เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 25 เมษายน 2024, 15:52:08
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  เรื่องเล่าบันเทิงธรรม : พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน (จบบริบูรณ์)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: 1 [2] พิมพ์
ผู้เขียน เรื่องเล่าบันเทิงธรรม : พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน (จบบริบูรณ์)  (อ่าน 18182 ครั้ง)
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #20 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 16:31:10 »

ตัดความรักด้วยการอดข้าว

ฝ่ายว่าอาตมภาพ ทั้งนี้พอคนทั้งสองหลีกไปแล้ว ก็รู้สึกคิดถึงหญิงคนนั้นจนรู้สึกหายใจไม่อิ่ม และใจคอว้าเหว่มากนั่งไม่นาน นอนก็ไม่หลับ ฉันข้าวก็ไม่ได้ เพราะปรากฏว่าลูกหัวใจแขวนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา เป็นอยู่เช่นนี้ ๒ วัน รู้สึกเป็นทุกข์มาก อาตมภาพจึงดำริว่า ประโยชน์อะไร เราจะอยู่ด้วยความเป็นทุกข์เช่นนี้ เราตายเสียในเร็ว ๆ นี้จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราจะสึกไปมีครอบครัวของฆราวาส ต้องทำปาณาติบาตเป็นอาชีพ เราก็จะสร้างบาปกรรมขึ้นอีก ไม่ใช่เล่น สู้ว่าเราตายเสียก่อน อย่าให้ทันได้ทำบาปเลย ฉวยเอาศีลธรรมที่เราได้ประพฤติมาแล้วนี้ เป็นที่อาศัย ไปเสียก่อนดีกว่า เราจะสึกออกไป สร้างเอาบาปกรรมต่อไปอีกตั้งหลายปีหลายเดือนไปอีก

เมื่อพิจารณาตกลงเช่นนี้แล้ว จึงตั้งสัจอธิษฐานว่า หากความรักกับหญิงคนนี้ ไม่ตายไปจากจิตจากใจของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้ข้าพเจ้า จงได้ตายไปเสียก่อนภายใน ๑๐ วันนี้ ข้าพเจ้าจงอย่าทันได้สึก ไปทำบาปทั้งหลายเหล่าอื่น ต่อไปอีก

เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็ตั้งใจว่า “หากไม่หาย จากความรักหญิงคนนี้ เราจะไม่ฉันข้าวแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าให้ชีวิตนี้ตายไปเสียก่อน”

ต่อนั้น อาตมภาพก็ตั้งหน้าไม่ฉันข้าวไปได้ ๕ วัน แต่ฉันน้ำอยู่ถึง ๕ วัน จึงสังเกตภายในจิตว่า ความรักและคิดถึงเช่นนั้น เบาลงแล้วหรือยัง

(ยัง)รู้สึกว่าหนักแน่นอยู่เสมอเก่า จึงนึกขึ้นมาว่า เมื่อเรายังฉันน้ำอยู่ ชีวิตนี้ก็จะตั้งอยู่ได้นาน ความรักอันนี้จะกำเริบเรื่อยไป มิฉะนั้นอย่าเลย ต่อแต่นี้ไป เราจะไม่ฉันทั้งข้าวทั้งน้ำ ให้ชีวิตนี้ตายไปเสียเร็ว ๆ หากความรักอันนี้ยังไม่เบาลง หรือหายไปจากสันดานของเราเมื่อไร เราก็จะไม่ฉันทั้งน้ำทั้งข้าว จนกว่าจะถึงวันตาย หรือจนกว่าความรักจะหายไปจากสันดาน

ต่อไปเมื่ออดทั้งข้าวทั้งน้ำอยู่อีกภายใน ๒ วัน รู้สึกว่าเมื่อนอนหลับไป หายใจเข้าออก ลำคอแห้ง เสียงหายใจดังโวด ๆ ตื่นนอนขึ้นจึงพิจารณาต่อไปว่า

“แม้ความรักใคร่และความกระสันอันนี้ จะมีรากลึกลงไปแค่กับชีวิตนี้แหละหรือ ตกลงว่าเอาเถิด ชีวิตกับความรักอันนี้ จะถอนจากความเป็นอยู่ในชีวิตนี้พร้อมกัน แล้วตายไปก็ตาม ขอแต่อย่าทันได้สึกออกไปทำบาปกรรมเหล่าอื่นอีก หากเราตายไปเสียเวลานี้ยังดี เพราะเราเกิดมาในชาตินี้เรายังมิได้สร้างบาป บาปก็จะมิได้มีแต่เรา เราได้สร้างแต่ส่วนเป็นกุศลคือศีลธรรม ก็บุญกุศลคือธรรมที่เราสร้างไว้นี้ จะเป็นของเรา เพราะเราได้สร้างไว้แล้ว สู้ว่าเราตายไปแล้ว ฉวยเอาบุญไปสู่สุคติก่อน อย่าให้ทันให้ดึงเอาเราไปสร้างวัตถุที่เป็นบาปเลย”

เมื่อพิจารณาเช่นนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าอดทนต่อความหิวนั้นอีกวันหนึ่ง จวนค่ำรู้สึกหายใจไม่ไหวติงถึงสะดือเลย แต่อย่างนั้นความกระสัน ก็ปรากฏอยู่บ้าง แต่บางลง ที่สุดต่อไปตอนกลางคืนประมาณ ๕ ทุ่ม รู้สึกหายใจขัดไหล่ทั้งสอง หอบขึ้นด้วย คือ สูบเอาลมหายใจแรง ๆ ก็ไม่ปรากฏว่า มีลมเข้าไป ปรากฏแต่ลมออกเป็นส่วนมาก ขณะนั้นจึงรู้สึกว่าความกระสันหายไป เป็นเย็นขึ้นตามเนื้อตามตัว สวิงสวายเป็นที่วิง ๆ เวียน ๆ คล้ายกับ จะอาเจียน แต่ไม่อาเจียน เป็นแต่เย็นขึ้นมา ไม่ช้ารู้สึกหายใจสูบลมเข้าไปทั้งแรง รู้สึกถึงแค่หน้าอกขึ้นมาลำคอ ไม่ถึงท้องอย่างแต่ก่อน หนักเข้า หายใจเข้าออกทั้งแรงก็ปรากฏว่ามีลมเข้าออกด้วย รู้สึกปลายจมูกตึง แล้วก็เหงื่อไหลออกที่ริมสบง และทั่วไปทั้งศีรษะ รู้สึกว่า ความรักความกระสัน เช่นนั้น ขาดไปจากสันดาน คือความเป็นอยู่ในขณะนั้น

ไม่ช้าปรากฏมีแสงคล้ายกับแสงหิ่งห้อยออกจากตา และลืมตาอยู่ก็ไม่เห็นอันอื่น เห็นแต่แสง ชนิดนั้น หลั่งไหลออกจากลูกตา มีทั้งสีแสด สีแดง, ดำ, ขาว, เขียว ครบทุกชนิด ลอยขึ้นข้างบนลูกตาก็เหลือกขึ้นข้างบน ตามแสงอันนั้น รู้สึกว่า อันนี้ไม่ใช่อื่น วิญญาณทางตาของเราออกไปแล้ว ไม่ช้าวิญญาณทางหูก็จะดับ ก็เป็นอันว่าเราตายไปเท่านั้น ที่นี้ความกระสันยิ่งไม่ปรากฏ

จึงนึกทดลองน้ำใจดูว่าสึกไปเอานางสาวนั้นเถิด รู้สึกขณะนั้นจิตใจไม่เกี่ยวข้องด้วยเลยเป็นอันขาด เป็นแต่สวิงสวายไปเท่านั้น จึงกำหนดได้ว่า เรายังไม่ตาย ความรักความกระสันเช่นนั้น ตายไปก่อนแล้ว ฉะนั้น เราควรจะฉันน้ำเสียในเวลานี้ พอให้ชีวิตนี้ตั้งอยู่ (จน)กว่าจะถึงเวลาเช้า จึงไปบิณฑบาตมาฉัน

นึกแล้วก็คว้าเอาน้ำอยู่ในกระบอกไม้ไผ่มาฉัน เมื่อฉันน้ำลงไปในท้อง รู้สึกท้องสั่นดังวุบวับ ปรากฏลำไส้ข้างในครู้ยเป็นขด ๆ ขึ้นมา แล้วเรอออก ๒-๓ พัก รู้สึกหายใจสะดวกดี ลงถึงที่สะดือเมื่อหายใจสูบลงแรง ๆ ก็ดูเหมือนที่สะดือพุ่งออกและหยุดเข้า รู้สึกมีกำลังพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

ต่อนั้นก็คลานไปที่บ่อน้ำ ฉันน้ำให้อิ่ม สรงน้ำพร้อมเสร็จแล้วแต่เช้าตรู่ ยิ่งรู้สึกสบายขึ้น เดินได้แข็งแรงพอสมควรก็ไปบิณฑบาตวันนั้น ต่อนั้นฉันข้าววันละ ๗ คำ อยู่ ๑๕ วัน รู้สึกเบากายเบาใจ หายจากความอาลัยในความกระสันรักใคร่ ต่อนั้นก็เที่ยวไปตามหลังเขาได้ ๓ วันถึงภูผากูด พักบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นั้น เกิดสัญญาวิปลาสสัญญาว่าตนพ้นวิเศษ ก็จำพรรษาอยู่ที่นั้น

IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #21 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:00:28 »

