เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 04:03:40
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 4(จบ) โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 4(จบ) โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 8831 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 22 สิงหาคม 2012, 23:33:36 »

ผู้เขียนได้กล่าวถึงการจัดเตรียมสถานที่ในการประกอบพิธี  รวมถึงคติความเชื่อและความหมายในการจัดเตรียมสถานที่และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปแล้ว  หลังจากที่ได้มีการจัดเตรียมพิธีพร้อมสรรพแล้ว  ลำดับถัดจากนั้นจะเข้าสู่พิธีพุทธาภิเษกในช่วงบ่าย   เมื่อได้เวลาประกอบพิธีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพิธีนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ขึ้นนั่งยังอาสนะที่จัดเตรียมไว้  จากนั้นพิธีกรหรือปู่อาจารย์แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครกล่าวนำไหว้พระรับศีลตามแบบฉบับพิธีทำบุญทั่วไป  เมื่อประธานสงฆ์ให้ศีลจบประธานในพิธี  ซึ่งเป็นพระมหาเถรานุเถระจะเป็นผู้เจิมเทียนชัยและปิดทองเทียนชัยหน้าพระประธาน  จากนั้นประธานในพิธี ซึ่งจะเป็นพระสงฆ์หรือฆาราวาสก็ได้เป็นผู้จุดเทียนชัย  เทียนพุทธาภิเษก เทียนมงคลซ้ายขวา เทียนนวหรคุณ  เทียนวิปัสสีตามลำดับ ขณะนี้พระสงฆ์จะสวดคาถาจุดเทียนชัย  มโหรีปี่พาทย์ประโคม  เจ้าหน้าที่ลั่นฆ้องชัยเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้วยพิธีเจริญพระพุทธมนต์  เมื่อเสร็จสิ้นแล้วประธานสงฆ์จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ และโปรยข่าวตอกดอกไม้ในมณฑลพิธีราชวัตร  เจ้าภาพจะถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ที่สวดคาถาจุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์  พระสงฆ์ให้พรจบก็ถือว่าเสร็จสิ้นในขั้นตอนแรก 



ในพิธีพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วในช่วงแรกๆ ซึ่งผู้เขียนได้จัดทำกำหนดการให้พิธีการครอบคลุมไปถึงรุ่งเช้าของวันใหม่  โดยได้นิมนต์พระสงฆ์และพระพิธีธรรมเพื่อเจริญพระพุทธมนต์สลับกันไปตลอดพิธี  นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีเทศน์อบรมสมโภช  การสวดเบิกแบบล้านนา พิธีกวนข้าวทิพย์  พิธีเบิกเนตรโดยมีรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ขั้นตอนพิธีการแบบคร่าวๆ ในพิธีพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองฯ

เวลา ๑๓.๑๙ น.      -  ประธานในพิธีจุดธูป-เทียน บูชาพระรัตนตรัย
-  ประธานสงฆ์ให้ศีล จบแล้ว
-  ประธานจุดเทียนชัย(พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป เจริญ 
    พระคาถาจุดเทียนชัย พนักงานประโคมฆ้องชัย )
-  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป  เจริญพระพุทธมนต์
- ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และโปรยข้าวตอกดอกไม้
   ณ บริเวณมณฑลราชวัตร(พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป
   เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย)
เวลา ๑๔.๓๐ น.      -  เจ้าหน้าที่อาราธนา พระเถราจารย์ ชุดที่ ๑ อธิษฐานจิตภาวนา
         -  ประธานในพิธีจุดธูป-เทียน เครื่องบูชากระบะมุก 
         -  ประธานในพิธีจุดเทียนพุทธาภิเษกที่ขันสาครทั้ง ๒
-  พระพิธีธรรมสวดพระคาถาพุทธาภิเษก




เวลา ๑๖.๐๐ น.      -  เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
-  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์สวด
    มนต์ตั๋นแบบล้านนาชุดที่ ๑ (พนักงานประโคมฆ้องชัย)
เวลา ๑๗.๐๐ น.      -  พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์พุทธาภิเษก  ๑ กัณฑ์
เวลา ๑๘.๐๐ น.      -  เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
-  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์พระ
    คาถาสิบสองตำนาน(พนักงานประโคมฆ้องชัย)
เวลา ๑๙.๓๐ น.      -  พระพิธีธรรมสวดพระคาถาพุทธาภิเษก ชุดที่ ๒      



