เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 27 เมษายน 2024, 08:08:29
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  เรื่องเล่าบันเทิงธรรม : พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน (จบบริบูรณ์)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] 2 พิมพ์
ผู้เขียน เรื่องเล่าบันเทิงธรรม : พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน (จบบริบูรณ์)  (อ่าน 18186 ครั้ง)
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« เมื่อ: วันที่ 05 มีนาคม 2012, 13:04:47 »

สืบเนื่องจากกระทู้ที่แล้ว ได้นำเรื่องเกี่ยวกับการธุดงค์ของพระภิกษุนิรนามมาลง กระทู้นี้ก็

เป็นเรื่องของพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ชื่อพระบุญนาค โดยส่วนตัวของกระผมแล้วนิยมเลื่อมใส

และชอบเรื่องราวเกี่ยวกับพระโดยเฉพาะสายพระป่า ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการธุดงค์แล้วชอบ

เป็นพิเศษ จึงหาอ่านเรื่องราวต่างๆทั้งจากอินเตอร์เน็ตและหนังสือต่างๆ วันนี้มานั้งทบทวน

เว็บไซต์ต่างๆที่เคยเข้าไปหาอ่านและค้นคว้าข้อมูลตอนสนใจธรรมะใหม่ๆ ก็เลยนำธรรมะมา

ลงไว้ เพื่อมีท่านใดสนใจและหันมาสนใจธรรมะเพิ่มขึ้นบ้าง...

เดี๋ยวที่มาที่ไป คำนำ เครดิตข้อมูล จะลงไว้ตอนท้ายเมื่อจบน่ะครับ


* 1-3.jpg (73.29 KB, 450x307 - ดู 900 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:55:04 โดย เมฆพัตร » IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 05 มีนาคม 2012, 13:07:59 »

มารดาพาไปทำบุญวันเกิดที่วัด
อาตมภาพเป็นบุตรคนสุดท้องของบิดามารดา เมื่ออายุได้ ๖ ขวบพอดี วันนั้นเป็นเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ มารดานำพาไปทำบุญวันเกิดแห่งอาตมภาพที่วัด เผอิญหนาวจัด มองเห็นท่านพระครูปานห่มจีวรผืนใหญ่ เข้าใจว่าจะอุ่น ก็ร้องเรียกให้มารดาขอให้ มารดาบอกว่า ยังไม่บวช เอามาห่มไม่ได้ กลัวบาป อาตมภาพมองขึ้นไปข้างบน เห็นพระพุทธรูปที่พิมพ์ใส่แผ่นกระดาษเรียงลำดับ ๑๒ องค์ ซึ่งพระท่านติดไว้บนหัวนอน ถามมารดาว่า นั้นอะไร มารดาบอกว่า นั้นรูปพระเจ้า ดังนี้

ต่อนั้น อาตมภาพก็นึกรักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธรูปนั้น บอกมารดาขอให้ มารดาไม่ขอ ก็ร้องไห้ขึ้นในทันใดไม่หยุด ตกลงสมภารวัดได้เอามาให้ แล้วนำไปไว้ที่บ้าน วันหลังถามมารดาว่า แม่ เวลานี้พระเจ้าอยู่ที่ไหน แม่บอกว่า พระเจ้าไปนิพพานแล้ว จึงขอให้แม่นำไปนิพพานที่พระเจ้าอยู่ แม่บอกว่า ไปไม่ได้ นิพพานอยู่เมืองฟ้า
ไปอยู่วัด
ต่อมาวันหลัง เห็นพระเดินเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับกันมามาก ๆ องค์ คล้ายกับรูปที่ติดอยู่บนหัวนอน นึกว่าเป็นพระเจ้า จึงร้องบอกมารดาว่า แม่ นั่นพระเจ้ามาหน้าบ้านเรา มารดาโผล่ออกมาดูเห็นพระไปเที่ยวบิณฑบาต มารดาจึงร้องนิมนต์พระว่า นิมนต์ก่อนค่ะ พระก็ยืนเป็นแถวลำดับกันอยู่ ก็นึกเลื่อมใสมาก ครั้นมารดากลับมาจากใส่บาตร จึงถามว่า แม่ พระมาจากไหน มารดาบอกว่า ไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด เมื่อทราบว่า พระไปจากบ้านไปบวชอยู่ที่วัด ต่อนั้นอาตมภาพก็ขอให้มารดานำพาไปบวช มารดาบอกว่า ยังเล็ก ยังบวชไม่ได้ ก็อ้อนวอนขอให้มารดานำพาไปฝากไว้วัด มารดาก็ห้ามเป็นครั้งที่ ๒ ว่ายังเล็กเกินไป ก็ขอไป ไม่หยุด ต่อมา มารดาไม่พูดด้วย ก็ร้องไห้ว่า อยากไปอยู่วัด ทั้งบ่นทั้งร้องไห้ แต่เช้าจนเที่ยง จนไม่กินข้าวสาย เพราะเสียใจ กลัวมารดาจะไม่ไปฝากที่วัด

ตกลงมารดาก็นำพาไปวัด เผดียงต่อสมภารว่า อ้ายหนูร้องไห้ อยากมาอยู่วัด ไม่รู้จะทำอย่างไร

สมภารก็เรียกไปถาม อาตมภาพตอบว่า อยากบวช ท่านจึงถามอีกว่า อยู่กับเราไปก่อนไหม ใหญ่จึงบวช จึงตอบท่านว่า อยู่

มารดาก็มอบให้อยู่กับพระแต่วันนั้นเป็นต้นมา อยู่กับพระไป ๒ เดือน บิดามาจากขายกระบือ ไม่เห็น ก็ถามหา มารดาบอกว่า แกไปอยู่วัด บิดาก็ออกไปเที่ยววัด ถามว่า แกอยากเข้าไปนอนบ้านไหม จึงบอกกับพ่อว่า ไม่อยากไป พ่อก็มอบให้พระเป็นครั้งที่ ๒

ครั้นจนเข้าพรรษา อาจารย์ก็พาไปจำพรรษาที่วัดป่า อำเภอยโสธร ไกลจากบ้านเดิมประมาณ ๓ พันเส้น (๑๒๐ กม.) คนเดิน ๓ คืนจึงจะถึง ขณะขี่เกวียนไปตามทาง อาจารย์บอกว่า อีก ๓ ปีจึงบวช ไปอยู่ในเมืองเรียนหนังสือกับเขาก่อน แต่นั้นก็นึกดีใจมาก เพราะอาจารย์กำหนดจะบวชให้ในระหว่าง ๓ ปี แต่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นปี เป็นเดือน ตื่นเช้ามาก็ถามอาจารย์ทุกวันว่า ถึง ๓ ปีหรือยัง อาจารย์ก็หัวเราะทุกวัน นานเข้าท่านรำคาญ ท่านบอกว่า ถ้าถึง ๓ ปีจะบอกให้ดอกน๊ะ และจะบวชให้พร้อม ต่อนี้ไปอย่าถามอีกนะ จงเรียนหนังสือเข้าให้มาก ๆ จึงบวช


* 12.jpg (61.8 KB, 400x320 - ดู 818 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 05 มีนาคม 2012, 13:39:06 »

บรรพชา


ต่อนั้น อาตมภาพก็ตั้งใจเรียนหนังสือในสำนักอาจารย์ต่อไป จนอายุได้แปดขวบพอดี ตรงกับเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ กลางคืนวันนั้น ฝันเห็นพระเจ้าพร้อมทั้งรัศมีสว่างไสว ตื่นนอนขึ้นมารู้สึกคิดถึงมาก จึงกราบพระสวดมนต์ แล้วก็ปรารถนาเป็นพระเจ้าอีกองค์หนึ่ง ต่อนั้นไปทุก ๆ วัน ก็ตั้งใจเก็บดอกไม้มาบูชา แล้วปรารถนาเป็นพระเจ้า จนอายุ ๙ ขวบ อาจารย์ก็บวชให้เป็นสามเณร พอบวชแล้วก็เรียนหนังสือกับอาจารย์ ต่อไปอีกเป็นเวลา ๖ ปี พอดีอายุครบ ๑๔ ขวบเต็ม ๑๕ ปีย่าง เผอิญพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชักชวนทำปาณาติบาต ฆ่าแย้ ๑ ตัว

พอกลับมาถึงวัด ค่ำสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ต่อไปประมาณ ๔ ทุ่ม ก็จำวัดแล้วนิมิตฝันเห็นพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ ๒๓ องค์นั่งประชุมอยู่ใต้ร่มไม้หว้าชุมพู และท่านแสดงธรรมว่า

“จะเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้นก็หามิได้ คนจะเป็นสมณะเพราะผ้าเหลืองก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะไม่มีภรรยาก็หามิได้ จะเป็นสมณะเพราะเรียนรู้มากก็หามิได้ ผู้เที่ยวไปไม่มีอาลัยในชีวิตและถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่และที่อาศัยเช่นนี้ จึงได้นามว่าเป็นสมณะ”

ขณะที่ฝันนั้นปรากฏว่าแดดร้อนจัด อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่ในร่มนั้นเย็นดี แล้วท่านเอาน้ำให้ฉัน น้ำนั้นเมื่อฉันเข้าแสบสมอง คล้ายกลิ่นสุราและแสบจมูกมาก เลยตื่นขึ้น ขณะนั้นเป็นเวลา ๗ ทุ่ม (ตี ๑) เงียบสงัดและเดือนหงายแจ้งสว่าง มองไปเห็นเพื่อนบรรพชิตทั้งพระและสามเณรนอนเกลื่อนกล่น อยู่บนพนักเล็กข้างนอกกุฏิ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูร้อน เป็นเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ต่อนั้นอาตมภาพจึงลงจากพนักกุฏิเล็ก ไปนั่งอยู่ใต้ร่มมะม่วง หวนคิดถึงคำฝันที่ปรากฏทั้ง ๔ ข้อ แล้วนึกถึงมารยาท ความเป็นอยู่ของพระสาวกและพระศาสดา คงไม่ตลกคะนองเกลื่อนกันเช่นนี้ พอนึกแล้วก็ตกลงใจว่า เราจะต้องหลีกออกไปบำเพ็ญความสงบและมารยาทที่ปรากฏฝันเห็นนี้ให้จงได้ นึกแล้วนึกเล่าจนนอนไม่หลับอีกในคืนนั้น



* 13082.jpg (26.97 KB, 360x450 - ดู 785 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 10:53:15 »

ลาอาจารย์เข้าป่าเที่ยวกรรมฐาน

พอรุ่งเช้าขึ้นมา ฉันแล้วก็ลาพระอาจารย์ ท่านก็ไม่อนุญาต บอกพระอาจารย์ว่า ผมตกลงแล้วแต่คืนนี้ ผมเห็นจะไม่อยู่ ว่าแล้วก็ขอขมาโทษต่ออาจารย์ วางขันดอกไม้ไว้ซึ่งหน้าท่านแล้วก็หลีกไป วันแรก เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ไปพักป่าช้าบ้านหนองแสง ตอนค่ำลงนึกกลัวผี ได้พิจารณาว่า

“อะไรเป็นผี ได้ความว่า ใจเป็นผี เพราะร่างกระดูกเขาเผาและฝังหมดเสียแล้ว ตกลงว่าไม่จริง วัว, ควาย, หมู, ไก่ ก็มีใจทั้งนั้น ทำไมคนกินเนื้อมันได้ เช่นวัว ควาย ยิ่งตัวใหญ่ ไม่กลัวผีมันหลอกหรือ ทำไมกินเนื้อมันได้ ขนเอาเนื้อ เอากระดูกมันไปเก็บไว้ที่บ้าน ทั้งกินเสียด้วย จนกระทั่ง ปู, ปลา ก็มีใจทั้งนั้น หากว่าใจสัตว์ที่ตายแล้วเป็นผี อยู่กับซากศพที่ฝังไว้แล้วนั้น เป็นผีหลอกคน ถ้าเช่นนั้น คนที่ฝังซากวัว, ซากควายลงที่ท้องของตน ก็จะไม่เป็นอันอยู่ อันนอน เพราะผีมันจะหลอก เปล่าทั้งนั้น ไม่ปรากฏเลยว่า ค่ำมา คนนั้นคนนี้ถูกผีวัวหลอก หรือผีหมู ผีไก่หลอก ก็เปล่าทั้งนั้น

ตกลงว่ามนุษย์นี้หลอกกันทั้งนั้น สิ่งใดกินเนื้อมันเห็นว่าไม่มีผีมันหลอกดังนี้ มนุษย์ที่ตายแล้วฝังอยู่ป่าช้า เช่นนี้ยิ่งแล้ว เพราะมันกลัวป่าช้า ตายแล้ว ที่ไหนมันจะมา ถ้าใจของคนยังมีติดอยู่ที่กาย ทำไมมันจะตาย ใจคนหนีแล้วแต่อยู่เรือนขณะมันตายทีแรก นั้นมิใช่หรือ มันจึงตาย”

 เดินธุดงค์เข้าในป่าดงพงไพร

เมื่อพิจารณาเช่นนี้ แต่วันนั้นมา ขึ้นชื่อว่าป่าช้า อยู่ได้ทุกแห่งไป ไม่ต้องกลัวผีอีก เดินเที่ยวพักไปตามป่าช้าบ้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ๙ คืน ถึงฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแดนของฝรั่งเศส (ในขณะนั้น ประเทศลาวอยู่ใต้ปกครองของฝรั่งเศส) เป็นเวลา ๕ โมงเศษ ข้ามเรือแกวคนหนึ่ง พอข้ามไปถึงฝั่งนั้นบ้านเล็กตั้งริมฝั่งแม่น้ำโขง ยังไม่มีวัด ทั้งอยู่ใกล้ริมภูเขา ชื่อบ้านแก้งกะอาก

พอไปถึงบ้านนั้นมืด พอดีผู้ใหญ่บ้านเขานิมนต์ให้ขึ้นพักจำวัดที่เรือน เพราะกลัวช้างป่า เขาบอกว่ามันเข้ามารบกวนบ้านนั้นทุกวัน เมื่อได้ยินเขาเล่าเช่นนั้น อาตมภาพก็ยืนพักพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ได้ความว่า

“บัดนี้เราเป็นบุตรของพระศาสดา เราจะเชื่อความเป็นพ่อของเรา ในข้อที่ว่าอย่าลุอำนาจแก่ความกลัวอันมีประจำใจมาแล้วแต่วันเกิด ทุกตัวสัตว์จะนำพาคนได้ดี (อย่างไร) เพราะความกลัว แล้วมนุษย์และสัตว์ทั้งโลกนี้มีความกลัวอยู่เช่นนี้ ตกลงว่าหัวใจเราก็จะแค่หัวใจสัตว์เท่านั้น ไม่เห็นแปลกจากสันดานสัตว์”

