เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 28 เมษายน 2024, 19:03:07
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  คนเชียงราย สังคมเชียงราย (ผู้ดูแล: bm farm, [ตา-รา-บาว], zombie01, ۰•ฮักแม่จัน©®, ⒷⒼ*, ตาต้อม, nuifish, NOtis)
| | |-+  เรียนถามท่าน NostradaMo~ เรื่อง home school ครับ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน เรียนถามท่าน NostradaMo~ เรื่อง home school ครับ  (อ่าน 1336 ครั้ง)
โชคดี
ชาวนาไม่มีวันหยุด082-698-1255 Line0826981255
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 715



« เมื่อ: วันที่ 23 เมษายน 2010, 11:18:36 »

เรียนถามท่าน NostradaMo~ เรื่อง home school ครับ
IP : บันทึกการเข้า

NostradaMo~
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 23 เมษายน 2010, 20:56:43 »

ขอบคุณมากที่ให้เกียรติครับ
จะตอบเท่าที่จะตอบได้ครับเพราะเชื่อว่าหลายท่านที่ทำโฮมสคูลอยู่คงจะรู้ลึกกว่าผม
แต่จะเกริ่นเป็นไกด์ไลน์สักนิดนะครับ
โฮมสคูล แปลตรงตัวคือ โรงเรียนที่บ้าน แปลเป็นไทยคือ ทำบ้านให้เป็นโรงเรียน โดยมี พ่อหรือแม่เป็นครู ให้ลูกเรียนรู้จากชีวิตจริงทั้ง ความรู้ทั่วไป ทักษะการแก้ปัญหา และสอนให้เขารู้ว่า ทุกปัญหาทุกคำถาม มีหลายคำตอบมีหลายทางออก อยู่ที่มุมมอง และเรียนรู้ไปพร้อมๆกันทั้งครู(พ่อแม่)และนักเรียน(ลูก) อะไรที่ครูรู้ก็จะถ่ายทอดให้และอันไหนไม่รู้ก็เรียนไปพร้อมกัน ทำให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว กระบวนการสอนไม่เน้นให้ต้องสอบได้แต่ทุกกระบวนการจะสื่อสารให้รู้จักขวนขวาย ค้นคว้า และศึกษาด้วยตนเอง
เช่น เด็กวิ่งขึ้นบันไดส่วนใหญ่จะบอกว่าเดินดีๆนะเดี๋ยวจะตก เด็กไม่เข้าใจว่าเดินดีๆคือยังไงแต่ เราจะเปลี่ยนเป็นเดินเบาๆนะลูกเด็กจะเข้าใจ แค่นี้ก่อนนะครับลองดูท่านอื่นมาเสริม
IP : บันทึกการเข้า
NostradaMo~
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2010, 10:29:46 »

อย่างที่เกริ่นครับว่า ความเห็นข้างต้น มาจาก ความคิดรวบยอด(คอนเซ็ปต์)ของผมเอง ดังนั้นอาจจะไม่ค่อยเข้าเป้า100% ดังนั้นผมจึงได้ไปค้นบทความเมื่อปี2550มาให้อ่านกันครับถึงเรื่องโฮมสคูลที่ถูกต้อง ลองอ่านดูครับ
"ช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา โฮมสคูลดูจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่และผู้คนในแวดวงการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ผลผลิตของคนกลุ่มนี้ได้ก้าวเข้าสู่สังคมและการเรียนรู้ในระบบ อย่างเต็มตัว พวกเขาเป็นอย่างไร สถานการณ์และแนวโน้มของโฮมสคูลดีขึ้นหรือไม่หลังได้รับสิทธิทางกฎหมายใน ช่วงหลายปีมานี้

นับถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 9 ปีแล้วที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 12 เปิดโอกาสให้บุคคล องค์กรเอกชน ชุมชน สถาบัน ศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันทางสังคมอื่นๆ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ รวมไปถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่เรียกกันว่า โฮมสคูล (Home School) แต่ในความจริงการศึกษารูปแบบนี้เริ่มมีมานานกว่า 20 ปีโดยพ่อแม่บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนในระบบก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมา

โฮมสคูล หรือการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หมายถึงการจัดการศึกษาที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง โดยพ่อแม่อาจสอนเอง หรือจัดการให้เกิดการเรียนการสอน เช่น จ้างครูสอนพิเศษมาสอนที่บ้านผสมผสานกับการสอนด้วยตัวพ่อแม่เอง หรือมีข้อตกลงในการจัดการศึกษาร่วมกันกับโรงเรียน เช่น สัปดาห์หนึ่งเรียนในโรงเรียน 3 วัน ที่เหลือเรียนกับพ่อแม่ที่บ้าน หรืออาจจะรวมกลุ่มกันหลายครอบครัวเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน

บทบาทของโฮมสคูลในสังคมไทยจึงเริ่มมีภาพรางเลือนให้เห็นอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งปี 2547 ก็ได้มีการออกกฎกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง ‘สิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว’ ซึ่งกำหนดให้ครอบครัวที่ต้องการจะจัดการศึกษาเองมาขออนุญาตที่สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ โดยพ่อแม่จะต้องเรียนจบไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เว้นแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการศึกษา

การจัดการศึกษารูปแบบนี้ ครอบครัวจะต้องวัดผลการเรียนรู้ลูกตามหลักเกณฑ์ของหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐาน และจัดทำรายงานการวัดผลส่งที่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และให้ทางสำนักงานประเมินผลการเรียนรู้อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แล้วจึงจะได้รับหนังสือรับรองการจบการศึกษา

แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับอย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่เสมอ ระหว่างครอบครัวและภาครัฐ บางครอบครัวถึงกับออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนทำลายระบบโฮมสคูล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจในการเรียนการสอนแบบนี้ จึงทำให้ผู้จัดการศึกษาไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะเรื่องสิทธิ ประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ออกมายอมรับว่า แนวปฏิบัติเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน และยังไม่เข้าใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม 2550 หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ได้รายงานว่า ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม เรื่องที่ ครม.อนุมัติตามที่ ศธ.เสนอ ให้รัฐบาลจัดเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับครอบครัว บุคคล หรือหน่วยงานที่จัดตั้งการศึกษาด้วยตนเอง พร้อมทั้งอนุมัติให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดหย่อนหรือยกเว้น ภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาอีกด้วย

รมว.ศธ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีครอบครัวจัดการศึกษาเองอยู่ 43 ครอบครัว และสถานประกอบการอีก 4 บริษัท ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวต่อปีคือ นักเรียนระดับก่อนประถมศึกษาคนละ 4,460 บาท ประถมศึกษาคนละ 4,960 บาท ม.ต้นคนละ 6,625 บาท และ ม.ปลายคนละ 7,245 บาท จากงบประมาณทั้งหมด 992,000 บาท ในปี 2550 นี้

ยุทธชัย อุทัยวรรณ ผู้จัดการมูลนิธิแสงอรุณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสมาคมบ้านเรียนไทย ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ของระบบการเรียนแบบโฮมสคูลในเมืองไทยขณะนี้ว่า

“ผมมองว่าการศึกษาแบบบ้านเรียนได้รับการยอมรับมากขึ้น มีคนเข้าใจมากขึ้น มีกฎหมายออกมาทำให้สถานภาพสมบูรณ์มากขึ้น แล้วก็มีการอนุมัติค่าใช้จ่ายมาช่วยเหลือ ในแง่ของความชัดเจนก็มีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลรับผิดชอบ ก็เชื่อว่าครอบครัวน่าจะมีกำลังใจมากขึ้น คนที่อยากจัดการศึกษาแบบนี้ก็น่าจะเข้ามาติดต่อมากขึ้น และในปี 2550 นี้ก็น่าจะมีจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอันนี้เป็นความคิดเห็นในแง่บวก

