เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 26 เมษายน 2024, 15:55:00
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  ตุง มรดกทางวัฒนธรรม โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ตุง มรดกทางวัฒนธรรม โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 13534 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 22:01:56 »



“ตุง คุณค่าเพียงแค่เครื่องประดับเท่านั้นหรือ”  ตุงเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  มิใช่เพียงค่านิยมหรือเครื่องประดับอาคาร  น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งกับความเข้าใจของผู้คนในปัจจุบัน  เกี่ยวกับเรื่องของตุง ความหมายและมรดกทางวัฒนธรรมของชาวล้านนา  ซึ่งคนรุ่นหลังมักเห็นคุณค่าของตุงเพียงเป็นแค่เครื่องประดับสถานที่ ร้านค้า ภัตตาคารและห้างสรรพสินค้าไปแล้ว  แต่หารู้ซึ้งถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของตุงไม่  ตุงเป็นเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่เมืองเชียงรายมานับ ๑๐๐๐ ปี  และถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งใสวิถีชีวิตของชาวล้านนามากระทั่งปัจจุบันนี้
          “ตุง” คืออะไร  “ตุง” ในภาษาถิ่นล้านนาหมายถึง “ธง” ในภาษาไทยกลาง ตรงกับลักษณะธงประเภท “ปฏากะ” ของอินเดีย คือมีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา  ตุงเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายแห่งความศรัทธาที่ชาวล้านนามีต่อพระพุทธศาสนา  โดยชาวล้านนาได้สร้างตุงขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ชาวล้านนายังมีความเชื่อที่ว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติภพหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำในวันพญาวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์  หรือในงานปอยหลวงของชาวล้านนาเป็นต้น



“เชียงราย”เป็นดินแดนทางเหนือสุดของแผ่นดินล้านนามีเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตุงมานับ ๑๐๐๐ ปี  โดยมีประวัติศาสตร์นับเนื่องมาจากการสร้างพระธาตุดอยตุง โดยมีเรื่องเล่าว่าได้มีการนำพระบรมธาตุมาบรรจุที่ดอยตุงถึง ๓ ครั้ง และในแต่ละครั้งก็จะมีการก่อเจดีย์ขึ้นด้วย แต่มีเพียง ๒ องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์นี้เป็นที่บรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย(กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้า และพระธาตุย่อยนำมาจากมัธยมประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์   ได้มาประดิษฐานบนแผ่นดินล้านนาไทย พระธาตุดอยตุงจึงได้ชื่อว่าเป็นปฐมบรมธาตุแห่งอาณาจักรล้านนา
ในสมัยพระเจ้าอุชุตะราช รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๕๒ พระมหากัสสปเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย(กระดูกไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามาถวายซึ่งตรงตามคำทำนายของพระพุทธองค์ว่าที่ดอยดินแดงแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ในภายภาคหน้า  พระเจ้าอุชุตะราชทรงมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  จึงได้เรียกหัวหน้าลาวจกมาเฝ้า พระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์  ให้เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดงแก่พวกลาวจกแล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว ๓,๐๐๐ วา ไปปักไว้บนดอย และได้รับสั่งว่าหากชายธงนี้ปลิวไปไกลเพียงใด ให้กำหนดพื้นที่เป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวบรรจุไว้ให้คนสักการะบูชา หลุมตุงที่อยู่ใกล้ ๆ กับองค์พระธาตุดอยตุงนั้นเล่าสืบกันต่อมาว่าเป็นหลุมสำหรับปักตุงของพระมหากัสสป ปัจจุบันได้รับการดูแลจากทางวัดพระธาตุดอยตุงเป็นอย่างดี
จากประวัติความเป็นมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า  “ตุง”  มีรากฐานและความเป็นมาที่ยาวนาน  และในวิถีวัฒนธรรมของคนล้านนาแล้ว  ตุงยังแบ่งออกได้อีกหลายประเภทตามแต่วัตถุประสงค์ของผู้สร้าง  ตุงมีทั้งที่ใช้ในงานมงคลและงานอวมงคล  ตุงของชาวล้านนานั้นมีทั้งตุงผืนผ้า  ตุงไจหรือตุงไชย  ตุงใส้หมู ตุงสามหาง ตุงกระด้าง ตุงเหล็กตุงตองเป็นต้น  ซึ่งตุงแต่ละประเภทก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป  ซึ่งผู้เขียนจะได้นำมาอธิบายให้เกิดความกระจ่างต่อไป



