การทานทอด หรือที่ชาวล้านนา เรียกว่า“ตานต้อด” คือการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ เช่น คนชราที่ขาดลูกหลานมาดูแลหรือคนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ยากจน ไม่สามารถช่วยแหลือตนเองได้โดยมีผู้นำ ซึ่งอาจจะเป็นผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำการจัดพิธีนี้ ในสมัยก่อนการอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นวิสัยของชาวชุมชนโบราณ ต่างจากสังคมสมัยปัจจุบันที่เริ่มจะอยู่แบบปัจเจกชนมากขึ้น ตัวใครตัวมันเนื่องจากในสมัยก่อน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนยังเข้าไปไม่ถึงชุมชนชนบทที่อยู่ห่างไกล ชาวบ้านจึงดูแลสงเคราะห์กันเอง เมื่อมีผู้ด้อยโอกาสทางสังคมขึ้นมาในชุมชน จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำและชาวบ้านที่จะช่วยเหลือหยิบยื่นความเมตตา อุปถัมภ์ จึงเกิดประเพณี “ทานทอด” นี้ขึ้นมา และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา
ต่อมาประเพณีนี้ได้เลือนหายไปจากชุมชนในระยะหนึ่งรวมถึงการเลือนหายไปจากวิถีปฏิบัติของชาวล้านนาทั่วไปด้วย ในระยะหลังมานี้ชุมชนศรีดอนมูลจึงได้รื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และได้มีการเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแผนงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตในตำบล โดยจัดสรรงบประมาณโครงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในทุกหมู่บ้านและวิธีที่จะนำปัจจัยไปใช้สงเคราะห์ผู้ยากไร้เพื่อให้ได้เกิดผลในเชิงบูรณาการ ก็คือการจัดพิธีทานทอดนี้นี่เอง โดยชมรมวัฒนธรรมและหมู่บ้านช่วยกันจัดทำ โดยพิธีการมีรายละเอียดดังนี้
จากคำบอกเล่าของลุงหนานสมบูรณ์ ยั่งยืน ท่านได้เล่าถึงขั้นตอนที่การทานทอดเริ่มจากชาวบ้านนำสิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค เสื้อผ้า หรือตามแต่จะหาได้ในชุมชน ให้นำมารวมกันไว้ ณ บ้านที่เป็นศูนย์รวมหรือที่วัด พอตกค่ำมืดก็จะนำสิ่งของเหล่านั้นไปทอดให้ผู้ยากไร้ที่สมควรได้รับการสงเคราะห์ โดยมิได้บอกกล่าวให้เจ้าตัวนั้นได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า เมื่อคณะผู้ไปทานเดินทางไปใกล้จะถึงบ้านของผู้รับทานแล้ว ก็จะห้ามมิให้ส่งเสียงใดๆ แล้วจะย่องเอาของไปวางไว้ตรงนอกชานหรือตรงหน้าประตูบ้าน และแอบซุ่มซ่อนตัวมองดูอยู่ห่างๆ แล้วจุดประทัดให้เกิดเสียงดังจนเจ้าของบ้านตกใจซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนชรา บางคนตกใจจนอกสั่นขวัญหนี ในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าการแอบซ่อนตัวจึงทำได้ไม่ยาก เมื่อผู้รับทานออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นนั้นก็จะต้องแปลกใจที่เห็นข้าวของวางอยู่และคิดว่าอาจจะมีใครเอามาฝากไว้ก่อนแล้วไปทำธุระส่วนตัว หรือมีความจำเป็นต้องวางของไว้ตรงนี้ก่อนกระมัง จึงรอดูเจ้าของก่อนแต่พอเวลาผ่านไปนานพอประมาณ ก็ไม่มีใครมาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของสิ่งของเหล่านั้น ท่านก็จะพูดว่า“ของนี้เป็นของผี หรือว่าของคนถ้าเป็นของคนก็ให้มารับไป แต่ถ้าไม่ใช่จะถือว่าเป็นลาภลอยมาโดยไม่รู้ตัว”ว่าแล้วก็กล่าวอวยชัยให้พร “ขอให้ผู้ที่เอาของมาให้นี้จงอยู่สุขสบาย มีโชคมีลาภเหมือนที่ตนได้รับนี้ด้วยเทอญ”เมื่อกล่าวจบผู้ที่นำของมาทานที่แอบซุ่มตัวอยู่ก็จะพากันเปล่งเสียงว่า“สาธุ”แล้วก็ออกมาปรากฏตัวให้เห็นเป็นที่สนุกสนาน ชื่นใจอิ่มเอิบใจกันทั้งผู้ให้และผู้รับ เชื่อกันว่าถ้าผู้ได้รับทานตกใจมากเท่าใด ผู้ทานก็จะได้อานิสงค์มากยิ่ง
นับว่าประเพณีทานทอด(ตานต้อด) นี้เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ได้ถือปฏิบัติกันมา เพื่อเป็นการสั่งสอนให้ลูกหลานมีความเอื้ออาทร โอบอุ้มช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ใครมีทุกข์ก็อย่านิ่งดูดาย การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้นเป็นสิ่งประเสริฐที่ควรทำ สมดังที่คำพระสอนเสมอว่า“เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก”นั่นเอง




ข้อมูลจาก
www.sridonmool.com