ในอีกแง่หนึ่งก็คือ สพฐ. มีภาระมากอยู่แล้ว กับการดูแลด้านการศึกษาในระบบ เขามีกรอบและเคยชินกับการจัดการศึกษาในระบบ จึงขาดความชัดเจนและความพร้อมในด้านการศึกษาแบบบ้านเรียน รวมถึงการจัดตั้งสถานประกอบการเรียน หรือศูนย์เรียนรู้ชุมชนก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน และถึงแม้จะมีมติ ครม.ออกมาว่าจะให้เงินอุดหนุนก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน”

เมื่อมองในภาพรวมนั้น ดูเหมือนว่าสังคมจะเปิดใจรับการศึกษาในรูปแบบนี้ได้มากขึ้น จากที่เคยมองอย่างไม่เป็นมิตร แนวโน้มในระยะหลังก็ได้รับความเข้าใจมากขึ้น การ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตก็ได้รับความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญก็ยังอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่และครอบครัวที่อาจจะไม่มีความรู้ และความเข้าใจในระบบการเรียนรู้แบบโฮมสคูลอย่างแท้จริง รวมถึงปัญหาหลักคือ ขาดหน่วยงานระดับย่อยที่จะเข้ามาดูแลด้านนี้อย่างจริงจัง

“ถึงจะมีหน่วยงานอย่าง สพฐ. เข้ามาดูแลโดยตรง แต่ก็ไม่มีหน่วยงานรองลงไปเข้ามาดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่หน่วยงานย่อยที่ดูแลด้านการศึกษาในระบบ แต่เท่าที่ผมเห็นก็ได้มีความพยายามเข้ามาดูแลมากขึ้นแล้ว”

จากข้อมูลของสมาคมบ้านเรียนไทยระบุว่า ทุกวันนี้มีครอบครัวที่จัดการศึกษาเองอยู่ทั่วประเทศกว่าร้อยครอบครัว จาก 2 ปีก่อนที่มีอยู่ 78 ครอบครัว แต่มีอยู่เพียง 43 ครอบครัวเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตทั่วประเทศ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงฝากชื่อไว้ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเข้าใจจากภาครัฐ อีกทั้งยังขาดการเชื่อมโยงกันในแต่ละครอบครัวที่จัดการสอนด้วยตนเอง แต่ก็คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายด้านสำหรับอนาคตของระบบโฮมสคูล

การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล Home Schoolในเมืองไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2524 โดย ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร ซึ่งตั้งใจจัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น และหลังจากนั้นก็มีครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว อาทิ ครอบครัวยุทธชัย – อุทัยวรรณ เฉลิมชัย, ครอบครัวนายแพทย์พร พันธุ์โอสถ ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2524 ครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-คุณวิจิตรา ชุตินธร จัดการศึกษาให้กับลูกๆ ที่บ้านอย่างแท้จริงจัดเป็นครอบครัวแรกของสังคมไทยในยุคนั้น ลูกๆทั้ง 3 คน ไม่เคยเข้าโรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนในระบบแต่เรียนที่บ้านที่กรุงเทพและไปสอบที่โรงเรียนหมู่บ้าน เด็กทีจังหวัดกาญจนบุรีทุกเทอมจนจบชั้นประถม 6 นับเป็นครอบครัวแรกในโครงการพิเศษ “บ้านและโรงเรียน” ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

หลังจากผ่านมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ผลผลิตของเด็กๆ โฮมสคูลเหล่านี้ก็ได้ก้าวเข้ามาอยู่ในสังคมไทยอย่างเต็มตัว คำถามที่หลายฝ่ายเคยตั้งข้อสงสัยว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ สังคมได้ แปลกแยกจากคนทั่วไป หรือมีความเหมือนและความต่างจากเด็กในระบบอย่างไร

