ยาวหน่อย แต่อยากให้เพื่อนๆรู้จักกับ ศิลปินแห่งชาติ อ. กมล ทัศนาญชลี
รายงานพิเศษ
โดย สยามมีเดีย 4 มีนาคม 2554นิทรรศการ67ปีดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ดร.กมล ทัศนาญชลีเป็นศิลปินสองซีกโลกคนไทยคนแรกที่ได้รับการบันทึกผลงานทางศิลปะ “รอยพระพุทธบาท” (Buddha Footprint) ลงในทำเนียบหนังสือประวัติศาสตร์ศิลป์โลก Gardner' Art Through The Age เช่นเดียวกับศิลปินมีชื่อเสียงระดับโลก ไมเคิล แอนเจโล กับภาพพระเยซูคริสต์ The Last Supper ลีโอนาร์โด ดาวินชี วาดภาพโมนาลิซ่า ผู้หญิงที่สวยที่สุดในโลก ศิลปินปิกัสโซ ศิลปินแวนโก๊ะ ศิลปินโรแด็ง The Thinker
ศิลปินสองซีกโลกพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกามายาวนานตลอด 40 ปี ใช้เวลากว่าค่อนชีวิตสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดีๆ ในหลากหลายรูปแบบออกมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่รู้จักโด่งดังไปไกลถึงอีกซีกโลก ทุกปีดร.กมลจะเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองไทย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานให้กับวงการศิลปะ พัฒนางานศิลปะร่วมสมัยตลอดเวลา กลายเป็นศิลปินคนสำคัญและดีเด่นในด้านจิตรกรรมและสื่อผสมร่วมสมัย ได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังมีส่วนสำคัญช่วยเหลือพัฒนาวงการศิลปะจนกลายไปเป็นต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจสิ่งที่ดีแก่ศิลปินใหญ่น้อย
ดาวเดือน 80 ดวง 80 พรรษารัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยลูกนิมิตรเป็นงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ดร.กมลภาคภูมิใจ งานชิ้นนี้เป็น Steel Stone และ Stainless อยู่ในสวนสาธารณะ80พรรษพระเจ้าอยู่หัวที่จังหวัดสงขลา “ปีนี้พระองค์ท่านมีพระชนมายุ ๘๔ พรรษา พวกเราศิลปินแห่งชาติพร้อมใจกันทำงานศิลปะถวายพระองค์ท่านในเร็ววันนี้ครับ” ขณะเดียวกันยังมีผลงานมหัศจรรย์เป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยอยู่ในสถาบันศิลปะ บริษัทเอกชน ในเขตเทศบาล เทศมนตรีรักงานศิลปะ เจ็ดก้าวบนดอกบัว เป็นภาพนามธรรม ว่าวไทยจัดเป็นนิทรรศการเล่าเรื่องได้
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ 67 ปี ดร.กมล ทัศนาญชลีศิลปินสองซีกโลก โดยมี กมล ทัศนาญชลี และ ถวัลย์ ดัชนี ฯลฯ เข้าเฝ้าฯรับเสด็จ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จนถึง29มีนาคม2554(ยกเว้นวันพุธ) คนรักงานศิลปะไม่ควรพลาด การจัดงานครั้งนี้เพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ในวาระครบรอบ 67 ปีดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรมและสื่อผสม) ปี 2540 แล้ว มีนิทรรศการ ยังนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งประเภทจิตรกรรมสื่อผสม งานประติมากรรมงานจัดวาง รวมถึงงานเครื่องปั้นดินเผา (เซรามิก) รวมกว่า200 ชิ้น ซึ่งเป็นผลงานย้อนหลังเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์เป็นรูปผีเสื้อและดอกบัว ภายหลังที่ทรงสดับตรับฟังบทกวี ผีเสื้อ/ดอกบัว ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ และธนิศร์ ศรีกลิ่นดีเป่าขลุ่ยถวาย “ฉันเกิดจากดอกไม้ที่ละมุนละไมสี แตะแต้มให้ดอกนี้และดอกนั้นบรรจงฉาย ประดับประดาดอกและประดิษฐ์ประดอยลาย ลงสีและเรียงสายระบายเส้นเล่นสีสัน กระพริบกระพริบพร้อยกระพริบกระพริบพร้อย กระพือลอยวิลาวรรณเฉิดฉันท์นี้คือฉัน คือผีเสื้อผู้แสนสวย ฉันอยู่กลางหมู่ไม้กลางสายลมรินรินรวย ชื่นชื่นมาชายชวยน้ำค้างค้างยังหมาดชื่น ปลายปีกจะโปรยปรายให้เกลื่อนกลายความกลมกลืน โยงใยความยาวยืนแห่งวิญญาณอันงดงาม ชีพนี้คือผีเสื้อ ชีพนี้คือผีเสื้อเพื่อรังสรรค์สิ่งเรือนราม มาอยู่แม้ชั่วยามก็งามนักมีค่านัก”
ดร.กมลถ่ายทอดบรรยากาศว่า “เจ้าหญิงของเมืองไทยทรงมีพระอัจฉริยภาพในงานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ภาพฝีพระหัตถ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทรงใช้ดินสอร่างแต่อย่างใด ทางวาดภาพด้วยความเชื่อมั่นและรวดเร็ว ทรงเลือกพู่กัน Spider Series 9400 RG ของญี่ปุ่นขนาดกลางเพื่อใช้วาดรูปผีเสื้อสีม่วง และรับสั่งถามด้วยทรงช่างสังเกตว่า ผีเสื้อมีกี่ขา พร้อมกับทรงรับสั่งว่าผีเสื้อเป็นแมลงมี ๖ ขา พร้อมกับทรงวาดรูปดอกบัวสีแดงพร้อมใบบัวสีเขียว จากนั้นทรงลงพระนามาภิไธย สิรินธร พร้อมวันที่ 4 ก.พ.54 ด้วยพู่กันอีกเบอร์หนึ่ง จากนั้นผมขอให้ทางทีมงานได้นำภาพฝีพระหัตถ์เข้ากรอบรูป รวมทั้งพู่กัน พร้อม จานสี ตลอดจนหลอดสี ผ้ากันเปื้อนส่วนพระองค์ระหว่างวาดภาพฝีพระหัตถ์ได้นำมาเข้ากรอบรูปจัดเป็นนิทรรศการบริเวณชั้น 2 เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี”
การจัดแสดงผลงานตลอดทั้ง 4 ชั้น หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นผลงานย้อนหลังที่สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อ30ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ผลงานชุดหลอดสีที่ทำบนทะเลทรายโมฮาวี (Mojave) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลงานสื่อผสมต่างๆ ที่พัฒนารูปแบบหลากหลายจนถึงปัจจุบัน ผลงานจัดแสดงแบ่งออกเป็นยุคและสื่อต่างๆ เริ่มที่ประติมากรรมในทะเลทราย และหลอดสี เป็นการจำลองผลงานมาจากสถานที่ต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย หลายชิ้นเป็นการแสดงในรูปแบบงานจัดวาง (Installation) ณ สถานที่จริงทั้งที่เป็นทะเลทราย และทุ่งหิมะ โดยนำผลงานสร้างในที่ต่างๆเปลี่ยนเรื่องราวของหลอดสี และเพิ่มเติมความคิดของปัจจุบันลงไป
จิตรกรรมสื่อผสมบนกระดาษ เป็นการสร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมทั้งที่เป็นภาพพิมพ์และจิตรกรรมลงบนกระดาษทำเอง ซึ่งมีพื้นผิวและแสดงความงามของกระดาษ มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกตัดตรงเหมือนกระดาษทั่วไป นำมาเย็บด้วยจักร เพิ่มเติมวัสดุ ไม้โลหะ สี ฯลฯ แสดงความตัดกันของวัสดุ มีทั้งอ่อนนุ่ม พื้นผิวของกระดาษกับโลหะ ไม้ เหล็กต่างๆ ทำความขัดแย้งให้เป็นความงามใช้สีเป็นตัวผสานให้เกิดความกลมกลืน
