เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 26 เมษายน 2024, 10:53:30
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  บอร์ดกลุ่มชมรม
| |-+  ชมรมนักกลอน
| | |-+  ๐0๐ ใกล้วันสุนทรภู่ เคยมีใครรู้ถึงกวีล้านนาบ้างไหม ? ๐0๐
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ๐0๐ ใกล้วันสุนทรภู่ เคยมีใครรู้ถึงกวีล้านนาบ้างไหม ? ๐0๐  (อ่าน 1252 ครั้ง)
>:l!ne-po!nt:<
~: ดาบราชบุตร :~
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 10,256

~>: แขกดอย :<~


« เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 09:49:28 »

      นี่ก็ใกล้วันสุนทรภู่แล้ว มีแต่คนสนใจแต่สุนทรภู่ น้อยคนนักจะมีใครรู้จักกวีแห่งล้านนา ผมเพียงนำมาเสนอเท่านั้นครับ พอดีมีหนังสือประวัติฯอยู่ที่บ้านแต่มันยาวมากมานั่งพิมพ์คงไม่ไหวครับ เลยหาประวัติมาจากใน อินเตอร์เนต ครับ

พระยาพรหมโวหาร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2345 ปีจอ จัตวาศก จ.ศ. 1164 พ่อชื่อแสนเมืองมา แม่ชื่อแม่นายจั๋นทร์เป็ง ท่านมีอายุอ่อนกว่าสุนทรภู่กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ 6 ปี เกิดที่ข้างวัดสิงห์ชัย ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีน้องชายคนหนึ่งชื่อว่าบุญยงหรือพญาบุญยง (รับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองทหารอาทมาทหรือนายทหารหน้าของพ่อเจ้าตนหลวงวรญาณรังสี แห่งนครลำปาง) ส่วนตัวท่านมีชื่อเดิมว่าพรหมินทร์ เมื่อโตขึ้นได้ 8 ขวบบิดาของท่านได้นำตัวไปฝากเป็นเด็กวัดไว้กับท่านครูบาอุปนันต๊ะ เจ้าอาวาสวัดสิงห์ชัย จนมีอายุ 17 ปีจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร อยู่ศึกษาที่วัดนี้จนมีอายุครบ 22 ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านครูบาอุปนันต๊ะได้พิจารณาเห็นแววของพระภิกษุพรหมินทร์ว่า จะมีความก้าวหน้าทางการศึกษา จึงได้นำตัวท่านไปฝากให้เป็นลูกศิษย์ของท่านครูบาปินตา เจ้าอาวาสวัดสุกเข้าหมิ้นซึ่งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นบริเวณโรงเรียนเมตตาศึกษา) พระภิกษุพรหมินทร์ได้ศึกษาบาลีมูลกัจจายน์และสัททาทั้ง 8 กับท่านครูบาปินตา เรียนอยู่ประมาณ 2-3 ปีจึงได้กราบลาท่านครูบาปินตากลับลำปางอยู่จำพรรษาที่วัดเดิม
ตุ๊เจ้าพรหมินทร์เป็นผู้มีปฏิภาณโวหาร สนใจในการแต่งคร่าว เป็นนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีลือชื่อของเมืองลำปางในเวลานั้น เป็นที่นิยมชมชอบของศรัทธาญาติโยมเป็นอันมาก พอมีอายุได้ 25-26 ปี ก็เกิดเบื่อผ้าเหลืองอยากลาสิกขาบท แต่ก่อนเมื่อจะลาท่านก็ถูกอาจารย์และศรัทธาญาติโยมอ้อนวอนให้ท่านอยู่เป็นพระต่อไป ท่านจึงได้แต่งคร่าว “ใคร่สิกข์” ขึ้นเป็นเรื่องแรก บรรยายถึงความคับแค้นแน่นใจไม่อาจอยู่ในสมณเพศต่อไปได้ ใครๆ ได้อ่านต่างก็เห็นใจและยินยอมให้ท่านสึกออกมาเป็นขนาน (ทิด) หลังจากสึกออกมาแล้ว ท่านได้ไปทำงานเกี่ยวกับการเขียน-แต่งหนังสือ อยู่ที่คุ้มเจ้าหลวงลำปางอยู่กับพญาโลมวิสัยอยู่ระยะหนึ่ง อุปนิสัยส่วนตัวของพญาพรหมนั้นว่ากันว่าเหมือนๆ กับกวีแก้วศรีปราชญ์ หรือกวีเอกสุนทรภู่ อย่างพี่น้องกันเลยทีเดียว คือมีนิสัยโอหัง ปากไวใจกล้า ชอบทำให้คนเสียหน้าต่อธารกำนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเจ้าชู้เพราะว่าเจ้าบทเจ้ากลอน พญาพรหมเก่งกาจสามารถถึงขนาดรับจ้างเขียนคร่าวใจ๊คือจดหมายรักให้แก่หนุ่ม-สาวผู้ปรารถนาจะสื่อสัมพันธ์กัน แต่เรื่องที่ทำให้พญาพรหมเดือดร้อนก็คือการไปเหยียบตาปลาเจ้านายผู้มีอำนาจในสมัยนั้น เล่าว่าครั้งหนึ่ง พญาโลมวิสัยได้แต่งคร่าว “หงษ์หิน” ขึ้นมา ก่อนจะนำขึ้นถวายแด่เจ้าหลวงวรญาณรังสีเจ้าเมืองลำปาง ก็ได้ขอให้พญาพรหมช่วยขัดเกลาสำนวนให้