มีตำนานที่เกี่ยวกับตุงซึ่งสืบต่อกันมาว่า เมื่อครั้งที่พระสัพพัญญูพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ลงมาเกิดในท้องแม่กาเผือก แล้วได้เกิดพายุใหญ่พัดรังกาแตกกระจายไปในวันนั้น ไข่กาทั้ง ๕ ฟองก็มีอันพลัดพรากจากกัน ตกลงในลำน้ำ ก็มีแม่สัตว์ทั้ง ๕ คือ แม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และหญิงซักผ้ามาพบแล้วเก็บไข่ทั้ง ๕ นั้นไปเลี้ยง ไข่แตกออกมาเป็นลูกมนุษย์ ๕ คน พอเติบโตเป็นหนุ่มก็ได้ออกบวชไปบำเพ็ญภาวนาในป่า ทั้ง ๕ มาพบกันโดยบังเอิญ ถามไถ่กันแล้วก็รู้ว่าเป็นพี่น้องกันจึงคิดจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แม่ผู้ให้กำเนิดตน ต่างคนต่างก็ทำตุงตามสัญลักษณ์ของผู้ที่เลี้ยงตนมา พระกกุสันธะทำเป็นรูปไก่ พระโกนาคมนะทำเป็นรูปนาค พระกัสสปะทำเป็นรูปเต่า พระโคตมะทำเป็นรูปวัว และพระอริยเมตไตรยทำเป็นรูปค้อนสำหรบทุบผ้า อันหมายถึงสัญลักษณ์ของคนซักผ้าแล้วนำไปถวายเป็นพุทธบูชา แต่กุศลนั้นไม่ถึงพ่อแม่ที่แท้จริง แม่กาเผือกซึ่งไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมจึงลงมาบอกให้ลูกๆ จุดประทีป ทำไส้เป็นรูปตีนกาจึงจะอุทิศส่วนกุศลไปให้ได้  ดังนั้น ส่วนประกอบต่างๆ ของตุง จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ กล่าวคือ หัวตุงแทนไม้ซักผ้าคือพระอริยเมตไตรย รูปไก่และส่วนบนของหัวตุงแทนไก่ คือพระกกุสันธะ รูปนาคคือลำตัวที่ยาวของตุงและใบไฮนั้นแทนนาคคือพระโกนาคมนะ ส่วนลวดลายตารางเกล็ดเต่านั้นแทนเต่าคือพระกัสสปะ และหมากตาวัว หรือลูกกลมประดับตุงนั้นแทนวัว คือพระโคตมะ



ตุงจึงมีความหมายในทางพุทธศาสนา เป็นเครื่องหมายแห่งกำลังใจ ทำให้เกิดความกล้าหาญและสร้างความสามัคคีในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ตุงนั้นทำมาจากวัสดุหลายประเภท ทั้งผ้าหรือฝ้าย ไม้ กระดาษ หรือโลหะก็ได้ การทำตุงแต่ละประเภทจะยากง่ายขึ้นอยู่กับวัสดุและลวดลาย ยิ่งคิดยิ่งทำ ยิ่งแต่งเติมมากเท่าไหร่ ลวดลายของตุงก็หลากหลาย สวยงามมากขึ้นเรื่อยๆหากจะจำแนกตุงตามประเภทการใช้งานก็จะมีหลากหลายประเภท
ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วว่า ตุงของชาวล้านนานั้นมีหลายลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อและพิธีกรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่ตุงที่ทำขึ้นจะให้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา  เช่น ตุงผ้า ตุงไชย หรือตุงตะขาบ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วยผ้าหลากหลายสี บางแห่งจะตัดกระดาษสีต่างๆ ติดประดับเพิ่มความสวยงามเข้าไปด้วย ใช้สำหรับถวายเป็นพุทธบูชาหรือถวายในงานฉลองสมโภชที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา  หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่าประเพณีการตานตุงในงานปอยหลวง  หรือตุงตะขาบที่ใช้ในงานกฐิน  ตุงเหล่านี้ถือว่าเป็นตุงที่ใช้ในงานมงคล
ส่วนตุงที่สร้างขึ้นเพื่อถวายไว้เป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาเช่นตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายส่วนใหญ่เป็นรูป ๑๒ นักษัตร ลงลักปิดทองสวยงาม นิยมตั้งไว้หน้าวิหารหรืออุโบสถของวัดวาอารามต่างๆ  นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว  ยังมีตุงที่ใช้ในเทศกาลปี๋ใหม่เมืองหรืองานเทศกาลสงกรานต์  ที่ชาวล้านนาจะก่อเจดีย์ทรายและถวายตุง  ซึ่งเป็นตุงกระดาษพิมพ์ภาพ  ๑๒ นักษัตร  หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าตุงตั๋วเปิ้ง หรือ ตุงสิบสองราศีและตุงไส้หมูเป็นต้น