เวลา ๒๑.๓๐ น.      -  ประธานสงฆ์เจิม และประพรมน้ำพระพุทธมนต์เครื่องประกอบ
                                   พิธีกวนข้าวทิพย์
-  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป  เจริญชัยมงคลคาถา
 (พนักงานประโคมฆ้องชัย) เทพีกวนข้าวทิพย์เริ่มพิธีกวนข้าว
 ทิพย์ (พนักงานประโคมฆ้องชัย ปี่พาทย์)
         -  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์พระ
                                   คาถาเจ็ดตำนาน
เวลา ๒๒.๓๐ น.      -  พระสงฆ์สวดเบิกแบบล้านนา วารที่ ๑
เวลา ๒๓.๓๐ น.      -  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์สวด
                                  มนต์ตั๋นแบบล้านนา ชุดที่ ๒ (พนักงานประโคมฆ้องชัย)   
เวลา ๐๐.๓๐ น.      -  พระพิธีสวดพระคาถาพุทธาภิเษก ชุดที่ ๓
             (๐๐.๓๐-๐๒.๓๐ น. ๒ ชั่วโมง)



เวลา ๐๒.๓๐ น.      -  พระสงฆ์สวดเบิกแบบล้านนา วารที่ ๒ และ ๓
เวลา ๐๔.๐๐ น.      -  ทำวัตรเช้า เจริญสมาธิภาวนา
เวลา ๐๕.๐๙ น.      -  ประกอบพิธีเบิกเนตร (พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป 
                                   เจริญชัยมงคลคาถา  พนักงานประโคมฆ้องชัย  ปี่พาทย์)
-  ถวายข้าวมธุปายาส(ข้าวทิพย์)
เวลา ๐๕.๓๐ น.   -  ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์และโปรยข้าวตอกดอกไม้
                                   ในมณฑลพิธีราชวัตร(พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป 
                                   เจริญชัยมงคลคาถา  พนักงานประโคมฆ้องชัย  ปี่พาทย์) 
-  ประธานสงฆ์ประกอบพิธีดับเทียนชัย
-  พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จำนวน ๙ รูป  สวดพระคาถาดับเทียนชัย
    (พนักงานลั่นฆ้องชัย)



หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีเบิกเนตรและดับเทียนชัยแล้ว  ประธานสงฆ์ก็จะประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้กับผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมดเพื่อความเป็นสิริมงคล  จากนั้นก็ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระสงฆ์  พระสงฆ์อนุโมทนาก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธี  ซึ่งระยะเวลาก็จะล่วงเลยเข้าสู่วันใหม่และรุ่งเช้าพอดี  จากกำหนดการคร่าวๆ ข้างต้นจะเห็นได้ว่าพิธีดังกล่าวเป็นพิธีที่ใหญ่และได้นิมนต์พระสงฆ์เพื่อมาประกอบพิธีจำนวนมาก  พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ในแต่ละชุดก็สลับผลัดเปลี่ยนกันไปตามลำดับ  และขณะเดียวกันกับที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และสวดคาถาพุทธาภิเษกนั้น  ก็นิมนต์พระเถราจารย์ผู้ทรงวิทยาคมหรือผู้ที่มีวัตรปฏิบัติ นั่งอธิษฐานจิตปรกไปพร้อมกันด้วยจนเสร็จสิ้นพิธี  ซึ่งได้จัดเป็นชุดๆ ละ ๘ รูป จำนวน ๑๐ ชุด พระเถระท่านจะนั่งอธิษฐานจิตราว ๓๐-๔๐ นาที  แต่บางรูปท่านก็จะนั่งอธิษฐานนับชั่วโมงเลยก็มี