พญาพรหมก็รับปากท่านอือๆ ออๆ พอผ่านๆ ไป เหมือนไม่มีอะไรบกพร่อง แต่ครั้นเข้าสู่ที่ประชุมต่อหน้าพระพักตร์เจ้าหลวงลำปาง พญาพรหมก็ใช้ลีลาพญาหงส์ลบเหลี่ยมพญาโลมวิสัยผู้เป็นนายให้เสียหน้าแบบที่ว่าแตกจนเย็บไม่ติด ซึ่งเรื่องนี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับประวัติของสุนทรภู่ที่ฉีกพระพักตร์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ต่อพระพักตร์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นั่นเอง การกระทำของพญาพรหมครั้งนั้นแม้ว่าจะไม่ได้ให้โทษมหันต์แก่ตนเอง แต่ก็ได้ทำให้เกิดการผูกใจเจ็บสร้างศัตรูขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
พญาพรหมได้รับเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นเป็นอาลักษณ์ประจำคุ้มหลวงแทนพญาโลมวิสัย ซึ่งได้รับเลื่อนให้ขึ้นเป็นที่ปรึกษาในเวลาเดียวกัน เจ้าหลวงวรญาณรังสีได้จัดแจงให้พญาพรหมแต่งงานอยู่กินกับเจ้าหญิงสุนา หน้าที่การงานของพญาพรหมก็ก้าวหน้าโดยลำดับ และล้ำหน้าเสียจนกระทั่งว่าสาส์นต่าง ๆ ที่ออกจากคุ้มเจ้าหลวงลำปางส่งไปถึงหัวเมืองเหนือในเวลานั้น พญาพรหมได้แต่งเป็นคร่าวหรือบทกลอนทั้งสิ้น ซึ่งคิดว่าคงจะได้สร้างสีสันต์ให้แก่แผ่นดินลานนาในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่งทีเดียว สิ่งหนึ่งที่จะต้องติดตามมาแน่ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ในราชสำนักหรือคุ้มของเจ้าเมืองต่างๆ ในเวลานั้น อันเป็นผลให้ชื่อเสียงของพญาพรหมขจรกระจายไปด้วย เหตุนี้กระมังที่ส่งผลให้พญาพรหมได้กลายเป็นกวีเอกแห่งลานนาไทยไปในที่สุด
อยู่รับราชการมาเรื่อยแล้วก็เกิดเหตุพลิกผันในชีวิต เมื่อเจ้าหลวงลำปางใช้ให้ท่านไปซื้อช้างมงคลที่เมืองแพร่ พี่หนานพรหมินทร์พร้อมกับลูกน้องสองคน ชื่อว่า นายเปี้ย และนายผัด จึงได้เดินทางไปเมืองแพร่เพื่อหาซื้อช้างตามรับสั่ง แต่ไปเจอบ่อนขิ่น (บ่อนการพนัน) ที่บ้านป่าแมด ทั้งเหล้าผู้หญิงและการพนันทำให้ท่านถลำตัว ในที่สุดเงินจำนวน 4000 แถบ หรือสี่พันรูปี ที่จะนำไปซื้อช้างก็หมดลง เมื่อไม่รู้จะหาเงินที่ไหนซื้อช้างกลับไปถวายท่านเจ้าหลวง พี่หนานจึงคิดแต่งคร่าวเรื่อง “จ๊างขึด” คือเรื่องช้างอัปมงคล ส่งกราบเรียนให้ท่านเจ้าหลวงทราบ มีใจความว่า “ไปพบช้างขึดมีลักษณะเป็นอัปมงคล ไม่อาจซื้อมาถวายได้ เมื่อไปหาอีกก็เจอแบบเดียวกันอีก หาไปหามาเงินที่จะซื้อช้างก็พลอยหมด” พี่หนานพรหมินทร์จึงกลับเมืองลำปางไม่ได้เลยในระยะนั้น คร่าวจ๊างขึดนั้นมีตัวอย่างดังนี้

