เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 20 เมษายน 2024, 07:23:41
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  สำหรับคนที่ชอบนั่งสมาธิ ลองอ่านดูครับ น่าจะมีประโยชน์ครับ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน สำหรับคนที่ชอบนั่งสมาธิ ลองอ่านดูครับ น่าจะมีประโยชน์ครับ  (อ่าน 1436 ครั้ง)
james_cr2001
magdafVE
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 276


« เมื่อ: วันที่ 09 มิถุนายน 2012, 17:35:25 »

ธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส > ค่ายธรรมบุตร
ขอขอบคุณและอนุโมทนา คุณอุทัยวรรณ เอกพินิทพิทยา
ผู้อาสาพิมพ์ต้นฉบับเรื่องนี้เพื่อเผยแพร่ในเว็บพุทธทาสศึกษา
ค่ายธรรมบุตร
(เรื่องที่ ๑๔)
อานาปานสติภาวนา
สนทนาในโอกาสพักผ่อนของคณะกรรมการพุทธสมาคม ฯ แห่งประเทศไทย
ระหว่างมีการประชุมกันที่ค่ายธรรมบุตร ณ ที่ลานรับแขก
สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล ไชยา
๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑

เรื่องที่จะให้อบรม หรือสอนฝึกกัมมัฏฐาน ในสภาพอย่างนี้มันทำไม่ได้ ทำได้แต่เพียงอธิบายเท่านั้น, จะทำกัมมัฏฐานจริง ๆ นั้น ทำไม่ได้, คนจำนวนมาก มันหนวกหู แล้วมันมีเสียงอื้ออึงไปหมด.

          การจะทำกัมมัฏฐาน หรือภาวนาอะไรจริง ๆ นั้น สถานะอย่างนี้ทำไม่ได้ มันอื้ออึ้งไปหมด ; จะทำได้บ้างก็เพียงอธิบายให้เข้าใจวิธีที่จะพอเป็นแนว.

          วิธีที่จะทำพอเป็นแนวก็คือ : การทำกัมมัฏฐานนี้ หมายถึงการกระทำทางจิตใจ. ใจความสำคัญก็อยู่ตรงที่เราต้องการให้ความจริงของธรรมชาติเกี่ยวกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ให้ปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ในใจเสมอ ; แต่แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจิตยังไม่อยู่ในอำนาจ ไม่ยอมที่จะพิจารณา หรือไม่ยอมที่จะเห็น ไปในทางที่เราต้องการจะให้เห็น ; เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีการฝึกในขั้นต้นกว่านั้นอีก.

          ขั้นต้นต้องฝึกเพื่อบังคับจิตใจให้ได้ ; ฉะนั้น การทำกัมมัฏฐานจึงแบ่งเป็น ๒ ตอน : ตอนแรก ก็ทำเพื่อ บังคับจิต ให้อยู่ในอำนาจ, ตอนกลัง ก็ทำเพื่อใช้ให้จิตที่อยู่ในอำนาจ แล้วนี้ พิจารณาสิ่งที่เราต้องการพิจารณา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง. ตอนที่จะบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ การฝึก ตอนแรก นี้เรียกว่า ฝึกอย่างสมาธิโดยตรง, หรือสมถะ. พอจิตอยู่ในอำนาจแล้ว ให้พิจารณา เพื่อความเห็นแจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, นี้ เป็นตอนที่เรียกว่า วิปัสสนา โดยตรง. ฉะนั้นสมถะ สมาธิ กับวิปัสสนา จึงต่างกันอยู่ตรงนี้.

          ทีนี้การฝึกให้เป็นสมาธินี้ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น จะฝึกบริกรรม พุทโธ อรหัง หรือบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้, หรือจะไม่บริกรรม, จะกำหนดที่วัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งข้างนอก เช่นดวงกสิณ เช่นอสุภ เป็นต้น ก็ได้, หรือจะใช้สิ่งข้างในตัวเรา เช่นลมหายใจ เป็นต้น เป็นเครื่องกำหนดก็ได้เหมือนกัน. ฉะนั้น อย่าได้ถือหรือเข้าใจว่า แบบไหนผิด แบบไหนถูก แบบไหนดี แบบไหนไม่ดี ; มันอาจจะเหมาะแก่คนเป็นคน ๆ ไปก็ได้, และทางที่ดีควรจะได้ลองดูทุก ๆ แบบอาจจะพบแบบที่เหมาะ.

          สำหรับ แบบที่อาตมาชอบ ก็คือแบบที่เรียกว่า อานาปานสติภาวนา, เรียกว่า อานาปานสติภาวนา ตลอดทั้งสายเลย ; แม้แต่ตอนที่ฝึกเพื่อความเป็นสมาธิ ก็เรียกว่าอานาปานสติ, ตอนที่ฝึกในทางปัญญา ก็ยังคงเรียกว่าอานาปานสติอยู่นั่นเอง, แปลว่าตลอดสาย. ตอนที่จะทำให้เป็นสมาธิ หรือสมถะโดยสมบูรณ์แบบนี้ก็เป็นการกำหนดลมหายใจ การกำหนดเวทนา การกำหนดจิต สามตอนแรกของสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง, แล้วกำหนดพิจารณาทางปัญญา หรือวิปัสสนา ก็คือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนสุดท้าย หรือตอนที่ ๔.

          สำหรับ ตอนแรก ที่สุด พิจารณาลมหายใจ กำหนดลมหายใจ เรียกว่า หมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าลมหายใจก็คือกายชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน, กำหนดลมหายใจนี้แบ่งเป็น ๔ ตอน : ตอนที่ ๑ กำหนดลมหายใจชนิดยาว. ตอนที่ ๒ กำหนดลมหายใจชนิดสั้น. ตอนที่ ๓ กำหนดความที่ลมหายใจนี้ปรุงแต่งกาย หรือสัมพันธ์กันอยู่กับกาย. ตอนที่ ๔ กำหนดลมหายใจเพื่อบังคับให้ลมหายใจนั้นละเอียด ให้ลมนั้นปรุงแต่งกายแต่ชนิดที่ละเอียด.

          ทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแบบอานาปานสตินั้น เป็น ๔ ตอน : - ตอนที่ ๑ กำหนดลมหายใจยาว, ตอนที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น, ตอนที่ ๓ กำหนดลมหายใจนั่นแหละเป็นของปรุงแต่งกาย หรือสัมพันธ์กันอยู่กับกาย, ตอนที่ ๔ ทำให้ลมหายใจนั้นแหละละเอียดเพื่อปรุงแต่งกายชนิดละเอียด.

          ในตอนต้นที่เรียกว่า กำหนดลมหายใจยาวนี้ หมายความว่า สังเกตที่ว่าลมหายใจเป็นของยาว : ลมหายใจยาว เมื่อร่างกายสบาย. เมื่อร่างกายไม่สบาย เช่นอึดอัดเป็นต้น ลมหายใจจะสั้น ; ลมหายใจจะยาวเมื่อมีความสบายที่สุด ; ฉะนั้น ถ้าเราหายใจให้ยาวได้ก็หมายความว่า ทำร่างกายสบายได้ด้วย. ฉะนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทางอนามัยด้วย, คือทำให้ร่างกายสบาย. ส่วน ลมหายใจสั้น นั้น ในตอนแรกจะต้องรู้ถึงข้อที่ว่า : เมื่อจิตมีไม่ปกติ ลมหายใจสั้น, เมื่อหงุดหงิดก็หายใจสั้น, เมื่อโกรธก็หายใจสั้น, เมื่อราคะครอบงำก็หายใจสั้น. ฉะนั้น เราจะต้องรู้จักความที่ลมหายใจสั้น เมื่อร่างกายไม่สบาย เมื่อจิตก็ไม่ปกติ.