แต่พิธียังไม่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด  เพราะก่อนหน้านี้เราได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตมาประดิษฐานยังมณฑลพิธีเพื่อช่วยปกปักรักษาให้การประกอบพิธีสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วต้องอัญเชิญพระอุปคุต ขึ้นประดิษฐานยังบุษบกเพื่ออัญเชิญท่านกลับไปประทับยังปราสาทแก้ว  หรือ ณ จุดที่เราไปอัญเชิญมา  ซึ่งในขบวนนั้นก็จะประกอบไปด้วยข้าวของเครื่องอัฐบริขาร  และวงมโหรีปี่พาทย์เช่นเดียวกับตอนที่ไปประกอบพิธีอัญเชิญ  จึงถือว่าพิธีอบรมสมโภชหรือพุทธาพิเษกนี้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์



ในพิธีอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษก  ที่มีพิธีกรรมต่างๆ มากมายนั้น  ผู้เขียนขออธิบายรายละเอียดและเกร็ดความรู้เพิ่มเติมในพิธีต่างๆ ซึ่งได้รวบรวมมาจากการบอกเล่าและจากการสอบถามจากพระเถรานุเถระและผู้รู้ต่างๆ    อาทิการเจริญพระพุทธมนต์ซึ่งคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว  และบางท่านอาจจะรู้ความหมายว่าเป็นการสวดเพื่อเสกน้ำมนต์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล  แต่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนหรือน้อยคนจะรู้จักเช่นการสวดมนต์ตั๋น  ซึ่งเป็นการสวดแบบล้านนา  คำว่า “ตั๋น” ภาษากลางออกเสียง “ตัน”  หมายถึงไม่กลวง ไม่รั่ว ไม่มีรอยแยกหรือแตกเป็นต้น  ดังนั้นการสวดมนต์ตั๋นในที่นี้หมายถึงการสวดมนต์แบบไม่หยุดหรือไม่มีช่องว่างหรือเว้นวรรค  ซึ่งพระสงฆ์จะสวดแบบต่อๆ เสียงกันไปตลอดโดยไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างบทต่างๆ การสวดมนต์ตั๋นนี้นิยมสวดในพิธีอบรมสมโภชหรือพุทธาภิเษกเป็นส่วนใหญ่  คำว่าตั๋นหรือตันนี้มีความเชื่อว่าพุทธคุณของพระจะช่วยอุด  หรือช่วยปกป้องภยันตรายต่างๆ หรือให้พุทธคุณทางคงกระพรรณชาตรีนั่นเอง  ส่วนบทสวดหรือคาถาที่ใช้สวดมนต์ตั๋นนี้จะมีอยู่ราว ๔๐ บทด้วยกัน  ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่บนแรก ผริตวานะเมตตังและสัคเคหลวง บทที่ ๒ สมันตาจักกะวาเฬสุ  เรื่อยไปจนถึงสุโข พุทธานัง  รวมทั้งสิ้น ๔๐ บทด้วยกัน  ดังนั้นพระเถระที่สวดมนต์ตั๋นนั้นส่วนใหญ่จึงมีพรรษาที่ค่อนข้างสูง  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติและวิทยาคมสูงด้วยนั่นเอง



นอกจากการสวดมนต์ตั๋นแล้วยังรวมไปถึงการสวดคาถาเจ็ดตำนาน และสิบสองตำนานด้วย  ซึ่งการสวดแต่ละแบบก็จะใช้บทที่มีทั้งเหมือนและต่างกันออกไป  แต่โดยรวมแล้วการสวดมนต์และพระคาถาต่างๆ นั้นมีจุดประสงค์เช่นเดียวกันกล่าวคือ
   ๑.  เพื่อสรรเสริญในพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
   ๒. เพื่อขอพรจากคุณพระรัตนตรัย ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัว
   ๓.  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป
   ๔. เพื่อขอให้พุทธานุภาพช่วยขจัดปัดเป่าซึ่งภยันตราย และสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากชีวิต
   ๕.  เพื่อขอพรให้ความสำเร็จต่างๆ บังเกิดแก่ผู้ประกอบพิธี
   ๖. เพื่อถือเป็นการทบทวนบทสวดต่างๆ ของพระสงฆ์  ให้เกิดความแม่นยำและไม่ให้หลงลืม



