.....
ดร.ดิ เรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวถึง การยกเลิกการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำประกาศยกเลิกการรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 100 หลักสูตร ตามมติกรรมการคุรุสภา เมื่อวันที่ 19 ส.ค.53 เพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น หากสถาบันใดจัดการเรียนการสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต หลังวันที่ 19 ส.ค. ก็จะไม่ได้รับการรับรองจากคุรุสภา และจะไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ แต่สำหรับหลักสูตร หรือโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดการเรียนการสอนก็ให้ดำเนินการต่อไปให้ แล้วเสร็จ โดยให้สภามหาวิทยาลัยรับรองมายังคุรุสภา
“ประกาศดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า เป็นการยกเลิกหลักสูตร ป.บัณฑิต แต่ต่อไปการรับรองจะรับรองเป็นรายโครงการ โดยสถาบันที่จะเปิดหลักสูตร ป.บัณฑิต จะต้องทำโครงการเสนอขออนุมัติ โดยมีรายละเอียดของแผนการผลิตที่ชัดเจนว่าจะผลิตจำนวนเท่าไร จำนวนกี่ปี เพื่อให้คุรุสภาไปทำหลักเกณฑ์ในการรับรองโครงการนั้น ๆ เรื่องนี้จะไม่เป็นการรับรองแบบชั่วนิรันดร์ หรือขอครั้งเดียวแต่เปิดหลาย ๆ รุ่น การที่คุรุสภาต้องดำเนินการเช่นนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถาบันผลิตครูจะผลิตบัณฑิตปริญญาตรี และ ป.บัณฑิต รวมกันไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นคน ขณะที่ มีอัตราบรรจุ หรือจ้างรวมกันทุกสังกัดมีเพียง 1 หมื่นคน ทำให้มีผู้ตกงานหลายหมื่นคน ทั้งยังมีสะสมจากปีที่ผ่านมาอีกกว่า 1 แสนคน จึงจำเป็นที่คุรุสภาจะต้องรีบแก้ไข เพราะถ้าปล่อยไว้เช่นนี้เราจะไม่มีทางได้คนเก่ง หรือคนที่ตั้งใจที่จะมาเป็นครู” ดร.ดิเรก กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร กำลังพัฒนาหลักสูตร ป.บัณฑิต มาเป็นหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียนมากกว่า คือ ต่อไปแทนที่จะเรียนปริญญาตรี 4 ปี แล้วมาต่อ ป.บัณฑิต 1 ปี หรือ 4+1 ก็เป็นปริญญาตรี 4 ปี แล้วเรียนต่ออีก 2 ปี หรือ 4+2 เมื่อจบออกมาแล้วก็จะได้รับวุฒิปริญญาโท และจะได้รับเงินเดือนแรกบรรจุในอัตราปริญญาโท ซึ่งจะดีกว่าจบหลักสูตร ป.บัณฑิต นอกจากนี้ ตนยังได้เตรียมเสนอรัฐบาล เพื่อปรับหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่จากหลักสูตร 5 ปี เป็นหลักสูตร 5+1 ซึ่งเป็นการเรียนควบปริญญาตรี และปริญญาโทรวดเดียวจบ.
ที่มา:
http://www.dailynews.co.th