          นี้เราจึงกำหนดรู้ทั้งสองอย่าง ทั้งอย่างยาวและอย่างสั้น. ว่าอย่างไหนยาว ? อย่างไหนสั้น ? ยาวเพราะเหตุใด ? สั้นเพราะเหตุอะไร ? และสามารถที่จะบังคับจิตใจให้ปกติ เมื่อลมหายใจสั้นก็ได้ ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ว, หรือว่าจะแก้ไขสิ่งเหล่านั้นให้หายไปได้ โดยการที่หายใจให้ยาว. เราจึงเป็นผู้ที่รู้จักธรรมชาติของลมหายใจดี ทั้งอย่างยาวและอย่างสั้น, เพื่อเป็นผู้แตกฉานในเรื่องของการหายใจ. ลมหายใจที่ยาว หยาบ อยู่ก็ได้ เราก็หายใจยาวอย่างละเอียด, ลมหายใจสั้น หยาบ อยู่ก็ได้ ก็พยายามทำให้ละเอียด จนสามารถบังคับได้ทุกอย่าง : นี้เรียกว่า เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับลมหายใจ ทั้งอย่างยาวและอย่างสั้น.

          ตอนที่ ๑ กำหนดแต่เรื่องอย่างยาว เฝ้ากำหนดแต่เรื่องอย่างยาว ศึกษาแต่เรื่องอย่างยาว ; พอเข้าใจดีแล้ว ตอนที่ ๒ ก็ศึกษาเรื่องสั้น มันสั้นเพราะเหตุอะไร แล้วจะทำให้ยาวออกไปได้อย่างไร ; ความสำคัญก็อยู่ตรงที่ว่า รู้จักแก้ไขลมหายใจที่สั้น ที่ปรุงแต่งร่างกายให้หยาบนั้น ให้มันยาวละเอียดออกไป.

          มาถึง ตอนที่ ๓ คอยเฝ้ากำหนดความจริง อย่างหนึ่ง คือข้อที่ว่า ถ้าลมหายใจหยาบ ร่างกายก็หยาบ ถ้าลมหายใจละเอียด ร่างกายก็ละเอียด. เราต้องศึกษาอย่างกำหนดกันจริง ๆ จัง ๆ เป็นระยะยาวนานพอ จนรู้ความลับข้อนี้ของธรรมชาติว่า : เมื่อลมหายใจหยาบ ร่างกายก็หยาบ ความร้อนในตัวก็สูง ใจคอก็ไม่สบาย, เมื่อลมหายใจละเอียด ร่างกายก็ละเอียด ความร้อนในร่างกายก็ลดต่ำลงและใจคอก็สบาย. เราต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างยิ่งในข้อนี้ ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เราจะทำการปฏิบัติต่อไปไม่ได้.

          ทีนี้ มาถึง ตอนที่ ๔ ก็รู้จักทำกาย คือลมหายใจนี้ให้ระงับ ให้ละเอียดนั่นเอง. ถ้าเรามีการกำหนดลมหายใจอย่างละเอียดอยู่ ก็เป็นการเท่ากับว่า ทำให้ร่างกายนี้ให้รำงับอยู่ ; เราจึงศึกษาในข้อที่ว่าร่างกายระงับนั้น ระงับเท่าที่ว่า ลมหายใจระงับ ; และก็มีกำหนดชนิดที่ว่า ทำให้ลมหายใจละเอียดยิ่งขึ้นไปทุกที โดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งในหลาย ๆ อย่าง ; จนร่างกายเย็นลง เพราะลมหายใจระงับลง, จนถึงระดับที่เรียกว่าเป็นสมาธิ ก็คือมีร่างกายละเอียด, ลมหายใจละเอียด. เพียงเท่านี้ก็ได้รับผลเป็นความสงบสุข ที่เกิดจากสมาธิแล้ว เป็นความสุขชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจได้มากเหมือนกัน ; แม้เพียงเท่านี้ ความระงับของลมหายใจนี้ เรียกว่า สมาธิที่ทำได้สำเร็จ, หรือเป็นสมถะที่มีความสงบ. มีการแบ่งที่เรียกว่า ละเอียดนี้ออกเป็น ๔ ขั้น : ที่เรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน.

IP : บันทึกการเข้า

james_cr2001
magdafVE
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 276


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 09 มิถุนายน 2012, 17:37:11 »

วิธีการฝึกอานาปานสติ ที่เป็นแนวสังเขป นั้นมีอยู่ดังนี้ :-

          เมื่อเรารู้ธรรมชาติของลมหายใจดีว่า มีอยู่อย่างไรแล้ว ก็เริ่มการฝึกลมหายใจในอันดับที่ ๑ ฝึกจิตเกี่ยวกับลมหายใจในอันดับที่ ๑ ในลักษณะที่เรียกว่า วิ่งตาม. ขอให้จำคำว่า "วิ่งตาม" ไว้ทีหนึ่งก่อน ในลักษณะที่ ๑ เมื่อลมหายใจเคลื่อนไปมาเข้าออกอยู่นี้ เราส่งจิตหรือสตินั้น กำหนดวิ่งไปตามลมหายใจ. เราหายใจให้แรง ๆ ให้กำหนดง่ายก่อน เป็นข้อแรก, ในขั้นแรก ; เพื่อเราจะได้สังเกตลมหายใจว่าเข้าหรือออก เข้าถึงไหนแล้ว แล้วออกถึงไหนแล้ว อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น เราจึง กำหนดจุดข้างนอก กับ จุดข้างใน.

          จุดข้างนอกก็คือที่ปลายจมูก, จุดข้างในสมมติลงที่สะดือ. เมื่อเราหายใจเข้า ก็ตั้งต้นที่จะงอยจมูก แล้วไปสุดที่สะดือ ; เมื่อหายใจออกก็ตั้งต้นที่สะดือ มาสุดที่ปลายจะงอยจมูก. ให้รู้ว่ามันต่างกันอย่างนี้ มันกลับกันอยู่ ; แต่ถึงอย่างไรก็ดี ความสำคัญอยู่ที่ว่า กำลังเข้า - ออก, เข้า - ออก, เราก็ส่งจิตหรือสตินั้นวิ่งตาม, วิ่งตามที่มันเข้า - ออก, เข้า - ออก. ถ้ากำหนดไม่ค่อยจะได้ ก็หายใจให้หยาบ ๆ เข้า ก็จะกำหนดได้ง่าย ว่าลมหายใจไปถึงไหนแล้ว, เข้าไปถึงไหนแล้ว ถึงที่สุดแล้วหรือออกมาสุดแล้ว ในลักษณะที่เหมือนกับวิ่งตาม, วิ่งตามลมหายใจอยู่เสมอ.

