เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 04:20:27
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  กรรมนิยมตามคติชาวพุทธ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน กรรมนิยมตามคติชาวพุทธ  (อ่าน 814 ครั้ง)
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« เมื่อ: วันที่ 12 กันยายน 2014, 12:47:32 »

กรรมนิยมตามคติของชาวพุทธ

คำว่า พุทธ หรือ ชาวพุทธ ปัจจุบันกำลังเป็นชาวเพ้อชาวเลอะ กลายเป็นลัทธิ หลงพระพุทธ หลงใหลในการบูชา โดยไปติดยึดที่หิน ที่ปูน ที่โลหะ ฯลฯ หลงเผลอไปยึดถือพระพุทธรูป อย่างเป็นพระพรหม ผู้บันดาลให้เกิดลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

หลงบูชาในสรณะที่ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เข้าใจพระพุทธ อย่างไม่ใช่พุทธ บางคนเข้าใจดีลึกซึ้ง แต่ก็หลงเผลอยึดถือผิดๆ อยู่บ่อยๆ

ไม่รู้ว่า พุทธ คือ อะไร? จึงไม่ได้ดวงปัญญา ไม่ทำให้ถูก ทั้งกายและใจ จึงไม่ได้ดวงวิมุติ

บางคนมีพระไตรปิฎกตั้งไว้ที่หิ้ง เพื่อกราบไหว้บูชา จะหยิบจะจับออกมาดู ก็ไม่กล้าทำ กลัวพระธรรมจะช้ำ ก็เลยได้แต่เอาใส่หิ้ง ปิดม่านไว้ แล้วกราบไหว้บูชา ดังที่ยึดถือผิดๆ อย่างนี้ก็มีจริงๆ เป็นได้ถึงขนาดนี้ นี่หลง "พระธรรม” เรียกว่ายึดติดใน "สีลัพพตปรามาส” อย่างหนัก เป็นกันมาก ในสายศรัทธา คือ เป็นคนที่เต็มไปด้วย ความศรัทธาตามๆเขาไป ด้วยความเชื่อ ตามประเพณีจารีต

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทิ้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข

แต่บางคนขอแม้กระทั่งให้ได้แฟนสวยๆ รวยๆ เรียกว่า ขอกามคุณ และขอลาภจากท่านด้วย พร้อมๆกัน อย่างนี้ไม่ใช่ชาวพุทธแท้ แม้จะเคารพ กราบไหว้พระพุทธรูป อันเป็นสัญลักษณ์ ของพุทธอยู่ แต่จิตไม่มีปัญญา ไปมีปฏิปทาแบบลัทธิอื่นอยู่ คือ ยังหลงโลก และเข้าใจพระพุทธรูป หรือ พระพุทธเจ้าเป็น “พระเจ้า” หรือ “เทพเจ้า” แบบเทวนิยม ที่จะบันดลบันดาล ประทานให้

“พุทธ” ต้องมีปัญญารู้เท่าทันโลก ไม่หลงโลก แล้วสละโลกออกให้ได้ จึงจะอยู่เหนือโลก

ชาวพุทธพึงมีปัญญารู้ซึ้งในสิ่งใด?

เพราะฉะนั้น “โลกธรรม” อันคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และกามคุณ-ภพอัตภาพ ที่พาให้ต้องอยู่ในโลก ต้องฆ่า ต้องละ ต้องทิ้งให้ได้ อย่าหลงมันเป็นอันขาด

ชาวพุทธที่แท้จริง จึงต้องเข้าใจว่า พุทธะ ต้องมีปัญญาธิคุณ มีบริสุทธิคุณ มีกรุณาธิคุณ

ทำปัญญาให้เกิด ก็คือ ต้องรู้ต้องเข้าใจให้ได้ว่า ปัญญาธิคุณ หรือดวงปัญญา ตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น พุทธศาสนาสอนให้ ทิ้งโลก สละโลก ไม่เอาโลกีย์ ไม่เอากาม ไม่เอาภพอัตภาพ

เมื่อมีปัญญาเข้าใจตามนี้แล้ว ก็ต้องทำตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นจริงได้ผลจริง ตามปัญญานั้นด้วย คือ มีดวงวิมุติ หรือ มีบริสุทธิคุณ

รวมลงแล้วก็ไม่มีอื่น นอกจาก ปัญญากับวิมุติ หรือปัญญาธิคุณ กับบริสุทธิคุณ เท่านั้น

เมื่อใครมีปัญญาและมีวิมุติจริงแล้ว ก็สามารถแสดงกรุณาธิคุณได้ คือ เอาปัญญากับเอาวิมุติ มาสอนพุทธศาสนิกชนด้วยกัน (เพื่อให้เกิดดวงปัญญา และดวงวิมุติต่อไปอีก)

กรรมใดพึงนิยม

ผู้ใดสามารถเข้าใจได้แล้วว่า พุทธสอนสิ่งนี้ (ละโลกธรรม) แล้วพยายามทำให้ได้ ผู้นั้นก็เป็นชาวพุทธที่แท้

