เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 25 เมษายน 2024, 08:51:32
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ห้องนั่งเล่น (ผู้ดูแล: แชทซาโนย่า กอยุ่ง~*-., ©®*)
| | |-+  ประวัติศาสตร์ การรบ จริง จากหนัง เรื่อง 300
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ประวัติศาสตร์ การรบ จริง จากหนัง เรื่อง 300  (อ่าน 2136 ครั้ง)
Ironmaiden
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,531



« เมื่อ: วันที่ 16 ตุลาคม 2014, 11:48:45 »

ยุทธนาวีที่ซาลามิส (Battle of Salamis)

ยุทธนาวีที่ซาลามิส เป็นยุทธนาวีที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกรีกกับเปอร์เชีย การรบครั้งนี้เกิดขึ้นนอกฝั่งซาลามิส (Salamis) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ในอ่าวซาโรนิค (Saronic Gulf) ใกล้นครเอเธนส์ ประเทศกรีซ ความสำคัญของซาลามิสคือ เป็นช่องแคบที่สามารถข้ามไปสู่ช่องแคบโครินท์ จุดที่แคบที่สุดในดินแดนกรีก ซึ่งทางฝ่ายกรีกเองตั้งใจว่า จะใช้เป็นที่ตั้งรับขั้นแตกหักกับฝ่ายเปอร์เซีย

แม่ทัพของฝ่ายกรีกที่สำคัญมีเทมิสโตคริส (Themistocles) และอลิสทีดิส (Aristides) แห่ง เอเธนส์, ยูรีเบียดิส (Eurybiades) แห่งสปาร์ตา, และอาเดียมันทุส (Adeimantus) แห่งโครินท์

ส่วนฝ่ายเปอร์เชียมีพระเจ้าเซอร์ซิสที่ ๑ (Xerxes I) และอาเรียมีนิส (Ariamenes) ซึ่งเป็นแม่ทัพในครั้งนี้ กำลังทางเรือทั้งสองฝ่ายนั้น, ฝ่ายกรีก มีเรือรบ ๓๗๑ ลำ รบกับฝ่ายเปอร์เชีย ซึ่งมีเรือรบถึง ๑,๒๐๗ ลำ

เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการยุทธ์ที่เทอโมพีเล (Thermopylae) และยุทธนาวีที่อาร์ทีมีซีอุม (Artemisium) เมื่อเดือนสิงหาคม ปี ๔๘๐ ก่อนคริสตกาล (ซึ่งเรียกรวมว่า เป็นสงครามกับเปอร์เชียครั้งที่ ๒, สงครามกับเปอร์เชียครั้งแรกนั้น พระเจ้าดาลิอุส (Darius) ยกทัพมาบุกกรีก จนเกิดการยุทธที่ลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้คือ การยุทธ์ที่มาราธอน เมื่อปี ๔๙๐ ก่อนคริสตกาล) หลังจากฝ่ายเปอร์เชียพ่ายแพ้ฝ่ายกรีกในรัชสมัยพระเจ้าดาริอุส หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้าดาริอุส สิ้นพระชนม์ในปี ๔๘๖ ก่อนคริสตกาล พระเจ้าเซอร์ซิสที่ ๑ (Xerxes I) ราชโอรสขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ และเตรียมการเข้าโจมตีกรีกทันที แม้จะตีกรีกเหมือนกัน แต่พระประสงค์ของพระเจ้าเซอร์ซิสต่างจากพระราชบิดาของพระองค์ที่ครั้งก่อนต้องการทำสงครามสั่งสอนกรีกโดยเฉพาะเอเธนส์เพียงรัฐเดียว เพราะเอเธนส์สนับสนุนการก่อจราจลของพวกไอโอเนียน คราวนี้กษัตริย์เปอร์เชียพระองค์ใหม่ต้องการยึดรัฐกรีกทั้งหมด

