เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 12:57:32
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  เครื่องสักการะชาวล้านนา ศรัทธาที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน เครื่องสักการะชาวล้านนา ศรัทธาที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 17461 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 23 สิงหาคม 2012, 22:19:17 »

ดินแดนที่เรียกขานกันว่าอาณาจักรล้านนาไทยนับแต่อดีตกาลนั้น  เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลาช้านาน  ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมา  ซึ่งเราจะเห็นได้จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนาที่มีวัดเป็นศูนย์รวมของจิตใจ กิจกรรม  รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่นำเอาหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และถือปฏิบัติต่พระพุทธศาสนามาจนกระทั่งปัจจุบัน



แม้กาลเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปีแล้วก็ตาม  แต่วิถีคนเมือง หรือคนล้านนาก็ยังคงสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไม่เสื่อมคลาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีต่อพระพุทธศาสนาซึ่งปัจจุบันชาวล้านนายังคงให้ความสำคัญกับประเพณีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  วิถีชีวิตที่ยังคงเห็นผู้คนออกมาตักบาตรพระสงฆ์ในยามเช้า  หรือผู้คนถือสลุง(ขันดอกไม้) ไปวัดในวันพระ วันปี๋ใหม่เมือง(วันสงกรานต์) วันเข้าพรรษา-วันออกพรรษา วันยี่เป็ง หรือวันสำคัญๆ ต่างๆ มีการจัดเตรียมข้าวของสำรับอาหาร ภาษาเหนือจะเรียกว่าการแต่งดา  เพื่อนำไปถวายพระและอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว  ซึ่งข้าวของต่างๆ ที่ชาวล้านนาจัดเตรียมไปทำบุญที่วัดนั้น  ทุกคนจะตั้งใจประดิดประดอยเป็นอย่างดี  เพราะเชื่อว่าสิ่งของที่นำไปทำบุญถวายพระนั้นต้องเป็นสิ่งที่สะอาด บริสุทธิ์ จึงจะเป็นมงคลและเกิดอานิสงส์กับตนเองและครอบครัว และในการทำบุญทุกครั้งชาวล้านนาจะมีพิธี  “สูมาคัวตาน” หรือการขอขมาซึ่งไทยธรรมและข้าวของที่จะถวายพระ เนื่องจากเชื่อกันว่าขณะที่จัดเตรียมข้าวของเหล่านั้น  อาจจะกล่าววาจาอันไม่สุภาพและไม่เป็นมงคล  การนำเอาข้าวของวางกับพื้นซึ่งเป็นที่ต่ำ หรือการเหยียบย่ำโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ซึ่งจะทำให้ข้าวของเหล่านั้นไม่บริสุทธิ์และจะเป็นบาปแก่ตนเอง จึงต้องมีการสูมาหรือขอขมาก่อนจะถวายพระทุกครั้ง  สิ่งที่นำมาสูมาก็คือข้าวตอกดอกไม้และน้ำขมิ้นส้มป่อย  ซึ่งเรียกรวมๆกันแล้วก็คือเครื่องสักการะนั่นเอง



เครื่องสักการะของชาวล้านนานั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน  ซึ่งแต่ละพิธีกรรมหรืองานแต่ละประเภทก็จะมีความแตกต่างกันออกไป  แต่โดยรวมแล้วเครื่องสักการะหลักๆ ที่สืบทอดกันมานานคือ ข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน เครื่องสักการะดังกล่าวนี้ใช้สำหรับบูชาพระ เทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ บุคคลที่ควรแก่การบูชาเช่นบิดา-มารดา ครูบาอาจารย์  รวมไปถึง เทวดาและผี เป็นต้น
ในการจัดเตรียมเครื่องสักการะก็จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่โอกาส ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้ว เช่นถ้ากรณีที่ไปทำบุญในวันพระหรือวันสำคัญต่างๆ ชาวล้านนาจะเรียกว่าใส่ขันแก้วตังสาม หรือขันดอกไม้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย  ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายความหมายและรายละเอียดในลำดับต่อไป ขันสูมาคัวตาน ขันศีลซึ่งใช้สำหรับการขอศีล หรือขันตั้งถือว่าเป็นขันครูหรือเครื่องสักการะเพื่อบูชาครูบาอาจารย์  ก่อนการประกอบพิธีกรรมหรือพิธีอันเป็นมงคลต่างๆ เช่น พิธีสืบชะตา พิธียกเสาเอกและพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นต้น
   ในเครื่องสักการะที่ประกอบไปด้วยข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน  ซึ่งจะขาดไม่ได้เลยนั้น  ชาวล้านนาได้แฝงคติความเชื่อและความศรัทธาอะไรไว้บ้าง  ซึ่งผู้เขียนขออธิบายดังนี้
ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า “ลาชา” ได้มาจากการนำเอาข้าวเปลือกหรือข้าวโพด  ไปคั่วในหม้อดินด้วยไฟอ่อนๆ จนเมล็ดข้าวนั้นแตกออกมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคุณสมบัติที่เปรียบประดุจได้กับคุณขอพระพุทธเจ้าสามประการกล่าวคือ
๑. ขณะคั่วข้าวตอกมีลักษณะแตกกระจายออกเป็นดอก เปรียบเสมือนความแตกฉานของพระปัญญาธิคุณ
๒. สีของข้าวตอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบดังพระวิสุทธิคุณ
๓. ลักษณะเบ่งบานดุจพระเมตตาที่เบ่งบานงดงามเปรียบเสมือนพระมหากรุณาธิคุณ



