
ที่มา
http://social.tnews.co.th/contents/210621/วันนี้ ( 28 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมประชาคม 4 หมู่บ้านใน ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อขอฉันทามตินำพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองขนาด 2,322 ไร่ มารองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2559 ตามข้อสั่งการของ บุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผวจ.เชียงราย นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมที่จะมอบพื้นที่ป่าชุมชนให้รัฐบาลไปใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม
บรรยากาศการประชุมประชาคมชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 10 ในเวลา 10.00 น. ซึ่งมีตัวแทนอำเภอเชียงของ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงราย สภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เป็นไปด้วยความขัดแย้ง เนื่องจากชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลโครงการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาก่อน ที่สำคัญคือการจัดประชุมดังกล่าวแจ้งให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น
สำหรับผลการโหวตด้วยการยกมือ มีชาวบ้านเพียง 20-30 รายที่เห็นด้วยกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนชาวบ้านส่วนใหญ่หลายร้อยคนเห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วย ที่สุดแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้จนต้องล้มเลิกการจัดเวที เช่นเดียวกับเวทีประชาคมชาวบ้านหมู่ที่ 5 และหมู่ 8 ซึ่งจัดขึ้นในเวลา 13.30 น.ของวันเดียวกัน แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะกำชับไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น แต่ก็ยังเกิดข้อถกเถียงในหลายประเด็นคล้ายคลึงกับเวทีที่หมู่ 1 และหมู่ 10 เมื่อช่วงเช้า ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าไม่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ป่าเช่นกัน ที่สุดแล้วเวทีก็ถูกล้มเลิกไปโดยไม่มีข้อสรุป
นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การประชุมช่วงเช้า เปิดเผยว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการจัดประชุมครั้งนี้รวบรัดเกินไป ที่สำคัญก็คือจัดตรงกับวันที่มีกิจกรรมงานบุญของตำบล ทำให้ชาวบ้านอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้ามาร่วมเวทีได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าการจัดประชุมไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้เพียงพอ ขณะที่ตัวแทนของหน่วยงานก็ไม่มีการชี้แจงเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่ชี้แจงว่าจะใช้พื้นที่ป่ารองรับอุตสาหกรรมประเภทใด
" สุดท้ายเมื่อประชาคมไม่สำเร็จก็มีการแจ้งว่าอาจเปิดประชามติอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันจันทร์ ซึ่งรอบนี้น่าจะเป็นรูปแบบกาบัตรลงคะแนนเลย เราจึงสงสัยว่าทำไมต้องเร่งรีบกันขนาดนี้ ทั้งที่เวทีก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และตอนท้ายเวทีก็เกือบจะทะเลาะกัน ชาวบ้านมองว่านี่ไม่ใช่ทางออกแต่กลับยิ่งสร้างความขัดแย้ง โดยจากนี้จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาช่วยตรวจสอบ" จีระศักดิ์ กล่าว
นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำอิง หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การประชุมเวทีในช่วงบ่าย กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่จัดเวทีประชาคม ตรงกับการจัดพิธีบุญร่วมสวดมนต์รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้คนเฒ่าคนแก่และผู้ที่ใช้ประโยชน์จากป่าส่วนใหญ่ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสเพื่อรวบรัดการทำประชาคมหรือไม่

" ในเวทีเขากำชับไม่ให้คนนอกเข้า ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นรุ่นลูกหลานบุญเรืองที่กลับภูมิลำเนามาทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่ได้ย้ายชื่อกลับเข้าทะเบียนบ้าน ก็ถูกปิดกั้นไม่ให้แสดงความคิดเห็นด้วย " นายไกรทอง กล่าวย้ำ
วันเดียวกันนี้ ทางสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ได้ทำหนังสือถึง ผวจ.เชียงราย เพื่อคัดค้านการนำพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตพื้นที่ ต.บุญเรือง เพื่อใช้ในการพัฒนาจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย โดยระบุว่า ป่าบุญเรืองหรือพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นผืนป่าชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง ซึ่งชาวบ้านมีการใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากิน เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้านใน ต.บุญเรืองและ ต.ห้วยซ้อ มากว่า 200 ปี
ความตอนหนึ่งในหนังสือ ระบุว่า หากมีการดำเนินการเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายในพื้นที่ลุ่ม น้ำอิง จะส่งผลกระทบต่อสิทธิการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ และสร้างความเสียหายของระบบนิเวศลุ่มน้ำอิง เนื่องจากหากมีการถมพื้นที่จะทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน คนในชุมชนจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหาร รวมไปถึงผลกระทบจากฝุ่น ควัน เสียง มลภาวะทางอากาศและสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป อาจจะทำให้แหล่งน้ำเกิดการปนเปื้อน ส่งผลกระทบคนในชุมชนและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
" สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ในฐานะที่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นในการจัดการลุ่มน้ำอิง ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย โดยขอให้มีการยกเลิกไม่ให้มีการเข้ามาใช้พื้นที่ชุ่มน้ำบ้านบุญเรืองทั้ง 5 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ 2,322 ไร่ เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย รวมทั้งโครงการพัฒนาอื่นๆ"
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ประกาศให้ป่าบุญเรืองเป็นที่ดินเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์ตั้งแต่ปี 2515 โดยในเอกสารระบุว่ามีเนื้อที่ 3,012 ไร่ ที่ผ่านมา มีความพยายามหลายครั้งในการแปรสภาพ-เพิกถอนสถานะผืนป่าแห่งนี้ให้กลายเป็น "ที่ราชพัสดุ" ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ในปัจจุบันที่ดินใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 5-6 ล้านบาท ทำให้เอกชนไม่กล้าเข้ามาซื้อเพื่อลงทุน นอกจากนี้ สาเหตุหนึ่งที่รัฐยังดำเนินการไม่สำเร็จ เป็นเพราะชาวบ้านบุญเรืองหมู่ 2 ซึ่งมีเนื้อที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณไม่ยินยอม และร่วมกันต่อต้านมาโดยตลอด และเป็นที่น่าสังเกตุว่าการจัดประชาคมครั้งนี้ ไม่มีการเชิญชาวบ้านจาด "หมู่2" เข้ามาร่วมแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews)