เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 08:18:05
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  ขั้นตั้ง เครื่องหมายแห่งจิตวิญญาณและความกตัญญู โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ขั้นตั้ง เครื่องหมายแห่งจิตวิญญาณและความกตัญญู โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 3613 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 21:50:23 »



“ขันตั้ง” ในที่นี้ก็คือขันครูนั่นเอง  ซึ่งก่อนจะประกอบพิธีกรรมใดๆ ชาวล้านนาจะมีการบูชาครูหรือบูชาขันตั้งก่อนทุกครั้ง  เพื่อเป็นการแสดงถึงการคารวะแก่ครูบาอาจารย์ การรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และถือเป็นการเชิญครูบาอาจารย์เหล่านั้นมาสถิตอยู่ด้วยเพื่อให้เกิดความขลัง เกิดความศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรม  อีกทั้งเพื่อปกป้องคุ้มครองและเป็นเกาะกำบังจากอันตรายและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงด้วย  โดยขันตั้งของชาวล้านนาจะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ กล่าวคือ
1. ขันตั้งที่ทำให้กับผู้อื่น เป็นขันตั้งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการสักการบูชาและอันเชิญครู  ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายข้างต้น
2.  ขันตั้งที่ทำให้กับตัวเอง หรือเรียกว่า “ขันครู” โดยในสมัยก่อนการร่ำเรียนวิชาอาคมหรือมนต์คาถาต่างๆ จะไปเรียนตามวัดวาอารามหรือผู้มีวิชาอาคมก็ตาม  ซึ่งในสมัยก่อนนั้นไม่มีค่าวิชาหรือค่าหน่วยกิตเหมือนในปัจจุบันนี้  ดังนั้นคนในสมัยก่อนจึงได้ทำขันตั้ง หรือขันครู  อันประกอบไปด้วยข้าวตอกดอกไม้  หมากพลู รวมไปถึงข้าวเปลือกข้าวสารเป็นการต่างตอบแทน และเมื่อได้สำเร็จการเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆ แล้ว  ผู้เป็นครูจะแบ่งเอาขันตั้งนั้นครึ่งหนึ่งให้กับลูกศิษย์  เพื่อให้เป็นเครื่องหมายแห่งการสืบทอด  เป็นสิ่งอันเป็นมงคลเสมือนว่ามีครูคอยปกปักรักษาและคอยเกื้อหนุนอยู่ตลอดเวลา  และศิษย์ก็จะนำติดตัวไปไว้เพื่อบูชาและจะมีการสักการะก่อนทุกครั้งที่จะประกอบพิธีกรรม



ส่วนประกอบของขันตั้งชาวล้านนานั้นส่วนประกอบหลักๆ ประกอบไปด้วย เบี้ย หรือหอยเบี้ยที่ใช้แทนเงินในสมัยโบราณ หมาก พลู ข้าวเปลือก ข้าวสาร ผ้าขาว ผ้าแดง เงิน(ตามจำนวนที่แต่ละพิธีจะกำหนด) และข้าวตอกดอกไม้  ซึ่งแต่ละสิ่งมีความหมายและประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก  โดยผู้เขียนขอเริ่มที่ ผ้าข้าวและผ้าแดงก่อน  ทำไมต้องมีผ้าขาวและผ้าแดงและเพื่อใช้สื่อความหมายถึงอะไร
ผ้าขาว จึงใช้แทนความหมายของสรรพวิชาที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสมมา เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ โดยที่ผู้เป็นครูนั้นได้ถ่ายทอดมาให้กับศิษย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ผ้าแดง  สีแดงคือสีของโลหิต สรรพวิชาต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสมและถ่ายทอดให้ศิษย์จากรุ่นสู่รุ่น  จากอดีตถึงปัจจุบันและยังคงถ่ายทอดต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด สรรพวิชาเหล่านั้นได้ซึมซับอยู่ในสายเลือดทั้งผู้เป็นครูและศิษย์ ดังนั้นผ้าแดงจึงมีความหมายที่แฝงไว้ด้วยความหมายนี้
เบี้ย  เบี้ยหรือหอยเบี้ยนั้นในสมัยโบราณนั้นใช้เป็นเงินเพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า  เบี้ยมีการใช้กันมานานในแผ่นดินสยามรวมไปถึงแผ่นดินล้านนาไทยด้วย  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเบี้ยที่นำเข้ามาใช้เป็นเงินตราในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้านั้นนำมาจากประเทศอื่น  หรือมีการนำเข้ามาจากต่างแดนนั่นเอง ดังนั้นการที่ใส่เบี้ยเข้าไปในขั้นตั้งเปรียบเสมือนได้กับเป็นสินน้ำใจและค่าตอบแทนสำหรับผู้ประกอบพิธีกรรมหรือครูบาอาจารย์ผู้ให้วิชาความรู้  หรือพูดง่ายๆ ก็คือค่าจ้างหรือค่าตอบแทนนั่นเอง ถึงแม้ปัจจุบันประเทศสยามได้ยกเลิกการใช้เบี้ยแทนเงินตราและเปลี่ยนมาใช้เหรียญกระษาปณ์รวมไปถึงพันธบัตรแล้วก็ตาม แต่จารีตและประเพณีที่เคยยึดถือมาแต่เก่าก่อนก็ยังคงได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ดังนั้น “เบี้ย”  จึงจัดเป็นองค์ประกอบและเครื่องหมายหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในขันตั้งที่เราเห็นปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันในขันตั้งจะมีการนำเงินใส่ไปเป็นค่าครูด้วย  ตามแต่ละตำราหรือครูอาจารย์แต่ละคนจะกำหนด เช่น 39,59 หรือ 108 บาท เป็นต้น