นึกแล้วก็ตั้งใจอดทนต่อความกลัวเดินผ่านบ้านนั้นไป

คนในบ้านนั้นทักท้วงว่า พระกรรมฐาน ท่านไม่พักเรือนคน (หรือ?) แต่ขณะนั้นก็มีความกลัวอยู่อย่างระส่ำระสาย แต่นึกถึงว่า ความอดทนคือขันติบารมี ก็เป็นธรรมอันจะพึงบำเพ็ญส่วนหนึ่ง ตกลงว่าเวลานั้นจำเป็นจำไป ก็คืออดทนต่อความกลัวต่อสัตว์ร้ายนั้นไป มิใช่ไปด้วยความหมดกลัว อย่างไม่กลัวผี


* 123.jpg (20.05 KB, 280x233 - ดู 8339 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 10:56:04 »

ช้างกระทืบกลด

พอไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นหนทางช้างเดิน แถบทรายภูเขา ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าที่นั้นเป็นทางช้าง เห็นแต่ว่าที่นี้เตียนดี เมื่อเราต้องการเดินจงกรม ก็จะได้เดินตามแนวนี้ และที่นั้นมีต้นตะเคียนใหญ่ และมีเครือหวายเป็นพุ่มห้อยล้อมต้นตะเคียนดกหนาเป็นร่มดี

ฝ่ายว่าอาตมภาพจึงตรึงกั้นมุ้งลงเพื่ออาศัยในที่นั้น เสร็จแล้วก็นั่งสมาธิต่อไปในที่นั้น

ต่อมาตอนดึกจวนรุ่ง เวลา ๙ ทุ่ม (ตี ๓) เผอิญมีช้างตัวหนึ่งเป็นประธานในช้างทั้งหลาย เดินผ่านเชือกเผือก (เชือก) ที่แขวนกลด (ทำ)ให้ขาดตกลง แล้ว ได้ยินเสียงช้างพับหูดังโปะ ก็นึกตกใจ ว่านี้เป็นเสียงอะไร เปิดมุ้งขึ้นดู เห็นช้างยืนเทียมกลด ก็นึกตกใจจนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกขึ้นมาแล้ว ก็ค่อยคลานออกจากมุ้ง เข้าไปอาศัยพุ่มหวายที่รกห้อมล้อมต้นตะเคียนอยู่ ไม่ช้าช้างก็ฉวยเอามุ้งขึ้นฟาดบนศีรษะช้างเอง แล้วจับเหวี่ยงลงมา แล้วก็เอาเท้าขยี้ ไม้ช้าจับเอามุ้งขึ้นฟาดบนศีรษะของตนแล้วดึงลงมาขยี้ ทำดังนี้ จนมุ้งและกลดมุ่นสลาย หยิบไม่ถูกแล้ว ช้างก็ยืนอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็หันหน้าไปเข้าไปทางต้นตะเคียน แล้วก็ดึงเครือหวายที่นั้นกินเป็นอาหาร ตกลงเวลานั้น ซ่อนตัวอยู่ในพุ่มหวายใต้คางช้าง

อีกไม่ช้า หมู่ของช้างเดินตามกันมาอีก ๒๑ ตัว มาทันช้างตัวที่กินหวายอยู่ก่อนนั้น ต่างตัวก็มายืนห้อมล้อมต้นตะเคียน ดึงเครือหวายลงมากินเป็นอาหาร

ฝ่ายว่าอาตมภาพ ทั้งนี้รู้สึกว่าแค้นใจอยู่ คือแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เพราะความกลัวอยู่สักครู่หนึ่ง นึกขึ้นได้ว่า

“มาคราวนี้เพื่อบำเพ็ญกิจของศาสนา ฉะนั้น ขออันตรายทั้งหลายจงพินาศฉิบหายไปด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย”

พออธิษฐานเสร็จแล้วก็เกิดคันตามลำคอ และแสบจมูกขึ้นมา ทนไม่ได้ก็ไอ และกระแอมขึ้นด้วยเสียงอันดัง ฝ่ายว่าช้างทั้งหลายเหล่านั้น ตื่นเสียงไอพากันวิ่งแตกตื่นหนีไป ขณะนั้น ก็พอสว่าง ออกมามองดูบาตรและห่อผ้า เห็นไปอยู่ในเหวซึ่งช้างมันเหวี่ยงลงไป ก็ค่อย ๆ คลานลงไปที่เหวเอาบาตร และผ้าขึ้นมาได้ แล้วก็ครองผ้าและบาตร เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น

นายดีผู้ใหญ่บ้านถามว่า คุณพักที่ไหน ช้างไม่รบกวนคุณหรือ ฝ่ายว่าอาตมภาพก็ทำดุจนิ่งอยู่ ไม่พูดและไม่ตอบว่ากระไร แกก็แปลกใจบ่นว่า พระเณรอะไร ถามไม่พูด แกก็ตามออกไปดูที่อยู่ เห็นรอยช้างมันขยี้กลดและมุ้งแตกสลาย แกจึงถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า เวลาช้างมันมาทำลายของท่าน ใต้เท้าไปอยู่ที่ไหน ช้างจึงไม่ทำร้ายตัวของใต้เท้าด้วย

ฝ่ายว่าอาตมภาพก็นั่งฉันข้าวเรื่อยไป มิได้พูดและตอบแก่โยมคนนั้นคำใดหนึ่งเลย พอฉันเสร็จแล้วก็ตะพายบาตรไต่ชายเขาไปประมาณ ๘๐ เส้น พบบึงน้ำ มีบัวหลวง บัวทอง จอกแหนต่าง ๆ มีร่มไม้สดชื่นหลายอย่างตามริมบึง แต่บึงนั้นมีฝั่งชันและสูง มีท่าลง ๕ แห่ง เป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า เสือ, ช้าง, หมี, ลิง, กระทิง สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นในป่านั้นย่อมอาศัยมากินน้ำในบึงนั้น

ฝ่ายว่าอาตมภาพไปถึงเข้าก็พิจารณาว่า ที่นี้มีน้ำใสดีและป่าไม้ก็สดชื่น ควรแล้วอันเราผู้ต้องการความสงบจะต้องพักบำเพ็ญอยู่ที่นี้ แล้วก็หลีกไปอาศัยอยู่ร่มไทรที่จับอยู่ชายเขา ห่างจากบึงประมาณ ๑๐ เส้น


* 245.jpg (12.1 KB, 281x180 - ดู 708 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 11:00:05 »

ลิงมานอนบนตัก


พอตะวันค่ำลง ประมาณ ๕ โมงเย็น เผอิญมีเสียงเสือร้องฮ้าวฮือ ๆ ฮ้าวฮือ ๆ ร้องจากหลังเขา มากินน้ำในบึงนั้น เสียงเสือร้องดังก้องมาในทิศทั้งสี่ ฝ่ายว่าอาตมภาพได้ยินเข้าก็ตกใจ พิจารณาไปว่า บัดนี้เรานำชีวิตมาสู่อันตรายด้วยหวังเพื่อบารมี เมื่อตกลงใจเช่นนี้ เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างพิศวงใจ คือปรากฏว่าขนทั้งตัวยาวออกข้างละแขน ตั้งขึ้นตั้งลง
เสียงเสือยิ่งร้องใกล้เข้ามาทั้ง ๖ ตัว มาตัวละทิศ ขณะนั้นเกิดแน่นใจ ลำคอแข็ง น้ำตาทั้งสองข้างไหลหยดหยาดออกมา หยิบจีวรในบาตรมาห่มคลุมปิดทั้งตัวทั้งศีรษะ นั่งขัดสมาธิแล้วนึกอะไรยังไม่ออก เพราะยังแน่นหน้าอก นึกอะไรก็ไม่ออก อยู่ประมาณ ๕ ทุ่ม ยังมีลิงไม่ใหญ่ไม่เล็กขนาดกลาง ๆ ลงมาจากต้นไทร มาร้องโวก เวียนอ้อม ๓ รอบ แล้วเข้ามานอนข้างที่บนหน้าตัก เอาศีรษะหนุนเข่าขวา ร้องเรียกโวก ๆ ดังนั้นอยู่เรื่อยไป จนกว่าประมาณ ๖ ทุ่ม จึงนึกได้ว่า จะเป็นเช่นนี้กระมังโบราณท่านว่า ผีสม่อยกินไส้พุงคนนอนค้างเข้ากลางคืน พอนึกได้เช่นนี้แล้ว อาการแน่นหน้าอกก็ค่อยทุเลาลง พอให้นึกอะไรต่อไปได้ จึงได้ตั้งสัจจอธิษฐานว่า
“สาธุ สาธุ สาธุ ข้าแต่เทพยดาทั้งหลาย พร้อมด้วยคุณพระรัตนตรัย หากว่าข้าพเจ้ายังมีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว ขอสัตว์เหล่านั้นมาล้างผลาญทำลายในชีวิตแห่งข้าพเจ้าให้เป็นไปตามยถากรรมนั้น ๆ หากว่าข้าพเจ้ามิได้มีกรรมเวรกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้ว ส่วนปฏิปทาการบำเพ็ญบารมีของข้าพเจ้าจงเป็นไป อย่าได้ขัดข้องต่ออันตรายทั้งหลาย อันจะพึงมีในเบื้องหน้า” พออธิษฐานเสร็จลง ลิงตัวนั้นก็กระโดดออกไปขึ้นบนต้นไทรทันใด ก็นึกขึ้นได้ว่า เราคงจะไม่มีเวรเลย พอสำเร็จอธิษฐาน ลิงก็ออกหนีทันที ก็นึกดีใจขึ้นมาได้ บริกรรมกำหนดนึกพุทโธ ๆ ตามหายใจเข้า หายใจออกอยู่เรื่อยไป
พอจวนสว่างเสือก็ร้อง ฮ้าวฮือ ๆ ขึ้น ก็แน่นหน้าอกขึ้นอีก น้ำตาทั้งสองข้างก็ไหลหยดหยาดซึมซาบออกมา ไม่ช้าช้างพัด (คำว่า “พัด” หมายถึง “ก็”) ร้องเสียงดังเอ๊ก ๆ เอ๊กขึ้นอีก ขณะนั้นใจสะดุ้งขึ้นมาแค้นค้างอยู่ที่ต้นคอ หูดังอื้ออยู่ครู่หนึ่ง ปรากฏลิ้นแข็ง ฟันออกมาที่ริมปากแล้วก็หูดับ แล้วไม่รู้อะไร ในระหว่างนั้นคล้าย ๆ กับนอนหลับไม่ฝัน ก่อนจะรู้สึกตัวคล้ายกับนอนฝัน แต่ยังนั่งอยู่ ปรากฏว่ายังมีหญิงสาวหนุ่มคู่หนึ่ง ถือดอกบัวมาอันหนึ่ง มาถวายแล้วบอกว่า ท่านจงทนไปเถิด ท่านจะเป็นผู้หมดเวรในชาตินี้ ดังนี้ แล้วก็รู้สึกขึ้นทันที
พอดีสว่าง ก็ไปเที่ยวบิณฑบาตบ้านนั้นอีก พอไปถึงบ้าน นายดี ผู้ใหญ่บ้านบอกแก่ชาวบ้านนั้นว่า ท่านองค์นี้ท่านมาบิณฑบาต ใครมีศรัทธาก็จงใส่บาตรให้ท่านไปเถิด ใครไม่มีศรัทธาก็แล้วไป ส่วนตัวเราเข้าใจว่าจะเป็นคนบ้ากระมัง ถามไม่พูด มิฉะนั้นก็เป็นคนพิกล มาจากแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นแน่ วันนั้นมีคนใส่บาตรให้ ๒ คน ได้ข้าวประมาณเท่า ๒ ฟองไข่เป็ดแล้วกลับไปฉัน พอฉันเสร็จตอนกลางวันก็นั่งสมาธิและเดินจงกรมไปตามเคย
ครั้นค่ำลงตอนเย็น เสือมันร้องเสียงดัง ฮ้าวฮือ ๆ ทุกวัน ๆ พอได้ยินเสียงเสือร้องขึ้น ก็เกิดแน่นหน้าอก น้ำตาไหลซึมซาบออกมาดังนั้นทุกวันไป ตอนกลางคืนนอนไม่หลับเลยสักนิด นั่งอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หากจะติง (ขยับ) ตัว หรือเดินไปมาในเวลากลางคืน ก็นึกว่าเสือหรืออะไรมันจะมองเห็น เอาผ้าจีวรห่อคลุมศีรษะ แล้วก็นั่งนิ่งอยู่ เพื่อว่าจะให้สัตว์ที่มามองเห็นว่าเป็นตอไม้ไป มันจึงจะไม่ทำอันตรายแก่เรา ทำอย่างนั้นอยู่ในที่นั้น ๓ วัน ส่วนเวลากลางวัน ก็เดินจงกรมบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้างตามธรรมดา ส่วนกลางคืนนั่งทำพิธีเป็นตอไม้ไปเลย


* 1234.jpg (9.75 KB, 274x184 - ดู 727 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 11:22:48 »

ลงนั่งริมบึงให้เสือกิน

อยู่ต่อมาถึงวันคำรบ ๔ คิดปรารภอันจะกลับบ้านและสำนักวัดเดิม ไม่ช้าในขณะคิดจะกลับคืนสู่สำนักวัดเดิมนั้น ยังมีตะขาบใหญ่ตัวหนึ่ง วิ่งออกมาจากรูหิน มาตรงเฉพาะหน้า แล้วก็กัดสะดือกินไส้ของตนจนจะขาดเป็นท่อนแล้วก็ตายไป ก็นั่งพิจารณาอาการของสัตว์นั้นอยู่ ไม่ช้ายังมีเต่าใหญ่ตัวหนึ่งคาบผลมะสั้นลูกโต ๆ เข้ามาวางจรดกับเข่า หยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็หลีกไป อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอาการสัตว์ทั้งสอง ที่ปรากฏขณะนั้น ได้ความว่า หากเราเพียรทำลายความกลัวของเราได้แล้ว เราก็จะมีผลดังเต่า ตัวโง่ ๆ ทำไมมันยังเอาผลไม้มาให้เราดูได้ ถึงความกลัวนี้ไม่หาย เราก็อดทนต่อความกลัวอยู่ต่อไป ต่างก็ได้บำเพ็ญขันติบารมี คือว่าจะกลัวเพียงใด ก็อดทนอยู่นั้นเอง ทนต่อความกลัวอยู่ที่นั้น ตอนค่ำมาพอเสือร้อง ๒ เสียงดังฮ้าวอือ ๆ ก็แน่นหน้าอกน้ำตาไหลออกมาอยู่เช่นนั้นได้ ๑๐ วัน

