เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 20 เมษายน 2024, 19:50:31
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 1 โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน บวชพระเจ้า มนต์ขลังแห่งล้านนา ตอนที่ 1 โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 4894 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 22 สิงหาคม 2012, 22:15:38 »



ประเพณีการบวชพระเจ้าที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปนี้มิได้หมายถึงการอุปสมบท หรือบรรพชาสามเณรแต่อย่างไร  หากแต่เป็นพิธีกรรมการในการบวชพระพุทธรูป  หรือกล่าวแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเบิกเนตรนั่นเอง  แต่ความแตกต่างอยู่ที่ความความเชื่อ  จารีตประเพณีและวิธีปฏิบัติ  ชาวล้านนามีความเชื่อกันว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมานั้นเปรียบเสมือนตัวแทนของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้นจึงถือว่าพระพุทธรูปที่จัดสร้างขึ้นก็มีจิตวิญญาณ เฉกเช่นเดียวกับองค์พระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง  ดังนั้นชาวล้านนาจึงให้ความสำคัญกับการประกอบพิธีบวชพระเจ้า  หรือพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปเป็นอย่างยิ่ง พิธีพุทธาภิเษกนี้มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการอบรมสมโภชพระพุทธเจ้าปิมปา(ภาษากลางอ่านออกเสียงพิมพา) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลเดชะอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์วุฒิเจริญ  เพื่อให้เกิดความรุ่งเรืองในบวรพระพุทธศาสนา  อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้มากราบไหว้บูชาอีกด้วย โดยในการประกอบพิธีนั้นค่อนข้างมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย  เพราะจะมีการจำลองเอาสถานการขณะที่พระพุทธเจ้าทรงออกผนวช  เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดนั้นผู้เขียนจะได้นำมาอธิบายให้เกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนและพิธีกรรม  ตลอดจนพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีบวชพระเจ้านี้ต่อไป



ในการจัดพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูป  หรือพิธีพุทธาภิเษกแบบล้านนานั้น  ปัจจุบันได้มีการผสมผสานเอาพิธีแบบภาคกลางเข้ามา  รวมถึงพิธีพราหมณ์ด้วยซึ่งแทบจะแยกกันไม่ออกเลยก็ว่าได้ พิธีที่เกี่ยวข้องอาทิ พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีเชิญพระอุปคุต พิธีบวงสรวงบูชาฤกษ์เป็นต้น ซึ่งในการจัดพิธีดังกล่าวจะมีการจัดเตรียมความเรียบร้อยต่างๆ ค่อนข้างมาก  รวมไปถึงมณฑลพิธีซึ่งต้องมีการประดับประดาตุงไชยช่อชั้น ขัดราชวัตร ฉัตร ธง ต่างๆ รวมทั้งปลูกต้นกล้วยต้นอ้อยตามแบบโบราณประเพณีด้วย ซึ่งการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวถ้าจะให้สมบูรณ์แบบแล้ว ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์และผู้รู้หลายๆด้านมาช่วยกันจัดพิธีดังกล่าว  ทั้งนี้การจัดพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูปในแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งเรื่องของพิธีการ การจัดเตรียมสถานที่  ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัดหรือผู้จัดพิธีนั้นๆ พิธีจะเล็กหรือใหญ่ก็มีความแตกต่างกันออกไปเช่นกัน  แต่ด้วยความแตกต่างทั้งหลายทั้งปวงนี้  ท้ายสุดแล้ววัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็เพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง  แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ผู้เขียนคิดว่าสำคัญมากนั่นคือประเพณีและพิธีกรรมเหล่านี้  นับวันจะมีผู้รู้และรู้ลึกเหลือน้อยไปทุกขณะ  สาเหตุหลักก็คือการละเลยจากคนรุ่นใหม่  และไม่มีการถ่ายทอดหรือบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ให้ได้ศึกษากันอย่างจริงจังนั่นเอง



ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเห็น เคยร่วมเป็นกรรมการจัดพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูป หรือพิธีพุทธาภิเษกนี้มาหลายครั้งและหลายแห่ง จึงได้สังเกตเห็นพิธีกรรมและรายละเอียดต่างๆ ที่มีความเหมือนและความแตกต่างกันหลายประการ  และได้มีโอกาสเป็นผู้จัดพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งนับเป็นการจัดพิธีครั้งที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้  ผู้เขียนจึงได้นำเอาประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้เคยร่วมและจัดมาจากหลายที่หลายแห่ง ผสมผสานให้เกิดความสมบูรณ์และความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าการจัดพิธีครั้งนี้เป็นการจัดพิธีที่มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเองประสบมา  ดังนั้นรายละเอียดต่างๆ ที่ได้เขียนขึ้นในครั้งนี้จึงเป็นประสบการณ์ตรง และมีรายละเอียดค่อนข้างแตกต่างจากตำราหรือเอกสารอื่นๆ ที่เคยบันทึกไว้ก่อนหน้านี้  



ในการจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีอบรมสมโภชพระพุทธรูป หรือพิธีพุทธาภิเษก โดยส่วนใหญ่แล้วมักประกอบพิธีในอุโบสถหรือวิหารของวัดต่างๆ หรือสถานที่อันสมควรแก่การประกอบพิธี กรณีที่ไม่สามารถจัดขึ้นภายในวัดได้ เช่นการอบรมสมโภชพระพุทธรูปพระประธานองค์ใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้าย  หรือสถานที่ประดิษฐานนั้นอยู่ห่างไกลไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายได้  หลังจากที่ได้กำหนดสถานที่แล้วต้องจัดทำแท่นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปที่จะประกอบพิธี  รวมไปถึงพระเหรียญหรือพระพุทธรูปจำลองขนาดต่างๆ ตามแต่ละวัดหรือผู้เป็นเจ้าภาพได้จัดสร้างขึ้น  ขนาดแท่นมีขนาดพอที่จะสามารถรองรับพระทั้งหมดได้  และต้องมีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักได้ด้วย  บริเวณโดยรอบมีการจัดทำรั้วราชวัตร ประดับด้วยฉัตร ธงทิว ตุงไชยช่อชั้นต่างๆ ให้สวยงาม  รวมไปถึงกล้วย-อ้อยตามมุมราชวัตร  เพื่อกำหนดให้เป็นเขตมณฑลพิธีอันศักดิ์สิทธิ์  ยอดฉัตรที่ปักไว้โดยรอบนั้นวนด้วยด้ายสายสิญจน์  การเวียนต้องเวียนรอบไปทางขวาและโยงไปยังที่ที่ประธานสงฆ์นั่ง  นอกจากนั้นด้านบนเหนือศีรษะในเขตราชวัตนั้น  ก็ต้องโยงด้ายสายสิญจน์ให้เป็นรูปตารางลักษณะคล้ายพิธีสืบชะตาหลวง  หรือที่ภาษาล้านนาเรียกว่า“การสานตาด”  พร้อมกับโยงด้ายสายสิญจน์จากองค์พระพุทธรูปทุกองค์ที่นำเข้าประกอบพิธี  และโยงไปยังบริเวณที่พระเถราจารย์นั่งอธิษฐานแผ่เมตตาจิตปรกด้วย



ในแต่ละมุมของราชวัตรนั้นจัดอาสนะสำหรับพระเถราจารย์นั่งอธิษฐานจิตปรก  ทั้งนี้จำนวนอาสนะที่จัดเตรียมต้องเพียงพอกับพระเถระที่นิมนมา การจัดพิธีบวชพระเจ้าหรือพุทธาภิเษกนี้แต่ละแห่งจะนิมนพระไม่เท่ากัน  บางแห่งอาจเป็นพิธีปรกเดี่ยว หมายถึงมีพระเถราจารย์นั่งอธิษฐานจิตปรกเพียงรูปเดียว  บางแห่งอาจนิมนต์พระ ๘ รูป ๑๐ รูป  แล้วแต่กำลังศรัทธา  ซึ่งในพิธีมหาพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นคณะกรรมการจัดงานได้นิมนพระเถราจารย์นั่งอธิษฐานจิตปรกถึง ๘๐ รูป  ดังนั้นการจัดอาสนะสงฆ์จึงจัดไว้ทั้ง ๘ ทิศของมณฑลพิธี  และจัดชุดพระเถราจารย์ขึ้นนั่งอธิษฐานจิตปรกเป็นชุดๆ สลับกันไปตลอดพิธีการ  นอกจากอาสนะพระเถราจารย์นั่งอธิษฐานจิตปรกแล้ว  ต้องจัดเตรียมอาสนะสำหรับพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ด้วย  ซึ่งส่วนมากแล้วจะนิมนต์พระ ๙ รูป  แต่บางแห่งจะนิมนต์มากกว่านั้นก็สามารถทำได้  ซึ่งการจัดสถานที่ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป  ขึ้นอยู่กับสถานที่และจำนวนพระสงฆ์  จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้จัดมาจะจัดเพียง ๙ รูป  แต่นิมนต์พระจำนวนหลายชุดเพื่อเจริญพระพุทธมนต์  สวดมนต์ตั๋นแบบล้านนา  หรือสวดมนต์เจ็ดตำนาน และสิบสองตำนานเป็นต้น  ซึ่งพระสงฆ์แต่ละชุดสลับหมุนเวียนกันสวดไปตลอดพิธีที่เรากำหนดไว้ว่าพิธีจะเริ่มต้นและสิ้นสุดเวลาใด