ในปี ๔๘๐ ก่อนคริสตกาล พระเจ้าเซอร์ซิส จึงเตรียมทัพมีกำลังพล ๑๐๐,๐๐๐ ถึง ๑๘๐,๐๐๐ คน ทัพเรืออีก ๖๐๐ ลำ กองทัพเปอร์เซียพยายามยกทัพข้ามช่องแคบเฮลเลสปอนท์ (Hellespont) ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลดำกับทะเลอีเจียน โดยการนำเรือมาต่อกันเป็นสะพานทุ่น แต่ก็ถูกพายุพัดจนสะพานพังพินาศ หลังข่าวสะพานของพระองค์พังพินาศ พระเจ้าเซอร์ซิสทรงกริ้วอย่างหนัก สั่งให้ลงโทษแบบเอาเคล็ด โดยเฆี่ยนทะเล ๓๐๐ ที ทะเลก็สงบลง จากนั้นทรงสั่งให้สร้างสะพานทุ่นให้กองทัพอันยิ่งใหญ่ข้ามไปตีกรีกอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทำสำเร็จ

ฝ่ายกรีกได้รับข่าวศึกว่า ศึกคราวนี้เป็นการเตรียมทัพมาเพื่อตีนครรัฐกรีกทั้งหมด รัฐกรีกทั้งหมดจึงรวมกำลังกัน โดยให้กำลังทางบกอยู่ภายใต้การบัญชาการของสปาร์ตา เพราะมีกองทัพบกที่แข็งแกร่งที่สุด นอกจากนั้นฝ่ายเอเธนส์ยังส่งทัพเรือที่ประกอบด้วยเรือไทรเรเม (Trireme) อีก ๒๐๐ ลำมาสนับสนุน

มีเกร็ดของสงครามครั้งนี้ เมื่อชาวเอเธนส์ได้ทราบข่าวว่าเปอร์เซียกำลังยกทัพมาบุกกรีกอีกครั้ง จึงได้พากันไปเสี่ยงทายที่วิหารเทพเจ้าอพอลโลที่เดลฟี (Delphi) ซึ่งได้มีนิมิตจากเทพเจ้าว่า จะนำความตายมาสู่ลูกชายของแม่, แต่ชาวกรีกจะปลอดภัยด้วยกำแพงไม้ (bring death to woman’s sons, but also that the Greeks would be saved by a wooden wall) ซึ่งชาวเอเธนส์เชื่อว่า กรีกจะพ่ายแพ้ แต่เทมิสโตคริสเถียงว่า คำทำนายบอกถึงกำแพงไม้ด้วยที่จะทำให้กรีกปลอดภัย กำแพงไม้ที่ว่าคือ กองเรือ ดังนั้นชาวเอเธนส์จึงเร่งระดมสร้างกองเรือ ในขณะเดียวกันยังมีนิมิตรอีกด้วยที่บอกว่า กษัตริย์จะต้องสูญเสียเพื่อให้ชาวกรีกอยู่รอด ซึ่งคำทำนายอันแรกคือ ยุทธนาวีที่ซาลามิส ซึ่งเป็นที่นำความตายมาสู่เปอร์เชีย ส่วนอีกอันคือ การที่ต้องสูญเสียเลโอนิดัส ซึ่งก็คือ กษัตริย์แห่งสปาร์ตา นั่นเอง

ในการตั้งรับทัพเปอร์เซียได้เกิดความคิดแตกแยกกันระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา โดยสปาร์ตาเห็นว่าควรจะสกัดทัพเปอร์เซียในจุดที่แคบที่สุดของกรีซ คือช่องแคบโครินท์ (Isthmus of Corinth) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเอเธนส์ แต่เทมิสโตคลิส แม่ทัพของเอเธนส์ เห็นว่า ควรตั้งรับทางลึก โดยหนุนให้ทัพบกของเอเธนส์ตั้งรับลึกเข้าไปทางตอนเหนือ ในที่สุดก็เลือกที่ตั้งรับที่เทอร์โมพีเล (Thermopylae) ซึ่งเป็นช่องทางที่กว้างเพียง ๖๐ ฟุตเท่านั้น รถม้าศึกของเปอร์เชียที่ถือเป็นอาวุธอันทรงอานุภาพที่สุดสามารถผ่านได้ทีละคันเท่านั้น การรบที่เทอร์โมพีเลนั้นถือเป็นการรบครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จึงขอนำมาเล่าไว้พอเป็นสังเขป ณ ที่นี้ด้วย