บางทีตัวอย่างผลผลิตโฮมสคูลรุ่นแรกเหล่านี้ อาจเป็นคำตอบบางส่วนก็เป็นได้

“ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็จะอธิบายว่า โฮมสคูลคืออะไร แล้วก็บอกว่าเราไม่ต้องไปโรงเรียนเหมือนคนอื่นๆ แต่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเราที่บ้าน เราก็เรียนทุกอย่าง ทั้งภาษาอังกฤษ ขุดดิน เดินป่า ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ฯลฯ คุณพ่อก็พาไปซื้ออุปกรณ์มาต่อเอง ทำทุกอย่างเหมือนเด็กปกติเลยนะ ต่างแค่ว่าเราไม่ต้องเสียเวลาตื่นตอนเช้าไปเรียนตั้งแต่อนุบาลเท่านั้นเอง”

สุนิศา ชุตินธร หรือ ซูซาน ในวัย 26 ปี ลูกสาวคนกลางของครอบครัวนายแพทย์โชติช่วง-วิจิตรา ชุตินธร ซึ่งปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการ Thailand Outlook Channel ของสถานีโทรทัศน์ ASTV ย้อนอดีตการเรียนแบบโฮมสคูลที่เธอเคยได้รับในวัยเด็กให้ฟัง

สุนิศาไม่เคยเรียนในระบบเลยจนกระทั่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านก็ได้ส่งไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Church School ซึ่งเป็นโรงเรียนแบบ Multigrade สอนภาษาอังกฤษอย่างเดียว โดยเรียนจนถึงเกรด 10 (ม. 4) ก็ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนนานาชาติ จากนั้นจึงสอบเทียบแล้วไปศึกษาต่อที่อเมริกา 1 ปี แล้วกลับมาเรียนปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์อาหาร หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในด้านการสอนของผู้ปกครองนั้น สุนิศา ยกตัวอย่างให้ฟัง อาทิเช่น การเรียนภาษาอังกฤษโดยการออกกฎให้พูดภาษาอังกฤษกับคุณพ่อเท่านั้น เนื่อง จากทั้งพ่อและแม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี โดยจบการศึกษาจากต่างประเทศทั้งคู่ โดยคุณพ่อจะเน้นการสอนให้ลูกๆ ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดี และอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งช่วยทำให้เธอปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้เป็นปกติ

“พอเข้ามาโรงเรียนอินเตอร์ เขาก็รู้ว่าเรามาจากโรงเรียนโบสถ์เล็กๆ เป็นเด็กไม่ทันโลกภายนอก เพื่อนๆ ก็คิดว่าเราเป็นเด็กเรียบร้อยเท่านั้น ด้านวิชาการ เราก็ตามทันเขา เราก็เก่งภาษาอังกฤษ ไม่มีปัญหาอะไร พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เรียนเลขเพิ่มขึ้นเท่านั้น เพราะเราไม่ค่อยเก่ง แล้วพอเข้าเรียนที่มหิดลก็ไม่มีใครรู้นะ มีบางคนรู้ แต่ปกติคนก็ดูไม่ออก ซูก็เป็นคนสนุกสนาน ไม่ได้รู้สึกแตกต่างอะไรกับคนอื่น

“มีความแตกต่างบ้าง ตรงที่ซูจะเป็นคนมองโลกในแง่ดีเยอะ เพราะเราเห็นอะไรดีๆ มาตลอด ไม่ค่อยเจอการแก่งแย่งชิงดีกัน ซูมองว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ต้องไปแย่งกัน จะเป็นคนสบายๆ มากกว่า ไม่ซีเรียส”

ส่วนข้อดีของสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากการเรียนโฮมสคูลนั้น มีทั้งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมอย่างภาษาอังกฤษที่ใช้ได้ดีจนกระทั่งนำมา ประกอบเป็นอาชีพผู้สื่อข่าวภาคภาษาอังกฤษที่ทำอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงวิธีคิดในการใช้ชีวิต การมองโลกในแง่ดีแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงแบบที่หาได้ยากใน หมู่คนรุ่นเดียวกัน

“ซูก็ได้ทุกอย่างมาจากคุณพ่อคุณแม่ เขาเก่งอยู่แล้ว เราก็ซึมซับมาเหมือนที่เขาอยากให้เราเป็น แต่ถ้าถามว่า ดีสุดๆ มั้ย ก็ไม่ เก่งสุดๆ มั้ย ก็ไม่ พูดตรงๆ ก็เป็นคนธรรมดานะ”