          ข้อนี้ก็เปรียบเหมือนกับว่า พี่เลี้ยงที่ไกลเปลให้เด็กนอน เมื่อเด็กยังไม่นอนยังจะดิ้นอยู่ ; นี้ต้องคอยจับตาดูเปลที่มันแกว่งไปแกว่งมา. พี่เลี้ยงต้องส่ายหน้าตามไปทั้งที่เปลแกว่งไป และเปลแกว่งมา ในลักษณะที่เรียกว่าวิ่งตามเช่นเดียวกันอย่างนี้. นี่ เราจะกำหนดด้วยการส่งจิต, กำหนดให้วิ่งตามลมหายใจเข้า - ออก, เข้า - ออก, เข้า - ออก อยู่ในลักษณะอย่างนี้ ; ให้ทำได้ดีเสียขั้นหนึ่งก่อน เรียกว่า วิ่งตาม.

          พอทำได้ดี ในขั้นวิ่งตามแล้ว ก็ เลื่อนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ไม่วิ่งตามแล้ว ; แต่จะเฝ้าดู อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งที่เหมาะสม. ในที่นี้ ก็ได้แก่ที่ตรงปลายจมูกนั่นเอง ที่ตรงปลายจะงอยจมูกนั่นเอง ; ตรงนี้เหมาะสม. เราคอยกำหนดแต่ที่ตรงนี้ก็พอแล้ว ; เมื่อลมหายใจเข้าก็เข้าไป เมื่อลมหายใจออกก็ออกมา มันก็ต้องผ่านตรงที่ปลายจะงอยจมูกนี่ทั้งนั้น. นี้เรียกว่า เฝ้ากำหนดอยู่ที่แห่งหนึ่ง ไม่วิ่งตามแล้ว, และ เฝ้ากำหนดอยู่ที่ปลายจมูก. เราจะต้องทำได้อย่างนี้ ซึ่งมันยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ; เพราะว่าในขณะที่ลมหายใจไม่ทันจะผ่านจะงอยจมูกนี้ จิตอาจจะหนีไปเสียที่อื่นก็ได้. แต่ถ้าเราฝึกอย่างทีแรก คืออย่างวิ่งตามนั้นได้ดีแล้ว ; การฝึกอย่างที่จะเฝ้ากำหนดอยู่ที่ปลายจมูกแห่งเดียวนี้ ก็จะไม่ยาก ; ก็จะทำได้. ถ้ามันเกิดไม่ได้ขึ้นมา ก็ย้อนหลัง กลับไปทำอย่างวิ่งตาม วิ่งตาม นั้นอีก ให้ดีให้ได้, แล้วจึงมากระทำอย่างที่เรียกว่าเฝ้าอยู่ที่เดียว ที่ปลายจมูกนี้อีก, ในที่สุดก็จะได้อีกเหมือนกัน.

          เมื่อลมผ่านที่จะงอยจมูกนั้นแหละ กำหนดที่ตรงนั้น เมื่อลมผ่านเข้าก็ตาม เมื่อลมผ่านออกก็ตาม ที่จุดที่ลมกระทบที่ปลายจมูกนั้น เราจะต้องกำหนดเอาที่ตรงนั้นเป็นนิมิต นี้เรียกว่ายังเนื่องอยู่ด้วยลมหายใจโดยตรง, เป็นนิมิตที่ยังเนื่องอยู่ด้วยลมหายใจโดยตรง. เมื่อเราวิ่งตามลมหายใจทั้งเข้าทั้งออกนั้น มันตลอดทั้งสาย, ตลอดทางทั้งสายนั้นแหละเป็นนิมิต. ลมหายใจที่ผ่านตลอดทั้งสายตั้งแต่ปลายจมูกถึงสะดือนั้นแหละเป็นนิมิต, ทั้งสายเลยเป็นนิมิต. แต่เมื่อลมหายใจผ่านมาและเราเฝ้าอยู่ที่จุดเดียวนี้ ; นิมิตจึงยังเหลืออยู่แต่ตรงจุดที่เรากำหนด คือที่จะงอยจมูกเท่านั้น, ไม่กำหนดตลอดทั้งสาย คือระหว่างปลายจะงอยจมูกถึงสะดืออีกต่อไปแล้ว, ทีนี้ ลมหายใจที่กระทบปลายจะงอยจมูกนั่นแหละ ตรงนั้นเป็นนิมิต ; นี่เรียกว่าเฝ้ากำหนดอยู่ในที่แห่งหนึ่ง มีลมหายใจเป็นนิมิต.

          เมื่อฝึกตอนนี้ได้ดีแล้ว ก็จะฝึกตอนที่ ๓ ต่อไป คือ เปลี่ยนนิมิตที่เป็นลมหายใจนั้นให้กลายเป็นมโนภาพ. ลมหายใจนั้นเป็นของจริงตามธรรมชาติ ; ไม่ใช่มโนภาพ, เดี๋ยวนี้เราจะเปลี่ยนให้เป็นชนิดมโนภาพ ; ตรงที่ลมหายใจกระทบที่จะงอยจมูกนั้น เราจะสร้างนิมิตอันใหม่ขึ้นมาในลักษณะที่เป็นมโนภาพ. ข้อนี้จะเรียกว่าแกล้งทำก็ไม่ถูก, จะเรียกว่าทำไปตามธรรมชาติจริง ๆ ก็ไม่ถูกเหมือนกัน ; มันจึงเรียกว่าอยู่ในระหว่างก้ำกึ่งกัน โดยการทำเป็นมโนภาพ ตรงที่ลมหายใจกระทบที่ปลายจมูกจุดเดียวนี้.

          เมื่อลมหายใจละเอียดเข้า, ร่างกายละเอียดเข้า, การกำหนดละเอียดเข้า ; จิตนั้นก็จะมีความรู้สึกเพียงครึ่งเดียว เพียงครึ่งสำนึก, เมื่อมีความเป็นครึ่งสำนึกแล้วก็ง่ายมาก ที่เราจะตั้งมโนภาพอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ; ว่าตรงที่ลมหายใจกระทบนั้นเป็นอะไรอย่างหนึ่งไปเสียแล้ว. เช่นว่า เป็นเหมือนกับปุยสำลีติดอยู่ที่นั่น. ทีนี้ไม่กำหนดที่ลมหายใจ, แต่กำหนดที่ปุยสำลีในมโนภาพ ที่เราสร้างขึ้นมาใหม่. หรือว่าบางที แทนที่จะเป็นปุยสำลี มันเป็นใยแมงมุมก็ได้, เป็นหยดน้ำเหมือนกับหยดน้ำในใบบัวก็ได้, เป็นดวง ๆ ก็ได้, เป็นดวงอาทิตย์เป็นดวงจันทร์, หรืออะไรก็ได้, แล้วแต่มโนภาพที่เราจะสร้างขึ้น. แต่ที่จะเป็นได้ง่ายนั้น เป็นอย่างปุยสำลี, หรือเป็นแต่เพียงดวงแก้วที่มีแสงอย่างใดอย่างหนึ่งเล็ก ๆ.