พิจารณาความเสื่อมของพระศาสนา

ในกลางพรรษานั้น ได้พิจารณาเรื่องราวของศาสนา ได้ความว่า

เวลานี้มีภิกษุเป็นมหาโจรปล้นพระศาสนา คือภิกษุประพฤติผิดพระธรรมวินัย ทำการซื้อถูกขายแพง ประจบประแจงกับชาวบ้าน และซื้อม้าวัวควายขับขี่เป็นพาหนะ สะสมเงินทองสิ่งของไว้เป็นทุนเป็นกำไร อาศัยได้ทรัพย์ไปจากพระพุทธศาสนา ที่เขานำมาบูชา เมื่อตนยังเป็นบรรพชิตอยู่ พอได้แล้วก็ลาสิกขา นำเครื่องบูชาที่เขาให้แต่ยังเป็นพระ ไปเป็นทุนกำไรค้าขาย ในคราวที่ตนสึกออกไปเท่านั้น ตกลงผู้บวชในศาสนา จะแสวงหาพระนิพพานนั้นเป็นส่วนน้อย ผู้บวชแสวงหาแต่ลาภยศเป็นส่วนมาก พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะเป็นลัทธิอันนี้พระพุทธเจ้าวางไว้ เพื่อกุลบุตรผู้ต้องการความพ้นทุกข์เท่านั้น มิได้วางไว้เพื่อเป็นทางหากิน ของบุคคล ผู้เพ่งต่อความโลภ บัดนี้ มีพระภิกษุบวชอาศัยในพระพุทธศาสนาเพ่งต่อความโลภมาก จนเป็นหมอดู และหมอยารักษาไข้ เอาปัจจัยเงินทอง ของชาวบ้าน ยังมีการซื้อถูกขายแพงเข้า อีกหลายอย่างหลายประการ เป็นอันตรายแก่พระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ตกลงออกพรรษาแล้ว จะเที่ยวประกาศพระพุทธศาสนาพร้อมทำสังคายนา

แสดงธรรมย่ำยีผู้ทำลายศาสนา


ครั้งเมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ลงไปจากเขาไปบ้านชักชวนพี่ชายออกเที่ยวกรรมฐาน ไม่ช้าจะนำพาสังคายนา พี่ชายก็ติดตามไปถึงอำเภอท่าบุ่ง ยังมีโยมหลายคนมาฟังธรรมเทศนา มีนายพิมพ์และนายอินเป็นต้น จึงได้แสดงธรรมเทศนาเพื่อประกาศพระศาสนาตามความสำคัญวิปลาสของตนว่า

ปุพเพ ธัมมะวาทิโน ทุพพะลา โหนติ อิทานิ อวินะยะ วาทิโน พะละวันโต โหนติ

แปลเอาเนื้อความว่า ในกาลก่อนพระธรรมวาทีมีกำลังกล้า รักษาธรรมวินัยในศาสนานี้เรียบร้อยเป็นน่าเลื่อมใสบูชา บัดนี้อธรรมวาที คือภิกษุโจรปล้นพระศาสนามามีกำลังกล้าเบียดเบียน ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมสูญ เป็นตัวอย่างแก่กุลบุตรผู้บวชเมื่อภายหลัง ฝ่ายญาติโยมกลายเป็นเดียรถีย์ให้กำลังแก่พระอลัชชีประพฤติย่ำยีพระพุทธศาสนา เช่นนำพระให้เป็นหมอดู และหมอขับภูติผี และทำการติดต่อยืมทองของพระไปเป็นทุนซื้อขาย แบ่งทุนแบ่งกำไรกันและกัน นี้แหละฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ฝ่ายโยมก็เป็นเดียรถีย์ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ช่วยกันย่ำยีพระพุทธศาสนา เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนาทั้งนั้น ตกลงว่าท่านเหล่านี้กำลัง กัตวา (เป็นผู้กระทำ) ครั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้วจะไปตกมหาอเวจีนรก ด้วยโทษประพฤติเป็นอลัชชี ย่ำยีพระธรรมวินัยให้เสื่อมทรุดชำรุดไป

۩8bcbcbcacbcbcbcacbcbcbcacbcbcbcaccbcbca8۩

พระบาลีข้างต้นนั้น เป็นพระบาลีที่ท่านได้ตัดตอนมาจากคัมภีร์จุลวรรคแห่งวินัยปิฎก ซึ่งพระมหากัสสปเถระได้กล่าวปรารภแก่ภิกษุทั้งหลาย ก่อนการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่หนึ่งว่า

“หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม ปุเร อธมฺโม ทิปฺปติ ธมฺโม ปฏิพาหิยติ อวินโย ทิปฺปติ วินโย ปฏิพาหิยติ ปุเร อธมฺมวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ ธมฺมทิวาโน ทุพฺพลา โหนฺติ อวินยวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ วินยวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺติฯ

แปลว่า

อาวุโสทั้งหลาย เชิญพวกเรามาทำสังคายนาพระธรรมและวินัยกันเถิด เพราะต่อไปในภายหน้า อธรรมจะรุ่งเรือง พระธรรมจะเสื่อมถอย อวินัยจะรุ่งเรือง พระวินัยจะเสื่อมถอย อธรรมวาทีบุคคลทั้งหลายจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลทั้งหลายจะมีกำลังน้อย พระภิกษุทั้งหลายที่เป็นอวินัยวาทีจะมีกำลังกล้า พระภิกษุทั้งหลายที่เป็นวินัยวาทีจะมีกำลังน้อย”


* หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม.jpg (6.92 KB, 173x189 - ดู 1641 ครั้ง.)

* พระมหาปิ่น ปัญญาพโล.jpg (6.35 KB, 115x150 - ดู 1614 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:44:44 โดย เมฆพัตร » IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #22 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:09:09 »

ต่อนั้น ก็แสดงไปหลายนัยเอนกประการ เมื่อเทศนาจบลง มีคนแสดงความเลื่อมใส มาขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพระศาสนาเสียใหม่ เพื่อชำระบาปกรรมที่ได้กระทำกันมาแล้ว ดังนี้

ต่อนั้น ยังมีขุนคีรีสมันการ ปลัดขวาอีกคนหนึ่งเห็นพร้อม นอกนั้นเขาก็ว่าแสดงธรรมกระทบ ทั้งไม่เรียบร้อย จนกระทั่งเจ้าคณะแขวงก็เข้าใจว่าแกล้งแสดงธรรมกระทบท่าน สั่งไปกับปลัดขวาว่า ให้สามเณรหนีเสียดีกว่า มิฉะนั้นจะเดือดร้อนทั้ง ๒ ฝ่าย ขุนคีรีสมันการก็นำเอาความอันนั้นมาแนะนำว่า เจ้าคณะแขวงท่านเคือง ขอเณรจงหลีกไปเสียก่อน

ต่อนั้น ขุนคีรีสมันการจึงเล่าให้ฟังว่า บัดนี้ยังมีอาจารย์ ๒ ท่าน คือ พระอาจารย์สิงห์ องค์หนึ่ง พระมหาปิ่น องค์หนึ่ง ท่านใฝ่ใจในทางนี้ ขอท่านสามเณรจงหลีกไปหาท่านเหล่านั้นเถิด เวลานี้ท่านอยู่จังหวัดขอนแก่น

อาตมภาพได้ทราบข่าวว่า ท่านเหล่านี้รักษาธุดงค์และมุ่งประโยชน์ในพระศาสนา อาตมภาพก็เดินจากอำเภอท่าบุ่ง ๘ คืนไปถึงจังหวัดขอนแก่น ได้ทราบว่าพระอาจารย์สิงห์และอาจารย์มหาปิ่นพักอยู่ที่ป่าช้า อาตมภาพก็ตรงเข้าไปศึกษา ได้ความว่าพระเถระทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ทั้งหลาย ๗๐ รูป ปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย ต่อนั้น อาตมภาพก็น้อมตนเป็นศิษย์ของท่านพระเถระทั้งสอง แล้วก็ลาท่านไปบำเพ็ญอยู่ในป่าช้าบ้านโนนรังพรรษาหนึ่ง

ในกลางพรรษานั้น บำเพ็ญเพียรไปก็เพียงแต่ตระหนักไว้ในใจว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว เราจะออกเที่ยวแสดงธรรมประกาศพระศาสนา ให้พวกอลัชชีและพวกเดียรถีย์รู้ตัวสักหน่อย

ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้วก็เที่ยวมาจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ที่บ้านหนองสะพัง และบ้านหนองมันปลา แสดงเรื่องพระเป็นอลัชชี โยมเป็นเดียรถีย์ รู้สึกว่ามีคนเลื่อมใสและเห็นด้วย คือนายสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหนองสะพัง เขาก็นำลูกบ้านมาฟังธรรม และมาขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา จะไม่ถืออื่นเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต และนายบุญมา ผู้ใหญ่บ้านหนองมันปลา ก็นำลูกบ้านมาปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ว่าจะไม่ถือภูตผีปีศาจต่อไปอีก ปฏิญาณว่าจะถือเฉพาะคุณพระรัตนตรัย เท่านั้นเป็นที่พึ่ง จนตลอดชีวิต


 
พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล
 
อีกฝ่ายภิกษุยาคู พระเจ้าคณะหมวด ก็นำพระมาฟังธรรมที่ป่าช้าทุก ๆ วัน และมายอมตัวพร้อมด้วยสานุศิษย์ว่า จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยต่อไป และนำพาสานุศิษย์มาฝึกหัดกรรมฐานด้วยทุก ๆ วัน แต่ก่อนท่านองค์นี้ ท่านเลี้ยงหมูขายบ้าง เลี้ยงไก่ขายบ้าง เลี้ยงม้าไว้ขี่บ้าง ซื้อโคให้คนไปขายเอากำไรแบ่งกันบ้าง ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งอาตมภาพนำไปแสดงว่าเป็นลัทธิของพระอลัชชี แต่นั้นท่านก็ให้คนนำเอาหมู เอาไก่ เอาม้า โค ออกหนีจากวัดให้หมด ประพฤติตนตั้งอยู่พระธรรมวินัย