สำหรับครอบครัวของ ยุทธชัย-อุทัยวรรณ เฉลิมชัย ก็มีที่มาในการทำโฮมสคูลคล้ายคลึงกันกับครอบครัวแรกคือ ไม่เห็นด้วยกับการสอนในระบบ สานต่อ เฉลิมชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่บ้าน หลังจากจบการศึกษาระดับประถมศึกษาว่า

“คุณพ่อชวนผมกับพี่ชายว่าลองมาเรียนกับพ่อมั้ย ผมคิดว่ายังไงก็ได้ พูดถึงโรงเรียนก็ไม่ได้ชอบอะไร แต่ก็ไม่ได้มีปัญหา เรียนต่อก็ได้ แต่พอคุณพ่อพูดแบบนี้ก็ลองดู แล้วพี่ชายก็มาเรียนด้วยกัน”

สานต่อเรียนโฮมสคูลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้คะแนนเป็นที่ 2 ของชั้นเรียน หลังจากเรียนได้ 1 ปีก็ไปเรียนต่อด้านภาษาที่เมืองจีน 2 ปี แล้วกลับมาศึกษาต่อที่เดิมในสาขากีตาร์คลาสสิก ปัจจุบันเขาศึกษาอยู่ชั้นปี 1 โดยไม่ได้มีปัญหาทั้งในด้านการเรียนและการเข้าสังคมกับเพื่อน

“ตอนเข้า ม.4 ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าเพื่อนนิดหน่อย แต่พวกเขารู้สึกหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก่อนเพื่อนจะมองว่าผมเป็นคนซีเรียส จริงจัง ไม่ค่อยเล่น แต่ตอนนี้ก็สนิทกัน เขาก็เข้าใจว่าผมเป็นยังไง เพื่อนๆ ที่รู้ว่าเราเรียนโฮมสคูลมา เขาก็ไม่ได้คิดว่าการเรียนแบบนี้ ทำให้ผมเป็นคนแบบนี้ แต่เขาคิดว่า เราแค่เป็นคนแบบนี้เท่านั้น เราไม่ได้เก๊ก แต่แรกๆ จะมีเพื่อนคิดว่า ไอ้นี่ทำเป็นพระเอก ทำเป็นช่วยอาจารย์ถือของ ช่วยจัดอุปกรณ์ในห้องเรียนทุกครั้ง แต่ตอนหลังพวกเขาก็เข้าใจว่าผมเป็นคนยังไง”

ส่วนการเรียนรู้ที่ได้จากบ้านซึ่งคุณพ่อเป็นคนสอนคนเดียว ขณะที่คุณแม่ทำงานประจำนั้น สานต่อเล่าว่า

“พ่อไม่ค่อยสอนวิชาการนะ อย่างภาษาอังกฤษก็เรียนเองมากกว่า แต่ไปต่างจังหวัดกันบ่อย เกือบทุกอาทิตย์ เหมือนเราเดินทางไปด้วยกัน แล้วก็พูดคุยกันมากกว่า ได้ความรู้มากจากการเดินทาง เรียนจริงๆ ก็แค่ประวัติศาสตร์และภาษาไทย บางวิชาก็มีคนอื่นสอนให้ พ่อจะเน้นสอนอีคิวมากกว่าไอคิว สอนให้เราเป็นคนดี มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็มีสิ่งที่พ่อขอไว้ 3 อย่าง อยากให้ลูกทำได้คือ ว่ายน้ำเป็น พูดภาษาอังกฤษได้ และเล่นดนตรีเป็น”

สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้ในระบบโฮมสคูลนั้น นอกจากเด็กจะมีเวลามากขึ้นสำหรับอ่านหนังสือ เดินทางและเรียนรู้ตามวัย โดยไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแล้ว สานต่อยังเสริมว่า