          พอฝึกอย่างนี้ได้ ก็ อาจจะขยายออกไป ให้โตเป็นดวงจันทร์หรือเป็นดวงอาทิตย์. พอฝึกอย่างนั้นได้อีก ก็อาจจะฝึกไปในทำนองที่ว่า อย่างที่เป็นดวงอาทิตย์นั้น ขยายให้ใหญ่ออกไปอีกก็ได้, ย่นให้เล็กลงมาอีกก็ได้. ถ้าฝึกได้อย่างนี้ หมายความว่า เรามีความสำเร็จในการบังคับจิต. เราสามารถจะบังคับให้เห็นนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ที่ตรงจุดนั้น. จนกระทั่งว่าให้เป็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ให้ลอยไปลอยมาก็ได้. แต่ไม่จำเป็นจะต้องมากถึงอย่างนั้น เอาแต่เพียงว่าเป็นนิมิตในมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว ; เราสามารถจะบังคับนิมิตในมโนภาพนั้นได้ตามสมควร คือให้เปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป เปลี่ยนสัดส่วน เปลี่ยนที่ เปลี่ยนอะไรก็ได้.

          เราทำไปให้มากเข้าไว้สักหน่อย ก็เพื่อว่าจะ ให้สามารถบังคับจิตได้ มากนั่นเอง แต่ ในที่สุดเราก็เปลี่ยน มาเอาแต่พอสมควร เพื่อทำจิตให้ประณีตยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง นี่เรียกว่าประสบความสำเร็จในขั้นที่ ๓ คือการเปลี่ยนนิมิตตามธรรมชาติ ให้กลายเป็นนิมิตในมโนภาพ.

          ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกันฟั่นเฟือนว่า ปฏิบัติตอนต้นนั้น เป็นการวิ่งตาม คือวิ่งตามลมหายใจที่เข้า - ออก, เข้า - ออก อยู่ตลอดทั้งสายนี้เป็นนิมิต, ครั้นฝึกอย่างนี้ได้แล้ว ก็เปลี่ยนเป็นกำหนดอยู่ที่เดียว คือที่จะงอยจมูก เอาเฉพาะลมหายใจที่กระทบที่จะงอยจมูกเป็นนิมิต. เมื่อฝึกอย่างนี้ได้แล้ว ก็มาถึงขั้นที่ ๓ เอาตรงจุดที่เป็นที่ตั้งของลมหายใจกระทบนั่นแหละมาเป็นจุด ๆ หนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นนิมิตในมโนภาพ : เช่นเป็นปุยฝ้าย หรือเป็นดวงแก้ว หรือเป็นอะไร ดังที่ได้กล่าวแล้ว นี่เรียกว่าเปลี่ยนนิมิตให้เป็นชนิดมโนภาพ.

          สรุปว่า ขั้นที่ ๑ วิ่งตาม, ขั้นที่ ๒ กำหนดที่จุดเดียว, ขั้นที่ ๓ กำหนดที่จุดนั้นให้เกิดนิมิตในมโนภาพ. เราจะต้องทำจนชำนาญจนคล่องแคล่ว จนอยู่ในอำนาจของเราจริง ๆ ต้องการอย่างไรก็ได้อย่างนั้นเสียก่อนในขั้นนี้.

          เมื่อนิมิตในมโนภาพของเราชนิดนี้อยู่ในมโนภาพของเราโดยสมบูรณ์แล้ว จึงได้ฝึกในขั้นต่อไปที่ว่า ค่อย ๆ สร้างความรู้สึกอันใหม่ขึ้นมา ที่เป็นความรู้สึกขององค์ฌาน, ว่าในขณะที่เรามีนิมิตในมโนภาพ ที่เหมาะสมอยู่นั้น : เราก็มีความรู้สึกที่เป็นวิตก, คือการกำหนดนิมิตนั้น และมีความ รู้สึกอย่างละเอียดทั่วถึงในนิมิต นั้นซึ่งเรา เรียกว่า วิจาร. องค์ฌานที่เรียกว่า วิตก วิจาร มีอยู่แล้วในการที่กระทำนิมิตนั้นได้สำเร็จ.

          ทีนี้ เหลืออยู่ ก็ได้แก่จะ สร้างความรู้สึกปีติ และความสุขขึ้นมา ; ปีติและความสุขนี้เกิดได้ง่าย จากความสำเร็จ. พอเรารู้สึกว่ามีความสำเร็จ ปีติก็เกิดขึ้น ; เมื่อปีติเกิดขึ้น ความรู้สึกที่เป็นสุขก็เกิดขึ้นตาม ; เพราะถ้ามีปีติแล้ว ต้องมีความสุขเป็นแน่นอน. องค์ฌานที่เรียกว่าปีติและความสุขจึงมีขึ้นมา ; แล้วลักษณะที่เรียกว่า เดี๋ยวนี้จิตมีความรู้สึกอยู่แต่เพียงในสิ่งเดียว : คือสิ่งที่จิตกำหนดนั้น อย่างนี้เรียกว่า มีความเป็นเอกัคคตา. ดังนั้น ในขณะนั้นจึงมีครบถ้วนแล้วทั้งวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ซึ่ง เป็นองค์ประกอบของฌานที่ ๑ ซึ่งเรียกว่า ปฐมฌาน.

          ขณะที่เป็นปฐมฌานนี้ จะต้องระมัดระวังปฏิบัติให้ดี, ให้คืบหน้าไปได้, แล้วรักษาไว้ให้ดี. อย่าเพ่อละโมบ นึกไปถึงความก้าวหน้าอย่างอื่นโดยรวดเร็ว ; จึงต้องฝึกแล้วฝึกอีก ฝึกแล้วฝึกอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในลักษณะอย่างนี้ ให้กำหนดในนิมิตนั้นไว้ ที่เรียกว่าวิตก, ให้รู้ซึมซาบในนิมิตนั้น เรียกว่าวิจาร, ให้ความรู้สึกปีติ อิ่มใจ รู้สึกอยู่ด้วยในขณะนั้น, และให้รู้สึกเป็นสุขอยู่ด้วยในขณะนั้น ; ความเป็นอย่างนั้น ในขณะนั้น ย่อมมีความเป็นเอกัคคตา คือมีอารมณ์เดียวอยู่ได้ในตัวมันเอง.

          นี้จะเห็นได้ว่า ไม่เหลือวิสัย ถ้ามีเวลาพอ เป็นคนปกติธรรมดาย่อมจะฝึกได้ แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดสูงสุด ; แต่ก็ถึงขนาดที่เรียกว่ามีครบถ้วนได้. และแม้ว่าจะไม่แน่นแฟ้นก็ยังครบถ้วนอยู่นั่นเอง. เมื่อครบถ้วนแล้ว จึงค่อยทำให้แน่นแฟ้นค่อยทำให้ชำนาญทีหลัง. เมื่อทำได้ชำนาญจริงแล้ว ก็เรียกว่า เรามีอำนาจ เหนือสิ่งนี้ คือเรามีวสีเหนือสิ่งนี้ ควบคุมมันได้ บังคับมันได้, คือบังคับจิตที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่กับอารมณ์ คือลมหายใจเป็นต้น.