จิตรกรรมสื่อผสมบนผ้าใบ เป็นผลงานจิตรกรรมสื่อผสมบนผ้าใบและไม้ สร้างสรรค์งานที่เกี่ยวกับตนเองและถิ่นกำเนิดนำเอาเรื่องราวและสาระของทางตะวันออก เช่น โบมอีสาน ปีกแมลงทับ(สีเขียว) งานแกะสลักไม้ภาคเหนือ หนังใหญ่ มาถ่ายทอดจัดวางในรูปแบบองค์ประกอบแบบตะวันตก ประติมากรรมผสมบนผ้าใบกับไม้ ประกอบด้วย ประติมากรรมโลหะ ไม้ เหล็กต่างๆ ซึ่งย่อขนาดมาจากต้นแบบจริง ปัจจุบันติดตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (เพาะช่าง) วิทยาเขตศาลายา และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (องครักษ์)
นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมผลงานย้อนหลังนับจากยุคแรกเริ่มจนถึงผลงานสื่อต่างๆ ในชุดปัจจุบันที่สร้างสรรค์ขึ้นในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้ากระบวนการทางานตลอดจนปรัชญาชีวิตและอุดมการณ์ของศิลปินไทยท่านนี้ปรัชญาชีวิตและอุดมการณ์ของศิลปินไทยท่านนี้
เบื้องหลังการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้ ดำเนินการโดยขนผลงานขึ้นเครื่องบินบ้าง ส่งทางเรือบ้าง รวมทั้งการสร้างผลงานที่บ้านเกิดสวนฝั่งธนบุรี และมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฯลฯ จึงได้ผลงานต่างๆ ทั้งจิตรกรรม จิตรกรรมสื่อผสม ภาพพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ประติมากรรม จำนวนกว่า 200 ชิ้น จัดนิทรรศการย้อนหลังนับจากผลงานชุดหลอดสีที่ทำบนทะเลทรายโมฮาวีในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เนวาด้า สหรัฐอเมริกา โดยมีผลงานในสื่อต่างๆ ที่ได้พัฒนาจนถึงปัจจุบัน
“ก่อนจัดแสดงผลงานเพียงไม่กี่วันผมยืนและลื่นตกจากเก้าอี้ขาเดี้ยงกระดูกข้างขวาแตกต้องใส่เผือก ในช่วงแรกผมทนเจ็บเป็นอาทิตย์แต่ไม่ได้เอ็กซเรย์เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก เกิดมายังไม่เคยขาหัก แต่รู้สึกเจ็บมากไปพบหมอจึงได้รู้ว่ากระดูกแตกร้าว 3ใน4ต้องเข้าเฝือก ใกล้จะถึงวันงานถอดเฝือกออกเพราะกลัวว่าจะไม่ทันงานรับเสด็จฯกระดูกเข้าที่เพียงครึ่งเดียวตอนนี้ผมยังเจ็บแปล็บๆเดินกระเผลกๆ”ดร.กมลกล่าวถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเตรียมงาน
ดร.กมล ทัศนาญชลีเผยว่าผู้ให้การสนับสนุนจัดแสดงนิทรรศการปริศนาพงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนิทรรศการในครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการชักชวนของ ดร.อำนวย วีรวรรณ และคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการบริหารมูลนิธิธนาคารกรุงเทพฯ และหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมี สุภัททา สังสิทธิ ผู้อำนวยการหอศิลป์ และ อังกาบ วิสุทธารมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการหอศิลป์ ฯลฯ ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ และทีมงาน จึงได้ขนผลงานศิลปะทั้งหมดจากสหรัฐอเมริกามาจัดแสดงภายในงาน ตลอดจนอาจารย์จันทร์ทิพย์ ลิ่มทอง แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไกรทิพย์ พันธุ์วุฒิ
“ผมอยากจะสื่อให้ศิลปินยุคใหม่ได้เห็นตัวอย่างของผมถึงในเรื่องของการเป็นศิลปิน ที่ต้องสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะบนเครื่องบิน หิมะ หรือทะเลทราย และไม่จาเป็นต้องพึ่งอบายมุข เหล้าหรือบุหรี่ในการปรับแต่งอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้รอบด้านจนเกิดความรอบรู้คล่องตัวในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจิตรกรรมภาพวาด สื่อผสม ประติมากรรม มิเช่นนั้นแล้ววันหนึ่งจะขาดความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะในการเป็นศิลปินเป็นแล้วต้องเป็นต่อไปทั้งชีวิต”