ต่อนั้นยังกำเริบใหญ่ พิจารณาไปว่า เรานี้จะรื้อพระศาสนาให้เจริญได้จริง ๆ เพราะมีคนเห็นพร้อมด้วยแล้วเป็นส่วนมาก เท่าที่ได้ยินฟังก็นับว่ามีคนเชื่อถือมาก ต่อนั้นก็ตั้งใจเที่ยวธุดงค์ไปอีก ๒ คืน ถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปพักอยู่ป่าไม้ทิศตะวันตกเมือง อยู่ภายใน ๓ วันเท่านั้น นายอัม ผู้ใหญ่บ้านหัวขัวมาฟังธรรม ก็เกิดความเลื่อมใสปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในศาสนา ต่อมาวันหลังก็นำลูกบ้านทั้งหมดมาปวารณาและปฏิญาณตนเป็นอุบาสกพร้อมทั้งลูกบ้าน

ต่อมาอีก ๒ วัน มีนายหอม นักปราชญ์บ้านดงเมือง เคยเป็นครูสอนบาลีและมูลกัจจายน์มาหลายปี ครั้นมาเห็นเข้าก็ปฏิญาณด้วยวจีเภทอันเลื่อมใส ว่าจำเดิมแต่ข้าพเจ้าเกิดมาอายุ ๕๕ ปีนี้พึ่งได้พบตัวศาสนาในวันนี้ เหตุนั้นขอท่านสามเณรจงจำไว้ว่า ข้าพเจ้าเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาอันหมดจด แต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต ดังนี้

วันหลังต่อมา นายหอม นักปราชญ์ ก็นำเพื่อนพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านมาฟังธรรม ก็มีความเลื่อมใสทุก ๆ คน มิได้แสดงความขัดขวางอันหนึ่งอันใด

ต่อนั้น อาตมภาพก็แสดงธรรมด้วยความหวังใจจะประกาศพระธรรมตามความสำคัญของตนว่า

“อนิจจา อนิจจา สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า ดับขันธ์เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนานมาได้ ๒๔๗๓ ปีเท่านั้น บัดนี้ฝ่ายโยมก็กลายเป็นเดียรถีย์ ฝ่ายพระก็เป็นอลัชชี ประพฤติย่ำยีพระธรรมวินัยอันเป็นพระพุทธศาสนา ของสมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้า ให้เศร้าหมองเสื่อมสูญอันตรธาน จะมิตั้งอยู่ได้นาน เหตุนั้น บัดนี้ มาเถิดท่านอุบาสก จงช่วยยกพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองวัฒนาถาวร ธัมมวาทิโน ทุพพลา โหนติ อวินยวาทิโน พลวันโต โหนติ บัดนี้ภิกษุผู้เป็นยุคเป็นธรรม ทุพพลภาพมีกำลังน้อยเสื่อมถอยลงมิอาจจะกล่าวแก่อลัชชี ฝ่ายมหาโจรปล้นพระศาสนามีกำลังกล้าสนุกประพฤติฝ่าฝืนพระธรรมวินัย เล่นทุก เล่นกระสาย เล่นถั่ว เล่นโป เที่ยวเกี้ยวสีกาตามทุ่งตามนา ซื้อถูกขายแพงหาทุนกำไรสั่งสมปัจจัยไว้ เพื่อญาติเพื่อวงศ์ มิได้ครอง ต่ออริยมรรคธรรมวินัย ประพฤติหยาบ ๆ ล่วงสิกขาบท นี้แหละท่านทายกอุบาสกอุบาสิกา เห็นเป็นการควรและหรือ ที่ท่านทั้งหลายจะสมคบให้กำลังแก่พวกอลัชชีย่ำยีพระศาสนา ให้กำเริบมากมายขึ้นทุกวัน ฉะนั้น ควรแล้วท่านทั้งหลายจะกลับตัวเสียจากการยืมเงินทองของพระของเณรไปเป็นทุนซื้อทุนขาย แบ่งทุนกำไรซึ่งกันและกันอันเป็นทางแห่งอบาย”


* ๅๅๅๅๅ.jpg (58.67 KB, 307x400 - ดู 2239 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #23 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:11:54 »

โต้หลักพระศาสนากับพระสมุห์


เมื่อเทศน์จบลง ยังมีนายอาจารย์เรื่อง และครูโรงเรียนชื่อนายแก้ว ซึ่งอาศัยกินอยู่กับเจ้าคณะจังหวัด ท่านพระครูสังฆปาโมกขทวาจารย์ นำเอาเนื้อความซึ่งอาตมภาพกล่าวว่า โยมทั้งหลายเป็นเดียรถีย์ พระทั้งหลายก็เป็นอลัชชี ไปเรียนท่านพระครูสังฆปาโมกขทวาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อท่านได้ทราบท่านก็โกรธใหญ่ ให้พระสมุห์ภัยไปไล่ให้หนี บอกว่าสามเณรจะมาแข่งดีกับจังหวัดกาฬสินธุ์หรือเณร อย่ามาทำอย่างนี้เลย เณรจงหลีกไปเถิด เดี๋ยวจะถูกจับสึก

อาตมภาพตอบว่า ผมนี้มาแล้วจากอุบลจนถึงนี้ จะให้ผมหนีอย่างไรอีก ท่านสมุห์เล่าหนีแล้วหรือยัง ผมเห็นว่าท่านสมุห์ก็ควรหนีไปเที่ยวธุดงค์บ้างตามอริยประเพณี

ท่านถามว่า เณรเดินตามอริยประเพณีแล้วหรือยัง

อาตมภาพตอบว่า ผมเข้าใจว่าอริยประเพณีเป็นมา ดังนี้

อาตมภาพตอบว่า มี ๕ อย่างคือ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ๒. ไม่เข้าไปว่าร้ายและล้างผลาญคนอื่น ๓. สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๔. นั่งนอนเสนาอันสงัด ๕.เป็นใหญ่ในจิตของตน ๕ อย่างนี้แหละเรียกว่าอริยประเพณี

ท่านถามว่า ถ้าเณรเดินตามอริยประเพณีแล้ว ทำไมว่าเขาเป็นเดียรถีย์ เป็นพระอลัชชี ไม่ชื่อว่าเบียดเบียนเขาหรือ

อาตมภาพตอบว่า เปล่าผมไม่ได้เบียดเบียน หากจะมีคนเดียรถีย์และพระอลัชชีแล้ว ผมสงสารเขาจะไปตกนรก ผมกล่าวขึ้นเพื่อบุคคลเช่นนั้นรู้สึกตัวสักหน่อย เพื่อจะให้เขากลับสำรวมในพระธรรมวินัยในพระศาสนานี้

ท่านจึงถามว่า เณรเข้าใจว่าใครเป็นเดียรถีย์ ท่านองค์ไหนเป็นอลัชชี

อาตมภาพตอบว่า บุคคลไม่ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งบุคคลนั้นเป็นเดียรถีย์ ท่านองค์ไหนแกล้งประพฤติล่วงเกินพระธรรมวินัย ท่านองค์นั้นชื่อว่าอลัชชี

ท่านตอบว่า เช่นฉัน เณรเห็นว่าเป็น อลัชชี หรือ ลัชชีบุตร

อาตมภาพตอบว่า ถ้าท่านสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ท่านก็เป็น ลัชชีบุตร หากท่านไม่สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ละเมิดล่วงเกินในพระธรรมวินัย ท่านก็เป็นอลัชชี

ท่านจึงถามต่อไปว่า เณรเป็นอรหันต์หรือ ?

อาตมภาพตอบว่า ถ้าผมสำเร็จอรหันต์ ผมก็เป็นอรหันต์เท่านั้น ถ้าผมยังไม่สำเร็จอรหันต์ ผมก็ยังเป็นปุถุชนอยู่

ท่านจึงถามอีกว่า ธรรมอะไรทำให้บุคคลให้เป็นอรหันต์ ?

อาตมภาพตอบว่า ผู้เห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ ชื่อว่า พระอรหันต์

ท่านจึงถามต่อไปว่า เณรเห็นอริยสัจทั้ง ๔ แจ้งแล้วหรือยัง ?

อาตมภาพตอบว่า ความรู้จริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ เป็นความรู้ความเห็นของพระอริยเจ้า หากผมเป็นพระอริยเจ้า ผมก็รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ อยู่ตราบนั้น

ท่านจึงพูดขึ้นว่า ถ้าเช่นนั้นเณรก็เป็นทั้งปุถุชนทั้งอริยะ ใช่ไหม ?

อาตมภาพตอบว่า ธรรมดาผู้บำเพ็ญพรตในศาสนาพระพุทธเจ้า แรกก็เป็นปุถุชนปฏิบัติเพื่ออริยมรรคนั่นเอง

ท่านสมุห์ภัยถามต่อไปว่า เณรได้อริยมรรคแล้วหรือยัง ?