ผู้ใดจะทำกรรมอันใด ก็ต้องนิยมให้ถูก ให้เป็นกรรมนิยม ตามคติของชาวพุทธ

อย่าไปนิยมกรรมที่จะพาไปเพื่อเสพ ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข และกามคุณ -ภพอัตตภาพ ซึ่งเป็นกรรมนิยม ตามคติลัทธิอื่น

ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี ที่พระพุทธเจ้าสอน ไม่มีอื่น ย่นย่อเข้ามาหา “ปัญญา” และ “วิมุติ” โดยทำให้ถูกตามกรรมฐานของแต่ละท่าน คือ ทำฐานะของเราให้ตรงๆๆ เป็นไปเพื่อเกิดปัญญาอย่างแท้จริง คือ ให้เกิดดวงปัญญา แล้วทำให้เกิดดวงวิมุติได้อย่างแท้จริง ตามที่อธิบายมาแล้ว นี้คือ “กรรมนิยมตามคติของชาวพุทธที่แท้”

เมื่อ “ดวงปัญญา” ไม่เกิด ย่อมไม่รู้ว่า พุทธคืออะไร? สอนอย่างไร? มีกรรมนิยมเป็นอื่น ต่างจากที่ศาสนาพุทธสอน เป็นชาวพุทธที่ยังปลอมๆ แปลงๆ ผิดๆ เพี้ยนๆ อยู่จริงๆ

“กรรมนิยมตามคติชาวพุทธ” ย่นย่อสรุปความลงแล้ว อยู่ที่การเข้าถึง “ปัญญา” และ “วิมุติ” อันเป็นที่สุดแห่งธรรม

ผู้ใดทำ “ปัญญาหรือญาณ” แล้วก็ทำ “วิมุติ” ให้ได้เรียบร้อย ก็บรรลุหลุดพ้น ศาสนาพุทธสอนเท่านี้จริงๆ

และวิธีปฏิบัติเพื่อความบรรลุ ก็คือ ต้องสมาทานศีล เพื่อขัดเกลากิเลส ทางกาย-วาจา-ใจ แล้วปฏิบัติอย่างพากเพียร ตั้งตนอยู่บนความลำบาก ต้องเอาจริง (สัจจะ) ต้องข่มฝืน (ทมะ) ต้องอดทน (ขันติ) ต้องละให้ได้ถึงใจ (จาคะ)

ตั้งตนให้ตรงทิศ

เมื่อมีปัญญาเข้าใจ "พุทธ” ได้แล้ว ก็กรุณาตั้งตนให้ดี (อัตตสัมมาปณิธิ) ตั้งใจให้ดี ให้ถูกตรงอย่าเผลอ (อธิษฐาน) อย่าหันทิศให้เป๋ๆ ไป๋ๆ เข้าไปหาโลก ดูตัวดูตนให้ได้แท้ๆ ว่า ตนตั้งตนไปทิศทางใด หลงโลก แล้วสร้างโลกมากกว่าสร้าง ”ธรรม” หรือ สร้างธรรมมากกว่าสร้างโลก

ขอให้หันทิศมาสร้างธรรมจริงๆ ลงมือจริงๆ

เมื่อได้มี "กรรมนิยม” ที่ถูกต้อง มีความเข้าใจถูกสัมมาทิฐิ ด้วยการปิดประตูอบาย ทำทานให้ถูก ทำให้มากเพียงพอ แบบนางวิสาขา แม้จะยังหวังสวรรค์อยู่ ยังทำทานแบบ สุญญตา - จิตว่างไม่ได้จริงๆ ทำทานให้เป็นวิมุติไม่ได้ก็ตาม แต่ปิดอบายได้ ก็เป็น”อริยบุคคล” หรือ”โสดาบัน” ขั้นต้นที่สุด

เพียรเถิด อย่ารั้งรอเพียร

ผู้ใดเข้าใจจริงแล้ว จงพยายามพากเพียรทำให้ได้

แม้จะยังสละละทิ้งออกมาไม่ได้ เพราะภาระที่ไปหลง ไปก่อ ไปสร้างไว้ แต่ในชาตินี้ เราก็สามารถเป็น "โสดาบัน” ได้ ขอให้เข้าใจให้แท้จริง แล้วก็ยึดมั่นให้จริง แล้วก็เห็นให้ชัด พยายามทำให้ได้มากจริง

แม้ทำไม่ได้มาก แต่เข้าใจแท้ หมด "วิจิกิจฉา” ไม่สงสัย ไม่แคลงใจ เห็นทิศทางที่ถูกต้องอย่างชัด แล้วก็ปักใจเชื่อแน่ ไม่มีจิตเป็นสอง จิตเป็นหนึ่งจริงๆ เชื่อมั่นไม่โลเล ร้อยคนลวงก็ไม่หลงทิศ เชื่อมั่นที่จะเดินสู่เส้นทาง "โลกุตตระ” อันตรงข้ามกับโลก พ้นวิจิกิจฉา พ้นสีลัพพตปรามาส ก็เป็น”โสดาบัน”ได้ นี่คือ การละสักกายะ

สักกายะ คือ กายอันใหญ่ รวมทั้งร่างกาย และโลกธรรม อันเป็นตัวเป็นตน เป็นความรวมประชุมอันใหญ่ นั่นคือ นอกจากแบกกาย ยังแบกลาภ-ยศ -สรรเสริญ-สุข -กามคุณ-ภพอัตภาพ ไว้เป็นตัวกูของกู นี่แหละคือ สักกายะ ยึดศีลให้มั่นนั่นแหละจริง