ในวันคำรบ ๑๐ ตอนเย็นเสือร้องที่บนเขา ก็แน่นหน้าอกเข้าอีก จึงนึกขึ้นมาว่า

เราทนต่อความกลัวมาเป็นเวลา ๑๐ วันแล้วไม่เห็นหายสักที เป็นทุกข์อยู่ดังนี้ร่ำไป หากจะกลับบ้านก็กลัวเพื่อนบรรพชิตพร้อมทั้งอาจารย์จะดูถูกเรา ว่าไปไม่กี่วันก็กลับมา แล้วไม่เห็นเป็นอะไรไปได้ที่ไหน เราก็จะอายขายหน้าและรำคาญหู คืนไปสู่สำนักวัดให้คนอื่นเขาดูถูกปฏิปทาของศาสนา ทั้งเราก็จะเป็นทุกข์ต่อไปเพราะจะรำคาญหู เขาจะเย้ยเล่นว่าเราเป็นกรรมฐานด้วยก้อม (คำว่า "ก้อม" หมายถึง ค่อม เตี้ย สั้น)

ตกลงถึงจะอยู่ที่นี้ก็เป็นทุกข์ จะกลับคืนสู่สำนักวัดก็เป็นทุกข์ กลัวเขาจะไม่เชื่อถือข้อประพฤติของเราต่อไปอีก คือเป็นคนไม่จริงกลับกลอก แหนงว่าเราไปให้เสือกัดตายในวันนี้เสียดีกว่าจะทนทุกข์อยู่ดังนี้หลายวันไปอีก ถ้าเรายังไม่ตายอยู่ต่อไปอีก พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ก็จะเป็นทุกข์ เพราะความกลัวเช่นนี้ต่อไป หากว่าเสือกัดให้เราตายเสียแล้วในวันนี้ ก็ใครเล่าจะมากลัวให้เป็นทุกข์อยู่ที่นี้อีก ตกลงว่าเอาเถิด เป็นทุกข์เพราะเสือกัด ไม่กี่ชั่วโมง แล้วก็ตายไป ดีกว่าเราทนทุกข์อยู่เช่นนี้ต่อไปหลายวันอีก คิดตกลงแล้ว ก็เตรียมครองผ้าให้เรียบร้อยเป็นปริมณฑล แล้วก็ตรงไปยัง ท่าน้ำที่บึง ที่เสือเคยลงกินน้ำทุกวัน

เดินเข้าไปให้เสือกิน

พอลงไปถึงริมน้ำแล้วก็นั่งขัดสมาธิ พิจารณาว่า เมื่อมันมากินเรามันก็คงกัดที่ตรงคอของเรานี้ ประเดี๋ยว ๆ ก็ตายเท่านั้น ไม่ต้องลำบากอีกหลายวัน คิดแล้วก็ตั้งปณิธานปรารถนาว่า

"หากข้าพเจ้าตายลงในวันนี้ ด้วยอำนาจแห่งคุณธรรมทั้งหลาย มีผลแห่งการรักษาศีลเป็นต้น จงดลบันดาลยังข้าพเจ้าให้ได้ถึงสุคติมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า"

อธิษฐานเสร็จก็นั่งอยู่ ไม่ช้าเสือก็มาถึง นั่งหลับตาอยู่ได้ยินเสียงหายใจเสือดังกึกฮือ ๆ เข้าก็ลืมตาขึ้น เห็นเสือตัวใหญ่สีมุ่ม (สีลูกตาล) มองดูเท้าหน้าทั้งสองของเสือใหญ่เท่าต้นคอของเรา นึกแล้วก็แน่นหน้าอกขึ้นทันที น้ำตาก็หยดหยาดลงในขณะนั้น แล้วตระครุบลงหมอบอยู่ คอยให้เสือเข้ามากัด ไม่ช้าเสือครางขึ้นเสียงดังกึกฮือ ๆ แล้วก็คว๊ากฝุ่นดินมาใส่ ถูกศีรษะ ๓ ที แล้ว เสือก็กระโดดขึ้นบนฝั่งบึงแล้วร้องเสียงดังอ้าวฮือ ๆ ไกลออกไปจึงเงยขึ้น นึกได้ว่า เสือมันไม่กินเรา เพราะอันตรายยังไม่มาถึง นึกแล้วก็ขึ้นฝั่งบึง เดินตามหลังเสือขึ้นมา ห่างกันประมาณ ๑๐ กว่า ๆ วา พอเสือมองเห็น ก็ทำท่าตะครุบ ก็เดินตรงเข้าไปหาเสือ ยังอีกประมาณ ๒ ก้าวขา เสือก็กระโดดแล้วจึงไปตามชายเขา

ส่วนว่าอาตมภาพครั้งนั้นก็เดินกลับไปยังที่พักร่มไทร ขณะนั้นกำลังเดินไปพลางพิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์วิเศษ แปลว่าพวกใจสูง พร้อมด้วยบุญญาภิสังขารจึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ตกลงว่า ใครทั้งหมดในโลกนี้จะอยู่ได้ทน เพราะความกลัวตายก็หามิได้ หรือว่านึกอยากตายแล้วก็ตายลงทันทีหามิได้ ข้อนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์คงตั้งอยู่ได้หรือตายลงก็ดี ต้องเป็นไปตามยถากรรมของสัตว์ตามให้ผลเท่านั้น

พิจารณาเช่นนี้แล้วก็ถึงร่มไทร นั่งลงที่ก้อนหินที่เคยพักแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่า

"เช่นเราเวลานี้คิดอยากตาย ทั้งไปให้เสือกัดกินเสียด้วย ข้อนี้กรรมยังรักษาอยู่ยังไม่ให้ผลในความตายมาถึง จึงไม่ตายเช่นคนอื่นเล่า ที่เขาตายแล้วก่อนเรายังอยู่ในบ้านเรือนเสียด้วย มีพี่น้องญาติวงศ์รักษาไม่อยากให้เขาตาย คนที่ตายไปนั้นเขาก็ไม่อยากตาย แล้วก็ไม่เห็นว่ามีใครทำเขาตาย ทำไมเขาตายไปแล้ว ข้อนี้ ความเป็นอยู่ได้ หรือความตายไป เหล่านี้มิได้อยู่ในความปกครองต้องการของใครเสียแล้ว ความเป็นอยู่หรือความตายไปเป็นเรื่องของกรรมจะให้ผลเป็นส่วนพิเศษ นอกจากความปกครองของใจต่างหาก มิใช่ว่าใจนี้ปกครองชีวิตได้โดยเด็ดขาด เช่นใจยังไม่อยากตายเลย พอเจ็บปวดที่ไหน เจ้าใจต้องนึกหายามาใส่ ผลที่สุดก็ตาย เช่นใจของเราเวลานี้ นึกอยากตาย ก็ไม่เห็นมันตาย ข้อนี้อย่าเลยเจ้าใจเอ๋ย ชีวิตความเป็นอยู่นี้หรือจะตายลงเมื่อไร มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ในเจ้าเสียแล้ว ฉะนั้นควรแล้วหรือ เราจะมานึกกลัวตาย หรืออยากตาย ให้เป็นทุกข์เปล่า ๆ มิเข้าเรื่องเข้าการ ความเป็นอยู่หรือความตายไป มีตัวกรรมเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่นั้นเป็นส่วนพิเศษ เราจะไปหวงแหนช่วยเขา ให้เขาทำให้ดีขึ้นกว่านี้ก็เปล่า หรือนึกจะทำลายของเขาจนนำไปยอมให้เสือกัด เสือก็ไม่กัด เพราะเจ้าของเขารักษาอยู่”

เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้วก็รู้สึกหายกลัว แล้วก็ค่ำเข้าประมาณ ๑ ทุ่มรู้สึกง่วงนอนมาก ก็นอนทับลงที่ลานหินนั้น เงยหน้าขึ้นมองดูดวงดาวสดใสสว่างดี ก็นึกสบายใจขึ้นประการเดียวเท่านั้น ชั่วครู่เสือก็ครางขึ้นใกล้ ๆ เสียงอ้าวฮือ ๆ ใจก็นึกขึ้นทันที

“ว่าบัดนี้ข้าพเจ้ารู้ดีแล้วชีวิตนี้มิได้มีกรรมสิทธิ์ในข้าพเจ้า ใจนึกสั่งเจ้าของชีวิตคือเจ้ากรรม ว่าเจ้ากรรมเอ๋ย ผู้เป็นจ้าของแห่งชีวิต บัดนี้เสือมาใกล้เข้าแล้ว เห็นสมควรเช่นไร เจ้าก็คงจัดการไปตามเรื่องนั้นแหละหนอ”

นึกแล้วก็นอนหลับต่อ ขณะหลับอยู่นั้น ฝันว่าช้างเผือกมาจับยกเอาทั้งตัวขึ้นนั่งบนศีรษะ แล้วก็เดินขึ้นหลังเขาไปพัก อยู่ร่มไม้ใหญ่เย็นเงียบ

ไม่ช้าก็ตื่น พอตื่นขึ้นก็นึกพยากรณ์คำฝันของตนว่า ฝันเช่นนี้ปฏิปทาของเราจะเจริญยิ่ง ๆ ต่อไป จึงพึงพิจารณาต่อไปว่า แต่ก่อนเรามีความกลัวมาปิดกั้นสันดาน จนนึกอะไรไม่ออก บัดนี้ ความกลัวอันนั้นก็ถึงความพ่ายแพ้ไปแล้ว บัดนี้เราควรจะบำเพ็ญธรรมบทไหนหนอ พิจารณาไปมาก ๆ ระลึกขึ้นได้ว่า

“สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นธรรมอันบุคคลพาเจริญให้มากแล้ว ได้บรรลุธัมมาภิสมัย ภายใน ๗ ปีบ้าง ๗ เดือนบ้าง ๗ วันบ้าง”


* 567.jpg (63.84 KB, 306x419 - ดู 7360 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #7 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 11:36:36 »

ต่อมา อาตมภาพนั่งสมาธิพิจารณาต่อไปว่า กายก็สักเพียงว่าแต่กาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เรียก กายานุปัสสนา และเวทนาสุขทุกข์ ก็ไม่ใช่เรา เรียก เวทนานุปัสสนา และจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก จิตตานุปัสสนา และธรรมารมณ์ที่คิดพล่านกับจิตก็ไม่ใช่เรา เรียก ธรรมานุปัสสนา

เมื่อพิจารณาเสร็จลง ก็เกิดความสนใจมากขึ้นว่า เราปฏิบัติเพื่อจะละกายอันเป็นมนุษย์ที่เจืออยู่ด้วยความทุกข์ เพื่อจะได้ความสุข เวทนาอันเกิดแก่ทิพสมบัติสุขนั้นก็มิใช่เรา และของเราเสียแล้ว หรือจิตผู้จะเสวยความสุขก็ไม่ใช่ และไม่เป็นของเราเสียแล้ว และธรรมารมณ์ผู้จะรับรู้ซึ่งความสุขอันเราพึงได้ก็ไม่ใช่เรา และไม่เป็นของเราเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ปฏิปทาที่บำเพ็ญอยู่ด้วยความลำบากถึงเพียงนี้ เราจะเมื่อไรหนอเป็นคุณสมบัติอันพึงได้พึงถึง เพราะว่ากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี พระเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ไม่ใช่เราและไม่เป็นของเราเสียแล้ว ผลจะพึงได้อันเกิดแต่การรักษาศีลและเมตตาภาวนาจะพึงมีที่ไหนหนอ

พิจารณาไม่ตกลง ก็เกิดความสนใจมากขึ้น พอดีสว่าง รุ่งเช้าขึ้นก็เดินไปบิณฑบาต ขณะเดินไปบิณฑบาตก็พิจารณาไปพลางว่า

ทุกข์อันเกิดแต่ความรำคาญก็ปรากฏอยู่ที่เรา สุขอันเกิดจากแต่ความชื่นใจก็ปรากฏอยู่ที่ ความเฉย ๆ ไม่รำคาญใจ และได้ชื่นใจก็ปรากฏอยู่ที่เรา หากสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี อุเบกขาเวทนาก็ดี พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ทำไม่หนอ จึงปรากฏอยู่ในสันดานของข้าพเจ้าไม่รู้สิ้นรู้สุด ดังนี้

พอเข้าไปถึงบ้าน เผอิญนายดี ผู้ใหญ่บ้านแกลงมาบอกว่า คนเช่นคุณไม่รู้บ้าหรือคนทำกลอย่างหนึ่งอย่างใดไม่รู้ จะอยู่อาศัยบ้านนี้ไปนานไม่ได้ จงหลีกไปเถิด

พอกลับจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ ก็เตรียมของหลีกไปในวันนั้น


* 001.jpg (11.95 KB, 270x187 - ดู 699 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #8 เมื่อ: วันที่ 06 มีนาคม 2012, 11:50:02 »

เห็นเสือกำลังกินคน
[/b]
เดินข้ามเขาไป ๒ ลูก ไปถึงดงตะเบิงนาง พอดีตอนเที่ยง รู้สึกหิวน้ำก็แวะลงไปในคลองกลางดงนั้น พอลงไปท่าน้ำ เห็นเสือกัดบุรุษคนหนึ่ง เสือกำลังดึงกัดกินแต่ต้นขาขวาเท่านั้น แล้วก็ยืนพิจารณาว่า เจ้ากรรมเอ๋ย กรรมเช่นนี้เจ้าเคยทำหรือไม่ หากเจ้าการมันถึงพร้อมแล้วก็ตามยถากรรม มิใช่การถึงพร้อมแล้ว คือ ไม่เคยทำเวรกันมาแต่ก่อน ก็ขอปฏิปทา ของข้าพเจ้าจงเป็นไปในศาสนาอย่าได้ขัดข้อง พออธิษฐานเสร็จแล้วก็นั่งลงฉันน้ำ ส่วนเสือก็กระโดดมาจากคนที่ตายอยู่นั้น ข้ามศีรษะขึ้นริมฝั่ง ส่วนว่าอาตมภาพนั้นฉันน้ำเสร็จแล้วก็ขึ้นฝั่งคลองตามหลังเสือ พอเสือมองเห็นก็วิ่งออกหน้าไปก่อนประมาณ ๒๐ เส้น เดินตามไปไม่ช้าก็พบเสือตัวนั้นหมอบอยู่ทำท่าจะตะครุบ จึงพิจารณาขึ้นว่า หากเราทั้งสองเคยเป็นกรรมกันมาแล้วอย่างใดก็จงเป็นเช่นนี้เถิด หากไม่เคยเป็นกรรมหรือเบียดเบียนกันแล้วก็จงอยู่อย่าได้เบียดเบียนกันเลย อธิษฐานเสร็จแล้วก็ตรงไปหาเสือประมาณ ๕ ศอก เสือกระโดดเข้าป่าเงียบ จึงเดินตามเข้าดงนั้นไป

ชาวบ้านจะฆ่า
[/b]