“ข้าพเจ้ายังคงเดินทางอยู่บนเส้นทางระหว่างสองซีกโลกด้วยจิตวิญญาณของศิลปินไทยที่มั่นคงแน่วแน่ บนเส้นทางของตัวเองโดยรวมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน” “ข้าพเจ้ายังเดินต่อไปในเส้นทางสายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และพอใจในชีวิตศิลปินไทยอยู่ทุกวันนี้” “ข้าพเจ้าได้ทำงานศิลปะต่อเนื่องกันมาโดยตลอดด้วยใจรัก สะท้อนอดีต ปัจจุบัน ความคิดออกมาในแนวทางของตนเองด้วยความราบรื่น อิสระ เสรี มีความสุขและสนุกกับการที่ได้ทำงานศิลปะ” “ทุกๆวัน ผมตื่นขึ้นมาในตอนเช้าและเริ่มทำงานศิลปะก่อนทำสิ่งอื่นๆ เพราะรู้สึกว่านี่คือสิ่งจำเป็น และเป็นธรรมชาติสำหรับชีวิต ข้าพเจ้าพร้อมที่จะทำงานอยู่ตลอดและไม่เคยคิดว่าขาดอะไร แม้แต่เวลานอนหลับ ข้าพเจ้ามักจะฝันถึงการสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่อยู่เสมอ และเมื่อตื่นขึ้นมาก็นำเอาสิ่งที่ฝันมาสร้างแนวความคิดในการทำงาน”
ดร.กมล ทัศนาญชลี เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหลักพุทธธรรมคือ อิทธิบาท 4 อันได้แก่ความศรัทธาในศิลปะ (ฉันทะ) ว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม สามารถยึดเป็นอาชีพได้ จึงขยันหมั่นเพียร อดทนฝึกฝนตนเอง (วิริยะ) จนเชี่ยวชาญ มีความตั้งมั่นที่จะทำงานศิลปะหรืองานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะมีอุปสรรคหนักหนาเพียงใด (จิตตะ) และหมั่นพิจารณาไตร่ตรองงานที่ทำเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ (วิมังสา) “ผมทำงานศิลปะได้ทุกสภาพการณ์ ไม่ว่าอากาศจะร้อน หนาว แม้เวลานั่งอยู่บนเครื่องบินผมก็จะคิดและทำงานเป็นชิ้นงานออกมา ผมไม่เคยปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่ได้ทำงานอะไรเลย”
ดร.กมลเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า เพื่อนๆศิลปินรุ่นพี่รุ่นน้อง และลูกศิษย์ให้กำลังใจเป็นอย่างดีในการจัดงานในครั้งนี้ ศิลปินรุ่นน้องจากเพาะช่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ สนับสนุนผลงานหมายเลข 8 ด้วยเงินสดเป็นฟ่อน ๆเพื่อขนมาซื้องานดังกล่าว
การจัดงานครั้งนี้ใช้เวลาถึง 2เดือนเต็ม นอกจากนั้นระหว่างจัดนิทรรศการยังจัดให้มีการบรรยายพิเศษ สัมมนาวิชาการทางศิลปะ และทำกิจกรรม Art Work Shop เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจเข้าฟังและชมเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้า เห็นการทำงาน ชีวิต ปรัชญา และอุดมการณ์ของศิลปินไทยที่ได้รับการยอมรับทั้งซีกโลกตะวันออกและตะวันตก วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ สาธิตการปฏิบัติการทางศิลปะ โดย กมล ทัศนาญชลี และศิลปินรับเชิญ วันอาทิตย์13 มีนาคม เสวนา 67 ปีโดย กมล ทัศนาญชลี และศิลปินรับเชิญและวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พบศิลปิน กมล ทัศนาญชลี ซึ่งทุกกิจกรรมเริ่มเวลา 14.00น.