ดอกไม้ เป็นสิ่งมีชีวิต มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม มีความบริสุทธิ์และควรค่าแก่การบูชา  ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องสักการะสูงสุด  ที่สำคัญไปกว่าสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับคติความเชื่อของชาวล้านนา  ที่เชื่อว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่มีชีวิตเหมือนกับมนุษย์  ดังนั้นจึงพึงที่ได้รับอานิสงส์จากการอุทิศตนถวายเป็นพุทธบูชาด้วย  
ในสมัยโบราณก่อนที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะเก็บดอกไม้ไปบูชาหรือถวายพระ  ต้องขออนุญาตหรือมีการบอกกล่าวต้นไม้หรือดอกไม้นั้นเสียก่อนจะเด็ดทุกครั้ง นอกจากนี้คนในสมัยก่อนยังมีความละเอียดอ่อน และเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดแม้กระทั่งคำกล่าวก่อนที่จะเด็ดดอกไม้ออกจากต้น คำกล่าวในการเก็บดอกไม้ของคนโบราณเป็นคำกล่าวที่มีความไพเราะอ่อนหวานเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งจะมีการผูกถ้อยคำเหล่านั้นเป็นสำนวนหรือร้อยกรองที่ชาวล้านนาเรียกกันว่า “ค่าวฮ่ำ” คำกล่าวในการเก็บดอกไม้ไปถวายพระหรือบูชาพระนั้นมีอยู่มากมายตามแต่ว่าใครจะร้อยกรองหรือบรรจงแต่งแต้มขึ้นมา หรือแม้กระทั่งท่วงทำนองในการขับขานค่าวฮ่ำก็มีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสำเนียงของท้องถิ่น  แต่โดยนัยแล้วยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์เดียวกัน



เทียน หรือที่ภาษาบาลีว่า “อัคคิธูปะ” โดยที่ อัคคิ หมายถึง เทียนขี้ผึ้งที่สามารถจุดให้เกิดแสงสว่าง  ส่วน “ธูปะ” หมายถึงธูป ที่ชาวล้านนาเรียกว่า “เทียนแส้”  ซึ่งเทียนแส้นี้ชาวล้านนาไม่นิยมนำมาจุดแต่มีไว้เพียงเพื่อเป็นเครื่องสักการบูชาเท่านั้น  เทียนแส้ของชาวล้านนาจะมีความแตกต่างไปจากธูปของทางภาคกลาง  ซึ่งชาวล้านนาจะทำเทียนแส้จากดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม  
ในสมัยเด็กๆ ย่าของผู้เขียนได้ให้ผู้เขียนนำเอาเปลือกไม้โจค หรือเปลือกของต้นโชค  ซึ่งเชื่อว่าคำว่าโจค หรือโชค จะนำมาซึ่งความโชคดี และนำไปตากจนแห้ง จากนั้นก็นำไปตำในครกกระเดื่องพร้อมกับดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอมที่ย่าของผู้เขียนตากไว้  จากนั้นท่านก็นำมาร่อนในตะแกรงนำเอาผงดอกไม้ที่ได้นำมาทำเป็นเทียนแส้ วิธีการทำท่านจะมวลด้วยกระดาษว่าวสีต่างๆ ลักษณะคล้ายมวนบุหรี่แต่ยาวกว่า  เพื่อใช้ในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง การมวลนั้นจะเหลาไม้กลมๆ เหมือนไม้ตะเกียบและนำกระดาษมาพัน  ทากาวเล็กน้อย  เสร็จแล้วดึงเอาไม้ออกก็จะได้กระดาษทรงกระบอกเล็กๆ  แล้วจึงนำเอาผลดอกไม้แห้งกรอกลงไปและหุ้มส่วนโคนให้แน่น  เพื่อไม่ให้ผงดอกไม้ไหลออกมา  จากนั้นนำไปตากให้แห้งอีกครั้งก็ได้เทียนแส้ของชาวล้านนา   



