เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 19:52:07
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  " ธรรมะ กับ ธรรมชาติ "
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน " ธรรมะ กับ ธรรมชาติ "  (อ่าน 790 ครั้ง)
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« เมื่อ: วันที่ 12 ตุลาคม 2014, 15:14:38 »

ธรรมะกับธรรมชาติ



บางครั้ง ต้นผลไม้ อย่างต้นมะม่วงเป็นดอกออกมาแล้ว บางทีถูกลมพัด มันก็หล่นลง แต่ยังเป็นดอกอย่างนั้นก็มี บางช่อเป็นลูกเล็กๆลมก็มาพัดไป หล่นทิ้งไปก็มี บางช่อยังไม่ได้เป็นลูก เป็นดอกเท่านั้น ก็หักไปก็มี

คนเราก็เหมือนกัน บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้อง บางคนคลอดจากท้องอยู่ได้สองวัน ตายไปก็มี หรืออายุเพียงเดือนสองเดือน สามเดือน ยังไม่ทันโต ตายไปก็มีบางคนพอเป็นหนุ่มเป็นสาวตายไปก็มี บางคนก็แก่เฒ่าแล้ว จึงตายก็มี

เมื่อนึกถึงคนแล้ว ก็นึกถึงผลไม้ ก็เห็นความไม่แน่นอน แม้นักบวชเราก็เหมือนกัน บางทียังไม่ทันได้บวชเลย ยังเป็นเพียงผ้าขาวอยู่ ก็พาผ้าขาววิ่งหนีไปก็มีบางคนโกนผมเท่านั้น ยังไม่ได้บวชขาวด้วยซ้ำ ก็หนีไปก่อนแล้วก็มี บางคนก็อยู่ได้สามสี่เดือนก็หนีไป บางคนอยู่ถึงบวชเป็นเณรเป็นพระ ได้พรรษาสองพรรษาก็สึกไปก็มี หรือสี่ห้าพรรษาแล้วก็สึกไปก็มี เหมือนกับผลไม้เอาแน่นอนไม่ได้ ดอกไม้ผลไม้ถูกลมพัดตกลงไปเลยไม่ได้สุก จิตใจคนเราก็เหมือนกัน พอถูกอารมณ์มาพัดไป ดึงไป ก็ตกไปเหมือนกับผลไม้

พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นเหมือนกัน เห็นสภาพธรรมชาติของผลไม้ ใบไม้ แล้วก็นึกถึงสภาวะของพระเณรซึ่งเป็นบริษัท บริวารของท่านก็เหมือนกัน มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ย่อมจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถ้ามีปัญญา พิจารณาดูอยู่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีครูอาจารย์แนะนำพร่ำสอนมากมาย

พระพุทธเจ้าของเรา ที่จะทรงผนวชในพระชาติที่เป็นพระชนกกุมารนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายท่านไปทรงเห็นต้นมะม่วงในสวนอุทยานเท่านั้น คือวันหนึ่ง พระชนกกุมารได้เสด็จไปชมสวนอุทยานกับ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ได้ทรงเห็นต้นมะม่วงต้นหนึ่ง กำลังออกผลงามๆมากมาย ก็ตั้งพระทัยไว้ว่า ตอนกลับจะแวะเสวยมะม่วงนั้น

แต่เมื่อพระชนกกุมารเสด็จผ่านไปแล้ว พวกอำมาตย์ก็พากันเก็บผลมะม่วงตามใจชอบ ฟาดด้วยกระบองบ้าง แส้บ้าง เพื่อให้กิ่งหัก ใบขาด จะได้เก็บผลมะม่วงมากิน

พอตอนเย็น พระชนกกุมารเสด็จกลับ ก็จะทรงเก็บมะม่วง เพื่อจะลองเสวยว่าจะมีรสอร่อยเพียงใด แต่ก็ไม่มีมะม่วงเหลือเลยสักผล มีแต่ต้นมะม่วงที่กิ่งก้านหักห้อยเกะกะ ใบก็ขาดวิ่น เมื่อไต่ถาม ก็ทรงทราบว่าพวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ใช้กระบอง ใช้แส้ฟาดต้นมะม่วงนั้นอย่างไม่ปรานี เพื่อที่จะเอาผลของมันมาบริโภคฉะนั้นใบของมันจึงขาดกระจัดกระจาย กิ่งของมันก็หัก ห้อยระเกะระกะ