ดร.กมลมีเครือข่ายการทำงานเกี่ยวข้องกับโครงการศิลปะต่าง ๆในเมืองไทยหลายสถาบัน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ,มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์วิทยาเขตเพาะช่าง,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.ประสานมิตร) กรุงเทพฯ และองครักษ์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา, มาหวิทยาลัยราชมงคล คลอง 6 ปทุมธานี ,มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ดร.กมล ทัศนาญชลี เกิดที่คลองสาน ธนบุรี เมื่อ วันที่ 17 มกราคม 2487 ในตระกูลช่าง จึงซึมซับความเป็นช่างมาตั้งแต่เกิด เมื่อจบมัธยมก็เข้าศึกษาด้านศิลปะการช่างที่โรงเรียนเพาะช่าง หลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่างเป็นเวลา 5 ปี ขณะที่เรียนเพาะช่างก็สร้างสรรค์งานศิลปะและนำออกแสดงแล้ว ใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินตั้งแต่เป็นนักศึกษาเมื่อเรียนจบโรงเรียนเพาะช่างก็เข้าศึกษาต่อหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา รุ่นที่ 2 (2512) ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
การเรียนที่มหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะแห่งนี้ยังไม่ถึงเทอมก็ได้รับทุนการศึกษาจากฝรั่งใจดีชื่อ บิล อเล็กซานเดอร์ มองเห็นแววของกมลว่าสามารถเอาดีทางศิลปะได้แน่นอน จึงให้ทุนไปศึกษาที่ สถาบันโอติส สหรัฐอเมริกา วิชาเอกภาพพิมพ์ บิลก็ได้ดูแลช่วยเหลือกมล จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ทั้งสองจึงผูกพันกันดุจพ่อกับลูกเลยทีเดียว และกมลเองได้ดูแลคุณพ่อคนที่สองของเขาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยความกตัญญู
ดร.กมลทำงานเพื่อสังคมโดยไม่รู้สึกเป็นภาระหรือเหน็ดเหนื่อยอย่างใดเลย จึงเกิดโครงการความร่วมมือทางศิลปะหลายโครงการ โดยเฉพาะร่วมมือกับศิลปินต่างประเทศ “ผมรวยความคิดมากมายไปด้วยเพื่อนศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อนรุ่นพี่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนีกับเพื่อนศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชั้นนำตลอดจนศิลปินนานาชาติทั่วโลกที่มีปรัชญาความคิดคล้ายๆ กัน ได้รับความร่วมมือด้วยดีเสมอมา” “ผมเดินทางติดต่องานกับศิลปินต่างชาติจนบางครั้งขณะนั่งหลับอยู่บนเครื่องบิน พอตื่นขึ้นมายังนึกไม่ออกว่ากำลังบินอยู่ที่ประเทศไหน” คำกล่าวนี้เป็นที่มาของคำว่า “กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก” คือ โลกตะวันตกและตะวันออก....เขียนโดย: “เมล็ดข้าว” ภาพโดย:”วรรณวิเศษ”