คลังเลิกแผนยุบกองทุนฟื้นฟูปี"56 อยู่ใช้หนี้1.14ล้านล.ให้หมด แนะธปท.เลิกแทรกเงินบาท
Source - เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Monday, January 16, 2012 11:21
63217 XTHAI XECON BRKN V%NETNEWS P%WPTK
คลังเริ่มปฏิบัติการโอนหนี้ ส่งหนังสือแจ้ง ธปท.ต่ออายุกองทุนฟื้นฟูจนกว่าจะใช้หนี้ 1.14 ล้านล้านหมด จากเดิมกำหนดยุบปี"56 ขณะที่ สบน.เล็งออกบอนด์ยืดหนี้ 3 แสนกว่าล้านที่ครบอายุปีนี้ไปก่อน แนะ ธปท.เลิกแทรกบาท-ดูดสภาพคล่อง ลดภาระ จะได้มีเงินมาใช้หนี้
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ขยายระยะเวลาดำเนินงานของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินออกไปจากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดบทบาทลงปี 2556 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.... ซึ่งการคงกองทุนฟื้นฟูไว้ต่อไปนั้น อย่างน้อยอาจจะจนกว่าจะรับผิดชอบหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทหมด ซึ่งอาจจะเป็น 25 ปีตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ หรืออาจจะคงบทบาทหน้าที่ตลอดไป เนื่องจากหากยุบกองทุนฟื้นฟูไปจะไม่มีองค์กรที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือสถาบันการเงินหากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต เพราะสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ตั้งขึ้นนั้นดูแลเฉพาะผู้ฝากเงินเท่านั้น
"ส่วนบัญชีสะสมเพื่อการชำระหนี้เอฟ 3 ที่กระทรวงการคลังดูแลก็จะยุบทิ้งไป เหลือเพียงบัญชีกองทุนเพื่อการชำระหนี้เอฟ 1 ที่อยู่ในความดูแลของ ธปท.อยู่แล้ว หากมีผลประโยชน์หรือรายได้เข้ามาก็จะมาเข้าบัญชีนี้เพื่อเตรียมไว้จ่ายดอกเบี้ยและหนี้เงินต้นที่จะทยอยครบกำหนด" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่มีความชัดเจนในการหารายได้เข้ามาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนั้น ในระหว่างที่หนี้เงินต้นจะครบกำหนดไถ่ถอน เช่น งวดวันที่ 18 มกราคม ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังก็ต้องออกพันธบัตรมายืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปก่อน รวมถึงพันธบัตรก้อนใหญ่ที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2555 นี้ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาทด้วย
นักวิชาการรายหนึ่งกล่าวถึงแนวทางการหารายได้ของ ธปท.ว่า หาก ธปท.เจรจาตกลงกับธนาคารพาณิชย์ไม่ได้โดยง่าย ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้ามาเพิ่ม ก็เห็นว่า ธปท.เพียงทำหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมายก็น่าจะลดภาระต้นทุนที่แบกรับอยู่ในปัจจุบันและมีรายได้เข้ามามากขึ้น เช่น การลดการดูดซับสภาพคล่องในระบบการเงินที่ปัจจุบันยังมีสภาพคล่องส่วนเกินวันละ 7-8 แสนล้านบาท จากยอดการดูดซับสภาพคล่องที่คงค้างกว่า 4.5 ล้านล้านบาทที่มีการออกพันธบัตรไปแล้ว ทำให้ ธปท.มีภาระต้นทุนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยนโยบาย 3% ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรดำเนินการ เพราะการเป็นธนาคารกลางควรทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องส่วนขาดเท่านั้น ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินควรจะให้ธนาคารบริหารสภาพคล่องส่วนเกินเอง
"ธปท.อาจจะกำหนดอัตราส่วนที่จะเข้าไปดูดซับสภาพคล่อง เพื่อผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์นำสภาพคล่องไปปล่อยสินเชื่อแทนที่จะหากินง่ายๆ ด้วยการนำมาฝากไว้กับ ธปท.และได้ดอกเบี้ยไป รวมทั้งการดูแลค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงเงินบาทเหมือนที่ผ่านมาก็จะลดภาระการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปได้มาก"--จบ--
--ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 16 - 18 ม.ค. 2555--
ที่มา:
http://www.matichon.co.th/prachachart