ใครเห็น “สักกายะ” ของตนชัดแล้ว ก็พากเพียรปฏิบัติประพฤติ มีหลักเกณฑ์ด้วย “ศีล” ประพฤติ “ศีลพรต” มิให้เป็น "ปรามาส” คือ มิใช่สักแต่ว่าถือ “ศีลพรต” แล้วไม่ได้มรรคผล (ปรามาส คือ สักแต่ว่า ทำแล้วไม่ได้มรรคผล ทำเพียงเหมือนแค่ได้จับได้คลำแต่ไม่ได้จริง เช่น ได้จับได้คลำผลไม้ แต่ไม่ได้กิน หรือไม่ได้เป็นเจ้าของผลไม้จริง)

แต่ต้องยึด "ศีลพรต” มาปฏิบัติประพฤติจริงๆ เรียกว่า สมาทาน (อาทาน = ยึด) ทำจริงๆ ให้ได้ผลมาก เป็น”มหานิสังสา” เป็น “มหัปผลา” = มีผลมาก มีประโยชน์ใหญ่

ประโยชน์มาก ประโยชน์เต็ม ทำให้ได้มากๆ ก็เอียงเข้าไปหาทาง "โลกุตระ” เรื่อยไป

ใครเห็นมรรคผลแท้ของตนได้ พ้นสงสัย ผู้นั้นเป็น “โสดาบัน”

เชื่อหรือไม่ พึงตรึกตรองลองปฏิบัติ

สิ่งที่ได้อธิบายไปแล้ว อย่าเพิ่งเชื่อเสียเลยทีเดียว ขอให้เข้าใจตามเป็น "สุตมยปัญญา” แล้วไปสอบทานทบทวนดู เป็น “จินตามยปัญญา” สอบทาน จากพระไตรปิฎกก็ได้ว่า เป็นเหตุเป็นผลจริง ตามที่อธิบายหรือไม่ เป็นไปเพื่อญาณ เป็นไปเพื่อวิมุติ เป็นไปเพื่อนิพพาน หรือไม่ เป็นความเข้าใจถูกตรงหรือไม่ เป็นธรรม อันฝืนกระแสใจหรือไม่ ไปสอบทานให้จริง แล้วลองปฏิบัติดู ปฏิบัติจริง จะเห็นผลถึงขั้น ”ภาวนามยปัญญา” (ดวงปัญญา)

เห็นผลแม้เล็กน้อย หลุดพ้นได้จริง ก็เป็นสุขจริง(วูปสมสุข) พ้นทุกข์ได้จริง ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่เกิดในอินทรีย์ เกิดในตัวตนจริงๆ

ไม่ได้เชื่อใคร ศรัทธินทรีย์เกิดแล้ว เป็นแล้ว เพราะเข้าถึง ”ภาวนามยปัญญา” (ดวงปัญญาเกิดจริง)

พระพุทธเจ้า จึงสอนไม่ให้เชื่อใคร อาจารย์ไหน แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ไม่ให้เชื่อดายๆไป ต้องปฏิบัติจริง เห็นผลจริง เป็นจริง แล้วเชื่อตัวเอง

ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นก็เกิด "โสดาบัน” บริบูรณ์แท้จริง เป็นอริยบุคคลขั้นต้น

เพียงชี้ทางบรรเทาทุกข์

เท่าที่อธิบายมานี้เป็นเพียงการชี้บอกทางให้ มีแต่มรรคภาษา และมรรคตรรกะ ผู้ปฏิบัติต้องไปมีมรรค "อริยสัจ” คือ เดินทางเอง ด้วยการทำจริงเอง จนเกิดจนเป็น นั่นแล เป็น "โสดาปัตติมรรค” ยังไม่เกิดผล (วิมุติ) ยังไม่บรรลุผลเป็น”โสดาบัน”แท้ เกิด "โสดาปัตติผล” (ปัตติ = เกิดผลจริง)

ได้ลิ้ม(ธรรมรส)นิดๆ เชื่อหน่อยๆ ก็เป็นมรรคอริยสัจ พอเห็นผล ถึงรอบชัด ก็จะปริวัฏฏัง(ตัดรอบ) เป็น”โสดาปัตติผล” คราวนี้จะเชื่อแน่ อย่างปักจิต ปักใจ ไม่โลเล เส้นทางชีวิต

จะมุ่งสู่ทิศที่สูงขึ้น

เมื่อเข้ากระแสแล้ว มีทิศเดียวที่จะไปไม่มีทิศอื่น ไม่มีการหลอก การหลงอีกเลย จะเดินเข้าหาทางจบ ก็สงบเท่านั้นเอง

“วิมุติ” คือ ความสงบ เพราะกิเลสตายสนิทไม่ฟื้น เป็นความจบชีวิต จะไม่แคร์ ไม่ไยดี ในลาภ-ยศ-สรรเสริญ-สุข

ภูมิธรรม ระดับโสดาบัน จะมีได้ เป็นได้มากคน เพราะเพียงลดลาภ -ยศ-สรรเสริญ -โลกียสุข ได้เพียงส่วนต้น

