
ขอบคุณครับ สำหรับข้อแนะนำ ผมก็คิดแบบคนรุ่นใหม่ที่รักเชียงราย รักประวัติศาสตร์ที่บริสุทธิ์ของเชียงราย หากไม่ถูกใจใครบ้างก็ขออภัย แต่เอาคำพูดของผมไปคิดให้ดีๆ ก็แล้วกัน อย่าเอาแต่ตัวกูเป็นที่ตั้ง ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะครับ
ไม่รู้ว่า เรื่องกำแพงเมืองเชียงแสน เข้ามาสู่เรื่องนี้ได้งัย
ขอใช้
สิทธิ์พาดพิง นะครับ ตัวผมเป็นคนชอบทำตัว
ไม่ควํ่าแก้ว อยู่เสมอๆ ไม่มีอัตตา หรือเอาตัวเองเป็นที่ตั้งแต่อย่างไร พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและความรู้ไม่เคยหยุด ......ขอบพระคุณที่ชี้แนะ
ลองมาดูเกร็ดประวัติศาสตร์ล้านนาสักนิด ถึงที่มาของ
สกุลเชื้อเจ็ดตน ผู้ครองเมืองทางล้านนายุคหลัง ๆ อ่านดูแล้วช่วยวิพากษ์ด้วยครับ
เกร็ดประวัติศาสตร์ล้านนา โดย....วิทยา ยะเปียง /ลำปาง ในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา นครเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่า ส่วนลำปางเป็นนครรัฐอิสระ กระทั่งท้าวหนานมหายศ เจ้าเมืองลำพูนยกทัพมาตีชนะเมืองลำปาง และตั้งศูนย์บัญชาการที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ส่วนทางเชียงใหม่มีเจ้า องค์ดำ (องค์นก) พยายามรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่า แต่ทางลำปางนั้นยังไม่มีเจ้าเมืองปกครองมีแต่ ขุนเมืองรักษาเมืองไว้ 4 คน คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือนและจเรน้อย ขุนเมืองทั้ง 4 ไม่มีความสามารถจะต่อสู้กับพม่า เพราะมุ่งแต่จะแก่งแย่งอำนาจกัน ความเดือดร้อนต่างๆ ของราษฎร
ร้อนถึงพระภิกษุเจ้าซึ่งในสมัยนั้นถือว่าพระภิกษุมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเป็นผู้มีความรู้ ประชาชนให้ความเลื่อมใสนับถือเป็นอย่างมาก ได้แก่ พระภิกษุวัดนายาง (นายาบ อยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง) พระภิกษุรูปนี้กล่าวกันว่าแกร่งกล้าด้วยวิทยาคมมีความรู้ทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ท่านมีลูกศิษย์ที่เลื่อมใสจำนวนมาก จึงได้เข้าร่วมกับพระภิกษุวัดสามขา วัดบ้านฟ่อนโดยการลาสิกขาออกมาเพื่อกู้บ้านกู้เมืองจากพม่า แล้วรวบรวมผู้คนตั้งตนเป็นอิสระซึ่งขุนเมืองทั้ง 4 ที่รักษาเมืองลำปางอยู่ไม่สามารถจะปราบปรามได้
ครั้นข่าวตั้งตนเป็นอิสระเป็นเหล่าเพื่อต่อสู้พม่าทราบไปถึงท้าวมหายศ ซึ่งเป็นชาวพม่าที่มาครองเมืองลำพูน ก็ได้ยกกองทัพมายังนครลำปาง เพื่อจะมาปราบปรามพระภิกษุที่ลาสิกขาบทออกมารวมทั้งพรรคพวก เมื่อทราบข่าวการศึกสมภารวัดนายาง วัดสามขา และวัดบ้านฟ่อน จึงได้คุมสมัครพรรคพวกออกต่อสู้กองทัพท้าวมหายศ เมืองลำพูนโดยมิได้ย่อท้อ
การรบครั้งนั้นดุเดือดจนถึงขั้นตะลุมบอน ที่ตำบลป่าตัน กองกำลังฝ่ายสมภารวัดนายาง สู้กองทัพท้าวมหายศไม่ได้ก็แตกหนีไปที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พม่าตามไปล้อมไว้ ครั้นเวลาค่อนรุ่งสมภารวัดนางยางได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เหลืออยู่หนีออกจากวัดลำปางหลวงไปทางทิศใต้ กองทัพท้าวมหายศไล่ติดตามไปทันจึงเกิดต่อสู้กันอีกสมภารวัดนายางถูกกระสุนปืนของชาวลำพูนตรงระหว่างคิ้วล้มลง เสนาซ้ายขวาเข้าประคองก็ถูกกระสุนปืนล้มลงทั้งคู่