“ผมคิดว่าเพื่อนๆ ที่เรียนโฮมสคูลด้วยกัน จะไม่เชิงเป็นผู้ใหญ่กว่าเด็กทั่วไป แต่มีความรับผิดชอบ รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งเราจะเป็นกันทุกคน แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนโฮมสคูลเท่านั้นถึงจะเป็นแบบนี้ คนที่ไม่เรียนก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับการสอนของพ่อแม่

ส่วนสิ่งที่เป็นวิชาการหรือตัวหนังสือคงไม่ได้อะไรมากนัก ที่สำคัญน่าจะอยู่ที่การทำให้เราเป็นคนใฝ่รู้ อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราอยากรู้อะไรด้วยตนเองน่าจะเรียนได้เร็วและดีกว่าการ ที่มีคนมาบอกให้เราเรียน หรือถ้าเกิดเราอยากรู้อะไรขึ้นมา เราก็รู้ว่าจะทำยังไงจึงจะเข้าไปสู่ความรู้อันนั้น”

และจากคำพูดที่ผ่านการเรียบเรียงและกลั่นกรองทางความคิดของ เด็กหนุ่มวัย 19 ปีคนนี้ คงจะเห็นได้ว่า ณ วันนี้คุณพ่อของสานต่อคงจะประสบความสำเร็จกับสิ่งที่คาดหวังไว้แล้ว

แนวโน้มการศึกษาในเมืองไทยขณะนี้ดูจะเปิดกว้างสำหรับการ ศึกษาแบบทางเลือกมากขึ้น นักวิชาการฝ่ายการศึกษาส่วนใหญ่จึงเห็นพ้องต้องกันว่าระบบโฮมสคูลน่าจะเป็น ทางเลือกที่ดี สำหรับหลายครอบครัวที่มีความพร้อม

“ถ้าพูดถึงพื้นฐานวิธีคิดก็แบบโฮมสคูลน่าจะเหมาะกับทุกที่ เป็นทางเลือกที่ดี เพราะเด็กแต่ละคนมีความหลากหลายและมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน ที่ระบบอาจจะตอบสนองไม่ได้ แต่พ่อแม่บางคนอาจจะให้เวลาสอนได้ดีกว่า แต่พ่อแม่ก็ต้องมีความเข้าใจด้านนี้จริงๆ” อ.ดร.อุบลวรรณ หงษ์วิทยากร คณะครุศาสตร์ ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ ให้ ความเห็นที่มีต่อโฮมสคูล พร้อมเอ่ยถึงปัญหาการจัดการเรียนแบบนี้ว่า ยังมีปัญหาด้านการดำเนินงาน อีกทั้งยังรู้กันอยู่ในกลุ่มแคบๆ เฉพาะเครือข่ายสมาคมบ้านเรียนไทยเท่านั้น

“โฮมสคูลยังคงเข้ากับสภาพสังคมไทยได้ยาก ยังมีปัญหา เรื่อง ความเข้าใจของคนไทยในด้านนี้ไม่เพียงพอ ความไม่สะดวกในการลงทะเบียน และโครงสร้างทางสังคมไม่ตอบสนอง เพราะพื้นฐานของคนไทยโดยเฉลี่ยการศึกษาไม่สูง รายได้ก็ไม่เพียงพอ ขาดความพร้อมที่จะจัดการศึกษาแบบนี้ อีกทั้งยังขาดความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งในด้านการเอื้อประโยชน์กับผู้จัดและการให้ความรู้ทางด้านนี้กับคนทั่วไป

แต่มองโดยรวมสถานการณ์ก็ดีขึ้นนะ มีกฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมเหมือนเป็นการตอกหมุดว่ามีการศึกษาแบบนี้เกิดขึ้น น่าจะช่วยให้มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น”

ในส่วนของโรงเรียนทางเลือกที่มุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้ของเด็กและมี ความเอาใจใส่ต่อพัฒนาการชีวิตของเด็กมากกว่าโรงเรียนในระบบ ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกเข้าเรียนใน ระบบ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากร เพื่อการเรียนรู้ โรงเรียนเพลินพัฒนา ให้ความเห็นด้านโฮมสคูลในฐานะหนึ่งในผู้บริหารของโรงเรียนที่ไม่เน้นการ ศึกษาในระบบว่า