ตุงที่ใช้ในงานอวมงคลได้แก่ตุงเหล็กตุงตอง เป็นตุงที่ทำขึ้นมาจากแผ่นเหล็กหรือสังกะสีหรือแผ่นทองเหลือง ทาด้วยสีเงินสีทอง ใช้ประกอบพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่เสียชีวิต ตุงแดง เป็นตุงสีแดงที่ใช้ในพิธีสูตรถอนวิญญาณคนตายผิดปกติ เช่น ตายเพราะอุบัติเหตุต่างๆ  ก็จะปักตุงแดงนี้หลังจากที่มีพิธีถอนดวงวิญญาณของคนตายออกจากสถานที่แห่งนั้นแล้ว  เพื่อให้ดวงวิญญาณนั้นได้เกาะชายตุงและหลุดพ้นจากสถานที่และบ่วงกรรมนั้นๆ นอกจากนั้นยังมีตุงอีกประเภทที่ใช้ในงานอวมงคล คือ ตุงสามหาง เป็นตุงที่ใช้นำหน้าศพไปสุสาน โดยจะมีปู่อาจารย์เป็นผู้แบกตุงสามหางนำขบวนศพ ตุงสามหางจะมีรูปร่างเหมือนคนแต่ตั้งแต่เอวลงไปจะเป็น ๓ แฉก เรียกว่า ๓ หาง



ตุงสามหาง อันเป็นธงสัญลักษณ์ของตุงที่ใช้ในงานศพ มีรูปร่างคล้ายคลึงกับรูปการของมนุษย์ และมีชายตุงอยู่ ๓ ชาย ความหมายของตุง ๓ ชายหรือตุงสามหางนี้ อาจหมายถึงไตรวัฏฏ์ คือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก หรือไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน คือความไม่เที่ยงของสังขาร คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตุงสามหางนี้จึงเปรียบได้ดั่งกับปริศนาธรรม ทั้งยังเป็นอุทาหรณ์และเครื่องเตือนสติให้ได้คิดไปหลายอย่าง ผู้ถือตุงสามหางนิยมให้ผู้มีความฉลาดหลักแหลม และเป็นผู้ที่ที่มีความประพฤตตนอยู่นความดีงามของศีลธรรมด้วย บ้างว่าตุงสามหางนี้เมื่อคนเราละสังขารไปแล้ว  ต้องได้ไปรับกรรมที่ตนทำไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่  และต้องขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสรวงสวรรค์  โดยจะใช้ตุงสามหางนี้เป็นเครื่องสักการะ
ตุงอีกประการหนึ่งคือตุงที่ใช้ในการเทศน์หรือใช้ในพิธีตั้งธรรมหลวง หรือเทศน์มหาชาติในเดือนยี่เป็ง หรือเดือนสี่เป็ง โดยชาวล้านนาจะปักตุงในกัณฑ์เทศน์ หรือประดับตามอาคารที่มีการเทศน์ ตุงเหล่านี้จะได้แก่ ตุงดิน ตุงไม้ ตุงเหียก ตุงเงิน ตุงคำ ตุงข้าวเปลือก ตุงข้าวสาร ตามคติความเชื่อของคนล้านนานั้นเชื่อว่าถ้าทำตุงประกอบการเทศน์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้วจะได้อานิสงส์มาก  และการถวายตุงเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับก็เช่นกัน  ชาวล้านนาเชื่อว่าอานิสงที่ยิ่งใหญ่นี้จะช่วยให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ได้รับอานิสงค์นั้นและจะได้ไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นที่ดี  และพ้นจากความทุกข์ยากลำบากในการใช้กรรมต่างๆ ในปรภูมิด้วย



