เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 01:11:11
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รำรึกวันปิยะมหาราช
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน พระมเหสีในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รำรึกวันปิยะมหาราช  (อ่าน 7133 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 17:48:03 »

สำหรับพระพุทธเจ้าหลวง มีพระมเหสีที่เป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ได้แก่

๑.     ระดับอัครเมเหสี ๓ พระองค์ คือ
    ๑.๑  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
    ๑.๒  สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
    ๑.๓  สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

          ๒. ระดับพระมเหสี ๒ พระองค์ คือ
               ๒.๑ สมเด็จพระสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี
               ๒.๒ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา นราธิราชบุตรี (ไม่ได้ทรงสถาปนาฯ แต่เป็นเชื้อพระวงศ์ ทรงได้ตั้งแต่ทรงพระยศเจ้าฟ้าฯ  ถวายพระประสูติกาลเจ้าฟ้าชาย พระองค์แรก แต่ทรงสิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ)

         ๓. ระดับพระอัครชายา ๓ พระองค์ คือ
               ๓.๑พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ในรัชกาลที่ 5
               ๓.๒พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ในรัชกาลที่ 5
               ๓.๓พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ในรัชกาลที่ 5

๔. ระดับพระราชชายา ๑ พระองค์ คือ
      ๔.๑ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

     ลำดับที่ ๑ และ ๒ รวม ๕ พระองค์ เป็นชั้นลูกหลวง หมายถึงเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์

     ลำดับที่ ๓ รวม ๓ พระองค์ เป็นชั้นหลานหลวง หมายถึงเป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์

     ลำดับที่ ๔ ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงใหม่

นอกนั้นเป็นเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม รวมแล้ว อีก ๖๒ ท่าน



สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม)
เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษภคินีอีก 2 พระองค์ ได้แก่
พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี )
และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น
พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกของไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 66
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม
(ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)
ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศก จ.ศ. 1225
ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมราชบิดาเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 10 ค่ำ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ
เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี จึงเปลี่ยนเป็น
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี  สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440
จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถจรรยนุวัติปฏิบัติ
ประกอบด้วยพระราชอัธยาศัยสภาพสมด้วยพระองค์เป็นขัติยนารีนาถ และกอปรด้วยพระกรุณภาพยังสรรพกิจทั้งหลาย
ที่ได้พระราชทานปฏิบัติมาล้วนแต่เป็นเกียรติคุณแก่ประเทศสยามทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
เฉลิมพระนามาภิไธย จาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ
เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศไทย
หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี
พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระราชประเพณีได้เคยมีมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกใหม่
ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศแลเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระพันปีหลวงฉลองพระเดชพระคุณเป็นปฐม
เพื่อเป็นศุภมงคลและราชสมบัติ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า
"สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี"

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงพระประชวรเรื้อรัง มีอาการไข้
รวมทั้งมีอาการพิษขึ้นในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) จึงเสด็จสวรรคตวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 พระชนมายุ 55 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระบรมศพ
และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพประกอบพระลองทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
มุขตะวันตก ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี




สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

หรือที่ชาวบ้านเรียกพระนามว่า สมเด็จพระนางเรือล่ม (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 — 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 )
มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403
เป็นพระเจ้าลูกเธอรุ่นเล็ก ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์ โดยรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้า
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรทั้ง 2 พระองค์ ได้แก่
พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม
ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้คือ วัดกู้)พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา
และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาอีกด้วย
ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์
ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา (10 กันยายน พ.ศ. 2405 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498)
 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม
(ภายหลังเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405
เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก ลำดับที่ 60 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์
โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนี (แม่) ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย
พระมาตุจฉาเจ้า (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
 และพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ
และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ



นอกจากนี้ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดง
อันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียว
และองค์สภานายิกา สภากาชาดไทย พระองค์ที่ 2 และทรงสร้างสถานพยาบาลขึ้น ปัจจุบัน คือ
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาดไทย
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก
เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555
ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม
พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ





สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ 5

หรือที่ถวายเรียกกันว่า เสด็จพระนาง เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสกุลบุนนาค เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกาตรีศก จ.ศ. 1223 (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2404)
ทรงร่วมเจ้าจอมมารดากับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบงเบิกบาน และ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี
หรือเสด็จอธิบดี ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระราชเทวี ในรัชกาลที่ 5
พระองค์เป็นพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์แรกที่มีพระชนม์
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้รับการสถาปนาไว้ในที่
"สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี" สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 7
เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. 1289 (9 กรกฎาคม พ.ศ. 2470)
ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ 66 พรรษา




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ และเป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ประสูติพระราชบุตร  พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์
ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิต) เจ้าเมืองตราด
ทรงมีพระชันษาแก่กว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งพรรษา
ทรงมีพระขนิษฐา พระอนุชา ร่วมเจ้าจอมมารดา 4 พระองค์ คือ
พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พระองค์เจ้ามัณยาภาธร
พระองค์เจ้าศุขสวัสดี
พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

พระบาทสมเด้จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
เป็นพระภรรยาเจ้าระดับ "ลูกหลวง" พระองค์แรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2413 ทรงประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส
เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2415 เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่ 5
สมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติแต่พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
ทรงเป็น เจ้าฟ้าลูกหลวงเอก พระองค์แรกในรัชกาล ทรงสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเสียพระทัยมากจนสูญเสียพระจริต ไม่สามารถรับราชการต่อไปได้
ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดพระชนม์ชีพ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี
กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา
ไปบริบาลที่พระตำหนักสวนกุหลาบ จนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449
ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยนานถึง 34 ปี




พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ในรัชกาลที่ ๕

หรือพระนามเดิม หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เป็นพระธิดาพระองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๗
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อประสูติทรงประทับอยู่ที่วังของพระบิดา
โดยมีกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว) ทรงเป็นผู้อภิบาล
ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน ๒ พระองค์
และได้ถวายพระองค์เป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสามพระองค์ คือ

หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีทรงอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ
หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงมีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ
เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร ประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ต่อมาทรงเฉลิมพระยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ หรือ สมเด็จหญิงใหญ่
หม่อมเจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรมาก
ถึงกับทรงตั้งพระทัยจะให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีทีเดียว
แต่ว่าหม่อมเจ้าเสาวภาคยนารีรัตนมีพระพลานามัยไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ประสูติพระราชธิดาพระองค์ ๑ แล้ว
ก็ประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา จนกระทั่ง สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๐
พระองค์ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศหลังจากสิ้นพระชนม์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าออกพระนามว่า
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐
เสมอพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง ตามตำแหน่งพระอรรคชายาเธอ
ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสูญเสียพระอรรคชายาเธอ
พระราชโอรส และพระราชธิดาถึง ๓ พระองค์ ในปีเดียวกัน คือ
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑
เพื่อระลึกถึงพระอรรคชายาเธอ พระราชโอรส และพระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกัน
อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ทำด้วยหินอ่อนแกะสลักพระรูปเหมือนทั้ง 4 พระองค์ ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม
ที่พระราชวังบางปะอิน




พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา

ทรงเป็นพระเชษฐภคินี ( พี่สาว ) ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์
และ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า
หม่อมเจ้าบัว ประสูติ ณ วันอาทิตย์เดือน 12 แรม 6 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2390

พระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา
ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ
ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของสวนสวรรค์ซึ่งในปัจจุบันพระตำหนักที่ประทับของพระอัครชายาเธอ
พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา ไม่มีแล้วคาดว่าจะถูกรื้อลง
เนื่องจากสภาพความชำรุดทรุดโทรมที่ยากจะซ่อมแซม

พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัญญา
สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ทรงมีพระชนมายุ 53 พรรษา 10 เดือน กับ 17 วัน
ดังปรากฎในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 18 ตอนที่ 29 วันที่ 20 ตุลาคม ร.ศ. 120 หน้า 521 ดังต่อไปนี้

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนี้
มีเหตุอันเป็นที่น่าสลดใจเกิดขึ้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท คือ พระอัครชายาเธอ
พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค มาประชวรเป็นพระโรคจุกแน่นแลกระตุกลง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม
รัตนโกสินทร์ศก 120 แพทย์หลวงได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึงวันที่ 15 ตุลาคม
เวลาบ่าย 4 โมง 45 นาที พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค สิ้นพระชนม์




พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา

พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดีและเจ้าจอมมารดาจีน
ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๖ ทรงเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอ
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค
กรมขุนอรรควรราชกัลยา และ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี

หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ เมื่อประสูติทรงประทับอยู่ที่วังของพระบิดา
โดยมีสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ทรงเป็นผู้อภิบาล ทรงมีพระเชษฐภคินีที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีน ๒ พระองค์
และได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันทั้งสามพระองค์ คือ
หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีพระอิสริยศักดิ์เป็น
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนอรรควรราชกัลยา
หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์ เมื่อเป็นพระมเหสี ทรงมีพระอิสริยศักดิ์เป็น
พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าทรงอิสริยศักดิ์เป็น พระอรรคชายาเธอ
มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน
อีกทั้งทรงเป็นผู้ที่ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณตำบลสวนมะลิ
ถนนบำรุงเมือง อุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์
ทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาเลี้ยงดู สอนให้เล่าเรียน และฝึกวิชาชีพทั้งหญิงและชาย
ทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ในสมัยหนึ่งอีกด้วย

พระวิมาดาเธอฯ ทรงประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์สิ้นพระชนม์
ณ ตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒
โดยได้รับพระราชทานโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ และได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ในวันออกพระเมรุ
พระราชทานเพลิงพระศพ (พระโกศทองใหญ่ เป็นพระโกศชั้นสูงสุดสำหรับทรงพระบรมศพ พระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี)




พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม
เจ้าหญิงผู้เป็นดั่งดวงประทีปแห่งล้านนา ผู้มากด้วยพระอัจฉริยภาพ
เจ้าหญิงผู้ทรงพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรมแห่งแผ่นดินล้านนา เจ้าหญิงผู้เสด็จลงมาถวายตัว
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยเหตุทางการเมือง ก่อเกิดเป็นตำนานรักอันยิ่งใหญ่ระหว่างสองพระองค์ที่ยากจะพรรณนา

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าหญิงดารารัศมี"
พระนามลำลองเรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง"
ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน ๑๐)
หรือตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเวลา ๐๐.๓๐ น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่
(ที่ตั้งของ "ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม) เป็นพระราชธิดาใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์
กับ แม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี ซึ่งแม่เจ้าเทพไกรสรนั้นทรงเป็นพระราชธิดาใน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
และพระมหาเทวี เจ้าหญิงดารารัศมี มีพระพี่นางร่วมพระโสทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าหญิงจันทรโสภา
เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน
ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆจนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้น
ดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว ในด้านการกีฬานั้นเล่า ก็ทรงโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์
และดำรงพระองค์เป็นที่สักการะเทิดทูนในหมู่พสกนิกรชาวล้านนา ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ
ได้ทรงประทับอยู่ใน พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม พระตำหนักที่
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างถวายแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติ
และข้าราชบริพารในพระองค์อย่างมีความสุขเป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี
ตกกระทั่งวันที่ ๓๐ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ)
นายแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่
แต่พระอาการก็ยังคงมีแต่ทรงกับทรุด พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา
(เจ้าแก้วนวรัฐนั้นประสูติแต่หม่อมเขียว ในพระเจ้าอินทวิชยานนท์)
จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติ
จะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ และเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา
ความทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังกรุงเทพฯ
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ กับได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ช่วยในการรักษาพระอาการ และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำวัน
ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่
ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร
ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากอินโดนีเซียส่งมาทางเครื่องบิน เพื่อฉายดูพระปัปผาสะ
เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖
เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชนมายุ ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 18:35:26 โดย maekok_14 » IP : บันทึกการเข้า
city
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 729



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 18:10:57 »

ขอบคุณ สำหรับข้อมูลดีๆ ครับ
IP : บันทึกการเข้า
army2007
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 306



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 18:55:51 »

ขอบคุณมากค่ะ
IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 22 ตุลาคม 2012, 21:10:33 »

ด้วยความยินดีครับ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า
WH_Y
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,222



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 27 ตุลาคม 2012, 21:12:45 »

..ขอบคุณเจ้าสำหรับข้อมูล.. ยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!