ในการจัดพิธีบางแห่งได้นำเอาแบบแผนและรูปแบบพิธีพุทธาภิเษกของภาคกลางเข้ามาผสมผสานด้วยเช่น พระพิธีธรรม และมโหรีปี่พาทย์ต่างๆ ดังนั้นต้องมีการจัดเตรียมเตียงสำหรับพระพิธีธรรมด้วย  ซึ่งพระพิธีธรรม  ๑ ชุดนั้นจะประกอบไปด้วยพระพิธีธรรมจำนวน ๔ รูป และด้านหน้าเตียงพระพิธีธรรมต้องจัดเตรียมตู้พระธรรมและดอกไม้ ธูป-เทียน ไว้ด้วย



ตามโบราณประเพณีล้านนาการอบรมสมโภชพระพุทธรูปนั้น  มีการจัดเตรียมข้าวข้องที่สำคัญที่มีการจดบันทึก  และได้รับการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมีรายละเอียดและสาระสำคัญ  โดยเริ่มจากการจัดเตรียมองค์พระพุทธรูปที่จะอบรมสมโภชหรือประกอบพิธีพุทธาภิเษก  จากนั้นเตรียมใบลานหรือใบของต้นตาลซึ่งมีมากในภาคเหนือ  พร้อมกับเขียนปัจจยาการ  คืออวิชชาปัจจยาฯ  อวิชชายเตวะฯ และอเนกะชาติสังสารังฯ ลงไป  แล้วนำไปวางไว้บนตักของพระพุทธรูปองค์นั้น  จัดเตรียมเครื่องอัฐบริขารพร้อมเครื่องกกุธภัณฑ์  มี ๕ ละแอ(หมายถึงประกอบไปด้วยสิ่งของ ๕ สิ่ง)  หาต้นสลี(ต้นโพธิ์) ๑ ต้น หญ้าคา ๘ กำ ผูกติดกันเป็นแพกว้างประมาณ ๑ ศอก จัดเตรียมขี้ผึ้งอันบริสุทธิ์สำหรับปิดพระเนตร(ดวงตา) พระกรรณ(หู) และพระโอษฐ์(ปาก)  ผ้าขาวสำรับหุ้มพระเศียรหรือองค์พระ จัดหาขันน้ำหรือโอ่งใส่น้ำวางไว้ทั้ง ๔ มุม และโอ่งน้ำใบใหญ่ใส่น้ำ ๑ ใบ ถาดทอง ๑ ใบ รูปปั้นพญานาค ๑ ตัว ม้ากัณฐัศ ๑ ตัว มีดดาบ ๑ เล่ม  สำหรับใช้ประกอบในพิธี  ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นผู้เขียนจะได้อธิบายขยายความในลำดับต่อไป



นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือเทียนที่ใช้สำหรับจุดในการประกอบพิธี  ซึ่งประกอบไปด้วย
   เทียนชัย  ๑ เล่ม หนัก ๘๐ บาท ไส้ ๑๐๘ เส้น  ความสูงเท่ากับผู้เป็นประธานในพิธี
   เทียนพุทธาภิเษก ๑ เล่ม หนักเล่มละ ๓๒ บาท  ไส้เทียน ๕๖ เส้น ความสูงของเทียนสูงกึ่งหนึ่งของเทียนชัย
เทียนมงคลซ้ายขวา ๒ เล่น หนักเล่มละ ๑๐ บาท ไส้เทียนเกินกว่าอายุของผู้เป็นประธานในพิธีหรือเจ้าของพิธี ๑ เส้น ความสูงของเทียนเท่ากับความยาวโดยรอบศีรษะของผู้เป็นประธาน
   เทียนนวหรคุณ  ๙ เล่ม หนักเล่มละ ๒ บาท ไส้เทียนเล่มละ ๙ เส้น
   เทียนวิปัสสี ๑ เล่ม หนัก ๑๒ บาท  ไส้เทียน ๓๒ เส้น
เทียนโสฬะสะ ๑๖ เล่ม ไส้เทียน ๓๒ เส้น
   เทียนสำหรับบูชาคุณพระรัตนตรัย หนักเล่มละ ๒ สลึง ๑๐๘ เล่ม
   เทียนน้ำมนต์ หนัก ๒ บาท สำหรับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และพระเถราจารย์ที่อธิษฐานจิตปรกตามจำนวน
   เทียนสำหรับจุดบูชาหน้าพระรัตนตรัย ขนาดตามความเหมาะสม  แต่ควรเลือกขนาดเทียนที่สามารถจุดได้เป็นระยะเวลานานๆ ตามช่วงเวลาที่ประกอบพิธี
   เทียนจุดหน้าพระพิธีธรรม(ถ้ามี)
   เทียนสำหรับโยขัน ๕ โกฐากส์  จำนวน ๕ เล่ม