วิถีชีวิตของคนล้านนาผูกพันกับตุงมาตั้งแต่เกิดจนถึงในยามที่ต้องละสังขารตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีการต่างๆ  ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาไว้ในฉบับที่แล้ว โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุที่แตกต่างกันไป ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย ตุงจึงมีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น ตุงกระด้าง ตุงที่ทำด้วยผ้า ได้แก่ ตุงไชย ทำด้วยสังกะสีหรือทองเหลือง เรียกว่า ตุงเหล็กตุงตอง ซึ่งตุงชนิดนี้จะทำอุทิศให้แก่ผู้ที่ตายเพราะอุบัติเหตุ ลักษณะมีฐานเป็นไม้ เสาตั้งขนาดสูงประมาณ ๑ ฟุต แขวนด้วยตุงขนาดเล็ก ๆ รอบแผ่นเหล็กวงกลม ตัวตุงทำด้วยทองเหลืองหรือสังกะสีตัดเป็นแผ่นคล้ายรูปคน จำนวนของตุงที่แขวนไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ทำ ในพิธีกรรมปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุงเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีเกี่ยวกับความตาย งานเทศกาลและเฉลิมฉลองงานต่างๆ ตามคติความเชื่อเดิม แต่วัตถุประสงค์ในการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบรรดาหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่จัดงานต่างๆ เพื่อความสวยงาม  ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ที่ผู้คนในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญและมองคุณค่าของตุง เป็นเพียงแค่เครื่องประดับและเฟอร์นิเจอร์ในการตกแต่งร้านค้า ตลอดจนสถานที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น  คุณค่าและความหมายที่ลึกซึ้งที่แฝงไว้ของคนในสมัยก่อนจึงถูกลดทอนคุณค่าลงไปทุกขณะ
ผู้เขียนได้กล่าวถึงความหมายของตุง  ตลอดจนที่มาและประเภทของตุงที่ใช้ในงานมงคลและงานอวมงคลไปแล้ว  ซึ่งตุงแต่ละประเภทนั้นก็ใช้ในเทศกาลและโอกาสที่ต่างกันออกไป  ซึ่งตุงของชาวล้านนานั้นมีมากมายและหลายประเภท  และที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเฉพาะตุงที่เป็นลักษณะผืนผ้ายาวๆ ที่ใช้ในงานมงคลหรืองานเฉลิมฉลองทั่วไป  และตุงที่มีลักษณะอื่นๆ นั้นน้อยคนนักที่จะเคยเห็นและรู้จัก ดังนั้นผู้เขียนจึงได้นำเอารูปแบบตุงในรูปลักษณะต่างๆ ของชาวล้านนา  มาให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจและเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเริ่มจาก



ตุงผ้า ตุงทอ  หรือไย ทำด้วยผืนผ้าหรือทอด้วยเส้นไยฝ้าย บางแห่งใช้ผ้าดิบหรือปัจจุบันใช้ผ้าลูกไม้แทนก็มี ขนาดความยาวตั้งแต่ ๒ เมตร ไปจนถึง ๔-๕ เมตร  บางแห่งอาจจะทอให้มีความยาวกว่านั้นตามวัตถุประสงค์  หรือที่เรียกว่าตุงซาววา(ซาว หมายถึง ๒๐)  ผืนตุงถักทอให้มีลวดลายสวยงาม ปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้กระดาษสีต่างๆ ฉลุลายติดลงไปบนผืนตุง ให้เกิดความสวยงามมากขึ้น  ตุงประเภทนี้ใช้สำหรับงานมงคลทั่วไปหรือใช้ถวายเป็นพุทธบูชา และงานเฉลิมฉลองต่างๆ
ตุงไจ หรือตุงไชย  ทำด้วยผ้ารูปสามเหลี่ยม มีหลายหลากสี  บนผืนผ้ามักจะสลักลายหรือทำลวดลายรูปนักษัตรต่างๆ ที่เป็นมงคล หรือฉลุลายอื่นๆ ให้เกิดความสวยงาม  ตุงไจหรือตุงไชยนี้  ในสมัยโบราณจะใช้ในการออกศึกสงครามด้วย  เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความโชคดีและชัยชนะ ปัจจุบันเราจะเห็นชาวล้านานำเอาตุงไจมาเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน



ตุงช่อ หรือตุงจ้อ ทำด้วยกระดาษสีต่างๆ ส่วนมากเป็นกระดาษว่าวและตัดให้มีลายต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง  มีรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก  ใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในพิธีกรรมเช่น  พิธีสืบชะตา  พิธีส่งเคราะห์ และพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นต้น
ตุงพระบด ทำด้วยผืนผ้าลงสีพื้นด้วยสีน้ำ  และวาดภาพพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธประวัติเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชาในเทศกาลหรืองานสำคัญต่างๆ ของชาวล้านนา  ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นเป็นคู่เช่นเดียวกับตุงกระด้าง
ตุง ๑๒ ราศี หรือตุงปี๋ใหม่เมือง  ผืนตุงทำด้วยกระดาษว่าวหรือกระดาษสา  บนผืนตุงพิมพ์รูป ๑๒ นักษัตรลงไป  ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา
ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้แกะสลักส่วนมากลายที่แกะบนตุงกระด้างเป็นรูป ๑๒ นักษัตรเช่นกัน สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ตุงกระด้างนั้นพบเห็นได้ทั่วไปโดยส่วนมากประดับหรือตั้งไว้ ๒ ข้างทางขึ้นวิหาร(โบสถ์) ของชาวล้านนา  ปัจจุบันได้มีการทำตุงกระด้างเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหรือของท้องถิ่นมากขึ้น



