เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 เมษายน 2024, 04:45:32
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  สิทธิของแม่ญิงล้านนา
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน สิทธิของแม่ญิงล้านนา  (อ่าน 2502 ครั้ง)
อะไร?ยังไง?
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 357


« เมื่อ: วันที่ 02 พฤศจิกายน 2010, 20:56:54 »

ขอโพสกระทู้ใหม่ แต่เกยตั้งถามไปแล้ว ใว้อู้จ๋ากระทู้ฮั้นดีกว่าส่วนอันนี้โพสบทความ แต่จะอู้ก่อใด้เน่อ

สิทธิสตรีล้านนาในอดีต

          ปัจจุบันนี้เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า ผู้หญิงได้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นจากเดิม หรือให้มีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย จนมีวันสตรีสากลขึ้น เพื่อต่อรองเรียกร้องสิทธิต่างๆ ต่อไป แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้หญิงไทยก็ยังไม่มีสิทธิเท่าเทียมผู้ชายอยู่ดี โดยเฉพาะสตรี ที่อยู่ตามชนบท

          แต่ถ้าเรามามองอีกมุมหนึ่ง การเรียกร้องสิทธิของสตรีย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการ ที่ผู้หญิงได้รับรู้ข่าวสารที่นำเข้ามา จากประเทศตะวันตกจากสื่อต่างๆ ก็ทำให้ประเพณีวัฒนธรรมของไทยเสียหายเป็นอย่างมาก เช่น การวางตัวไม่เหมาะสมของผู้หญิงในสังคม การปล่อยตัวให้ออกนอกกรอบของวัฒนธรรมประเพณี เช่น ผู้หญิงในปัจจุบันสามารถ มีสามีหลายคนได้ในเวลาเดียวกัน โดยการตกลงพร้อมใจกับสามีคนแรก ดูเป็นการมั่วเรื่องเพศไป

          ในที่นี้จะพูดถึงสตรีของล้านนาในอดีต ซึ่งยังอยู่ในกรอบของประเพณี ยังเชื่อใน การสั่งสอนอบรมจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะมองว่าผู้หญิงเมื่อ 30-40 ปี ที่ ผ่านมาถูกผู้ชายเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของ ผู้ชาย แต่สมัยก่อนผู้หญิงก็ยอมรับและมีความพอใจกับสิทธิที่มีอยู่นั้น เราจึงรู้ได้ว่าผู้หญิงสมัยนั้นเป็นผู้หญิงที่มีความอ่อนน้อม อ่อนโยน เป็นกุลสตรีที่น่าชื่นชม ปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ คือ ผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็ยอมรับอีกอย่างว่ากฎข้อบังคับ สังคมที่ใช้กับผู้หญิงในสมัยนั้น ดูเป็นการเอาเปรียบผู้หญิงมากไป เพราะผู้ชายถือว่าตนเป็นเพศสูง ส่วนผู้หญิงเป็นเพศต่ำ

สิทธิหน้าที่ของผู้หญิงภายในครอบครัว

          ผู้ชายจะถือตัวเองว่าเป็นช้างเท้าหน้า ให้ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง การเป็นผู้นำครอบครัวไม่ว่าจะไปในทางดี หรือทางเสื่อม ผู้หญิงได้ฝากความหวังไว้กับผู้ชายฝ่ายเดียว ไม่มีสิทธิที่จะเป็นผู้นำได้ ในครอบครัวแต่ละครอบครัวผู้ชายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด

          การแบ่งหน้าที่การงานในครอบครัว ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย งานในหน้าที่ของ ผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นงานนอกบ้านและ ถือว่าเป็นงานหนัก เช่น งานทำไร่ ทำนา ทำสวน หรืองานที่หาเงินมาจุนเจือครอบครัว งานในบ้านก็มี เช่น งานเลี้ยงวัวควาย งานดูแลซ่อมแซมบ้านเรือน งานล้อมรั้วบ้าน จัดหาฟืน

          งานของผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นงานในบ้าน แม้จะไม่ใช่งานหนักแต่ก็เป็นงาน ที่จุกจิกต้องรับผิดชอบงานในบ้านทุกอย่าง เป็นผู้เก็บทรัพย์สินที่ผู้ชายหามาได้ไว้ เป็นคนเลี้ยงดูบุตร จัดหาอาหารทุกมื้อ จัดหาและดูแลเครื่องนุ่งห่มเครื่องนอน จัดเรื่อง น้ำกินน้ำใช้ เตรียมอุปกรณ์สำหรับไว้ซ่อมแซมบ้านเรือน

วัตรปฏิบัติของผู้หญิงในครอบครัว

          วัตรปฏิบัติของผู้หญิงในครัวเรือน เริ่มตั้งแต่เช้ามืด คือการลุกจากที่นอน ผู้หญิงจะค่อยๆ ลุก ค่อยๆ เดิน ไม่ให้เกิดเสียงดัง ที่จะเป็นการรบกวนความสุขในการนอนของสามี ยิ่งถ้าพื้นปูด้วยฟากยิ่งต้องระวัง จุดเริ่มงานของภรรยาอยู่ในครัว คือ การจุดไฟ นึ่งข้าวต้มแกง เมื่อข้าวสุกแล้วก็จะจัดหาอาหารเช้า เมื่อสามีและลูกตื่นขึ้นมา ถึงเวลาอาหาร ผู้หญิงก็จะแต่งดาขันโตกข้าวยกมาให้สามี การเริ่มกินอาหารนั้นต้องให้ฝ่ายสามีเป็นผู้ลงมือกินก่อน ผู้หญิงถึงจะกินได้ ถ้าผู้หญิงลงมือกินก่อนถือว่าไม่เคารพผู้ชายที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินเสร็จผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ต้องยกไปล้างไปเก็บให้เรียบร้อย และสิ่งที่ห้ามผู้หญิงทำในครัวเรือนถือว่าตกต้องขึดเป็นอุบาทว์ไม่ดี เช่น การหวีผมในครัว การหอบฟืนขึ้นเรือนเมื่อถึงครัวห้ามโยน ตัดฟืนกับแม่ชีไฟ ตำครกแรงๆ หรือตำเสียงดังเกินไป ถ้าผู้หญิงใดทำครกแตกในระหว่างที่ตำน้ำพริก จะมีโทษหนัก ต้องไปบวชเป็นชีถึงจะพ้นโทษ แต่ไม่กล่าวถึงโทษของผู้ชาย ที่ทำครกแตก


          เมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน ภรรยาจะต้องเป็นผู้ซักเสื้อผ้า นำเครื่องนุ่งเครื่องนอนออกตากแดด เลี้ยงดูลูก ตักน้ำกิน น้ำบริโภค เมื่อใกล้เวลาอาหารกลางวัน ก็ต้องจัดหาอาหารกลางวันนำไปส่งให้แก่สามีที่อยู่ในไร่ในนาซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน ในช่วงบ่าย ภรรยาก็มีงานอื่น เช่น การไพคา คือ การนำใบคามาทำให้เป็นตับเพื่อเตรียมไว้ซ่อมหลังคาเรือน เก็บผ้าที่ตากไว้ ปะชุนผ้าและ เครื่องนอนที่ขาดชำรุด ถึงแม้ว่าอยากจะนอนพักผ่อนตอนกลางวันก็ไม่กล้านอน เพราะชาวบ้านจะพากันนินทาว่าเป็นผู้หญิง ขี้เกียจ เรียกกันว่า "แม่หัวก่ายข่ม" เพราะคนล้านนาไม่นิยมนอนหลับในเวลากลางวัน และจัดเตรียมอาหารเย็น ในเวลาเย็นก็อาบน้ำให้ลูก จัดการเรื่องแสงสว่าง เมื่อสามีมาถึงอาบน้ำอาบท่าแล้ว ภรรยาจะยกกับข้าวมากินร่วมกัน

          การใช้จ่ายภายในบ้านเป็นหน้าที่ของภรรยา สามีจะเป็นฝ่ายหา ภรรยาเป็นฝ่ายเก็บ เรียกกันว่า "ผัวริเมียรอม" ถ้าการจัดหา อาหารไม่ถูกปากสามีก็จะบ่น ถ้าจัดอาหารดีเกินไปเงินทองก็จะหมดเร็ว ก็จะถูกสามีด่าว่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

          ในตอนกลางคืน ภรรยาจะกินข้าวแล้วเข้านอนเลยไม่ได้ อาจจะทำงานจักสานเพื่อ เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว ส่วนสามี นั้นแม้จะนอนแต่หัวค่ำก็ไม่มีใครว่าได้ ตามธรรมเนียมแล้วภรรยาจะนอนก่อนผัวก็ไม่สมควร เมื่อเข้านอนต้องกราบเท้าสามี เพื่อ เป็นการขอขมา หรือบางท้องถิ่นที่เคร่งครัดต้องใช้มวยผมเช็ดเท้าสามีด้วย การนอนจะนอนให้หัวสูงกว่า หรืออยู่ในระดับเดียวกับ ผู้ชายก็ไม่ได้ ต้องนอนให้ต่ำลง วัตรปฏิบัติเหล่านี้ผู้หญิงผู้เป็นแม่ก็จะอมรมสั่งสอนลูกที่เป็นผู้หญิงให้ปฏิบัติสืบต่อกันไป


สิทธิสตรีในสังคมนอกบ้าน

          ในวัดมีสถานที่ที่ห้ามสตรีเข้าไป คือ ในเขตสีมาของอุโบสถ เว้นไว้แต่ว่าผู้หญิงคนนั้นเคยมีลูกผู้ชายที่ได้บวช เป็นพระภิกษุ มาแล้ว 7 คน จึงจะได้สิทธิพิเศษเข้าไปในโบสถ์ได้

          ในรั้ว หรือบริเวณองค์เจดีย์ เมื่อมีเงาของเจดีย์ทอดผ่านทางที่จะเดิน ก็ห้ามผู้หญิงเดินเหยียบเงาของเจดีย์ จะต้องเดินไป ทางอื่น สถานที่ดังกล่าวนี้ ทางวัดจะมีป้ายห้ามผู้หญิงเข้าติดไว้ที่ทางเข้าอุโบสถ และบริเวณเจดีย์ ปัจจุบันก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่