ประมาณ ๓ ทุ่มเศษ ก็พ้นจากดงไปถึงบ้านชื่อนาบันได เป็นบ้านของข่า ไม่มีศาสนา มองเห็นศาลเจ้าของเขา นึกว่าเป็นศาลาที่พักนอกบ้าน ก็ขึ้นพักที่นั้น ไม่รู้การปฏิบัติของเขา ชาวบ้านเขามองเห็น ก็ถือตะบองและหอกดาบหลาวแหลนต่าง ๆ มาทำท่าจะทุบตีบ้าง จะฟันบ้าง จะแทงบ้าง แล้วพูดขึ้นไม่รู้ภาษากัน เป็นแต่สั่นศีรษะเท่านั้น เขาจึงไปตามคนภาษาเขามาถามเป็นภาษาลาวว่า จะไปไหน จึงได้บอกกับเขาว่า จะไปกรรมฐาน แต่คนนั้นบอกว่า เจ้ามาอยู่ที่นี่ เจ้าจุดไฟผิดผีของพวกบ้านแล้ว เจ้าจงไปหาซื้อควายมาเลี้ยงผีก่อนจึงไปได้

อาตมภาพบอกว่า ไม่มีเงิน แต่คนนั้นจึงขอคลี่ดูย่ามและบาตรและสายคาดเอว เห็นไม่มีเงิน แกจึงขอมีดโกนกับผ้าสบง ได้ยอมให้แต่ผ้าสบง และเขาให้ตัดผ้าสบงผืนนั้นออกเป็น ๑๖ ท่อนแล้ว เขาแจกกันในคืนวันนั้น จึงได้อาศัยอยู่นั้นตลอดรุ่ง

พอสว่างตอนเช้าก็เข้าไปบิณฑบาต ก็มีเฉพาะแต่คนภาษาลาวเขาใส่ให้ข้าวก้อนหนึ่งประมาณเท่าไข่เป็ด จึงกลับไปฉันที่ศาลา เสร็จแล้วก็เดินต่อไป เข้าเขาส้มโรงในวันนั้น ข้ามเขาไปได้ ๔ ลูก เลียบไปตามชายเขา

พอประมาณ ๕ โมงเย็นมองหาที่พัก เผอิญมองไปเห็นสามเณรองค์หนึ่ง นั่งนับลูกประคำอยู่ เข้าไปถาม ไม่พูดด้วย เป็นแต่เขียนหนังสือบอกว่า

"ผมอยู่เมืองหงสาวดี เที่ยวธุดงค์ไปกับอาจารย์ บัดนี้อาจารย์ตายเสียแล้ว ยังเหลือแต่ผมคนเดียว บัดนี้อายุผมได้ ๑๗ ปี จะเที่ยวไปไม่อาลัย ผมชื่อเณรจวง"

ดังนี้ จึงพักอาศัยอยู่ในถ้ำเดียวกันในคืนวันนั้นจนตลอดรุ่ง

พอสว่างรุ่งเช้าขึ้น สามเณรรูปนั้นจึงกวักมือเรียกอาตมภาพว่า สามเณรท่านจงเข้ามานี้ ครั้งอาตมภาพเข้าไปถึง สามเณรรูปนั้นจึงพูดว่า ต่อไปนี้บ้านมนุษย์ห่าง เมื่อท่านต้องการอาหารแล้ว รุ่งเช้าขึ้นท่านจงฟังเสียงชะนีมันร้อง เมื่อชะนีร้องมากชุมที่ไหน ท่านจงเข้าไปที่นั้น เพราะชะนีกินผลไม้เป็นอาหาร ท่านไปถึง เมื่อท่านต้องการ ท่านก็จะได้ฉันผลไม้นั้นเป็นอาหาร ว่าแล้วก็นั่งนิ่งอยู่

อาตมภาพจึงขอลาท่านไป สามเณรนั้นจึงพูดว่า "ท่านจะเดินต่อไป ท่านจงเรียนพระพุทธมนต์ ๕ พระองค์ด้วยผมก่อน ท่านจะไปด้วยความสวัสดิภาพ" ดังนี้

อาตมภาพถามว่า พุทธมนต์นั้นอย่างไร

สามเณรจึงบอกว่า "นะเมตตา โมกรุณา พุทปรานี ธายินดี ยะเอ็นดู" ดังนี้ ท่านจงเจริญบ่อย ๆ ท่านจะปลอดภัย ดังนี้

ต่อนั้น อาตมภาพจึงลาเณร แล้วเที่ยวต่อไปอีก ๓ วันยังไม่พบบ้านคน ฉันผลไม้เป็นอาหาร วันคำรบ ๔ เดินไปมองขึ้นไปบนยอดภูเขาเห็นต้นยาใหญ่ มองไกลคล้าย ๆ กับเจดีย์ เพราะฤดูนั้นเป็นฤดูใบยาร่วงเสียหมด เป็นพัก ๆ คล้ายกับต้นมะพร้าว แต่ต้นมันใหญ่ปลายต้นเล็ก คล้ายกับยอดเจดีย์ อาตมภาพจึงอุตส่าห์ขึ้นไปดู เห็นใบพร้อมทั้งเปลือกเข้าใจแน่ได้ว่าเป็นยาแท้ จึงเก็บเอาใบแห้งมาสูบดู ก็เป็นรสเมาอย่างยาที่มีอยู่ตามบ้านคน อาตมภาพจึงเอามีดโต้เล่มเล็ก ๆ ที่ติดย่ามไปนั้นบากต้นยาได้สองกีบก็ถือไป จวนค่ำก็ถึงบ้านแห่งหนึ่ง ๖ หลังคาเรือน ไม่รู้ชื่อบ้าน เพราะคนเหล่านั้นเป็นข่าไม่รู้ภาษากัน อาตมภาพจึงแวะเข้าจำวัด อาศัยเงือบหินที่ชายเขา


* 003.jpg (48.41 KB, 598x400 - ดู 802 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #9 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:36:35 »

รุ่งเช้า ก็เข้าไปบิณฑบาต เห็นคนแก่คนหนึ่งนั่งหลามข้าวโพดสาลีอยู่ ผ้าก็ไม่นุ่งห่มเลย อาตมภาพจึงไปยืนหน้าบ้านแก ๆ ก็คว้าไม้ท่อนฟืนตรงเข้ามาหา ทำท่าจะตีอาตมภาพ ๆ มองเห็นเช่นนั้นก็หลับตายืนตรงอยู่กับที่ ไม่ช้าแกตรงเข้าไปจับชายจีวร แล้วพูดขึ้น แต่ไม่รู้ภาษา อาตมภาพจึงตรงเข้าจี้มือลงในกระบั้งหลามข้าวโพด  แกก็เอามาให้หมดทั้งกระบั้ง อาตมภาพก็หลีกไปนั่งฉันอยู่ ณ ลานหินทิศตะวันออกบ้านของคนเหล่านั้น แกก็ตามไปดู แล้วก็คลานเข้ามาจับฝ่าเท้าของอาตมภาพแสดงความรักใคร่ คือแกหัวเราะขึ้นแล้วก็กลับเข้าไปในบ้าน เรียกเพื่อนบ้านมาดูทั้งหญิงทั้งชาย แต่ไม่มีผ้านุ่งห่มทั้งนั้น

หญิงเปลือยกายจะเข้ามาจับต้อง
[/b]

ผลที่สุดผู้หญิงก็จะเข้ามาใกล้ ๆ จับขาอย่างตาแก่คนนั้น อาตมภาพจึงโบกมือห้าม แล้วตรงไปจับเอาแต่นิ้วมือคนผู้ชายด้วยกันเข้าให้ใกล้ แล้วโบกมือห้ามผู้หญิงไม่ให้เขาจับ ผู้ชายคนเหล่านั้นก็รู้นัย เขาจึงห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้ามาใกล้และจับ

บ่ายพอสายนั้น อาตมภาพก็เข้าไปอาศัยอยู่เงือบหินที่อาศัยนอน คนเหล่านั้นก็ตามไปดู ที่นั้นมีร่มไทรและต้นตะเคียนมีบ่อน้ำ ใบไม้สดชื่น อาตมภาพจึงพิจารณาว่าที่นี้จะเป็นที่สบาย แก่การบำเพ็ญสมณธรรม ตกลงพักรั้งแรมทำความเพียรเจริญอานาปานสติอยู่ที่นั้น ๑๙ วัน แล้วจึงเดินข้ามเขาไปอีกวันตลอดค่ำ

ไปถึงบ้านข่าแห่งหนึ่งประมาณ ๙ หลังคาเรือน ซึ่งเป็นข่าตะโอ่ย เข้าไปตั้งอยู่ใหม่ ยังมีข่าสองคนพอส่งภาษาลาวได้ มาถามว่า เจ้าอยากไปไส ถ้าคำไทยว่า คุณจะไปไหน ดังนี้ อาตมภาพตอบว่า จะไปเที่ยวกรรมฐาน แกจึงบอกว่า ต่อไปข้างหน้าบ้านคนห่างและส่งภาษากันไม่ถูกเลย อย่าไปดีกว่า ตกลงอาตมภาพก็ไปหาถ้ำอาศัยจำพรรษาอยู่ที่นั้น ก็มีคนสองคนนั้นใส่บาตรให้ฉัน อาหารบิณฑบาตเป็นข้าวโพดหลามด้วยกระบั้งไม้พุ่ง อาตมภาพก็อาศัยจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนั้น บำเพ็ญเพียรเพ่งอาโปกสิณ คือเพ่งน้ำเป็นอารมณ์ บำเพ็ญอารมณ์ทั้งสองนี้เป็นที่สบายใจ อยู่จำพรรษาในที่นั้นนับว่าปลอดภัย ไม่มีอันตรายมาเบียดเบียน

ตอนออกพรรษาแล้ว ๕ วัน จึงเที่ยวต่อไปอีก ข้ามเขา ๓ ลูกแล้ว จวนจะค่ำยังไม่พบบ้านคน อาตมภาพก็แวะขึ้นเขา หาน้ำฉัน เพื่ออันจะพักจำวัดที่นั้นด้วย เผอิญไปพบพระหลวงตาองค์หนึ่ง หาบตะกร้าใหญ่ เที่ยวเก็บผลไม้มะเดื่ออยู่หน้าถ้ำ อาตมภาพจึงถามท่านว่า อยู่ที่ไหน ท่านตอบว่า ผมอยู่ในจักรวาล อาตมภาพจึงตะกายขึ้นไปพักที่ถ้ำ วางบาตรไว้แล้วจึงไปสรงน้ำเสร็จกลับมา พระหลวงตาองค์นั้นก็มาพักที่ถ้ำอันเดียวกัน จำวัดด้วยกันในถ้ำนั้น ท่านเรียกอาตมภาพไปเรียนคาถาด้วย ท่านว่าคาถาสำเร็จ คือปรารถนาอะไรก็สำเร็จตามประสงค์ดังนี้ ใจความว่า

"โอม อุ อะ มะ นะโม พุทธายะ ชะ สุ มัง"

ท่านบอกว่าให้เณรเจริญเป็นนิตย์ เณรจะสมหวังดังความตั้งใจในชาตินี้และชาติหน้า ดังนี้

พออาตมภาพเรียนจำไว้แล้ว ท่านก็ลงไปในเวลา ๗ ทุ่ม คือตี ๑ ในกลางคืนวันนั้น อาตมภาพถามว่า ท่านจะไปไหน ท่านตอบว่า จะไปเที่ยวในจักรวาล อาตมภาพถามว่า ท่านชื่ออะไร ท่านตอบว่า ผมชื่อพระ ดังนี้ แล้วก็เดินเรื่อยไปตามชายเขา อาตมภาพจำวัดอยู่ที่นั้นจนสว่าง


* 06.jpg (15.98 KB, 256x197 - ดู 770 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #10 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:39:09 »

งูรัดสามเณร


ยังมีงูตัวหนึ่งโตประมาณ ๑ จับ เลื้อยมาเอาหางสอดเข้าที่น่องเท้าของอาตมภาพ แล้วรัดเข้าให้แน่นอยู่ ไม่ช้าก็แลบหางออกมาแหย่ไปตามตัว ตามรักแร้ อยู่นาน สว่างขึ้น มันจึงวางพื้นตัวออก แล้วก็เลื้อยเข้าไปในถ้ำนั้น ต่อมาอาตมภาพก็ลุกขึ้นฟังเสียงชะนีร้องมากที่ไหน ต้องไปที่นั้นเพื่ออาศัยฉันผลไม้เป็นอาหาร เพราะว่าป่าดงเหล่านั้นมีผลไม้ครบทุกชนิด เช่นกล้วย หรือขนุน ผลส้ม ลูกฝรั่ง ลูกมะเดื่อ หรือส้มจีนมีมากมายชนิด ชะนีก็กินไม่หวัดไม่ไหว อาตมภาพก็เก็บผลไม้นั้นฉันเป็นอาหาร และเดินต่อไปอีก ๓ คืน ยังไม่พบบ้านคน

ถูกเจ้าอาวาสไล่หนี


ไปพบคนจำนวนหนึ่ง ไม่มีบ้านไม่มีเรือน อาศัยอยู่ตามถ้ำ ตามเขา กินผลไม้เปลือกไม้เป็นอาหาร ไม่ห่มผ้าห่มผ่อนเลย ส่วนลูกอ่อนของเขาเอารังผึ้งที่มันร้างแล้วมาห่มให้และปูให้เด็กนั้นนอน พอไปพบเข้าเขากลัวแตกตื่นวิ่งหนี ทิ้งไม้สีไฟและเครื่องมือใช้สอยและรังผึ้งร้าง อาตมภาพก็เข้าไปตรวจดูเห็นแน่ได้ว่าพวกนี้เขากินผลไม้ และเปลือกไม้เป็นอาหาร

อาตมภาพก็เดินผ่านข้ามเขานั้นไปอีก เป็นเวลา ๓ คืน ถึงเมืองพาบัง มีวัดและเจดีย์ โบสถ์ และศาลา มีพระพุทธศาสนาอย่างเมืองเรา แต่พระเณรเมืองนั้นฉันข้าวค่ำ และจับต้องสตรีในอาวาสไม่เป็นอาบัติ จับต้องสตรีนอกอาวาสจึงเป็นอาบัติ ดังนี้ อาตมภาพจึงพักอยู่ที่นั้น ๑๖ วัน ถูกเจ้าอาวาสไล่หนี เพราะเห็นว่าแข่งดีเขา เพราะฉันหนเดียว

ประเทศนั้นเป็นคนยาง มีคนลาวเมืองหล่มคนหนึ่งไปอยู่ที่นั้น พอส่งภาษากันได้ อาตมภาพจึงหนีจากที่นั้นเดินข้ามเขามาอีก ๒ คืน ไปพบบ้านหนึ่งชื่อ บ้านป่าเหล็ก มี ๔๐ หลังคาเรือน เป็นคนพวน ส่งภาษาลาวได้ แต่ไม่มีวัด พวกนี้ทำไร่ข้าวโพดกินเป็นอาหาร และมีบึงน้ำใหญ่ในระหว่างดงป่าไม้ใกล้กับตีนเขา อาตมภาพพิจารณาเห็นว่าที่นี้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมดี อาตมภาพจึงพักอยู่ที่นั้นอีกประมาณ ๑๓ เดือน