“คิดว่าดีนะ เพราะว่าปัจจุบันนี้ พ่อแม่เสียความมั่นใจในการดูแลลูกไปเยอะ ระบบโฮมสคูลที่เกิดมาจากการที่พ่อแม่เห็นสภาพสังคมแล้วเกิดอยากทำ โฮมสคูลขึ้นมา และมาจากการที่เขาประเมินตัวเองแล้วว่า ตัวเองมีทักษะที่จะทำตรงนี้ได้ แล้วนำทักษะที่ตัวเองมีมาใช้จึงเป็นสิ่งที่ดี แต่พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าตัวเองทำได้ มีปลายทางการศึกษาที่เชื่อมต่อกับระบบได้จริง เช่น การสอบเทียบที่เหมือนเป็นสถานีให้เราเอาเด็กเข้าไปเชื่อมอยู่กับระบบได้

มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่เด็กอาจจะมีเพื่อนน้อย ถ้าเขาไม่มีพี่น้องหรือครอบครัวขยายมารองรับ พ่อแม่ก็ต้องหาทางออกด้วยการพาลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้เขาได้เจอเด็กคนอื่น และถึงแม้ว่าวิชาการอาจจะไม่กว้างเท่าเด็กที่เรียนในระบบ แต่ในแง่ของความลึกพ่อแม่สามารถสอนได้แน่นอน

เพราะถ้าเด็กมีความสนใจในความรู้ด้านใดด้านหนึ่งอย่างลุ่ม ลึกแล้ว เขาก็จะสามารถเข้าถึงทุกวิชาได้เหมือนกัน แต่ถ้าเน้นเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว เด็กก็จะมีความรู้แบบผิวเผิน แล้วจบออกมาด้วยการเป็นนักเลียนแบบ แต่ไม่ใช่นักเรียนรู้”

ในแง่นี้โฮมสคูลจึงเป็นการเรียนรู้แบบลุ่มลึก โดยสร้างให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ก่อน เพื่อเป็นช่องทางเข้าสู่การเรียนรู้ ซึ่งจะเข้าทางไหนก็ได้ ถ้าทำให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้

ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับแนวการสอนของโรงเรียนเพลินพัฒนาในปัจจุบัน วิมลศรีอธิบายว่า

“ระบบที่โรงเรียนใช้อยู่ตอนนี้ เป็นการนำเอาศักยภาพของพ่อแม่และของโรงเรียนมารวมกัน คือ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนช่วยในการสอน ให้พ่อแม่ทุกคนคิดว่า เด็กทุกคนเป็นลูกของพ่อแม่ เช่น พ่อเป็นสัตวแพทย์ก็มาให้ความรู้เรื่องสัตว์กับเด็กๆ ในขณะที่โรงเรียนก็จะจัดการเรียนการสอนให้เด็กเกิดฉันทะในการเรียนรู้มาก ที่สุด ต่างจากการศึกษาในระบบมองแต่คะแนนสอบเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งที่นี่พ่อแม่และโรงเรียนจะเห็นตรงกันว่า ชีวิตไม่ใช่การสอบ แต่ชีวิตคือ การเรียนรู้”

กับคำถามที่ว่าผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนทางเลือก ภายหลังจากที่โฮมสคูลมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันนี้ เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า

“เราก็มองว่าคงไม่มีผลกระทบกับโรงเรียนทางเลือกหรอก เพราะ ถึงแม้ว่าผู้ปกครองจะเชื่อในหลักคิด แต่เขาก็ยังไม่มีความจริงจังในการทำให้เป็นระบบ แล้วส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จะเชื่อการเรียนในระบบ เขายังไม่มีความมั่นใจว่าปลายทางของระบบโฮมสคูลจะทำให้ลูกเขาเป็นอย่างที่ หวัง ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะมีผลกับเรามากนัก”

ณ วันนี้ การศึกษาแบบโฮมสคูลจึงอยู่ช่วงผลิดอกออกผล และคงจะมีผลผลิตใหม่ๆ ตามมาเรื่อยๆ หากได้รับความเข้าใจจากสังคมที่จะนำพาเด็กๆ ไปสู่แสงสว่างแห่งการเรียนรู้ครั้งใหม่ มิฉะนั้น โฮมสคูลก็อาจเป็นเพียงทางเลือกที่ไม่เคยได้รับเลือกในโลกแห่งการศึกษา
"
IP : บันทึกการเข้า
My_Boss
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,788


ผู้ที่ปองร้ายต่อมิตร ถือเป็นผู้ที่ทราม


« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2010, 10:51:25 »

โอ้วววว ท่านเสี่ยวเอ้อ นี่เยี่ยมยุทธจริงๆ
IP : บันทึกการเข้า
NostradaMo~
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2010, 11:07:15 »

ท่าน จขกท. กำลังทำโฮมสคูลอยู่เหรอครับเห็นตั้งกระทู้ไว้2-3กระทู้เผอิญผมเข้าเวบพันทิพมากในช่วงนี้เลยไม่ได้แวะมาเท่าไหร่ มาที่นี่ก็แป้บๆแล้วก็ออกไป แต่สังเกตุว่า เชียงรายยังไม่ค่อยมีใครทำมั้งครับ ไม่มีใครเข้ามาตอบกระทู้เลย
ส่วนผม ทำแค่20%ครับ สำหรับเด็ก4ขวบ ตอนนี้กำลังสนใจทำเด็ก2ภาษาอยู่ครับ ลำบากเหมือนกันเพราะเรามารู้เมื่อเขาจะ4ขวบแล้วและภาษาไทยเขาแข็งแล้วการจะสอดภาษาอังกฤษไปอีกจึงยากพอดู ตอนนี้ตกลงกับแฟนว่า ให้ลูกพูดไทยกับแม่และอังกฤษกับพ่อ แต่ก็กระท่อนกระแท่นครับ อย่างที่บอกเค้าเคยพูดภาษาไทย(ในที่นี้พ่อกับแม่พูดกำเมืองนะ)กับเรามาตลอดเวลาจะสอดภาษาอังกฤษเข้าไปจึงยาก แต่ก็จะพยายามครับ
และวันนี้ผมเอาคลิปเด็ก2ภาษามาให้ชมกันครับ
*
*
*

-
-
โพสไม่ขึ้นครับแต่ดูได้ตามลิงค์ครับ
http://go2pasa.ning.com/video/2456660:Video:211448
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 24 เมษายน 2010, 11:48:22 โดย NostradaMo~ » IP : บันทึกการเข้า
NostradaMo~
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2010, 11:08:55 »

โอ้วววว ท่านเสี่ยวเอ้อ นี่เยี่ยมยุทธจริงๆ
ขอบคุณมากมายครับ ท่านจอมยุทธิ์ ชมเกินไปแล้ว
IP : บันทึกการเข้า
โชคดี
ชาวนาไม่มีวันหยุด082-698-1255 Line0826981255
มัธยม
**
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 715



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 24 เมษายน 2010, 19:22:14 »

...ขอบคุณ NostradaMo~ มากมายคร้าบ...

ตอนนี้ผมกะลังทำบ้านสองภาษาอยู่คร้าบ  ลูกผมได้4เดือนก่าๆแร้ว
อยากมีคนปรึกษาน่ะคร้าบ  ไม่อยากใส่ข้อมูลผิดลงไ เพราะมันจะแก้ไขยาก
หากท่าน NostradaMo~ มีข้อมูลupdateมาแลกเปลี่ยนให้ความรู้ผมจักขอบคุณมากคร้าบ เบอร์ผมคร้าบ 0865686132
ตอนนี้ก็กะลังหัดให้เค้าว่ายน้ำค่อนข้างคล่องแร้วคร้าบ
/color]
IP : บันทึกการเข้า

หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!