ในจ๊างใจ๊ ได้ให้ไปจริ๋ง
เนื้อตั๋วคิง โบราณจ๊างบ้าน
นัยต๋าขาว สามหาวขี้หย้าน
กลั๋วไฟฟืนตื่นล้อ
ระนาดป้าดป๋น ถอยหนต๊นจ๊อ
กลั๋วสว่าห้อปานเด็ง
หมอควาญผ่อเลี้ยง บ่เป๋นแหนเก๋ง
หางมันเอง บังซอนหย่อนป้าน
ต๋ามต๋ำฮา ว่าจ๊างขี้หย้าน
หมอควาญต้านจุ๊มื้อ
เงี้ยวเมืองนาย มาขอไถ่ซื้อ
ข้าบาทหื้อปั๋นไป
บ่หันแต่ทรัพย์ บาทเบี้ยเงินใส
ม่อนกึ๊ดเล็งไป ตางไกล๋เป่งกว้าง
เพราะเป๋นขอบขันธ์ เสมาป้องข้าง
หื้อหอมยืนนานยิ่งกู๊
เจ้านายก่หัน ไพร่ไตยก็ฮู้
บ่ใจ้เผือกแก้วใดเลย


อยู่ที่เมืองแพร่ก็เอาดีทางเมืองแพร่ พญาพรหมได้เข้าไปอาสาเป็นนายอาลักษณ์ของเจ้าหลวงพิมพิสารหรือเจ้าหลวงขาเค เจ้าเมืองแพร่ และได้รับตำแหน่งกวีคุ้มหลวง อันเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์นี้ ว่ากันว่าทรงมีนิสัยเจ้าชู้จัด ไม่ว่าลูกใครเมียใครหากทรงประสงค์ต้องพระทัยแล้วก็เป็นต้องได้ และแน่นอนว่าการที่เจ้าชู้มาเจอเจ้าชู้มันก็ต้องอยู่ร่วมกันไม่ได้ข้างหนึ่งแน่ละ ดังนั้นเวลาต่อมาพญาพรหมก็มีเรื่องกินใจกับเจ้าหลวงพิมพิสารขึ้น ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดคร่าวใจ๊ฉบับนี้ เรื่องมีอยู่ว่า
ระหว่างอยู่ที่เมืองแพร่ พี่หนานพรหมินทร์รู้จักกับแม่หม้ายคนหนึ่งชื่อสีจมหรือศรีชม และท่านมักจะแวะไปเที่ยวที่เรือนของสนมพระเจ้าแพร่ชื่อหม่อมจันทร์อยู่เป็นประจำ เพราะรู้จักมักคุ้นกันแต่เมื่ออยู่เมืองเชียงใหม่ ในเวลานั้นที่เมืองแพร่มีช้างงายาวอยู่ตัวหนึ่ง เจ้าราชวงสาได้จัดให้มีการประกวด “คร่าวฮ่ำจ๊างงายาว” ขึ้น มีนักเลงคร่าวส่งคร่าวเข้าประกวดหลายคน ผลปรากฏว่าคร่าวของพี่หนานพรหมินทร์ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ชื่อเสียงของท่านยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ทางพระเจ้าแพร่ทรงทราบว่าพี่หนานพรหมินทร์มีความสนิทชิดเชื้อเป็นชู้อยู่กับนางจันทร์พระสนมเอกก็พิโรธ รับสั่งให้จับพี่หนานพรหมินทร์เข้าคุก กำหนดจะให้ประหารชีวิตในวันเสาร์ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ แต่เจ้าราชวงสาทูลขอระงับไว้ ขอให้ประหารหลังจากวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะต้องการให้พี่หนานพรหมินทร์แต่งพรปีใหม่ให้
ส่วนพญาบุญยงน้องชายของพี่หนานพรหมินทร์ ได้ทราบข่าวว่าพี่ชายต้องโทษประหารอยู่ที่เมืองแพร่ จึงได้รีบรุดเดินทางมาเมืองแพร่ นำคาถาสะเดาะโซ่ตรวนมาให้ เมื่อได้คาถาแล้ว พี่หนานพรหมินทร์ก็สะเดาะโซ่ตรวนแล้วเขียนคำจ่มติดฝาคุกไว้ คำจ่มนี้เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งของพญาพรหม ท้ายที่สุดของคำจ่มท่านลงด้วยโคลงว่า

