื่อสุขภาพ "กินข้าวเป็นยา"

เพราะ ทุกวันนี้  โรคมะเร็งกำลังเป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างรุนแรง เกือบ 8 ล้านคนต่อปีสำหรับประเทศไทย มะเร็งก็เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยติดต่อกันกว่า 10 ปี 
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าอาหารเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง  ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงโรคร้ายนี้ ได้โดยใส่ใจออกกำลังกาย  รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม  และเลือกรับประทานอาหารที่มาจากพืช  ผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้ร่างกายสามารถต่อต้านโรคมะเร็งได้
ความจริงบรรพบุรุษของไทยได้สะสม “ ยาวิเศษ ”  เป็นมรดกให้แก่ลูกหลานอยู่จำนวนมาก  นั่นก็คือ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศมากกว่า 200 สายพันธุ์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายไม่ว่าจะเป็น  วิตามินบีหนึ่ง  โฟเลต สังกะสี ทองแดง ธาตุเหล็ก  วิตามินอี  วิตามินซี  ที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งข้าวแต่ละสายพันธุ์จะให้ปริมาณคุณค่าทางอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพื้นเมือง  30 สายพันธุ์ ของ กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง  ในเขตปฎิรูปที่ดิน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม  จังหวัดยโสธร  ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.)   

ความมหัศจรรย์ของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของไทย ที่ รศ.ดร.รัชนี ค้นพบก็คือ  ข้าวพื้นเมือง หลายพันธุ์  มีคุณสมบัติในการต่อต้านมะเร็งได้ดีเยี่ยม เช่น  ข้าวเหนียวก่ำใหญ่  ข้าวเจ้ามะลิดำ  ข้าวเจ้าแดง  ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว ข้าวเหนียวแสนสบาย ข้าวเหนียวสันปลาหลาด  เนื่องจากข้าวกลุ่มนี้มี  วิตามินอี(แกมมาโทโคไทรอีนอล) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งสารอนุมูลอิสระที่เข้าไปทำลายเซลล์ของร่างกาย  ซึ่งกระตุ้นให้เกิด การตายของเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระจกตาเสื่อมในผู้สูงอายุ 

สำหรับพื้นที่ภาคใต้อาจหาซื้อข้าวกลุ่มข้างบนได้ลำบาก จึงขอแนะนำให้ลองซื้อ  “ข้าวหน่วยเขือ  ”  ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราชมาบริโภคแทน  เพราะข้าวหน่วยเขือ มี วิตามินอี สูงกว่าข้าวทั่วไปถึง 22 เท่า ป้องกันมะเร็ง  ลดอาการโรคหัวใจวาย  เสริมระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงผิวให้สดใสและทำให้แผลเป็นหายเร็วขึ้น
ข้าวหน่วยเขือ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไทยในยุคนี้ ที่จะบริโภคข้าวเป็นยา บำรุงสุขภาพ    ข้าวชนิดนี้นอกจากมีรสชาติเหนียวนุ่ม มีวิตามินอีสูงแล้วยังมี ธาตุเหล็กช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง และช่วยสร้างเม็ดเลือด นอกจากนี้ยังมี สารกาบา ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย   

สำหรับคนที่นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ   ควรรับประทาน ข้าวเหนียวก่ำใหญ่  หรือ ข้าวเหนียวนางหก  เพราะข้าวทั้งสองชนิดนี้ มี “ เบต้าแคโรทีน ” ในสัดส่วนที่สูง  เบต้าแคโรทีจะทำหน้าที่บำรุงสายตาและไม่เกิดโรคต้อกระจกหรือสายตาเสื่อมก่อนวัยอันควร 

 หากใครต้องการหลีกเลี่ยงโรคเบาหวาน ขอแนะนำให้หาข้าวพื้นเมืองเช่น ข้าวเจ้ามะลิแดง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวก่ำน้อย  ข้าวเหนียวก่ำเปลือกขาว  ไว้บริโภคในครัวเรือน  เพราะข้าวกลุ่มนี้ มีดัชนีน้ำตาลปานกลางและต่ำ ทำให้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน  และยังมี สารโพลีฟินอล ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ลดการอักเสบในโรคต่าง ๆ

สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ขอแนะนำให้หันมาบริโภคข้าวพื้นเมือง ที่มี โฟเลต สูงสุดคือข้าวเจ้าเหลือง (สีน้ำตาลเข้ม)มีโฟเลตสูงถึง 116.47ไมโครกรัม/100กรัม รองลงมาคือ  ข้าวเจ้ามะลิดำ ข้าวเหนียวลำตาล ข้าวเหนียวป้องแอ้ว ข้าวเหนียวสันปลาหลาด ข้าวเหนียวขาวใหญ่ และข้าวเจ้ามะลิแดง 


* 13293868521329387034l.jpg (152.88 KB, 800x600 - ดู 1635 ครั้ง.)

* 13293868521329387081l.jpg (83.28 KB, 800x600 - ดู 2742 ครั้ง.)

* 13293868521329387009l.jpg (92.55 KB, 800x531 - ดู 1658 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 4 5 6 7 8 [9] 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 ... 95 พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!