เทอร์โมพีเล เป็นชัยภูมิทางธรรมชาติที่เหมาะแก่การตั้งรับ โดยเฉพาะการใช้กำลังเพียงเล็กน้อยก็สามารถตั้งรับกำลังขนาดใหญ่ได้นาน
กองทัพกรีก รวบรวมกำลังได้หนึ่งหมื่นคน ขณะนั้นมีความคิดแตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งคิดว่ากรีกคงตั้งรับกองทัพเปอร์เชียนได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ส่วนอีกฝ่ายคิดว่า การตั้งรับที่เทอร์โมพิเลนั้นดีแล้ว เนื่องจากตอนนั้นได้มีชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ เอฟิอัสทิส พยายามชักจูงให้เห็นว่า ทัพเปอร์เชียจะไม่มาทางเทอร์โมพิเล แต่จะใช้วิธีตีโอบกองทัพกรีก ทัพกรีกที่มีกำลังพลน้อยกว่าเปอร์เชียอยู่แล้วจึงกระจายกำลังออกไปรอทัพเปอร์เชีย แต่เลโอนิดุส กษัตริย์สปาร์ตา ยังคงยืนหยัดที่จะตั้งรับทัพเปอร์เชียนที่เทอร์โมพิเล พร้อมกับทหารรักษาพระองค์(สปาร์ตา) ๓๐๐ คน และทหารราบหนัก (Hoptiles) ทีสเปียนอีก ๗๐๐ คน การยืนหยัดตั้งรับกับทัพเปอร์เซียนของเลโอนิดัสครั้งนี้ แม้จะรู้ดีว่าไม่สามารถต่อสู้กับทัพเปอร์เซียได้ แต่ก็เป็นการซื้อเวลาให้ทัพกรีกเตรียมรับมือกับทัพใหญ่ของเปอร์เซียได้ ในการรบที่ช่องเขาเทอร์โมพิเลนั้นได้สร้างความเสียหายและเสียเวลาให้กับทัพเปอร์เซียอย่างมากและยังถ่วงเวลาให้ทัพกรีกที่แยกไปตั้งรับที่อื่นสามารถมาตั้งรับในทำเลที่ได้เปรียบทัพเปอร์เซีย

หลังการรบที่เทอร์โมพิเล พระเจ้าเคลโอมโบรตุส (Cleombrotus) แห่งสปาร์ตา (องค์ต่อมา) ก็ตัดสินใจตั้งรับโดยการไปสร้างกำแพงรับทัพเปอร์เชียนที่เพโลพอนนีส โดยหวังจะเผด็จศึกด้วยทัพบก ส่วนเทมิสโตคลิสยังอยู่ที่ซาลามิส เพราะเชื่อว่า กองทัพส่วนใหญ่ของเปอร์เซียจะมาตีกรีกได้จะต้องมาโดยทางเรือ

ชาวเอเธนส์พากันอพยพออกจากเมืองมายังซาลามิส พร้อมทั้งเผาเมืองทิ้งไม่ให้เป็นประโยชน์กับศัตรู กองเรือของกรีกมารวมกำลังกันที่นี่หลังการรบที่อาร์ทีมีซีอุม (Battle of Artemisium) แต่ก็ยังมีชาวเอเธนส์บางส่วนที่ไม่เชื่อและยังไม่หลบหนีออกจากเอเธนส์ คนกลุ่มนี้พากันไปสร้างกำแพงไม้ที่ทางขึ้นสู่อโครโปลิส (Acropolis) ซึ่งเมื่อกองทัพเปอร์เซียมาถึงก็ถูกทหารเปอร์เซียฆ่าตายหมด และทหารเปอร์เซียยังเผาอโครโปลิสด้วย

กรีกเตรียมรบโดยตระเตรียมกองเรือซึ่งมาจากรัฐกรีกต่างๆ มีเรือไทรเรเม ๓๗๑ ลำ และเรือเพนเทคอนเตอร์ (เรือเล็กกว่า, มีฝีพาย ๕๐ คน) โดยกองเรือนี้ประกอบด้วยเรือของเอเธนส์ ๑๘๐ ลำ, โครินท์ (Corinth) ๔๐ ลำ, อีจินา (Aegina) ๓๐ ลำ, ชาซีส์ (Chalcis) ๒๐ ลำ, เมการา (Megara) ๒๐ ลำ, สปาร์ตา ๑๖ ลำ, ซิซีออน (Sicyon) ๑๕ ลำ, เอปิเดารุส (Epidaurus) ๑๐ ลำ เอริเทรีย (Eretria) ๗ ลำ, อัมบราเซีย (Ambracia) ๗ ลำ, โทรเอเซน (Troezen) ๕ ลำ, นาซอส (Naxos) ๔ ลำ, เลอูคัส (Leucas) ๓ ลำ, เฮอมิโอเน (Hermione) ๓ ลำ, สทีลา (Styra) ๒ ลำ, ซีทนุส (Cythnus) ๒ ลำ, ซีออส (Ceos) ๒ ลำ, มีลอส (Melos) ๒ ลำ, ซีฟนุส (Siphnus), ซีริฟุส (Seriphus) และโครตอน (Croton) รัฐละหนึ่งลำ