แต่ ระดับอรหันต์ จะมีได้เป็นได้น้อยคน เพราะไปหลงสร้างกรรมไม่ดี สร้างความติดเอาไว้มาก จึงหลุดออกมาได้ยาก สำหรับผู้มีบารมี สะสมกรรมดีไว้มาก จนกระทั่ง ส่งผลทำให้หลุดพ้นได้ในชาตินี้ก็มี

บางคนมีภาระ ก็อาจจะหลุดพ้นออกมาได้ แต่จะสู้หนุ่มสาวไม่ได้ เพราะหนุ่มสาว ไม่มีภาระ ที่ไปหลงสร้างกรรมใหม่เอาไว้ จะเข้าใจ และทำได้ง่ายกว่า มีอินทรีย์พละ กล้าลดละหลุดพ้น ลอยลำมาอยู่แต่เพียงพอดีได้ สมัยพระพุทธเจ้า หนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัว บวชกันมาก ไม่ค่อยมีคนแก่ คนแก่มากๆ แม้หมดภาระแล้ว มาปฏิบัติลดละ ได้อย่างเก่งก็”โสดาบัน” เพราะใจไม่กล้า อำนาจของอินทรีย์กับพละชักเปลี้ย คือ ใจไม่เด็ด ไม่ตัด ทนรสของกามไม่ได้ ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงอะไรๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน และแม้”แก่” ก็ต้องยิ่งเพิ่มบารมีให้ได้ ก่อนจะตาย
IP : บันทึกการเข้า
nantong
ปั๋น กั๋นฮู้ แล้วก่อยเอาไปกึ๊ดอ่าน กั๋น แหมกำ อาจมีผิดถูก ฯ
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,579



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 13 กันยายน 2014, 02:50:42 »

ไหว้สา พระธัมมวินัย  สายบุญ

สาธุ ๆ ๆ  อนุโมทามิ  ละเอียดอ่อนแม่นยำ

เป็นการทำทานบุญ อันยิ่งใหญ่ด้วยธัมมทาน (ไม่ ตู่ เอาเอง ว่า อภัยทานใหญ่กว่าทานอื่นใด)   

การทำบุญใหญ่สุด ๆ คือ  การบันลุสภาวธัมมะ ได้ปัญญา คือ ละอวิชชา เหลือแต่ วิชชา อันเป็นตัวปัญญาล้วน ๆ ไม่เจือด้วยอวิชชา

                 คือ การหลุดพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง เรียก วิมุตติ


กราบขอบพระคุณ พระธัมมวินัย รวมทั้งทุกสิ่งอย่าง  โดยทำให้สุนันท์ ได้เอาสารธัมมะนี้มาทำทาน


IP : บันทึกการเข้า

หนานขี้อู้หำยาน : นายจิราวัฒน์  โสรัจพงศ์เกษม / หนานธง   อีเมล : k e n g k a b h e n g @ g m a i l . c o m    มือถือ  081 777  51 76
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 13 กันยายน 2014, 15:38:27 »


ความเข้าใจผิดเรื่อง อภัยทาน มีผลเหนือ ธรรมทาน
เรื่องนี้มีที่มาจาก หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี ซึ่งมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าสมเด็จพระสังฆราช(องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินธุ์)เป็นผู้แต่ง โดยมีเนื้อหาดังนี้
(พึงทราบว่า เนื้อหาในหนังสือข้างต้น ที่นำมาแสดงนี้ มีบางส่วนที่ไม่ตรงกับพระพุทธพจน์)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ

๑. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี

๒. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๓. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๔. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้ที่มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๕. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ

พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น “พระ” แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า “สมมุติสงฆ์” พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น “พระ” ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

๖. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม (ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น)

๗. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๘. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามีแม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๙. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๐. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๑. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๒. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นป ระธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

๑๓. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาน อันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน

๑๔. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง (๑๐๐หลัง) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ

๑๕. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ “อภัยทาน” แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทาน ก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ “โทสกิเลส” และเป็นการเจริญ “เมตตาพรหมวิหารธรรม” อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง “พยาบาท” ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า “ฝ่ายศีล” เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน

เรื่องนี้ขออธิบาย ว่า เนื้อหาที่ทำตัวเข้มเป็นเนื้อหาที่ผิด เพราะในศาสนาพุทธนั้น คำพูดของพระพุทธเจ้า (พระพุทธพจน์) ถือเป็นหลักสำคัญ ที่อยู่เหนือ คำพูดของพระสาวก (สาวกพจน์) แม้แต่หลักในการตัดสินก็ยังยึด พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเป็นหลักใหญ่ (เทียบได้กับรัฐธรรมนูญในแง่กฏหมาย) ส่วนคัมภีร์อื่นๆ ให้ยืดถือเป็นลำดับรองลงมา ตามลำดับ ได้แก่ อรรถกา ฏีกา อนุฏีกา และ คำสอนของอาจารย์ต่างๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาวกพจน์ (เทียบได้กับกฏหมายย่อย) ถ้ามีส่วนใดของ คัมภีร์อื่นๆ ที่ค้านกับ พระพุทธพจน์ ให้ถือ พระพุทธพจน์เป็นหลัก คำพูดที่แย้งกับพระพุทธพจน์ให้ตัดสินว่าคำพูดนั้นไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย  แม้ว่าคำพูดนั้นจะเป็นจะเป็นของพระที่มีชื่อเสียงแค่ไหน หรือของพระสังฆราช ก็ตาม ย่อมจัดอยู่ใน สาวกพจน์ มิใช่พระพุทธพจน์ จะเอามาหักล้างกับพระพุทธพจน์มิได้

