"จีน" กับประเทศลุ่มน้ำโขง/อาเซียน ความสัมพันธ์ย้อนแย้งและ "สิทธิสภาพนอกอาณาเขตยุคใหม่" ?
มติชนออนไลน์ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:30:00 น.
ในงานประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน : ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 มีการอภิปรายหัวข้อ "อำนาจของจีน กับการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำโขง/อุษาคเนย์" วิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อรัญญา ศิริผล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศ.ดร.ยศ กล่าวว่า การมาบรรยายวันนี้ ต้องการตั้งคำถามมากกว่ามาให้คำตอบบางอย่าง เพราะวิทยากรวันนี้เป็นเพียงลูกเจ๊กที่พูดจีนไม่ได้ แต่อยากไปหารากเหง้าบรรพบุรุษ วิทยากรไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน แต่เป็นเจ๊กปนลาว เพราะทำวิจัยในลาวด้วย ส่วนตัวคิดว่าจีนน่าสนใจในตัวเอง เพราะจีนเป็นอะไรที่เป็น paradox (ย้อนแย้ง) หลายเรื่องเข้าใจยาก มีปมปัญหาที่ขบไม่แตก

เส้นทางรถไฟของจีนไปชายแดนพม่าใกล้เสร็จแล้ว
ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 13 พ.ค. 1969 ซึ่งเกิดจลาจลในประเทศมาเลเซีย ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองของคนจีนชนะ แล้วเกิดตีกันระหว่างเจ๊กกับแขก เกิดความรุนแรง ชาวมาเลย์ล่าคนจีนมาฆ่ากลางถนน เผาร้านค้าของคนจีน คนจีนตายไป 170 คน บาดเจ็บนับเป็นพัน
หลังจากนั้น ปี 1998 วันเดียวกัน (13 พ.ค.) ประเทศอินโดนีเซียเกิดจลาจล มีม็อบใหญ่ในเมือง ลากคนจีนมาฆ่า ผสมโรงด้วยการข่มขืนผู้หญิงจีน 180 คน

ทางรถไฟไปพม่า
สองเหตุการณ์นี้ต่างกัน ในแง่ reaction (ปฏิกิริยาตอบโต้) จากจีน อันแรก ประเทศจีน โดยประธานเหมา เงียบ ไม่มีการแสดงปฏิกิริยาใดๆ แต่อีกเหตุการณ์ ประเทศจีนมีการแสดงออก ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน พูดทางทีวีเมื่อวัน 15 พ.ค. 1998 โดยออกมาขอโทษคนจีนทั่วโลก ขอโทษ ที่ไม่อาจปกปักรักษา ความเป็นอยู่ ชีวิตที่ดีของคนจีน ซึ่งน่าประหลาด เพราะคนจีนในอินโดนีเซีย ไม่ได้เรียกตัวเองว่าจีน แต่จีนออกมาขอโทษ แล้วเจียงเจ๋อหมินบอกว่าจีนไม่ปลอดภัย เพราะไม่ได้รับ "การเคารพในประชาคมโลก" เป็นภาษาที่ลึกซึ้งมาก
อีกอัน การก่อความวุ่นว่ายเทียนอันเหมินปี 1989 ภายหลังรัฐปราบปรามประชาชน ทำให้รัฐบาลจีนถูกด่าจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากชาวจีนโพ้นทะเล ขณะที่หากเทียบกับการลุกฮือของทิเบต ประเด็นเรื่องเดียวกัน แต่ผลกลับตรงข้าม เพราะรัฐบาลจีน ไม่แก้ตัวในเหตุการณ์ที่ 2 ในปี 2008 รัฐบาลจีนเงียบ ขณะที่คนออกมาเถียงแทนคือ จีนโพ้นทะเลทั่วโลก จนเกิดปรากฏการณ์แอนตี้ซีเอ็นเอ็น บอกว่าซีเอ็นเอ็นมีอคติ ไม่นำเสนอข่าวคนจีนที่ถูกทิเบตตี

ผังรถไฟของยูนาน
ปรากฏการณ์นี้บอกอะไร มันบอกการเกิดขึ้นของสิ่งที่ผมเรียกว่า "ชาตินิยมจีน" เป็น 1 ใน paradox (ความย้อนแย้ง) 5 ตัว
ชาตินิยมจีน เป็นอะไรที่รัฐบาลจีนใช้สร้าง "greater china" ไม่เพียงหมายถึงจีน แต่รวมไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า มาเลย์ สิงคโปร์ และแผ่นดินซึ่งมีคนจีนอาศัยอยู่ โดยจีนต้องการหลอมรวมคนจีนทั่วโลก เบื้องต้นทำให้เกิดการกลับไปลงทุนในจีนมากมายมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจโต ชาตินิยมนี้เกิดสมาคม ประชาคม สื่อถึงคนจีนทั่วโลก
