เชียงราย - สวนยางพาราเมืองพ่อขุนฯ ส่อทะลุล้านไร่ ขึ้นแท่นอันดับ 4 ประเทศ ทุนใหญ่ไทย-จีนจ่อตั้งโรงงานแปรรูป
รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เชียงราย แจ้งว่า จนถึงขณะนี้เชียงราย มียอดรวมการปลูกยางพาราทั่วทั้ง 18 อำเภอ มากถึง 347,857 ไร่ โดยพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุดคือ อ.เชียงของ จำนวน 58,560 ไร่ รองลงมาคือ อ.เทิง จำนวน 43,258 ไร่ อ.ดอยหลวง จำนวน 40,150 ไร่ อ.เวียงเชียงรุ้ง 31,576 ไร่ อ.พญาเม็งราย 25,790 ไร่ อ.เวียงแก่น 25,427 ไร่ อ.เมือง 20,890 ไร่ อ.เวียงชัย 16,062 ไร่ อ.แม่จัน 14,970 ไร่ อ.แม่สรรวย 8,870 ไร่ อ.เวียงป่าเป้า 8,620 ไร่ อ.พาน 8,400 ไร่ อ.แม่ฟ้าหลวง 6,420 ไร่ อ.แม่ลาว 4,610 ไร่ อ.ขุนตาล 4,140 ไร่ อ.ป่าแดด 2,530 ไร่ และ อ.แม่สาย 494 ไร่ เป็นมีต้นยางที่อายุเกิน 6 ปีและมีการกรีดน้ำยางไปแล้วประมาณ 10%
ส่วนโครงการขยายพื้นที่ปลูกอีก 8 แสนไร่นั้น ปรากฏว่าได้ทำให้แนวโน้มสวนยางพาราในพื้นที่เชียงราย เพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากมีผู้เสนอขอเข้าร่วมโครงการไปยัง สกย.เชียงราย จำนวนกว่า 86,000 ราย รวมเนื้อที่ปลูกกว่า 1 ล้านไร่ ขณะที่แนวโน้มการจัดสรรพื้นที่ปลูก ที่จะเน้นหนักภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อคำนวณจากอัตราเฉลี่ยทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนืออาจจะได้โควตาเฉลี่ยจังหวัดละเพียงประมาณ 10,000 ไร่
นายวิทยา ชุมวณิชย์ ผู้อำนวยการ สกย.เชียงราย กล่าวว่า ต้องถือว่าพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงรายนั้นพึ่งจะเริ่มต้นทำการปลูกยางพาราโดยนับตั้งแต่มีโครงการยางล้านไร่สมัยรัฐบาลในอดีตเป็นต้นมาก็พบว่าปลูกกันไม่เกิน 7 ปี และแม้จะมีเอกชนปลูกนอกโครงการบ้างก็ยังมีอยู่เพียงไม่กี่ราย ดังนั้นการที่มีจำนวนสวนยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแบบก้าวกระโดด จึงมีปัญหาเรื่องความชำนาญของเกษตรกร เพราะเจ้าหน้าที่ สกย.มีอยู่จำนวนจำกัดจึงต้องแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้สายเกินไป เพราะบางปัญหาถือเป็นเรื่องใหญ่และน่าเสียดายอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น การกรีดน้ำยางต้องทำในต้นที่มีลำต้นกว้างไม่น้อยกว่า 50 ซ.ม.และการกรีดหน้ายางต้องทำให้ถูกต้องไม่เสียหน้ายางจะได้ผลักกันกรีดด้านละ 3 ปีสลับกันไปมาจนกว่าจะหมดอายุต้นยางในอีก 20 ปีข้างหน้า ฯลฯ แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือเมื่อเกษตรกรเห็นราคาน้ำยางและยางแผ่นขึ้นสูงก็รีบกรีดทำให้ไม่ได้น้ำยาง หรือกรีดยางไม่ถูกต้องทำให้หน้ายางตายไม่สามารถกรีดซ้ำได้อีกจนเสี่ยงต่อการต้องตัดขายลำต้นก่อนเวลาอันควรในที่สุด เป็นต้น ดังนั้น สกย.จึงได้ประสานไปหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้จัดทำโครงการฝึกอบรมการเกษตรกรเป็นระยะเวลา 7 วันโดยทาง สกย.พร้อมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ไปสนับสนุน เพราะจำนวนประชากรมีมากและกระจายไปทั่วพื้นที่คงต้องอาศัยหน่วยงานต่างๆ ด้วย
นายวิทยา บอกว่า คาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เชียงราย จะมีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศต่อจาก สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง ฯลฯ ส่วนความกังวลเรื่องตลาดนั้นไม่น่าเป็นห่วงเพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าในปัจจุบันยางพาราของไทยส่วนใหญ่เน้นการส่งออก จีนสูงถึง 39% อินเดีย 17% ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์และการเจริญช่วงต้นของเศรษฐกิจคาดว่าตัวเลขของอินเดียคงจะไปถึงอย่างน้อย 39% เหมือนจีนและอัตราเติบโตยังต่อเนื่องจนไทยเราผลิตไม่ทันทำให้เหลือใช้ในประเทศแค่ 4%
