นักธรณีวิทยา รับแปลกใจแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ เกิดในรอยเลื่อนพะเยา ทั้งที่ค่าเฉลี่ยสูงสุดไม่น่าเกิน 5 ริกเตอร์ แนะจับตารอยเลื่อนแม่จัน หลังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานมานานกว่าพันปี
จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 6.3 ริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนพะเยา จนพื้นที่บริเวณใกล้เคียงรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายนั้น
ดร.ปัญญา จารุศิริ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปรากฎการณ์ในครั้งนี้ ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่รุนแรงมากในประเทศไทย ซึ่งนักธรณีและนักวิชาการหลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงถึงขนาด 6.3 ริกเตอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดในบริเวณรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแขนงหรือรอยเลื่อนลูก ของรอยเลื่อนแม่จันซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก พาดผ่านตั้งแต่ อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เรื่อยไปจนถึง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยค่าจากการคาดการณ์แผ่นดินไหวในรอยเลื่อนขนาดลูก น่าจะอยู่ที่ 4-5 ริกเตอร์
ดังนั้น เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องใหม่ ที่นักธรณีและนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาให้ความสนใจกับรอยเลื่อนขนาดเล็กมายิ่งขึ้น
ภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังแผ่นดินไหวมากที่สุด เนื่องจากทั่วทั้งภาคมีรอยเลื่อนที่มีพลังกระจายอยู่ถึง 8 รอยเลื่อน แต่ละแห่งจะมีการสะสมพลังและปลดปล่อยออกมา แต่หากสะสมไว้มากโดยที่ไม่มีการปลดปล่อยเลย ก็จะทำให้เมื่อรอยเลื่อนปลดปล่อยพลังในแต่ละครั้งจะเกิดการสั่นสะเทือนรุนแรง จนสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่อย่างเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้
"สิ่งที่ต้องจับตามองและให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อจากนี้ คือการที่รอยเลื่อนแม่จันซึ่งเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ยังไม่เคยปลอปล่อยพลังเลยในระยะเวลากว่าพันปี ทั้งที่ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว รอยเลื่อนในประเทศจีนได้ปลดปล่อยพลังจนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ถัดมาอีก 2 ปี รอยเลื่อนในประเทศพม่า ก็เคลื่อนตัวเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 2 รอยเลื่อนนั้นอยู่เหนือรอยเลื่อนแม่จันขึ้นไป จึงน่าแปลกใจที่เหตุการแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ข้ามผ่านรอยเลื่อยแม่จันไปเกิดยังรอยเลื่อนพะเยา ตรงนี้จึงต้องเฝ้าระวังและจับตามองเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด" ดร.ปัญญา กล่าว
สำหรับแนวทางป้องกันความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน คือต้องไม่พัฒนาขยายเมือง หรือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณี ในการสำรวจและออกประกาศเขตรอยเลื่อนให้ชัดเจนและเป็นทางการ แต่ในส่วนของอาคารบ้านเรือนเก่าที่ตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อน ก็ถือว่าอยู่ในความเสี่ยงสูงหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง เนื่องจากการก่อสร้างในสมัยก่อนยังไม่ได้มีการคำนึงถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหว จึงไม่ได้มีการออกแบบรองรับแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่
ภาพรอยเลื่อนในประเทศไทย ที่มาจาก แหล่งข้อมูลวิชาการธรณีไทย:Geothai.net
กรมทรัพจับตา 5 รอยเลื่อนชี้ 14 จว.เหนือเสี่ยงดินถล่ม
กรมทรัพยากรธรณีชี้แผ่นดินไหวจ.เชียงรายรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ไทย คาดไม่เกิดซ้ำอีก ตั้งวอร์รูม-ส่งทีมตรวจสอบ จับตา 5กลุ่มรอยเลื่อนภาคเหนือ เฝ้าระวังดินถล่มช่วงหน้าฝน 14 จังหวัดภาคเหนือ แนะทบทวนกฎหมายก่อสร้างอาคารสูง พร้อมยืนยัน รอยเลื่อนพะเยาว์จะไม่เกิดแผ่นดินไหวซ้ำ