อกปุ๊ทโธธัมโม
พรหมมอยดำพ่อฮ้าง
หลัวะโซ่เจื้อกจ๊าง
ก๋องไว้ตี้นอนห่าง

เมื่อเสดาะโซ่ตรวนได้แล้ว (แต่จริงๆ แล้ว ท่านว่าพญาพรหมได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าราชวงศา ซึ่งเป็นเจ้าหอหน้าหรือวังหน้าเมืองแพร่ในเวลานั้นให้หนีออกจากคุกและบอกให้หนีหายไปเลย) ท่านจึงได้รีบพาสีจมหนีจากเมืองแพร่ไปอยู่เมืองลับแลง (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์) อยู่ที่บ้านสันคอกควาย ความตั้งใจของท่านก็คงคิดว่าจะตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น แต่มีครั้งหนึ่งท่านได้ไปทวงหนี้ที่บ้านท่าเสาทิ้งให้สีจมอยู่เฝ้าบ้าน คล้อยหลังพี่หนานออกบ้านไปก็มีคนมารับเอาสีจมกลับไปเมืองแพร่ พอพี่หนานกลับมาไม่พบนางสีจมก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก จึงได้แต่งคร่าวใจ๊คือจดหมายรักฉบับนี้ ฝากส่งไปถึงสีจมที่เมืองแพร่ให้ได้รับทราบความในใจ
กล่าวถึงประวัติของพญาพรหมอีกนิดหนึ่ง มีเกร็ดเกี่ยวกับชีวิตของพญาพรหมค่อนข้างมาก เพราะพูดอะไรก็เป็นที่สนใจของผู้คน เช่น เมื่อตอนเดินทางจากเมืองลำปางไปหาซื้อช้างที่เมืองแพร่นั้น พญาพรหมพร้อมกับลูกน้องเดินผ่านสวนแตงแห่งหนึ่ง แดดร้อนระอุอย่างนี้ได้แตงก็เหมือนได้ไอสครีมโฟรโมส
แรกนั้น พญาพรหมใช้ให้เด็กเข้าไปขอกับคุณป้าเจ้าของสวนก่อน โดยสอนบทกลอนให้ไปว่า
อกปุ๊ทโธ แต๋งโมแม่ป้า
หยังเป๋นก้าเครือหน่วยนัก
เป๋นเครือหวันกั๋น หวันจิ๊นจ้องจั๊ก
หน่วยเนิ้งก้านถมดิน
ปอปั๋นข้าไท้ ซากก๋าเหลือกิ๋น
ซักหน่วยบนดิน หล่อนเลาะเบาะขวั้น

แต่ว่าหน้าแตก เพราะถูกแม่ป้าปฏิเสธเป็นบทกลอนย้อนกลับเข้าให้ว่า
หน่วยมันแต๊บ่นัก ต๋าหลานหันไกล๋
มันมีก้าใบ ก้าจี๋ก้าจ้อน


ปรากฏว่าเด็กของพญาพรหมจนปัญญาจะต่อกลอน จึงย้อนกลับมาหาพญาพรหมอีก คราวนี้พญาพรหมจำต้องออกหน้าเข้าไปขอเอง ท่านได้ทักทายเจ้าของสวนโดยกล่าวเป็นคร่าวว่า
บะแต๋งซากนก ซากหนูกิ๋นเหลือ
บะน้ำปล๋ายเครือ บ่เหลือกาป้า

คุณป้าก็ตอบเป็นสำนวนกลอนเช่นกันว่า
บะแต๋งอยู่ต่ำ บะเต้าอยู่สูง
บ่สมกวรลุง จักกิ๋นของข้า


พญาพรหมเห็นคุณป้าเล่นบทเล่นกลอนด้วยก็ยิ้มลูบริมฝีปากด้วยความกระหยิ่มใจว่า "เสร็จโก๋แน่" แม่ป้าคนนี้คงไม่รู้จักว่าพญาพรหมเป็นไผ จึงได้บังอาจเล่นคารมอมสำนวนเช่นนี้ พญาพรหมจึงถือโอกาสนั้นตื๊อเพิ่มเข้าไปว่า
ต๊ะเติ๋งเหยิง ตึงเปิงใจ๋ข้า
ใคร่กิ๋นบะนอยบะน้ำ

เพียงแค่นี้คุณป้าก็ใจอ่อน ยินยอมให้พญาพรหมได้เลือกแตงไปกินตามสบายว่า
เอ้ากิ๋นลุงกิ๋น ไปกลั๋วเสี้ยงซ้ำ
ของม่อนข้าถมไป


พญาพรหมจึงหันหน้าไปหาบ่าวไพร่ กวักมือเรียกให้เข้าไปในสวนด้วยสำนวนคร่าวเป็นการปิดท้ายว่า
เอ้า..มาเต๊อะน้อง เลือกกิ๋นต๋ามใจ๋
เปิ้นหื้อบ่ดาย เอานักบ่ได้

นี่เห็นไหม "ปรารถนาสิ่งใดในปัถพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง" การกล่าวว่า "เปิ้นหื้อกิ๋นบ่ดาย เอานักบ่ได้" ของพญาพรหมนี้ นับเป็นคติอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "ขออย่าได้เอามาก ลักขโมยอย่าได้เอาน้อย" เพราะโอกาสลักมักไม่มีเป็นครั้งที่สอง ส่วนการขอนั้นต้องเอาทีละนิดหน่อย ถึงขอบ่อยๆ เจ้าของก็คงไม่ตัดเยื่อใย
เมื่อเจ้าชีวิตอ้าวหรือพระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์ ซึ่งทรงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพญาพรหมถึงแก่พิราลัยลง พระเจ้าเชียงใหม่องค์ต่อมาคือพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ได้สืบราชสมบัติ ได้ทรงเมตตาให้ไปรับพญาพรหมมาจากเมืองแพร่ โปรดให้อยู่ในตำแหน่งอาลักษณ์เป็นกวีแก้วประจำราชสำนักเชียงใหม่ และให้แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวจันทร์ ณ เชียงใหม่ เวลานั้นพญาพรหมคงมีอายุมากขึ้นแล้ว จึงได้เลิกละอบายมุขเพื่อขออยู่เป็นสุขในบั้นปลายชีวิต แต่ก็ยังมีคนรู้ดีไปแอบสืบทราบมาว่า ผู้หญิงที่เคยเป็นเมียของพญาพรหมตั้งแต่ต้นจนจบนั้นมีจำนวนมากถึง 42 คนทีเดียว ขุนแผนก็ขุนแผนเถอะ รู้จักพญาพรหมแล้วจะหนาว
คราวหนึ่ง บัวจันทร์และวันดี สองสาวใช้ของเจ้าแม่ทิพไกสรถูกกริ้วโดนไล่ออกจากวัง ชวนกันไปนั่งกอดเข่าปรึกษากันอยู่ที่สี่แยก เผอิญพญาพรหมเดินผ่านมาพบเข้า เมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้ว ด้วยความอยากช่วยเหลือให้กลับไปทำงานเช่นเดิม พญาพรหมจึงแต่งหนังสือขอโทษเป็นสำนวนคร่าวให้สองสาวใช้นำไปถวายเจ้าแม่อีก ดังนี้

หนังสือสำหรับบัวจันทร์
จั๋นทร์กลีบหอม เมืองขอมใต้หล้า
แต่ก่อนออนมาก้านัก
มีผู้นับถือ ตือดีแต๊ตั๊ก
ยามก่อนกี้เป๋นยา
บัดเดียวเดี๋ยวนี้ กล๋ายเป๋นจั๋นทร์ผา
บ่มีรากา เข้ายาบ่ได้
บ่เหมือนแก่นจั๋นทร์ อันมาจากใต้
ไผบ่ตือดีอวดยก
กล๋ายเป๋นหมากจัน ซากฮุ้งคาวนก
บ่เหมือนก่อนกี้คราวเดิม