นอกจากนี้สิ่งที่ต้องเตรียมนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งประกอบไปด้วย
   ๑. หญ้าคามัดเป็นกำๆ สำหรับประพรมน้ำมนต์  ตามจำนวนพระเถราจารย์ที่นั่งอธิษฐานจิตปรกในแต่ละชุด และพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ด้วย
   ๒. ตู้ใส่เทียนชัย ๑ หลัง มีกระจกป้องกันลมทั้ง ๔ ด้าน
   ๓. เครื่องเจิมหรือกระแจะ สำหรับเจิมเทียนชัย
   ๔. ทองคำเปลว สำหรับปิดเทียนชัย
   ๕. ใบพลู ๗ ใบ ใช้สำหรับพิธีดับเทียนชัย
   ๖. เทียนชนวน
๗. ขันตั้ง ขันตั้งที่ใช้ในพิธีอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษกนี้ต้องจัดเป็นขันตั้งหลวง  ซึ่งรายละเอียดของขันตั้งผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วในเรื่องของขันตั้ง  แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในส่วนของขันตั้งหลวงประกอบไปด้วย



เบี้ย ๑๓๐๐  หมาก ๑๓๐๐  ข้าวเปลือกหมื่น(๑๐ ลิตร) ข้าสาร ๑๐๐๐ ผ้าขาวรำ ผ้าแดงรำ(พับหรือม้วน) เทียนหนักบาท ๑ คู่ หนักเฟื้อง ๑ คู่ เทียนเล็ก ๔ คู่ สวยพลู ๔ สวย หมาก ๔ ขด(๔ มัด) ๔ ก้อม(๔ ชิ้น)  เสื่อ ๑ ผืน หมอน ๑ ใบ หม้อน้ำพร้อมกระบวย ๑ ชุด  มะพร้าว ๑ คะแนง(๑ ทลาย) กล้วย ๑ เครือ อ้อย ๔ เล่ม เงิน ๓๐๐ แถบ(เงินโบราณ) ปัจจุบันนั้นหาได้ยากจึงใช้เหรียญ ๑ บาทแทน บางแห่งจะมีสวยดอกไม้ ๑๐๘ สวย



บางแห่งมีการจัดเตรียมเครื่องศัตราวุธเพื่อใช้ในการประกอบพิธีด้วย  โดยผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงานพุทธาภิเษกพระรอดลำพูนที่วัดป่ายางหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเมื่อหลายสิบปีก่อน  ได้เห็นทางวัดจัดเตรียมเครื่องศัตราวุธนิดต่างๆ อาทิ ดาบ ธนู หน้าไม้ ปืน มีด ขวาน เป็นต้น สำหรับวางใต้ฐานพระพุทธรูปและเหรียญต่างๆ ที่จัดสร้างขึ้น  โดยมีความเชื่อว่าขณะที่ประกอบพิธีกรรมนั้น  พระพุทธคุณจะสามารถข่มศัตราวุธทั้งหลายได้  ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อของคนโบราณที่ว่าพระเครื่องแต่ละประเภทให้คุณต่างกัน เช่นให้คุณทางด้านเมตตามหานิยม  หรืออยู่ยงคงกระพันธ์ เป็นต้น  ดังนั้นผู้เขียนจึงได้นำเอาประสบการณ์ และสิ่งที่เรียนรู้มาจากคนสมัยก่อนมาใช้ในพิธีพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองฯ ด้วย



นอกจากขันตั้ง และสิ่งต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  ในการประกอบพิธีต้องจัดเตรียมขันห้า หรือขั้นห้าโกฐากส์ เพื่อใช้ขอขมาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ตลอดจนครูบาอาจารย์ต่างๆ ส่วนรายละเอียดนั้นผู้เขียนจะขออธิบายในลำดับต่อไป  แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นผู้เขียนได้อธิบายไว้ในส่วนเริ่มต้นว่าปัจจุบันนั้นมีการผสมผสานทั้งพิธีกรรมแบบล้านนา พิธีแบบภาคกลาง  รวมไปถึงพิธีพราหมณ์ด้วย  ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นพิธีอบรมสมโภชหรือพิธีพุทธาภิเษกนั้น  ต้องมีประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยเทพไท้เทวาเพื่อเป็นการบอกกล่าว  ตลอดจนอัญเชิญเทพไท้เทวามาปกป้องรักษาพิธีให้สำเร็จลุล่วง  และป้องกันมารภัยทั้งหลายที่จะมารบกวนพิธี รวมถึงพระแม่ธรณีที่ทำหน้าที่เป็นสักขีพยานในการประกอบพิธีงานบุญงานกุศลต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องของท้าวทั้งสี่ ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมเครื่องบวงสรวงสังเวยที่มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกจำนวนมาก  ซึ่งผู้เขียนจะได้นำไปอธิบายในส่วนของพิธีบวงสรวงต่อไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 22 สิงหาคม 2012, 23:40:07 โดย maekok_14 » IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!