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2557 เวลา 13.00 น. ที่กรมทรัพยากรธรณี นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการแถลงข่าว”กรณีแผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ จังหวัดเชียงราย” ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อ.พานจ.เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นเกิดการเลื่อนตัวที่มีพลังของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นการเลื่อนตัวในแนวราบแบบเหลื่อมซ้าย ถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50-100 ปีของประเทศไทยเพราะกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาเคยเกิดการเลื่อนตัวก่อนหน้านี้เมื่อปี 2537 ทำให้เกิดแผ่นดินไหว 5.2 ริกเตอร์
แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งล่าสุดนี้ มีความรุนแรงถึง 6.3 ริกเตอร์ เกิดหลุมลึกกว่า 7 กิโลเมตร และมีอาฟเตอร์ช็อกที่มีความรุนแรง 4.1-4.2 ริกเตอร์จำนวน 19 ครั้งมากกว่าในช่วง 20 ปีก่อนที่กลุ่มรอยเลื่อนพะเยาเคยเกิดการเลื่อนตัวเมื่อปี 2537 ทำให้เกิดแผ่นดินไหว 5.2 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯมีเพียงผู้อยู่อาคารสูงในกรุงเทพฯที่รู้สึกไดถึงความสั่นไหว ขณะนี้กรมได้ตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังและส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาและรอยเลื่อนใกล้เคียงแล้ว รวมทั้งคอยช่วยเหลือประชาชนในภาคเหนือและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆแล้ว
นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่กลุ่มรอยเลื่อนพะเยานั้นคาดว่าจะไม่เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีกในช่วงนี้เพราะพลังงานการเลื่อนตัวของกลุ่มรายเลื่อนพะเยามีความมั่นคงแล้ว จะเกิดขึ้นเป็นรอบ 10-20 ปีเท่านั้น ซึ่งการเฝ้าระวังเบื้องต้นนี้กรมฯได้ส่งทีมนักธรณีวิทยาลงไปขุดดูการเลื่อนตัวของดินในกลุ่มรอยเลื่อน 5 กลุ่มได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนบัว กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิงและกลุ่มรอยเลื่อนเถินเพื่อดูว่าพลังการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาส่งผลถึงรอยเลื่อนอื่นๆมากน้อยเพียงใดและในพื้นที่ใดบ้าง
นอกจากนี้ กรมฯจะต้องเร่งปักหมุดเพื่อดูตำแหน่งการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆในประเทศไทยที่มีทั้งหมด 14 กลุ่มรอยเลื่อนกระจายอยู่ใน 22 จังหวัดให้ครอบคลุมทั้งหมด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร และจะต้องเฝ้าระวังดินถล่มในฤดูฝนใน 14 จังหวัดในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาในระยะ 30-40 กิโลเมตร เนื่องจากผลจากการเลื่อนตัวของดินทำให้ดินกับน้ำแยกตัวกัน ส่งผลให้เนื้อดินไม่แน่นเช่นเดิม นอกจากนี้ ในส่วนของกรุงเทพฯและสมุทรปราการก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกันเพราะมีโอกาสดินทรุดได้ง่าย หากอนาคตเกิดแผ่นดินไหวโดยเฉพาะสมุทรปราการที่เป็นพื้นที่ดินอ่อนทรุดตัวได้ง่าย
นายวรศาสน์ กล่าวอีกว่า ส่วนการป้องกันเรื่องของอาคารสูงทรุดตัวนั้น ขณะนี้มีกฎหมายในเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงซึ่งกำหนดให้ต้องมีการวางรากฐานและโครงสร้างเพื่อให้รองรับเหตุแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์ แต่ไม่ได้เป็นการบังคับอย่างเด็ดขาด จะให้เจ้าของอาคารพิจารณาเองว่าควรวางรากฐานและโครงสร้างเพื่อให้รองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์หรือไม่เพราะโครงสร้างอาคารเช่นนี้มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตาม ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาพิจารณาว่าควรทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้เข้มงวดขึ้นหรือไม่โดยกำหนดให้อาคารสูงที่อยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวต้องมีการวางรากฐานและโครงสร้างอาคารให้รองรับแผ่นดินไหวได้มากถึง 7 ริกเตอร์
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนในพื้นที่สบายใจได้ในระหนึ่ง เนื่องจากในทางธรณีวิทยาหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในบริเวณใด หลังจากอาฟเตอร์ช็อคสงบลง พื้นที่ดังกล่าวจะมีความเสถียรภาพ ในระยะเวลาอันใกล้จึงจะยังไม่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงซ้ำ
ขอบคุณข่าวจากสำนักข่าว NNA
ที่มา
http://www.oknation.net/blog/hothothot/2014/05/06/entry-2