          เพียงปฐมฌานเท่านี้ก็พอแล้ว หรือจะมากเกินไปแล้วด้วยซ้ำไปสำหรับคนทั่วไป แม้ว่าจะไม่ได้ขนาดถึงปฐมฌาน ก็ไม่ต้องเสียใจ ; เพราะว่าเราได้รับความเป็นสมาธิมากพอ ที่จะปฏิบัติต่อไปในขั้นต่อไปข้างหน้า. แต่ทว่า เราได้รับครบในลักษณะที่เป็นปฐมฌาน คือมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาครบถ้วน ก็นับว่าเป็นบุญหรือเป็นลาภเอาการทีเดียว มันจะง่ายดายต่อไปข้างหน้า.

          สรุปความว่า ในขั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น มีการกำหนดลมหายใจยาว, มีการกำหนดลมหายใจสั้น, มีการกำหนดรู้ความที่ลมหายใจปรุงแต่งกาย, แล้วเราก็บังคับจิตโดยวิธีบังคับลมหายใจ และทำให้ลมหายใจละเอียด, ทำให้จิตละเอียด ทำให้กายละเอียด, จนเกิดสิ่งที่เรียกว่าฌาน ซึ่งเป็นปฐมฌาน. นี้เรียกว่า ประสบความสำเร็จใน สติปัฏฐานหมวดที่ ๑ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน.

          
IP : บันทึกการเข้า

james_cr2001
magdafVE
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 276


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 09 มิถุนายน 2012, 17:37:50 »

ทีนี้ ก็มาถึงหมวดที่ ๒ ที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราจะต้องฝึกฝนในหมวดกายานุปัสสนาให้เชี่ยวชาญ ให้อยู่กับเนื้อกับตัว ให้หนีไปไหนไม่ได้, แปลว่าให้อยู่ในอำนาจเราจริง ๆ เสียก่อน แล้วจึงเขยิบเลื่อนไปในหมวดที่ ๒ คือ เวทนานุปัสสนา.

          หมวดเวทนานุปัสสนานี้ จะต้องติดต่อกันไปจากหมวดกายานุปัสสนา คือ ว่าจะต้องถือ เอาปีติและสุขซึ่งสร้างขึ้นในองค์ฌานนั้นเอง มาเป็นเวทนาในหมวดนี้ ; เพราะฉะนั้น เมื่อลงมือปฏิบัติในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะถือเอาปีติและสุขในสมาธินั้นแหละ มาเป็นตัวเวทนา, มาเป็นอารมณ์ หรือมาเป็นนิมิตของสติปัฏฐานในหมวดที่ ๒ นี้.

          เมื่อเป็นดังนี้เราก็จะ ต้องตั้งต้นมาตั้งแต่ต้น กำหนดยาว กำหนดสั้น กำหนดปรุงแต่ง กำหนดบังคับให้ปรุงแต่งแต่น้อย ให้ปรุงแต่งอย่างละเอียด จนเกิดปีติและสุข ; แล้วก็เหลือปีติและสุขไว้สำหรับเป็นอารมณ์ สำหรับกำหนดต่อไป ในหมวดที่ ๒ กำหนดเวทนาว่า ปีติเป็นอย่างไร, ความสุขเป็นอย่างไร. จะกำหนดให้เป็นอย่างละเอียดยิ่งกว่าเดิมว่า ปีตินี้เป็นอย่างไร, มันมีลักษณะเป็นอย่างไร, ความสุขนี้คืออะไร, เป็นอย่างไร, รู้ความที่กำลังมีปีติและสุขนี้ให้ละเอียด ให้ชัดเจน ให้เรียกว่ารู้จักธรรมชาติ รู้จักกำพืด รู้จักอะไรของมันทุก ๆ อย่างเสียก่อน ที่เกี่ยวกับปีติและสุขนี้. เพราะฉะนั้นในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ขั้นที่ ๑ ก็กำหนดปีติ, เมื่อกำหนดปีติแล้ว ขั้นที่ ๒ ก็กำหนดความสุข กำหนดความสุขได้แล้ว, ขั้นที่ ๓ ก็คือ กำหนดความที่ว่า เวทนาคือปีติและสุขนี่แหละ มันเป็นตัวการที่ปรุงแต่งจิตเรียกว่าจิตตสังขาร. ตัวการที่ปรุงแต่งจิตนี้คือเวทนา ในที่นี้ก็คือปีติและสุขนั้น.

          เพ่งกำหนดแต่ความที่เวทนาเป็นของปรุงแต่งจิตอยู่อย่างไร, ปรุงแต่งจิตอยู่อย่างไร, นี้เรื่อยไปในขั้นที่ ๓. ประสบความสำเร็จในขั้นนี้แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปในขั้นที่ ๔ คือ กระทำอย่าให้เวทนานั้นปรุงแต่งจิตได้ตามอำเภอใจ, จะบีบบังคับเวทนาให้ปรุงแต่งจิตน้อยเข้า น้อยเข้า จนกระทั่งไม่สามารถจะปรุงแต่งจิตขึ้นมาได้. เวทนาปรุงแต่งจิตขึ้นมาไม่ได้ เราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติขั้นที่ ๔ ของหมวดนี้ นี้เรียกว่า ทำจิตตสังขารให้รำงับลงไปได้.

          ขอทบทวนใหม่ว่า : ในหมวดเวทนานุปัสสนา หมวดที่ ๒ นี้ ขั้นที่ ๑ กำหนดปีติ. ขั้นที่ ๒ กำหนดความสุข. ขั้นที่ ๓ กำหนดความที่ปีติและสุขเป็นเวทนาปรุงแต่งจิต. ขั้นที่ ๔ บีบบังคับเวทนาหรือปีติและสุขนี้ ให้ปรุงแต่งจิตได้แต่น้อย จนกระทั่งปรุงแต่งไม่ได้เลย. นี่หมายความว่า เราสามารถบังคับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งจิตได้ มันจึงอยู่ในกำมือของเรา ที่เราจะจัดจิตใจของเราให้เป็นอย่างไรต่อไปได้ ในขั้นต่อไป นี่เรียกว่า เรามีความสำเร็จแล้วใน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติปัฏฐานข้อที่ ๒.

          ทีนี้ เราก็ปฏิบัติ ขั้นที่ ๓ ที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต่อไปอีก. ท่านทั้งหลายต้องไม่ลืมว่า การปฏิบัติต้องติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นตลอดไป ขาดตอนไม่ได้. เราก็ต้องตั้งต้นมาตั้งแต่ กายานุปัสสนา แล้วก็มาเวทนานุปัสสนา ; ขั้นสุดท้าย เราบังคับเวทนาที่เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตนั้นได้ จนทำให้หยุดปรุงแต่งก็ได้ ทีนี้ เราก็ใช้จิตที่ได้รับการบังคับให้มีการปรุงแต่ง ได้หรือไม่ได้อย่างไร นั่นแหละมาเป็นอารมณ์ หรือมาเป็นนิมิตของสติปัฏฐานข้อนี้.

          สติปัฏฐานข้อจิตตานุปัสสนานี้ ขั้นที่ ๑ ก็คือ กำหนดลักษณะของจิต ในขณะนั้นว่า จิตประกอบอยู่ด้วยลักษณะอย่างไร จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ. จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ, จิตมีโมหะหรือไม่มีโมหะ, จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า, จิตแช่มชื่นหรือจิตหดหู่ อย่างนี้เป็นต้น ; หลายลักษณะแล้ว แต่มันจะมีลักษณะอะไรขึ้นมาเป็นเครื่องกำหนด. เรากำหนดดูลักษณะของจิตในทุกลักษณะอย่างนี้เรื่อยไปจนรู้ลักษณะของจิตหมดสิ้น นี้เรียกว่าขั้นที่ ๑ กำหนดที่ลักษณะของจิต.