เมื่อพระองค์ทรงมองมะม่วงสักต้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน ก็ทรงเห็นมะม่วงต้นนั้นยังมีกิ่งก้านแข็งแรง ใบดกสมบูรณ์ มองดูน่าร่มเย็น จึงทรงดำริว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ก็ทรงได้คำตอบว่า เพราะมะม่วงต้นนั้นมันไม่มีผล คนก็ไม่ต้องการมัน ไม่ขว้างปามัน ใบของมันก็ ไม่หล่นร่วง กิ่งของมันก็ไม่หัก

พอพระองค์ทรงเข้าพระทัยในเหตุเท่านั้น ก็พิจารณามาตลอดทางที่เสด็จกลับ ทรงรำพึงว่า ที่ทรงมีความทุกข์ยากลำบาก ก็เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ ต้องทรงห่วงใยราษฎร ต้องคอยป้องกันแผ่นดินจากข้าศึกศัตรู ที่คอยจะมาโจมตีตรงนั้นตรงนี้อยู่วุ่นวาย แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข บรรทมแล้วก็ยังทรงฝันถึงอีก แล้วก็ทรงนึกถึงต้นมะม่วงที่ไม่มีผลต้นนั้น ที่มีใบสดดูร่มเย็น แล้วทรงดำริว่า จะทำอย่างมะม่วงต้นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือ?

พอถึงพระราชวัง ก็ทรงพิจารณาอยู่แต่ในเรื่องนี้ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยออกทรงผนวช โดยอาศัยต้นมะม่วงนั้นแหละ เป็นบทเรียนสอนพระทัย ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองกับมะม่วงต้นนั้น แล้วเห็นว่าถ้าไม่พัวพันอยู่ในเพศฆราวาส ก็จะได้เป็นผู้ไปคนเดียว ไม่ต้องกังวัลทุกข์ร้อน เป็นผู้มีอิสระ จึงออกผนวช

หลังจากทรงผนวชแล้ว ถ้ามีผู้ใดทูลถามว่า ใครเป็นอาจารย์ของท่าน? พระองค์ก็จะทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" ใครเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน? พระองค์ก็ทรงตอบว่า "ต้นมะม่วง" พระองค์ไม่ต้องการคำพร่ำสอนอะไรมากมาย เพียงแต่ทรงเห็นต้นมะม่วงนั้นเท่านั้น ก็ทรงน้อมเข้าไปในพระทัย เป็นโอปนยิกธรรม สละราชสมบัติทรงเป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ อยู่ในความสงบผ่องใส

นี้คือในสมัยที่พระองค์ (พระพุทธเจ้า) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงบำเพ็ญธรรมเช่นนี้มาโดยตลอดอันที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มันเตรียมพร้อมที่จะสอนเราอยู่เสมอ ถ้าเราทำปัญญาให้เกิดนิดเดียวเท่านั้น ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในโลก

ต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์เหล่านั้น มันแสดงลักษณะอาการตามความจริงตามธรรมชาติอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว ถ้ามีปัญญาเท่านั้นก็ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปศึกษาที่ไหน ดูเอาที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเท่านั้น ก็ตรัสรู้ธรรมได้แล้ว เหมือนอย่างพระชนกกุมาร

ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเราสังวร สำรวม ดูอยู่ รู้อยู่เห็นอยู่ตามธรรมชาติอันนั้น มันก็ปลงอนิจจัง ทุกขังอนัตตาได้เท่านั้น เช่นว่า ต้นไม้ทุกต้นที่เราเห็นอยู่บนพื้นปฐพีนี้ มันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน เป็นไปในแนวอนิจจังทุกขัง อนัตตา ไม่เป็นของแน่นอนถาวรสักอย่าง มันเหมือนกันหมด มีเกิดขึ้นแล้วในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง ผลที่สุดก็ดับไปอย่างนี้