หนังสือสำหรับวันดี
วันดีก่อนนั้น เป๋นดีงูเหลิม
ดีกระทิงเดิม ฝูงหมอใคร่ได้
เข้ายาฝีขาง ยาเจ็บยาไหม้
ยาบะเฮง (มะเร็ง) ไฟโป่งซ้ำ
บัดนี้กล๋ายเป๋น ดีควายฮ่าซ้ำ
บ่เหมือนก่อนอั้นดีงู
วันดีเดี๋ยวนี้ กล๋ายเป๋นดีหมู
ไผบ่มุตู เอ็นดูต๋าหน้า


ปรากฏว่าเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรได้อ่านก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เรียกให้สาวใช้ทั้งสองกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในวังทำหน้าที่ได้ตามเดิม นับเป็นหนังสือสมัครงานดังแห่งยุคทีเดียว
พญาพรหมมีบุตรสาวกับเจ้าบัวจันทร์ด้วยคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า อินทร์ตุ้ม ชื่อเล่นชื่อขี้หมู และมีหลานสืบสกุลชื่อว่า เจริญ อยู่บ้านฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พญาพรหมมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นำความขึ้นบังคมทูลสมเด็จพระปิยมหาราชว่า พญาพรหมผู้นี้มีปฏิภาณไหวพริบเชิงกวีเก่งกาจยิ่งนัก เทียบได้กับศรีปราชญ์และสุนทรภู่เลยทีเดียว จึงทรงปรารถนาจะทอดพระเนตร มีรับสั่งให้นำตัวพญาพรหมลงไปเฝ้าที่กรุงเทพมหานคร แต่ท่านว่าพญาพรหมมีวาสนาน้อย ยังไม่ทันถึงกำหนดจะเดินทางก็มีอันต้องเจ็บป่วยทุพพลภาพ หูตาฝ้าฟางใช้การไม่ได้ ก่อนที่พระบรมราชโองการจะขึ้นมาถึงเมืองเชียงใหม่
พญาพรหมโวหารหรือป้อหนานพรหมินทร์ ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ขณะมีอายุได้ 79 ปี ในปี พ.ศ. 2424 (บางแห่งว่า พ.ศ.2426) ณ บ้านข้างวัดเชตุพน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอันจบบทบาทกวีสามแผ่นดิน คือ เมืองลำปาง เมืองแพร่ และเมืองเชียงใหม่ ไว้แต่เพียงเท่านี้ ทิ้งสมบัติคือคร่าวอันเป็นอมตะไว้ให้ลูกหลานชาวลานนาได้ศึกษาร่ำเรียนอย่างเป็นอมตะมาทุกยุคสมัย สมกับคำกล่าวที่ว่าท่านเป็นกวีเอกแห่งลานนาไทยอย่างแท้จริง และในบรรดาผลงานการประพันธ์ทั้งหมดนั้น “คร่าวสี่บท” ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกแห่งคร่าวของท่าน และเป็นสุดยอดวรรณกรรมคร่าวเมืองเหนือด้วย
คร่าวใจ๊หรือจดหมายรักฉบับนี้ พระยาพรหมโวหารได้แต่งแบ่งออกเป็น 4 ภาค หรือสี่วรรคใหญ่ๆ จึงได้ชื่อว่า “คร่าวสี่บท” แรกเดิมทีนั้นท่านได้เขียนส่งให้นางสีจมเพียงฉบับเดียว แต่นางสีจมอ่านหนังสือไม่เป็น จึงวานคนอ่านเป็นช่วยอ่านให้ คนอ่านอ่านไปก็ชอบใจในความสนุกสนานของอรรถรสและสำนวนโวหารที่ท่านแต่งจึงขอคัดลอกไว้ ครั้นคนอื่นๆ ทราบจึงขอคัดลอกไว้อ่านสืบๆ ต่อกันไปอีก นานเข้าก็เลยกลายเป็นหลายเล่มต่างสำนวนโวหารกัน แต่เรื่องราวโดยส่วนใหญ่แล้วก็เหมือนกัน
สำหรับสำนวนที่ท่านได้อ่านอยู่นี้ เป็นสำนวนที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชำระตรวจสอบเรียงร้อยถ้อยคำใหม่ บรรจุไว้ในตำราเรียนอักขระลานนาไทย เพื่อเป็นตำราเรียนของนักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2518 ทั้งท่านยังได้เขียนจัดเป็นวรรคตอนให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ทำให้อ่านได้ง่ายไม่สับสนปนเปเหมือนกับคนโบราณที่มักเขียนติดกันเป็นพืด ผู้เขียนได้ถอดความจากหนังสือเล่มนี้มาทั้งหมด โดยมิได้ขออนุญาตจากอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ทั้งทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเรียนบอกให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ ทั้งนี้ที่ได้ทำงานนี้ขึ้นมามิได้มุ่งหวังเพื่อหาผลกำไรแต่ประการใด
กุศลผลบุญใดเกิดขึ้นแต่การสร้างและศึกษาตำราเล่มนี้ขออุทิศแด่พ่อแม่และบูรพาจารย์ทุกท่าน มีพระยาพรหมโวหาร และอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เป็นประธาน เชิญท่านหาความสำราญจากคร่าวสี่บทพญาพรหมโวหาร ได้ ณ บัดนี้