          นอกจากนั้นยังห้ามผู้หญิงล่วงล้ำ เข้าไปในเขตที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น บ่อน้ำยา บ่อน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ ในเขตที่ตั้งของรอยพระพุทธบาท และยังห้ามจับพระพุทธรูป จับบาตรพระ จับคัมภีร์ใบลาน พับสา จับเครื่องรางของขลังทุกชนิด เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของสูง ไม่สมควรที่ผู้หญิงจะจับต้อง

          งานทำบุญในวัดเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ที่ต้องเอาใจใส่ในการส่งข้าวปลาอาหารให้พระ วันพระก็ต้องไปทำบุญตักบาตร แต่ก็มี หลายอย่างที่ผู้หญิงทำก่อนหรือทำเองไม่ได้ ตามปกติของคนในล้านนาเมื่อมีงานเทศกาล และไปรวมกันทำบุญที่วัด เมื่อเข้าไป ในวิหารสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปใส่ขันแก้วทั้ง 3 แม้ผู้หญิงจะไปถึงก่อน จะกี่คนก็ตามก็ยังใส่ขันดอกไม่ได้ ถ้าใส่ก่อนถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณี ต้องรอให้ผู้ชายคนใด คนหนึ่งไปถึงและใส่ขันดอกเสียก่อน ผู้หญิงจึงจะใส่ตามได้

          การนั่งในวิหาร ข้างหน้าจะเป็นที่นั่งผู้ชาย ผู้หญิงจะนั่งไม่ได้ คือ จะขึ้นไปนั่งสูงกว่า ผู้ชายไม่ได้ เข้าไปใกล้พระพุทธรูปก็ไม่ได้ ประเคนของแก่พระก็ไม่ได้ เพราะถือว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ต่ำ ยิ่งถ้าในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือนจะห้ามเข้าไปในวัดเด็ดขาด เพราะถ้า ไปแปดเปื้อนในวัด ถือเป็นบาปหนัก

          ไม่ว่าผู้หญิงจะออกงานสังคมใดๆ ก็ตาม ผู้หญิงจะต้องนั่งข้างหลังและนั่งในที่ต่ำกว่า ผู้ชายเสมอ จะนั่งข้างหน้าหรือนั่งเสมอกับ ผู้ชายไม่ได้ ถ้ามีผู้หญิงที่ฝืนกฎของสังคมนั่งข้างหน้าหรือนั่งสูงกว่าผู้ชาย ชาวบ้านทั้งหลายจะพากันจ้องมองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม และซุบซิบนินทากันว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้ประเพณี หรือข้ามล่วงประเพณี เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ และจะถามถึง พ่อแม่ของนางว่าเป็นใคร ในที่สุดจะมีคนที่คุ้นเคยเข้าไปสะกิดให้นางออกมานั่งในที่สมควร

          การทำบุญแต่ละอย่างแต่ละครั้ง ผู้หญิงไม่มีโอกาสทำได้อย่างสมบูรณ์เหมือนกับผู้ชาย ยกตัวอย่างการสร้างคัมภีร์ หรือสร้าง พระพุทธรูป ถวายวัด หญิงใดประสงค์จะสร้างก็ไปจ้างผู้เขียนผู้จารคัมภีร์เขียนให้ หรือจ้างช่างแกะสลักองค์พระพุทธรูป ในตอนท้าย ของคัมภีร์ หรือที่ฐานพระพุทธรูป จะใส่ชื่อผู้สร้างไว้ หญิงผู้เป็นเจ้าของจะไม่สามารถจับต้องคัมภีร์ หรือองค์พระพุทธรูปนั้นได้ เพราะถือ ว่าคัมภีร์ หรือพระพุทธรูปเป็นของสูง ผู้หญิงเป็นเพศต่ำไม่สมควรไปจับต้อง เมื่อถึงวันถวายคัมภีร์ ผู้หญิงจะแต่งดาเครื่องไทยทาน 1 ชุด ไปที่วัด ผู้ชายจะนำคัมภีร์วางไว้ที่ชุดไทยทาน เมื่อจะยกประเคนพระสงฆ์เพื่อรับพร หญิงผู้เป็นเจ้าของก็ไม่มีโอกาส ได้ประเคน ของ ต้องให้ผู้ชายประเคนแทน จึงเป็นที่น่าเห็นใจผู้หญิงไม่น้อย

การสำรวมของผู้หญิง

          เกิดเป็นหญิงนั้นถือว่าการสำรวมกายเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จะนั่งนอนยืนเดิน ต้องสำรวมตลอดเวลา การเดินก็ต้องเดินช้าๆ เดินเร็วเรียกว่าเดินแบบม้าย่ำไฟ อยู่ในที่ ชุมชนจะวิ่งก็ไม่ได้ คนก็จะมองกันว่าผิดลักษณะผู้หญิง และมองว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี เวลาเดินผ่านผู้ชายที่นั่งอยู่ ก็ต้องน้อมตัวลง กระเหมียดผ้าถุงให้ชิดกับตัวไม่ให้ชายผ้าถุง ปลิวไปใกล้ผู้ชาย ถือว่าบาป การนั่งก็ต้องนั่ง พับเพียบ แม้แต่เวลาที่นั่งกินข้าว คือ เวลานั่งเดินยืน จะต้องให้ขาทั้ง 2 ชิดกันไว้เสมอ จะนั่งถ่างขาไม่ได้จะถูกตำหนิ ถ้าจำเป็นต้อง นอนในเวลากลางวันในบ้านของผู้อื่น ก็ต้องนอนคว่ำไม่นอนหงาย สรุปว่าเป็นผู้หญิงถ้าหนีบขาทั้ง 2 ไว้เสมอเป็นการดีที่สุด

          ถ้าผู้หญิงใดนั่งคาบันไดก็ดี ยืนคาประตูเรือนก็ดี ชาวบ้านจะมองว่า เป็นลักษณะ ผู้หญิงที่ใจไม่ซื่อตรง มักนอกใจสามีไปมีชู้กับ ชายอื่น ผู้หญิงใดที่ถ่มน้ำลายให้เกิดเสียงก็ดี ขากเสลดเสียงดังก็ดี ชาวบ้านจะถือว่าผู้หญิงนั้นเป็นคนแข็งกระด้าง มีใจเป็นนักเลง มีใจมักง่าย มีหลายอย่างที่ผู้หญิงทำอย่างผู้ชายไม่ได้ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ในผู้หญิงชนบท ที่อยู่ห่างออกไป หรือผู้หญิงที่เคารพ เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือผู้หญิงที่มีอายุมากแล้ว

การเคารพเพศ

          เพศชายหรือเพศผู้ ถือว่าเป็นเพศที่สูงที่ประเสริฐ แม้แต่สัตว์ เช่น วัว ควาย สุนัข แมว ผู้เป็นผู้หญิงก็ต้องให้ความนับถือใน เพศ จะไม่ใช้เท้าถีบ เตะ เขี่ย หรือเหยียบ สัตว์เพศผู้เหล่านั้น ผู้หญิงใดทำถือว่าเป็นบาปเป็นกรรมติดตัวไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า

          การเลือกสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยง ส่วนมากคนสมัยก่อน จะเลือกเอาเฉพาะสัตว์ตัวผู้ อย่างลูกสุนัข คนที่ขอไปเลี้ยงจะเลือกเอาแต่ตัวผู้ ตัวเมียไม่มีใครต้องการ จนเจ้าของต้องนำตัวเมียไปปล่อยในวัดให้พระเลี้ยง

ความปรารถนา

          เมื่อผู้หญิงรู้ว่าสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงถูกเบียดเบียน ผู้ชายได้สิทธิทุกอย่าง บวชเป็นพระภิกษุ สามเณรก็ได้ ดื่มสุราฮาเฮ ก็ไม่มีใครว่า มีภรรยากี่คนก็ได้ ก็เกิดความน้อยใจ ดังนั้นเมื่อไปทำบุญผู้หญิงจึงมักตั้งคำปรารถนาไว้ว่า ด้วยอานิสงส์การทาน ในครั้งนี้ ในชาติต่อไปขอได้เกิดเป็นผู้ชาย เชื่อกันว่าผู้หญิงที่อธิษฐานเกิดเป็นผู้ชาย ถึง 7 ชาติ จึงจะได้สมหวัง ตรงข้ามกับผู้ชาย ที่อธิษฐานเกิดเป็นผู้หญิง เพียง 1 ชาติ ก็ได้สมความปรารถนา

การยอมรับ

          ผู้หญิงทั่วไปรู้เหมือนกันว่าสิทธิต่างๆ ถูกลิดรอน ต้องอยู่ใต้หรืออยู่ต่ำกว่าผู้ชายเสมอ แต่ก็ไม่รู้จะไปร้องเรียกเอาความเป็น ธรรมจากไหน จึงต้องยอมรับความจริงทั้งกายและใจ จะฝ่าฝืนไม่ได้เพราะเป็นกฎของสังคม การยอมรับด้านจิตใจ ก็อาศัยคำสอน คำเทศน์จากพระภิกษุ และผู้เฒ่าผู้แก่คอยอบรมสั่งสอนอยู่เสมอว่า เป็นเพราะว่ามีบุญน้อยจึงได้เกิดมาเป็นเพศหญิง ให้สร้างกุศล ให้มากๆ และตั้งความปรารถนาขอเกิดเป็นผู้ชาย ในชาติต่อไป ก็คงจะสมหวังในชาติใดชาติหนึ่ง
IP : บันทึกการเข้า
อะไร?ยังไง?
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 357


« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 02 พฤศจิกายน 2010, 20:58:40 »

การบัญญัติกฎหมายโบราณของล้านนาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1898-1928) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่เข้า มาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมล้านนา การชำระคดีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ประกอบด้วยหิริโอตัปปะ เรียกว่า “สุคติสภาวธรรม” หลักการดังกล่าวนี้นำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการตรากฎหมายประเภทต่างๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยการทะเลาะวิวาท การลักทรัพย์ การได้มาซึ่งทรัพย์หรือลาภอันมิควรได้ มรดก การหย่าร้าง และการล่วงเกิน หรือล่วงประเวณีกับสตรีที่มิใช่ภริยาตน เป็นต้น