ชาตินิยมจีน ทำให้เกิดเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจีนสนับสนุนให้คนจีนไปศึกษานอกประเทศ แล้วไม่ต้องกลับมาอยู่ถาวรในจีน แต่ให้กลับมาประชุม มาเยี่ยมบ้านเกิด เป็นส่วนที่ลึกซึ้งมาก
ประเด็นคือ ขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาในอาเซียนใช้ "ชาตินิยม" ด่าเพื่อนบ้าน กัดกันเอง ทะเลาะเรื่องแบ่งที่ดินแมวดิ้นตาย แต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ใช้ชาตินิยมสร้างชาติตัวเอง
Paradox (ความย้อนแย้ง) ที่ 2 จีนสถาปนาตัวเองเป็น "ผู้ให้" ในโลกยุคใหม่ ออกนอกบ้านเป็นผู้เผยแพร่ความศิวิไลซ์ ให้ชาติอื่นได้เรียนรู้อารยธรรมยิ่งใหญ่คือ จีน แต่การออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ก็ทำให้เกิด "คนชายขอบ" เยอะ เช่น การสร้างเขื่อน ก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ได้รับผลกระทบ เป็นความลักลั่นระหว่างวิธีคิดของจีน ในพันธกิจที่ต้องการเผยแพร่อารยธรรม ขณะที่ทำให้คนมหาศาลเป็น "ชายขอบ"
Paradox (ความย้อนแย้ง) ที่ 3 ความขัดแย้งระหว่าง โลกาภิวัตน์กับรัฐชาติ หากใครอ่านงานของอรชุน อัปปาดูรัย (นักวิชาการชาวอินเดีย) จะพบว่ายิ่งโลกาภิวัตน์พัฒนา ยิ่งจะทำให้รัฐชาติพลังน้อย แต่จีนทำให้เราต้องทบทวนใหม่ เพราะเน้นความเข้มแข็งรัฐชาติ ขับเคลื่อนโดยรัฐเป็นหัวหอก
Paradox (ความย้อนแย้ง) ที่ 4 ลัทธิอาณานิคมภายใต้ทุนนิยมโลก เป็นจักรวรรดิที่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ ไม่มีสัญชาติ เชื้อชาติ แต่จีนเป็น "จักรวรรดิยุคใหม่" ก้าวล่วงพื้นที่ควบคุมในหลายรูปแบบ โดยเอกชนและรัฐ คำถามคือจีนมีฐานะเป็น "จักรวรรดิที่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่" หรือเป็น "เจ้าอาณานิคมที่ขยายดินแดน" กันแน่
Paradox (ความย้อนแย้ง) ที่ 5 ลัทธิเสรีนิยมใหม่จีนก็สวมกอด แต่เป็นแบบจีน คือเป็นแบบของเลนินอยู่ ดังนั้น ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจกับเสรีภาพจำเป็นต้องไปด้วยกันหรือไม่

สุดท้ายการเรืองอำนาจของจีน ได้ก่อให้เกิด "สนาม" ในเชิงมานุษยวิทยา เกิดแนวคิดทางทฤษฎีเยอะมาก ตอนนี้ ผมหลงจีนเสียแล้ว ทำให้อยากจะออก ก็ออกไม่ได้
ในแง่หนึ่ง เราอาจกำลังเข้าสู่ระบบบรรณาการใหม่กับจีน แต่คนในอาเซียนจะยอมหรือเปล่า ข้อน่าสังเกตคือ จีนเป็นชาติที่ต้องการกอบกู้ความอัปยศ ความสูญเสียศักดิ์ศรี ที่ถูกยึดครองปลายราชวงศ์ชิงถึงช่วงสงครามโลก ปณิธานของเขา คือ การขึ้นสู่สถานะทัดเทียมสหรัฐ ผมมองเป็นด้านบวก เพราะอเมริกาก็ไม่ได้สนใจผลประโยชน์ชาติอื่น แต่ความสมดุลเชิงอำนาจก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ประเด็นคือ เราต้องเข้าใจ แล้วเอาข้อมูลเหล่านี้มาเผยแพร่ให้เห็น
ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า การรุกคืบของจีนเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาอย่างเป็นระบบเหมือนสหรัฐเข้ามาเขียนแผนช่วยความยากจนในอดีต อาทิเช่น ในลาว จีนไปทำคาสิโนขนาดใหญ่ โดยตอนเหนือ จีนเข้ามาเขียนแผนให้ลาว แผนนี้มีเป้าหมายบุกเบิกการพัฒนา 3 สายหลัก ภายในปี 2015 โดยจะพัฒนาทั้งรายได้ต่อหัวและการเติบโตของจีดีพี แต่ไม่ได้บอกว่าจะเอาเงินลงทุนจากไหน ที่น่าสนใจ เราได้เห็นทิศทางของนักลงทุนจากประเทศจีน