ก่อนที่จะเริ่มพิธีสวดมนต์ตั๋นนั้น  มัคนายกหรือที่ชาวล้านนาเรียกว่าอาจารย์นั้น  เริ่มกล่าวโยขันหลวงและขันห้าโกฐากส์ก่อน  คำว่า “โย” หรือ “ยอ” นั้นหากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ แล้วก็เหมือนกับการอ่านโองการบูชาฤกษ์ของโหรหลวงในพิธีพราหมณ์ต่างๆ ที่เราเคยพบเห็นตามโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดพระราชพิธีต่างๆ เช่นกัน  การโยขันหลวงหรือขันห้าโกฐากส์นี้ก็เสมือนเป็นการอ่านโองการแบบล้านนา  หรือเป็นการบอกกล่าวพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้รับรู้รับทราบถึงการประกอบพิธีและการสวดมนต์หรือพระคาถาต่างๆ รวมทั้งขอความสุขสวัสดิ์เกิดแก่ผู้ร่วมพิธีทั้งหลาย  และการขอขมาต่อพระรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ด้วย



คำว่าขันห้าโกฐากส์นั้นหมายถึงอะไร  ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้  ขั้นห้าโกฐากส์คำว่า “โกฐากส์” มาจากคำว่า “โกฐ”  หรือกอง ลักษณะเป็นกองๆ รวม ๕ กอง  ดังนั้นขันห้าโกฐากจึงหมายถึงขันที่มีข้าวตอก ดอกไม้ และเทียนขี้ผึ้งซึ่งขณะที่โยขันหลวงหรือขันห้านั้นจะจุดเทียนขี้ผึ้งและยกพานขึ้นเสมอศีรษะ  เพื่อน้อมสักการบูชาโดยหันหน้าเข้าสู่พระรัตตรัย ขณะที่มัคนายกหรืออาจารย์อ่านโองการหรืออ่านคำโยขันหลวงและขันห้าโกฐากส์ 
จำนวนเครื่องสักการะทั้ง ๕ กอง หรือ ๕ ชุดนี้ เพื่อใช้บูชาและสักการะสิ่งสำคัญ ๕ ประการประกอบด้วย
๑.   ปฐมโกฐากส์  ใช้สักการบูชาและขอขมาซึ่งพระพุทธเจ้า
๒.   ทุติยโกฐากส์  ใช้สักการบูชาและขอขมาซึ่งพระโลกุตตะระธรรม ๙ ประการ  รวมถึงพระปริยัตติธรรม
๓.   ตะติยะโกฐากส์  ใช้สักการบูชาและขอขมาซึ่งพระอริยะสงฆ์ทั้งมวล
๔.   จตุตถะโกฐากส์  ใช้สักการบูชาและขอขมาซึ่งพระกัมมัฏฐาน ๒ จำพวกได้แก่ สะมะถะกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน
๕.   ปัญจะมะโกฐากส์  ใช้สักการบูชาและขอขมาซึ่งครูบาอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนและผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เรา

ในส่วนของการเทศนาเนื่องในพิธีอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษกนั้น  ก็เพื่อสร้างบารมีและอานิสงส์ในการประกอบกิจการงานบุญ  และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีนั้นรู้ถึงความเป็นมาของพิธีดังกล่าว  และบุญหรือบารมีที่จะได้รับจากการประกอบพิธี  โดยเนื้อหาของธรรมที่พระสงฆ์ท่านเทศนานั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรของสมเด็จพระพุทธเจ้า  ซึ่งแต่ละกัณฑ์ก็จะเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป  เช่นกัณฑ์อบรมสมโภช  กัณฑ์พุทธาภิเษกเป็นต้น   



ขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหรือพิธีกรรมหนึ่งนั่นก้อคือ “ไขสายตาพระเจ้า” คำว่า “ไข” หมายถึงเปิด   คือการเปิดสายตาพระพุทธรูปหรือที่เรารู้จักกันดีว่าพิธีเบิกเนตรนั่นเองความแตกต่างของพิธีเบิกเนตรแบบล้านนาจะเริ่มตั้งแต่พระสงฆ์สวดเบิกแบบล้านนา  สวดถึงวารที่ ๔(บทที่๔) “อวิชชาปัจจยา” ผู้เป็นประธานสงฆ์จะอธิฐานจิตภาวนาหน้าพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่จัดอบรมสมโภชนั้น พร้อมทั้งเปิดผ้าที่คลุมพระพักตร์ออก  และแกะเอาขี้ผึ้งที่ปิดพระเนตร พระกรรณ และพระโอษฐ์ออก   ขณะแกะขี้ผึ้งออกนั้นให้บริกรรมคาถาว่า “สะหัสสะเนตโต เทวินโท เนตโต ทิพจักขุ วิโสธายะ นะโม พุทธายะ พุทธจักขุ ธัมมะจักขุ สังฆะจักขุ ทวายะ สวาหะ” จำนวน ๓ จบ  จากนั้นนำน้ำมันจันทน์มาเช็ดที่พระพักต์ขององค์พระพุทธรูป  บริเวณพระเนตรและพระโอษฐ์  นำพัดหางนกยูงมาพัดโบกหน้าพระพักตร์ขึ้นลง ๓ รอบ  และนำเอาแว่นส่องสายตาพระเจ้า(ลักษณะเป็นกระจกจำนวน ๓ ชิ้น)  พร้อมทั้งจุดเทียนไว้เหนือแว่นสายตาพระเจ้าหรือกระจกนั้น  แล้วแก่วงหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูปจำนวน ๓ รอบ  จากนั้นให้หันกระจกออกด้านนอกแล้วแก่วงอีก ๓ รอบ  ขณะที่ทำพิธีเบิกเนตรหรือไขสายตาพระเจ้านี้  ให้จุดเทียนโสฬสะจำนวน ๑๖ เล่มที่หน้าพระประธาน



การเอาแว่นสายตาหรือกระจกทั้ง ๓  มาแก่วงหน้าพระพักตร์พระพุทธรูปนั้นหมายถึงญาณทั้ง ๓ คือ
   ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ก่อนหรือ  หมายถึงการระลึกชาติได้
   จุตูปปาตญาณ  คือความรู้ในการจุติหรือการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย  หรือหมายถึงทรงมีทิพยจักษุญาณ
   อาสวัคขยญาณ  คือการหมดสิ้นแห่งกิเลสและตัณหาทั้งปวงนั่นเอง 



ขณะที่ประกอบพิธีไขสายตาพระเจ้าหรือพิธีเบิกเนตรนั้น  เจ้าหน้าที่จะเริ่มประโคมฆ้องชัย  มโหรีปี่พาทย์ต่างๆ บางแห่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมมา  ถ้าเป็นการจัดอบรมสมโภชที่วัด  ชาวบ้านจะลั่นระฆัง  ตีกลองปูจา  ซึ่งกลองปูจานี้จะตีก็ต่อเมื่อมีงานสมโภชใหญ่ๆ หรือวาระสำคัญๆ เท่านั้น  นอกจากนั้นแล้วผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมพิธีขณะนั้นก็พากันลุกขึ้นฟ้อนรำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย 



ความเชื่อความศรัทธาที่ชาวล้านนามีต่อพระพุทธศาสนา และได้แสดงออกมานี้  สะท้อนให้ผู้เขียนนึกถึงภาพเมื่อครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้  แล้วหมู่เทพไท้พยุดาและอินทร์พรหม  ตลอดจนเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ต่างเป็นปีติชื่นชมยินดีและแซ่ซ้องสาธุการไปทั้ง ๓ ภพนั่นเอง  ชาวล้านนายังเชื่อว่าการได้มีโอกาสเห็นพระพักตร์ครั้งแรกเมื่อไขสายตาพระเจ้านั้น  เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่และเป็นมงคลกับตนเองเป็นอย่างมาก



หลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีไขสายตาพระเจ้าแล้ว   ก็เป็นการถวายข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ก้อน ซึ่งผู้ที่ถวายนั้นจะใช้ผู้หญิงต่างสมติว่าเป็นนางสุชาดา ที่นำข้าวมาถวายพระพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพุทธประวัตินั่นเอง  ส่วนพิธีการกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์นั้น  มีประวัติความเป็นน่าที่น่าสนใจ  ตลอดจนรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก  ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาอธิบายต่อไป  การถวายข้าวมธุปายาสของชาวล้านนานั้น  ก่อนที่จะกล่าวถวายมัคนายกหรืออาจารย์จะโอกาสเวนตานข้าวมธุปายาส  คำว่า “จะโอกาสเวนตาน” นี้หมายถึงการอ่านโองการหรือกล่าวคำถวายแบบล้านนานั่นเอง


IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!