          สิทธิสตรีในล้านนาได้รับการรองรับในด้านกฎหมาย กล่าวคือ มีการใช้บทบัญญัติบังคับเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ หรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ข้อบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสตรี ในกฎหมายโบราณของล้านนา มักมีบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อนกัน จะแตกต่างกันออกไปบ้างก็เฉพาะข้อปลีกย่อยบางส่วนเท่านั้น ยกเว้นคลองเจือพระเจ้ากือนาที่มีลักษณะ พิเศษ แตกต่างไปจากกฎหมายโบราณของล้านนาฉบับอื่นๆ กล่าวคือ คลองเจือพระเจ้า กือนาเป็นเอกสารที่มีการบันทึกการพิจารณา และตัดสินคดีความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

          จารีตประเพณีของล้านนามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทางด้านกฎหมาย ก็เช่นกัน สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ ได้แบ่งวิวัฒนาการกฎหมายโบราณของล้านนา ออกไว้เป็น 3 สมัย ดังนี้ คือ

          1.สมัยพระเจ้ากือนา เป็นสมัยที่มีแบบอย่างชัดเจนในการใช้ข้อบังคับทางกฎหมาย ตัดสินคดีความแบบล้านนาไทย

          2.สมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นสมัยที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่ในการพิจารณาคดี

          3.สมัยพม่าปกครอง เป็นสมัยที่มีการนำเอากฎหมายวิธีการตัดสินคดีความของพม่า เข้ามาใช้บังคับในล้านนาไทย

          กฎหมายโบราณของล้านนาช่วยทำให้มองเห็นถึงสภาพทางสังคม คติความเชื่อ และสถานภาพของสตรีที่กฎหมายรับรอง ในมุมมองของนักกฎหมายหรือนักสิทธิสตรีในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า สิทธิตามกฎหมายของสตรีล้านนาในอดีตนั้น สตรีได้รับการ รับรองทางกฎหมาย อาจจะไม่เท่าเทียมกันกับบุรุษ แต่สิ่งสำคัญที่ควรระลึกอยู่เสมอใน การเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายโบราณ ของล้านนากับกฎหมายปัจจุบันก็คือ บทบาทหน้าที่ทางสังคม จารีตประเพณี และค่านิยมของสตรีในล้านนาสมัยก่อนนั้น มีความ แตกต่างไปจากปัจจุบันเป็นอันมาก

          แง่มุมที่นำเสนอดังต่อไปนี้ แบ่งออกเป็นประเด็นต่างๆ ตามข้อบังคับที่มีใช้ในกฎหมายโบราณของล้านนา โดยจะหยิบยกเอา ข้อกฎหมายเฉพาะที่มีผลบังคับใช้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีในกฎหมายฉบับต่างๆ เช่น มังรายศาสตร์ โคสาราษฎร์ หัตถกัมวินิจฉัย บาลีฎีการอมสมมติราช คลองเจือราชกือนา ธรรมศาสตร์สรรพสอน และกฎหมายวัดกาสา เป็นต้น


กฏหมายมรดก

          กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ว่า เมื่อบุคคลใดตาย ในชั้นต้นทรัพย์สมบัติของผู้ตายอันได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิด สิทธิ หน้าที่ และ ความรับผิดชอบของผู้ตาย ย่อมตกแก่ทายาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม สำหรับคู่สมรสได้ ในฐานะเป็นสินสมรสก่อนครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจึงจะได้แก่ทายาท ในกรณีที่ผู้ตายมีหนี้สิน ผู้รับมรดกไม่ต้องรับผิดเกินกว่าที่มรดก ตกทอดแก่ตน กฎหมายโบราณของล้านนามีข้อบังคับใช้เกี่ยวกับมรดกไว้ต่างๆ กัน ดังนี้

          1. ในกรณีที่ผู้ตายเป็นสามีแล้วเป็นหนี้ผู้อื่นยังไม่ได้ชดใช้ กฎหมายวัดกาสา กล่าวว่า ผู้ตายที่กู้หนี้ยืมสินท่านมา ยังไม่ได้ ใช้คืนว่า ให้เอาของมัน (ผู้ตาย) ใช้ ถ้าไม่มีให้เอาของจากตระกูลใช้ ถ้าไม่มีให้เอาลูกชายลูกหญิงให้ (ขายใช้หนี้) ญาติอื่นไม่ควร ต้องมาใช้หนี้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายภริยาเป็นผู้ไปกู้เงิน เป็นหนี้สินผู้อื่นนั้น กฎหมายโคสาราษฎร์กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ถ้าภริยา ท่านไปกู้เงินผู้อื่น เมื่อภริยาตาย ไม่ให้เจ้าหนี้ทวงถามเอากับสามี เพราะถือว่าภริยาไม่เอาเงินจากสามีของตน และถ้าหากภริยายัง มีชีวิตอยู่ ก็ห้ามมิให้เจ้าหนี้บังคับเอากับสามี ให้ทวงถามเอาแต่โดยดี เพราะสามีอาจจะไม่รู้เรื่องที่ภริยาของตนไปยืมเงินผู้อื่น

          2. ในกรณีที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับมรดก ดังเนื้อความในกฎหมายธัมสาตรหลวง วัดปากกอง กล่าวว่า ผัวเมียได้ของมาใช้ปนกัน (ทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากินร่วมกัน) คนหนึ่งตาย คนที่เหลือได้มรดก

          ถ้าผู้ตายมีบุตรหลายคน กฎหมายโคสาราษฎร์ว่า ผู้ตายมีลูกชาย 3 คน รับราชการหนึ่ง เป็นนักบวชหนึ่ง ค้าขายหนึ่ง และลูกสาว อยู่เรือนดูแลพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ตาย ให้แบ่งมรดกออกเป็น 10 ส่วน ให้คนรับราชการ 2 ส่วน เป็นนักบวช 3 ส่วน ค้าขาย 2 ส่วน ลูกสาว 2 ส่วน ที่เหลือ 2 ส่วนไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทำบุญให้แก่ผู้ตาย


          3. ในกรณีที่ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ในส่วนของคู่สมรส ให้ทำตามพินัยกรรมที่ผู้ตายได้กระทำไว้ เช่นคำตัดสินในคลองเจือ พระเจ้ากือนาว่า

          “ขาเจ้าผัวเมีย เยียะเรือนด้วยกันเท่าใดก็ดี ขาจักหย่ากันก็หล้างปันกันคนเกิ่ง แม้นยังอยู่ด้วยกัน ก็หากเป็นของแลคนเกิ่งดาย อันนี้ นางยอดจักตาย มันหากสั่งสัมปัตติ (สมบัติ) อันหล้างเป็นของภายมันไว้แก่ลูกมัน น้องมัน บ่ควรม้าง (มล้าง) คำผีตายสั่งแล”

          นอกจากจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งเสียของผู้ตายแล้ว กฎหมายยังคุ้มครองบุตร ญาติพี่น้องของผู้ตายด้วย คือ ผู้ตายยกมรดก ให้แก่บุคคลอื่น พี่น้อง ลูกหลานของผู้ตายสามารถร้องขอแบ่งมรดกเอาจากผู้รับมรดก ซึ่งขึ้นอยู่การตัดสินใจของผู้รับมรดกว่า จะแบ่งให้หรือไม่ให้ และในกรณีที่ ผู้ตายกำลังสั่งเสียนั้น มีกริยาหลงลืมขาดสติสัมปชัญญะ ก็ให้พิจารณาว่าคำสั่งเสียของผู้ตายนั้น เป็นคุณแก่ผู้ตายหรือไม่ ถ้าเป็นคุณก็ให้ปฏิบัติไปตามนั้น ดังคำวินิจฉัยว่า

          “…ประการหนึ่ง ผีตายหากรักลูกท่านกว่าลูกตน พี่น้องตน เมื่อจักตายสั่งครัวไว้แก่ผู้อื่น ของอันนั้นก็เป็นของผู้นั้นแล แต่พี่น้องก็ดี ลูกหลานก็ดี ใครได้ข้าวของแม่แลพ่อดั่งอั้น จุ่งหื้อขอเอาแห่งผู้รับเอาต่อปากแห่งผีตายนั้นก่อน จึงควรแล ผีจักตาย บ่รู้คิงหลงหล้งตาย หื้อเสนาอำมาตย์พิจารณาแห่งอันสั่งไว้นั้น ยังมีคุณแลบ่มีคุณแล…”

กฏหมายลักษณะผัวเมีย


          การอยู่กินของคู่สมรสในล้านนา ตามประเพณีเดิม ฝ่ายชายเป็นฝ่ายที่ต้องมาอยู่กินเรือนภริยา เมื่อเกิดคดีหย่าร้างกันขึ้น การตัดสินความแบ่งสินสมรสของกฎหมายโบราณล้านนา กฎหมายโคสาราษฎร์ กล่าวถึงกรณีหย่าร้าง ไว้ดังนี้ คือ

          1. คู่สมรสไม่สมัครรักใคร่ยินดีเป็นผัวเมียกัน ให้หย่ากันแล้วแบ่งสินสมรสออกเป็น 2 ส่วน ส่วนของภริยาให้ตกเป็นของภริยา ส่วนของสามี ให้ตกเป็นของสามี ทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำมาหากินร่วมกัน ให้แบ่งฝ่ายละครึ่ง และถ้ามีบุตร 1 คน ให้บุตรเลือกที่จะ อยู่กับบิดาหรือมารดา

          กฎหมายคลองเจือพระเจ้ากือนา มีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่า ถ้าเป็นการสู่ขอ คือฝ่ายชายมาสู่ขอฝ่ายหญิง หลังอยู่กินกัน ฝ่ายชายมา อยู่เรือนภริยาตามประเพณีล้านนาในสมัยนั้น เมื่อหย่าขาดจากกัน ให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ให้แก่เจ้าเรือน 2 ส่วน และผู้มาสู่ คือสามี 1 ส่วน ดังคำวินิจฉัย ความว่า

          “…เราควรแต่งเป็นดังรัดประยาจักหย่าเมียมันนั้น ควรแลว่าอั้น จึงว่าครัวทั้งมวล อันขา เยียะเรือนได้ด้วยกัน มีเท่าใดผ่าเป็น 3 ส่วน หื้อแก่เจ้าเรือน 2 ส่วน หื้อแก่ผู้มาสู่ 1 ส่วน…”