(แต่ความจริงแล้วพระสังฆราชไม่ได้เป็นผู้แต่งหนังสือเล่มที่ผิดเล่มนี้)

ทั้งนี้ ต้องยึดพระพุทธพจน์เป็นหลักเป็นแม่บทเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบ

ซึ่งหลักเกณฑ์ตรวจสอบนี้เรียกเรียกว่า “มหาปเทส ๔” (หรือเรียกว่า มหาประเทศก็ได้)  ซึ่งปรากฏใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ดังนี้

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ อานันทเจดีย์ ในโภคนครนั้น ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมหาประเทศ ๔ เหล่านี้ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

๑. อาวุโสข้อนี้ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา หรือ
๒. สงฆ์พร้อมทั้งพระเถระ พร้อมทั้งปาโมกข์ อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาได้รับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา หรือ
๓. ภิกษุผู้เป็นเถระมากรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา หรือ
๔.  ภิกษุผู้เป็นเถระอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต มีอาคมอันมาถึงแล้ว เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

พวกเธอไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น ครั้นแล้วพึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย

ถ้าสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัยลงในพระสูตรไม่ได้ เทียบเคียงในพระวินัยไม่ได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่านี้มิใช่คำของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และ ภิกษุนี้/ภิกษุสงฆ์นี้/พระเถระเหล่านั้น/พระเถระนั้น (ในที่นี้หมายถึงผู้แต่งหนังสือ) จำมาผิดแล้ว ดังนั้น พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย

ถ้าเมื่อสอบสวนในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย ลงใน พระสูตรได้ เทียบเคียงในพระวินัยได้ พึงถึงความตกลงในข้อนี้ว่า นี้เป็นคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคแน่นอน และ ภิกษุนี้/ภิกษุสงฆ์นี้/พระเถระเหล่านั้น/พระเถระนั้น จำมาถูกต้องแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงทรงจำมหาประเทศเหล่านี้ไว้ ฯ”

ซึ่งจุดที่ผิดในหนังสือคือ
1. การอธิบายเรื่อง อภัยทานมีผลเหนือธรรมทาน

ซึ่งหลักฐานในพระไตรปิฎก พบว่าพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ชัดเจนใน คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔ ว่า

“สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ “
(การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทานทั้งปวง)

ผลของทานที่ไล่ตามลำดับ 15 ข้อตามหนังสือวิธีสร้างบุญบารมีนี้ แท้จริงแล้วพระพุทธเจ้า มิได้ตรัสถึงผลทาน เหมือนกับ ในหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี ของสมเด็จพระสังฆราช แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลทาน 14 ข้อนี้ในทักขิณาวิภังคสูตร  ดังนี้

(พึงทราบว่าข้อความต่อไปนี้ เป็นข้อความที่ถูกต้องจากพระพุทธพจน์)

ดูกรอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น

1) บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
2) ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
3) ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
4) ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (พวกนักพรตฤาษีต่างๆ) พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
5) ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้
จนประมาณไม่ได้
6) จะป่วยกล่าวไปไยสำหรับการให้ทานในพระโสดาบัน(ว่าจะหวังผลได้มากแค่ไหน)
7) ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง
เจ๋ง ในพระสกทาคามี
9) ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
10) ในพระอนาคามี
11) ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
12) ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์
13) ในพระปัจเจกสัมพุทธ และ
14) ในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ ฯ

และพระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปอีกว่า

“ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น (ที่มีภิกษุทุศีลในหมู่สงฆ์) เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (ทานจำเพาะเจาะจงบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณา (ทานที่ไม่จำเพาะเจาะจงบุคคล) ที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย ฯ”

สำหรับเรื่องทานนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร  ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ”

ซึ่งอรรถกถาทานสูตรอธิบายเพิ่มเติมว่า

อามิสทานคือ การบริจาคปัจจัย ๔ ด้วยเจตนาตั้งใจให้

ส่วนธรรมทาน คือ การที่บุคคลในพุทธศาสนานี้ แสดงหรือแนะนำตามจริง เช่นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ  ธรรมเหล่านี้สมาทานให้บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้, กระทำกรรมและผลของกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรม ให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่าธรรมทาน

ส่วนบุคคลบางพวกชี้แจงสัจจะทั้งหลายให้แจ้งชัดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอภิญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปริญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปหาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นภาเวตัพพธรรม ดังนี้ แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่าธรรมทานขั้นสุดยอด

นอกจากนี้ อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา  ยังได้อธิบายความหมายของ
ธรรมทาน ว่าคือ การแสดงธรรมไม่วิปริตแก่ผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง

โดยมีรายละเอียดคือ

การชี้แจงประโยชน์อันสมควร นำผู้ยังไม่เข้าถึงศาสนาให้เข้าถึง ผู้เข้าถึงแล้วให้เจริญงอกงาม ด้วยทิฏฐธรรมิกประโยชน์ สัมปรายิกและปรมัตถประโยชน์. ในการแสดงธรรมนั้น พึงทราบนัยโดยสังเขปดังนี้ก่อน คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษและความเศร้าหมองของกามและอานิสงส์ในการออกจากกาม.