ตุงแดง มีลักษณะเช่นเดียวกับตุงผ้าหรือตุงทอ  แต่พื้นตุงทำด้วยผ้าสีแดงเท่านั้น  ตุงแดงนี้ชาวล้านนาจะใช้สำหรับงานอวมงคล  หรือใช้เป็นตุงถอน  ตุงถอนหมายถึงตุงที่ใช้ถอนเอาสิ่งไม่ดีออกไป  ซึ่งส่วนมากจะใช้สำหรับคนตายที่เสียชีวิตแบบไม่ปกติ  เช่นอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรมหรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าตายโหง  ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นการถอดถอนเอาดวงวิญญาณออกไปจากสถานที่แห่งนั้น  เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานที่นั้นๆ และไปเกิดหรือไปอยู่ในที่แห่งใหม่  หากจะสังเกตให้ดีเวลาเดินทางในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน  แล้วเห็นว่ามีตุงแดงปักไว้ตามข้างถนนต่างๆ แสดงว่า ณ จุดนั้นมีคนเสียชีวิตและมีพิธีถอนตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่น่าสังเกตคือจำนวนผืนตุงที่ปักไว้ในสถานที่นั้นๆ จะบ่งบอกถึงจำนวนผู้ที่เสียชีวิต ณ ที่นั้นด้วย
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของตุงแต่ละประเภทไปแล้วบางส่วนแต่ยังมีตุงอีกหลายประเภทที่ชาวล้านนาใช้ในการประกอบพิธีกรรม  ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายต่อจากของเดิมในฉบับก่อนหน้านี้  และมาดูรายละเอียดของตุงประเภทต่อไปว่ามีความหมายและรูปลักษณะอย่างไรบ้าง
ตุงสามหาง  ทำด้วยผ้าหรือกระดาษ ตัดเป็นรูปลักษณะคล้ายคนแต่มี ๓ ขาหรือ ๓ ชาย ความหมายของตุง ๓ ชายหรือตุงสามหางนี้หมายถึงไตรวัฏฏ์ คือวงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไปก่อนหน้านี้  ตุงสามหางนี้จะใช้เฉพาะในงานศพเท่านั้น ซึ่งจะใช้นำหน้าขบวนศพกรณีที่เคลื่อนศพไปสู่สุสาน



ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษตัดเป็นรูปลวดลายสวยงาม  ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา เช่นเดียวกับตุง ๑๒ ราศี หรือตุง ๑๒ นักษัตร
ตุงเหล็ก-ตุงตอง ทำด้วยแผ่นโลหะทองเหลือหรือสังกะสี  มี ๒ สี คือสีเงินและสีทอง ลุกษณะรูปร่างทำเป็นรูปคล้ายรูปคน  แต่ไม่มีขาหรือชายตุงแบบตุงสามหาง  แต่ชายตุงจะมี
รูปที่แหลมออกไปมีชายเดียว ตุงเหล็กตุงตองนี้ชาวล้านนาใช้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ตุงเหล็กตุงตองนี้จะแขวนอยู่ด้วยกันเสมอ เราจะพบเห็นได้ง่ายในปอยข้าวสังข์ หรืองานบุญชาวล้านนาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติหรือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง



ตุงข้าวเปลือก-ตุงข้าวสาร มีลักษณะคล้ายตุงเหล็ก-ตุงตอง แต่วัสดุที่ทำอาจมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น  บางแห่งใช้โลหะหรือแผ่นสังกะสี  บางแห่งใช้แผ่นไม้บางๆ มาทำ จากนั้นจะทาสีหรือกาวและนำเอาข้าวเปลือกและข้าวสารมาโรยลงบนตัวตุงให้ทั่วทั้ง ๒ ด้าน  ส่วนใหญ่ตุงจำพวกนี้จะใช้ถวายเป็นพุทธบูชาในการตั้งธรรมหลวง  หรือเทศมหาชาติแบบทางเหนือ  หรือใช้ในงานป๋าเวณียี่เป็ง  ซึ่งชาวล้านนาเชื่อกันว่าเมื่อถวายตุงประเภทนี้แล้วจะก่อให้เกิดอานิสงส์กับตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมากนั่นเอง



