ธัญสิรินทร์ครับ ต้นเตี้ย เป็นกข6 เหมือนกัน ที่ต้นเตี้ยเพราะว่า ข้อถี่ ทนลม ข้าวไม่ล้ม
ผมปลูกนาปี ที่ผ่านมาข้าวไม่มีล้มสักกะต้น
ที่ผมหาไม่ใช่พันธุ์ธันสิริน(นาปีที่ผ่านมาผมก็ปลูกธันสิริน) แต่เป็นพันธุ์ที่พัฒนาต่อยอดจากธันสิรินอีกที ตามข่าวนี้ครับ
ด้าน นายธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ไบโอเทค ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลก เรียกว่าพันธุ์ข้าว กข 6 ต้นเตี้ย โดยเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553
นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลก ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมหรือข้าวจีเอ็มโอ แต่เป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามขั้นตอนปกติ อาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 และธัญสิริน แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้กับโรคขอบใบแห้ง ทั้งยังมีขนาดลำต้นที่เตี้ยหรือสั้นกว่าพันธุ์ธัญสิริน ใช้เวลาในการปลูก และเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย ทนทานต่อแรงลมเนื่องจากมีขนาดลำต้นที่เตี้ย เหมาะกับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร ต้นไม่ล้มแข็งแรง เมล็ดเรียว ขัดสีไม่แตกหัก ผลผลิตต่อไร่สูงคือระหว่าง 800-1,200 กิโลกรัม จะทำให้ผลผลิตเหลือจากการบริโภคและสามารถนำไปจำหน่ายได้มากขึ้น
"ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ต้นเตี้ยขณะนี้ปลูกกระจายใน จ.น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง และเคยเก็บเกี่ยวออกมาแล้ว ส่วน ชื่อที่เป็นทางการนั้นยังไม่ได้ตั้ง ถ้าจะขอพระราชทานชื่อต้องเป็นเรื่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯต้องให้ผู้ใหญ่เป็นผู้ดำเนินการ" นายธีรยุทธกล่าว