          การที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนี้ เพราะเหตุผลที่ว่า หลังจากหย่าขาดแล้ว ฝ่ายหญิงย่อมมีความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพ อีกประการ 1 ฝ่ายชายเป็นผู้มาสู่ หมายถึงมาอยู่ทำมาหากิน ใช้สินสอดเดิมในเรือนฝ่ายหญิง ดังนั้น เมื่อหย่ากัน กฎหมายจึงให้สิทธิใน ทรัพย์สินแก่ฝ่ายหญิง มากกว่าฝ่ายชาย

          2. ฝ่ายภริยาเป็นฝ่ายหนีไป คือไม่ยินดีอยู่กินแต่เพียงฝ่ายเดียว สินสมรสให้แบ่งกัน โดยที่ภริยาได้เพียงครึ่งหนึ่งของ สินสมรสของตน ส่วนทรัพย์ที่หามาได้เมื่ออยู่กินกันนั้น ให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ให้สามี 2 ส่วน ภริยา 1 ส่วน

          3. ภริยามีชู้ ตามจารีตประเพณีเดิมนั้น การคบชู้สู่ชายของสตรี เป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย ผิดศีลธรรม มีบทลงโทษสถานหนัก ทั้งภริยาและชายชู้ จึงตัดสินให้ยกทรัพย์สินทั้ง สินสมรส และทรัพย์ที่หามาได้ ให้ตกเป็นของสามี ดังความในกฎหมาย คลองเจือพระเจ้ากือนาว่า ขุนหรือไพร่ก็ดีเป็นชู้ภริยาผู้อื่น ถูกสามีฆ่าตาย ไม่ให้เอาผิดคนฆ่า และก็ไม่ให้เอาผิดกับลูกเมียชายชู้ เพราะไม่ได้เป็นผู้บังคับให้สามีตนเป็นชู้ภริยาผู้อื่น ดังคำวินิจฉัย ความว่า

          “ขุนก็ดี ไพร่ก็ดี ได้อยู่ได้นอนด้วยเมียท่าน ท่านฆ่าตายอย่าว่าฤๅแก่ผู้ฆ่า ก็อย่าว่าฤๅแก่ลูกเมียผู้ตาย ไผบ่ห่อนว่าจำผัวไปเล่นชู้สักเทื่อนา”

          ในสมัยโบราณ มีการตรากฎหมายในธรรมศาสตร์สรรพสอนเรื่อง ฆ่าคนตายไม่มีโทษ 6 ประการ มีข้อกำหนดหนึ่งว่า การที่สามีพบเห็นภริยาตนอยู่กับชายชู้แล้วฆ่าชายชู้ ไม่ถือว่ามี ความผิด ความว่า

          “…ฆ่าตายบ่มีโทษ สู่เมียท่าน ฆ่ากับที่ 1 ได้ของลักกับมือ ฆ่าบัดเดียวนั้น 2 ทือดาบไปชูท่าน ท่านฆ่าเสีย 3 เข้าบ้านชวดยาม ท่านฆ่ากับที่นั้น 4 ชักเรือนท่านเมื่อคืน ท่านฆ่าบัดเดียวนั้น 5 ครันคนมีโทษขุนหื้อไป ทือดาบต่อ ทือดาบแล่นหนีก็ดี ผู้ไปเอานั้นฆ่าตายอย่าว่าฤๅ 6…”


          และยังมีคำวินิจฉัยตัดสินคดีความที่ 52 ในกรณีที่คู่สมรสมีค่าสินสอด ต่อมาภายหลังภริยา มีชู้ ความมีว่า สีพวกขัน สู่ขอนาง มงคล ให้สินสอด 300 ก่อนอยู่กินกันตกลงกันไว้ว่า ถ้าอยู่กินกันไม่ได้ ให้คืนเงินสีพวกขัน 100 ต่อมาภายหลัง นางมงคลคบชู้สู่ชาย ตัดสินคดีว่าดังนี้ คือ

          ให้ขายนางมงคลเสีย ได้เงินมาเท่าใด ให้แบ่งออกเป็นสองส่วน ไว้ให้พ่อแม่นางมงคลส่วนหนึ่ง ให้สามี คือ สีพวกขันส่วนหนึ่ง และเงินที่เป็นค่าสินสอดเดิมนั้น ให้คืนให้แก่สีพวกขัน 100 ตามที่ได้ตกลงกันไว้เดิม


          ตามธรรมเนียมเดิมในล้านนา เมื่อมีการสู่ขอหญิงไปเป็นภริยา ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมัก ทำข้อตกลงเรื่องการคืนค่าสินสอด การแบ่ง ทรัพย์สินกันไว้ล่วงหน้าเผื่อมีการหย่าร้างกัน ในสมัยนั้น คงมีคดีหย่าร้างกันมากพอสมควร จนถือเป็นเรื่องปกติที่มีการตกลงกัน ในเรื่องค่าสินสอดไว้ก่อน จะอยู่กินเป็นสามีภริยากัน

          4. สามีมีหญิงอื่น

          นอกจากกฎหมายโบราณของล้านนาจะลงโทษฝ่ายหญิงในกรณีที่คบชู้สู่ชายแล้ว ในกฎหมายธรรมศาสตร์สรรพสอน ยังมีข้อบัญญัติที่แตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ คือ ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปมีหญิงอื่น กฎหมายให้หย่าขาดจากกันเสีย ทรัพย์สินของฝ่ายชายให้คืนเสีย ถ้าใช้จ่ายไปแล้ว ก็ให้เลิกเสีย ถือว่าได้ใช้จ่ายร่วมกัน ดังคำวินิจฉัย ความว่า

          “…ผัวเมียร้างกัน ปันของแก่กัน ผิผู้ชายไปชูผู้หญิง เอาเงินไปซื้อกัน หื้อปุดขาดไปเสีย มาอยู่ด้วยกันบ่ได้ ร้างกันเสีย ครอบครัวเงินคำของผัวได้แต่เรือนมา ขืนหื้อแก่ผัวดังเก่า ได้จ่ายกินแล้ว อย่าว่าแก่กันเทอะ…”


          จากข้อความในกฎหมายโบราณของล้านนานั้น การคบชู้สู่ชายของภริยา ถือได้ว่ามีโทษหนัก ทั้งภริยาและชายชู้ ในส่วนของ ชายชู้ ถ้าไม่ถูกฆ่า ก็จะต้องเสียค่าปรับสินไหม และในส่วนของภริยานั้น ให้สามีขายเสียให้พ้นจากเมือง แล้วนำเงินค่าตัวที่ขายได้นั้น มาแบ่งกันระหว่างสามี และพ่อแม่ของภริยา ถ้าสามีเป็นฝ่ายนอกใจ มีภริยาอื่น กฎหมายเพียงแต่ให้หย่าขาดจากกันเสีย และยังให้คืนทรัพย์สินเดิมของสามีอีกด้วย

          5. กระทำคุณ

          ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ อาถรรพณ์ของชาวล้านนามีอยู่ควบคู่กันมากับศาสนาพุทธ ไม่ได้แยกออกจากกัน การกระทำคุณ ให้สามีรัก หลง เป็นเรื่องที่พบเห็นได้โดยทั่วไป มีการฝังรูปรอย เสกอาคมด้วยวิธีการต่าง ๆ ในทางกฎหมายถือเป็นโทษหนัก ถึงประหารชีวิต ในคลองเจือพระเจ้า กือนา มีการตัดสินคดีความที่ภริยาหลวงกระทำคุณสามีโดยคำแนะนำของภริยาน้อย สามีจับได้ ถูกตัดสินลงโทษให้เอาไปขายต่างเมืองทั้งภริยาหลวง และภริยาน้อย ดังความว่า

          “…ชาวตูบเจียนว่า เมียมันแปลงหุ่นคนเอาหนามปักปากรูป ไว้ใต้ที่นอนมัน ผู้เมียก็ว่ามี เยียะหื้อผัวรัก ว่าเมียน้อยมันสอน ถามเมียน้อยมันก็ว่ามี ได้สอนเยียะหื้อผัวรักแท้ ผู้ผัวก็ว่า หากเมียเยียะหื้อมันรักแท้ ผู้หล้าทุกข์ไร้เข็ญใจ มันขอข้า ก็อย่าหื้อฆ่า เทอะว่าอั้น เจ้าไทยตัดว่า เมียมัน เมียน้อย เยียะร้ายฉันนี้ โทษหากควรฆ่าเสียแท้แล เท่าว่าเราขอมัน มันยังกรุณาแก่เมียมัน หื้อพันตูบเจียน เอาขา 2 คน ไปขายเสียไกล อย่าหื้อมาเชียงใหม่…”

          6. สามีทอดทิ้งภริยา

          ในสมัยโบราณ สามีที่เป็นพ่อค้า หรือรับราชการต้องเดินทางไปต่างเมืองนานๆ กฎหมาย คลองเจือพระเจ้ากือนากำหนดไว้ว่า ถ้าอยู่ภายในกำหนด 3 ปี ถือว่ายังเป็นสามีภริยากันอยู่ เกินกว่านั้นจึงให้หย่ากันได้ เช่น ช่างตัดผมอยู่กินกับภริยา มีลูกด้วยกัน 2 คน ต่อมาช่างตัดผมละทิ้งภริยาและลูกไปได้ 5 ปี คำตัดสินว่าให้ภริยาหย่าขาดจากสามีได้ ดังความว่า

          “…ช่างตัดผมไปสู่คนตัดหญ้าพระยาต้องแต้ม มีลูก 2 คน หญิง 1 ชาย 1 ช่างตัดผมหนีละเมียไว้ได้ 5 ปี เจ้าไทยว่าหื้อช่างตัดผม หย่าเมียมัน ลูก 2 คนไว้แก่เมีย ผู้เมียเป็นไพร่ อย่าหื้อขาดการว่าอั้น ตัดคำ (คำตัดสิน) ต่อนี้ตามบุราณว่า ละเมียไว้พอ 3 ปี อย่าว่าฤๅ…”