ตุงดิน ตุงไม้ ตุงเหียก ตุงเงิน และตุงคำ  ลักษณะคล้ายครึงกับตุงเหล็ก-ตุงตอง และตุงข้าวเปลือก-ตุงข้าวสาร วัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาทำตุงจะเป็นไม้เสียส่วนใหญ่  และตุงประเภทนี้ชาวล้านนาทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในการตั้งธรรมหลวง  หรืองานปาเวณียี่เป็งเช่นกัน  หลังจากที่ทำตุงแต่ละชิ้นเรียบร้อยแล้ว  ตุงทั้งหมดจะนำมาแขวนรวมกันโดยมีเสาไม้เตี้ยๆ เป็นฐานรองรับ  เมื่อถวายตุงก็ถวายพร้อมกันทั้งหมดรวมเป็นชุดเดียว
นอกจากตุงประเภทต่างๆ ที่ผู้เขียนได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ยังมีตุงทออีกประเภทหนึ่งที่ปัจจุบันได้มีคนนิยมทำขึ้น  แต่ไม่ได้ทอด้วยฝ้ายหรือทำด้วยผืนผ้าเหมือนในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังได้มีการประดิษฐ์คิดค้นลวดลายใหม่ๆ  ให้เกิดความสวยงามมากขึ้น เช่นลายพระธาตุ ลายปราสาท  ลายสัตว์ต่างๆ ผืนตุงทำด้วยด้ายไหมพรมสีต่างๆ ซึ่งเราเรียกตุงประเภทนี้ว่าตุงถัก ส่วนลายที่ประดิษฐ์ขึ้นบนผืนตุงนั้น  ทำมาจากไม้ไผ่ชิ้นบางๆ พันด้วยกระดาษสีเงินหรือสีทอง และนำมาขัดลายกับด้ายไหมพรมตามที่มีการออกแบบไว้  ซึ่งปัจจุบันชุมชุนหลายชุมชนได้ประดิษฐ์ตุงประเภทนี้ออกมาจำหน่าย  และจัดทำเป็นของที่ระลึกหรือสิ้นค้า OTOP กันมากขึ้น และเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในปัจจุบัน




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 22:34:55 โดย maekok_14 » IP : บันทึกการเข้า
@เชียงแสน
สมาชิกลงทะเบียน
ระดับ ป.ตรี
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,359


..ทุกลมหายใจคือการเปลี่ยนแปลง..


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 22:07:20 »

...ขอบคุณครับ สำหรับบทความดี ๆ...
IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 22:16:10 »

ยินดีครับ  มีอะไรดีดีก็ต้องแบ่งปันกันครับ เก็บไว้คนเดียว ตายไปก็สูญหายครับ
IP : บันทึกการเข้า
แมงคอลั่น
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,451



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 26 กันยายน 2012, 13:08:17 »

ขอบคุณความรู้ดี ๆ ที่ MK14 นำมาให้เป็นความรู้ ถ้าไม่ว่าอะไร จะเก็บเรื่องราวที่ ท่าน พนมกร และ MK14 ลงไว้ในหลาย ๆกระทู้ นำไปพิมพ์ เพื่อแจกในงานที่ระลึกอะไรสักอย่าง คงไม่ว่ากัน อยากให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ไว้ก่อนจะสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นเรา
IP : บันทึกการเข้า
เวียงเก่า
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 280



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 26 กันยายน 2012, 13:31:08 »

มาติดตามอ่านสาระดีๆจากคุณ พนมกร ครับ ขอบคุณครับ  ยิ้ม ยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า

ผลมันไม่ออกมาตามที่คาดหวัง จะมานั่งเสียใจไปทำไม เมื่อได้พยายามทำเหตุให้ดีที่สุดแล้ว
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 27 กันยายน 2012, 15:51:41 »

มาติดตามอ่านสาระดีๆจากคุณ พนมกร ครับ ขอบคุณครับ  ยิ้ม ยิ้ม

ยินดีครับ
IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 27 กันยายน 2012, 15:52:39 »

ขอบคุณความรู้ดี ๆ ที่ MK14 นำมาให้เป็นความรู้ ถ้าไม่ว่าอะไร จะเก็บเรื่องราวที่ ท่าน พนมกร และ MK14 ลงไว้ในหลาย ๆกระทู้ นำไปพิมพ์ เพื่อแจกในงานที่ระลึกอะไรสักอย่าง คงไม่ว่ากัน อยากให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ไว้ก่อนจะสูญหายไปพร้อมกับคนรุ่นเรา

