วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7259 ข่าวสดรายวัน
จุดล่อแหลมไทย-พม่า เขตแดนแม่น้ำสาย-รวก
สกู๊ปพิเศษในการเสวนาเรื่อง "เขตแดนไทย-พม่า และการดำเนินตามมาตรา 190 ของรัฐ ธรรมนูญฯ" จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ ต้องการขยายความรู้ความเข้าใจประเด็นการปักปันเขตแดนและความสำคัญของหลักเขต
เนื้อหาส่วนหนึ่งนำเสนอข้อมูลเจาะลึกปัญหาการปักปันเขตแดนแบบคงที่บริเวณแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก จ.เชียงราย
น.ส.พิมพิดา รวีรัฐ นักการทูตปฏิบัติการ กองเขตแดน รายงานว่า ความเป็นมาของเส้นเขตแดนไทย-พม่า บริเวณแม่น้ำสายและรวกนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งโปรโตโคล (ปฏิญญา) ฉบับลงนามวันที่ 17 ต.ค. 2437 ซึ่งเนื้อหาการปักปันเขตแดนของแผนที่ฉบับนั้นระบุว่าให้ยึดเขตแดนตามแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนสยาม-อังกฤษ จำนวน 3 ระวางซึ่งแนบท้ายไปด้วย
"ปัญหาเกิดที่ว่าแผนที่ทั้งสามระวางนั้นเป็นแบบหยาบ ซึ่งมีอัตราส่วน 1 นิ้วในแผนที่เท่ากับ 6.4 กิโลเมตร ในสถานที่จริง ทำให้เขตแดนคลาดเคลื่อนมาก ส่งผลให้ไทยทำสนธิสัญญาในรูปแบบหนังสือแลกเปลี่ยน ฉบับลงนามวันที่ 1 ต.ค. และ 10 ธ.ค.2483 ซึ่งใช้แก้ปัญหาเขตแดนเฉพาะในแม่น้ำสายและแม่น้ำรวก กำหนดให้ใช้ร่องน้ำลึกเป็นเขตแดนไม่ว่าแม่น้ำจะเปลี่ยนไปอย่างไร" น.ส.พิมพิดา กล่าวและว่า ต่อมาแม่น้ำเกิดเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะแผ่นดินจนเกิดแผ่นดินงอกหรือแผ่นดินหดหาย จึงเกิดเหตุพิพาทระหว่างไทยและพม่านำไปสู่การแก้ปัญหาอีกครั้ง
ไทยและพม่าแก้ปัญหาโดยการกำหนดเขตแดนคงที่ โดยสำรวจร่องน้ำลึกร่วมกันในปี 2530-2531 และจัดทำบันทึกความเข้าใจกำหนดให้ใช้ร่องน้ำลึก ณ วันที่สำรวจเป็นเขตแดน มีหลักเขตจำนวน 492 คู่ ปักเป็นจุดอ้างอิงอยู่ริมแม่น้ำของทั้งสองฝ่าย นับเป็นเขตแดนที่ชัดเจนเส้นแรก ความยาวรวม 59 กิโลเมตร ที่ไทยและพม่าปักปันร่วมกันได้สำเร็จ
แต่ต่อมาไทยและพม่าประสบปัญหาการรักษาตลิ่ง ที่เกิดการกัดเซาะดินแดนตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ กระทบสิ่งปลูกสร้าง และกัดเซาะตลิ่งของฝ่ายพม่า กลายเป็นข้อพิพาทต่อเนื่อง
สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาคือการรักษาตลิ่งและกระจายความรู้เรื่องการปักปันเขตแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่รุกล้ำเขตแดนของประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันชาวไทยและชาวพม่าบางรายสร้างสิ่งปลูกสร้าง คร่อมทับเขตแดนจนมีปัญหาต้องถูกรื้อถอน เพราะความไม่รู้นี้อาจทำให้ตัวประชาชนเสียผลประโยชน์หรือถึงขั้นได้รับอันตรายจากการรุกล้ำดินแดน
หน้า 7
ที่มา
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObWIzSXpNakUwTVRBMU13PT0=