          ขั้นที่ ๒ ต่อไป เมื่อเราสามารถบังคับจิตได้อย่างนี้แล้ว ฝึกบังคับจิตไปให้มีลักษณะเป็นจิตที่ปราโมทย์ ; ปราโมทย์นี้หมายถึง จิตที่มีปีติและความสุขด้วยเหมือนกัน. แต่มันละเอียดไปกว่า สูงไปกว่า ไม่ต้องอาศัยองค์ฌานคือปีติและสุขก็สามารถที่จะทำจิตให้ปราโมทย์ได้ทันที. ข้อที่ ๒ นี้ การบังคับจิตให้ปราโมทย์ได้ตามที่เราต้องการ ; เมื่อประสบความสำเร็จในขั้นนี้แล้ว ก็เลื่อนไป ขั้นที่ ๓ คือบังคับจิตให้ตั้งมั่น.

          คำว่า "ตั้งมั่น" นี่แหละคือตัวสมาธิแท้ แต่ว่าในขนาดที่สมบูรณ์ ในความเป็นสมาธินั้นต้อง มีลักษณะ ๓ ประการ คือ บริสุทธิ์สะอาด อย่างหนึ่ง มั่นคงแน่วแน่อย่างหนึ่ง แล้วก็ ว่องไวต่อหน้าที่ของมันอย่างหนึ่ง "ปริสุทโธ" แปลว่า บริสุทธิ์คือสะอาด ไม่มีนิวรณ์รบกวน เป็นต้น ; สมาหิโต คือ ตั้งมั่น แน่นแฟ้น เข้มแข็ง มั่นคง ; แล้วก็ กัมมนีโย คือ ไวต่อหน้าที่ของมัน, หน้าที่ของมันคือการพิจารณา เราจะให้มันทำหน้าที่ของมันคือพิจารณาเมื่อใด อย่างไร ในลักษณะใดก็ได้ทันที อย่างนี้เรียกว่าไวต่อหน้าที่ของมัน.

          ถ้าจิตประกอบด้วยองค์ ๓ นี้ คือ บริสุทธิ์ ตั้งมั่น และ ไวต่อหน้าที่ ของมันแล้ว เรียกว่าตั้งมั่นในที่นี้ คือเป็นสมาธิอย่างสมบูรณ์ ในลักษณะที่จะเป็นบาทฐานของวิปัสสนา. ทีนี้ก็ปฏิบัติใน ขั้นที่ ๔ ต่อไป คือทำจิตให้ปล่อย, ทำจิตให้ปล่อยจากสิ่งที่กำลังห่อหุ้มจิตอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ได้. จิตมีอะไรห่อหุ้มอยู่ในขณะนั้น ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ความกำหนัดอย่างอื่นก็ดี, หรือแม้แต่ความกลัว ความเกลียด ความอิจฉาริษยา ความหดหู่อะไรก็ดี ที่กำลังรบกวนจิตอยู่ในขณะนั้น เราฝึกในลักษณะที่สามารถจะสลัดให้ออกไปได้ทันที ; นี่เรียกว่าฝึกจิตให้ปล่อย เป็นขั้นที่ ๔.

          ทบทวนในหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอีกทีหนึ่งว่า : ขั้นที่ ๑ กำหนดที่ลักษณะของจิตว่ามีลักษณะอย่างไร ในขณะนั้น. ขั้นที่ ๒ บังคับจิตให้ปราโมทย์. ขั้นที่ ๓ บังคับจิตให้ตั้งมั่น. ขั้นที่ ๔ บังคับจิตให้ปล่อยสิ่งที่มากลุ้มรุมจิต.

          นี่ลองพิจารณาดูเถิด จะเห็นได้ว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นผู้แตกฉาน เชี่ยวชาญในเรื่องของจิต รู้จักมันดี บังคับมันได้ ประสบความสำเร็จอย่างนี้แล้ว เรียกว่าสำเร็จในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานตามแบบของอานาปานสติ.

          เมื่อปฏิบัติได้ทั้ง ๓ หมวด คือกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ในลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จในส่วนสมถะเป็นอย่างสูงสุด. ทีนี้ก็เลื่อนไปใน สติปัฏฐานที่ ๔ ที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเป็นขั้นวิปัสสนาโดยสมบูรณ์.

          ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานขั้นที่ ๑ กำหนดความหมายของความไม่เที่ยงคืออนิจจัง. ความหมายของอนิจจังนั้นมีอยู่อย่างไรบ้าง ; ก็พิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น. เราจะต้องพิจารณาทุกสิ่งที่มีความไม่เที่ยง, แล้วสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ในความรู้สึกของเราจริง ๆ ไม่ใช่ไปเที่ยวพิจารณาก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ ภูเขา เรื่องข้างนอกอย่างนั้น, ไม่ใช่ ; ยังไม่เป็นการถูกต้อง หรือสมบูรณ์ในเรื่องนี้ ; จะต้องพิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งที่มีอยู่ในตัวโดยแท้จริง และสิ่งที่ปรากฏอยู่จริง ๆ . เพราะฉะนั้น เราจะต้องย้อนกลับไปทำตั้งแต่ต้นมา คือ : -

          กำหนดลมหายใจยาว แล้วพิจารณาความไม่เที่ยงของลมหายใจยาว, แล้วกำหนดลมหายใจสั้น พิจารณาความไม่เที่ยงของลมหายใจสั้น, พิจารณาความที่ลมหายใจปรุงแต่งกาย, ก็กำหนดความไม่เที่ยงของการปรุงแต่งกาย. พิจารณาการที่บังคับลมหายใจ ไม่ให้ปรุงแต่งกายได้ คือให้สงบได้, ก็พิจารณาความไม่เที่ยงของระบบทั้งการปรุงแต่ง และไม่ปรุงแต่งเหล่านี้ทั้งหมด ; เพราะว่ามันมีความไม่เที่ยงแสดงอยู่ทั้งนั้น.

          แล้วก็ เลื่อนมาพิจารณาในกลุ่มเวทนานุปัสสนา คือพิจารณาว่า ; ปีตินั้นก็ไม่เที่ยง, ความสุขนั้นก็ไม่เที่ยง, ปีติและสุขซึ่งปรุงแต่งจิตนั้นก็ไม่เที่ยง, ไม่เที่ยงทั้งปีติและสุข และทั้งจิตใจนั้น : และการที่บังคับเวทนามิให้ปรุงแต่จิตนนี้ ก็ล้วนแต่มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอไป เปลี่ยนแปลงทุกกรณี. ถ้าเที่ยงมันก็เปลี่ยนเป็นอะไรไม่ได้ : เดี๋ยวนี้เพราะมันไม่เที่ยง มันจึงเปลี่ยนไปได้ กระทั่งเปลี่ยนไปได้ตามที่เราต้องการ.