อาตมภาพตอบว่า ผมจำได้ซึ่งองค์อริยมรรค ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นที่สุด

ท่านจึงบ่นต่อไปว่า ความจำองค์อริยมรรค ๘ ได้เท่านั้นจะสำคัญตนเป็นผู้วิเศษไป อ้ายพันนี้มันบ้าจริง ๆ ตัวของเณรนี้แหละเป็นตัวอลัชชีใหญ่ แกบวชเข้ามาเบียดเบียนหมู่พวกภิกษุสามเณร ดูหมิ่นดูถูกเพื่อนบรรพชิตด้วยกันทั้งหมด ว่าพวกนั้นเป็นอลัชชี พวกนี้เป็นลัชชีบุตร เดี๋ยวแกยุแหย่ ให้สงฆ์แตกร้าว เป็นอนันตริยกรรม ตัวของเณรเองจะเป็นโทษถึงอนันตริยกรรม ตายแล้วแกก็ไปตกอเวจีมหานรกเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้แกก็ไม่ควรเป็นเณรแล้ว การติเตียนพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นนาสนังคะ ขาดครองเณรมิใช่หรือ ตกลงเณรนี้แกไม่ใช่เป็นเณรแล้ว แกติเตียนพระสงฆ์ นี้ท่านอุบาสก อุบาสิกา เธอคนนี้ไม่ใช่เณรแล้ว พวกเจ้าทั้งหลายอย่าพากันเชื่อถือมาก พวกเจ้าจะนำพากันเป็นบ้า ไปตามเธอคนนี้ ทั้งหมดใช้ไม่ได้ พวกเจ้าจะพากันติเตียนพระสงฆ์แล้ว พวกเจ้าจะพากันไปทำบุญที่ไหน เพราะพระสงฆ์เท่านั้นเป็นบุญเขตของโลก

ต่อนั้น ท่านจึงผินหน้ามาถามอาตมภาพว่า ใช่ไหมเธอ หรือเธอเห็นเป็นอย่างไรอีก ?

อาตมภาพตอบว่า ท่านจะถามถึงความเห็นของผมแล้วก็มีความเห็นอยู่หลายอย่าง หลายประการ มีนัยอันจะพูดอยู่มากมายมิใช่เล่น

ท่านสมุห์ภัยท่านจึงบอกว่า แกมีความเห็นมากมายนั้นเห็นอย่างไร จะพูดได้มากมายนั้น แกจะพูดได้อย่างไรจงพูดขึ้นมา

อาตมภาพพูดต่อไปว่า เท่าที่ท่านสมุห์จะมาโทษว่า ผมขาดจากเณรทีเดียว ด้วยเหตุแห่งการติเตียนพระอลัชชีเท่านั้นผมไม่เห็นด้วย เพราะผมมิใช่ติเตียนพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมพูดเพื่อจะให้พระอลัชชีรู้ความผิดของตนเท่านั้น ส่วนพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า ผมไหว้อยู่ทุกวันว่า สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ จนถึง สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ผู้ปฏิบัติดีและผู้ปฏิบัติชอบนั้นแหละ ถือว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ผมมิได้ติเตียนพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ผมกล่าวตามโทษของบุคคลผู้กระทำผิดพระวินัย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านเคืองอะไรหนักหนาหรือท่านประพฤติผิดพระธรรมวินัยกับเขาบ้าง

ท่านตอบว่า ไม่ว่าแต่ฉันเลย เจ้าคณะแขวงก็มีม้า มีวัว มีเงินตั้งหลายพันบาท ไม่เห็นว่าท่านเป็นพระอลัชชี

อาตมาตอบท่านว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายค่อนข้างเป็นพระอลัชชีไปแล้วมิใช่หรือ พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามิได้ยกเว้นเจ้าคณะแขวงให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยมิใช่หรือ ใครต่อใครก็ตาม ครั้นเมื่อบวชแล้วก็มีศีลสังวร ๒๒๗ ข้อเสมอภาคกันมิใช่หรือ หรือท่านยกเว้นที่ไหนบ้าง

ท่านสมุห์จึงพูดว่า ขี่ม้าเท่านั้น จับเงินขายทอง และซื้อของบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น จะขาดความเป็นสมณะด้วยหรือเณร

อาตมภาพตอบว่า ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วยเหตุแห่งการเบียดเบียนสัตว์อื่นนั้นเอง ดังมีในภาษิตว่า นะ หิ ปัพพชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต แปลว่า ผู้ฆ่าสัตว์อื่นเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย ดังนี้ครับ

ท่านโกรธใหญ่ว่า ถ้าเช่นนั้นเณรก็คงเหมาพระทั้งหมดไม่ชื่อว่าเป็นสมณะทั้งนั้นใช่ไหม ?

อาตมภาพตอบว่า ผมไม่ได้เหมาใครเลย เป็นแต่ผมแสดงธรรมไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ท่านสมุห์ภัยจึงพูดขึ้นว่า เรื่องอื่นมีถมไป ทำไมเณรไม่เทศน์ ทำไมเณรจึงเทศน์เรื่องส่อเสียดพระเจ้าพระสงฆ์

อาตมภาพตอบว่า อันที่จริงผมต้องการประกาศศาสนา ในเรื่องนี้ผมพิจารณาเห็นว่า ผู้บวชในศาสนาทุกวันนี้ถือกันเป็นแค่เจ้าลัทธิเท่านั้น สำคัญว่าได้บวชแล้วก็เป็นตัวบุญเท่านั้น คือถือเอาแค่ลัทธิศีรษะโล้นห่มผ้าเหลืองเท่านั้น เป็นอันว่าสำเร็จในการบำเพ็ญบุญมาแล้ว ก็ประพฤติผิดพระธรรมวินัยไปต่าง ๆ เพราะสำคัญว่าเราเป็นพระแล้ว ทำไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะใครเขาคงจะไม่อาจว่าเราได้ง่าย ๆ เพราะเราเป็นพระ ถ้าเขาดูหมิ่นเราโดยเหตุเล็กน้อยเท่านั้น เขาก็กลัวบาปเพราะเราเป็นพระแล้ว ข้อนี้แหละเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อม ฝ่ายพระก็ทนงตัวว่าเราเป็นพระ ใครไม่อาจดูหมิ่นเราได้ ฝ่ายโยมเห็นความผิดของพระก็ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวเป็นบาปนี้เอง ทั้งฝ่ายพระก็ไม่มีความละอายกลายเป็นพระอลัชชี ทั้งฝ่ายโยมก็เห็นผิดกลายเป็นเดียรถีย์ ต่างก็พากันมาสำคัญลัทธิที่ผิด ๆ เท่านี้ว่าเป็นบุญกุศล มิได้ประพฤติหาความจริงของพระพุทธศาสนา ต่างก็มาสำคัญว่าเป็นปฏิปทาของพระพุทธศาสนาหมด วิธีทำกันเท่านั้นแล้วก็นอนใจอยู่ มิหนำซ้ำยังประพฤติย่ำยีพระพุทธศาสนาให้ถึงแก่ความคร่ำคร่าลงไป จะได้นามว่าพุทธบริษัทคือหมู่เหล่าของท่านผู้รู้วิเศษอย่างไรได้
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #24 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:13:56 »

ถูกเจ้าคณะจังหวัดกักตัว

ต่อนั้น ฝ่ายคณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์ มีท่านพระครูสังฆปาโมกขทวาจารย์ เป็นประธานกักตัวของอาตมภาพแล้วยื่นคำร้องมาเรียน พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี (คือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร) เมื่อท่านดำรงค์สมณศักดิ์เป็น พระโพธิวงศาจารย์ อยู่จังหวัดนครราชสีมา หาว่าอาตมภาพดูหมิ่นผู้ประพฤติพุทธศาสนาทั่วไปในสังฆมณฑล ตกลงเวลานั้นถูกกัก พร้อมทั้งการไต่สวน อยู่ที่นั้น ๑ เดือนกับ ๑๔ วัน พระสงฆ์ในจังหวัดกาฬสินธุ์อุทธรณ์ ๒ ครั้ง หมายว่าจะให้ฉิบหายจากศาสนาเลย ทั้งบังคับให้สึก ขู่เข็ญหลายอย่าง หลายประการ

อาตมภาพปฏิญาณตนว่า เมื่อชีวิตนี้ยังอยู่ตราบใด จะไม่เปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากกาย หากท่านทั้งหลาย จะสึกผมแล้ว จงทำศีรษะของผมให้ขาดออกจากร่างกายนี้เป็น ๒ ท่อนก่อนจึงค่อยเปลื้องผ้าเหลืองออก จึงจะเป็นอันสึก หากดวงชีวิตนี้ยังอยู่ อย่าเลย ท่านทั้งหลายเอ๋ย ในชีวิตนี้เป็นไปไม่ได้เสียแล้วในการสึกของผม ถึงไหนถึงกัน หากจะล้างผลาญชีวิตของผม ให้ตายลงวันนี้ก็ยอมตาย หากจะให้สึกไม่ย่อมสึกเป็นอันขาด ในชีวิตนี้ ท่านทั้งหลายต้องการอย่างไรทำไปเถิด หากผมไม่ได้มอบชีวิตนี้ถวายแก่พรหมจรรย์แล้ว ที่ไหนผมจะมาแสดงในข้อว่าท่านทั้งหลายประพฤติค่อนข้างเป็นอลัชชี ท่านทั้งหลายจงฟังดูเถิด คำพูดอันนี้เป็นคำพูดหมิ่นพระอลัชชีโดยตรงอยู่แล้ว ท่านทั้งหลายเห็นใครอื่นเขาพูดกันไหม เพราะเขากลัวผิดกลัวตายกันอยู่ จึงช่วยนิยมความประพฤติผิดพระธรรมวินัยเป็นถูกนิยมกันอยู่เท่านั้น ส่วนผมเล่าเอาเถอะ ในชีวิตนี้จะตายลงวันไหนก็ตาม ขอแต่ได้ประพฤติพระธรรมวินัยให้เป็นไปอยู่ และได้นำความจริงของศาสนามาประกาศตามเป็นจริงอยู่เช่นนี้ ผมมิได้ห่วงในชีวิต อันทำกิจของพรหมจรรย์ให้เป็นไปอยู่ เพราะผมได้มอบชีวิตแล้วแก่พรหมจรรย์อย่างแน่นแฟ้น เรื่องของศาสนานี้ ผมมิได้หวาดหวั่นแล้ว อย่าหาว่าแต่ ท่านทั้งหลาย จะมาขู่ให้ผมสึก หรือให้เห็นตามข้อประพฤติที่ผิด ๆ ของท่านทั้งหลายมิได้มี และท่านทั้งหลายเอ๋ย คนเช่นผม ถ้าไม่แน่นอนในใจแล้ว ทั้งไม่ประพฤติ ทั้งไม่พูดในเรื่องนั้น ๆ ถ้าประพฤติหรือพูดลงแล้ว ยอมสละชีวิตลงแทนคำพูด และความประพฤติของตน อย่างเด็ดหัวตัวขาดทีเดียว คำพูดทั้งหมดที่ผมแสดงไปว่า พระทั้งหลายเป็นอลัชชี โยมทั้งหลายกลายเป็นเดียรถีย์ ข้อนี้นั้นผมเผดียงหาตัวพระอลัชชี เท่านั้น มิใช่ผมพูดด้วยความเห่อเหิม ของคนนับถือเท่านั้น บัดนี้ ผมขอประกาศอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ตัวผมเองได้มองเห็นมลทินของศาสนา คือ พระเณรประพฤติไม่เป็นธรรมแล้ว แต่ครั้งผมจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ จึงได้เที่ยวธุดงค์ออกมาเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา ทั้งเผดียงหาตัวพระอลัชชี พึ่งมาพบ เมื่อเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ในจังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง ก็ชอบกลอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเกิดก็เกิดเดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ตั้งใจจะทำกิจของศาสนา ก็มีการ อันถึงพร้อม ในกำหนดอันเดียวกัน บางที ต่อไปข้างหน้าหากชีวิตของข้าพเจ้ายังตั้งอยู่ไปนาน อาจจะบริหารพระพุทธศาสนานี้ ให้เป็นยุค เป็นธรรม ก็อาจเป็นได้