ส่วนโดยพิสดาร พึงทราบประดิษฐานและการทำให้ผ่องแผ้วในธรรมนั้นๆ ตามสมควร ด้วยสามารถการประกาศคุณของธรรมเหล่านั้นแก่ผู้มีจิตน้อมไปแล้วในสาวกโพธิญาณ คือ การเข้าถึงสรณะ การสำรวมศีล ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความรู้จักประมาณในการบริโภค การประกอบความเพียรเนืองๆ สัทธรรม ๗ การประกอบสมถะ ด้วยการทำกรรมในอารมณ์ ๓๘ การประกอบวิปัสสนา ด้วยหัวข้อคือการยึดมั่นตามสมควรในการยึดมั่นวิปัสสนาในรูปกายเป็นต้น. ปฏิปทาเพื่อความหมดจดอย่างนั้น การยึดถือความถูกต้อง วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ สาวกโพธิญาณ.

อนึ่ง พึงทราบการประดิษฐาน การทำให้ผ่องแผ้วในญาณทั้งสอง ด้วยการประกาศความเป็นผู้มีอานุภาพมาก ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ในฐานะแม้ ๓ อย่าง โดยหัวข้อประกาศมิสภาวะ ลักษณะและรสเป็นต้นของบารมีมีทานบารมีเป็นต้น ตามสมควรแก่สัตว์ทั้งหลายผู้น้อมไปในปัจเจกโพธิญาณ และในสัมมาสัมโพธิญาณ.  พระมหาบุรุษย่อมให้ธรรมทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

ทั้งนี้อรรถกถาทานสูตรกล่าวว่า

อามิสทานมีผลน้อยกว่าธรรมทานเพราะ อามิสคือปัจจัย ๔ เป็นเครื่องจับต้องด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น แต่การให้ธรรมทานนั้นทำให้บุคคลจะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงในวัฏฏะทั้งสิ้นได้และถึงพระนิพพาน และธรรมทานก็ป็นเหตุแห่งทานทุกอย่าง คือเป็นรากเง่าของสมบัติทั้งปวง

แล้วอภัยทานจัดอยู่ในหมวดใด?

ในอรรถกถาทานสูตร กล่าวว่า “อภัยทานพึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เข้ากันด้วยธรรมทานนั่นเอง” นอกจากนี้ อรรถกถาเวลามสูตร ยังสรุปว่าอภัยทานก็เป็นเหตุให้เกิดศีล ดังคำพูดที่ว่า “ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ชื่อว่าศีล เพราะตนให้อภัยทานแล้วแก่สัตว์ทั้งปวง”

และบางครั้งเวลากล่าวถึงทานนั้น หมายรวมถึง อามิสทานและอภัยทาน ดังรายละเอียดใน จวมานสูตร ซึ่งในสูตรนี้พระพุทธเจ้าตรัสถึงเทวดาที่กำลังจะจุติ (เคลื่อนจากสภาวะเทวดาไปสู่ภพอื่น) ว่าเพื่อนเทวดาจะอวยพรว่า ให้ไปสู่สุคติคือ โลกมนุษย์ และเมื่อเกิดแล้วขอให้ ทำบุญทำทานรักษาศีล ให้มาก และ มีศรัทธามั่นคงในพุทธศาสนา  และอรรถกถาจวมานสูตร กล่าวไว้ว่า คำว่าทานนั้นหมายถึงอามิสทานและอภัยทานด้วย

ส่วนในอรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา ได้จำแนกทานบารมีที่พระโพธิสัตว์กระทำ เป็น 3 อย่างคือ อามิสทาน, อภัยทาน, และ ธรรมทาน แต่ในจุดนี้ จะไม่ตรงกับพระพุทธพจน์ที่ไว้ใน ทานสูตร ว่า ทานมี 2 อย่างคือ อามิสทาน และ ธรรมทาน ดังนั้น อภัยทานจึงน่าจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมทาน ตามที่อรรถกถาทานสูตรได้กล่าวไว้ว สรุปได้ว่า อภัยทานจัดเป็นธรรมทานในระดับต่ำ ส่วนการให้ธรรมะปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์จัดเป็นธรรมทานในระดับสูงสุด

ดังนั้น คำพูดที่ว่า อภัยทานมีผลเหนือธรรมทาน ขอพึงทราบว่าเป็นคำพูดที่ผิด เป็นสิ่งที่จำมาผิดแล้ว ดังนั้นพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย  เพราะค้านกับพระพุทธพจน์ ที่ว่า

“สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ “
(การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทานทั้งปวง)

อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งหนังสือเล่มที่เป็นปัญหา ดังกล่าวนั้นได้ ออก version ใหม่โดยได้ปรับแก้บางส่วนคือ แก้จาก  อภัยทานมีผลเหนือธรรมทาน เป็น  ธรรมทาน มีผลเหนือกว่า อภัยทาน แล้ว แต่ในเนื้อหาของหนังสือก็ยังมีจุดที่ผิดอยู่คือ

2. การอธิบายเรื่อง วิหารทานมีผลเหนือสังฆทาน

ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ ไม่มีความรู้ในพุทธศาสนาดีพอ จึงกล่าวเช่นนี้ เพราะความจริงแล้ว สังฆทานคือการให้โดยไม่เจาะจงผู้รับกับสงฆ์ (ซึ่งก็คือหมู่พระตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป) ดังนั้น วิหารทานก็เป็นสังฆทานได้เช่นกัน ถ้าให้กับสงฆ์โดยไม่เจาะจงผู้รับ ดังนั้นจึงไม่ถูกต้องที่นำ วิหารทาน มาเปรียบเทียบกับ สังฆทาน

3. การแอบอ้างว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งหนังสือ เล่มที่ผิดนี้

ไม่ว่าจะเป็น version เก่า หรือ version ใหม่ก็ตาม ก็ไม่ใช่ หนังสือที่พระสังฆราชพระนิพนธ์ทั้งสิ้น โดยดูจากหลักฐาน ตามที่ พระ ดร. อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช ท่านได้ชี้แจงไว้ดังนี้

วิธีสร้างบุญบารมี เป็นพระนิพนธ์ ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณ สังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเรื่องหนึ่ง พระนิพนธ์เรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี มีพุทธศาสนิกชนมากมายนำไปพิมพ์เผยแพร่แจก ในโอกาสต่าง ๆ มากมาย แต่ปรากฏว่า ฉบับที่แจก กันอยู่นั้นหาได้เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระ สังฆราชไม่ แต่มีผู้ประสงค์ดีรวบรวมขึ้นมาและ ถวายพระนามของพระองค์เป็นผู้พระนิพนธ์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ว่ามิได้เป็นพระนิพนธ์
1. ขึ้นต้นอ้างพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่าน เจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป. ปยุตฺโต) ในการ
แปลคำว่า “บุญ” ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ไม่เคยอ้างคัมภีร์รุ่นหลัง ส่วนใหญ่พระองค์อ้าง
ชั้นบาลี และอรรถกถาทั้งนั้น

2. ในเนื้อเรื่อง พูดถึงอานิสงส์ของทาน ในเชิง หนังสืออานิสงส์ร้อยแปด ดังเช่นข้อความต่อไปนี้



ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงไม่เคย แสดงพระธรรมเทศนาในรูปแบบนี้ ถ้าได้ อ่านพระนิพนธ์ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช
เล่มอื่น ๆ ที่มีมากมาย จะเห็นได้ชัดว่าทั้งสำนวน และเนื้อหา หาได้เป็นพระนิพนธ์ในพระองค์ไม่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงได้นำพระนิพนธ์ เรื่อง วิธีสร้างบุญบารมี ที่ถูกต้องในสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัด บวรนิเวศวิหาร มาเผยแพร่แก่สาธารณชน เพื่อจัก ได้ไม่นำคำสอนที่ผิด ๆ ไปใช้หรืออ้างอิงในพระ นามของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช

นั่นคือ สรุปได้ว่า ใครก็ไม่รู้แต่งหนังสือวิธีสร้าง
บุญบารมีเล่มที่นิยมเผยแพร่กันนี้ขึ้นมา แล้วก็
กล่าวอ้างว่าพระสังฆราชเป็นผู้แต่ง โดยที่พระองค์
ไม่รู้เรื่องเลย

ดังนั้นเนื้อหาในหนังสือจึงกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปที่ค้านกับคำสอนของพระพุทธเจ้า และอรรถกถาจารย์ขึ้นมาได้ เพราะผู้แต่งไม่มีความรู้ในธรรมะดีพอ จึงทำให้ข้อความในหนังสือ วิธีสร้างบุญบารมีเล่มที่นิยมเผยแพร่กัน

“ไม่งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และ ในที่สุด”  (คือมีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน หรือไม่ถูกตามจริง)

ซึ่งต่างจากธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่ท่านแสดงไว้ดีแล้ว ดังปรากฏใน ทานสูตร  เรื่อง ธรรมทานเป็นเลิศกว่าทานทั้งปวง หรือ เรื่อง การเรียงลำดับผลของทานนั้น พระพุทธเจ้าก็แสดงไว้ดีแล้วใน ทักขิณาวิภังคสูตร

ดังนั้น จึงขอแจ้งประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า หนังสือวิธีสร้างบุญบารมีเล่มที่นิยมเผยแพร่กันนั้น

- มีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ถูกต้องตามพระพุทธพจน์
และ
- สมเด็จพระสังฆราชก็ไม่ได้เป็นผู้แต่งหนังสือเล่ม
ที่นิยมเผยแพร่กันนี้   แต่ท่านก็เคยนิพนธ์หนังสือวิธีสร้างบุญบารมีเหมือนกันซึ่งเป็นคนละเล่มกับที่คนส่วนใหญ่นำมาเผยแพร่