เมื่อเราเห็นต้นไม้เป็นอย่างนั้นแล้ว ก็น้อมเข้ามาถึงตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวเราหรือบุคคลอื่นก็เหมือนกันมีความเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้นในท่ามกลางก็แปรไป เปลี่ยนไป ผลที่สุดก็สลายไป นี่คือธรรมะ

ต้นไม้ทุกต้นก็เป็นต้นไม้ต้นเดียวกัน เพราะว่ามันเหมือนกันโดยอาการที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ตั้งอยู่ ตั้งอยู่แล้วก็แปรไป แล้วมันก็เปลี่ยนไป หายไป เสื่อมไปดับสิ้นไปเป็นธรรมดา

มนุษย์เราทั้งหลายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นผู้มีสติอยู่รู้อยู่ ศึกษาด้วยปัญญา ด้วยสติสัมปชัญญะ ก็จะเห็นธรรมอันแท้จริง คือเห็นมนุษย์เรานี้ เกิดขึ้นมาเป็นเบื้องต้น เกิดขึ้นมาแล้วก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไปแล้วก็เปลี่ยนไป สลายไป ถึงที่สุดแล้วก็จบ ทุกคนเป็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น คนทุกคนในสากลโลกนี้ ก็เป็นอันเดียวกัน ถ้าเราเห็นคนคนเดียวชัดเจนแล้ว ก็เหมือนกับเห็นคนทั้งโลก มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

ทุกสิ่งสารพัดนี้เป็นธรรมะ สิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตา คือใจของเรานี้ เมื่อความคิดเกิดขึ้นมา ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ เมื่อตั้งอยู่แล้วก็แปรไป เมื่อแปรไปแล้ว ก็ดับสูญไปเท่านั้น นี้เรียกว่า "นามธรรม" สักแต่ว่าความรู้สึกเกิดขึ้นมา แล้วมันก็ดับไป นี่คือความจริงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น ล้วนเป็นอริยสัจจธรรมทั้งนั้น ถ้าเราไม่มองดูตรงนี้ เราก็ไม่เห็น

ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงไหน?

พระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม

พระธรรมอยู่ที่ตรงไหน?

พระธรรมอยู่ที่พระพุทธเจ้า อยู่ตรงนี้แหละ

พระสงฆ์อยู่ที่ตรงไหน?

พระสงฆ์อยู่ที่พระธรรม

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็อยู่ในใจของเราแต่เราต้องมองให้ชัดเจน บางคนเก็บเอาความไปโดยผิวเผิน แล้วอุทานว่า "โอ! พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ อยู่ในใจของฉัน" แต่ปฏิปทานั้นไม่เหมาะไม่สมควร มันก็ไม่เข้ากันกับการที่จะอุทานเช่นนั้น เพราะใจของผู้ที่อุทานเช่นนั้น จะต้องเป็นใจที่รู้ธรรมะ

ถ้าเราตรงไปที่จุดเดียวกันอย่างนี้ ก็จะเห็นว่าความจริงในโลกนี้มีอยู่ นามธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดเป็นของไม่แน่นอน มีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้ว ความโกรธตั้งอยู่แล้ว ความโกรธก็แปรไป เมื่อความโกรธแปรไปแล้ว ความโกรธก็สลายไป

เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขนั้นก็ตั้งอยู่เมื่อความสุขตั้งอยู่แล้ว ความสุขก็แปรไป เมื่อความสุขแปรไปแล้ว ความสุขมันก็สลายไปหมด ก็ไม่มีอะไร มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ทุกกาลเวลา ทั้งของภายในคือ นามรูปนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งของภายนอก คือต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์เหล่านี้มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่าสัจจธรรม

ถ้าใครเห็นธรรมชาติก็เห็นธรรมะ ถ้าใครเห็นธรรมะก็เห็นธรรมชาติ ถ้าผู้ใดเห็นธรรมชาติ เห็นธรรมะผู้นั้นก็เป็นผู้รู้จักธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ไกล

ฉะนั้น ถ้าเรามีสติ ความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถ การยืน เดิน นั่ง นอน ผู้รู้ทั้งหลายก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมา ให้รู้ ให้เห็นธรรมะตามเป็นจริงทุกกาลเวลา

พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตายท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรมพระธรรมนั้นแหละเรียกว่า พระพุทธเจ้า และก็ธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเรา เป็นพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว

อันนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรม และการตรัสรู้ธรรมนี่เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง "เจ้าชายสิทธัตถะ" ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น "พระพุทธเจ้า" บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่ ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดี พระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวันฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าเราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา

ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่นความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น

ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้วเพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะทรงบอกไว้แล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้น โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้ว ยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น

ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมากเพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม ฉะนั้นก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควรทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผลนิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรมได้

ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร? ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!

เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร?นั่นแหละ!

เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร?นั่นแหละ!

สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน
IP : บันทึกการเข้า
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 12 ตุลาคม 2014, 15:19:10 »

ในการศึกษาเรื่องพระพุทธศาสนานั้น เราก็ศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” นั่นเอง ธรรมะนี่เป็นหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสิ่งนับเนื่องในสิ่งสำคัญที่เรายึดถือเป็นหลักทางใจ
       
       ธรรมะหมายถึงสิ่งที่เป็นธรรมชาติประการหนึ่ง ธรรมชาติที่มันมีปรากฏอยู่ทั่วๆไปเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ที่เราพูดกันว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เช่นว่า ปีนี้ฝนแล้ง แต่ปีก่อนโน้นฝนตกมาก เราก็พูดว่านั่นมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีใครจะไปกำหนดกฎเกณฑ์ลงไปได้ว่า ให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้
       
       สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันเหนืออำนาจของคน คนเราไม่สามารถจะบังคับธรรมชาติได้ แต่ว่าเรามีหน้าที่ที่จะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เพื่อจะได้ปรับตัวเราให้เหมาะกับธรรมชาติ หรือจะได้เรียนรู้ว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เมื่อสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมันเป็นไป เราก็ไม่ต้องทุกข์มากเกินไป เพราะเราจะคิดได้ว่า เรื่องมันเป็นอย่างธรรมชาติ มันเป็นอย่างนั้น
       
       ธรรมชาตินี้ในภาษาธรรมะจริงๆนั้นเขาเรียกว่า “สภาวธรรม” ก็คือสิ่งที่มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันเกิดขึ้น มันเป็นอยู่ มันเปลี่ยนแปลงไป ในรูปอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันเป็นกันอย่างไร แต่ว่ามันก็มีเหตุมีผลตามธรรมชาติ ที่จะเป็นไปตามเรื่อง
       
       ตัวธรรมชาตินั้นมันก็มีระเบียบเหมือนกัน แต่ว่าเราไม่รู้ระเบียบของธรรมชาติ ไม่รู้ว่ามันปรุงแต่งกันอย่างไร จึงไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง จึงมักจะเกิดความทุกข์กันบ่อยๆ แต่ความจริงนั้นมันมีกฎของเขา เป็นระเบียบอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา
       
       ระเบียบของธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ที่เราควรจะศึกษาควรจะทำความเข้าใจไว้ให้ถูกต้อง ก็มีอยู่ 3 ประการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงค้นพบ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีเนื้อแท้ในตัวของสิ่งนั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริง และเป็นความจริงที่จริงอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่ว่าที่ใดๆ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น
       
       ความไม่เที่ยงมันก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นทุกข์มันก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นอนัตตาก็มีอยู่ทุกแห่งเหมือนกัน อันนี้เรียกว่าเป็นระเบียบเป็นกฎธรรมชาติ ถ้าเราเรียนรู้กฎของธรรมชาติ จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เช่น สมมติว่าเราเกิดอาการไม่สบายทางกาย เป็นไข้ได้ป่วย ก็เพราะว่าเราอาจจะปฏิบัติไม่ถูกตามกฎธรรมชาติ เช่นเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ บางทีมันก็หนาวบางทีมันก็ร้อน เราปรับตัวเองไม่ทันก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย
       