          ถ้าหากอายุความยังไม่ถึง 3 ปี นับแต่วันที่สามีละทิ้งไป ฝ่ายหญิงจะไปมีสามีใหม่ สามีเก่าไม่ยินยอม ต้องยกภริยาคืน ให้แก่สามีเดิม และให้ปรับสินไหมสามีใหม่ ดังคำวินิจฉัยตัดสินคดีความว่า อ้ายตั่งน้อย ไปสู่ขอนางแก้วลูกนายใส (ผัวมาสู่) ต่อมาสองผัวเมียทะเลาะกัน อ้ายตั่งน้อยหนีกลับไปอยู่เรือนของตน ได้ 2 ปี และไม่ยินยอมหย่าขาดจากนางแก้ว (ในล้านนา ตามประเพณีแต่งงาน สิ่งที่แสดงถึงสินเดิมของคู่สมรสแบ่งออกได้ 2 ประการ ประการแรกฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปอยู่กินบ้านฝ่ายหญิง อาศัยสินเดิมของฝ่ายหญิง เรียกว่า ผัวมาสู่ ประการที่ 2 ฝ่ายชายนำหญิงไปอยู่เรือนฝ่ายชาย เรียกว่า สู่พาเมือ หรือ การไถ่) ต่อมานางแก้วได้ท่าบ้านเป็นสามีใหม่ อ้ายตั่งน้อยไม่ยินยอม ไปถามท่าบ้าน ท่าบ้านบอกว่า นายใสพ่อของนางแก้วให้ตนไปสู่ขอ นายใสพ่อนางแก้วปฏิเสธว่าไม่ได้ยกลูกสาวตนให้ท่าบ้าน ตัดสินว่า ท่าบ้านเอาเมียผู้อื่นเป็นเมียตน ปรับสินไหม 30,020 ให้นางแก้วกลับไปเป็นเมียอ้ายตั่งน้อยเช่นเดิม ดังคำตัดสิน ความว่า

          “…นายอ้ายตั่งน้อยไปสู่ลูกนายใสลูกจ่าบ้าน ขาผัวเมียผิดกัน นายอ้ายตั่งน้อยหนีมาอยู่เรือนหลังได้ 2 ปี ว่าเมียกูบ่หย่า ว่าอั้น ผู้นางแก้วอยู่เรือนพ้อยมีชู้ มักท่าบ้านแล้วลวดเอาเป็นเมีย อ้ายตั่งน้อยบ่ยอม ท่าบ้านว่าพ่อนางแก้วน้อยใสหากหื้อกูมาสู่ดาย นายใสผู้พ่อเถียงว่าบ่มี กูจักหื้อท่าบ้านมาสู่ลูกกูอั้นบ่มี เจ้าไทยตัดว่า ท่าบ้านเอาเมียผู้อื่นเป็นเมียตน ควรหื้อไหม 30,020 นางแก้วไว้หื้อเป็นเมียอ้ายตั่งน้อยดั่งเก่าเทอะ”



          และในกฎหมายธรรมศาสตร์สรรพสอน ได้ตราไว้ว่า ชายที่ไปสู่เมีย (อยู่กินบ้านฝ่ายหญิง) เกียจคร้านในการทำมาหากิน หนีไปได้ 1 ปี ให้หญิงนั้นมีสามีใหม่ได้ ทรัพย์สินส่วนของสามีเดิมให้คืนเสีย ทรัพย์สินส่วนที่ทำมาหากินร่วมกัน แบ่งกันคนละครึ่ง ถ้ายังไม่ครบ 1 ปี ห้ามมีสามีใหม่ ดังความว่า

          “…ชายไปสู่ญิงลูกหลานท่าน คร้านการหนีเสียเมียปี 1 หื้อผู้ญิงนั้นเอาผัวใหม่ เอาการเรือนแลเอาข้าวของผัวเก่าคืนนับเสี้ยงแล ครันผัวเก่าหนีบ่พอปีเทื่อ ก็บ่ควรเอาผัวใหม่เทื่อ ยังเป็นเมียท่านดาย ครันเยียะสร้างจิ่มกัน ปันเกิ่งกัน…”

          ข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ คือ ถ้าเชื่อได้ว่าสามีตายไปแล้ว ครอบครัว ญาติพี่น้องชาวบ้าน ชาวเมืองต่างก็เชื่อว่าเป็น เช่นนั้นจริง ต่อมาภริยามีสามีใหม่ พ่อแม่ของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายรู้เห็น ยินดี เมื่ออยู่กินกันได้ระยะหนึ่ง ปรากฏว่าสามีเก่ายังไม่ตาย เดินทางกลับมา สามีเก่าไม่ยินยอม ต้องการเอาภริยาตนคืน กฎหมายธรรมศาสตร์สรรพสอนวินิจฉัยว่า ถ้าฝ่ายหญิงยังคงรักสามีเก่า ก็ให้อยู่กินกับสามีเก่า ถ้ารักสามีใหม่ ก็ให้อยู่กินกับสามีใหม่ แล้วให้สามีใหม่ขมาลาโทษสามีเก่าเสีย ทรัพย์สินของสามีเก่าก็ให้คืนเสีย และทรัพย์สินส่วนที่ทำมาหากินด้วยกันก็ให้แบ่งคนละครึ่ง แต่ถ้าสามีเก่าต้องการทั้งหมด ก็ให้ยกให้แก่สามีเก่า ดังคำวินิจฉัย ความว่า

          “…ผิว่ายังรักผัวเก่า หื้อมันเอาผัวเก่า มันเพิงใจผัวใหม่ หื้อมันเอาผัวใหม่เทอะ ไปถามดูว่ารักผัวใหม่ ก็หื้อมันเอาผัวใหม่ แล้วแต่งสมมาผัวเก่าเสียเทอะ ของผัวเก่ามีเท่าใด หื้อขืนเสี้ยงแล ขาเยียะสร้างกับกันเท่าหื้อปันกัน ผิผัวมาสู่เมียปันเกิ่ง ผิผัวเก่า ได้ใช้หื้อขืน 2 ปุนแก่ผัวเก่า ของผู้ญิง มีเท่าใด อย่าไว้การเมืองแก่ 2 ขาผัวเมีย หื้อเอาเสี้ยงเทอะ…”


          การที่กฎหมายได้วินิจฉัยเช่นนี้ก็เพราะพิจารณาตามศีลข้อที่ 3 กาเมสุมิจฉาจาร ถือว่าฝ่ายหญิงไม่ได้กระทำการผิดศีลข้อนี้ ถือว่าไม่เป็นโทษ และสามีใหม่ก็ไม่ได้ลักลอบเอาภริยาผู้อื่น แต่ถ้าภริยายังอาลัยสามีเก่า เลือกที่จะอยู่กินกับสามีเก่า ก็ให้ขมาโทษ สามีใหม่ด้วยเงิน ทรัพย์สินของสามีใหม่ก็ให้คืนทั้งหมด ยกเว้นได้ใช้จ่ายร่วมกันแล้วก็ให้เลิกเสีย และให้ขมาโทษด้วยเสื้อผ้า แก่สามีใหม่ เหตุที่ตัดสินคดีดังนี้ก็เพราะไม่ต้องการให้สามีใหม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนเป็นผู้ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น ประพฤติ ผิดศีลธรรมนั้นเอง

          8. ทุบตีภรรยา

          กฎหมายโบราณของล้านนาให้ความคุ้มครองฝ่ายภริยาเป็นกรณีพิเศษ ถ้าภริยาถูกสามีทุบตี ทำร้าย ข้อบัญญัติในกฎหมาย ธรรมศาสตร์สรรพสอนกล่าวไว้ว่า ถ้าสามีมักทุบตีทำร้ายบุตรภริยาเป็นนิจ ลูกเมียไม่พอใจ พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็ไม่พอใจ ก็ให้ขับสามีออก จากเรือนเสีย ทรัพย์สินที่ได้ ทำมาหากินร่วมกันก็ให้ภริยาริบเสีย เพราะว่าสามีไม่ได้ปฏิบัติต่อครอบครัวตามคำพูดตอนที่มาสู่ขอ ความว่า

          “…ชายร้าย อยู่กินกับด้วยเมีย มักบุบมักตีลูกเมีย ลูกเมียก็บ่เพิงใจ พ่อแม่ผู้ญิงเบื่อค่ายหน่ายขับหนี มันเยียะสร้างเมินนาน เท่าใด ก็ควรขับหนีบ่ดายแลเหตุมันร้าย บ่เป็นดั่งคำจา เมื่อมาอยู่จิ่มหัวทีนั้น…”



การล่วงละเมิดทางเพศ

          การล่วงเกินหรือล่วงละเมิดทางเพศ เป็นเรื่องที่มีมาแต่สมัยโบราณ การตัดสินโทษ ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของคดี เช่น คลองเจือพระเจ้ากือนาว่า

          “…อันหนึ่ง บ่ได้อยู่ได้นอน เท่าถือชูบ่ดาย ไหมห้าแสนห้าหมื่นเบี้ย ถือนมต้น ไหมสามหมื่นพันเบี้ย ถือนมทั้งสอง ไหมหมื่น สองพันเบี้ย ถือนอกเสื้อ ไหห้าแสนห้าหมื่นเบี้ย ถือในเสื้อ ไหม หกหมื่นหกพันเบี้ย ได้หยุบได้กอด ไหมสามหมื่นสามพันเบี้ย…”

          ยกเว้นในกรณีที่เมาสุราแล้วลวนลามเมียผู้อื่น ในกฎหมายโคสาราษฎร์ พิจารณาว่าถ้าเมาพอประมาณ ให้ปรับไหม แต่ถ้าเมา จนพ้นประมาณ คือเมาจนครองสติไม่อยู่ ก็ไม่ควรปรับไหม เพียงแต่ให้ขอขมาลาโทษ ดังความว่า

          “…ผิว่ามันเมาจนพ้นประมาณ ไม่รู้จักใครเป็นใคร ไม่ควรใส่ขับไหมแก่มัน เท่าพอให้มันสมมา เพื่อบ่หื้อมันกระทำหลายเทื่อ…”
IP : บันทึกการเข้า
อะไร?ยังไง?
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 357


« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 02 พฤศจิกายน 2010, 21:00:19 »