ซึ่งท่านสามารถอ่านต้นฉบับหนังสือ “วิธีสร้างบุญบารมี” ของแท้ที่ สมเด็จพระสังฆราช ทรงนิพนธ์ไว้ได้โดย คลิกที่นี่

เนื่องจากชื่อหนังสือเหมือนกัน (แต่เนื้อหาในเล่มไม่เหมือนกัน) จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่า หนังสือเล่มที่มีเนื้อหาผิดๆนั้น(ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่ง) เป็นผลงานของพระสังฆราชไปด้วย

สรุปก็คือ

1) ทานแบ่งเป็นสองประเภทคือ อามิสทาน และ ธรรมทาน (ตามพระพุทธพจน์)
2) ธรรมทานเป็นทานที่สูงสุด ชนะทานอื่นๆทั้งปวง
3) อภัยทานจัดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมทาน ไม่ใช่เหนือกว่าธรรมทาน
4) ธรรมทาน ในแง่ของการบอกวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ เหนือว่า ธรรมทานในแง่ของอภัยทาน
5) ผลการให้ทานที่จำเพาะเจาะจงบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะบริสุทธิ์แค่ไหนก็ตาม (แม้ผู้รับเป็นพระพุทธเจ้า) ก็ยังน้อยกว่าผลของทานที่ให้โดยไม่เลือกหน้าไม่เจาะจงใครในสงฆ์ หรือ สังฆทาน
6) วิหารทานก็จัดเป็นสังฆทานได้ ถ้าให้แก่สงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปโดยไม่เจาะจง (ไม่ใช่เหนือกว่าสังฆทาน)
7) สมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้เป็นผู้นิพนธ์หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมีเล่มที่มีเนื้อหาผิดๆ

อ้างอิง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
(http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=1162&Z=1243)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต  ทานสูตร
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6453&Z=6470

IP : บันทึกการเข้า
naylex
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,993



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 13 กันยายน 2014, 17:13:13 »

สรุป ทาน มี ๒ ชนิด คือ
อามิสทาน กับธรรมทาน  พระศาสดายกให้ธรรมทานเป็นเลิศกว่าอามิสทาน
ส่วนอภัยทาน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมทาน ไม่อาจเทียบกับธรรมทานได้

ส่วนหนังสือที่กล่าวอ้างกันนั้น สรุปว่าเป็นการแอบอ้างพระนามสมเด็จพระสังฆราช

ข้อมูลเป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
IP : บันทึกการเข้า

ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดั่งใจจง
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 14 กันยายน 2014, 18:06:35 »

สรุป ทาน มี ๒ ชนิด คือ
อามิสทาน กับธรรมทาน  พระศาสดายกให้ธรรมทานเป็นเลิศกว่าอามิสทาน
ส่วนอภัยทาน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมทาน ไม่อาจเทียบกับธรรมทานได้

ส่วนหนังสือที่กล่าวอ้างกันนั้น สรุปว่าเป็นการแอบอ้างพระนามสมเด็จพระสังฆราช

ข้อมูลเป็นเช่นนี้หรือไม่ครับ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ

ใช่ครับ !!
IP : บันทึกการเข้า
nantong
ปั๋น กั๋นฮู้ แล้วก่อยเอาไปกึ๊ดอ่าน กั๋น แหมกำ อาจมีผิดถูก ฯ
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,579



« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 15 กันยายน 2014, 02:38:57 »

ไหว้สา  พระธัมมวินัย  สายบุญ


อิดเนาะ  กว่าจะแล้ว  แหมะฮาก  สมกำพระพุทธเจ้า ว่า  เป๋น สัตถู กับ คนหลวกแหลม     ดีเหลือ  คบคนง่าว เป๋น เจ้าหมู่     
กราบอนุโมทนยาบุญ ตี่ ต่านสุนันท์   มาจ่วยแก้  จ่วยเขย ปั๋ญหาธัมม์   

  เปิ่น ว่า ตบหัว แล้วมา ลูบหลัง    ยังดีเหลือ    ตบหัว แล้ว ตี๋นตื้บหลัง  น่อ 


สาธุ ๆ ๆ  อนุโมทามิ


ระยะทาง  กาลเวลา  ย่อม  พิสูจน์คน กับ ม้า                  แฮ่  ยิงฟันยิ้ม            จุ๊บ  จุมพิต 



IP : บันทึกการเข้า

หนานขี้อู้หำยาน : นายจิราวัฒน์  โสรัจพงศ์เกษม / หนานธง   อีเมล : k e n g k a b h e n g @ g m a i l . c o m    มือถือ  081 777  51 76
nantong
ปั๋น กั๋นฮู้ แล้วก่อยเอาไปกึ๊ดอ่าน กั๋น แหมกำ อาจมีผิดถูก ฯ
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,579



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 15 กันยายน 2014, 02:42:27 »


        กระทู้ ข้างบน  คำว่า        กราบอนุโมทนยาบุญ          กรุณาแก้ไข เป็น         กราบอนุโมทนาบุญ
IP : บันทึกการเข้า

หนานขี้อู้หำยาน : นายจิราวัฒน์  โสรัจพงศ์เกษม / หนานธง   อีเมล : k e n g k a b h e n g @ g m a i l . c o m    มือถือ  081 777  51 76
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!