       หรือบางทีเราก็รับประทานอะไรๆ เข้าไปในร่างกาย โดยไม่รู้ว่าในสิ่งนั้นมีอะไรเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกายบ้าง เพราะสิ่งบางอย่างมองเห็นด้วยตาไม่ได้ บางอย่างเราก็มองเห็นด้วยตาของเราได้ ถ้าเรามองเห็นด้วยตา เราก็ไม่รับประทานเข้าไป เช่น อาหารที่เราจะรับประทาน ถ้าเรามองเห็นว่ามีสิ่งสกปรก เราก็ไม่รับประทาน แต่ถ้าเราไม่เห็นว่า สิ่งนั้นมีสิ่งสกปรก เช่น มีเชื้อโรคอยู่ในอาหาร แล้วเรารับประทานเข้าไป มันก็ติดเข้าไปกับอาหาร แล้วไปเกิดเจริญงอกงามขึ้นในร่างกาย เราก็เป็นไข้ได้ป่วย
       
       หรือว่าเราไปในที่บางแห่งอากาศไม่บริสุทธิ์ เราก็ไม่รู้ เพราะสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เราก็สูดหายใจเข้าไป เชื้อโรคมันติดเข้าไปกับลมหายใจ เราก็เกิดเป็นไข้ได้ป่วยขึ้นมา
       
       เมื่อใดที่เราเป็นไข้ได้ป่วย ถ้าหากว่าเราเป็นทุกข์ เช่นนอนอยู่ที่เตียงคนไข้แล้วนอนเป็นทุกข์ เรียกว่าเป็นไข้ทั้งสองอย่าง คือ “ไข้นอก” กับ “ไข้ใน” ร่างกายนั้นป่วยแล้วจิตใจเราก็ป่วยไปด้วย เพราะว่าเราเกิดความทุกข์ทางใจ เกิดน้อยเนื้อต่ำใจ หรือบางทีก็เอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็นึกว่าเรานี่เป็นคนอาภัพอับโชค เป็นโรคอย่างนั้นเป็นโรคอย่างนี้ ไม่สบายอย่างนั้นไม่สบายอย่างนี้ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ไปเปล่าๆ
       
       แต่ถ้าเราเรียนรู้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็ควรจะได้เตือนตัวเองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งทั้งหลายไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะเปลี่ยนไปเป็นคนป่วยก็ได้ แล้วมันอาจจะเปลี่ยนมาเป็นคนหายป่วยก็ได้
       
       ในชีวิตของคนเราแต่ละคนนั้น เราเคยป่วยแล้วเราก็หายป่วย มันก็เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ในระยะชีวิตจนกว่าจะจบฉาก ไม่รู้ว่าป่วยสักกี่ครั้งกี่หน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้นเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ปวดแข้งปวดขา ปีนี้มันปวดตรงนั้น ปีหน้ามันอาจจะไปปวดตรงโน้นก็ได้ บางทีดูแล้วก็น่าขำ เช่นว่ามันปวดอยู่ที่ข้อเท้าข้างซ้าย พอข้างซ้ายหายมันก็มาปวดข้างขวา เราก็นึกขำตัวเองว่า มันแสดงบทบาทเหลือเกิน แล้วด้านขวาหายมันก็กลับไปด้านซ้ายอีก มันแสดงไปในรูปต่างๆ มันก็คล้ายๆกับละครเหมือนกัน
       
       ละครแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย เอาร่างกายของเราเป็นฉาก แล้วก็แสดงไปในเรื่องอย่างนั้นเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนดูที่ใช้สติปัญญา บางทีก็นึกขำตัวเอง ว่าเออมันแปลกๆ ร่างกายนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดูอย่างนี้มันก็ไม่กลุ้มใจ แต่เห็นเป็นของน่าขำไป เราก็นอนป่วยไปตามเรื่อง หมอเขาให้กินยาก็กินไปตามหน้าที่ ตามคำสั่งของหมอรักษาร่างกาย
       
       หมอรักษาร่างกายของเราได้ แต่หมอรักษาใจเราไม่ได้ เราต้องรักษาใจของเราเอง การรักษาใจนั้นไม่ใช่กินยาที่หมอสั่ง แต่เราต้องกินยาที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งไว้ ก็เอายาคือธรรมะนี่แหละมากินเข้าไป เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เพราะเรารู้กฎความจริงของธรรมชาติ ว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
       