เสนาวัดบ้านฟ่อนถูกกระสุนปืนที่หางตา เสนาวัดสามขาถูกที่หัวเข่า ถึงแก่กรรมทั้ง 3 ท่านส่วนราษฎรที่เหลือ เมื่อเห็นหัวหน้าเกิดอันตรายจึงพากันหลบหนีไป พวกที่หนีไม่ทันก็ถูกทหาร ท้าวมหายศฆ่าตายจำนวนมาก เมื่อได้รับชัยชนะแล้วท้าวมหายศก็ยกทัพเข้ามาตั้งอยู่ในวัดพระธาตุลำปางหลวง แล้วจึงมีบัญชาให้ทหารออกไปเรียกเก็บเงินภาษีชาวบ้าน บังคับเอาข้าวของทรัพย์สินเงินทองเสบียงอาหาร เพื่อนำไปบำรุงกองทัพใครขัดขวางก็ลงโทษอย่างทารุณ
ส่วนผู้หญิงถูกฉุดคร่าไปเป็นนางบำเรอของทหารและแม่ทัพนายกอง ต่อมาท้าวมหายศหาทางเข้าปกครองเมืองลำปาง โดยการคิดหาอุบายฆ่า ขุนเมืองลำปางทั้ง 4 คน ดังนั้นจึงใช้ให้หาญฟ้าแมบ หาญฟ้าง้ำ และหาญฟ้าฟื้น นายทหารเอกซ่อนอาวุธเข้าไปเจรจาความเมืองกับขุนเมืองทั้ง 4 ของเมืองลำปาง คือ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือง และจเรน้อย รวมทั้งท้าวขุนทั้งหลาย พวกขุนเมืองที่รอดมาได้คือ ท้าวลิ้นก่าน จเรน้อย นายน้อยธรรม และชาวบ้านได้หนีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ประตูผา เมืองลอง เมืองจีบ เมืองต้า เมืองเมาะ เมืองจาง
เมืองลำปางครั้งนั้นจึงเป็นเมืองร้าง หาคนอยู่อาศัยไม่มีเพราะเกรงข้าศึกพม่าจะมาทำร้าย ในเวลาต่อมามีพระมหาเถรรูปหนึ่งอยู่วัดพระแก้วชมพู (วัดพระแก้วดอนเต้า) ขออาสาเข้าปราบพม่าจึงได้ปรึกษาหารือกับญาติโยม และสานุศิษย์ ทางญาติโยมทั้งหลายก็ขอนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดก่อน และให้ดูตำราไสยศาสตร์ เพื่อหาคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นหัวหน้าชาวบ้านแทน
พระมหาเถรวัด พระแก้วชมพูมองเห็นหนานทิพย์ช้างเป็นชาวบ้านคอกวัว มีอาชีพเป็นพรานป่า อยู่แถบข้างวัดศรีล้อม จังหวัดลำปาง (บางฉบับว่าเป็นชาวบ้านปงยางยก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง) เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด กล้าหาญ มีกำลังฝีมือเข้มแข็ง ทั้งชำนาญในการใช้อาวุธปืนให้เป็นผู้นำกำลังเข้าต่อสู้พม่า
แต่หนานทิพย์ช้างก็เกรงว่า ถ้าได้กู้บ้านเมืองแล้วจะมีปัญหาเรื่องการครองบ้านครองเมือง กับเจ้า ผู้ครองนครองค์เก่า จึงขอคำสัญญาจากชาวบ้านชาวเมืองและเจ้าผู้ครองนครองค์เก่าว่า ถ้าทำศึกชนะแล้วจะยกบ้านยกเมืองให้ครอง ชาวบ้านชาวเมืองก็พร้อมใจกันตกลง หนานทิพย์ช้างได้นำกำลังคน 300 คน ไปล้อมทัพท้าวมหายศที่วัดพระธาตุลำปางหลวง
กองทัพเดินทางไปถึงก็เป็นเวลาดึกสงัดแล้ว หนานทิพย์ช้างจึงวางกำลังคนอยู่เฝ้าจุดสำคัญของพวกพม่าแล้วลอบเข้าทางท่อระบายน้ำทิศตะวันตกของวัดพระธาตุลำปางหลวง (ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่) ปลอมตัวเป็นผู้ถือหนังสือจากเมืองลำพูนว่าเป็นหนังสือของชายาท้าวมหายศ และได้สืบถามจากทหารว่าท้าวมหายศเป็นผู้ใด ขณะนั้นท้าวมหายศ ทหารคนสนิทและนางบำเรอกำลังเล่นหมากรุกที่วิหารหลวง ในวัดพระธาตุลำปางหลวงอยู่
หนานทิพย์ช้างจึงทำทียื่นหนังสือให้แล้วถอนมาพอระยะจึงใช้ปืนยิงท้าวมหายศ ตายคาวงหมากรุก ซึ่งลูกปืนทะลุไปถูกกรงเหล็กที่ล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงไว้ (ปัจจุบันนี้ยังมีรอยเหลืออยู่) ทัพท้าวมหายศแตกกระจัดกระจาย ทหารถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก หนานทิพย์ช้างกลับมา ออกท่อระบายน้ำทางเดิมอีกครั้ง