กองเรือของเปอร์เชียมีเรือถึง ๑,๒๐๗ ลำ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงบางส่วนที่สูญเสียไปกับพายุในทะเลอีเจียน และในยุทธนาวีที่อาร์ทีมีซีอุม (Artemisium) พระเจ้าเซอร์ซิสนั้นตัดสินพระทัยที่จะทอดพระเนตรการรบของกองเรืออทีเนียน* (Athenian, เป็นชาวเอเธนส์ที่รับจ้างรบให้กับเปอร์เซีย) ของพระองค์ที่ภูเขาเอกาเลอุส (Mount Aegaleus) ชายฝั่งตรงข้ามเกาะซาลามิส ทรงให้ตั้งบัลลังก์ของพระองค์และทรงให้อาลักษณ์คอยบันทึกชื่อของแม่ทัพที่ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น

ยูรีเบียเดส (Eurybiades) และฝ่ายสปาร์ตา ยังคงมีข้อโต้แย้งกับเทมิสโตคริสต่อในเรื่องที่จะตั้งรับทัพเปอร์เซียที่ซาลามิส พวกสปาร์ตายังเชื่อในเรื่องที่จะใช้กำลังทางบกรบขั้นแตกหักกันที่โครินท์ ดังนั้นจึงต้องการถอนกำลังไปตั้งรับที่แนวกำแพงที่กำลังสร้างขึ้นรับศึกครั้งนี้ ในขณะที่เทมิสโตคริสยืนยันที่จะรบที่ซาลามิส เพราะเชื่อมั่นว่า หากรบเอาชนะกองเรือเปอร์เซียได้ จะเป็นการขัดขวางทัพบกของเปอร์เซียไม่ให้ทำการรบต่อไปได้ อีกทั้งกำแพงที่ยูรีเบียเดสสร้างขึ้นก็คง
ขึ้นก็คงทานกำลังทหารเปอร์เซียไม่ไหว ระหว่างกำลังถกเถียงกันอยู่นั้น เทมิสโตคริสได้ใช้อุบายโดยส่งทาสที่ชื่อ ซิซินนุส (Sicinnus) ทำทีหนีเข้าไปสวามิภักดิ์กองทัพเปอร์เซีย และทูลหลอกพระเจ้าเซอร์ซิสว่า กองทัพกรีกไม่คิดจะตั้งรับที่ซาลามิสแล้ว และกำลังจะยกถอยออกจากซาลามิสในช่วงกลางคืน เมื่อพระเจ้าเซอร์ซิสทรงทราบข่าวดังกล่าวก็ทรงตกหลุมพราง ทรงให้กองเรือเปอร์เซียปิดช่องทางหนีของฝ่ายกรีก ทำให้เรือของสปาร์ตาที่กำลังคิดจะออกไปจากซาลามิสไม่สามารถไปได้ด้วย

อาร์ทีมีเซีย ราชินีแห่งฮาลิคาร์นัสซัส (Artemisia, the queen of Halicarnassus) ดินแดนในเอเชียไมเนอร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเปอร์เซียมองออกว่า ภูมิประเทศอย่างอ่าวซาลามิส ซึ่งแคบและเล็กช่วยให้กองเรือกรีกได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นควรที่ฝ่ายเปอร์เซียจะปิดล้อมให้ฝ่ายกรีกยอมแพ้ไปเอง จึงคัดค้านแผนการของพระเจ้าเซอร์ซิส แต่พระเจ้าเซอร์ซิสและมาร์โดนีอุส (Mardonius) เสนาบดีของพระเจ้าเซอร์ซิส ยืนยันที่จะโจมตีทัพเรือกรีกที่นี่ เรือของเปอร์เซียต้องแล่นลาดตระเวนปิดอ่าว ป้องกันการหลบหนีของฝ่ายกรีกตลอดคืน ในขณะที่ฝ่ายกรีกนอนหลับพักผ่อนเตรียมออกรบในวันรุ่งขึ้นอย่างสบาย คืนนั้น, อริสทิดิส (Aristides) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเทมิสโตคริสมาตลอด เห็นแล้วว่า แผนของเทมิสโตคริสได้ผล จึงนำกองเรือของเอเธนส์ที่เป็นพรรคพวกเขาเข้ามาเสริมกำลังสร้างความแข็งแกร่งให้กับทัพเรือของกรีกมากขึ้น

