เครือข่ายเว็บไซต์ท้องถิ่น - เน็ตเวิร์ก ชาวบ้าน
วันพุธที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลา 00:00 น.
เวลานี้ทุกจังหวัด มีเว็บไซต์ของทางราชการ โดยใช้ชื่อจังหวัดเป็นยูอาร์แอล (ชื่อเว็บไซต์) แบบเดียวกัน นามสกุลเป็น ดอตจีโอ ดอตทีเอช เหมือนกัน ตั้งแต่เชียงราย ยันปัตตานี เนื้อหาบนเว็บ จะถอดแบบหนังสือราชการทั่วไป ต้องเคร่งขรึม น่าเกรงขาม บางแห่งมีเว็บบอร์ดให้ชาวบ้านโพสต์ได้ แต่ไม่ค่อยมีใครมาตอบ บางจังหวัดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดใส่ใจ ก็ออกรายการสดถ่ายทอดหรือตอบข้อความบนเว็บไซต์ แต่ส่วนใหญ่ละเลย
ชาวบ้านจะสนใจเข้าไปติดตามข้อมูลมากน้อยขนาดไหนก็ไม่ทราบ แต่ในจังหวัดเดียวกัน ถ้ามีเว็บไซต์ของเอกชน ใช้ชื่อจังหวัดคล้ายกัน แต่สกุลเป็นดอตคอม จะได้รับความสนใจกว่าอยากรู้ความเคลื่อนไหวของประชากรออนไลน์จังหวัดนั้น ๆ เป็นอย่างไร ดูจากเว็บเอกชน จะเห็นภาพการทำเว็บไซต์ของเอกชนจังหวัดต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายกัน คือทำด้วยใจรัก อยากเป็นสื่อให้คนในท้องถิ่น และคนที่ไปทำงานหรือเรียนหนังสือที่อื่นรู้ข่าวในชุมชน หรือเป็นสถานที่พบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกัน
การเปิดเว็บจังหวัดของเอกชน มาจากผู้มีพื้นฐานแตกต่างกัน บ้างทำกิจการร้านคอมพิวเตอร์ รับทำเว็บ บ้างเป็นครู เป็นพ่อค้า เป็นคนหนุ่มสาวที่มีเจตนาดีต่อท้องถิ่น และทุกแห่งคล้ายกันคือขาดการสนับสนุน ทั้งทางธุรกิจและข้อมูล เมื่อมีปัญหาบางอย่างที่ไม่ทราบจะปรึกษาใคร จึงติดต่อกับผู้ดูแลหรือเว็บมาสเตอร์ดอตคอมของจังหวัดอื่นเมื่อได้สื่อสาร รับรู้ปัญหาร่วมกัน จึงเกิดการรวมตัว ในนามเครือข่ายเว็บไซต์ท้องถิ่นไทย ประกอบด้วยจังหวัดตรัง (
www.trangzone.com), ขอนแก่น (
www.khonkaenlink.info), เชียงใหม่ (
www.cm108.com), เชียงราย (
www.chiangraifocus.com),อุดรธานี (
www.udon108.com) หาดใหญ่-สงขลา (
www.gimyong.com), น่าน (
www.nan2day.com), พัทลุง (
www.phatlung.com) และ นครศรีธรรมราช (
www.nakhontoday.com)ปิยะศักดิ์ เว็บมาสเตอร์ของกิมหยงดอตคอม แกนนำของเครือข่ายเว็บไซต์ท้องถิ่นไทย บอกว่า ผู้ดูแลเว็บเหล่านี้ เมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง พบการสื่อสารข้อมูลออนไลน์ ไม่ได้จำกัดว่า ผู้เข้าเยี่ยมชมจะเป็นคนในจังหวัดเท่านั้น แต่คนในจังหวัดซึ่งไปอยู่ที่อื่น หรือคนจังหวัดใกล้เคียงหรือห่างไกล ก็เข้ามาหาข้อมูลหรือมีความต้องการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จึงเห็นควรรวมกลุ่มผู้ดูแลเว็บ เพื่อแบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ให้มากกว่าสิ่งที่ปรากฏบนหน้าเว็บ แต่ก็ยังไม่ได้เจอกันอย่างจริงจัง ทั้งที่รวมตัวกันมากว่าสองปีแล้ว
“ในเบื้องต้น เรามีข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่า จะแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นแต่ละจังหวัด เช่น เกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างแผ่นดินยุบที่ไหนสักแห่ง ซึ่งไม่มีใครรู้พื้นที่ หรือเข้าใจสถานการณ์ดีกว่าคนในท้องถิ่นนั้น ก็ส่งข้อมูลหรือทำเป็นอักษรวิ่ง ให้ขึ้นพร้อมกันบนเว็บเครือข่าย ถ้าเว็บอื่นจะเอาไปใช้ก็ได้ ปิยะศักดิ์กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า จะไม่ซ้ำซ้อนกับเว็บไซต์ข่าวทั่วไป เพราะเว็บข่าวจะเน้นภาพกว้าง แต่ในรายละเอียด เช่นควรหลบทางไหน หรือใครจะสอบถามข้อมูล ใครมีญาติที่ไหน จะประสานงานได้เพิ่มเติมว่าควรสอบถามจากใครที่ใกล้เหตุการณ์ที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนในชุมชนนั้น ๆผู้ดูแลเว็บกิมหยง หาดใหญ่ บอกว่า เว็บของภาคเอกชน ควรมีทุกจังหวัด จะเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลได้มากกว่าของทางราชการ สื่อสารข้อมูลได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ข่าวของทางราชการ จนถึงการเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านแจ้งปัญหา ร้องเรียน หรือเตือนภัย บางเรื่องที่เป็นงานระดับท้องถิ่นที่คนในพื้นที่สนใจ อยากรู้ เช่น งานเทศกาลของท้องถิ่นจะมีเมื่อไหร่มีกิจกรรมอะไร ขนมหวาน ของเล่นพื้นบ้าน ที่ไหนดี ซึ่งจะให้คนในชุมชนรู้จักกันดีมากขึ้น หน่วยงานรัฐก็ควรเข้ามาส่งเสริมเว็บไซต์ของเอกชนทุกท้องถิ่น ถือเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านทั้งในจังหวัดและต่างถิ่นที่อยากรู้เรื่องราวของพื้นที่นั้น นิยมเข้าไปหาข้อมูล ทางราชการน่าจะอาศัยใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารอีกแหล่งไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่.
http://www.dailynews.co.th/technology/134024