สิ่งที่จีนอยากเห็น อยากให้เกิดในลาว คือ พื้นที่ชายแดนที่เจริญ ขณะที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า แผนนี้ลอกมาจากแผนการพัฒนาภาคตะวันตกของจีนเอง มีงานเขียนของนักมานุษยวิทยาวิเคราะห์การไหลบ่าของทุนจีนเข้าไปในเขมรและลาว เป็นการเข้าไปพร้อมสิทธิพิเศษ ภาวะนี้สะท้อน "สิทธิสภาพนอกอาณาเขตอย่างอ่อน" ทั้งที่จริงแล้วเป็นคำแรง เพราะเป็นภาวะที่ไม่น่าจะมีอยู่หลังยุคอาณานิคม อยากจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวว่า เป็น self-imposed extraterritoriality (การแพร่ขยายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ตนเอง) ทุนจีน ไม่ได้แผ่ไปเท่านั้น แต่ไปเปลี่ยนกฎหมายและการเมืองในประเทศลาวด้วย
เมื่อจีนเข้าไป ลาวก็ต้องปรับตัวให้อธิปไตยมีความยืดหยุ่น ด้วยการนิยามอธิปไตยเสียใหม่ ผ่านการยกเว้นทางกฎหมาย เพื่อตอบสนองทางเศรษฐกิจ กรณีของลาว เกิดความร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่ายระหว่างจีนกับลาว โดยลาวได้ประดิษฐ์นวัตกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการแผ่ขยายของทุนจีน น่าสนใจว่าลาวทำอะไร การปรับอธิปไตยให้กลายเป็นสินค้าทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเข้าไปของทุนจีน คือ ชายแดนหลังพัฒนาแล้วกลับเถื่อนยิ่งกว่าก่อนที่จีนจะเข้าไป โดยมีเอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย) และ ไจก้า (องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) สนับสนุนทุนจีนเข้าไปในลาวด้วย ผ่านระบบ "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" และ "เขตเศรษฐกิจเฉพาะ" ตามชายแดน
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ บริษัทจีนได้ดึงเงินลงทุนเข้ามา โดยรัฐลาวอำนวยความสะดวก การพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กรณีสามเหลี่ยมทองคำ น่าสนใจ เพราะเป็นเมืองเก่า ไม่มีคำว่าคาสิโน บอกว่าพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การทำเมกกะโปรเจคท์ ขนาดนี้จะทำไม่ได้ ถ้าอธิปไตยไม่ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า ทั้งจีน ลาว ได้ร่วมกันสร้างวาทกรรม "ดินแดนล้าหลัง" จีนเป็นเหมือน "นักบุญทางเศรษฐกิจ" ที่เข้ามาสานต่อภารกิจของ "ไกสอน พมวิหาน" รัฐลาวบอกว่าไม่มีทางเลือก นอกจากแปลงอธิปไตยเป็นสินค้า แล้วขับไล่พลเมืองออกไป
"เจ้าเหว่ย" เจ้าของบริษัทคิงส์โรมัน มักให้สัมภาษณ์ว่าทำยังไงให้ลาวพ้นจากความยากจน บ่อยครั้งนักลงทุนจีนมองว่าพันธกิจของตัวเองศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นฝันร้ายของคนลาว เพราะคนลาวไม่ได้มองว่าตัวเองยากจน แต่ต้องได้รับผลกระทบคือ ย้ายออกจากบ้านเดิม จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน เขาบอกว่าตัวเองโกรธรัฐบาลลาวที่ไม่ปกป้องประชาชนแต่กลับยื่นที่ดินให้นายทุน
สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีการตอบโจทย์ว่า คุณภาพการพัฒนาคืออะไร กระทั่งข่าวการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มฉาว มีฆาตกรรมในบ่อนคาสิโน มีการซ้อมนักท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลลาว ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แล้วสั่งปิดบ่อน แต่ไม่มีผลต่อ 3 เหลี่ยมทองคำ ขณะเดียวกันลาวมีกฎหมายอนุรักษ์สัตป่า แต่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการจับสัตว์ป่า มาขายในร้านอาหารจีน
ชายแดนที่รุ่งเรืองของจีน มาจากบ่อน ซ่อง ส่วนร้านค้า เศรษฐกิจกลับซบเซา ชายแดนกลายเป็นที่ฟอกธุรกิจใต้ดิน ลาวเปิดตัวเองเป็นที่ฟอกธุรกิจ เจ้าเหว่ยไม่ได้เก็บเงินในธนาคาร แต่เก็บในอพาร์ตเมนท์ หน้าฝนก็เอาเงินมาตาก
ดร.อรัญญา กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายของคนจีนระลอกใหม่บริเวณชายแดนที่ผ่านมา เรามักกล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจจากศูนย์กลาง การลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่ชายแดน เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากลุ่มคนอีกหลายกลุ่ม เช่น กรณีพื้นที่แม่สาย เชียงแสน เชียงของ
จีนเกิดการอพยพของประชากรระลอกใหม่ในยุค 1990 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเงื่อนไขผลกระทบทางอ้อมของการปฏิรูปเศรษฐกิจในจีนหลังยุค 1980 ในช่วงแรก เกิดปัญหาคนชนบทอพยพเข้าเมือง แต่พื้นที่ในเขตเมืองรองรับไม่ไหว ทำให้คนชนบทเปลี่ยนทิศทางจากเดิม คือกลายเป็นการเดินทางลงใต้ แต่การอพยพเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีนโยบายเปิดชายแดน ทำให้เศรษฐกิจชายแดนเติบโต คนไหลลงมาได้ คนจีนได้รับการผ่อนปรน เข้าสู่ 4 แขวงใหญ่ทางเหนือของลาว
หลังปี 2000 จีนเน้นนโยบายก้าวออกไป ให้นักธุรกิจออกไปข้างนอก ทั้งยุโรป อาเซียน เป็นการใช้นโยบาย soft power หรือ "อำนาจละมุน" ให้ความรู้สึกว่าตนเองเป็น "ผู้ให้" เช่น โรงพยาบาลในลาว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อรัฐบาลลาว
คนจีนระลอกใหม่ที่ไหลลงมาที่เชียงแสนเป็นคนที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับกลางและระดับย่อย ทำให้เห็นว่า ถ้าจำแนก จะพบว่า นักธุรกิจจีนจะมองหาผู้หญิงไทยมาแต่งงาน เพื่อซื้อบ้าน โกดังรถ แล้วประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยคอยรองรับลูกค้าที่เป็นแรงงานจีน
ส่วนที่เชียงของ มีตลาดจีนที่พ่อค้าจีนมาเช่าที่ ขายโทรศัพท์มือถือ ขายกล้อง สำหรับการสร้างสะพานมิตรภาพ นอกจากจะมีปัญหาตั้งแต่เงินลงทุนว่ารัฐบาลใดจะลงทุน ยังมีปัญหาทะเลาะกับชาวบ้านเรื่องราคาที่ดิน นอกจากนั้น บริษัทจีนยังสนใจจะตั้งบริษัทแปรรูปยางพาราในภาคเหนือ ประเด็นคือ ที่ตั้งโรงงานน้ำท่วมทุกปี จึงต้องยกถมสูง แต่จะเกิดปัญหาน้ำไหลย้อนเข้าหมู่บ้าน ขณะเดียวกัน โรงงานอุตสาหกรรมก็ปล่อยน้ำเสียออกมามากมาย
สำหรับ แม่สาย มีการขายสินค้า โดยมีลักษณะร่วมกันกับเชียงแสน และ เชียงของ คือ ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็ก
