งานขัดสีแบบ Showcar : Polishing like a PRO
24 พฤษภาคม 2013 เวลา 15:05 น.
ผมพบว่า ลูกค้าหลายต่อหลายคน ยังสับสนอยู่เสมอ ระหว่าง "ขัดสี" กับ "เคลือบสี" โดยเฉพาะเวลาเจอลูกค้าใหม่ๆ หรือลูกค้าที่เพิ่งจะมีรถกันใหม่ๆ แล้วสนใจในเรื่องการดูแลรถ จนมีโอกาสได้มาคุยกัน
หลายคน มักตั้งคำถามเริ่มแรกว่า "ร้านนี้ ขัดเคลือบสีเท่าไหร่ครับ/คะ"
ผมต้องคอยตอบว่า มันแตกต่างกันนะ ระหว่าง ขัด กับเคลือบเนี่ย
ขัดสี (polish) คือการขัดลบรอย ลบกันทุกรอยที่ลบได้ ซึ่งอยู่บนผิวรถ และโดยทางอาชีพ เราทำงานกันเฉพาะบนชั้นเหล็ก และชั้นแล็คเกอร์ (clear coat)เท่านั้น (หมายความว่า ไฟเบอร์ หรือพลาสติก ก็ขัดได้ แต่ผลที่ออกมาอาจไม่ดีเท่าผิวเหล็กบนตัวถัง)
เคลือบสี คือการลงแว๊กซ์ (wax) มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปกป้องผิวรถ จากการใช้งานในชีวิตประจำวัน การเคลือบสีเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ คือรถควรมีสภาพ 100% อยู่แล้ว จึงนำรถคันนั้นๆ มาทำการเคลือบเพื่อปกป้องมลภาวะจากการใช้งาน การเคลือบแก้ว (Glass Coating) ก็จัดอยู่ในหมวดนี้ด้วย ดังนั้น การเคลือบสีก็ดี หรือ การเคลือบแก้วก็ดี จึงเป็นการป้องกัน ความเสียหาย ในระดับที่เรียกว่า "ลดความเสียหาย" ไม่ใช่ "ไม่มีทางเสียหาย" การป้องกันดังกล่าว จึงลดความเสียหาย จากการโดนมูลนก ยางไม้ น้ำปูนซีเมนต์ ยางมะตอย คราบไขจากแมลง ไอทะเล ฯลฯ เมื่อเคลือบไปแล้ว ก็ทำความสะอาดได้ง่าย และอาจมีคุณสมบัติเล็กๆน้อยๆที่แตกต่างกันไป ตามคุณภาพ และชนิดของน้ำยาเคลือบ
แต่เคลือบอะไรก็แล้วแต่ เจอหินจากรถบรรทุกดีดใส่ ก็ไปเหมือนๆกัน (หมายถึงเสียหายจนเข้าถึงเนื้อสีโป๊ว Primal Layer หรือชั้นเหล็ก Body Panel)
การเคลือบสี หรือการเคลือบแก้ว จึงไม่ใช่การติดเกราะให้กับรถเรา
อย่าว่าแต่กันกระสุนเลย กันหินก้อนเล็กๆ ยังไม่ได้ อย่างที่บอกไปแล้ว
สรุปอีกที ไม่ว่าจะเคลือบอะไรก็แล้วแต่ ประการแรก และเป็นปัจจัยอันดับต้นๆของการทำรถสวย
คือ ต้องปรับสภาพผิวสี ให้พร้อม และสมบูรณ์ที่สุดก่อน
ทำยังไงล่ะ
คำตอบคือ หัวข้อของเรื่องนี้ ทั้งคาร์แคร์แลร้านทำ Detailing จะพร้อมใจตอบพร้อมเพรียงกัน
นั่นก็คือการขัดสี (Polishing) นั่นเอง
ทีนี้ ไอ้คำว่า "ขัดสี" ก็ยังมีคนที่เข้าใจกันผิดอยู่อีกมาก
อย่างเช่น
"ทำไมร้านคุณขัดสีทีเจ็ดแปดชั่วโมง ทำไมอู่สีในซอยบ้านผม ขัดแค่ชั่วโมงครึ่งเอง"
เออ...น่าคิด
ผมพบคำตอบเมื่อเกือบสิบปีก่อน ว่าทั้ง "อู่สี-Body Shop" และ "ร้าน Detailing" ใช้คำว่า "ขัดสี" เหมือนๆกัน
แต่มีกระบวนการ และขั้นตอนการทำงาน ที่ แตกต่างกัน
80-90% ของอู่สีส่วนใหญ่ ขัดหยาบอย่างเดียว แล้วลงแว๊กซ์เลย อันนี้ว่ากันไม่ได้ คิวงานเค้ายาว ยิ่งอู่ทำสีของประกันด้วยล่ะ
ยิ่งต้องรีบกันใหญ่ ทำไม่ทันรถก็ล้นอู่ รับงานใหม่ๆ ไม่ได้