นี่แหละฟังดูเถิดท่านทั้งหลายเอ๋ย ความตั้งใจของผมได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ ที่ไหนผมจะหวั่นไหว ต่อความกระทบกระทั่งของท่านทั้งหลาย ด้วยฝีปากเท่านั้น มิได้มีเลยแม้แต่ชีวิตนี้ผมก็ได้สละลงแล้ว เพื่อกิจของศาสนาอันมีคุณานุภาพอันยิ่งใหญ่ไพศาล

*****************************************************
(ช่วงหลังแนบไฟล์รูปแล้วโพสท์ไม่ขึ้น ก็เลยลงแต่ข้อความครับ)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #25 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:15:10 »

อุบายแนะนำของอาจารย์


ครั้นเมื่ออาตมภาพหยุดพูดนิ่งอยู่ ฝ่ายคณะสงฆ์ก็เขียนคำร้องอุทธรณ์มาเป็นครั้งที่ ๒ ผลที่สุดพระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่อยู่วัดบรมนิวาสทุกวันนี้ จึงตัดสินใจให้ตัวอาตมภาพลงไปชำระที่จังหวัดนครราชสีมา อาตมภาพจึงมีจดหมายไปเรียนท่านอาจารย์สิงห์ และอาจารย์มหาปิ่น พร้อมกับท่านพระครูวิเศษสุตคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ตกลงท่านอาจารย์สิงห์และอาจารย์มหาปิ่นก็ลงมาแก้ไขช่วยที พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี ที่จังหวัดนครราชสีมา ตกลงท่านก็ตัดสินยกเลิก และเรียกเอาตัวของอาตมภาพ กลับไปอบรมปฏิปทา ของศาสนาในสำนักของท่านอาจารย์สิงห์และท่านอาจารย์มหาปิ่นอีก ครั้นเมื่อกลับมาถึงสำนักของท่านอาจารย์สิงห์แล้ว ท่านก็แนะนำอุบายให้ว่า บัดนี้คณะปฏิบัติยังไม่มีความกล้าหาญเสมอภาคกัน ยังเริ่มริอยู่ จงปฏิบัติเรื่อย ๆ ไป ต่อเมื่อได้มีกาลอันถึงพร้อมจงทำกัน หากไม่มีโอกาสอันเหมาะแล้ว จงแสวงหาความพ้นทุกข์โดยส่วนตัวนั้นเถิด เพราะเวลานี้พวกปฏิบัติยังอ่อน เท่ากับกำลังหว่านข้าวกล้าลงในนานั่นเอง

ครั้นเมื่ออาตมภาพได้รับโอวาทท่านแล้ว จึงขอลาท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาฝายพญานาค ในพรรษานั้น ตั้งใจบำเพ็ญความสงบส่วนตัว ก็นับว่าได้ความสบายใจ มิได้มีอุปสรรคอันหนึ่งอันใดเลย

ถ้าสึกจะมอบสมบัติและลูกสาวให้


ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว เที่ยวธุดงค์ไปทางจังหวัดมหาสารคาม ไปพักอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่ง ยังมีคนตระกูลหนึ่งเขาเป็นคนมีทรัพย์พอสมควร เขาก็นิมนต์ให้พักอยู่ที่ป่าช้าได้ ๒๐ วัน แกคนนั้นเป็นคนเข้าออกปฏิบัติทั้งแม่ทั้งลูก

ครั้นต่อมาโยมคนนั้นจึงเล่าความเป็นมาของเขาว่า ผมก็แก่แล้ว การไปมาก็ไม่สะดวก และผมเป็นทุกข์อยู่อย่างหนึ่งคือ หากผมตายลงไป กลัวจะไม่มีใครจะพาลูกของผมอยู่ เพระผมมีลูกสาวคนเดียวเท่านั้น ทรัพย์สิ่งของก็มากมาย ไม่รู้ว่าใครจะมาช่วยรักษาและพาลูกของผมอยู่กินไปล่วงหน้า คนโดยมากไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เป็นแต่นักเล่นถั่วเล่นโป และนักเลงสุรา หากจะเอาคนพวกนั้นมาปกครองรักษาทรัพย์ ก็เป็นอันว่าถึงความฉิบหายเท่านั้น ท่านคุณเณรก็ยังดูน้อยยังหนุ่มนัก ขอให้อยู่ไปนาน ๆ ก่อน อย่าไปเที่ยวไปทางอื่นอีก หรือหากจะสึกออกมา พ่อก็จะมอบสมบัติให้ครอบครอง ดังนี้

ต่อไป อาตมภาพก็นั่งนิ่งอยู่มิได้พูดคำหนึ่งคำใด ทำดุจกับว่านั่งสมาธิ ดูเหมือนว่าแกคนนั้นมีความละอายขึ้น แล้วก็ลากลับขึ้นบ้าน ครั้นเมื่อคำลงวันนั้นอาตมภาพจึงพิจารณาต่อไปว่า บัดนี้เรามีอายุเพียง ๒๐ ปีเท่านั้น บัดนี้เราหนุ่มนักจะอยู่ในศาสนาตลอดชีวิตไหม ครั้นพิจารณาเช่นนี้ก็รู้สึกขึ้นทันทีว่า บัดนี้จิตของเราเอนเอียงเป็นไปตามความชักนำของโยมคนนั้น ครั้นระลึกขึ้นได้ ทำความประดุจหนึ่งว่า ขู่จิตของตนว่าแม้เราปฏิบัติหาทางพ้นทุกข์เป็นเวลา ๗ ปี นี้เรื่องการอะไรหนอจะมาสงสัยกับมาตุคามอยู่เช่นนี้ อย่าเลยนะสถานที่นี้เป็นอัปมงคลแล้ว เราควรหนีเสียเดี๋ยวนี้แหละดีกว่า ครั้นพิจารณาแล้วก็หนีไปในกลางคืนวันนั้น

ครั้นเดินไปตามทางกลางคืน วันนั้นตั้งใจพิจารณาว่า เจ้าอวิชชาอยู่ลุ่มลึกนัก หากมาทำความวิจิกิจฉาสงสัยขึ้นมิเข้าเรื่องเข้าการ อย่าเลยนะเราจะต้องเข้าป่าช้าเข้ารกเพื่อดัดสันดานความลุ่มหลงตอนนี้ให้แยบคายลงไป

IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #26 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:17:14 »

๗ วันฉันข้าว ๑ หน


ครั้นเมื่อพิจารณาตกลงเช่นนั้นก็เที่ยวไปหาที่สงบอีก ๕ วัน ถึงแม่น้ำโขงแล้วก็เดินไปตามภูเขา อาศัยบิณฑบาตฉันตามบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ตามชายเขา อีก ๓ วันถึงภูเขาคง แขวงเมืองคำทองก็พักทำความเพียรอยู่ถ้ำแห่งหนึ่งชื่อถ้ำสองห้องและพักจำพรรษาอยู่ที่นั้น ในกลางพรรษานั้นบำเพ็ญทรมานอดข้าว ๗ วัน ฉันหนหนึ่งจนตลอดพรรษา ในเดือนแรกนึกว่าชีวิตนี้จะตั้งอยู่ไม่ตลอด ๓ เดือน เพราะมีอาการเหน็บชา ไปทั่วร่างกาย ครั้นถึงวันคำรบ ก็ฉันข้าว ขณะที่ฉันลงไปประมาณครึ่งอิ่ม เกิดอาการอยากนอนขึ้น ครั้นฉันจนอิ่ม ก็มีอาการมืดหน้ามืดตา ถึงจะลืมตา อยู่ก็มองไม่เห็นอะไร มืดไปหมดถึงจะลืมตาดูตะวันก็ไม่เห็นตะวัน เป็นแต่จะนอนเสียให้ได้ นอนอิ่มหนึ่งแล้วตื่นนอนขึ้นมาแล้ว จึงมองเห็น อะไร ต่ออะไรได้