มีข้อมูลเกี่ยวกับดอกไม้สำหรับบูชาพระที่น่าสนใจ  ที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมวโรดม(บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ.๘)วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พิมพ์ไว้ในหนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ว่าดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์นั้น มีความมุ่งหมายว่า ธรรมดาดอกไม้นานาพันธุ์ เมื่อยังอยู่ ณ สถานที่เกิดของมัน ก็ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของพันธุ์ไม้นั้น ๆ ครั้นบุคคลเราเก็บดอกไม้นานาพันธุ์ เหล่านั้นมากองรวมกันไว้โดยมิได้จัดสรร ย่อมหาความเป็นระเบียบมิได้ ย่อมไม่สวยงาม ไม่น่าดู ไม่น่าชม ต่อเมื่อนายมาลาการ คือ ช่างดอกไม้ผู้ฉลาด มาจัดสรรดอกไม้เหล่านั้น โดยจัดแจกันหรือจัดใส่พานประดับให้เข้าระเบียบแล้ว ย่อมเป็นระเบียบเรียบร้อยเกิดความสวยงามน่าดู น่าชม ฉันใด  บรรดาพระสงฆ์สาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย สมัยเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์อยู่บ้านเรือนของตนๆ ย่อมมีกิริยามารยาททางกาย ทางวาจา และจิตใจ เรียบร้อยตามสมควรแก่ภูมิชั้นแห่งตระกูลของตน ๆ หยาบบ้าง ปานกลางบ้าง ละเอียดบ้าง ครั้นคฤหัสถ์เหล่านั้น ซึ่งต่างชาติกัน ต่างตระกูลกันมีนิสัยอัธยาศัยต่าง ๆ กันมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชอยู่ร่วมกัน ถ้าไม่มีระเบียบปฏิบัติเป็นแบบแผนเดียวกัน พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็จะหาความเป็นระเบียบมิได้ ย่อมไม่เป็นที่ตั้ง แห่งความศรัทธาเลื่อมใสของผู้ได้ประสบพบเห็น ครั้นเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เปรียบเสมือนนายมาลาการผู้ฉลาด ได้ทรงวางพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติ    จัดพระสงฆ์สาวกเหล่านั้นให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าเคารพน่าสักการบูชา ฉันนั้น อนึ่ง ดอกไม้สำหรับใช้บูชาพระสงฆ์ นิยมใช้ดอกไม้ที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. มีสีสวย
๒. มีกลิ่นหอม
๓. กำลังสดชื่น