ร้านทำ Detailing เริ่มจากล้างรถ ขัดดินน้ำมัน นั่งแปะ masking ขัดหยาบทีละชิ้น รถเยินมามีต้องเพิ่มขั้นตอน wet sanding อีก ไล่รอยกันทีละจุด ทีละขีด ...เอ้า ขัดหยาบเสร็จ ต้องมาขัดละเอียดกันต่อ รอยขนแมวหายแล้ว เหลือแต่รอยขนแกะ ต้องมานั่งเก็บรอยขนแกะอีก บางสำนักมีเพิ่มขั้นตอนการขัดชักเงา ดึงเม็ดสีขึ้นมา กว่าจะมาลงแว๊กซ์ได้ หมดไปแล้วครึ่งวัน รถที่ไม่เคยดูแลมาเลย อาจต้องมีทั้งวัน ..รถโดนละอองสีมา อันนี้อาจต้องค้างกันอีกวัน
งานขัดแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า การทำ Showcar ขัดเสร็จ เอาไปจอดในงานแสดงรถได้เลย เพราะเนี๊ยบมาก ไม่มีตำหนิ
ล้างออกมา ก็เหมือนเดิม
ทีนี้เคยเจอมั้ย ว่าทำไม ในกรณี..รถเกิดอุบัติเหตุ เคลมประกัน ทำสีเสร็จแล้ว ยังต้องมาเสียตังค์ขัดที่ร้าน Detailing อีกครั้ง
เจ้าของรถส่วนใหญ่จะพบว่า พอเอารถออกจากอู่สี รถก็ดูเรียบร้อยดี แต่พอผ่านมาสักอาทิตย์ เอาไปล้างเท่านั้นแหละ
หลายคนทะเลาะกับร้านล้างรถมาแล้ว หาว่าเค้าทำรถเราเป็นรอยมั่งล่ะ
ความเป็นจริงคือ "แผลมันโชว์" ครับ ไม่มีไรมาก ร้านล้าง เค้าก็ไม่ได้ผิดอะไร
แต่แว๊กซ์ที่ Body Shop เค้ากลบรอยเอาไว้ เริ่มหมดฤทธิ์ มันเลยโผล่มาหมด โดยเฉพาะในรถสีดำ ทั้งรอยขนแกะ
รอยผ้า รอยริ้วแสง(Hologram) อันเป็นเหตุที่ต้องมาขัดกันใหม่อีกรอบ
รอบนี้ ..เสียตังค์นะจ๊ะ
เอาผิดกับอู่สีได้มั้ย ...ไม่ได้ครับ เพราะเค้าไม่ได้ทำอะไรผิด เค้าทำครบทุกขั้นตอนของเค้า
ธรรมชาติ และ tradition การทำงานเค้าเป็นแบบนี้ หน้าที่ของอู่สี และประกันจบตั้งแต่คุณขับรถออกมาแล้ว
คุณตัดผมร้านนี้ไม่สวย คุณก็ต้องไปแต่งใหม่ที่ร้านอีกร้านนึง ที่ดีกว่า และจ่ายเงินอีกครั้ง เหมือนกันครับ
รถคุณขัดมาไม่สวย(แต่งานเสร็จ) คุณก็ต้องขับรถไปร้าน Detailing อีกรอบ ถ้าอยากให้มันสวยมากขึ้น
ซึ่งมันจะสวยขึ้นแน่นอนครับ ยกเว้นแต่คุณมองมันไม่ออก ว่าอันไหนคือรอยขนแกะที่ยังเหลือ อะไรคือริ้วแสง
กรณีนี้โชคดีไป.. ที่คุณไม่ต้องเสียเงินซ้ำซ้อน
จบกันด้วยคำถามโลกแตก อีกสักรอบ
"แล้วหนูขัดสีกับพี่วันนี้ หนูจ่ายไปตั้งห้าพัน แล้วมันจะอยู่ได้กี่ปีคะ"
คำตอบข้อนี้ง่ายมากครับ มันอยู่ที่ว่า ต่อไป คุณจะดูแลรถที่เพิ่งขัดไปยังไง
แน่นอนว่าตั้งแต่นี้ต่อไป ต้องเริ่มต้นด้วยการเคลือบครับ จะเคลือบสีหรือเคลือบแก้วก็ว่ากันไปตามสะดวก
ตามด้วย การพิจารณาเลือกร้าน ที่จะเข้าไปใช้บริการล้างประจำครับ ต้องเป็นร้านที่มีความรู้ความเข้าใจ
ในการล้างเป็นอย่างดี มีการแยกประเภทของผ้าชัดเจน (ในระดับซีเรียส อาจพิจารณาไปถึงแชมพู หรือโฟมล้างรถ
ที่เค้าใช้ว่าเป็นของถูกๆหรือไม่ มีสาร detergent ผสมหรือไม่ เพื่อป้องกันการทำลายแว๊กซ์ หรือเคลือบแก้ว)
แต่ถ้าไม่เคลือบอะไรเลย วันนี้โดนฝน พรุ่งนี้เข้าปั๊มไปล้าง
ทุกอย่างทีลงทุนไปในวันนี้ หายหมดในวันเดียวครับ