เชียงราย - ผู้ว่าฯ เชียงรายเผยกลุ่มนายทุนถ่านหินฯ เครืออิตัลไทย จ้องหาช่องทางขนถ่านหินลิกไนต์ใหม่ คาดผ่านด่านแม่สายท่าขี้เหล็กแทน หลังเจอแรงต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ห้ามขนผ่านดอยแม่สลอง ขณะที่ส่วนท้องถิ่นแคลงใจ หากผ่านด่านแม่สายจริง ก็ยังหวั่นกระทบต่อถนนเข้าเมืองพหลโยธิน-แม่สาย ที่ต้องขนส่งถ่านหินวันละหลายพันตัน 
วันนี้(25 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่า กรณีกลุ่มอิตัลไทยโดยบริษัทสระบุรีถ่านหิน จำกัด ได้ขออนุญาตเปิดจุดนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ จากเหมืองเมืองก๊ก ประเทศพม่า ผ่านเข้ามาทางชายแดนไทย-พม่า ด้านหมู่บ้านม้งเก้าหลัง หมู่ 9 ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง ล่าสุดผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ขั้นตอนให้บริษัทไปศึกษาผลกระทบและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ แต่ถูกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอและภาคประชาชนในหลายตำบลที่จะได้รับผลกระทบคือ ต.เทอดไทย ต.แม่ฟ้าหลวง ต.แม่สลองนอก ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง และ ต.ป่าซาง ต.แม่คำ อ.แม่จัน ออกมาต่อต้านนั้น
ล่าสุดทางบริษัทสระบุรีอาจจะหันนำเข้าผ่านจุดผ่านแดนปกติ คือ จุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย จ.เชียงราย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบันมีการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 และด่านศุลกากรรองรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าครบวงจรอยู่ที่หมู่บ้านสันผักฮี้ หมู่ 13 ต.แม่สาย อ.แม่สาย
โดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า มีกระแสว่าหลังจากชาวบ้านได้ออกมาแสดงพลังตามเวทีต่างๆ ไปแล้วหลายครั้ง เพื่อต่อต้านการนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ของเอกชนดังกล่าว ได้ทำให้ทางบริษัทสระบุรีความพยายามที่จะเปลี่ยนจุดนำเข้าใหม่เพื่อลดกระแสต่อต้าน คาดว่าจะนำเข้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ เพื่อนำเข้าและส่งออกสินค้าชายแดนไทย-พม่า อย่างเป็นทางการ และหากสามารถผลักดันได้สำเร็จก็คงจะสามารถนำเข้าได้เหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ ตามปกติ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น พิธีการทางศุลกากร น้ำหนักบรรทุกของสินค้าไม่มากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้ถนนเสียหาย เป็นต้น
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามก็ยังมีกระแสจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นอีกทางหนึ่งว่าแม้จะนำเข้าจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ตามปกติ แต่พวกเขาก็ยังไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะเอ็นจีโอ เพราะยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบต่อการจราจรบนถนนพหลโยธิน ซึ่งต้องผ่าน จ.เชียงราย ไปตลอดแนว และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันอีกยาวนาน ซึ่งในส่วนของจังหวัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เปิดรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย รวมทั้งได้นำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอต่อเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้มอบหมายให้นายสุรชัย ลิ้นทอง รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรคณะต่างๆ ที่ศึกษาข้อมูลว่าปัจจุบันมีรายละเอียดโครงการอย่างไร ขั้นตอนไปถึงไหนและการตอบสนองขององค์กร หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างไรแล้ว
ด้านแหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จ.เชียงราย ระบุว่า ปัจจุบันเอกชนที่ขออนุญาตนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารประเทศพม่าให้สามารถนำเข้าถ่านหินจากเหมืองเมืองก๊ก มาทางชายแดนไทย-พม่า ด้านหมู่บ้านม้งเก้าหลังเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการก่อสร้างถนนจากเหมืองมาจ่อที่ชายแดนบริเวณนั้นแล้ว เพราะใกล้ที่สุด โดยมีระยะทางเพียงประมาณ 68 กิโลเมตร หากขนถ่านหินจากเมืองก๊กขนานชายแดนในเขตประเทศพม่าไปยังท่าขี้เหล็ก เพื่อนำเข้าทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย ก็จะเกิดผลกระทบตามรายทางจากเมืองก๊กไปยังท่าขี้เหล็ก อีกทั้งยังต้องขออนุญาตไปยังรัฐบาลทหารพม่าอีกรอบด้วย
ขณะที่กลุ่มต่อต้านโดยนายวุฒิพงศ์ สุวรรค์โชติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่สลองนอก กล่าวว่า หากมีการขออนุญาตนำเข้าทางจุดผ่านแดน อ.แม่สาย ได้จริงพวกเราก็ยังสงสัยอยู่ว่าด้วยสภาพการจราจรบนถนนพหลโยธินสายแม่สาย-เชียงราย และต้องขนส่งต่อไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทที่ จ.สระบุรี จะส่งผลกระทบในการสร้างความแออัดให้กับการจราจรหรือไม่ เพราะจะต้องมีการขนถ่านหินลิกไนต์ด้วยรถบรรทุกพ่วงขนาด 6-10 ล้อวันละ 200 คันๆ ละ 15-26 ตัน หรือวันละกว่า 5,200 ตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวดอยแม่สลองและอีกทั้ง 5 อำเภอออกมาต่อต้านไม่เห็นด้วย และเมื่อขนส่งทางพื้นราบจาก อ.แม่สาย -สระบุรี ก็ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนที่จะได้รับผลกระทบด้วยว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ต่อไป
ทั้งนี้บริษัทสระบุรีถ่านหิน จำกัด ได้สัมปทานทำเหมืองถ่านหินที่เมืองก๊ก ประเทศพม่า เมื่อ 2551 เป็นระยะเวลายาว 30 ปี และสำรวจแล้วพบว่ามีถ่านหินลิกไนต์สำรองอยู่กว่า 110 ล้านตัน
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000134889