ตกลงจำพรรษาที่นั้นอีกพรรษาหนึ่งบำเพ็ญให้ใจนิ่งอยู่ที่ลมสุด คือที่ว่างตรงสะดือ รู้สึกว่าได้ความสบาย เพราะจิตนิ่งอยู่ที่อันเดียว ได้ความว่า

ทั้งโลกนี้เป็นทุกข์เพราะใจทำงาน คือคิดไม่หยุด ตกลงคนทั้งโลกนี้ก็เป็นทุกข์เพราะใจเท่านั้น จะเป็นสุขก็เพราะใจเท่านั้น จิตนี้นำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่พอใจก็เป็นสุขขึ้น เมื่อจิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์ขึ้นเท่านั้น สาธุชนผู้ปฏิบัติทางใจ มีสติเป็นหลักฐานพอเป็นที่อาศัยจิต ให้จิตเฉยอยู่ มิให้จิตนำมาซึ่งอารมณ์เป็นที่พอใจ และอารมณ์ที่ไม่เป็นที่พอใจ ได้ดักจิตเฉยอยู่ที่อารมณ์อันเดียว ทั้งกลางวันกลางคืนจนจิตไม่นำมาซึ่งอารมณ์ทั้งสอง ทั้งส่วนเป็นที่พอใจและไม่พอใจไม่แล้ว ทุกข์จะมาทางไหน เมื่อจิตเฉยอยู่ที่อันเดียวนั้นได้ศัพท์ว่า วิหะระติ แปลว่า ย่อมอยู่สบาย สบาย ศัพท์นี้ ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เฉย ๆ นั้นเอง

ตกลงอาตมภาพบำเพ็ญเพียรโดยวิธีดักจิต อยู่ถ้ำชื่อนางแพง



* 004.jpg (119.06 KB, 800x534 - ดู 931 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #11 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:45:45 »

พบสัตว์ประหลาดคล้ายปลาไหล


อยู่พอพ้นเขตพรรษาแล้ว ก็เที่ยวไปตามภูเขาอีกประมาณ ๕ วัน ไปถึงเขาลูกหนึ่งชื่อภูเขาอ่าง เพราะมีหนังสือจารึกแผ่นศิลาเป็นตัวลาว อ่านได้ความว่า "นี้ภูเขาอ่างเงิน เป็นที่พักของพระองค์เจ้าเมต" ดังนี้ และที่นั้นมีบ่อน้ำใหญ่ไหลออกมาจากภูเขา แต่น้ำนั้นฉันไม่ได้ เพราะมีกลิ่นคาวคล้ายกับน้ำล้างไส้เดือน ถึงจะล้างมือล้างเท้าก็ติดมือติดเท้า พอถูกกลิ่นก็ทนอาเจียนไม่ได้

อาตมภาพเห็นน้ำเหม็นเช่นนั้นจึงพักพิสูจน์ดูว่าน้ำนี้จะเป็นเพราะอะไรจึงคาวนัก นั่งเข้าที่อยู่ที่นั้นประมาณ ๕ โมงเย็น เสียงน้ำงดไหล ลืมตาขึ้นไม่เห็นน้ำไหลจริง ไม่ช้าเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งตัวคล้ายกับปลาไหลออกมาจากรูนั้น ใหญ่ประมาณ ๔ จับ ยาวประมาณ ๑๒ ศอก มีสีแสดอิฐบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง สีน้ำเงินบ้าง เลื้อยลงสู่บึงที่มีในภูเขานั้น

พบพระชำนาญเวทย์เดินบนน้ำได้


ต่อจากนั้น อาตมภาพจึงเดินขึ้นเขาไป เพื่อหาถ้ำที่สำหรับจำวัด เพราะเดือนมืดจะเดินกลางคืนก็เห็นจะลำบาก พอขึ้นไปบนหลังเขา ไปพบพระองค์หนึ่งชื่อ สาธุวันดี ท่านบอกว่าท่านอยู่เมืองหลวงพระบาง ขณะนั้นอายุของท่านองค์นั้นกำลัง ๒๕ ปี ท่านถามอาตมภาพว่า เณรเที่ยวมานานแล้วได้คุณวุฒิอะไรบ้าง อาตมาก็เล่าเรื่องที่เป็นมาของตนให้กับท่านฟัง ท่านจึงแนะนำว่า

"บุคคลซึ่งบำเพ็ญเพียรอันเป็นบุพเพของตนเป็นมาแล้วอย่างไร คนนั้นจะมีความเพียรก้าวหน้าไม่ท้อถอย เพราะว่าชาติที่เป็นมาแล้ว สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เมื่อเห็นเช่นนี้ว่า ความเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ในโลกมีภพอันไปปรกติ ผู้นั้นจึงกล้าต่อความเพียรนั้นอีกในโลกนี้ เหตุนั้นผู้เห็นบุพเพนิวาสานุสสติ แล้วจึงมีความเพียรก้าวหน้าไม่หยุด ผู้บำเพ็ญทั้งหลาย เมื่อชำนาญการดักจิตแล้ว ควรบำเพ็ญปัญญาจักษุอันนี้ให้เจริญขึ้น จึงจะไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญ" ดังนี้

ต่อไปนั้นอาตมภาพจึงถามท่านว่า ปฏิบัติแค่ผมควรบำเพ็ญแล้วหรือยัง

ท่านตอบว่า การดักจิตของเณรก็ชำนาญบ้างแล้ว แต่ขาดปัญญาจักษุ เหตุนั้น ควรอบรมปัญญาจักษุให้กล้าก่อนจึงควรต่อไป

จากนั้น ท่านก็แนะนำทางปัญญาจักษุพอสมควร แล้วท่านจึงแสดงฤทธิ์ของท่านบางสิ่งบางอย่าง เช่น หายตัว คือขณะนั้นไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกันกับอาตมภาพ ๆ เดินตามหลังท่านเดินก่อน ทายกเขาไม่เห็น ข้าวบิณฑบาตก็ไม่ได้ ได้เฉพาะแต่อาตมภาพผู้เดินหลัง ที่ถ้ำนั้นมีบ้านอาศัยบิณฑบาต ๕ หลังคาเรือน ทำไร่ข้าวเป็นอาชีพของคนชาติพวน

ต่อนั้นไป อาตมภาพพักศึกษากรรมฐานกับท่านองค์นั้นอยู่ ๑๖ วัน จากนั้นท่านออกเดินตามครองน้ำ ชายฝั่งเป็นถนน คือ ท่านเดินไต่หลังน้ำไป เป็นของสุดวิสัยของอาตมภาพที่จะตามได้ จึงเป็นอันว่าหมดหนทางจะตามไปด้วยท่าน

ต่อนั้นไป อาตมภาพก็เดินตามเขาอีก ๒ วันไปถึงเมืองวัง ไปพักอยู่ถ้ำเต่างอย ไปเที่ยวบิณฑบาตบ้านแดง ทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ที่นั้นมีบ่อน้ำอาศัยเป็นที่สบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม อาตมภาพพักทำความเพียรเพ่งกสิณอาโปธาตุบ้าง เพ่งอากาศธาตุบ้าง บำเพ็ญอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เกิดเรื่องอธิกรณ์ ๔ ครั้ง





* 002.jpg (69.51 KB, 500x333 - ดู 4553 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #12 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:47:33 »

เจ้าคณะแขวงเรียกตัวไปสอบถาม


คือไปอยู่ทีแรก เจ้าคณะแขวงเรียกเข้าไปในเมืองตรวจดูใบสุทธิ อาตมภาพบอกว่า ไม่มีอุปัชฌายะ

เจ้าคณะแขวงบอกว่า เณรต้องเข้ามาอยู่วัดด้วยหมู่คณะ อย่าไปอยู่ถ้ำอยู่เขาคนเดียวไม่สมควร

อาตมภาพบอกว่า ผมบำเพ็ญกรรมฐาน ขอใต้เท้าจงให้โอกาสแก่ผมบ้าง

ท่านตอบว่า บำเพ็ญอะไรข้าไม่รู้ ถ้าเป็นพระเป็นเณรแล้วควรเข้าไปอยู่ในวัดทั้งนั้น

อาตมภาพได้ยินคำนี้นึกขึ้นได้ว่า ที่นี้จะเป็นอุปสรรคแก่การบำเพ็ญสมณธรรม แต่เราทนอยู่ได้ เราก็จะได้บำเพ็ญขันติบารมี เมื่อนึกขึ้นมาเช่นนี้ อาตมภาพจึงกราบลาท่าน เพื่อจะออกไปอยู่ถ้ำตามเดิม ท่านบอกว่า พรุ่งนี้ต้องเข้าอยู่วัดนะ อย่าไปอยู่ป่าอยู่เถื่อนตามลำพังของตน เพราะเป็นเณรต้องอยู่บังคับของพระ อาตมภาพก็นิ่งไม่พูด ออกจากวัดของท่าน ก็กลับเข้าไปอยู่ถ้ำตามเดิม อธิษฐานไม่พูด จะบำเพ็ญแต่สมณธรรมอย่างเดียว ใครจะว่าอะไรไม่พูดด้วย ต่อนั้นก็ตั้งหน้าบำเพ็ญความเพียรส่วนเดียวอีก ๑๐ กว่าวัน เจ้าคณะแขวงใช้พระให้ไปบอกให้เข้ามาอยู่วัด อาตมภาพก็นั่งเข้าที่ทำสมาธิเรื่อยไป ไม่พูดด้วย พระที่ไปถ้ำมาบอกแก่เจ้าคณะแขวงว่า เณรเป็นแต่นั่งสมาธิหลับตาอยู่ ไม่พูดด้วย

นายอำเภอนำตัวไปสอบสวน


วันหลังต่อมา เจ้าคณะแขวงให้นายตำบลไปบอกให้หนี ถ้าไม่หนีต้องเข้าไปหาเจ้าคณะแขวงในวันนี้ อาตมภาพก็เข้าไปหาเจ้าคณะแขวงในเมือง แต่ไม่พูด ท่านถามว่า จะหนีหรือ ก็ไม่พูด จะเข้ามาอยู่ในอาวาสด้วยไหม ก็ไม่พูด ท่านถามอะไร ๆ ก็ไม่พูด ท่านดุด้วยคำหยาบหลายอย่างหลายประการ หนักเข้า นั่งสมาธิอยู่ที่นั้น วันตลอดค่ำคืนตลอดรุ่ง ดักจิตอยู่ไม่ให้จิตตามเอาอารมณ์อะไรทั้งหมดเข้ามาสิงอยู่ภายในใจ รู้สึกสบาย และทำความเข้าใจว่า

คำพูดอะไรทั้งหมดเป็นสักเพียงแต่เสียง เป็นธาตุอันหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เป็นแต่ว่าเสียงนั้นเป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงนั้นดี เสียงอันใดไม่เป็นที่พอใจของตน ก็ว่าเสียงนั้นชั่ว ที่จริงเสียงนั้นจะให้เป็นรูป เป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย ก็หามิได้

ตกลงทั้งโลกนี้จะสงัดจากเสียงไม่มี เพราะหูเรายังมีอยู่ เข้าบ้านก็เสียงคน ออกป่าดงก็เสียงสัตว์ เช่นอยู่ป่า สัตว์บางชนิดร้องเสียงเพราะเป็นที่พอใจเราก็ว่าเสียงดี บางทีเสียงสัตว์บางตัวร้องขึ้น ไม่เป็นที่พอใจเรา ก็ว่าเสียงนั้นชั่วร้าย ผลที่สุดลมพัดต้นไม้เสียงออดแอดซะนิดหน่อยเป็นที่พอใจน่าฟัง ก็ว่าเสียงนั้นดี หากพายุมันพัดมาแรง เสียงอืดอาดครึกครื้น เรากลัว ก็ว่าเสียงนั้นร้ายหรือชั่ว ที่จริงเสียงหรือหูเท่านั้นเป็นไปตามธรรมดาของโลก เช่นหู ถ้าเสียงดังขึ้น ไม่ฟังก็ได้ยิน เช่น เสียงไม่ดี หูไม่ได้ต้องการฟัง มันก็ดังขึ้นเอง เหตุนั้น มิเป็นการควรละหรือที่เราทำโทษหูที่ได้ยินและเสียงที่ดังนั้น อันเป็นไปตามธรรมดาวิสัยของโลก

เมื่ออาตมภาพได้พิจารณาเช่นนี้ ยังมีความอิ่มอกอิ่มใจ มิได้โศกเศร้าเสียใจ ในกิริยาอันที่ท่านขู่เข็ญดุดันต่าง ๆ

ไม่ช้าอาตมภาพก็ไปพักจำวัดอยู่ที่โบสถ์ หลับไปฝันเห็นเทวดาเหาะมาทางอากาศ มาบอกอาตมภาพว่า ดูกรเจ้าสามเณร จะมีผู้มาขัดขวางต่อปฏิปทาของท่านอย่างน่าพิศวงใจ ดังนี้

อาตมภาพก็ตื่นนอนขึ้นมา แล้วพิจารณาว่า อะไรจะขัดขวางข้อปฏิปทาของข้าพเจ้ายิ่งกว่าความตายไม่มี แม้แต่เสือทำท่าจะกัดอยู่เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าสละชีวิตมาหลายหนแล้ว มิได้ทอดธุระเลยว่าไม่ปฏิบัติศีลธรรมต่อไปอีก นี้มนุษย์เหมือนกัน ที่สุดท่านก็คงฆ่าให้ตายเท่านั้น ชีวิตนี้ถึงไม่มีคนฆ่ามันก็จะตายเองอยู่แล้ว ส่วนความดีคือศีลธรรม เราไม่ปฏิบัติเอาก็ไม่ได้ ตกลงเราจะหวงชีวิตอันจะตายอยู่เองเปล่า ๆ มาละศีลธรรมอันเป็นที่พึ่ง ทั้งในภพนี้และภพหน้า มิเป็นการควรเลย



* 005.jpg (26.12 KB, 523x352 - ดู 859 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #13 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:49:18 »

เมื่ออาตมภาพตกลงเช่นนี้แล้วก็ออกจากโบสถ์ เข้าสู่ถ้ำที่อยู่ตามเดิม บำเพ็ญเพียรพิจารณาอนัตตาธรรมเป็นลำดับไป มิได้เพ่งกสินอย่างเดิม โดยเหตุที่ว่าปัญญาเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากอุปสรรคเช่นนั้น จะเป็นอันตรายแก่ข้อปฏิบัติ บำเพ็ญอยู่ที่นั้นตลอดจนฤดูแล้ง

