เสรีภาพและการล้อเลียนเสรีภาพและการล้อเลียน : คอลัมน์ พริกกะเกลือ โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
nitny@nationgroup.com กรณีนักศึกษาใหม่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “อั้ม เนโกะ” โพสต์ท่า (เกือบ) วาบหวิวในชุด (เกือบ) วาบหวิวกับรูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ใต้ตึกโดม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นเรื่องดังในโลกไซเบอร์ต่อด้วยจอทีวีเพียงชั่วเวลาข้ามคืน
มีเสียงประณามหยามเหยียดเธอว่า อย่าเสนอหน้ามาเรียนธรรมศาสตร์นะ ไม่รู้หรือว่าชาวธรรมศาสตร์ต้องเคารพเทิดทูน “พ่อปรีดี”
พร้อมๆ กับมีเสียงชื่นชมว่า นี่แหละคือคนที่ควรได้เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเธอเข้าใจจิตวิญญาณเสรีของธรรมศาสตร์ เข้าใจอาจารย์ปรีดีผู้สนับสนุนเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ข้อใหญ่ใจความที่ อั้ม เนโกะ เขียนและให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกระทำของเธอก็คือ "..ตั้งแต่อาจารย์ปรีดีถูกใส่ร้าย โดนป้ายสีต่างๆ นานา กระทั่งอาจารย์ปรีดีต้องหนีออกนอกประเทศ แต่ไม่มีใครดีเฟนด์ (ปกป้อง) เรื่องที่อาจารย์ปรีดีถูกใส่ร้ายเลย.....ทุกวันนี้กลับย้อนแย้ง กลับตาลปัตร ทำไมเราถึงลืมสิ่งเหล่านั้น เราไม่ยกประเด็นเหล่านั้นมาปกป้องอาจารย์ปรีดีเลย ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า เรายกอาจารย์ปรีดี แค่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่เราเคารพ บนขอหวย ขอเกรดเอ"
ความจริงคืออั้มพูดถูก และผู้เขียนเห็นด้วยกับอั้ม แต่เรื่องอั้มกลายเป็นเรื่องก็เพราะอาจารย์เกษียร เตชะพีระ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามกับอั้มในทำนองที่ว่า จำเป็นต้องแสดงออกอย่างนั้นไหม ความเสมอภาคไปกันได้ไหมกับการคำนึงถึงจิตใจผู้อื่นที่เสมอภาคกับเรา ใช่หรือไม่ว่า เพราะเราทุกคนเท่ากัน จึงควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพและให้เกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน?
หนุ่มสาวที่ประกาศตัวเป็นลิเบอรัลหลายคน เคืองอาจารย์เกษียรว่า ช่างยกเหตุผลได้อนุรักษนิยมมาก อาจารย์ไม่รู้หรือว่า ยุคสมัยนี้ การล้อเลียนเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการต่อสู้กับความคิดแบบเก่าๆ ที่กักขังมนุษย์ไว้ให้เป็นเหยื่อและทาสของความงมงายล้าหลัง ไม่สามารถสร้างอนาคตใหม่ให้ตัวเองได้ หลายคนบอกว่า กรณีอั้มเป็นแค่อีกเรื่องดราม่าประจำสังคมไทยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจมาก เพราะสักครู่ก็จะซาไปเอง แต่เนื่องจากยิ่งนับวัน การถกเถียงยิ่งบานปลายไปหลายประเด็นและเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ผู้เขียนจึงพิจารณาว่า ไม่ใช่ดราม่าอีกต่อไปแล้ว หากเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ที่จะได้ถือโอกาสนี้ทบทวนความคิดความเชื่อของตนว่าเหตุใดจึงเชื่อเช่นนั้น จึงคิด พูด ทำเช่นนั้น แจ่มชัดกับความคิดของตนขนาดไหน และความคิดนั้นๆ นำไปสู่การกระทำแบบใด ส่งผลดีผลเสียต่อใคร อย่างไรบ้าง
ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำถามของอั้ม แต่ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับแนวคิดของอาจารย์เกษียร เพราะความจริงประเด็นสำคัญในที่นี้มิใช่เรื่องล้อเลียนได้หรือไม่ได้ แต่เป็นเรื่องท่าทีและเนื้อหาของการล้อเลียนว่าเราควรจัดเต็มชนิดไม่เหลือพื้นที่หายใจให้คนที่เราล้อเลียนเลย หรือใช้หลัก “คิดถึงใจเขาใจเรา” บ้าง แล้วล้อเลียนแต่พอประมาณ เพื่อให้เกิดการตั้งคำถามในสิ่งที่ไม่เคยตั้งคำถาม? เราควรละทิ้งหลักปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพและเท่าเทียมหรือไม่ ? มีหลายประเด็นที่น่าสนใจในกรณีนี้ เช่น เป็นไปได้ไหมว่า หลายคนที่ติงการกระทำของอั้ม เป็นเพราะ “อึดอัด” กับการแสดงออกกึ่งโป๊ของผู้โพสต์รูป บางคนอาจไม่มีปัญหากับประเด็นคนไม่ใช่เทพ เพราะเข้าใจดีว่า เทพเป็นเรื่องลวงที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโลมใจอ่อนแอของมนุษย์ แต่ไม่ชินกับการเปิดเผยเนื้อตัวหรือกิริยาเสมือนยั่วยวน แม้จะเป็นเพียงการแหย่เล่นสนุกๆ ก็ตามที
นอกจากนั้น ก็มีประเด็นว่า บางคนที่เรียกตัวเองว่าลิเบอรัลรับไม่ได้กับการล้อเลียนนี้ หากรับได้กับการล้อเลียนคนที่ตนไม่ชอบ ในนัยที่ไม่ต่างไปจากอั้มโพสต์ท่าล้อรูปปั้นปรีดีของอั้ม ไม่ใช่ฝ่ายลิเบอรัลทุกคน แต่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าลิเบอรัลหลายคนก็ไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าใครจะล้อเลียนใคร รวมถึงตัวของเขาเอง เพราะความเชื่อที่ว่า คุณค่าของสิ่งใดๆ ก็ตาม ย่อมอยู่ที่สิ่งนั้นๆ เอง มิได้ขึ้นกับองค์ประกอบอื่น นอกจากนั้น หลายคนก็ยืนยันไม่รับการล้อเลียนที่ “หยาบคาย” ในทัศนะของเขา ไม่ว่าจะทำกับใครในฝ่ายใด
ในด้านหนึ่ง การล้อเลียนคือการต่อสู้กับอำนาจหรือความเชื่อบางอย่างที่ครอบงำคนในสังคมให้ทำตามด้วยความคุ้นชิน เช่นที่ อั้ม เนโกะ ล้อเลียนรูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ที่กลายเป็นเจ้าพ่อปรีดีสำหรับบนขอหวยและเกรดเอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การล้อเลียนก็ต้องอาศัยศิลปะ เพื่อให้แน่ใจว่าสารที่สื่อออกไปได้ถูกส่งถึงผู้รับสาร
......................
(หมายเหตุ เสรีภาพและการล้อเลียน : คอลัมน์ พริกกะเกลือ
โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
nitny@nationgroup.com <mailto:nitny@nationgroup.com> <https://www.facebook.com/NithinandY>)