ชาวเมืองลำ
ปางได้ตั้งชื่อให้เป็นเจ้าทิพเทพบุญเรือน เมื่อขับไล่ปราบกองทัพพม่าแตกพ่ายไปแล้ว พระมหาเถรวัดพระแก้วชมพู พร้อมด้วยประชาราษฎร์ชาวเมืองนครลำปาง (เมืองลคอร) พร้อมใจกันตั้งพิธีสรงน้ำมุรธาภิเษกให้หนานทิพย์ช้าง เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง ใน พ.ศ.2275 (จุลศักราช 1094) มีนามว่า เจ้าพระยาสุลวฤาชัยสงคราม เจ้าพระยาสุลวฤาชัยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ครองเมืองลำปางได้นาน 27 ปี พอปี พ.ศ.2302 (จุลศักราช 1121) ก็ถึงแก่ทิวงคตรวมอายุได้ 85 ปี มีโอรสธิดากับเจ้าแม่พิมพา (ปิมปา) รวมได้ 6 องค์คือ เจ้าอ้าย (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์) เจ้าชายแก้ว เจ้านางคำ เจ้านางคำปา เจ้าคำปอเฮือน (ตายในสนามรบ) และเจ้านางกม พระโอรสองค์สองคือ เจ้าฟ้าแก้ว ซึ่งเป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวที่เหลืออยู่ จึงได้ครองราชย์ต่อจากพ่อเจ้าทิพย์ช้าง เจ้าฟ้าแก้วมีโอรส 7 องค์ธิดา 3 องค์ ได้แก่เจ้ากาวิละ เจ้าคำโสม เจ้าน้อยธรรมลังกา เจ้าดวงทิพย์ เจ้าศรีอโนชา เจ้าศรีวรรณ (ถึงแก่กรรม) เจ้าหมูล่า เจ้าคำฝั้น เจ้าศรีบุญตัน (ถึงแก่กรรม) เจ้าบุญมาในช่วงที่ เจ้าฟ้าแก้วครองเมืองลำปาง ช่วงนั้นพระองค์ได้ถูกเจ้าลิ้นก่าน (โอรสของเจ้าเมืองลำปางที่เสียเมืองให้แก่ท้าวมหายศ) เข้ายึดอำนาจเจ้าฟ้าแก้วได้หนีไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่ เมืองลำปางก็อยู่ในปกครองของเจ้าลิ้นก่าน
ต่อมาปี พ.ศ.2304 พม่าก็ได้มีอำนาจอีก ได้ส่งกองทัพมายึดหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนาไทย หัวเมืองต่างๆ ยอมอ่อนน้อม และ พม่าได้จัดการปกครองลำปางใหม่และ ให้เจ้าฟ้าแก้ว ขึ้นปกครองเมืองลำปางทำให้เจ้าลิ้นก่านเกิดความไม่พอใจ พม่าจึงเข้ามาชำระความโดยการดำน้ำพิสูจน์ เจ้าลิ้นก่านแพ้ จึงถูกประหารชีวิต จากนั้นเจ้าฟ้าแก้วก็ปกครองเมืองลำปางตลอดมา และมีโอรสทั้ง 7 พระองค์สืบทอดเป็นเจ้าผู้ครองเมืองทางเหนือ เรียกว่า “เชื้อ เจ็ดตน” จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ที่มีการสู้รบในสมัยก่อนที่สร้างวีรกรรมอันดีงามปกป้องบ้านเมืองไม่ให้ข้าศึกมาปกครองยึดบ้านยึดเมืองดังนั้นลูกหลานคนลำปางจึงรำลึกถึงคุณงามความดีดังกล่าว และถือว่าเป็นเจ้าเมืองลำปางและถือเป็นต้นตระกูลเจ้าเจ็ดตน และทุกปีจัดงานพิธีบวงสรวงพ่อเจ้าทิพย์ช้าง โดยมีกลุ่มลูกหลานสืบสานเชื้อสายเจ้าเจ็ดตน เพื่อรำลึกถึงพ่อเจ้าทิพย์ และทำติดต่อกันมากว่า 40 ปี ยังเป็นกิจกรรมได้ร่วมกันสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้
ปล. สิ่งที่ผมอยากสื่อ หมายถึง ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ฯลฯ ตามที่ประวัคิศาสตร์ล้านนากล่าวถึง ล้วนแต่เป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกันนะครับ ควรจะสามัคคีกันไว้ ให้สมกับที่บรรพชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับไล่ผู้ที่มารุกรานเราแต่ครั้งอดีต