ข้อมูลจาก http://goddevilltoptenper.blogspot.com/2010/01/blog-post.html ครับ
IP : บันทึกการเข้า

!!!!!  กว่า ๑,๑๐๐ กม.จากยอดดอยสู่ทะเล...ตะวันออก  !!!!!

www.facebook.com/1100kilometer

||||| ธรรมชาติสร้างอากาศบริสุทธิ์    ส่วนมนุษย์นั้นสร้างอาวุธเพื่อทำลาย |||||
♡♡<Fairy>♡♡
นางฟ้า...ราตรี
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,585


เทพธิดา...ไร้ปีก


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 10:19:35 »

ยิ้มกว้างๆ...ขอบคุณที่หามาให้ศึกษากันนะคะ...ท่านแอดมิน... ยิ้มเท่ห์
IP : บันทึกการเข้า

>>>>>....หากหัวใจไม่เข้มแข็ง    อย่าหวัง "แรง" จากสวรรค์....<<<<<
۰•ฮักแม่จัน©®
เลวบ้างในบางเวลา
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,017


"มารบ่มี บารมี บ่เกิด.."


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 10:27:24 »

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนั้นคืนสนอง
IP : บันทึกการเข้า

"ทำบุญเท่าไรก็ไม่สามารถลบล้างบาปได้ บุญอยู่ส่วนบุญ บาปอยู่ส่วนบาป"

ไม่มีใครหรอกที่จะเลวโดยสันดาน ..
หากแต่สถานการณ์มันบีบบังคับให้ทำ
Yim sri
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,753



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 17:42:39 »

ขอบคุณค่ะ สำหรับเรื่องดี ดีที่มีให้กันเสมอ
IP : บันทึกการเข้า

ธ สถิตย์ในใจตราบนิรันดร์กาล
>:l!ne-po!nt:<
~: ดาบราชบุตร :~
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 10,256

~>: แขกดอย :<~


« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 24 มิถุนายน 2011, 23:07:25 »

ยิ้มกว้างๆ...ขอบคุณที่หามาให้ศึกษากันนะคะ...ท่านแอดมิน... ยิ้มเท่ห์

ขอบคุณค่ะ สำหรับเรื่องดี ดีที่มีให้กันเสมอ

ยินดีครับผม อ่านหนังสือเก่าๆเช้านี้ เจอพอดีครับเลยเอามาแบ่งปัน จะมานั่งพิมพ์เองในหนังสือหั้งหมดก็คงไม่ไหวเลยมาหาในเวบ์ เอามาแบ่งปันครับ

ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน

เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง

เราผิดท่านประหาร เราชอบ

เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนั้นคืนสนอง

จ่างกับเปิ้นเหียน้อเฮา ส่วนอ้ายต้องถอยละบ๋อไหว  ร้องไห้ ร้องไห้ ร้องไห้

IP : บันทึกการเข้า

!!!!!  กว่า ๑,๑๐๐ กม.จากยอดดอยสู่ทะเล...ตะวันออก  !!!!!

www.facebook.com/1100kilometer

||||| ธรรมชาติสร้างอากาศบริสุทธิ์    ส่วนมนุษย์นั้นสร้างอาวุธเพื่อทำลาย |||||
Yim sri
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,753



« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 25 มิถุนายน 2011, 00:32:46 »

ได้ความรู้มากขึ้นเลย  ขอบคุณจริงๆค่ะ
IP : บันทึกการเข้า

ธ สถิตย์ในใจตราบนิรันดร์กาล
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!