ดอกไม้ที่บูชาพระ นั้น  นิยมจัดเปลี่ยนให้สดอยู่เสมอ อันเป็นนิมิตหมายแห่งความสดชื่น ความรุ่งเรือง ไม่นิยมปล่อยให้เหี่ยวแห้งเป็นนิมิตหมายแห่งความหดหู่ใจ ความเสื่อมโทรมเป็นต้น
- บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้ที่มีสีสวย แต่ไม่มีกลิ่นหอม เช่น บูชาพระด้วยดอกไม้พลาสติก หรือ ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น ต่อไปในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีรูปร่างลักษณะดี มีรูปสวย แต่คุณภาพไม่ดีดังคำพังเพยว่า “สวยแต่รูป แต่จูบไม่หอม”
- บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้มีกลิ่นหอม แต่มีสีไม่สวย ต่อไปในภายหน้า บุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่มีคุณภาพดี แต่มีรูปร่างลักษณะไม่สวย ไม่งดงาม ดังคำพังเพย “ถึงรูปชั่วตัวดำ แต่น้ำใจดี”
- บุคคลผู้บูชาพระด้วยดอกไม้กำลังสดชื่น ต่อไปในภายหน้าบุคคลผู้นั้นจะได้อะไร ๆ ก็ล้วนแต่เป็นของใหม่ ๆ ไม่ต้องใช้ของที่เขาใช้แล้ว เป็นมือหนึ่ง ไม่ต้องเป็นมือสองรองใคร ดังตัวอย่างเช่น ชูชกมีอายุแก่คราวปู่ได้นางอมิตตดา ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นคราวลูกหลานเป็นภรรยา เพราะอานิสงส์ที่ชูชกได้เคยบูชาพระด้วยดอกบัวตูมที่กำลังสดชื่น ฉะนั้นดังนั้นคติธรรมที่ท่านเจ้าคุณพระพระธรรมวโรดม  เขียนไว้จึงเป็นคติที่มีลักษณะคล้ายกับที่ชาวล้านนายึดถือปฏิบัติมากระทั่งทุกวันนี้
เรามักเห็นชาวล้านนานำข้าวตอก ดอกไม้ ธูป-เทียน เหล่านี้ไปทำบุญที่วัดวาอารามในวันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาหรือวันพระ  เพื่อนำไปใส่ขันแก้วตังสามเพื่อเป็นการถวายและบูชาพระ  โดยผู้เขียนจะขออธิบายความหมายและที่มาของ “ขันแก้วตังสาม” ว่าคืออะไร



“ขันแก้วตังสาม”  ขัน หรือ พาน ทำด้วยไม้แกะลวดลายสวยงาม มีลักษณะทำเป็นรูปสามเหลี่ยมสามมุม  คำว่า “แก้วตังสาม”  หมายถึง ดวงแก้วทั้งสามประการ หมายถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  ดังนั้นขันแก้วตั้งสามจึงเป็นขันดอกไม้ที่ใช้บูชาพระรัตนตรัย นอกจากขันแก้วตังสามแล้วจะมีพานหรือถาดสำหรับใส่ดอกไม้อีก ๒ ใบ ใบแรกสำหรับขอศีลที่ถวายพระสงฆ์เรียกว่า “ขันศีล” ใบที่ 2 สำหรับนำตานหรือนำถวายทาน เรียกว่า“ขันนำตาน”

นอกจากขันแก้วตังสามแล้ว ยังมีขันดอกประเภทอื่นๆ ที่มีเครื่องสักการะเหล่านี้เช่น  “ขันสูมาคัวตาน”เป็นขันที่มีข้าวตอก ดอกไม้ ธูป-เทียนละน้ำขมิ้นส้มป่อยเพื่อ   ใช้ขอขมาพระรัตนตรัย ในการถวายทานหรือเสนาสนะแต่ละครั้ง  โดยมัคนายกจะเป็นผู้อ่านโองการขอขมา  ซึ่งชาวล้านนาเรียกพิธีนี้ว่า “ขอสูมาคัวตาน” โดยจะมีคำขอขมาที่ไพเราะคล้องจองกันตอนหนึ่งว่า
“สาตุ๊ สาตุ๊ โอกาสะ ข้าแต่ข้าคัวเยี่ยงเครื่องคัวตานตังหลาย บัดนี้ผู้ข้าตังหลายตังปายในและปายนอก  ได้ปากั๋นตกแต่งพร้อมน้อมนำมายังธูปบุปผามาลาดวงดอกข้าวตอกดอกไม้ลำเตียน  มาวางเวนไว้เหนือขันปั๋นเป็นห้าโกฐากส์  ปฐมวิภาคเบื้องต้นหัวตี  ขอสูมาและถวายปู๋จ๋าถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...”
แปลความหมายได้ว่า“สาธุบัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกในสถานที่นี้  ได้พากันน้อมนำมาซึ่งข้าวตอก ดอกไม้ และธูปเทียน วางไว้เหนือพานทั้ง ๕ พาน ซึ่งพานแรกขอถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อขอขมา...” เมื่ออ่านโองการเสร็จแล้วก็จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปประพรมยังไทยธรรม  หรือข้าวของที่จะถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการขอขมาต่อไป