ต่อมา ฤดูฝนจวนเข้าพรรษา ญาหลวงเมืองวัง (ไทยเรียกนายอำเภอ) ต้องการอยากพบสามเณรกรรมฐาน ไม่พูด อยู่ถ้ำเต่างอย จึงใช้ปุริด (ไทยเรียกตำรวจ) ไปนำตัวของอาตมภาพไปที่ว่าการอำเภอ แล้วซักไล่ไต่ถาม ด้วยอรรถ ด้วยธรรม เป็นต้นว่า ศีล ๑๐ กรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ เป็นต้น และกรรมฐาน ๔๐ คืออะไรบ้าง ดังนี้ อาตมภาพก็นั่งพิจารณาว่า คนเช่นนี้มิใช่ผู้ถามเพื่อปฏิบัติ มาถามเพื่อทดลองเล่นเท่านั้น เมื่อจะกล่าวแก้หรือ ก็ไม่เห็นประโยชน์แก่ผู้มาถามด้วยความประมาทเช่นนี้ ทั้งเราก็เปล่าทั้งนั้น ก็คงเป็นสักเพียงแต่จะพูดให้เขาเห็นดีตนเท่านั้น ตกลงดีหรือชั่วก็เราปฏิบัติเอาเท่านั้น จะได้มาจากคำพูดให้ผู้อื่นเห็นดีให้ก่อนจึงจะดีก็หามิได้ เมื่อพิจารณาเช่นนี้อาตมภาพก็นั่งนิ่งไม่พูด

นายอำเภอแกก็ว่า คนเช่นนี่จะเป็นพระเป็นเณรอย่างไรได้ ทั้งดื้อทั้งหนวกทั้งบ้า ดังนี้

อาตมภาพก็พิจารณาขึ้นทันที ทักท้วงภายในจิตของตนว่า นี้เขาว่ากับใคร จิตรับว่าให้ธาตุ ๔ คือรูป เมื่อไม่มีธาตุ ๔ คือรูปนี้ เราก็ไม่เห็น เขาก็ไม่ว่า เพราะข้าพเจ้าคือจิตไม่มี ตัวเขาก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นเขาจะว่าใคร หูเท่านั้นเป็นผู้ได้ยิน เขาดูถูกก้อนธาตุ เขาไม่ได้ดูถูกใจ เพราะใจไม่มีตัว เขามองไม่เห็น เขาจะเอาถูกได้อย่าง ตกลงผู้ว่าเขาก็คงมองเห็นก้อนธาตุคือหน้าตานี้เป็นเรานั้นละเขาจึงว่า ตกลงเขามองเห็นก้อนธาตุ ๔ เขาก็ว่าไปตามพอใจของเขา จะยุ่งอะไรนัก

ต่อนั้นอาตมภาพก็หลับตาลง นั่งขัดสมาธิขึ้นในทันใด อยู่ที่นั้นวันตลอดรุ่ง จนคืนตลอดรุ่งสว่างพอดี ก็ออกไปนั่งอยู่ที่วัด มีคนเขาหาข้าวมาให้ฉัน อาตมภาพฉันแล้วก็กลับไปสู่ถ้ำตามเคย ต่อนั้นก็บำเพ็ญเพียรพิจารณาวิปัสสนาภูมิตั้งแต่ขันธ์ ๕ เป็นต้นไป อยู่ต่อไปจวนวันเข้าพรรษา

เข้าพรรษาแล้ว ๒ วัน ญาหลวง คือนายอำเภอเมืองวังจึงใช้ปุริด คือตำรวจ ไปเรียกอาตมภาพไปยังที่ว่าการอำเภออีก พอไปถึงแกสั่งว่า เณรจงเข้าจำพรรษาที่วัดเดิมด้วยพระทั้งหลายได้เป็นการดี ได้ยินไหม อาตมภาพก็เป็นแต่ยิ้มเท่านั้น ไม่พูดด้วย แกก็หัวเราะด้วยว่า คนพูดได้ยินกันอยู่ ไม่ตอบกันให้ได้ ก็สุดเรื่องเท่านั้น



* 08.jpg (75.24 KB, 441x596 - ดู 833 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #14 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:51:14 »

สามเณรถูกขังกรง

นายอำเภอบอกว่า การอยู่เช่นนั้น มันผิดต่อการปกครองบ้านเมือง เหตุนั้น ขอเจ้าสามเณรจงกลับไปอยู่อาวาสตามเดิม พูดไปมา อาตมภาพก็นั่งหลับตาขัดสมาธิตามเคย แกจึงบอกแก่ปุริดคือตำรวจว่า เณรอวดดีแต่หลับตาเท่านั้น จงเอาไปขังไว้ที่ห้องขังสัก ๒-๓ วัน ดูซิจะใช่คนบ้าหรือคนดี

ต่อนั้นไป ปุริดก็จับนิ้วมือของอาตมภาพไปยังห้องขังแล้วขังไว้ อาตมภาพก็นั่งสมาธิไปตามเคย แล้วพิจารณาว่า อุปสรรคเกิดขึ้นเช่นนี้ เขาขังเราครั้งนี้เพื่อจะสังเกตว่า เราบ้าหรือคนดี ตกลงในใจว่าควรทำตนให้เป็นคนบ้าเสียดีกว่า เพื่อป้องกันความปลอดภัยแก่ปฏิปทาของตน เมื่อเห็นว่าเราเป็นบ้าแล้ว เขาจะปล่อยไปตามเรื่อง

ต่อนั้น อาตมภาพทำเหมือนดุจบ้า พูดขึ้นคนเดียวบ้าง หัวเราะขึ้นคนเดียวบ้าง เมื่อเขาเอาอาหารมาให้ ก็พูดกับถ้วยชามไปตามเรื่อง ปุริดคือตำรวจได้เห็นอาการเช่นนั้น ก็นำเอาความนั้นไปบอกแก่นายอำเภอว่า บ้าแน่นอน จะเอาเรื่องกับคนบ้าก็จะได้หรือ เสียผลประโยชน์เปล่า ๆ บอกในบัญชีว่าบ้าก็แล้วกัน ปล่อยไปตามเรื่อง

ต่อนั้น เขาก็ปล่อยอาตมภาพ ๆ ก็กลับไปอยู่ที่ถ้ำตามเคย แล้วก็ทำเป็นคนดี แต่ไม่พูด ต่อนั้นไป คนนอกเมืองทั้งในเมือง บางคนก็ว่าบ้า บางคนก็ว่าไม่ใช่บ้า ตกลงเป็นส่วนมากว่าไม่ใช่บ้า บ้าทำไมจะประพฤติศีลธรรมเรียบร้อยนัก มีผู้ไปหารู้จักห่มผ้าสบงจีวร ทำท่านั่งรับแขกอย่างเรียบร้อยแต่ไม่พูดเท่านั้น ต่อมา กลางพรรษา มีคนมาทำบุญด้วย ๑๐ กว่าคน แสดงตนว่า ผมเชื่อว่าท่านไม่ใช่คนบ้า โดยเหตุท่านรักษาศีลธรรม และมีมรรยาททั้งนั่งทั้งเดิน พร้อมกับการเที่ยวบิณฑบาตก็มีอินทรีย์สงบเสงี่ยม แต่ข้าพเจ้าอยากทราบความจริง ขอผู้เป็นเจ้าจงแก้ความสงสัยแก่ข้าพเจ้าบ้าง

ต่อนั้น อาตมภาพก็กระทำหัวเราะดุจยิ้ม ๆ เท่านั้น แกก็น้อมอาหารบิณฑบาตถวาย อาตมภาพรับฉันเสร็จแล้วก็ ยถาสัพพี โมทนาให้พรแก่โยมคนนั้น แล้วอาตมภาพจึงเตือนกับโยมคนนั้นว่า โยมเอ๋ย จงรู้ได้โดยเหตุมีประมาณเท่านั้นก่อน ต่อจะรู้ได้ใกล้ชิดเมื่ออีกพรรษาที่ ๒ ตกลง อาตมภาพจะจำพรรษาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ประมาณเพียง ๒ พรรษาเท่านั้น ว่าแล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่งอยู่

โยมแกบอกว่า โยมเฒ่าหมดความสงสัยว่าบ้าแล้ว เชื่อว่าไม่ใช่บ้า โยมเฒ่าขอเป็นโยมอุปัฏฐาก จนกว่าเจ้าสามาเณรจะหลีกไป ต่อนั้น โยมเฒ่าคนนั้น แกก็อุตส่าห์ไปใส่บาตร และสำรับทุกวัน

ต่อจากนั้น มีพวกคณะญาติของโยมนั้นมีความเชื่อถืออาตมภาพมากขึ้นว่าไม่ใช่บ้า อาตมภาพเที่ยวบำเพ็ญบุญบารมีของอาตมภาพ ต่างคนก็ต่างมีความเชื่อถือมากขึ้น มาทำบุญวันละหลาย ๆ คน จนตลอดพรรษาอยู่ต่อไป เมื่อออกพรรษาแล้ว นายอำเภอได้ข่าวว่า มีคนไปทำบุญด้วยวันละมากคน จึงนำคนเหล่านั้นไปสอบสวนที่ว่าการว่า พวกเธอทั้งหลายไปเชื่อถือสามเณรบ้าด้วยเหตุอย่างไร โยมแก่คนนั้นตอบนายอำเภอว่าเณรไม่ใช่บ้า เณรเที่ยวบำเพ็ญบุญบารมีในศาสนานี้ นายอำเภอจึงให้คนนำตัวของอาตมภาพไปยังที่ว่าการอีก เมื่อไปถึงคราวนี้นายอำเภอทำการปฏิสันถาร มีน้ำฉันและหมากพลูบุหรี่ แล้วอาราธนาศีลขึ้น อาตมภาพก็ให้ศีลแก่พวกข้าราชการหลายคน ซึ่งอยู่ในที่ว่าการนั้นเสร็จลง แกจึงอาราธนาเทศน์ต่อไป

อาตมภาพพิจารณาอยู่ในใจว่า หากเราแสดงธรรมขึ้นในเวลานี้ บางคนก็จะเชื่อถือมากขึ้น บางคนก็จะนินทาและเบียดเบียนว่า เราอวดรู้อวดฉลาด ตกลงเชื่อถือก็จะเป็นภัยแก่ความสงบอย่างหนึ่ง คือมาคบหาสมาคมเพื่อฟังเทศนาบ่อย ๆ เราก็จะมัวแต่รับแขก มิได้ทำความสงบ ส่วนผู้นินทาว่าเราอวดรู้อวดฉลาด เขาก็จะนำเรื่องอันนี้ไปเล่าโดยความไม่พอใจของคนต่าง ๆ ว่า เราแสดงตนเป็นคนมีบุญอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะถูกไต่สวน เป็นอันตรายแก่ความสงบอีกอย่างหนึ่ง

พิจารณาเช่นนี้แล้วอาตมภาพก็นั่งนิ่งอยู่ มิได้ทำอะไร นายอำเภอบอกว่านิมนต์แสดงธรรมครับ อาตมภาพพูดว่า การแสดงธรรมนี้ อาตมภาพของดไว้ เมื่อไปข้างหน้าคือพรรษาที่ ๒ เมื่อออกพรรษาแล้ว ๓๖ วัน นั้นแหละอาตมภาพจึงจะแสดงธรรมที่ถ้ำเต่างอย เมื่อท่านทั้งหลาย มีประสงค์จะฟังแล้ว จงไปฟังที่นั้น

ต่อนั้น อาตมภาพก็นั่งนิ่งมิได้พูดต่อไปอีก นายอำเภอแกนิมนต์อีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ขอท่านจงแสดงเดี๋ยวนี้ ต่อนั้นไปอาตมภาพก็หลับตาลง นั่งขัดสมาธิเท่านั้น มิได้พูดต่อไปอยู่ประมาณ ๑ ชั่วโมง คนก็เลิกไปเสียหมด อาตมภาพก็กลับไปสู่ถ้ำตามเคย บำเพ็ญสมณธรรมต่อไป จนตลอดฤดูแล้งและฤดูฝน นับว่าได้รับความสงบ ทั้งภายนอกและภายในใจต่อไป จนออกพรรษา รวมเป็นพรรษาที่ ๔ แห่งการออกเที่ยวธุดงค์คราวนั้น


* 09.jpg (39.33 KB, 448x606 - ดู 714 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #15 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:53:18 »

สามเณรแสดงธรรมขั้นวิปัสสนา

แต่นั้นออกพรรษาแล้วเดือน ๑๒ วันเพ็ญ ก็มีผู้คนไปทำบุญเพื่อจะฟังธรรมเทศนาด้วย จนกระทั่งนายอำเภอเมืองวังก็ออกไปด้วย เมื่อฉันเสร็จก็มีคนอาราธนาธรรม อาตมภาพจึงได้แสดงธรรมในข้อที่ว่า

"สุขินทริยัง ทุกขินทริยัง มายุปะมา วิญญานัง"

อธิบายว่า ความสุข ซึ่งเป็นของมีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ทางกายทางใจก็มีจริง ทั้งเป็นใหญ่ด้วย แต่ไม่เที่ยง ถูกหลอก เจ้ามายา คือวิญญาณัง เจ้าวิญญาณตามรู้แจ้งว่าสิ่งนี้เป็นสุขเข้าอาศัย ความสุขที่มาถึงพร้อมชั่วขณะจิตดูแล้วก็หายไป เพราะความสุข อันเกิดจากความพอใจ เนื่องมาจากความคิดในอารมณ์ อันเป็นที่พอใจแล้วก็สุข หรืออิ่มใจขึ้นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น แล้วก็เสื่อมไป เพราะเขาเป็นของไม่เที่ยง ประเดี๋ยวก็ไปฉวยเอาความคิด และอารมณ์อันไม่เป็นที่พอใจ ก็เป็นทุกข์ขึ้นเท่านั้น ประเดี๋ยวทุกข์นี้ก็หายไป ก็ไปฉวยเอาอารมณ์อันอื่นอีก ตกลงความสุขอันเกิดจากความยินดี และพอใจในสิ่งที่ตนต้องประสงค์เท่านั้น จัดเป็นที่พึ่งแน่นอนยังไม่ได้ คือ บรรดาสาธุชนในโลกนี้ ต้องการความสุขทุกขณะจิตมิใช่หรือ ก็ความสุขและความอิ่มใจต่างก็เคยพบเคยเห็น เคยมีความสุขความอิ่มใจ มาแล้วทุกคนมิใช่หรือ ความสุขและความอิ่มใจนั้นต่างคนก็รู้แล้วว่าเป็นของดี ทำไมจึงไม่คิดและถือเอาความสุขนั้นไว้ ประจำสันดาน จนตลอดชีวิตนี้ เนื่องมาจากความไม่เที่ยง อันเป็นความจริงของโลกนั้นเอง มาตัดรอนให้จิตใจแปรผันไปหน่วงเหนี่ยวยึดถือ เอาความคิดความเห็น อันไม่เป็นที่พอใจ มาปรากฏขึ้นในสันดาน แล้วก็รู้แจ้งขึ้นว่าเป็นทุกข์ ใจคอไม่สบายประเดี๋ยวเท่านั้นได้พบ หรือไม่เห็นสิ่งเป็นที่หัวเราะพอใจก็กลับมีความสุขแช่มชื่นขึ้นอีก เหตุนั้น เจ้าสังขารคือความคิดความนึกอันปรับปรุงขึ้นมาก็เป็นเจ้ามายา เจ้าเล่ห์ เจ้ากล

