การออกเสียง แบบ ออสซี่ (หรือ อีกนัยหนึ่งคือ การฟังออสซี่ให้ออก)
คำศัพท์ที่ผมจะยกตัวอย่างนี้ เป็นศัพท์ง่ายๆ ของนักเรียนระดับประถมศึกษาเลยครับ ไม่ได้เป็นศัพท์ยากแต่ประการใด และสำเนียงที่ได้นี้ ก็มาจากสำเนียง ชาวบ้านทั่วไปในชีวิตจริงครับ ซึ่งเขาจะออกเสียงเหน่อกว่าผู้อ่านข่าวในเทเล (Tele แปลว่า Television ทีวีครับ เป็นสำนวนวัยรุ่นครับ)
ท่านผู้อ่านลองอ่านดูซิครับ แล้วดูซิว่า ใครบ้า (ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยเดินทางมาออสเตรเลียอาจจะคิดว่า “ผมบ้า” เขียนคำอ่านออกมาได้อย่างไร ไม่เหมือนฟังข่าว CNN) แต่ผมขอบอกไว้ก่อนว่า ถ้าหากท่านมาเยือนออสเตรเลียเมื่อไหร่ ท่านจะรีบถามหาผมโดยทันทีแน่ๆครับ และท่านก็จะรู้ว่า “ฝรั่งยิ่งอยู่ไกลปืนเที่ยง ก็ยิ่งเหน่อ” ที่ผมพูดถึงบ่อยๆ นั้น มันจริงขนาดไหน ขอยกตัวอย่างเลยนะครับ
คำบางคำ นั้น ............
เปลี่ยน สระ เอ เป็น สระ ไอ เช่น Day (อ่านว่า ได/ดาย ไม่ใช่ เดย์), G’day mate (อ่านว่า กึได ไม้ท์), Today (อ่านว่า ทียู-ได ไม่ใช่ ทูเดย์)
เปลี่ยน สระ ไอ เป็น สระ “ออ-ไอ” (แต่ถ้าออกเสียงเร็วๆ ก็จะเป็นสระ “ออย”) เช่น night (อ่านว่า น๊อยท ไม่ใช่ ไนท์)¸ right (อ่านว่า ร้อยท์ ไม่ใช่ ไร้ท์), fight (อ่านว่า ฟ๊อยว์ ไม่ใช่ ไฟ้ท์), five (ฟ๊อยว์ ไม่ใช่ ไฟว์), you are nice (ยีอู-รา น๊อยซ์), nine dollars (นอยน์ ดอล-หลัส), mobile (อ่านว่า โม-บอย หรือเร็วๆ ทำนอง โมโบ แปลว่า โทรศัพท์มือถือครับ ประเทศนี้ ไม่มี Cell Phone), fire (อ่านว่า ฟอย–เอ้อ ของแท้ต้องมีเอ้อ ด้วย แปลว่า “ไฟ”), wine (อ่านออกเสียงกึ่ง ไวน์ และ วอยน์)
เปลี่ยนสระ เอา/อา/อาว เป็นสระ แอว เช่น about (อ่านว่าอะแบ๊วท์ ไม่ใช่ อะเบ้าท์), around (อ่านว่า อะแรวน์ด์ ไม่ใช่ อะราว), roundabout (อ่านว่า แรว-แดะ-แบ้วท์ ไม่ใช่ ราวอะเบ้าท์ คำนี้แปลว่า ที่วนรถตรงสี่แยก หรือสี่แยกไม่มีไฟสัญญาณจราจร เป็นเอกลักษณ์ของถนนออสเตรเลียครับ ถ้ามาต้องพบแน่), Hour (อ่านว่า แอว ไม่ใช่ อาว), 24 hours (อ่านว่า ทเว้นดิ-ฟอร์-แรวส์ ไม่ใช่ ทเว้นตี้โฟอาเวอร์ส์), Town อ่านว่า (แทวน์ ไม่ใช่ ทาวน์)
เปลี่ยนสระอู เป็นสระ “อี-อู” เช่น Two (อ่านว่า ทียู ไม่ใช่ “ทู” เฉยๆสำเนียงมันไทยเกินไป), Moon (อ่านว่า มียูน ไม่ใช่ มูน), Perfume (อ่านว่า เฟอ-ฟียูม ไม่ใช่ เฟอร์ฟูม)
เปลี่ยนเสียงลงท้าย “ต เต่า” เป็น “ด เด็ก” เช่น City (อ่านว่า ซี้ดี่ ไม่ใช่ ซิตี้ แปลว่า ในเมือง หรือที่อเมริกันเรียก Downtown), Computer (อ่านว่า คอมพิยูด้า), Centre,(อ่านเร็วว่า เซ้นเดอร์ อ่านช้าๆ ว่าเซนเตอร์ แล้วสะกด ตัว R มาก่อนตัว E ด้วย เพื่อความเท่ห์ มีความรู้สึกเหมือนพยายามอ่านภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน), Reality อ่านว่า (รีย้าริดี้)¸ Bottle (อ่านว่า เบ๊าะ-โด้ล)
เปลี่ยนเสียงสระ เออ เป็น สระ อา เช่น Computer (ยกตัวอย่างไว้แล้วเห็นไหมครับ), Water (อ่านธรรมดาว่า ว้อด้า อ่านช้าๆ ว่า ว้อท่า/ว้อ เท่อ), Twenty (อ่านว่า ทเว้น-ดิ)
เปลียนสระ ออ เป็น สระโอ เช่น Hall (อ่านว่า โฮล ไม่ใช่ ฮอล), Townhall (แทวนึ-โฮล), George Street (อ่านว่า โจ๊ช สตรีท ไม่ใช่ จ๊อร์จ สตรีท), George Bush (คงอ่านกันได้แล้วนะครับ)
เปลี่ยนสระ เอ้น เป็นสระ อึ้น เช่น Mountains (พอฝรั่งเผลอๆจะอ่านว่า เม้า-อึ้นส์ อ่านแต่ถ้าไม่เผลอว่า เม้าทึ่น/เม้าเท่น ) เช่นคำว่า The Blue Moutains, Martin (ตอนฝรั่งเผลอ อ่านว่า “ม้า-อึ้น” ตลกจริงๆ คำนี้เป็นชื่อคนครับ)
ตามที่ยกตัวอย่างมาให้นี้ หากออกเสียงได้ ตามที่ผมเขียน แบบไทยๆ รับรองครับว่า ฝรั่งออสซี่ต้องถามว่า "ใครสอน?” ความรู้สึกจะเหมือนกับ ตอนที่คนไทย ชอบสอน ภาษาตลกๆ ทะลึ่งๆ ให้ฝรั่ง แล้วฝรั่งก็พูดชัดเป๊ะอย่างไรอย่างนั้นเลย
ตัวอย่างในชีวิตจริง ถ้าไปร้านอาหาร เราหิวน้ำ เราสั่งพนักงานเสิร์ฟ ว่า “ขอน้ำหน่อย”
ถ้าเป็นวัยรุ่นต้องใช้ประโยคจ๊าบๆ แบบนี้ Can I have some water, Thanks? อ่านว่า “ข้าน้อย แฮฟ ซำ วอด้า แต้งส์” บางทีพนักงานเสิร์ฟต้องถามเราสองรอบเพราะเขาไม่แน่ใจในสิ่งที่เราพูด ให้ลองฝึกไปจนกว่าจะเลิกถูกถามซ้ำนะครับ
อีกตัวอย่าง หนึ่ง เช่น ถ้าเรานอนป่วยหนักอยู่ที่บ้าน แล้วฝรั่งถามว่า “อาร์ยา โกอิ๋น ทียู เดอะโฮสพิโทล ที-ยูดาย?”
เขาหมายถึง “Are you going to the hospital today?” (วันนี้เธอกำลังจะไปโรงพยาบาลใช่ไหม)
อย่าแปลเป็นประโยคนี้ “Are you going to the hospital to die?” (วันนี้เธอกำลังจะไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลใช่ไหม) จะยิ่งทรุดหนักเข้าไปใหญ่
เห็นไหมครับเรื่อง การออกเสียง สามารถช่วยการฟังของเราได้มากจริงๆ ผมยังมีเรื่องอีกมากครับ
พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
