เสร็จแล้ว100%“สะพานรถไฟโค้ง”แห่งแรกโมเดลสวิส
*ดีมากติดตั้ง3วันเสร็จปิดจราจรไม่นานลดค่าใช้จ่าย
*เร่งทดสอบรับน้ำหนัก 20 ตันเพลาเท่าขบวนรถไฟ
*22จุดเสร็จทั้งหมดปลายปีหน้าต้นแบบทางคู่เฟส2
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า วันที่ 29-30 พ.ย.67 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ(Backfilled arch bridge) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง (Railway Arch Culvert) บริเวณบ้านปงป่าหวาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ BEBO Arch จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นำมาใช้กับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเหนือช่วงเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการแรกของประเทศไทย
นายพิเชฐ ให้สัมภาษณ์“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า การก่อสร้างสะพานเริ่มในงานสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. แล้ว ใช้สะพานโค้งกว่า 20 จุด
ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง135 กม. และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. จะเริ่มเร็วๆ นี้
จากการติดตามพบว่า การใช้สะพานยังไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดี ช่วยลดเวลาก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งเพียง 3 วันและค่าใช้จ่ายก่อสร้างถูกกว่ารูปแบบเดิมที่เป็นท่อลอดแบบเหลี่ยม (Box Culvert) รฟท. มีแผนนำไปใช้กับโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนมด้วย
และอยู่ระหว่างพิจารณาหาวิธีการที่จะนำมาใช้กับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เพราะโครงการนี้สร้างอยู่บนทางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้ว ต่างกับทางคู่สายใหม่ จึงเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายต้องทำให้ได้ เพราะช่วยทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว สะดวกและลดต้นทุน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” สัมภาษณ์ นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการฯ ให้ข้อมูลว่า งานสัญญาที่ 1 ได้ติดตั้งสะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จแล้ว 8 สะพาน จากทั้งหมดประมาณ 22 สะพาน และมีแผนจะเพิ่มเติมอีก
ใน 8 สะพานงานโครงสร้าง และถมดินเสร็จแล้ว 100% จำนวน 1 สะพาน บริเวณ กม.538+925 บ้านปงป่าหวาย อ.เด่นชัยจ.แพร่ รอทดสอบการใช้งานด้วยการโหลดที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับขบวนรถไฟ ประมาณ 20 ตันเพลามาทดลองวิ่งผ่านบนสะพานแห่งนี้ ก่อนจะทำคันทาง และวางรางรถไฟต่อไป ส่วนอีก 7 สะพาน เตรียมการถมดินฯ
นายปัฐตพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้เริ่มสะพานที่ 9 และ 10 โดยตอกเสาเข็มเสร็จแล้ว ส่วนสะพานที่ 11 อยู่ระหว่างตอกเสาเข็ม ตามแผนงานคาดว่าการก่อสร้างทั้ง22สะพานจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 68
การติดตั้งสะพานเริ่มจุดแรกที่กม.539+700 บ้านปงป่าหวายอ.เด่นชัย จ.แพร่ ส่วนจุดที่สองอยู่บริเวณ กม.538+925 สาเหตุที่สร้างเสร็จก่อนจุดแรก เนื่องจากจุดแรกยังอยู่ระหว่างการทำรางน้ำ และทำที่ครอบคลองมะขามป้อมที่อยู่ใกล้เคียงให้แล้วเสร็จก่อน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า สะพานโค้ง มีความยาว 33.6 เมตร กว้าง 16.46 เมตร หนา 30.5 เซนติเมตร สูงจากพื้นถนนประมาณ 4 เมตร (จากเดิม 4.2 เมตร แต่ทำพื้นถนนในอุโมงค์สูงขึ้นมาอีก 20 เซนติเมตร)รถเกี่ยวข้าวยังคงผ่านได้
สำหรับขั้นตอนการทำสะพานจะเริ่มจากการทำฐานราก จากนั้นจะนำชิ้นส่วนโค้งหล่อสำเร็จที่มีการหล่อชิ้นงานคอนกรีตที่โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา มาประกอบกันในพื้นที่ก่อสร้าง ใช้เวลาติดตั้งประมาณ 3 วัน และหล่อคอนกรีตเชื่อมชิ้นงาน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบดอัดดินต่อไป
สามารถปิดการจราจรแบบวันต่อวันได้ ไม่จำเป็นต้องปิดเป็นเดือน ทั้งนี้ปกติการก่อสร้างสะพานที่ผ่านมา 1 ตัว ต้อทำฐานราก เสาและวางคาน ใช้เวลาก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างต่ำ 6-8 เดือน ช่วยลดระยะเวลาก่อสร้างได้เท่าตัว
ไม่แน่ใจในส่วนของพื้นที่เชียงราย ทราบข่าวจากฝ่ายความมั่นคงภายในว่าชาวบ้านไม่ยอมรับแบบทางลอดรถไฟที่ไม่เหมือนทางแพร่
แบบว่ารถไถนายังลอดลำบาก น่าจะเป็นทางน้ำผ่านมากกว่า ชาวบ้านที่ใช้รถเล็ก รถกลาง รถสูง คงผ่านลำบาก
จุดใดผมไม่ทราบนะ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรไปหาข่าวจากชาวบ้านและน่าจะปรับแก้ไขเปลี่ยนรูปแบบได้
รถไฟได้ความสะดวก แต่ชาวบ้านที่อยู่มาแต่เดิมลำบากต้องวิ่งอ้อมไกล
การรถไฟ จะถูกสรรเสริญ(-) ไปชั่วลูกหลานเลยนะ...จะบอกให้..