อีกอันหนึ่ง โดยศัพท์ว่า

"มายุปมา จะ สังขารา"

แปลว่า เจ้าสังขารผู้ช่างนึกช่างคิด ปรับปรุงประจำสันดานนี้ ก็เจ้ามายาใหญ่ คือ ประเดี๋ยวก็ปรับปรุงและคิดอารมณ์อันเป็นที่พอใจขึ้นมา เจ้าวิญญาณรับรู้ว่าเป็นสุขก็เข้าอาศัยและยึดถือ ประเดี๋ยวก็นึกคิดปรับปรุงอารมณ์ไม่เป็นที่พอใจขึ้น มาพล่าอารมณ์ที่ดี คือความพอใจอันนั้นให้เสื่อมหายไป เจ้าวิญญาณก็รับรู้ว่าใจคอไม่สบาย ยุ่งและจุกจิกคือทุกข์ใจขึ้นมา ตกลงว่าความเป็นอยู่ของสาธุชนทุกจำพวก ยกแต่พระอริยเจ้าผู้ได้ประสพสันติสุขเสีย ล้วนแต่ถูกสังขารหลอกทั้งนั้น แล้วแต่เจ้าสังขารปรุงหรือคิดขึ้นมาอย่างก็เป็นไปตาม ปรุงความสุขขึ้นมาก็พลอยสุขไปตาม ประเดี๋ยวปรุงความทุกข์ขึ้นมาก็พลอยทุกข์ไปตาม ตกลงถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ก็ดี ปรุงแต่สุขหรือทุกข์เท่านั้นลวงตนเล่นอยู่หาที่พึ่งมิได้ แล้วแต่เจ้าสังขารจะปรุงให้ร้องให้ก็ร้องให้ เจ้าสังขารจะปรุงให้หัวเราะก็หัวเราะขึ้นเท่านั้น ตกลงอำนาจของจิตไม่มี เพราะเจ้าสังขารลวงเล่นไม่มีเวลาหยุด

ฉะนั้น สมเด็จพระศาสนาจึงตรัสเทศนาสรรเสริญความสงบจิต เอาอาโยโค ความเข้าไปสงบจิต เป็นยอดคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อจิตสงบกายและสงบวาจา เมื่อกายวาจาสงบก็เป็นศีลสังวรเสร็จอยู่ที่ใจสงบเท่านั้นไม่ต้องไปอ่านหรือนับว่านี้ศีล นี้สมาธิ นี้ปัญญา เมื่อรักษาจิตให้สงบแล้วก็บริบูรณ์พร้อมทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้น เมื่อไม่มีปัญญาจิตก็ไม่สงบ เมื่อปัญญาทำให้จิตสงบได้แล้ว ศีล สมาธิก็บริบูรณ์ขึ้นในขณะนั้น เหตุนั้น สาธุชนผู้ต้องการอยากเป็นผู้มีศีล มีสมาธิในศาสนาของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอท่านจงแสวงหาครูอาจารย์แนะนำทางปัญญา หาอุบายจะทำให้จิตสงบลงเมื่อใด ก็เมื่อนั้นท่านจะเป็นผู้บริบูรณ์ไปด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ดังรับประทานวิสัชนามา ก็สมควรแก่กาลเวลา ดังนี้

ต่อไป อาตมภาพก็นั่งสมาธิหลับตาไปเรื่อย ก็ยังมีศรัทธา (โยม) ขอปรารถนาเป็นอุปัฏฐาก และขอขมาโทษที่ได้ดูหมิ่นประมาทต่าง ๆ ขอเณรจงงดโทษแก่ฝูงข้าทั้งหลาย แต่ก็ข้าเผอิญดังนี้ ต่อไป มีคนมาทำบุญมากและขอฟังธรรมทุกวัน อาตมภาพอยู่ไปอีก ๓ วันเท่านั้น พิจารณาเห็นว่าเราก็เป็นผู้ฝึกหัดอยู่ จะมาตั้งตัวเป็นคนรับแขกและคลุกคลีอยู่เช่นนี้ เป็นอันตรายแก่ความสงบ เป็นที่ตั้งแห่งความกำเริบของวิญญาณ ฉะนั้น เราควรหลีกไปเสียดีกว่า


* 147572.jpg (14.75 KB, 200x139 - ดู 699 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #16 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:55:02 »

ประวาทะกับพระครูเขียว

ต่อมา เป็นวันคำรบ ๘ บิณฑบาตเสร็จ อาตมภาพก็ลาโยมเหล่านั้นไป รู้สึกว่ามีบางคนบ่นว่า เราไม่รู้จักว่าท่านมาบำเพ็ญบุญบารมีเลย ต่างคนก็เข้าใจว่าบ้าทั้งบ้านทั้งเมือง ดังนี้ ต่อนั้น อาตมภาพจึงเที่ยวไปทางหนองน้ำจันทร์ ไปพักที่ป่าช้า บ้านหนองน้ำจันทร์อยู่ ๙ วัน พระครูเขียวไปไล่หนีว่า เณรนี้หรือเขาว่าเป็นบ้าอยู่เมืองวัง เรารู้เรื่องของเณรแล้ว คือเธอนี้แหละ เขาบอกว่าเป็นบ้า จะได้เป็นสามเณรในศาสนาก็หามิได้ เหตุนั้นเณรจงหลีกไปเถิด อย่าได้อยู่ท้องถิ่นที่นี้เลย

อาตมภาพได้ตอบท่านองค์นั้นว่า สามเณรมาจากสมณศัพท์ แปลว่าผู้สงบ ใครเป็นผู้สงบ ผู้นั้นแหละพระพุทธเจ้าเรียกว่าสามเณรหรือสมณะ บุคคลผู้มีอิสสาและโลภอยู่ คนนั้นจะศีรษะโล้นก็ไม่ชื่อว่าสมณะ โดยพระพุทธภาษิตว่า "อัพพะโต อะลิกัง ภะณัง อิจฉาโลภะสะมาปันโน แปลว่า บุคคลผู้มีอิจฉาและมีความโลภอยู่ ไม่รักษาธุดงควัตร จะชื่อสมณะอย่างไรได้" *

۩8bcbcbcacbcbcbcacbcbcbcacbcbcbcaccbcbca8۩

* พระบาลีที่มีมาจากคำภีร์ธรรมบท ตอนนี้ มีคาถาเต็มว่า

น มุณฺฑเกน สมโณ อพฺพโต อลิกํ ภณํ

อิจฺฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ

แปลว่า

"ผู้ไม่มีวัตร (คือไม่มีศีลวัตรและธุดงควัตร) พูดจา

เหลาะแหละ ไม่ชื่อว่าสมณะ เพราะศีรษะโล้น ผู้มี

ความริษยาและความโลภ จะเป็นสมณะได้อย่างไร"

۩8bcbcbcacbcbcbcacbcbcbcacbcbcbcaccbcbca8۩

ครั้งเมื่อท่านได้ยินเช่นนี้ ท่านก็โกรธหาว่าดูหมิ่นท่าน ผู้ไม่รักษาธุดงค์ก็ไม่ชื่อว่าสมณะหรือเณร

อาตมภาพตอบว่า ท่าน ๑. เป็นผู้มีความอิจฉา ๒. โลภ ๓. ไม่รักษาธุดงค์คือความสงบ ผู้ขาดคุณสมบัติทั้ง ๓ นี้แหละครับ พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ชื่อว่าสมณะ ตามบาลีที่มีมาในธรรมบทภาค ๗ ธัมมัฏฐวรรค ว่าดังนี้แหละครับ

ท่านก็โกรธว่า "บ้าอะไรมาอ้างศัพท์อ้างแสง อ้างคัมภีร์ธรรมบทภาคนี้ จะมาแข่งดีกับพระหนองน้ำจันทร์หรือเณร"

อาตมภาพตอบว่า "การแข่งดีกันเป็นอุปกิเลส ๑๖ ในข้อ ๑๒ ว่าสารัมภะ การแข่งดีเป็นกิเลสอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญเลยครับ ผมพูดในที่นี้ผมพูดตามศัพท์บาลีหรือความเป็นจริงเท่านั้น คนที่มีกิเลสในสันดาน ได้ยินเข้าก็น้อมเป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะความจริงเข้าไปถึงสันดาน คนที่เป็นกิเลสก็ดิ้นรนออกมาเท่านั้นครับ"

ท่านพระครูเขียวยิ่งโกรธใหญ่หาว่า อาตมภาพดูหมิ่นท่านว่าไม่ใช่สมณะ ทั้งเป็นเจ้ากิเลสด้วย ท่านจึงนำตัวของอาตมภาพเข้าไปที่วัดของท่านแล้วขังไว้ในโบสถ์ เพื่อไต่สวนในขณะนั้นต่อไป อาตมภาพก็นั่งสมาธิและเดินจงกรมในโบสถ์เรื่อย ไม่พูดด้วยกับใคร

ต่อไปอีก ๒ วัน ท่านนำตัวไปไต่สวน อาตมภาพก็ไม่พูด ก็แต่นั่งหลับตาทำสมาธิ ผลที่สุดท่านก็ตัดสินลงโทษว่าให้อาตมภาพขนดิน ขนทรายเข้าวัด แล้วถามว่า เณรยอมตัวไหม อาตมภาพก็ไม่พูด เป็นแต่นั่งหลับตาดักจิตไว้ภายในใจเรื่อยไป

ตกลงท่านก็มอบให้ฝ่ายบ้างเมือง นำตัวไปพิสูจน์ว่าเป็นคนอย่างไรแน่ ปุริดคือนายตำรวจ ก็นำตัวของอาตมภาพ ไปขังไว้ในเรือนจำ ของศาลเมืองสองครได้สองวัน นายอำเภอเมืองสองคร จึงนำตัวของอาตมภาพไปยังศาล เพื่อชำระคดีเรื่องนั้นกับท่านพระครูเขียว เจ้าคณะแขวง

นายอำเภอเมืองสองครอ่านคดีฟ้องเสร็จแล้ว ถามอาตมภาพว่า "ได้ว่าให้ท่านพระครูเขียวเช่นนี้หรือไม่"

อาตมภาพตอบว่า "ได้ว่าอย่างนั้นจริง แต่ไม่ว่าให้ท่านพระครู"

นายอำเภอจึงถามต่อไปว่า "เณรว่าให้ใคร"

อาตมภาพตอบว่า "อาตมาว่าที่ปากของอาตมาเองไม่ได้ว่าให้ใคร และไม่ได้ออกชื่อของใคร ว่าคนชื่อนี้ไม่รักษาธุดงค์ และมีความโลภและความอิจฉา ไม่ชื่อว่าสมณะดังนี้ เป็นแต่อาตมาว่าไปตามคาถาธรรมบท ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เท่านั้น"

ท่านพระครูเขียวท่านก็ว่า "บ้ากืก" (คำว่า "กืก" หมายถึง พิลึก ผิดปกติมาก แปลกประหลาด เงียบ) "ถ้าไม่พูด มันก็ไม่พูด ถ้าพูด มันก็พูดเล่นสำนวน จริงหรือไม่เณร"

อาตมภาพตอบว่า "จริงครับ ตามความประสงค์ของท่านแล้ว แต่จะจริงตามคำของพระพุทธเจ้าก็หามิได้"

ท่านถามต่อไปว่า "จริงตามคำของพระพุทธเจ้านั้นอย่างไร"

อาตมภาพตอบว่า "จริง คือความดับนั้นแหละ เป็นความจริงของพระพุทธเจ้า"

ท่านถามต่อไปว่า "ดับอะไร?"

อาตมภาพตอบว่า "ดับความโกรธและความจองล้างจองผลาญจึงได้นามว่า สาวกะ คือสาวกผู้ฟังคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า"

ท่านถามต่อไปว่า "เณรดับได้และฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วหรือยัง"

อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมดับความโกรธและความจองล้างจองผลาญกับคนอื่นได้ ก็ได้ชื่อว่าผมดับและฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าผมดับไม่ได้ ผมก็คงยังไม่ดับนั้นเอง"

ท่านจึงถามต่อไปว่า "เดี๋ยวนี้เณรดับได้ไหม"

อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมดับความโกรธของผมได้เดี๋ยวนี้ผมก็ดับได้ ถ้าผมดับยังไม่ได้ ผมก็ยังอยู่นั้นเอง"

"ถ้าเช่นนั้นเณรเป็นอรหันต์แล้วหรือ"

อาตมภาพตอบว่า "ถ้าผมสิ้นไปแล้วจากอาสวะ อาสวะก็สิ้นไปจากผม ถ้าผมยังไม่สิ้นจากอาสวะ อาสวะก็ยังอยู่ที่ผม"

ต่อนั้น นายอำเภอเมืองสองครจึงว่า หยุดก่อนครับ ท่านพระครูเขียว อย่าเร่งถามเณรนักในเรื่องเช่นนี้ ผมเข้าใจดีว่าเณรไม่ใช่คนกืกและบ้าเลย ท่านองค์นี้เป็นนักพรตคือผู้บำเพ็ญเพียรในศาสนาแน่นอน

ต่อนั้น นายอำเภอจึงถามว่า เณรอายุเท่าไร อาตมภาพตอบว่า เวลานี้อายุของสังขาร ๑๘ ปีนี้ นายอำเภอจึงว่า ผมขอนิมนต์เณรอยู่วัดในเมืองนี้ ได้หรือเปล่า อาตมภาพตอบว่า ได้แต่เฉพาะวัดที่อาตมาอยู่ ถ้าอาตมาหนีแล้วก็เป็นว่าไม่ได้

ต่อนั้นไป ทางศาสนาก็ตัดสินยกเลิกว่า ไม่จำเป็นจะเกี่ยวข้องในท่านผู้เช่นนี้ เพราะท่านเที่ยวบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น ท่านไม่หวังว่า จะอยู่ในท้องถิ่นเขตแดนของใคร จะไปหรือจะอยู่ก็แล้วแต่เรื่องของท่านเท่านั้น ต่อนั้นก็เลิกแล้วกันไป


* 237.jpg (13.42 KB, 259x194 - ดู 649 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #17 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:56:36 »