       ในเรื่องภายนอกนี้ก็เหมือนกัน เช่นเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เราได้มาแล้วบางทีมันก็หายไป บางทีมันก็มีกำไร แต่บางทีก็เกิดการขาดทุน ถ้าเราเป็นคนไม่ศึกษากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็มีปัญหา มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ ว่าทำไมมันมาเกิดกับเราอย่างนี้
       
       ความจริงแล้วไม่ได้เกิดแก่เราคนเดียว แต่เกิดขึ้นแก่ใครๆ ก็ไม่รู้ ถ้าเรียกคนในโลกนี้มาสัมมนาดูว่า ใครต้องผิดหวัง ใครต้องขาดทุน ใครต้องสูญเสียอะไรในชีวิตมาบ้าง มีทุกคนเลยทีเดียว อันนี้มันเป็นเรื่องความจริง
       
       ถ้าเรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย เวลาเราพบปะกัน ลองคุยกันดู มีหลายคนต้องเล่าให้ฟังว่า แหมต้องสูญเสียอย่างนั้นอย่างนี้ นึกว่าจะได้เท่านั้นกลับไม่ได้ บางทีก็ขาดทุนยุบยับไปเลย พอเราได้ฟังเรื่องของเพื่อนแล้ว เราก็ว่าของฉันก็มีเหมือนกัน แล้วเราก็มาอวดกัน อวดความทุกข์ความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้น แล้วก็จะได้ปลงว่า ไม่ใช่เป็นแต่เราคนเดียว คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน
       
       ยิ่งเราไปอยู่ตามโรงพยาบาล เรานอนอยู่บนเตียง ข้างๆเราก็นอนกันเป็นแถวเลยทีเดียว แล้วเราก็นึกว่าไม่ได้เป็นแต่เรา คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน เพราะมันเป็นระบบของธรรมชาติ ซึ่งเราหนีไม่ได้ เราจะต้องประสบพบเห็นกับสิ่งเหล่านั้น
       
       คิดอย่างนี้แล้วมันก็ช่วยให้ใจสบาย เพราะเราเรียนรู้ในเรื่องธรรมะที่เรียกว่า ธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
       
       (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม)
IP : บันทึกการเข้า
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 12 ตุลาคม 2014, 15:25:41 »

ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก
ธรรมะ คือ ความจริง คือหน้าที่ คือคุณากร
ชาติ  (ชาตะ) คือ  กำเนิด  เกิดขึ้น
ธรรมะ+ชาติ  คือ ความจริงที่เกิดขึ้น  

               ธรรมะที่มีอยู่ในธรรมชาติมีมากมายหลากหลายจากหลายแง่มุม แล้วแต่คนมอง ในที่นี้ขอพูดถึงต้นไม้ให้ธรรมะก็แล้วกัน

               ต้นไม้มีความอดทน ทนต่อแดดร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง ทนต่อความหนาวเย็น ทนต่อฝนตก  ต้นไม้มีความอ่อนน้อม โอนอ่อน แต่ไม่อ่อนแอ เช่นเวลามีลมพัด มีพายุ ต้นไม้ก็จะโอนเอน โอนอ่อนผ่อนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ต้นไม้มีความซื่อสัตย์ เช่น เราปลูกมะม่วงก็ย่อมได้ลูกมะม่วง ปลูกอะไรก็ได้สิ่งนั้น
                
                มีคำพังเพยที่เปรียบเทียบต้นไม้ กับพฤติกรรมของมนุษย์ไว้หลายเรื่องด้วยกันที่จะทำให้เรามองสะท้อนถึงสัจจธรรมที่เกิดขึ้น ดังเช่น ไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก หรือบอกว่ากล้วยเป็นไม้อกตัญญู เพราะกล้วยเวลามีลูกแก่แล้วจะถูกตัดเครือไป  ทำให้ต้นแม่ตาย แต่ก่อนตายกล้วยจะแตกหน่อเพื่อสืบทอดสายพันธุ์ไว้เช่นเดียวกันเพราะเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกชื่อว่าเป็นกล้วย (ลำต้น เรียกว่า กาบ  ใบกล้วย เรียกว่า ใบตอง  หรือแม้แต่ดอกกล้วย เรายังเรียกว่า หัวปลี ฯลฯ ) แต่ทางตรงกันข้ามประโยชน์จากกล้วยมีมากมายมหาศาล