การรบ

ในวันรุ่งขึ้น (ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นวันที่เท่าไรแน่ แต่เป็นได้ว่า คือวันที่ ๒๘ กันยายน) หลังการตระเวนปิดอ่าวเพื่อป้องกันการหลบหนีของเรือกรีกทั้งคืน ทัพเรือเปอร์เซียที่อ่อนล้าก็ได้รับคำสั่งให้แล่นใบเข้าสู่ช่องแคบซาลามิสเพื่อโจมตีกองเรือกรีก กองเรือของโครินท์ ซึ่งเป็นกองหน้าภายใต้การบัญชาการของอเดียมันทัส ที่เฝ้าจับตาดูการเคลื่อนไหวของทัพเรือเปอร์เซียนั้น เห็นกำลังทางเรือของข้าศึกจำนวนมากแล่นใบเข้ามา จึงถอนตัวตามแผนการที่นัดหมายกันไว้แล้ว เพื่อล่อให้กองเรือเปอร์เซียไล่ติดตามมาในช่องแคบ ฝ่ายเปอร์เซียเห็นกองเรือหน้าของกรีกถอนตัว ก็ลำพองใจคิดว่า ฝ่ายกรีกกลัวที่จะต่อรบด้วย แม่ทัพฝ่ายเปอร์เซียจึงระดมกำลังหนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หวังจมเรือกรีกให้หมด (คงหวังล้างแค้น หลังจากเพิ่งพ่ายแพ้กองเรือกรีกที่น้อยกว่าที่อาร์ทีมีซีอุม) ขณะนั้นแม้ว่าทุกอย่างจะดูเป็นไปตามแผนที่เทมิสโตคริสวางไว้ แต่จำนวนเรือของเปอร์เซียที่มีจำนวนมหาศาลแล่นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนไม่เห็นว่าท้ายกระบวนอยู่ไหน ทำให้ยังไม่มีเรือรบกรีกลำไหนกล้าพอที่จะเข้าโจมตีเรือเปอร์เซีย จนกระทั่งมีเรือไทรเรเมของกรีกลำหนึ่งตัดสินใจนำเรือพุ่งเข้าชนกลางลำเรือนำกระบวนของเปอร์เซียอย่างจัง หลังจากนั้นเรือของกรีกลำอื่นๆ ก็ร่วมเข้าโจมตีกองเรือเปอร์เซีย

เช่นเดียวกับที่อาร์ทีมีซีอุม, กองเรือขนาดใหญ่ของเปอร์เซียกลายเป็นอุปสรรคขวางกันเองในภูมิประเทศที่คับแคบเช่นนั้น ความเชื่องช้าไม่คล่องตัวทำให้ตกเป็นเป้าให้เรือไทรเรเมของเอเธนส์และอีเจียนเข้าโจมตีอย่างง่ายดาย เรือเปอร์เซียตกอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ได้ เรือไทรเรเมของกรีกเริ่มทยอยวิ่งเข้าใส่เรือของเปอร์เซียอย่างรวดเร็ว พอมาใกล้ก็หักลำแล้วพุ่งปักหัวเข้ากลางลำเรือฝ่ายเปอร์เซีย ฝ่ายเปอร์เซียจะหันลำสู้ ก็ติดจะไปชนเรือพวกเดียวกัน เรือลำที่พอจะถอนตัวออกจากพื้นที่ได้ก็ถูกลมซึ่งพัดแรงพัดส่งเข้าอ่าวกลายเป็นติดกับดัก เรือที่อยู่ท้ายกระบวนถูกพายุพัดเข้าอ่าวปิดทางรอดของเรือที่เข้าอ่าวมาก่อนแล้ว การรบตอนนี้, เรือทั้งสองฝ่ายต่างพุ่งเข้าหากันเพื่อชนเรือข้าศึกให้จมเหมือนการรบประชิดบนบก ส่วนใหญ่จะเป็นเรือรบเปอร์เซียที่ถูกชนกลางลำ ทหารบนเรือที่เป็นพลรบ (ทหารกรีกเป็นทหารราบหนักฮอปลิทิส ส่วนใหญ่เป็นทหารสปาร์ตา) ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธยิงและอาวุธขว้าง เช่น ธนูและแหลนพุ่งเข้าใส่กัน ภาพความโกลาหลอลหม่านเกิดขึ้นทั้งช่องแคบซาลามิส เสียงโห่ร้อง เสียงเรือชนกัน เสียงกรีดร้องโหยหวนของผู้บาดเจ็บ ภาพการตะเกียกตะกายของคนที่กำลังจะจมน้ำ และภาพของเรือจำนวนมากที่กำลังถูกเพลิงไหม้และที่กำลังจะจม รวมถึงทรากเรือที่ถูกทำลายระเกะระกะทั่วไปหมด เรือของอะเรียมีนิส (Ariamenes) แม่ทัพเรือเปอร์เซียชนกับเรือของเทมิสโตคริส ทหารทั้งสองฝ่ายต่างพยายามบุกขึ้นเรือของอีกฝ่าย ในที่สุดอะเรียมีนิส แม่ทัพเรือเปอร์เซียก็ถูกพลรบของกรีกฆ่าตายในที่รบนั่นเอง