เมื่อกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ และค่านิยมที่เกี่ยวกับสตรีแล้ว ในความรู้สึกของคนปัจจุบัน บทบาทของสตรีแทบจะไม่แตกต่าง ไปจากบุรุษ สตรีในปัจจุบันมีได้รับโอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และได้รับการยอมรับทางสังคมมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน เนื่องเพราะสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป สตรีออกทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับบุรุษ ยกเว้นในเรื่องของ กฎหมายบางข้อเท่านั้น เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก นางสาว มาเป็น นาง ในกรณีที่ จดทะเบียนสมรส หรือกรณีที่สามีไป มีภริยาน้อย ภริยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายจะฟ้องหย่าได้ก็ต่อเมื่อสามีเลี้ยงดูภริยาน้อยนั้น อย่างเปิดเผย เป็นต้น

          บทบาทหน้าที่และค่านิยมเกี่ยวกับสตรีในล้านนามีการบันทึกไว้ในเอกสารต่างๆ ทั้งที่เป็น สุภาษิต วรรณกรรมคำสอน ชาดก และกฎหมาย บทบาท และค่านิยมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง คติ ความเชื่อ และจารีตประเพณีในสมัยก่อน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ ได้แก่

1. ความงาม

          ความงามที่เกี่ยวกับสตรีล้านนาในอดีตที่มีเค้าโครงได้มาจากเรื่องราวทางด้านศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนา เมื่อกล่าวถึง ความงามของสตรีก็จะต้องนึกถึงคำว่า เบญจกัลยาณี คือ หญิงที่มีลักษณะงามครบ 5 ประการ ได้แก่ ผมงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ผิวงาม แลวัยงาม (งามสมวัย)


          การพรรณนาถึงความงามสตรีที่มีการจดบันทึกไว้ทำให้เรา ได้รับรู้ถึงค่านิยมในเรื่องของความงามสตรีในล้านนาว่ามีลักษณะเช่นใด ดังในโคลงอมรา (เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความไม่สมหวังในรักของนางอมราและพระชินะ) กล่าวพรรณนาถึงความงามของนางอมราว่า เป็นสตรี ที่มีรูปร่างงามสมส่วน คิ้วโก่ง ดวงตาดำขลับ และมีถันงาม ดังเนื้อความว่า

นวลนุชนาฏชื่อชั้น อมรา
เป็นปิ่นสรีโสภา แว่นฟ้า
สูงแวงถูกถ้วนตา อะม่อย   งามเอ่
คิ้วโก่งกลมเนือกน้อม เพศเพี้ยงธนูอินทร์ 
ตาเขียวคือลูกเนื้อ มิคคี
มุขมาศกระบวนเสรี อ่อนอ้วน
แอวองค์นาฏนาภี แค้วกล่อม   กลมแล
อกอาบนมตั้งเต้า เปรียบได้คับทอง


          ในจารึกคำอธิษฐาน พุทธศตวรรษที่ 21-22 (พย. 17) จังหวัดพะเยา มีเนื้อความบางตอนกล่าวถึงคำอธิษฐานของอุบาสิกาผู้หนึ่ง ที่ปรารถนาให้มีความงามดังเช่นนางวิสาขาไปทุกภพทุกชาติตราบถึงพระนิพพาน ความว่า

          “ด้วยผลบุญอันกูปรารถนานี้โสด สบภพทุกทุกก…จักเกิดแห่งใดแห่งใดก็ดี ขอจุ่งให้กูเป็นผู้ดี มีสรี(ระ)…(ม)ลากงามหนักหนา เป็นคนก็ดีอย่าให้รู้ว่า…(ง)ามดั่งนางพิสาขา ตราบไป่ได้แก่อรหันตผล มีอาตมสนิท อันอ่อนเกลี้ยงดังผิวคำอันท่านขัดสา…”

          ข้อความในจารึกนี้คล้ายคลึงกับข้อความใน หลักที่ 288 จารึกป้านางเมาะ ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 จังหวัดสุโขทัย ที่มีข้อความ ตอนหนึ่งว่า “…ขอจุ่งมีเนื้อตนพรายงามดั่งอำแดงพิสาขา แลกอปรด้วยเบญจกัลยาณี…” ทำให้รู้ถึงความปรารถนาของสตรีในสุโขทัย และ ล้านนาที่เหมือนกันว่า ต้องการเป็นผู้ที่มีรูปงาม และยังแสดงให้เห็นว่าสตรีเหล่านั้นเป็นผู้มีจิตใจงามด้วยศรัทธาใน พระพุทธศาสนา และคงต้องเป็นผู้มีความรู้อีกด้วย

          นอกจากความงามที่พบเห็นโดยทั่วไปแล้ว ยังมีความงามของสตรีที่เป็นแม่นม ในวรรณกรรมชาดกเรื่อง เตมิยะชาดก ฉบับวัดเมธัง มีเนื้อหาที่กล่าวถึง ลักษณะอันเป็นโทษ และไม่เหมาะสมของสตรีที่เป็นแม่นมไว้ค่อนข้างละเอียด คือ การคัดเลือก สตรีที่เป็นแม่นมจะต้องไม่มีโทษลักษณะ อันได้แก่ ส่วนสูงต้องพอดีไม่สูงหรือเตี้ยเกินไป รูปร่างต้องไม่ผอมหรืออ้วน นมต้องไม่คล้อย ยาน สีของน้ำนมต้องไม่เข้มหรือขาวเกินไป น้ำนมต้องมีรสดีไม่เปรี้ยว และต้องมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคหอบหืด การกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเลือกแม่นมนี้ ก็เพราะความเชื่อที่ว่าสตรีที่มีลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นจะให้โทษแก่ทารก ดังความว่า

          “…มหาสตสฺสป อติ ทีฆาทิโทส วชิตฺวา อลุมตฺถนิโย มธุรโส โย จตุสฬิวาติโย อาทาสิ ๚ พระยาก็แต่งหื้อยังแม่นมทังหลายได้ 64 คน อันปราศจากโทษทังหลาย คือว่าสูงยิ่งนักก็บ่เอา ต่ำพ่ำก็บ่เอา พีนักผอมนักขาวนักแลมีนมอันยานแลเป็นหมองเคราะแลไส้ไอ ไข่แห้งก็บ่เอาแม่นมทังหลายฝูงนั้น มีนม อันหวานยิ่งนักก็หื้อเป็นแม่นมแก่มหาสัตว์เจ้าแล แท้แล ผู้ยิงทังหลายอันมีตนอันสูงยิ่ง นักมีโทษดั่งฤาชา เด็กน้อยอันคีบข้างแห่งผู้ยิงอันสูงนั้นก็ยืดคอดูดกินนม เหตุนั้นคอเด็กน้อยก็จักยืดจักยานเสียแล อันนี้เป็นโทษ แห่งแม่นมสูงนั้นแล ประการ 1 เด็กน้อย ผู้นั้นคีบข้างแห่งผู้ยิงอันต่ำพ่ำนั้น ก็จักได้ก้มดูดกินนม เหตุนั้นดูกคอแห่งเด็กน้อยนั้น ก็จักหดทู้เสียชะแล อันนี้เป็นโทษแห่งแม่นมผู้ต่ำนั้นแล อัน 1 เด็กน้อยอันคีบข้างแอวแห่งผู้ผอมแลดูดกินนมดั่งอั้น ข้างแห่งกุมาร ผู้นั้นแพบเสียชะแล อันนี้เป็นโทษแห่งแม่นมผู้ผอมนั้นแล 1 เด็กน้อยอันคีบข้างนั่งแอวผู้อันพีนั้นแลดูดกินนมดั่งอั้น ตีนแห่งเด็ก น้อยผู้นั้นก็จักถางถงเสียชะแล อันนี้เป็นโทษแห่งแม่นมผู้อันพีนักนั้นแล อัน 1 เล่า เด็กน้อยอันดูดกินนมแห่งยิง ผู้อันมีนมอัน ยานนั้น ปลายดังแห่งเด็กน้อยนั้นก็จัก เพิบจักแพบเสียชะแล อันนี้เป็นโทษแห่งแม่นม ผู้มีนมอันยานนั้นแล ประการ 1 น้ำนม แห่งยิงผู้ดำนั้นเย็นยิ่งนัก น้ำนมแห่งผู้อันขาวนักนั้นก็เป็นอันร้อนนัก น้ำนมแห่งผู้ยิงอันเป็นหมองเคราะส้มนัก น้ำนมแห่งผู้ยิง อันเป็นไส้ไอ ไข่แห้งนั้นก็เผ็ดแลขมแลเค็ม เหตุดั่งอั้น เด็กน้อยผู้ได้กินนมแห่งผู้ยิงทังหลายฝูงนี้ก็จักเป็นพยาธิต่างๆ มีต้นว่า ลงท้องแลนอน ครนแลผอมเหลืองชะแล

          เหตุนั้นผู้ยิงทังหลายฝูงนี้มีโทษฝูงนี้แล เหตุนั้นพระยากาสิกก็หื้อเว้นยังผู้ยิงทังหลายฝูงนั้นเสียแล้ว หื้อเลิกเอาผู้ยิงทังหลายอัน ปราศจากโทษทังหลายดั่งกล่าวมาแล้วนั้นได้ 64 คนหื้อเป็นแม่นม แก่มหาสัตว์เจ้าแล้ว พระยาก็หื้อกระทำยังสักการะปูชา แก่นางเทวีแล้ว ก็หื้อพรแก่นางเทวีแล นางเทวี ก็รับเอาพรแห่งพระยานั้นแล้ว ก็ตั้งไว้ก่อนแล …”

          ค่านิยมในเรื่องความงามของสตรีในล้านนามิใช่เพียงแต่เฉพาะงามทั้งกาย วาจา ใจแล้ว ความงามนี้ยังหมายรวมไปถึง ความงามในเรื่องเพศด้วย ความเชื่อในคติทางพุทธศาสนาของคนใน ล้านนาสมัยนั้นเชื่อว่า บุรุษเพศเท่านั้นจึงจะสำเร็จ พระอรหันต์บรรลุพระนิพพานได้ การตั้งความปรารถนาขอให้เกิดเป็นเพศชาย คือ มีเพศงามนั้นเอง (ในทางบาลี เพศหญิง ถือว่าเป็นลิงควิบัติ คือ เพศเสียหาย ส่วนเพศชาย เป็นลิงคสัมปัตติ คือ เพศอันถึงพร้อมหรือเพศอันสมบูรณ์)