คำถามคือจะเกิดอะไรกับชายแดนไทยทางภาคเหนือ คนจีนที่อพยพมาระลอกใหม่มีคอนเนคชั่น (สายสัมพันธ์) กับคนจีนโพ้นทะเล แต่การค้าชายแดนมีผู้ค้าท้องถิ่น และต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมแบบเดิมอยู่ การเข้ามาของจีนจะก่อให้เกิดการก่อรูปวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจแบบใหม่หรือไม่
ดร.ร่มเย็น กล่าวว่าจีนพยายามทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินนานาชาติที่ได้รับการยอมรับในประเทศอื่นนอกจากจีน ในปี 1978 จีนพยายามเปิดประเทศมากขึ้น มีเสรีในการผลิต เสรีการค้า เสรีทางการเงิน ซึ่งส่วนสุดท้ายก็ยังทำได้ไม่มากเท่าไหร่ มีการทดลองทำในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วขยายไปอาเซียน เป็น "ไชนาอาเซียน"
จีนแสดงตัวในลาวอย่างไร เมื่อปี 1989 ลาวพัฒนาหลายส่วน ปี 1990 ลาวแยกธนาคารกลางออกจากธนาคารพาณิชย์ พยายามปฏิรูปภาคการเงิน ให้ธนาคารต่างประเทศมาลงทุนได้เฉพาะสาขา
ลาวมีปัญหาอ่อนไหวค่าเงิน เพราะมีหลายค่าสกุล เมื่อดอลลาร์สหรัฐไม่เสถียร ก็ใช้ยูโร คนลาวไม่สนว่าเงินเหล่านั้นจะเป็นสกุลอะไร ตราบใดที่เงินตราต่างประเทศนั้นมีเสถียรภาพ
ธนาคารกลางลาว ที่สนับสนุนโดยไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) จึงต้องทำให้ค่าเงินของตนเองมีเสถียรภาพ มีการรณรงค์ให้ใช้เงินกีบ เป็นศักดิ์ศรีเอกลักษณ์ของคนลาว เพราะเขากลัวเรื่องค่าเงินมาก
ขณะที่การแสดงตัวของ "อำนาจจีน" ในลาวนั้นมาเป็นกระบวน ตอนนี้จีนลงทุนเป็นอันดับ 2 ในลาว โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น สามเหลี่ยมทองคำ ตลาดในเวียงจันท์ ก็มีการลงทุนใหญ่ๆ โดยคนจีน
เดือน พ.ย. ปีนี้ ลาวจัดประชุมอาเซม (การประชุมเอเชียยุโรป) ลาวต้องการพื้นที่ในเวทีโลก ซึ่งลาวตัดสินใจยึดพื้นที่ดอนจัน เป็นเกาะตรงข้ามฝั่งไทย เดิมประชาชนใช้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลูกผัก แต่รัฐบาลจะยึดพื้นที่สร้างที่พักสำหรับผู้มาประชุม และมีพื้นที่บางส่วนที่จะสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ โดยมีข่าวว่าจีนให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้อย่างเป็นกระบวนการ
ปี 2009 จีนและลาวทำแผนความร่วมมือถึงปี 2014 ว่าจีนจะช่วยเหลือลาวอย่างไรบ้าง มีตั้งแต่การสร้างที่ประชุมมูลค่า 450 ล้านหยวน มีข้อแม้ว่าลาวต้องรับเป็นเงินหยวน ในปี 2011 จีนกับลาวก็มีการปรับแผนเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน
การช่วยเหลือจากจีนจะมาพร้อมเงื่อนไข โดยเฉพาะรายละเอียดระดับปฏิบัติการ เงินช่วยเหลือต้องให้เป็นเงินหยวน ส่วนช่างเทคนิค วิศวกร ต้องมาจากบริษัทจีน วัสดุก่อสร้างมาจากจีน ทั้งหมด จะเห็นว่า ตลาดมีอยู่แล้วเพียงแต่รอลิงค์มาที่ลาว ขณะที่จีนก็ขอพื้นที่ 5 กม. รอบทางรถไฟความเร็วสูงที่จะสร้างในประเทศลาว
จะเห็นได้ว่า เงินช่วยเหลือในรูปเงินหยวนย่อมทำกำไรกลับคืนเข้ารัฐจีนง่ายๆ จีนได้มาซึ่งการสะสมทุน ทำแบบนี้จึงมีผลลัพธ์เป็น "ได้กับได้"
โดยจีนจะแสดงตัวในด้านการค้าลงทุน ส่วนภาคการเงินจะเข้ามาในลักษณะการให้ความช่วยเหลือความร่วมมือ เพราะธนาคารแห่งชาติลาวสงวนท่าทีกรณีเงินหยวน ขณะที่ประชาชนลาวไม่สนใจเรื่องความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากเขาสนใจความมั่นคงของตัวเอง เพราะต้องการใช้เงิน
เครดิด : Mongwin