ครั้นต่อมาเดือนที่ ๒ ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไป คือ ๗ วันฉันหนหนึ่งถึงวันคำรบ ๗ แล้วก็ออกบิณฑบาตมาฉัน ครั้นฉันก็มีรสดี แต่ฉันมากไม่ได้ ถ้าฉันมากอาเจียนเสียหมด แต่ไม่ถึงกับมืดหน้ามืดตาอย่างก่อน ต่อนั้นก็อุตส่าห์บำเพ็ญต่อไประหว่าง วันไหนยังไม่ถึงวันกำหนดฉัน ตื่นขึ้นแต่เช้า รู้สึกเหน็บชาขึ้นแต่ปลายเท้าจนถึงหนังศีรษะ ครั้นต่อไปจนตลอดพรรษา ส่วนร่างกายรู้สึกซีดผอมเหี่ยวแห้งมาก ออกพรรษาแล้วก็กลับฉันทุกวันได้ ๑๖ วัน ปรากฏว่าเหงื่อซึมปลายเท้าปลายมือและริมฝีปาก ส่วนผิวหนังยังยุบเหี่ยวเปราะลอกออกได้ยาว ๆ ตามหลังมือหรือศอกแขน ผิวหนังที่ลอก ออกมามองส่องตะวันเห็นรูขนเป็นแถว ๆ ได้พิจารณาเป็นอนิจจังว่าดวงชีวิตยังตั้งอยู่ภายในกายนี้ แต่ผิวหนังที่ลอกออกมานี้ เขาตายไปแล้วจาก ความอยู่แห่งชีวิต ครั้นพิจารณาดังนี้ก็เกิดความสังเวชขึ้น รู้สึกจิตดิ่งลงไปตั้งอยู่ปกติ

ต่อไปนั้นก็พิจารณาความสงบอันนั้นให้นิ่งอยู่ นิมิตปรากฏเห็น ช้างสารใหญ่ทั้ง ๒ ตัว เข้ามาจับตัวอาตมภาพขึ้นนั่งบนหลังแล้วพาขึ้นไปบนภูเขาสูง ๆ แล้วคว้าเอาผ้าไตรจีวร มาวางลงไหล่ขวา แห่งอาตมภาพ แล้วยกลงวางไว้ที่บนก้อนหินที่เป็นยอดภูเขา ต่อนั้นก็รู้สึกตัว ก็ยังนั่งสมาธินิ่งอยู่ที่ก้อนหิน ต่อนั้นก็พิจารณาต่อไป นี้เรื่องอะไร ได้คำตอบความว่า การอุปสมบทเป็นพระของเรา จะเป็นผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ท่านจะโปรดอนุเคราะห์

ต่อนั้นอาตมภาพก็เที่ยวธุดงค์มาจากเมืองคำทอง แดนของฝรั่งเศส เรื่อยมาถึงกรุงเทพฯ นี้ เมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ครั้นมาถึงในวันนั้น พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนีจึงเรียกเข้าไปถามว่า “เณรนี้หรือถูกเจ้าคณะแขวง จังหวัดกาฬสินธุ์กักตัว” อาตมภาพก็รับตามเป็นจริง ท่านจึงจับไปดูลายมือ ลักษณะที่มีอยู่บนฝ่ามือ แล้วท่านก็สั่งว่า จงหัดขานนาคเสีย

อุปสมบท


 
เจ้าจอมมารดาทับทิม
"ท่านที่วัง"
 
พอใกล้อุปสมบทแล้ว ครั้นวันหนึ่ง ท่านก็สั่งไปกับแม่ชีเป๋าว่า เรียนท่านที่วังให้ทราบว่า อาตมาจะบวชพระรูปหนึ่ง หวังว่าคงไม่เหลือวิสัย ต่อนั้น คุณเป๋าก็มาเรียนพระเดชพระคุณท่านที่วัง ก็รับอนุเคราะห์จัดการสมณบริขาร อุปสมบทอาตมภาพเป็นภิกษุขึ้นในศาสนา เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ใน พ.ศ. นั้น

ครั้นบวชแล้วก็อยู่ในกรุงเทพฯ นี้ไม่กี่วัน เดือน ๕ ข้างแรม ท่านเจ้าคุณนำตัวของอาตมภาพกลับที่โคราช อาตมภาพได้จำพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมานั้น

ครั้นออกพรรษาแล้ว อาตมภาพก็เที่ยวลงมาทางพระบาทสระบุรี เตลิดเข้ามาที่กรุงเทพ อยู่ ๘ วัน อาตมภาพก็ขอเจริญพร ลาพระเดชพระคุณ โปรดช่วยอนุเคราะห์ค่าโดยสารรถ เสร็จแล้วอาตมภาพก็กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันกับอาจารย์สิงห์ที่โคราชอีก ในระหว่างกลางพรรษาที่ ๒ เกิดโรคเหน็บชา อ่อนเพลีย บางวันก็ออกไปบิณฑบาตไม่ได้ บางวันก็ไปได้ นึกว่าหายาที่ไหนมาฉันก็ไม่หาย นึกรำคาญใจขึ้นมา ก็นึกว่าจะไม่ฉันอาหาร เสียเลย ให้มันตายเสียดีกว่า จะอยู่เป็นทุกข์ไปหลายวัน ครั้นพิจารณาตกลง

(ยังมีต่อเล่ม ๒ แต่หาต้นฉบับได้แต่เพียงเล่ม ๑ เท่านั้น)

หมายเหตุ : "เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บันทึกของท่าน มีอันเป็นต้องจบลงกลางคัน เพราะท่านอาพาธและถึงแก่มรณภาพในที่สุด ณ วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนครนี่เอง ราวพ.ศ. ๒๔๘๑"

IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #27 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:24:56 »

ประวัติพระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน

โพสท์ในลานธรรมเสวนาโดยคุณ : deedi [ 3 ก.พ. 2544 ]



คำนำของคุณ deedi

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

หนังสือ 'เที่ยวกรรมฐาน' เป็นอัตตชีวประวัติ ของ พระบุญนาค โฆโส หนังสือเล่มนี้ 'สัจจธรรมภิกขุ' ได้จัดพิมพ์เป็นไฟล์เอาไว้ เพื่อเก็บเป็นหนังสืออิเล็คโทรนิคส์ไว้บนอินเทอร์เน็ต (http://www.geocities.com/easydharma/ebk_bng.html) เพื่อประโยชน์ในทางธรรม ในวงกว้าง แก่ผู้สนใจปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ที่สุดในสังสารวัฏนี้ กล่าวคือ ปาฏิหาริย์ทางปัญญา ปาฏิหาริย์ที่ประกอบไปด้วยปัญญาและความเพียร วิริยะ อุตสาหะ ปาฏิหาริย์แห่งการตั้งใจมั่น ตั้งจิต ตั้งเข็มทิศที่แน่วแน่ของพระบุญนาค โฆโส ที่มุ่งกระทำกายวาจาและใจ ให้พ้นจากข้าศึกคือกิเลส เดินตามทางเส้นตรงลัดสั้น ที่ตัดตรงไปสู่การออกจากทุกข์ โดยไม่ใส่ใจแวะเวียน หรือนำพาต่อสิ่งอื่นใด อันมิใช่เส้นทางที่ตรงลัดสั้นที่สุด ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า คือ 'สติปัฏฐานสี่' เลย

۩8bcbcbcacbcbcbcacbcbcbcacbcbcbcaccbcbca8۩

ปาฏิหาริย์นั้น หากเป็นเรื่องที่ข้องด้วยโลก ข้องด้วยกิเลส ทั้งปวง พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ ทางแห่งความรู้ คือ รู้โลก รู้ทุกข์ รู้กิเลส รู้ออกจากทุกข์ ดังจะขอคัดคำนิยามจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับ ประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก มาดังนี้ ปาฏิหาริย์ สิ่งน่าอัศจรรย์ เรื่องที่น่าอัศจรรย์ การกระทำที่ให้บังเกิดผล เป็นอัศจรรย์ มี ๓ คือ

(๑) อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์

(๒) อาเทศนาปาฏิหาริย์ ทายใจได้เป็นอัศจรรย์

(๓) อนุสาสนียปาฏิหาริย์ คำสอนมีผลจริงเป็นอัศจรรย์

ใน ๓ อย่างนี้ ข้อสุดท้ายดีเยี่ยมเป็นประเสริฐ

หนังสือ 'เที่ยวกรรมฐาน' โดย พระบุญนาค โฆโส นี้ เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ แต่เป็นปาฏิหาริย์ ทางธรรม ปาฏิหาริย์ทางปัญญา ของผู้มีจิตมุ่งมั่นแน่วแน่ ของผู้ทราบความต้องการของตน มุ่งแผ้วถางทาง สู่การพ้นทุกข์มานาน แนวคิด วิธีคิดของท่านและ การดำเนินมุ่งไปสู่หนทางนี้ของท่าน จึงเต็มเปี่ยม ไปด้วยปัญญาอันมุ่งสู่การหลุดพ้น อันน่าศึกษา น่าพิจารณาตามยิ่งนัก

พระบุญนาคฯ อยากออกบวชตั้งแต่อายุได้เพียง ๖ ขวบ และในหนังสือนี้ ท่านออกธุดงค์ทำความเพียร เพื่อความหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา อุปาทาน ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

ในระหว่างการเดินธุดงค์ มีอุปสรรคทั้งภายในและภายนอก ที่พระบุญนาคต้องเผชิญหรือประสบอยู่มากมาย อาทิ ความกลัว (กลัวผี กลัวเสือ) ความไม่เข้าใจจากผู้คนในรายทางที่ท่านต้อง ผ่าน ฯลฯ