บำเพ็ญขันติด้วย ๓ วันฉันข้าวหนหนึ่ง


ฝ่ายอาตมภาพจึงเที่ยวไปแขวงสุวรรณเขต แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขง เที่ยวไปตามดงปังอี่ ไปถึงเขาสีถาน พักบำเพ็ญอยู่ที่นั้นภายใน ๓ เดือน มีบ้านข่าอยู่ตามชายเขาทั้งหลายหลังคาเรือน และมีหลายบ้าน การบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ทดลองกำลังใจด้วยวิธีอดข้าว ๓ วัน จึงฉันหนหนึ่ง เพราะอยากทราบว่า เราปฏิบัติมานานปีเพียงนี้ เราจะมีกำลังของขันติมากน้อยเพียงไร เราอาจจะมีอุบายระงับเวทนาแก้หิวเท่านี้ได้หรือไม่ เมื่อเวทนาใหญ่คือความตายจะมาถึง จะไม่ซ้ำร้ายกว่าหิวข้าว ๓ วันนี้หรือ เราทดลองในเวลาเช่นนี้ เมื่อเวทนากล้าจนถึงตายมาถึงเข้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราอาจดักจิตให้ล่วงทุกเวทนาเช่นนี้ได้หรือไม่

พบอาจารย์ผู้ได้เจโตปริยญาณ


เมื่อพิจารณาเช่นนี้ แล้วก็ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรด้วยวิธีสามวันจึงฉันหนหนึ่ง อยู่ที่นั้นสิ้น ๓ เดือน เผอิญพวกข่าพากันแตกตื่นว่า เป็นผู้มีบุญไม่ฉัน ๓ วันยังเดินได้คล่อง ๆ ต่างก็พากันมาเฝ้าแน่นดูอยู่มากมาย อาตมภาพบอกเขาว่า อาตมาบำเพ็ญขันติบารมี ไม่ใช่ผู้มีบุญมีบาปอะไรดอก เป็นสามเณรภาวะในศาสนาของพระพุทธเจ้า เสมอด้วยสามเณรทั้งหลายที่มีอยู่ทั่วไป เขาก็ไม่เชื่อ ยิ่งแตกตื่นกันมามาก เฝ้าอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน

อาตมภาพพิจารณาเห็นเป็นอันตรายแก่ความสงบ จึงหลีกไปเสียจากที่นั้น ข้ามไปทางภูเขาคัว แขวงอำเภอนาแก ไปพบท่านองค์หนึ่ง เป็นพระกรรมฐาน พักอยู่ถ้ำพระเวส ชื่ออาจารย์หลาย ซึ่งคนเล่าลือว่าท่านรู้หัวใจคนผู้ไปหา

อาตมภาพคิดปัญหา ๔ ข้อว่าจะไปศึกษาท่าน คือ

"จิตรวม ๑ จิตอยู่ ๑ จิตเข้าสู่ภวังค์ ๑ จิตเป็นสมาธิ ๑ ต่างกันอย่างไร ? และคุณสมบัติจะพึงได้ถึง ของขณะจิตทั้ง ๔ นี้ต่างกันบ้างหรือไม่"

พอคิดไว้แล้วก็เดินเข้าไปหาท่าน พอกราบลงเท่านั้นท่านหัวเราะยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า

"อย่างไรปัญหา ๔ ข้อ ที่ทำความสงสัยมานั้นยกขึ้นสนทนากันได้"

ที่จริงอาตมภาพยังไม่ได้ถาม ท่านยกขึ้นมาปรารภก่อน ส่วนอาตมภาพทั้งนี้ก็กระดากใจขึ้นมาว่า แม้ท่านรู้จริง ๆ แล้ว อาตมภาพก็จึงขออาราธนาให้ท่านแสดงมีนัยต่างกัน พร้อมทั้งคุณสมบัติของจิตทั้ง ๔ ขณะจิต ต่อนั้นอาตมภาพก็มีความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของท่าน อาตมภาพขอเรียนกรรมฐานอยู่ด้วยท่าน ๑๖ วันพอดี อาตมภาพก็ป่วยหนักลง ท่านก็จากไปวันนั้น


* 91.jpg (23.16 KB, 300x291 - ดู 786 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #18 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 15:58:32 »

เคยเกิดเป็นเสือติดกันมา ๑๑๐ ชาติ


ก่อนท่านจะไปท่านสั่งว่า

ถึงป่วยหนักก็ไม่เป็นไรในชีวิตนี้ เณรจะต้องได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ก่อน ๆ มาทุกชาติ เณรได้บวช และบำเพ็ญมาดังนี้ ได้ ๑๑๑ ชาติแล้ว แต่ยังไม่ได้บวชเป็นพระสักที ครบอายุ ๑๘-๑๙ ก็ตายเสีย ด้วยบุพกรรมของเณร เคยได้เป็นเสือโคร่งใหญ่มา ๑๑๐ ชาติ ทำลายชีวิตสัตว์ที่มีคุณทั้งหลาย ๑๐ ตัวมาเป็นอาหาร ด้วยกรรมอันนั้นมาขีดคั่น ทำให้ชีวิตสั้น จึงยังไม่ได้อุปสมบทเป็นพระสักที บัดนี้เณรพ้นจากเวร เช่นนั้นแล้ว ต่อไปก็จะมีปฏิปทาอันสะดวกดี และพึงได้อุปสมบทเป็นพระแต่ชาตินี้เป็นต้นไป

และท่านทำนายต่อไปว่า

เณรมีนิสัยเสือโคร่งเป็นสันดาน เพราะเณรเกิดเป็นชาติเสือติด ๆ กันทั้ง ๑๑๐ ชาติ ๑. น้ำใจกล้าหาญ ๒. ชอบเที่ยวกลางคืนสบายกว่ากลางวัน ๓. ถ้าได้อยู่ในที่ซ่อนเร้นสงัดจากคน จิตเป็นที่สบาย ๔. ได้ลงมือทำอะไรแล้ว ผิด หรือ ถูก ก็ถอนได้ยาก เพราะทำอะไรมักอยากอยู่ในกำมือของตน ค่อนข้างกล้าไปด้วยโทสะสักหน่อย แต่ว่าพยายามไปเถิด อายุ ๒๐ ปีจะมีความรู้ความเห็นเป็นที่อุ่นใจดังนี้

ต่อนั้นท่านก็เที่ยวไปตามชายภูเขา ฝ่ายว่าอาตมภาพก็นอนป่วยอยู่นั้น ๔ วันก็รู้สึกทุเลาลงพอจะเดินไปบิณฑบาตได้

อาตมภาพก็ทำความเพียรอยู่นั้น สิ้น ๑ ปี กับ ๖ เดือน และได้รับความสบายใจมาก ทางอาศัยบิณฑบาตบ้านแก้งมะหับ ทางจากถ้ำถึงบ้าน ๑๐๐ เส้น

ระหว่างบำเพ็ญอยู่ที่นั้นได้ ๑๑ เดือน ฝันเห็นคนมาบอกไปเอาพระพุทธรูปออกจากถ้ำไทรทุก ๆ วัน จนแทบจะนอนไม่หลับ หลับลง ก็ปรากฏคนมาบอกในทันใด

ตกลงอาตมภาพก็เข้าไปในถ้ำนั้นดู เข้าไปประมาณ ๓ เส้นเศษ เห็นแผ่นทองฝังตั้งอยู่ ดูจารเป็นตัวลาว ใจความว่า พระภิกษุอ่อน พรรษา ๗ ได้สร้างพระพุทธรูปบรรจุไว้ที่นี้ แต่พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ๕๒๑ ปี

ต่อนั้น อาตมภาพก็คลานเข้าไปอีกประมาณ ๒ เส้น เห็นพระพุทธรูป ตั้งอยู่กับ เสือเหลืองตัวหนึ่ง งูเหลือมตัวหนึ่ง ที่อาศัยในถ้ำนั้น อาตมภาพก็หยิบเอาแต่พระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นพระปรอทมาไว้เป็นที่สักการะ แต่อยู่ในถ้ำก็หลายวัน อาตมภาพถือเอาเฉพาะแต่พระปรอท อันหนึ่งกับดาบเล่มหนึ่ง กับแผ่นทองนั้นหนัก ๑๒ บาท นายฮ้อยอุ่น บ้านซอง ไปล่าเนื้อ ไปแวะ เห็นเข้าขอดู ว่าเป็นทองแท้ แล้วก็ขอ อาตมภาพก็ให้ไป

ส่วนพระปรอทนั้น ถึงกำหนดที่อาตมภาพจะเที่ยวหลีกไปจากที่นั้น มานิมิตฝันว่า มีคนมาห้าม ไม่ให้เอาพระปรอทไปด้วยพร้อมทั้งดาบ อาตมาก็คืนไว้ที่คงเดิม แล้วเที่ยวไปที่ภูเขาค้อที่ถ้ำไทร อาศัยบิณฑบาตบ้านคิ้ว ไปพักทำความเพียรที่นั้นด้วย ได้รับนิมิตฝันเห็นแต่งูมารัดแทบทุกวัน บางวันก็จนละเมอร้องไห้ก็มี เพราะฝันเห็นแล้วก็กลัว ฝันว่างูรัดแน่นไป จนจะหายใจไม่ออกแล้ว ก็ละเมอร้อง ทั้งแรงก็มี เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วก็ไหว้พระแล้วอธิษฐานว่า

“ข้าพเจ้ามาบำเพ็ญบารมีอยู่ที่นี้ เป็นเพราะเหตุไรหนอจึงฝันเช่นนี้ทุกวัน หากข้าพเจ้า จะถึงแก่ความเสื่อม หรือความเจริญสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าทราบแห่งเหตุอันนี้ขึ้น ในวันต่อไปแก่ข้า เทอญ” ดังนี้


* 805.jpg (43.38 KB, 320x240 - ดู 652 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #19 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 16:05:34 »

พบคู่วาสนา


พอค่ำวันนั้นประมาณ ๗ ทุ่มก็จำวัด ฝันเห็นพระหลวงตาแก่ ๆ มาบอกว่า จงระวัง เณร มาอยู่ที่นี้ แล้วอีก ๔ วัน เณรจะเห็นคู่วาสนา แล้วเณรจะร้อน เพราะผู้หญิงคนนั้น ก็พอดีตื่นนอน ต่อนั้น อาตมภาพก็ลุกขึ้นทำความเพียร เดินจงกรมไปตามเรื่อง

อีก ๔ วันพอดี บิณฑบาตกลับมา เผอิญผู้ใหญ่บ้านคิ้วมาทำบุญกับลูกสาวคนหนึ่งอายุ ๒๐ ปี พอมานั่งลงเท่านั้น มองเห็นหน้าหญิงคนนั้น ยังไม่ได้พูดอะไร เกิดประหม่าใจขึ้น ดูเหมือนรักก็ไม่ใช่ เกลียดก็ไม่เชิง ใจคอว้าเหว่จนรู้สึกว่า หายใจไม่รู้อิ่ม ใจคอก็ไม่หนักแน่นอย่างแต่ก่อน

อาตมภาพก็นั่งพิจารณาอยู่ จะเป็นนี้กระมัง ตรงความฝันของเราเมื่อวันที่แล้วมานี้ ว่าจะพบคู่วาสนา ต่อนั้นโยมผู้ใหญ่บ้านคนนั้นก็ถามหาบ้านเกิด เมืองเกิด ถามทั้งบิดามารดา แล้วแกก็ปรารภว่า ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผมเห็นคุณเณรไปเที่ยวบิณฑบาตแต่วันมา ถึงทีแรกจนบัดนี้รู้สึกคิดรักคุณเณรคล้ายกับบุตรของตนจริง ๆ ดังนี้

ส่วนหญิงหนุ่ม (หมายถึงรุ่นสาว) ลูกสาวคนนั้นพูดว่า

“ฉันเองก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร นับแต่วันได้เห็นท่านเข้าไปบิณฑบาต จนบัดนี้รู้สึกคิดรักท่าน ยิ่งกว่าพี่ชายน้องชายของตน ท่านก็เป็นคนหนุ่ม ๆ ทำไมเที่ยวกรรมฐาน นอนตามถ้ำตามเขาคนเดียว ข้อนี้เองยิ่งเป็นเหตุให้ดิฉันคิดสงสารมากขึ้น แทบน้ำตาจะร่วงออก” ดังนี้

ต่อนี้ อาตมภาพก็นั่งพิจารณาในใจว่า นับแต่วันเราเกิดเป็นมนุษย์มา ไม่มีเลยที่เราจะมาคิดชอบคิดรักกับคน จนหายใจไม่อิ่มอย่างนี้ ไม่มีเลย แต่ไม่พูดอันนี้ เป็นแต่คิดในใจเท่านั้น แล้วพิจารณาต่อไปว่า เราจะหาคำพูดอันหนึ่งอันใด มิให้เป็นที่พอใจรักใคร่กันต่อไปอีก จึงนึกได้ขึ้นมา แล้วก็ข่มใจพูด ดูประหนึ่งว่า ไม่มีความยินดีสักนิดเดียว พูดว่า โยมผู้ใหญ่พร้อมทั้งนางสาวนั้น เป็นคนโง่หาปัญญามิได้ ทำไมจะมารักของทิ้ง คือรูปโฉมทั้งสาระร่างกายนี้ ทั้งของโยมทั้งสอง ทั้งของอาตมานี้ ต่างก็จะพากันเอาไปฝังดินทิ้งอยู่แล้ว ก็ประโยชน์อะไรมาคิดรักของทิ้งกันเล่นเปล่า ๆ ใครก็อยู่ไปจนกว่าจะเอาไปทิ้งเท่านั้น สิ่งที่ควรรักก็คือศีลธรรมเท่านั้น ไม่ควรรักร่างกายกระดูก คือรูปโฉมอันเป็นของจะทิ้งลงสู่แผ่นดินทุกคนไป ว่าแล้วอาตมภาพก็ฉันบิณฑบาตนั้นเรื่อยไป

พออิ่มเสร็จแล้ว แกจึงถามว่า คุณเณรดูเหมือนจะไม่สึกสักทีแหละหรือ 

อาตมภาพจึงตอบขึ้นในทันใดว่า อาตมภาพไม่ได้บวชเพื่อจะสึก บวชเพื่อจะบำเพ็ญกุศลบารมีเท่านั้น คืออาการของสึกยังไม่ได้คิดไว้เสียแล้ว อาตมาได้คิดไว้แต่เพียงว่าการบวชของเรามีประโยชน์ และธุระจะบำเพ็ญส่วนกุศลเท่านั้น ธุระหรืออะไรนอกนั้นไม่ใช่การงานของนักบวชจึงมิได้คิดไว้ ว่าแล้วอาตมภาพก็ให้พรยถาสัพพี

พอเสร็จ หญิงหนุ่มคนนั้นพูดสอดขึ้นว่า คุณเณรมัวแต่จะสร้างบารมีนานเข้าจะลืมคิดสึก เดี๋ยวจะแก่เสียก่อน ดังนี้

ต่อนั้น อาตมภาพนึกขึ้นได้ว่าพูดในเรื่องเช่นนี้ จะเป็นอันตรายแก่ความสงบ ต่อนั้นก็นั่งสมาธิเรื่อยไปไม่พูด คนทั้งสองพ่อลูกเห็นอาการเช่นนั้น ก็ชวนกันกลับบ้าน


* bb.jpg (4.31 KB, 180x280 - ดู 659 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!