          ความตอนหนึ่งในจารึกเจ้าหมื่นคำนคร บ้านห้วยทราย ประเทศลาว เนื้อความกล่าวถึงเจ้าหมื่นคำนคร ที่พระเจ้าติโลกราช ทรงโปรดให้มากินเมืองเซิง ในปี พ.ศ.1993 ต่อมาในปี พ.ศ.2001 ได้สร้างจารึกนี้ไว้ คำปรารถนาท้ายจารึก นางคำหมื่นปรารถนา ขอให้เกิดเป็นผู้ชายในชาติหน้า เพื่อหวังผลพระนิพพาน ดังความว่า

           “…ส่วนนางหมื่นเจ้า ก็ปรารถนาเป็นผู้ชายผู้ประเสริฐ (แล) ได้กระทำให้ทุกข์ในสงสารนี้ ในสม…”

          ความงามของสตรีล้านนาในสมัยก่อน ประกอบด้วยงามภายใน และงามภายนอก งามภายนอก หมายถึงงามหน้าตา ผิวพรรณ งามตามธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งอย่างในสมัยปัจจุบัน และมีสุขภาพร่างกายที่ดี เหมาะที่จะเป็นแม่คน ส่วนงามภายในหมายถึง งามน้ำใจ ประกอบด้วยศีลธรรม อันดีงาม และ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา


2. บทบาทหน้าที่ของสตรี

          วรรณกรรมคำสอน และสุภาษิต ช่วยให้เรารู้ถึงในบทบาทหน้าที่ของสตรีล้านนาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร วรรณกรรมคำสอน และสุภาษิตนี้ ได้ให้ข้อคิดข้อปฏิบัติแก่สตรีที่ยังเป็นสาว และสตรี ที่ออกเรือนไปแล้ว เช่น เป็นผู้หญิงต้องรู้จักการหูก การฝ้าย ปั่นด้ายและทอไหม และถ้าออกเรือนแล้ว ก็ต้องรู้จักปรนนิบัติสามี เช่น ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง จัดเตรียมอาหารให้ครบทุกมื้อ ดังคำสุภาษิตว่า

          “เป็นผู้ญิงหื้อรู้การหูก การฝ้าย ปั่นด้ายและทอไหม” และ
          “ลูกผัวเป็นเจ้า นอนลูนลุกเช้า แต่งคาบข้าวงายตอน”


          วรรณกรรมคำสอนพระยามังราย ได้กล่าวถึงข้อห้ามของสตรีไว้หลายประการ เช่น แกงผัก ทั้งราก เอาทัพพีเคาะหัวสุนัข ไม่ช่วยทำนา เกียจคร้าน ยกเท้าสูง เดินเล่นท่าน้ำ ไม่ตักน้ำใส่เรือน ตื่นสาย ใช้เด็กทำงาน สุรุ่ยสุร่าย ไม่ใฝ่รู้ในพระศาสนา พูดจากับชายหนุ่ม พูดคำส่อเสียด อวดรู้ ใส่เสื้อผ้าขาด ยกตนข่มท่าน ไม่รักษาศีล 5 ศีล 8 ฯลฯ เหล่านี้ถือว่าเป็นสตรีไม่ดีทั้งสิ้น

          ข้อความในสุภาษิตหญิง 8 ประการ มีเนื้อหากล่าวถึงหญิงดี 4 จำพวก (สุจัตตุถา) ได้แก่ มาตาภริยา มิตตาภริยา ปุตตาภริยา และทาสีภริยา หญิงร้าย 4 จำพวก (ทุจัตตุถา) ได้แก่ โจริภริยา จัณฑิภริยา กาลิกิณีภริยา และ กุณีภริยา

          และหนังสือเจี้ยเทียมคลอง ซึ่งเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาภายในเป็นเรื่องของการสั่งสอนบุคคล ทั่วไป ส่วนที่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับ หญิงที่ไม่ควรยกย่องนำมาเป็นภริยานั้น ได้แก่ หญิง 4 ประเภท คือ 1. ช่างฟ้องนินทาว่าร้าย 2. ใจบาปหยาบช้า 3. เกียจคร้าน และ 4. ปากร้าย วาจาหยาบคาย ดังความว่า

          “…ชายดีบ่ควรเอาญิงเป็นเมียนั้นมี 4 คน ช่างส่อ 1 ใจบาปผู้ 1 คร้านฝายแลการเรือน 1 ปากร้ายปากกล้าคางแข็ง 1 แม้นเอา
ก็บ่เป็นประโยชน์กับตนสักอันแล…”

 
          ในวรรณกรรมคำโคลงเรื่องเจ้าวิฑูรสอนหลาน ซึ่งนำเนื้อหามาจากทศชาดกเรื่อง วิธุรบัณฑิต เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึง ข้อประพฤติปฏิบัติของสตรีที่เป็นภริยาหลวงว่า ให้มีความรัก ความปราณีแก่ ผู้ที่เป็นภริยาน้อย และเหล่านางสนมกำนัล เพื่อที่จะ รักษาครอบครัวและเป็นการให้เกียรติแก่สามี ดังความว่า

มีใจรักอวบอ้อม ปราณี
รักหมู่ทาสาทาสี หมู่ข้อย
เสมอเหมือนดั่งมัทรี เมียพระเวส   วันนั้น
รักหมู่ฝูงเมียน้อย เผ่าผู้สนมนาง


          นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมคำสอนที่มีเนื้อความเหมือนกับโคลงเจ้าวิฑูรสอนหลาน คือ โคลง วิธูรสอนโลก เนื้อหาบางตอนกล่าวถึงข้อควรปฏิบัติของสตรีที่ต้องรู้จักงานบ้านงานเรือน ประพฤติตัวให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ความว่า

จักสอนหญิงยอดผู้ มีผัวก่อนแล
ชี้ช่องการเรือนครัว เยื่องรู้
ควรน้อมนอบเจียมตัว ตามรีต   รอยเอ่
อย่าผิดแผกเผ่าผู้ จุ่งแจ้งจำเอา


          ในส่วนที่เกี่ยวกับการประพฤติ ปฏิบัติของภริยานั้น ได้กล่าวถึงหน้าที่ของภริยาที่ดี เช่น ให้ตื่นก่อนนอนทีหลัง ปรนนิบัติ ด้วยของขบเคี้ยวต่างๆ ที่สามีชื่นชอบ น้ำร้อนน้ำเย็นต้องเตรียมให้พร้อม เจรจาด้วยถ้อยคำอันไพเราะเสนาะหู และไม่โกรธขึ้งทำให้ สามีต้องร้อนใจ ดังความว่า

           “…ทีนี้จักจาด้วยคลองพ่อเรือนแม่เรือนก่อนแล นางญิงลุกก่อนผัวนอนลูนผัว ปฏิบัติผัวตนด้วยที่นั่งที่นอน ของเคี้ยวของกิน
บริโภค หื้อชอบใจผัว ปฏิบัติด้วยน้ำอุ่นน้ำเย็น น้ำกินน้ำอาบ ปฏิบัติใต้ร่างกลางเรือนหื้อหมดใสดีงาม ปากคำใดบ่หื้อท่านผิดใจ
บ่หื้อทุกข์ใจหมองใจ บ่หื้อท่านหันร้าย ออกปากคำใดบ่หื้อท่านหันใจ แม่นว่าเคียดก็หื้อมีคำอด ดังนี้ บุคคลผู้ใดได้เป็นเมียดีนัก…”


          วรรณกรรมคำสอนพระยามังราย ได้กล่าวถึงสตรีที่ออกเรือนว่า ควรรู้จักประพฤติปฏิบัติตน เป็นแม่เหย้าแม่เรือน ดังความว่า

          “…ญิงผู้ใดได้เป็นลูกสะใภ้ท่าน หื้อผ่านรู้คำจา อย่าหลับตาขอนหลิ่ง หื้อรู้สิ่งทำการ หื้อค่อยขานจาม่วน หื้อปากอ้วนสบดีมีฉันใด
ค่อยกล่าว อย่ารีบฟ้าวใจเทิง หื้อร่ำเพิงคึดถี่มั่นขึ้นกี่ทอลาย หื้อรู้ยังข้าวแลงงายแลคาบข้าว เมื่อแขกเต้ามาหา หื้อทักจาผู้นำสาดเสื่อ
ปัดยู ต้องถามดูจอดแล้ว ผู้ผ่านแผ้วปองการเมื่อขานว่าเจ้า เถิงคาบข้าวแรงทำ ของกินลำอันยิ่ง พร้อมทุกสิ่งทั้งมวล หื้อชวนผัวมาสู่
นั่งอยู่แล้วชูกิน อย่าแดนตีนคุกเข่า หื้อได้คบเล่าหาเผิน อันเชิญผัวกินก่อน หื้อนุ่งทั้งเสื้อผ้าผ่อนจับตัว บ่มีก็เอาผ้าคาดหัวพบบ่า
ท่านจิ่งว่าคนดี หากเป็นปเวณีแท้เล่า เมื่ออันจักแช่ข้าว หื้อผ่อดูเย็น อย่าหื้อเพลนั้นเสียมื้อขาด ท่านลาดหื้อจำเอา อย่าทือเบาละทอด
อันเพิ่นได้ขอดไว้หื้อจำดี ผัวบ่มีสังก็หื้อรู้ อย่ามักคู่ปองจิก หื้อนอนเดิกลุกเช้า ลุกก่อนพ่อแม่เจ้าผัวขวัญ…”


          จากเนื้อหาที่มีในสุภาษิต วรรณกรรมคำสอนดังกล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าบทบาท และหน้าที่ของสตรีในล้านนานั้น ต้องเป็น หญิงที่มีความเป็นกุลสตรี เป็นช้างเท้าหลัง รักนวลสงวนตัว เป็นแม่เหย้าแม่เรือน รู้จักปรนนิบัติวัตถากเอาอกเอาใจสามี จึงจะได้รับ การยอมรับ ยกย่อง ถือได้ว่าเป็นภริยา ในอุดมคติของชายล้านนาในสมัยก่อนโดยแท้