ขณะเดียวกันเชียงราย ยังมีขีดความสามารถจะส่งออกไปยังจีนตอนใต้ผ่านถนน R3A อ.เชียงของ-ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว และแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว-มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ด้วยระยะทางเพียงแค่ 250 กิโลเมตร โดยปัจจุบัน สกย.กำลังผลักดันให้มีการตั้งสำนักงานเพิ่มเติมที่ด่านเชียงของ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการส่งออกยางพาราไปยังจีนตอนใต้แล้วด้วย
"ปัจจุบัน สกย.ได้เตรียมตัวในหลายๆ ด้านเพื่อรองรับความเติบโตดังกล่าว โดยในพื้นที่เชียงรายมีการรวบรวมกลุ่มเกษตรกรได้แล้วจำนวน 42 กลุ่มเป็นสหกรณ์สวนยางพาราจำนวน 2 แห่ง และกลุ่มพัฒนาสวนยางพาราจำนวน 40 แห่ง เพื่อเป็นเครือข่ายประสานข้อมูลกันและจัดตั้งเป็นตลาดประมูลยางพาราเพื่อให้เอกชนที่รับซื้อได้เข้าไปซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทั้งหมดในราคายุติธรรม และทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยราคาที่ได้เป็นไปตามการอิงกับราคากลางตามหมายเลขสายด่วน 1174 บวกกับค่าต้นทุนของพ่อค้าที่เขาต้องเดินทางไปรับซื้อไกลและขนไปรมควันยังจังหวัดอื่นเพราะในปัจจุบันเชียงรายยังไม่มีโรงงานรมควันและแปรรูป แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีต้องมีแน่นอนเพราะมีทั้งแหล่งน้ำยางขนาดใหญ่และจุดส่งออกที่สำคัญ" นายวิทยา กล่าว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีเอกชนแปรรูปยางพารารายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศจีน เดินทางไปปรึกษาที่สำนักงาน สกย.เชียงราย เพื่อสอบถามข้อมูลการจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปยางโดยระบุว่า กำลังตัดสินใจว่าจะไปตั้งโรงงาน ณ จุดใดระหว่างในประเทศเวียดนามหรือที่เชียงราย และหลังจากได้ข้อมูลอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องดังกล่าว รวมทั้งได้รับทราบว่าไม่ได้เป็นเอกชนรายเดียวที่สนใจเข้าไปตั้งโรงงานโดยก่อนหน้านี้มีเอกชนไทยรายใหญ่หลายรายเข้าไปประกอบกิจการทั้งกว้านซื้อที่ดิน ปลูกยางพารา และเตรียมตั้งโรงงาน เช่น บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) องค์การสวนยาง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มเบียร์สิงห์ กลุ่มน้ำยางไทย ฯลฯ ทำให้เอกชนจีนนำข้อมูลทั้งหมดกลับไปพิจารณาเพื่อการลงทุนในอนาคตต่อไป
อนึ่งเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมายางแผ่นรมควันถูกส่งออกผ่านท่าเรือแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน ไปยังจีนตอนใต้ 21,327 ตัน มูลค่า 1,361.05 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าส่งออกมากเป็นอันดับ 1 มากกว่าลำไยอบแห้ง น้ำมันปาล์ม เส้นด้ายยางยืด ฯลฯ อย่างไรก็ตามในช่วงหลังการส่งออกน้อยลงเนื่องจากหันไปส่งออกทางเรือทะเลได้สะดวกจึงทำให้เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา มีการส่งออก 4,594 ตัน มูลค่า 244.14 ล้านบาท และหากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแล้วเสร็จประกอบกับมีการเปิดใช้ถนน R3A รวมทั้งข้อตกลงขนส่งทางบกอย่างเป็นทางการจะทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกทางถนน R3A สู่จีนตอนใต้มากขึ้น ซึ่งปีกลายที่ผ่านมาเริ่มมีการทดลองส่งออกผ่านด่านศุลกากรเชียงของและนำลงเรือแพขนานยนต์ข้ามไปยังฝั่ง สปป.ลาว แล้วจำนวน 748 ตัน มูลค่า 35.266 ล้านบาท
http://www.manager.co.th/Local/ViewN...=9530000131252