ลองขับจับสมรรถนะ โตโยต้าย้ำเสมอว่า รถยนต์ทุกรุ่นรวมถึงปิกอัพวีโก้จะพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ขณะเดียวกัน อะไรที่เป็นจุดด้อยและถูกบ่นจุกจิกมาตลอดก็พร้อมรับพิจารณาและปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยในรุ่นใหม่นี้โตโยต้า พยายามสื่อสารด้วยคำว่า
“Diamond Tech” หรือ
“เทคโนโลยีระดับเพชร” (ทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง เบรก และอัตราบริโภคน้ำมัน โตโยต้าคุยว่ายอดเยี่ยมระดับเพชร)

อีกนัยหนึ่งโตโยต้าพยายามบอกว่า หลังการทำตลาด
“วีโก้” มานานหลายปี ผ่านประสบการณ์จากผู้ใช้จริง และนำความต้องการต่างๆ ของลูกค้ามาปรับพัฒนาเรื่อยมา จนสุดท้ายในรุ่นใหม่นี้ ก็เปรียบเสมือน “เพชร” ที่ผ่านการเจียระไน และกลายเป็นสุดยอดปิกอัพที่ซื้อไปแล้วไม่ผิดหวัง
ส่วนตัวผู้เขียนเองในชีวิตไม่เคยซื้อเพชร แต่ก็พอจะได้ยินสรรพคุณมูลค่า รวมถึงคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมที่ถูกนำมาใช้ในเชิงวิศวกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งหลังจากลองขับจริง กับเส้นทางไกลๆ ขึ้นเขา-ลงเขา พร้อมพายุฝนกระหน่ำตลอดเส้นทาง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า “ปิกอัพระดับเพชร” จะเป็นคำจำกัดความที่เหมาะสมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ
ขับแล้วรู้สึกดีกว่า “วีโก้ พรีรันเนอร์” รุ่นเดิมที่เคยลองมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาเดิม
“พรีรันเนอร์” หรือรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ ยกสูง มีแต่เกียร์ธรรมดาล้วนๆ ทั้งรุ่นเครื่องยนต์ 3.0ลิตร และ 2.5 วีเอ็นเทอร์โบ ดังนั้น พอเพิ่มรุ่นเกียร์อัตโนมัติมาในไลน์อัพ จึงถือว่าน่าสนใจ และคาดว่าจะทำยอดขายกระฉูดแน่นอน
เครื่องยนต์ดีเซล 1KD - FTV ขนาด3.0ลิตร เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด163 แรงม้าที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิด 343 นิวตัน-เมตร ที่ 1,400-3,200 รอบต่อนาที เมื่อส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ยังคงขับสนุก พละกำลังจัดจ้านมาทันใจ และไหลตามแรงกดของฝ่าเท้าอย่างนุ่มนวลต่อเนื่อง

เกียร์อัตโนมัติแบบขั้นบันไดโยกง่ายสับคล่อง ซึ่งจริงๆ ก็แช่ไว้ที่เกียร์ D เฉยๆ นั่นละครับ การขับขี่ยอดเยี่ยมทุกย่านความเร็ว ทั้งจังหวะออกตัว และเร่งแซงกะทันหัน แต่กระนั้นถ้าขับทางลงเขายาวๆ ก็ดันลงมาที่เกียร์ 3 ช่วยให้รถดึงต้านขับมั่นใจมากขึ้น
ด้านการบังคับควบคุมผ่านพวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียน ยังเป็นจุดเด่นเมื่อขับทางดำถนนดี วงเลี้ยวตอบสนองแม่นยำ สั่งงานซ้าย-ขวากระชับมือ เรียกว่าทั้งเครื่องยนต์ระบบส่งกำลังและการควบคุม ออกแนวสปอร์ต ขับมันมือสนุกเท้าที่สุดในบรรดาปิกอัพที่ขายในท้องตลาดไทยตอนนี้
ในส่วนของช่วงล่างแม้โตโยต้าบอกว่าจะปรับแหนบและโช้คหลังให้นุ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าคนขับพรีรันเนอร์ไม่น่าจะเน้นการบรรทุกมากมาย แต่หลังจากการลองขับ ผู้เขียนพบว่าการรองรับแรงสะเทือนก็ยังเด้งแข็งเหมือนเดิม ขับทางไกลความเร็ว 100 กม./ชม. ช่วงผ่านรอยต่อพื้นถนน รับรู้อาการสะท้านส่งคืนมาในห้องโดยสารพอสมควร

แต่ด้วยการเซตช่วงล่างแบบนี้ กับการเป็นรถยกสูง ก็ช่วยให้การขับความเร็วสูง รถยังทรงตัวนิ่ง การเข้า-ออกโค้งมั่นใจ บอดี้โยนตัวน้อย ที่สำคัญ
ในรุ่นใหม่นี้ วิศวกรโตโยต้ายังใจดีติดแผ่นรองใต้ห้องเครื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องการรีดลม ส่งผลให้รถทรงตัวดีขึ้นเมื่อใช้ความเร็ว 100 กม./ชม.ขึ้นไป