ทุกครั้ง พระบุญนาคใช้ปัญญา พิจารณาธรรม วิเคราะห์เหตุการณ์ และแก้ไขสถานการณ์ เพื่อไม่ให้ตนต้องตกอยู่ในกับดักของกิเลส หรือปัญหาเหล่านี้

ทั้งการใคร่ครวญวิเคราะห์กับตนเองและการสอนธรรมให้ธรรม กับผู้คนที่ท่านต้องผ่านพบไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงผู้ที่ เจริญไปด้วยปัญญา ใช้ปัญญาสอนตนสอนท่าน(คือผู้อื่น อย่างตรงประเด็นและคมยิ่งทางปัญญา)

ธรรมะในหนังสือเล่มนี้ เป็นธรรมะปฏิบัติ เป็นธรรมแห่งปัญญา แท้ๆ เป็นปาฏิหาริย์ทางปัญญาอันพระบุญนาคใช้สอนตนและ ยังได้สอนผู้ที่ได้มีโอกาสได้พบกับท่าน ฟังธรรมหรือเห็นการ แสดงธรรมไม่ว่าทางวาจาหรือการกระทำตนให้ประจักษ์ของท่าน ทั้งหมดนี้ ล้วนชวนขบคิดให้เกิดปัญญายิ่งๆ และยังให้แนวทาง แก่ผู้มุ่งปฏิบัติ มุ่งสำรวจตัวเอง สำรวมกาย-วาจา-ใจ เพื่อการลด-ละ- เพื่อการทุเลาเบาบางจากกิเลส เพื่อการไม่ข้องด้วยหมู่คณะ และสุดท้ายเพื่อมุ่งรู้จักกิเลสและออกจากกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง



คำนำของ “สัจจธรรมภิกขุ”

ตามที่โพสท์ไว้ในห้องสมุดพันทิพ

ขอเจริญพร

อาตมาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้นอาจจะเป็นความประทับใจครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นการอ่านแบบสนุก ๆ แบบเด็กอ่านนิทาน ก็ตามที แต่เมื่อย้อมมาดูขณะนี้ในวันแล้ว หนังสือ อันเป็นประวัติของพระอาจารย์บุญนาคนั้นมีอิทธิพล กับวิถีชีวิตของอาตมามาตลอด ในยามที่ท้อกับชีวิตนักบวชเมื่อได้อ่านหรือนึกถึงประวัติ ของท่านแล้ว ทำให้อาตมามีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตแบบ นักบวชต่อไป ด้วยความคิดที่จะเอาแบบท่านเมื่อครั้ง อ่านประวัติครั้งแรก แม้ว่าระยะเวลาที่ผ่านไปนั้น จะยังไม่ได้กระทำอย่างที่ตั้งใจไว้เดิมก็ตาม แต่ก็ไม่เคย ลืมเลือนความทำใจความตั้งใจที่มีอยู่ก่อนนั้นเลย

เมื่อได้อ่านหนังสือเล่ม ๑ แล้วพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า เนื้อหาสาระสำคัญนั้น พระอาจารย์บุญนาคท่านได้นำ มาลงไว้ในเล่มหนึ่ง ไว้เกือบหมดแล้ว ตั้งแต่ชีวิตเยาว์วัย จนกระทั้งผ่านการเดินธุดงค์มาหลายปี ท่านก็ได้นำมาเล่าในเล่มหนึ่งหมดแล้ว ส่วนเล่มต่อไปนั้นอาตมาก็ยังไม่เคยอ่านเหมือนกัน แล้วก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าเคยอ่าน เล่มสองมาแล้ว ถ้าได้คุยกับคนที่อ่านเล่มสอง อาตมาก็จะสอบถามว่าท่านพระอาจารย์บุญนาค ท่านได้เล่าอะไรต่อ ๆ อีกแต่เสียดายที่ไม่มีให้อ่าน และก็ไม่ทราบว่าใครเคยอ่านมาบ้าง

ขอเจริญพร.

จากคุณ : สัจจธรรมภิกขุ - [3 ก.พ. 21:21:46]


--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็นเพิ่มเติมโดย : (สัจจธรรมภิกขุ)

ฉบับที่อาตมาได้นำมาพิมพ์ออกเผยแพร่นั้น เป็นฉบับเดียวกับของมหากมุฏฯ โดย...พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

ก่อนที่อาตมาจะนำออกมาเผยแพร่นั้น อาตมาได้ไปที่วัดโสมนัสวิหาร ซึ่งเป็นมีเจ้าพระคุณพระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งตอนนี้ท่านเป็น "พระธรรมวิสุทธิกวี" อาตมาไม่ได้ไปพบท่านหรอก แต่อาตมาไปพบกับพระที่รู้จักสนิทกันในคณะของ "พระธรรมวิสุทธิกวี" อาตมาได้ไปเห็นหนังสือที่ "พระธรรมวิสุทธิกวี" ได้จัดพิมพ์ขึ้น โดยจัดพิมพ์ ที่โรงพิมพ์มหามกุฎฯ อ่านก็บอกความประสงค์กับพระที่รู้จักกันว่าจะนำเอา ประวัติของพระบุญนาค โฆโส นี้เอาไปพิมพ์แล้วนำไปไว้ในอินเตอร์เน็ท เพื่อเป็นการเผยแพร่ พระรูปนั้นก็เห็นดีเห็นงามด้วย แม้ว่าท่านจะใช้เน็ทไม่เป็นก็ตาม ท่านจะให้หนังสือเล่มนี้แก่อาตมา เพื่อนำมาพิมพ์

จากคุณ : สัจจธรรมภิกขุ [ 5 ก.พ. 2544. ]


--------------------------------------------------------------------------------

ความเห็นเพิ่มเติมโดย (weerapong) [ 4 ก.พ. 2544 ]

เรื่อง"พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน" นั้นผมคิดว่าไม่น่าจะมีเล่มที่สองครับ ผมมีเล่มเล็กอยู่เล่มหนึ่ง บังเอิญเพื่อนเอามาฝาก เพราะเป็นแนวธรรมะ ที่เกี่ยวข้องกับอภิญญาจิต ในตอนต้นของหนังสือบันทึกไว้ว่า "เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่บันทึกของท่าน มีอันเป็นต้องจบลงกลางคัน เพราะท่านอาพาธและถึงแก่มรณภาพในที่สุด ณ วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนครนี่เอง ราวพ.ศ. ๒๔๘๑"
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #28 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:29:38 »

คำปรารภ


 
เจ้าจอมมารดาทับทิม
 
หนังสือ “ประวัติพระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน” ลงวันที่ ๑๖ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ พ.ศ. ๒๔๘๐ เผอิญมี พระเดชพระคุณท่านเจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช พร้อมด้วยคุณนายอ้นและโยมเข็ม ขอประวัติการณ์ความเป็นมาแล้วของอาตมภาพในเวลาหนึ่งโมงเช้า ๗ นาฬิกา ก่อนรับบิณฑบาต อยู่ ณ ที่ตำหนักในวังนั้น

ก่อนพระเดชพระคุณจะบัญชาให้เขียนประวัติความเป็นมาของอาตมภาพ ในเวลา ๙ ทุ่มวันนั้น (ตี ๓) ส่วนอาตมภาพกลับมาจากเดินจงกรม ในลานพระเจดีย์แล้วมาเข้าที่นั่งสมาธิในห้องได้รับปุพนิมิต เห็นบุรุษแก่คนหนึ่งมาประกาศชื่อของตนว่า โยมนี้มีชื่อว่า อะสะกรรมบุรุษ แล้วห้างกระแทะเทียมโค (ขี่เกวียนเทียมโค) แล้วว่านิมนต์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นนั่ง ครั้งเมื่ออาตมภาพนั่งเสร็จแล้วปรากฏว่า ณ ที่ทั้งปวงเกิดเป็นห้วงน้ำทั้งหมด บุรุษนั้นก็ขับกระแทะเทียมโค นำพาข้ามน้ำนั้นไป พอพ้นฝั่ง บุรุษแก่คนนั้นแสดงตนเป็นผู้มีฤทธิ์ เกิดแสงสว่างรอบตัวแล้วสั่งอาตมภาพว่า จงระวังกิจที่จะทำในวันต่อไป กลัวจะเป็นภัยแก่ท่าน ดังนี้


 
ภาพกระแทะเทียมโค
 
พอรุ่งเช้ามาเป็นเวลาย่ำรุ่ง ๓๐ นาที ก็ออกบิณฑบาต ครั้นไปถึงตำหนักที่พักของพระเดชพระคุณเป็นเวลาหนึ่งโมงเช้า พอนั่งลงประมาณสัก ๕ นาที พระเดชพระคุณท่านก็บัญชาขอให้เขียนประวัติการณ์ความเป็นมาของอาตมภาพตั้งแต่ยังรุ่นเยาว์ ครั้งแต่เป็นสามเณรเล็ก ๆ จนกระทั่งออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐานมาจนบัดนี้

ในประวัติความเป็นมาของอาตมภาพมีคนขอ ๒ ครั้งมาแล้ว แต่ยังมิได้เขียนให้สักคน ครั้งที่ ๑ ขุนอาจ กำนันอำเภอหยาดฟ้า ครั้งที่ ๒ ขุนประเทือง อุปราชเจ้าเมืองคำทอง แขวงดินแดนฝรั่งเศส ก็มิได้เขียนให้ บัดนี้เป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งพระเดชพระคุณบัญชาขอประวัติความเป็นมาแห่งอาตมภาพ อาตมภาพจำต้องลิขิตเขียนเรียนมาเพื่อพระเดชพระคุณทราบตั้งแต่ต้นจนอวสาน ในประวัติการณ์แห่งอาตมภาพ ดังรายละเอียดเรียนมาในสมุดเล่มนี้