ด้วยความยินดีครับ ผมเองก็คิดจะพิมพ์อยู่เหมือนกัน เพราะรวมเล่มไว้แล้วครับ ยิงฟันยิ้ม
IP : บันทึกการเข้า
swk.supanee
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #7 เมื่อ: วันที่ 28 กันยายน 2012, 22:03:21 »

ข้าเจ้าไค้สอนตัด   "ตุงไส้หมู และตุงจ่อ"
    
     โดยเฉพาะตุงจ่อ แบบสามเหลี่ยม
และตุงตี้คล้ายเป๋นฮูปคน  บ่ฮู้เปิ้นฮ้องว่าตุงอะหยั๋ง
ตัดลายละเอียด งามแต๊ ๆ ปี๋ใหม่เมืองจะตัดแจก
กัลยาณมิตร ไว้มัดติดกิ่งเจืองไปปักก๋องทรายที่วัด
     มีไผสนไจ๋เฮียนก่อ เสียดายความฮู้
เฮียนมาจากแม่อุ้ยก๋องมูล สามใบ วัดดาวดึงส์ เจียงใหม่

            "สอนฟรีเจ้า"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 28 กันยายน 2012, 22:12:46 โดย swk.supanee » IP : บันทึกการเข้า
@เชียงแสน
สมาชิกลงทะเบียน
ระดับ ป.ตรี
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,359


..ทุกลมหายใจคือการเปลี่ยนแปลง..


« ตอบ #8 เมื่อ: วันที่ 30 กันยายน 2012, 20:11:58 »

ข้าเจ้าไค้สอนตัด   "ตุงไส้หมู และตุงจ่อ"
    
     โดยเฉพาะตุงจ่อ แบบสามเหลี่ยม
และตุงตี้คล้ายเป๋นฮูปคน  บ่ฮู้เปิ้นฮ้องว่าตุงอะหยั๋ง
ตัดลายละเอียด งามแต๊ ๆ ปี๋ใหม่เมืองจะตัดแจก
กัลยาณมิตร ไว้มัดติดกิ่งเจืองไปปักก๋องทรายที่วัด
     มีไผสนไจ๋เฮียนก่อ เสียดายความฮู้
เฮียนมาจากแม่อุ้ยก๋องมูล สามใบ วัดดาวดึงส์ เจียงใหม่

            "สอนฟรีเจ้า"

..ไขเฮียนแต้ครับ ผมลองแล้ว ยะจะใดก่ยะบ่ได้..คงมีโอกาสน่อครับ... ยิ้มกว้างๆ ยิ้มกว้างๆ
IP : บันทึกการเข้า
swk.supanee
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #9 เมื่อ: วันที่ 01 ตุลาคม 2012, 22:35:08 »

     ไปเฮียนใหม่ได้   ตัดตุงกับข้าเจ้า รับรองเป๋นแน่
ซื้อกระดาษว่าวมาจากเจียงใหม่ มีอย่างมัน กับอย่างบ่มัน
มีหลายสี ซื้อไว้หลายโหล
     เวลาเฮียนใหม่ไจ้หนังสือพิมพ์ลองตัดก่อน ตุงไส้หมูง่ายเหลือเปิ้น
ตัดตุงบ่ยาก แต่มันยากตั๊ดเสาะหาไม้มัดตุงเน๊าะ แป๋งคนเดียวบ่ได้เจ้า
     จะไปสอนฮื้อครูโฮงเฮียน "เชียงรายปัญญานุกูล" ติดต่อ ผอ.ไว้แล้ว
คงจะไปสอนเทอมหน้า เอ็นดูละอ่อนเด็กพิเศษ สอนครู ครูจะได้เอาความฮู้ไว้
สอนนักเรียนต่อแหมกำ เผื่อไผตัดได้งาม ก้อตัดขายเวลามีงานปอย ปี๋ใหม่เมือง
กาว่าส่งขายตามกาดบ้านเฮา รับรองแม่ก้าฮับแน่นอน  ฝีมือป๋าณีตจ๊าดงามแต้ๆ
     
     "เฮามาจ่วยกั๋นฮักษา ฝีไม้ฝีมือ ความเป๋นล้านนากั๋นเตอะเจ้า"
         
          มาเฮียนแต่ตั๋วกับใจ๋ เครื่องมือกระดาษมีฮื้อครบ
        053-744904  ข้างโฮงพัก ถนนสิงหไคล เจียงฮาย


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 02 ตุลาคม 2012, 08:50:56 โดย swk.supanee » IP : บันทึกการเข้า
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« ตอบ #10 เมื่อ: วันที่ 06 ตุลาคม 2012, 18:35:58 »