มีเรือไทรเรเมของเปอร์เซีย (ใหญ่กว่าเรือไทรเรเมของกรีก) ประมาณ ๑๐๐ ลำเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงที่ปะทะแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำลายกองเรือกรีกได้ เรือเหล่านี้ต่างถูกทำลายโดยเรือไทรเรเมของกรีกที่คล่องตัวกว่า เรือเปอร์เซียจมลงไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ลำ เรือของพระนางอาร์ทีมีเซีย พันธมิตรของเปอร์เซียเองก็ต้องแปรพักตร์กลางสนามรบเพื่อไม่ต้องถูกยึดโดยฝ่ายเอเธนส์ อริสทิดิสเองก็นำกองเรือเล็กๆ ที่เพิ่งเข้ามาสมทบเข้ายึดเกาะซิททาเลีย (Psyttaleia) เกาะเล็กๆ ที่ถูกเปอร์เซียยึดไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เปอร์เซียต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีพระอนุชาของพระเจ้าเซอร์ซิสองค์หนึ่งด้วย การเสียชีวิตของทหารเปอร์เซียบางส่วนเกิดจากการจมน้ำและแม้ว่าจะสามารถว่ายน้ำมาขึ้นฝั่งได้ก็ถูกทหารกรีกฆ่าตายในภายหลัง

พระเจ้าเซอร์ซิส ซึ่งประทับทอดพระเนตรการรบบนพระแท่นทองคำ และทรงทอดพระเนตรเห็นเรือของพระนางอาร์ทีมีเซียที่จมและทำลายเรือไทรเรเมของกรีกได้ถึง ๙ ลำ ก่อนจะถอนตัวไป ถึงกับตรัสถึงเรื่องนี้ว่า “นายพลหญิงของฉันน่าจะเป็นชายและนายพลชายของฉันน่าจะเป็นผู้หญิงเสียทั้งหมด”

หลังการรบ

ชัยชนะในยุทธนาวีที่ซาลามิส เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามกับเปอร์เซียครั้งนี้ พระเจ้าเซอร์ซิส ตัดสินพระทัยถอนกำลังกลับไปยังเฮลเลสปอนท์ อย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่า จะถูกกรีกทำลายสะพานทุ่น ทิ้งให้มาร์โดนิอุสคุมกำลังส่วนหนึ่งไว้ดูแลพื้นที่ที่เปอร์เซียยึดได้ ซึ่งในเวลาต่อมา เกิดการรบระหว่างกองทัพเปอร์เซียกับกองทัพกรีกอีกในการยุทธ์ที่พลาเตียและมีคาเล (Battles of Plataea and Mycale) ในปี ๔๗๙ ก่อนคริสตกาล เป็นสงครามขับไล่ผู้รุกรานที่ยังเหลืออยู่
ราวปี ๔๗๒ ก่อนคริสตกาล เอคิลุส (Aeschylus) ชาวเอเธนส์ ได้แต่งบทประพันธ์เรื่อง The Persians เป็นการระลึกถึงการยุทธ์ที่ซาลามิส

เครดิต
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=hummel&month=05-2007&date=30&group=4&gblog=4
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!