                                                                                        พระบุญนาค โฆโส

                                                                                        ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๐


* เจ้าจอมมารดาทับทิม.jpg (7.17 KB, 200x281 - ดู 1608 ครั้ง.)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:38:34 โดย เมฆพัตร » IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #29 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:36:24 »

เกร็ดประวัติพระบุญนาค โฆโส

โดย หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม

วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด

จาก หนังสือที่ระลึกงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์สองหลวงปู่

วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด

บทที่ ๒๙ และ ๕๓

รศ.ดร.ปฐม - ภัทรา นิคมานนท์ เรียบเรียง


เที่ยวกรรมฐานกับพระอาจารย์นาค

 
พระบุญนาค โฆโส
“สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน”
หลังจากหลวงปู่บัวพระผู้บิดาของหลวงปู่เพ็ง อยู่ปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์คูณ ที่จังหวัดมหาสารคามแล้ว หลวงปู่เพ็งก็ออกเที่ยวกรรมฐานไปกับท่าน พระบุญนาค โฆโส หรือที่ หลวงปู่ท่านเรียกว่า อาจารย์นาค นั่นเอง

หลวงปู่เพ็ง เล่าถึงพระอาจารย์บุญนาคว่า

“ท่านเก่งเรื่องธุดงควัตรมาก ชำนาญป่า ป่าดงสมัยก่อนนั้นไม่มีโปร่งอย่างทุกวันนี้ มืดมิดจริงๆ ทางเดินนี่ไปเป็นช่องเท่านั้นแหละ แสงตะวันไม่ต้องมองหรอก เอาจริงนะสมัยนั้น”

จากบันทึกด้วยลายมือของหลวงปู่เพ็ง ท่านเขียนเล่าไว้ดังนี้

“...พอรู้ว่าสอบได้ ก็ลาอุปัชฌาย์ออกเดินธุดงค์จากสำนักเรียนเข้าร้อยเอ็ด เดินทางต่อถึงมหาสารคาม มีพระอาจารย์นาค โฆโส ก็เข้าศึกษาปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน

มีพระด้วยกัน ๔ รูป สามเณร ๑ รูป คือ พระมหาแก่นจันทร์ ประโยค ๖ พระอาจารย์นาค พระเพ็ง เมตโย พระพัน สามเณรสุวะ อยู่ไม่นานท่านก็พาเดินธุดงค์ไปถ้ำพระเวส จังหวัดนครพนม อำเภอนาแก แต่แยกกันไปทีละรูปสองรูป ไม่ได้ไปด้วยกัน ต่างคนต่างไป

มหาแก่นจันทร์ ไปรูปเดียว อาจารย์นาคไปกับสามเณร พระเพ็งไปกับพระพัน ไปพบพร้อมที่ถ้ำพระเวส ก่อนจะถึงถ้ำพระเวสก็ผ่านถ้ำภูค้อ ของอาจารย์สอนก่อน

อาจารย์นาค กับสามเณร ถึงก่อน พระเพ็ง พระพัน ถึงที่ ๒ มหาแก่นจันทร์ถึงทีหลัง พักอยู่ถ้ำพระเวส ภายใน ๑๐ กว่าวัน ก็เดินทางกลับทางจังหวัดขอนแก่น เดินทางธุดงค์หนึ่งเดือนจึงถึง

มาพักปฏิบัติธรรมอยู่ป่าช้าบ้านเหล่างา สักพักหนึ่ง ก็เดินทางต่อ ไปปฏิบัติธรรมอยู่วัดป่าชัยวัน บ้านสีถาน พักอยู่หลายวัน”

น่าเสียดายอย่างยิ่ง บันทึกของหลวงปู่ หมดลงเพียงแค่นี้

๕๓

พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของหลวงปู่

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้เล่าถึงครูบาอาจารย์ของท่าน ดังนี้

“สำหรับชีวิตของอาตมาที่ผ่านมาแล้ว อาตมาก็ได้ครูบาอาจารย์หลายองค์ พอจะลำดับได้ ดังนี้

พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานองค์แรกของอาตมา คือ พระบุญนาค โฆโส (สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน) อาตมาไปพบท่านที่จังหวัดมหาสารคาม วัดพูลศรีสารคาม เป็นชื่อวัดสมัยนั้น

พระอาจารย์บุญนาค นี่ ประวัติของท่านเดินธุดงค์มากมายทีเดียว (ท่านที่สนใจหาอ่านได้จากหนังสือสามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐานซึ่งพิมพ์แพร่หลายทั่วไป)

อาตมาได้ออกธุดงค์กับท่านมาก่อน การปฏิบัติของท่านนี้ดีที่สุดละ อาตมาเคยไปกับท่าน พอมาระยะหลังอาตมาได้แยกทางกับท่านในครั้งที่ท่านเดินธุดงค์ที่ฝั่งลาวโน่น ท่านเป็นคนอีสานหรือเปล่าไม่รู้ แต่ท่านก็พูดอีสานได้ดี

ภายหลังมีคนเล่าให้ฟัง อาตมาก็ฟังแต่ไม่เชื่อ เขาว่าพบท่านที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นนะ มีแม่หม้ายคนหนึ่งร่ำรวยมีห้องแถว แล้วมานิมนต์ท่านสึก จะยกห้องแถวให้ ถ้าไม่สึกจะได้มอบให้รัฐบาล ท่านก็บอกว่ายกให้รัฐบาลเสียเถิด

อยู่ต่อมาอีก มียายแก่ๆ คนหนึ่งในกรุงเทพฯ ขี้เหร่มาก กินหมากมีน้ำหมากไหลออกมามุมปากฟันก็เหยิน มีลูกสาวและลูกชายหน้าตาสวยงามโก้เก๋ ลูกสาวเป็นครู เงินเดือน ๘๐ บาท สมัยนั้นลูกชายนี่เป็นร้อยตรี แต่ก่อนไม่เคยเข้าวัด

ต่อมา พระอาจารย์บุญนาคนี่แหละ ไปได้ผ้าประเจียดของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล มาหนึ่งผืน เอามาให้ พอได้ผ้าแล้วลูกชายที่เป็นร้อยตรีไปสงครามอินโดจีน ขึ้นเครื่องบินไปต่อสู้กัน ลูกปืนข้าศึกยิงมาไม่ถูกเครื่องบินแม้แต่นิดเดียว พอกลับมาแล้วก็พากันมากราบพระอาจารย์บุญนาคกันทั้งบ้านนี่แหละ ทั้งแม่ ลูกสาว ลูกชาย

ปกติพระอาจารย์บุญนาค ท่านพูดตรงไปตรงมา เมื่อมาถึงท่านก็ทักถามว่า นี่ใครนะ ลูกสาวลูกชายหรือ ทำไมแม่ขี้เหร่แท้ ลูกสาวลูกชายโก้กว่า...

ก็ลูกสาวคนนี้แหละ ได้เข้ามาขอเรียนกรรมฐานกับท่าน ท่านอาจารย์บุญนาคพูดว่า ไม่ต้องหรอก เสียเวลา...”

(หมายความว่า ท่านคงรู้เจตนาซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง ดูตามประวัติแล้ว มีเรื่องหญิงสาวพยายามจะสึกท่าน มีเรื่องพ่อแม่พยายามจะยกลูกสาวให้หลายครั้ง ท่านต้องหาอุบายหนีเรื่องมีครอบครัวอยู่หลายครั้ง- ผู้เขียน)

“พระอาจารย์บุญนาคนี้ รูปร่างเหมือนผู้หญิง สูงโปร่ง เดินเหินนี่เหมือนช้างเดิน คลุมผ้านี่เรียบร้อย สง่ามาก กิริยางดงามจริงๆ

ส่วนเรื่องสอนพระกรรมฐานนี่ ไม่มีอื่นไกล สอนให้ตั้งสติกำหนดนิ่งอยู่สงบเท่านั้น

อาตมาอยู่กับท่านนานเหมือนกันนะ ตอนหลังอาตมาป่วยตั้งแต่ไปอยู่ถ้ำพระเวส ท่านก็เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ เลยไม่รู้ว่าท่านไปยังไงมายังไงต่อไป บางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่เวียงจันทน์ฝั่งลาว บางกระแสบอกว่าไปเสียชีวิตที่บ่อศีรสมภาร

นี่อาจารย์องค์แรกในการสอนปฏิบัติให้อาตมา”



* พระบุญนาค โฆโส (สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน).jpg (9.71 KB, 200x345 - ดู 1481 ครั้ง.)

* หลวงปู่เพ็ง พุทธะธัมโม วัดป่าสามัคคีธรรม อำเภอเมือง ร้อยเอ็ด.jpg (31.64 KB, 200x271 - ดู 1568 ครั้ง.)
IP : บันทึกการเข้า
เมฆพัตร
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,027



« ตอบ #30 เมื่อ: วันที่ 09 มีนาคม 2012, 17:54:12 »


 เรื่องเล่าบันเทิงธรรม : พระบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน  ก็มีอันต้องจบลงเท่านี้ ขออนุโมทนา กับทุกท่านที่เข้ามาอ่าน หวังว่าจะได้ความบันเทิงและแง่คิดธรรมะดีๆไปบ้าง ไม่มากก็น้อย

                                                         ขอคุณงามความดีจงเกิดมีกับทุกท่าน

ลิงค์ข้อมูล

http://www.dharma-gateway.com/monk-pra-boonak-index-page.htm
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!