'ยิ่งลักษณ์' สั่งฟื้นเมกะโปรเจกต์ ใช้งบล้านล้านบาทปูพรมทั่วประเทศ!รัฐบาล“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เดินตามรอย “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งงัดสารพัดโปรเจกต์เก่า ผุดโปรเจกต์ใหม่ ลุยโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้า-รถไฟรางคู่-ไฮสปีดเทรน มั่นใจฉุดเศรษฐกิจฟื้น
การโหมลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยมีเป้าหมายเป็นฟันเฟืองฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู เป็นงานถนัดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ใช้การลงทุนเมกะโปรเจกต์เป็นตัวกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศในขณะนั้นกลับมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
มาครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นกุนซือตัวจริงในการบริหารจัดการประเทศให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลชุดนี้ จะใช้วิธีการเร่งลงทุนสารพัดโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้พลิกฟื้นขึ้นมาเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่รัฐบาลทักษิณ ทำสำเร็จมาแล้ว
โครงการเมกะโปรเจกต์อันดับต้น ๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด เทรน) โครงการรถไฟทางคู่ ถนนวงแหวน ถนนสายหลักและสายรอง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งอย่างสมบูรณ์
“การลงทุนโครงการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะช่วยให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง มีการจ้างงานจำนวนมากทั่วประเทศ ที่สำคัญจะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆด้วย”
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเมกะโปรเจกต์ที่สมัยรัฐบาล ทักษิณ ต้องการให้เกิดการลงทุน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการ เพราะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อนจนทำให้ต้องเปลี่ยนรัฐบาล
การลงทุนเมกะโปรเจกต์ไม่เพียงแค่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโต แต่ยังช่วยให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาประเทศ และยังเป็นการช่วยลดต้นทุนระบบโลจิส ติกส์อีกมาก โดยตั้งเป้าลดต้นทุนลงจากปัจจุบัน 17.9% เหลือ 15% ภายในปี 2561 หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลงได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันในระดับประเทศได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนการขนส่งสินค้าเป็นต้นทุนหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มฐานเสียงให้รัฐบาลได้อีกด้วย เพราะหากภาวะเศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่ดี กินดี ก็ต้องชื่นชอบรัฐบาลซึ่งเท่ากับว่า ช่วยยืดอายุรัฐบาลให้อยู่ครบเทอม
เร่งรถไฟฟ้า 10 สายทาง
มั่นใจปี 58 ใช้ระบบตั๋วร่วม
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทางให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้นจากเดิมที่วางเป้าหมายไว้ปี 2562 ใช้งบลงทุนรวมประมาณ 370,000 ล้านบาท โดย 6 สายทางแรก จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 จะเริ่มใช้ระบบตั๋วร่วมและค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ได้ในปี 2558 รวมถึงจะเสนอให้รัฐบาลลงทุนระบบรถไฟฟ้าและจ้างเอกชนมาเดินรถในสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ)
โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง จากกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-หัวหิน และต่อขยายเส้นทางโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ต ลิงก์) ไปยังจังหวัดระยอง รวมเงินลงทุน 780,000ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ ระยะทาง767 กิโลเมตร ถนนมอเตอร์เวย์ 5 สาย ระยะทาง707 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 179,000 ล้านบาท โดยในปี 2556 จะดำเนินการสายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะ199 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 60,000ล้านบาท ซึ่งจะลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP
ทางด่วนสายใหม่ ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 27,000ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2555 โครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 3 พร้อมเส้นทางน้ำหรือฟลัดเวย์ ระยะทาง100 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 160,000ล้านบาท ซึ่งจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อบรรจุในแผนแก้น้ำท่วมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) และกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
ขณะเดียวกัน มีแผนจะขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 ภายในปี 2560เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะเร่งเปิดใช้ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ภายในปี 2555และอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา เชื่อมท่าเรือทวาย เขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานีขนส่งสินค้าชายแดน และจัดหารถเมล์ NGV 4,000 คัน ด้วยเสนอวิธีซื้อ 3,000 คัน วงเงินกว่า 10,000ล้านบาท
สำหรับโครงการที่กระทรวงคมนาคมเปิดดำเนินการแล้ว ในช่วง 4 เดือน ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการ ได้แก่ โครงการสะพานข้ามโขงแห่ง ที่ 3 นครพนม-คำม่วน เปิดใช้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และโครงการรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เปิดใช้ 12 มกราคมนี้

เล็งบาร์เตอร์เทรดไทย - จีน
นำร่อง“ไฮสปีด เทรน”
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้ใช้วิธีการลงทุนแบบการค้าแลกเปลี่ยนหรือ BARTER TRADE (บาร์เตอร์เทรด) เพื่อประหยัดเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด เทรน) โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงกว่า 100,000ล้านบาท
ทั้งนี้ การเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน จะเสนอแนวทางดังกล่าวด้วยเพื่อให้ไทยและจีนหารือร่วมกัน เบื้องต้นต้องการใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดอย่างน้อย 50% แต่หากสามารถเจรจาโดยใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดทั้งหมด 100% ก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวม ซึ่งการเจรจานั้นจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลสินค้าที่จะใช้แลกเปลี่ยน
หากใช้วิธีการลงทุนแบบบาร์เตอร์เทรดได้ก็จะช่วยลดการลงทุนได้มาก ส่วนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น น่าจะทยอยดำเนินการก่อสร้างทีละสายทาง เพราะแต่ละสายทางใช้เงินลงทุนมาก หากต้องลงทุนพร้อมกันทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศได้
สนข.เด้งรับลูก
เร่งศึกษา 4 สายทาง
ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 4 สายทาง ได้แก่ 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ วงเงินประมาณ 220,000ล้านบาท 2.กรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงินประมาณ 82,100 ล้านบาท 3. กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย วงเงินประมาณ 96,800 ล้านบาท และ 4. กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-อู่ตะเภา-ระยอง วงเงินประมาณ 72,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะสามารถลงนามก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ภายในปี 2557 และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2560
ขณะที่วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่พิจารณา เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ รวมถึงการขนส่งสินค้าภาคเหนือให้มีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย เพราะปัจจุบันระยะทาง 180 กิโลเมตรแต่ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 4 ชั่วโมง เชื่อว่าการสร้างมอเตอร์เวย์จะช่วยร่นระยะทางและประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าและอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น และสุดท้ายในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน คือ รถไฟรางคู่ ตามแผนของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งนานเกินไปจะมีการเสนอให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000004668