“ขันตั้ง” หรือขันครู  ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่ชาวล้านนาจะมีการบูชาครูหรือบูชาขันตั้งก่อนทุกครั้ง  เพื่อเป็นการแสดงถึงการคารวะแก่ครูบาอาจารย์ การรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และถือเป็นการเชิญครูบาอาจารย์เหล่านั้นมาสถิตอยู่ด้วยเพื่อให้เกิดความขลัง เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรม  อีกทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองและเป็นเกาะกำบังจากอันตรายและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงด้วย  ซึ่งในส่วนหนึ่งของขันตั้งก็จะประกอบไปด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปและเทียนเช่นกัน

นอกจากชาวล้านนาจะจัดเตรียมเครื่องสักการะเหล่านี้  เพื่อสักการะและบูชาพระแล้ว  ยังใช้ในการสักการะสิ่งที่อันเป็นที่เคารพสักการะอีก เช่น ประเพณีดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ หรือขันตั้งหรือขันครู  ที่ผู้เขียนได้อธิบายไปก่อนหน้านี้  การให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เคารพสักการะจึงนำมาซึ่งความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด  ที่ชาวล้านนาพึงกระทำได้ ความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา  จึงได้รับการปลูกฝังและซึมซับอยู่ในสายเลือดอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องสักการะ ที่ชาวพุทธเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอีกเรื่องว่า  ในครั้งพุทธกาลมีนายสุมนมาลากร ได้มีหน้าที่เก็บดอกมะลิมาถวายพระเจ้าพิมพิสารวันละ ๘ ทะนาน และรับเงิน ๘  กหาปณะต่อวัน



ขณะที่เขาเก็บดอกไม้อยู่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตภายในพระนคร พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ รูป นายสุมนมาลาการเห็นก็เกิดจิตเลื่อมใสคิดอยากจะทำบุญแก่พระตถาคต แต่ไม่มีข้าวของอื่นนอกจากดอกไม้ จึงเอาดอกไม้เหล่านั้นบูชาพระองค์ โดยไม่เกรงกลัวพระราชาจะทรงกริ้ว ถึงแม้จะถูกพระราชาประหารชีวิตก็ตาม นายสุมนมาลาการได้ซัดดอกไม้ขึ้นไปในเบื้องบนของพระตถาคต ๒ กำมือ ดอกไม้นั้นเกิดอัศจรรย์ขึ้น  ประดิษฐานเบื้องบนเป็นเพดานกั้นพระเศียรพระตถาคต แล้วก็ซัดไปทางพระหัตถ์ขวา ๒ กำ  ด้านพระปฤษฎางค์ ๒ กำ พระหัตถ์ซ้าย ๒ กำ รวมทั้งหมด ๘ กำดอกไม้เหล่านั้นได้เกิดอัศจรรย์แวดล้อมพระตถาคตอยู่ตลอดเวลา นายสุมนมาลาการเห็นดังนั้นก็ยินดียิ่งนัก จากนั้นได้ถือกระเช้าเปล่ากลับเรือน ฝ่ายภรรยาเห็นไม่มีดอกไม้ในกระเช้าจึงได้ถามกับสามีถึงสาเหตุ นายสุมนมาลาการได้บอกแก่ภรรยาว่าตนได้นำเอาดอกไม้บูชาพระตถาคตแล้ว  นางได้ต่อว่าธรรมดาพระราชาเป็นผู้ดุร้ายกริ้วคราวเดียวก็ทำความพินาศให้ถึงความตาย ดังนั้นความพินาศนี้พึงมีแก่เราเพราะเธอได้ทำไว้ นางจึงอุ้มลูกไปเฝ้าพระราชาทูลขอหย่ากับนายสุมนมาลาการ พระราชาทรงทราบความแล้วก็ทำเป็นกริ้วและอนุญาตให้นางหย่ากับนายสุมนมาลาการ จากนั้นพระราชาได้เสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาถวายบังคมทูลอาราธนาพระศาสดาไปรับภัตตาหารในพระราชวัง พระศาสดาทรงทราบพระราชหฤทัยของพระราชา พระองค์ทรงรับอาราธนาแล้วเสด็จไปสู่พระราชวังของพระราชา แต่พระศาสดาทรงพระประสงค์จะประทับที่พระลานหลวง เพื่อจะประกาศคุณงามความดีของนายสุมนมาลาการ  เมื่อเสร็จสิ้นกิจเรียบร้อยแล้วพระราชาได้เสด็จกลับมาถามนายสุมนมาลาการ  ถึงสาเหตุที่ถวายดอกไม้แก่พระศาสดา พอทราบเรื่องก็ทรงพอพระราชหฤทัยและได้พระราชทานรางวัลแก่นายสุมนมาลาการอย่างละ ๘ ชนิด มีช้าง ๘ เชือก ม้า ๘ ตัว ทาส ๘ คน ทาสี ๘ คน กหาปณะ ๘ พัน นารี ๘ นาง และเครื่องประดับอย่างละ ๘ และบ้านส่วยอีก ๘ หมู่บ้านเป็นอันว่ากรรมดีได้สนองผลให้แก่นายสุมนมาลาการในวันนั้นเอง