หมาก พลู ข้าวเปลือก และข้าวสาร หมายถึงข้าวของต่างตอบแทนน้ำใจและความกตัญญูที่ศิษย์พึงมีต่อครูบาอาจารย์  เนื่องจากในสมัยโบราณข้าวของเหล่านี้เป็นข้าวของที่มีคุณค่ามากในสมัยนั้น เป็นน้ำใจที่คนสมัยก่อหยิบยื่นให้แก่กัน
ข้าวตอก ดอกไม้ และเทียน  ซึ่งส่วนมากจะเป็นดอกไม้ขาวและเทียนขาว ซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์  ข้าวตอกดอกไม้ที่นำมาเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตั้งนั้นมีความหมายและนัยสำคัญที่แฝงอยู่  ซึ่งผู้เขียนขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้
ข้าวตอก หรือที่ภาษาบาลีว่า “ลาชา” ได้มาจากการนำเอาข้าวเปลือกหรือข้าวโพด  ไปคั่วในหม้อดินด้วยไฟอ่อนๆ จนเมล็ดข้าวนั้นแตกออกมาเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมนั้น  เสมือนกับความแตกฉานในวิชาความรู้ที่ครูบาอาจารย์ท่านได้อบรมสั่งสอนและถ่ายทอดให้  และเป็นความรู้และวิชาอันบริสุทธ์นั่นเอง
ดอกไม้ เป็นสิ่งมีชีวิต มีความสวยงาม มีกลิ่นหอม มีความบริสุทธิ์ควรค่าแก่การบูชา  ดังนั้นคนในสมัยโบราณจึงนำเอาดอกไม้มาเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องสักการะ
เทียน หรือที่ภาษาบาลีว่า “อัคคิธูปะ” โดยที่ อัคคิ หมายถึง เทียนขี้ผึ้งที่สามารถจุดให้เกิดแสงสว่าง  เปรียได้ดั่งกับแสงสว่างแห่งปัญญาและนำพามาซึ่งความรุ่งโรจน์และความรุ่งเรืองในชีวิตนั่นเอง



ขันตั้งหรือขันครูของชาวล้านนานี้มีทั้งแบบที่เรียกว่าขันตั้งธรรมดา  หรือขันตั้งทั่วไปซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมเล็กๆ และอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “ขันตั้งหลวง”  ซึ่งจะมีลักษณะที่พิเศษและขนาดใหญ่กว่าแต่ยังคงองค์ประกอบเดิมไว้ทั้งสิ้น  ส่วนใหญ่ขันตั้งหลวงนี้จะใช้ในงานพิธีที่เกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนาใหญ่ๆ เช่นงามสมโภชวิหาร พิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูป พิธีสืบชะตาหลวง  งานตั้งธรรมหลวงในป๋าเวณียี่เป็งของชาวล้านนา  เป็นต้น  บางหมู่บ้านหรือบางท้องถิ่น  ผู้เฒ่าผู้แก่จะนั่งทำกรวยดอกไม้หรือสวยดอกไม้  ข้างในใส่หมากและใบพลูลงไป  เรียกว่า “สวยหมากสวยปู” จำนวน 108 สวย  เพื่อเป็นเครื่องสักการะและบูชาครูในขั้นตั้งหลวงนี้ด้วย  ซึ่งจำนวน 108 นี้นำมาจากมงคล 108 นั่นเอง(ดูรายละเอียดจากเรื่องสืบชะตา)  ส่วนรายละเอียดของเรื่องข้าวตอกดอกไม้ และธูป-เทียนนั้น  ผู้เขียนจะได้นำมากล่าวในส่วนของเครื่องสักการะของชาวล้านนาต่อไป
มีเกร็ดความรู้จากพระอาจารย์โต ฐิตวิริโย  แห่งวัดพระบาทปางแฟน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ถึงขันครูว่ามีอยู่ 3 ประเภท คือขันครูชั้นปฐม  มีกรวยดอกไม้และเงินอย่างละ 12 ซึ่งจำนวน 12 นี้หมายถึงคุณบิดา-มารดา  ประเภทที่ 2 คือขันชั้นรองขึ้นมา มีกรวยดอกไม้และเงินอย่างละ 32 ซึ่งหมายถึงร่างกาย ตัวตนของเรา ที่สมบูรณ์ได้ต้องประกอบไปด้วย 32 ประการ  และประเภทที่ 3 คือขั้นครูเจ้าสำนัก ซึ่งมีจำนวนกรวยดอกไม้และเงิน จำนวน 108 ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง



ผู้รวบรวม-เรียบเรียง  
            นายพนมกร  นันติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑.    พระครูรัตนกิตติญาณ(ศรีชุ่ม กิตติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดเกตุแก้ว อ.พาน จงเชียงราย
๒.    พระคณุพิศาลธรรมานุรักษ์  รองเจ้าอาวาสวัดเกตุแก้ว อ.พาน จงเชียงราย
๓.    พระครูสมุห์นวัตถกรณ์ อริยเมธี เจ้าอาวาสวัดดงหนองเป็ด อ.เมือง จ.เชียงราย
๔.    อาจารย์นิพนธ์  อ้ายไชย อาจารย์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!