ข้าเจ้าไค้สอนตัด   "ตุงไส้หมู และตุงจ่อ"
    
     โดยเฉพาะตุงจ่อ แบบสามเหลี่ยม
และตุงตี้คล้ายเป๋นฮูปคน  บ่ฮู้เปิ้นฮ้องว่าตุงอะหยั๋ง
ตัดลายละเอียด งามแต๊ ๆ ปี๋ใหม่เมืองจะตัดแจก
กัลยาณมิตร ไว้มัดติดกิ่งเจืองไปปักก๋องทรายที่วัด
     มีไผสนไจ๋เฮียนก่อ เสียดายความฮู้
เฮียนมาจากแม่อุ้ยก๋องมูล สามใบ วัดดาวดึงส์ เจียงใหม่

            "สอนฟรีเจ้า"

ตุงแบบรูปคนคือตุงค่าคิงครับ
แต่ผมสอนตัดตุงสามหางเน้อ 55+
IP : บันทึกการเข้า
nantong
ปั๋น กั๋นฮู้ แล้วก่อยเอาไปกึ๊ดอ่าน กั๋น แหมกำ อาจมีผิดถูก ฯ
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,579



« ตอบ #11 เมื่อ: วันที่ 14 ธันวาคม 2012, 21:53:45 »

ข้าเจ้าไค้สอนตัด   "ตุงไส้หมู และตุงจ่อ"
     
     โดยเฉพาะตุงจ่อ แบบสามเหลี่ยม
และตุงตี้คล้ายเป๋นฮูปคน  บ่ฮู้เปิ้นฮ้องว่าตุงอะหยั๋ง
ตัดลายละเอียด งามแต๊ ๆ ปี๋ใหม่เมืองจะตัดแจก
กัลยาณมิตร ไว้มัดติดกิ่งเจืองไปปักก๋องทรายที่วัด
     มีไผสนไจ๋เฮียนก่อ เสียดายความฮู้
เฮียนมาจากแม่อุ้ยก๋องมูล สามใบ วัดดาวดึงส์ เจียงใหม่

            "สอนฟรีเจ้า"
     ไปเฮียนใหม่ได้   ตัดตุงกับข้าเจ้า รับรองเป๋นแน่
ซื้อกระดาษว่าวมาจากเจียงใหม่ มีอย่างมัน กับอย่างบ่มัน
มีหลายสี ซื้อไว้หลายโหล
     เวลาเฮียนใหม่ไจ้หนังสือพิมพ์ลองตัดก่อน ตุงไส้หมูง่ายเหลือเปิ้น
ตัดตุงบ่ยาก แต่มันยากตั๊ดเสาะหาไม้มัดตุงเน๊าะ แป๋งคนเดียวบ่ได้เจ้า
     จะไปสอนฮื้อครูโฮงเฮียน "เชียงรายปัญญานุกูล" ติดต่อ ผอ.ไว้แล้ว
คงจะไปสอนเทอมหน้า เอ็นดูละอ่อนเด็กพิเศษ สอนครู ครูจะได้เอาความฮู้ไว้
สอนนักเรียนต่อแหมกำ เผื่อไผตัดได้งาม ก้อตัดขายเวลามีงานปอย ปี๋ใหม่เมือง
กาว่าส่งขายตามกาดบ้านเฮา รับรองแม่ก้าฮับแน่นอน  ฝีมือป๋าณีตจ๊าดงามแต้ๆ
     
     "เฮามาจ่วยกั๋นฮักษา ฝีไม้ฝีมือ ความเป๋นล้านนากั๋นเตอะเจ้า"
         
          มาเฮียนแต่ตั๋วกับใจ๋ เครื่องมือกระดาษมีฮื้อครบ
        053-744904  ข้างโฮงพัก ถนนสิงหไคล เจียงฮาย


 


หนานธง  เปิงใจ๋ ขนาด   ขออนุโมทนา  ในกุศลจิต ของ  คุณครู เน้อ


IP : บันทึกการเข้า

หนานขี้อู้หำยาน : นายจิราวัฒน์  โสรัจพงศ์เกษม / หนานธง   อีเมล : k e n g k a b h e n g @ g m a i l . c o m    มือถือ  081 777  51 76
Carcamera Cr
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,226



« ตอบ #12 เมื่อ: วันที่ 14 ธันวาคม 2012, 23:28:45 »

ขอบคุณครับ
IP : บันทึกการเข้า

กล้องติดรถยนต์เชียงราย ศรีทรายมูล
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!