          ทีนี้ ก็ ย้อนมาพิจารณาในหมวดจิตตานุปัสสนา พิจารณาว่า : จิตในลักษณะไหนก็ตาม มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง, การที่ทำจิตให้ปราโมทย์ได้ ก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง. การที่ทำจิตให้ตั้งมั่นได้ ก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง. การทำจิตให้ปล่อยได้ ก็มีลักษณะแห่งความไม่เที่ยง. อย่างนี้มันเป็นเรื่องจริง, มันเป็นของจริงที่มีอยู่ในใจจริง ๆ, รู้จักความไม่เที่ยงของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในใจจริง ๆ ; อย่างนี้มันมีผล. ไม่เหมือนกับไปเที่ยวพิจารณาข้างนอก เช่นอย่างนั้นไม่เที่ยง อย่างนี้ก็ไม่เที่ยง ; นั้นมันผิวเผิน. แต่ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่มันกำลังปรากฏอยู่ภายในจิตเองจริง ๆ ว่าเป็นของไม่เที่ยงแล้ว มันเห็นความไม่เที่ยง ลึกซึ้ง, จนถึงกับทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด หรือความสลดสังเวชได้. ด้วยเหตุดังนี้เอง จึง ต้องใช้อารมณ์ภายในล้วน ๆ สำหรับพิจารณาความไม่เที่ยง คือ อนิจจัง.

          เมื่อพิจารณาความไม่เที่ยงหรืออนิจจังเรื่อยไปอยู่อย่างนี้ ซึ่ง เป็นขั้นที่ ๑ ของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้ว ; เรื่องก็จะเดินไปเองตามลำดับว่า ถ้าเรา ประสบความสำเร็จในการพิจารณาความไม่เที่ยง มันก็จะเกิดวิราคะ คือความเบื่อหน่าย ความสลดสังเวช ความคลายกำหนัดจากสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นแน่นอน. นี้เราก็ พิจารณาที่ความคลายกำหนัด นั้นว่ามีลักษณะอย่างไร, ความจางคลายแห่งความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นอย่างไร, นี้เรียกว่าพิจารณา วิราคะ คือความคลายกำหนัด.

          เมื่อ ความคลายกำหนัดเป็นไปตามลำดับ ๆ ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่าความดับหรือนิโรธะขึ้นมา. นิโรธหรือนิโรธะ แปลว่า ความดับ คือความดับแห่งทุกข์ ; เพราะว่าเมื่อคลายกำหนัด คือคลายความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ความทุกข์ก็ดับไป. พิจารณาในอาการที่ความทุกข์ดับไปในลักษณะที่เป็นนิโรธเรื่อยไป ๆ มันก็เป็นความดับทุกข์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา.

          อันดับที่ ๔ อันดับสุดท้ายก็คือ พิจารณาความที่ว่า บัดนี้ได้สลัดความทุกข์ทั้งปวงหมดแล้ว พิจารณาอาการที่สลัดความทุกข์ทั้งปวงออกไปได้แล้ว เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ.

          ทบทวนใหม่ว่า ในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ อันดับที่ ๑ เรียกว่า อนิจจานุปัสสี - เฝ้าตามมองลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในใจทุก ๆ สิ่ง ; แล้วก็มาถึงขั้น วิราคานุปัสสี - เฝ้าตามดูความคลายกำหนัดของจิตจากความยึดมั่นถือมั่น ; แล้วก็มาถึงขั้นที่เรียกว่า นิโรธานุปัสสี - เฝ้าตามดูในการที่ความทุกข์ดับลง - ดับลง แล้วก็พิจารณาดูอาการที่เรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี คือจิตสามารถสลัดความทุกข์กลับไปได้แล้ว ; จะเรียกว่าธัมมาธิษฐานหน่อยก็ว่า : เดี๋ยวนี้จิตสลัดตัวกู - ของกูออกไปได้แล้ว เป็นจิตบริสุทธิ์. เมื่อก่อนนี้จิตยึดไว้ซึ่งตัวกู - ของกู เป็นโจร เป็นขโมย เอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู. บัดนี้สลัดคืนให้เจ้าของ คืนให้ธรรมชาติ คืนให้ไปยังธรรมชาติ ให้ธรรมชาติไป, ไม่มีความเป็นตัวกู เป็นของกูอีกต่อไป ; นี้เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี เป็นอันสุดท้าย.

          อันที่เรียกว่า อนิจจานุปัสสี นั้น เป็นการพิจารณาธรรม ที่จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด. วิราคานุปัสสี ความเบื่อหน่ายความกำหนัดนั้น เป็นอาการของมรรค. เมื่อคลายกำหนัดจนถึง ดับทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ก็เรียกว่า นิโรธานุปัสสี เป็นอาการของผล. ปฏินิสสัคคานุปัสสีนี้เป็นลักษณะประจำของสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน คือสลัดคืนสิ่งทั้งปวงออกไป, ไม่มีการปรุงแต่งเป็นตัวกู เป็นของกูอีกต่อไป จึงเป็นการสิ้นสุดของการปฏิบัติ.

          ท่านทั้งหลายจะต้องทบทวนดูให้ดี จนเข้าใจอย่างที่ว่ามานี้ หมวดที่ ๑ เรียกว่า กายานุปัสสนา กำหนดลมหายใจยาว, กำหนดลมหายใจสั้น, กำหนดรู้ความที่ลมหายใจปรุงแต่งกาย, กำหนดความที่เรารำงับการปรุงแต่งกายเสียได้, กำหนดความที่ลมหายใจไม่ปรุงแต่งกายได้.

          หมวดที่ ๒ เวทนานุปัสสนา ถือเอาปีติและความสุขที่เกิดมาจากการรำงับการปรุงแต่งกายเสียได้มา เป็นอารมณ์ กำหนดปีติและกำหนดความสุข ; แล้วกำหนดการที่ปีติและความสุขปรุงแต่งจิต, แล้วกำหนดความที่เราบังคับไม่ให้มีการปรุงแต่งจิต โดยไม่ให้ปีติและความสุขปรุงแต่งจิตได้.

          พอมาถึง หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนา เราดูลักษณะของจิต, บังคับจิตให้ปราโมทย์, บังคับจิตให้ตั้งมั่น, บังคับจิตให้ปล่อย. เมื่อเราคล่องแคล่วในเรื่องของจิต ในวิถีทางของจิตอย่างนี้แล้ว ก็ประพฤติปฏิบัติใน หมวดสุดท้าย คือธัมมานุปัสสนา ใช้จิตที่อยู่ในอำนาจของเรานั้น พิจารณาความเป็นอนิจจัง ของสิ่งที่เป็นอนิจจัง จนมีความหน่ายคลายกำหนัด จนมีความดับทุกข์ปรากฏ จนมีความรู้สึกว่า เราได้สลัดความทุกข์ออกไปแล้วโดยประการทั้งปวง ดังนี้.