          เรื่องราวต่างๆ ที่บันทึกเกี่ยวกับสตรีในล้านนา สตรีมักจะมีภาพพจน์ในแง่ร้าย เป็นความเชื่อ ที่ได้รับอิทธิพลจากคติทาง พุทธศาสนา ที่ว่า สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ เป็นเหตุที่มาแห่งทุกข์ ในวรรณกรรมคำสอนเรื่องโคลงวิธูรสอนโลก มีข้อความที่สอน ให้เชื่อว่า สตรีนำมาซึ่งความทุกข์ ความว่า

หญิงย่อมเป็นเหตุให้ ชายชน
เถิงที่ทุกข์เรรน เดือดไหม้
แสนกัปมิหายหน ทางโทษ   มีนั่น
อย่าลื่นลวนเข้าใกล้ ถูกถ้านกาเม



          และโคลงศีลห้า ที่กล่าวเปรียบเทียบว่า ใจสตรีเหมือนดังสายน้ำ ความว่า

ใจหญิงคือดั่งน้ำ ซอนทราย
ใครอาจจักกดหมาย เหมียดไว้
นาวาท่องเที่ยวสาย นทีเล่า   เลิงนั่น
ใครอาจจักรู้ได้ ที่ท้างรอยเรือ


          นอกจากนี้แล้ว ในการแสดงฌาปนกิจกถาที่พระภิกษุใช้เทศนาในพิธีศพของชาวล้านนา ยังได้กล่าวถึงประโยชน์ของ การรักษาศีล 5 แก่ผู้มาร่วมงานศพ โดยเฉพาะศีลข้อที่ 3 ที่ว่า การผิดศีลข้อ 3 กาเมสุมิจฉาจารนั้น ผลกรรมที่ได้จากการผิดศีลนั้น จะทำให้ภริยานอกใจ มีชายอื่น ความว่า

          “…มีเมียบ่ถ่อยช้าบ่นอกใจกัน เพราะบ่เคยทำผิดศีลข้อ 3 มาก่อน…”

          และในพื้นเมืองน่านฉบับวัดม่วงตึ๊ด ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เนื้อความที่กล่าวถึงสิ่งที่ควรติในโลก 3 ประการ มีประการที่ 2 ที่ห้ามสตรีเป็นผู้นำชุมชน หรือเป็นผู้ปกครอง เพราะจะนำมาซึ่งความหายนะ ความว่า

          “…จักกล่าวลักขณะอันควรติในโลก มี 3 ประการ คือว่า ผู้ชายทังหลายอันท่านหากยิงแทงแลห่อนไหวยิ่งนัก บ่ตายท่านกุมฆ่า
ควรว่าไว้แล ผู้ญิงเป็นนายในชนบทอันใด ชนบทอันนั้นควรติว่าจักสิบหายแล ผู้ชายทังหลายฝูงใด เข้าอำนาจแห่งมาตุคาม ผู้ชาย
ทังหลายฝูงนั้นควรติว่าใบ้แล…”

          วรรณกรรมคำสอน สุภาษิต ความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้กำหนดบทบาท หน้าที่ของสตรีล้านนาไว้อย่าง เข้มงวด ในสังคมสมัยนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การปฏิบัติตนตามรีตคลอง ประเพณี จะทำให้ผู้ที่เคารพปฏิบัติตามนั้น ประสบความสุข ความเจริญ เป็นที่น่ายินดี และได้รับการยอมรับ ยกย่องชื่นชมของสังคม

4. บทบาททางสังคม

          ในด้านการศาสนา สตรีในล้านนานับได้ว่าเป็นผู้ทำนุบำรุงพระศาสนาไม่แพ้บุรุษเพศ มีส่วน ในการเกื้อหนุนบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น การสร้างพระพุทธรูป หีบพระธรรม มีความในจารึกฐานพระพุทธรูปพระพุทธสรณัง พย.77 เมืองพะเยา เนื้อความในจารึกกล่าวถึง แม่คำเชียงได้บริจาคสร้างพระพุทธรูป ความว่า

          “พระพุทธสรณัง แม่คำเชียงสร้าง”

          ในจารึก 1.7.2.1 วัดบุญยืน พ.ศ.2338 เมืองน่าน เป็นการสร้างหีบพระธรรม ไว้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก ผู้ร่วมบริจาค ทรัพย์ในครั้งนั้น มีพระอัตถวรปัญญา เจ้าเมืองเป็นประธาน พร้อมด้วยอุบาสก และอุบาสิกา ความว่า

          “…หมายมีมหาราชหลวงเป็นประธาน แลอุบาสก แสนอาสา แสนหนังสือ ขนานถาวร ร้อยจ้อยหล้า อุบาสิกา นางอโนชา…”

 
จารึก 1.7.2.1 วัดบุญยืน พ.ศ.2338


          ด้านการประกอบอาชีพของสตรีในล้านนา เนื้อความในกฎหมายคลองเจือพระเจ้ากือนา มีคดีหนึ่งในสมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.1898-1928) ที่กล่าวถึงการประกอบอาชีพค้าขายของในตลาดของสตรีล้านนาในสมัยก่อน เนื้อความกล่าวถึง นางบุญมีเป็น แม่ค้าขายเอิบ (ภาชนะสานขนาดใหญ่ มีฝาปิด นิยมใช้สำหรับใส่บรรจุเสื้อผ้า) และนางบัวบานเป็นแม่ค้าขายอูบข้าว (กล่องข้าว มีฝาปิด) ทั้งคู่ทะเลาะทุบตีกันกลางตลาด ตอนท้ายก่อนที่พระเจ้ากือนาจะตัดสินความ ได้ถามว่า เหตุใดทั้งสองจึงมาค้าขาย ทั้งสอง ตอบว่า เพราะต้องการที่จะมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นจึงทำมาค้าขาย “เผือข้าใคร่หื้อมีหลายแลก็ค้าแลว่าอั้น”


          และอีกคดีหนึ่ง คือ คดีม้าโรงสินตบตีนางศรีโสภาผู้ภริยา เนื้อความกล่าวถึง ม้าโรงสินต่อว่าภริยา คือนางศรีโสภาว่า ไปกู้เงิน แล้วไม่บอกให้ตนรู้ แล้วตำหนินางศรีโสภาว่า ตั้งแต่มาอยู่กินด้วยกันปั่นฝ้ายยังไม่ถึง 50 น้ำฝ้าย วันๆ เอาแต่อ่านอุสสาบารส และโคลงสี่บท นางศรีโสภาเถียงว่า ตนอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องของตน ไม่ได้ยืมปากใครมาอ่าน “กูอ่านหนังสือช่างกูสัง บ่ยืมปากไผมา ว่ามาอ่านเดว่าอั้น” สุดท้ายพระยากือนาวินิจฉัยคดีว่า การที่นางศรีโสภากล่าวโต้เถียงม้าโรงสิน เป็นการไม่ควร ถือได้ว่าเป็นโจร ภริยา ม้าโรงสินไม่ต้องการนางศรีโสภาเป็นภริยาตนอีกต่อไป จึงตัดสินให้ม้าโรงสินขายนางศรีโสภาเสีย

          เช่นเดียวกับคำสอนพระยามังรายที่มีเนื้อความว่า “ยกตีนขึ้นกี่บ่ทอลาย ญิงผู้นั้นบ่ดี”  คือ สตรีที่ขึ้นนั่งบนเครื่องทอผ้าแล้วไม่ทอ และ “ท่านไปนามันพ้อยซ่อนอยู่บ้าน ญิงผู้นั้นบ่ดี”   หมายถึงภริยาที่ไม่ช่วยสามีประกอบหน้าที่การงาน สตรีเหล่านี้เป็นคนไม่ดี


           แม้ว่าสตรีในล้านนาจะได้รับการยกย่อง และเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่ในแวดวงกฎหมายโบราณของล้านนานั้น มีข้อห้ามสตรี ขึ้นพิพากษาตัดสินคดีความที่มีคู่คดีเป็นชายผู้ชาย ดังเนื้อความในกฎหมายโคสาราษฎร์ที่ว่า สิ่งที่พึงละเว้นสำหรับขุนพิจารณาคดีมี 6 ประการ คือ ตัดสินด้วยอำนาจวาสนาของตน ตัดสินโดยเบียดเบียนข่มเหงบังคับเอาข้าวของลูกเมียผู้อื่น พิจารณาความในยามวิกาล พิจารณาในที่ลับ ตัดสินคดีผิดไปจากถ้อยความในพระธรรมศาสตร์ และให้หญิงพิจารณาตัดสินความ ผู้ชาย เป็นต้น

          จากเนื้อหาที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าการประกอบอาชีพของสตรีล้านนาในสมัยก่อนนั้น มีทั้งที่อยู่กับบ้านเป็นแม่บ้าน แม่เรือน มีการทอผ้าใช้เอง บ้างก็ช่วยสามีประกอบการเกษตรทำไร่ไถนา และทำมาค้าขาย นอกจากนี้สตรีล้านนายังได้รับการศึกษา มีความรู้อ่านออกเขียนได้แล้ว ยังรู้จักหนังสือประเภทโคลง กาพย์ กลอนอย่างเรื่องอุสสาบารส ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ในสมัยนั้นอีกด้วย
IP : บันทึกการเข้า
อะไร?ยังไง?
ชั้นประถม
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 357


« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 02 พฤศจิกายน 2010, 21:02:51 »

เกิดมาเป๋น ญ นิมันตึงอิดแต้หน๋า ต้องโตยข้อแม้ตี่ตั้งขึ้นมาจาก ช เฮ่อ....อิด อิด ร่างใหม่ใด้ก่อ ขอหื้อ ญ เลือกเอง อ้างอิงบางส่วนตี่เขียนอยู่แล้วก่อใด้ เห่อ เห่อ

ยังบ่าใด้อ่านหมดเตื่อ เลยยังค้นมาตั้งกําถามบ่ใด้ ใว้ถ้าก่อน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 02 พฤศจิกายน 2010, 21:10:35 โดย ง่วงๆเจ๊บหั๋ว » IP : บันทึกการเข้า
ละอ่อนโบราณ
ระดับ :ป.โท
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 4,466



« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 03 พฤศจิกายน 2010, 04:20:35 »

ขอเข้ามาอ่านวันละน้อยเน้อ ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
ยาวแก่...อ่านกำเดวบ่ไหว ยิ้มเท่ห์
IP : บันทึกการเข้า

..............
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!