ผมเห็นด้วยกับการรวมกลุ่มเกษตรกรครับ....ผมเคยสัมผัสกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เชียงรายมาบ้างเหมือนกัน เช่น เครือข่ายหนี้สิน แนวร่วมเกษตรกร หรือแม้แต่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ก่อตั้งมานาน เคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายร่วมกับกลุ่มเกษตรกรหลายจังหวัดภาคเหนือ จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถรวมตัวกันเป็นสมัชชาได้....เหตุผล (ตามความคิดของผม) เพราะกลุ่มเหล่านี้จะว่าไปก็ใจแคบเกินไป มองแต่ผลประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองปัญหาในภาพรวมเกษตรกรทั้งจังหวัด นอกจากนี้ยังยื่นข้อเรียกร้องที่ปฏิบัติได้ยาก เช่น การยกหนี้สินให้เกษตรกร โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เป็นต้น ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้บางกลุ่มก็เป็นเครื่องมือของนักการเมืองด้วย...ดังนั้นการตั้งกลุ่มลักษณะ "สมัชชา" ในพื้นที่เชียงรายน่าจะทำได้ยาก.....แต่ถ้าเป็นการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลผลิต หรือการส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน ผมสนับสนุนเต็มที่ครับ....แต่ถ้าเป็นการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อรองในเรื่องราคาผลผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดียว เช่น ข้าวโพด และอาจรวมถึงยางพารา ในอนาคต ผมว่าเป็นการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ....
เหลืออด! รัฐลอยแพคนจน-ลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ นัดชุมนุมใหญ่ที่เชียงใหม่ 18 ตุลาฯนี้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เชียงราย - เครือข่ายลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ลงมติรวมตัวครั้งใหญ่หน้าศาลากลางเชียงใหม่ 18 ตุลาฯนี้ ทวงคำตอบขยายโครงการพักชำระ-ปรับโครงสร้างหนี้ หลังยื่นเรื่องมานาน แต่ถูกรัฐบาลปูส่อลอยแพคนจนนับแสน ปล่อยโครงการฟื้นฟูหนี้ยุติตั้งแต่สิ้นกันยาฯ 55
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งวันนี้ (16 ต.ค.55) ว่า หลังกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหานี้สินและเข้าร่วมในโครงการกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกรในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อทางผู้ว่าฯหลายจังหวัด เพื่อขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการฯที่ดำเนินการตามมติ ครม. 7 เม.ย.2553 และได้หมดลงในวันที่ 30 ก.ย.55 ที่ผ่านมาไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
ดังนั้น ล่าสุดจึงได้มีการจัดประชุมบรรดาแกนนำของกลุ่มที่ จ.เชียงใหม่ โดยในส่วนของ จ.เชียงราย มีนายบุญธรรม นนท์ภู ผู้แทนเกษตรกร จ.เชียงราย ไปร่วมและมีการนัดหมายจะนำมวลชนไปชุมนุมร่วมกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 18 ต.ค.55 นี้ เพื่อทวงคำตอบจากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกร ต้องการให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเกษตรกรออกไป เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้สถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งที่เป็นของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ,ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งล้วนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรจะดำเนินการกับเกษตรกรอย่างเข้มงวด
แต่หากมีโครงการจะทำให้หนี้ของเกษตรกรยังคงอยู่ในระบบของมาตรการกองทุน ฟื้นฟูฯ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ได้
ทั้งนี้ จ.เชียงราย มีผู้เดือดร้อนรวมกันประมาณ 11,321 ราย แต่เมื่อมีผู้ที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเหลืออยู่ประมาณ 3,8110 คน แต่ละคนมีหนี้สินเฉลี่ยรายละประมาณ 300,000 บาท รวมหนี้สินทั้งหมดประมาณ 1,500 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ โยอินชัย อดีตผู้แทนเกษตรกร จ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากกลุ่มเกษตรกรได้ไปยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯกันแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย ดังนั้น พวกเราจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุน ฟื้นฟูฯ ได้นำเสนอปัญหานี้ซ้ำต่อคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเพื่อขยายโครงการต่อไป เพราะถ้าไม่เช่นนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะปิดโครงการซึ่งจะทำให้คนตกค้างอยู่ ทั่วประเทศร่วม 103,000 คน
สำหรับ จ.เชียงราย แต่นับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 เป็นต้นมาพบว่าเข้าสู่กองทุนฟื้นฟูฯ เพียงแค่ 475 รายจากทั้งหมดร่วม 3,000-4,000 รายดังกล่าว ซึ่งพวกเขาจะต้องเดือดร้อนหนักถ้าไม่ต่อโครงการดังนั้นจึงได้รณรงค์ให้ผู้ ที่ยังตกค้างไปชุมนุมคาดว่าจะมีประมาณ 300 คน และที่เหลือคงมาจากจังหวัดอื่นๆ ภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง ฯลฯ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 500 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายแต่อย่างใด เพียงแต่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม และจัดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เกษตรกรที่เป็นหนี้ก็ยังคงชำระหนี้ผ่านสถาบันการเงินโดยเฉพาะ ธ.ก.ส.เช่นเดิม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับคระกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ว่าจะชงเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอย่างไร
“เราเคยเคลื่อนไหวเรียกร้องกันมาก่อนที่จะหมดโครงการแล้ว ดังนั้นหากว่าคณะรัฐมนตรีมีมติปิดโครงการไป ก็ได้มีการหารือกับแกนนำบางส่วน แล้วว่าจะมีการขอความเมตตาจากศาลปกครอง เพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพราะปล่อยปะละเลยจนทำให้โครงการล่าช้า ไม่ตรงกับมติคณะรัฐมนตรีปี 2553 ดังกล่าวต่อไป”