          นี้เรียกว่าเป็นกัมมัฏฐาน ที่เรียกว่าอานาปานสติภาวนา ; ทุก ๆ ขั้น ทุก ๆ ตอน จะต้องทำให้ปรากฏแจ่มชัดอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าและหายใจออก ดังนั้น จึงได้เรียกว่า " อานาปานสติ", กล่าวโดยสรุป ๑๖ ขั้นคือ :

๑. - กำหนดลมหายใจยาวอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า
๒. - กำหนดลมหายใจสั้นอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจออกเข้า
๓. - กำหนดความที่ลมหายใจปรุงแต่งกายอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกหายใจเข้า
๔. - และกำหนดความที่เราบังคับการปรุงแต่งกายนี้ได้สำเร็จอยู่ทุกลมหายใจออก ทุกลมหายใจเข้า
๕. - กำหนดปีติอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า
๖. - กำหนดความสุขอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า
๗. - กำหนดความปีติและสุขนี้ปรุงแต่งจิตอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า
๘. - กำหนดความที่เราบังคับไม่ให้เวทนาปรุงแต่งจิตนี้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า
๙. - แล้วจึงมาดูลักษณะของจิตอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกและหายใจเข้า
๑๐. - แล้วก็มาดู การที่เราบังคับจิตให้ปราโมทย์ได้อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า
๑๑. - แล้วก็มาดูการที่เราทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ได้ทุกครั้งที่หายใจออก หายใจเข้า
๑๒. - แล้วก็มาดูความที่เรากำหนดจิตให้ปล่อยจากสิ่งที่ผูกพันนั้น ได้อยู่ทุกครั้งที่เราหายใจออก และ หายใจเข้า
๑๓. - แล้วจึงเลื่อนมากำหนดความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏอยู่นั้น ทุกครั้งที่หายใจออก และ หายใจเข้า
๑๔. - พอวิราคะเกิดขึ้นก็พิจารณากำหนดวิราคะนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก และหายใจเข้า
๑๕. - เมื่อนิโรธปรากฏขึ้น ก็กำหนดนิโรธนั้นอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก และหายใจเข้า
๑๖. - เมื่อสลัดตัวกูของกูออกไปได้สิ้นเชิง ก็กำหนดการสลัดออกไปได้นั้นทุกครั้งที่หายใจออก และ หายใจเข้า

          ด้วยเหตุที่มีการบังคับ ทุกครั้งที่หายใจออกและหายใจเข้านี้เอง การปฏิบัติทำนองนี้จึงได้ชื่อว่า อานาปานสติ ตั้งแต่ต้นจนปลาย จนตลอดสาย.

          การปฏิบัติกัมมัฏฐานภาวนาได้ชื่อว่า อานาปานสตินี้ เป็นแนวปฏิบัติที่อาตมาชอบ ; ฉะนั้น จึงนำมาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อได้พิจารณาดู ได้ลองปฏิบัติดูตามสมควรแก่กำลังสติปัญญาของตน ๆ . แต่ว่าไม่ต้องนำไปเปรียบเทียบว่าดีกว่าแบบไหน หรือเลวกว่าแบบไหน หรือเสมอกันกับแบบไหน ; อย่างนั้นไม่จำเป็น. มันควรจะดีด้วยกันทุกแบบ, มันควรจะมีประโยชน์ หรือมีความเหมาะสมแก่บุคคลไปเป็นลักษณะ ๆ ไป. แต่ว่าแบบอานาปานสติแบบนี้ เป็นแบบที่อาตมาชอบเป็นพิเศษ จึงได้นำมากล่าวแก่ท่านทั้งหลาย.

          อานาปานสติภาวนานี้เป็นแบบที่ พระพุทธเจ้าท่านก็สรรเสริญ ว่าเป็นแบบที่มีผลมาก มีอานิสงฆ์มาก เป็นแบบที่ปฏิบัติได้สะดวกดาย ; เพราะว่าเราได้ใช้สิ่งที่มีอยู่ในตัวเราล้วน ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นเครื่องปฏิบัติ, เป็นวัตถุสำหรับการกำหนด. ไม่ยุ่งยาก ไม่ลำบาก ไปนั่งที่ไหนก็มีลมหายใจ, ไปนั่งตรงไหน ก็มีการคิดนึกได้. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเที่ยวหอบเที่ยวหิ้วอะไร. ไปนั่งที่ไหนโคนต้นไม้ไหนก็กำหนดลมหายใจได้, มันจึงสะดวกอย่างนี้, และปฏิบัติได้โดยไม่ต้องระหกระเหิน, ไม่ต้องประสบกันเข้ากับภาพที่น่ากลัว น่าอันตราย. อย่างไปพิจารณาซากศพอย่างนี้ มันก็ต้องไปประสบกันเข้ากับภาพที่เป็นภาพที่น่ากลัว ; บางทีก็เป็นอันตรายถ้าทำไม่ถูกวิธี. แต่ว่าในการปฏิบัติอานาปานสตินี้จะไม่มีปัญหาอย่างนั้น ; จะไม่มีสิ่งที่น่ากลัว จะมีแต่สิ่งที่สงบเย็น ตั้งแต่ต้นจนปลาย ทุก ๆ ขั้น ทุก ๆ ตอน.

          พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญอานาปานสติมากกว่าอย่างอื่นหมด ; จึงขอให้ท่านทั้งหลายเอาไปพิจารณาดู มีโอกาสเหมาะสมก็ลงมือฝึกฝนกันไปตามลำดับ.

          โอกาสในวันนี้ไม่มี และไม่เหมาะสำหรับที่จะลงมือฝึกจริง ๆ จึงได้แต่กล่าวอธิบายหลักหรือแนวว่ามีอยู่อย่างไร ; สำหรับไปลองดูด้วยตนเองก่อน ; และต้องยุติกันไว้เพียงเท่านี้. ถ้าพรุ่งนี้มีโอกาสก็จะได้อธิบาย, หรือลองทำบางสิ่งบางอย่างให้ดู, ให้เข้าใจแจ่มแจ้งโดยละเอียดออกไป.

          โดยเฉพาะวันนี้ ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน

IP : บันทึกการเข้า

Bhon
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 484


« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 19 มิถุนายน 2012, 09:56:55 »

ยาว แต่ก็ขอบคุณนะครับ ที่นำมาให้ได้อ่านกัน
IP : บันทึกการเข้า
james_cr2001
magdafVE
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 276


« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 21 มิถุนายน 2012, 13:47:21 »

ยาวไปเหรอครับ ผมย่อให้
หายใจเข้าออก จับความรู้สึกที่ลมเข้าที่ปลายจมูกก็พอ
พอลมเริ่มละเอียดหรือหายไป จะมีความรู้สึกกึ่งสำนึก ให้นึกภาพเปลี่ยน
จากลมไปเป็นแสงสว่าง สำลี หรือปุยนุ่น เมื่อทำเป็นปุยนุ่น สำลี หรือแสงได้แล้ว
ก็บังคับ ให้ย่อหรือขยาย เอาไปไว้้ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน บังคับให้ได้ก่อน
ขั้นแรกทำให้ชำนาญ หลับตาปุ๊บ นึกภาพ ย่อขยาย ได้เลยภายใน 5 วินาที

ขั้นที่สอง ย้อนเข้ามาดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับใจตัวเอง อะไรเกิดขึ้น
ก็ดูอยู่เฉย ๆ ไม่คลุกวงใน จะเห็นมันเกิด ๆ ดับ ๆ ไม่คงที่อะไร
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป สิ่งต่าง ๆ มันจะเกิดขึ้นยุบๆ ยับๆ ที่ใจเรา

IP : บันทึกการเข้า

หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!