การจัดเตรียมข้าวตอกดอกไม้หรือเครื่องสักการะของชาวล้านนา มีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก  โดยการเอาใบตองมาทำเป็นกรวยดอกไม้  หรือภาษาล้านนาเรียกว่า “สวยดอก” โดยในกรวยจะใส่ข้าวตอกลงไป พร้อมทั้งปักดอกไม้ที่มีความสดและสวยงาม  ปักธูปจำนวน ๓ ดอก และเทียนจำนวน ๒ เล่ม  ใช้สำหรับถวายพระในพิธีกรรมต่างๆ  ซึ่งชาวล้านนาจะให้ความสำคัญต่อการจัดเตรียมเครื่องสักการะเหล่านี้  เพราะถือว่าเป็นของสูงและต้องสะอาดและบริสุทธิ์ด้วย ที่มาและจำนวนของธูป-เทียน ที่ใช้บูชาหรือถวายพระนี้มีนัยบ่งบอกหรือมีความหมายว่าอย่างไรนั้น  ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความหมายที่แท้จริงดังนี้
ธูป จำนวน  ๓ ดอก ใช้บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ กล่าวคือ
พระปัญญาธิคุณ ทรงรู้ดีรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พระวิสุทธิคุณ ทรงบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเรื่องเศร้าหมองทั้งหลาย
พระมหากรุณาธิคุณ ทรงสงสารสั่งสอนเวไนยนิกรทุกถ้วนหน้าโดยไม่เลือก
เทียน จำนวน ๒ เล่ม ใช้บูชาพระธรรมและพระวินัยได้แก่
พระธรรม คือคำสั่งสอนอันเป็นแนวทางปฏิบัติ
พระวินัย คือหลักข้อบังคับที่เรียกว่า ศีล เช่น ศีล ๕ ศีล ๘
เหตุที่ใช้เทียนในการบูชาก็เนื่องจากแสงเทียนที่จุดขึ้นนั้น จะช่วยกำจัดความมืดให้หมดไปแลมองเห็นหนทางที่ถูกต้อง เหมือนกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งหากเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด ก็ย่อมกำจัดความมืด คือ โมหะในใจให้หมดไป และเป็นเครื่องส่องทางในการดำเนินชีวิต
IP : บันทึกการเข้า
เวียงเก่า
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 280



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 13:25:18 »

ขอบคุณมากๆสำหรับสาระดีๆที่นำมาแบ่งปันนะครับ  ยิ้มเท่ห์
IP : บันทึกการเข้า

ผลมันไม่ออกมาตามที่คาดหวัง จะมานั่งเสียใจไปทำไม เมื่อได้พยายามทำเหตุให้ดีที่สุดแล้ว
chate
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,023


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 15:24:11 »

ความหู้ดีขอบคุณคับ ยิ้มกว้างๆ
IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 16:00:23 »

ขอบคุณมากๆสำหรับสาระดีๆที่นำมาแบ่งปันนะครับ  ยิ้มเท่ห์

ยินดีครับ
IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 16:01:03 »

ความหู้ดีขอบคุณคับ ยิ้มกว้างๆ

ด้วยความยินดีครับ
IP : บันทึกการเข้า
Ck 401
"....เมื่อเห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดา ก็ไม่มีอะไรมาทำให้ทุกข์ได้อีก...."
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 5,267


...งานหนักไม่เคยฆ่าคน...


« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 21:40:04 »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า

"....คณะเรา ไม่ยอมให้ด้อยถอยลง ต่ำเราต้องค้ำชูให้สูงจรุงศรี....."
....เมื่อเห็นทุกสิ่งเป็นธรรมดา  ก็ไม่มีอะไรมาทำให้ทุกข์ได้อีก...."
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 24 สิงหาคม 2012, 22:05:06 »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

ยินดีครับ
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!