               ต้นไม้เป็นที่พึ่งของสรรพสิ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ ต่างอาศัยร่มเงา และเป็นอาหาร ให้ความร่มเย็นและร่มรื่นรวมถึงอากาศในการหายใจ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ เฉกเช่น ธรรมะที่มีในตัวตนของมนุษย์ มองจากแก่นของธรรมะในพุทธศาสนาแล้วนำมาเปรียบกับต้นไม้ได้ดังนี้

          • ลาภสักการะชื่อเสียง        เปรียบเหมือน  กิ่งไม้ใบไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยศีล       เปรียบเหมือน  สะเก็ดไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ   เปรียบเหมือน  เปลือกไม้
          • ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา  เปรียบเหมือน กระพี้ไม้
          • ความหลุดพ้นแห่งจิต       เปรียบเหมือน  แก่นไม้หรือสาระ

                ดังนั้นไม่สามารถแยกธรรมะออกจากธรรมชาติได้ เพราะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป  ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจังดังหลักธรรมที่ว่า อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ...สาธุ
IP : บันทึกการเข้า
ร้อยป่า
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,864



« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 12 ตุลาคม 2014, 15:30:58 »

ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “คำว่า “ธรรมะ” ในภาษาบาลีก็ตาม ในภาษาสันสกฤตก็ตาม เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุดคือ หมายถึงสิ่งทุกสิ่งทั้งที่มนุษย์รู้จักและยังไม่รู้จัก คำ ๆ นี้เป็นคำพูดคำเดียวที่ประหลาดที่สุดในโลกจนไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได้นอกจากภาษาที่ทำให้กำเนิดแก่คำ ๆ นี้....โดยคำจำกัดความของ “ธรรมะ” นั้น จะครอบคลุมถึง 4 ประการ คือ
(1) ตัวธรรมชาติ
(2) ตัวกฎของธรรมชาติ
(3) ตัวหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ
(4) ตัวผลต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากการกระทำหน้าที่นั้น ๆ นั่นเอง
แต่เมื่อผู้เขียนค้นหากลับพบว่า “ธมฺม” (บาลี) และ “ธรฺม” (สันสกฤต) ที่แปลว่า “สิ่งซึ่งทรงตัวอยู่” หรือ “สิ่งซึ่งดำรงอยู่” จะไปคล้องจองกับคำว่า “Y-H-W-H” (ฮีบรู) ที่แปลว่า “ผู้ทรงดำรงอยู่” โดยคำจำกัดความ “ธรรมะ” จะครอบคลุมถึงสภาวธรรม 4 ประการ ได้แก่
(1) ตัวของธรรมะ คือ “ความเป็นหนึ่ง” ไม่มีด้านตรงข้าม แต่ตัวของธรรมชาติ คือ “สิ่งตรงข้ามซึ่งประกอบกันเป็นหนึ่ง”
(2) กฎของธรรมะ คือ “การดำรงอยู่ได้เอง” ตลอดกาล แต่กฎของธรรมชาติ คือ “การอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไป”
(3) หน้าที่ของธรรมะคือ “การปกครอง” เหนือกฎเกณฑ์ต่าง ๆแต่หน้าที่ของธรรมชาติ คือ “การปฏิบัติ” ภายใต้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ
(4) ผลของธรรมะ คือ “เหตุแห่งการให้” เพื่อสนองตอบการปกครอง แต่ผลของธรรมชาติ คือ “ผลแห่งการรับ” เมื่อปฏิบัติตามนั้น
เพราะฉะนั้น “ธรรมะ” กับ “ธรรมชาติ” จึงแตกต่างและสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถนำมาทดแทนกันได้เลย
IP : บันทึกการเข้า
Number9
แฟนพันธ์แท้
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,760



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 12 ตุลาคม 2014, 16:15:18 »


       
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!