สสส.แฉ ! บารากู่ ยาเสพติดตัวใหม่ มีพิษร้ายกว่าการสูบบุหรี่
เสพโดยใช้หลอดที่ปรุงแต่งกลิ่นสูบผ่านน้ำ เป็นกับดักให้วัยโจ๋อยากลอง
ขณะนี้สถานบันเทิงหลายแห่งใน จ.เชียงใหม่ นิยมเปิดให้บริการนักเที่ยวสูบยาเส้นผ่านเครื่องสูบที่เรียกกันว่า "บารากู่" มีลักษณะการสูบผ่านน้ำ ผ่านหลอดสูบที่ปรุงแต่งกลิ่นมีให้เลือกหลายกลิ่น เช่น กลิ่นสตรอเบอร์รี่ ช็อกโกแลต ฯลฯ จนกลายเป็นที่นิยมของวัยรุ่นเชียงใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
การให้บริการสูบยาเส้นฮุกก้าดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ คือผิดกฎหมายพ.ร.บ.ยาสูบของสรรพสามิตเนื่องจากยาเส้นฮุกก้านั้นถือเป็นสิ่งต้องห้ามไม่อนุญาตให้นำเข้า ผิด พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากยาสูบที่นำเข้ามานั้นต้องมีการแสดงฉลากเตือน เช่นต้องระบุชื่อผู้นำเข้าและมีการติดคำเตือน และยังผิดพ.ร.บ.ศุลกากรซึ่งเป็นสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตเสียภาษี
ปัจจุบันกฎหมายยังไม่สามารถยับยั้งการขายยาเส้นฮุกก้าที่นำไปเสพกับเครื่องสูบบารากู่ในแหล่งบันเทิงได้ เพราะผลกำไรตอบแทนกับบทลงโทษตามแบ่งขายเป็นถุงละ 10 กรัม ต่อการเสพ 1 ชุด ราคาถึง 100-500 บาท ดังนั้นในการดำเนินการต้องบูรณาการหลายหน่วยงาน และครบถ้วนตามกฎหมายทุกฉบับที่มี
นายพิสนธ์ ศรีบัณฑิต เภสัชกร 7 กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการสูบบารากู่ตามสถานบันเทิงขณะนี้ขอแยกออกเป็น 2 แบบหากสิ่งที่นำมาให้ลูกค้าสูบผ่านเครื่องสูบบารากู่ตามสถานบันเทิงนั้น ไม่มีการนำใบยาสูบที่ลักลอบนำเข้ามาเป็นส่วนผสมเป็นเพียงการนำผงจากใบไม้ ผลไม้ ซึ่งไม่มีส่วนประกอบของใบยามาปรุงแต่งกลิ่นให้สูบจะถือว่าไม่นำมาปรุงแต่งกลิ่น หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถือว่าผิดกฎหมาย
กรณีสถานบันเทิงหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่านำใบยาสูบจากต่างประเทศมาให้บริการจะเข้าข่ายความผิดลักษณะเดียวกับการลักลอบนำเข้าซิการ์ที่ไม่ได้เสียภาษี ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายจะมีความผิดมีโทษปรับหลักแสน แต่กรณีที่ไม่ได้ใช้ยาสูบนำเข้าแต่นำเอาใบยาสูบที่ปลูกในประเทศไทย ไปผสมกับมะม่วงกวน ยางไม้ต่างๆ แล้วนำเอาไปให้บริการลูกค้าสูบกันในสถานที่ติดแอร์ซึ่งไม่ใช่สถานบันเทิง เช่น ตามร้านอาหาร สถานที่จัดประชุม ล็อบบี้โรงแรมก็ถือว่ามีความผิดแต่เป็นความผิดตามกฎหมายของสำนักงานสาธารณสุขคือสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบก่อให้เกิดควันบุหรี่มือสอง ผู้สูบจะมีความผิดถูกปรับ 2,000 บาท ส่วนเจ้าของสถานที่ถูกปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นายพิสนธ์กล่าวอีกว่า การให้บริการสูบในสถานบันเทิงนั้น ไม่ว่าจะใช้ใบยาสูบนำเขาหรือใบยาสูบที่ปลูกในประเทศไทย แต่หากพบว่าให้บริการกับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน อย่างไรก็ตามการสูบใบยาผ่านบารากู่นั้นในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพนั้นควันจากการสูบถือว่ามีสารก่อโรคเหมือนเช่นเดียวกับการเผาสูบบุหรี่ คือสูดดมเอาน้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ใบยารวมทั้งสารนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษเข้าสู่ร่างกาย
นอกจากนี้ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องของการใช้สารปรุงแต่งกลิ่นต่างๆ มาผสม ซึ่งมั่นใจไม่ได้ในมาตรฐานของสารที่นำมาใช้ในเครื่องดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการศึกษายืนยันที่ชัดเจนว่ามีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่หลายเท่าหรือไม่ ซึ่งหากเรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเช่นนี้หากเลี่ยงได้ก็ไม่ควรสูบ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้สูบและคนใกล้เคียงที่จะรับควันบุหรี่มือสองเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการที่วัยรุ่นอาจนำเอาสารเสพติดประเภทกัญชา ยาอี ยาไอซ์ หรือสารเสพติดชนิดอื่นเข้าไปผสมเพื่อสูบได้ง่าย เปิดโอกาสให้นักเที่ยวตามสถานบันเทิงนำยาเสพติดเข้าไปใช้ร่วม
เครดิตเวบ
http://www.thaihealth.or.th