รถที่จมน้ำอยู่สองสามวัน ยังไม่ต้องห่วงสนิมนะครับ เพราะไม่มีออกซิเจนมาผสม ทำให้สนิมยังไม่เกิด
ดังนั้น พอน้ำลด จะลากรถไปอู่ ค่อยทำให้รถแห้งสักหน่อยก่อน อันนี้ป้องกันไว้ก่อน
แล้วค่อยเอาไปอู่ หรือจะดูรถเองก็แล้วแต่ ทั้งอู่ทั้งช่าง และทั้งคุณ ควรจะทำเป็นลำดับดังนี้ครับ
• ถอดแบตเตอรี่ออก คว่ำเอาน้ำกลั่นออก แล้วส่งไปเติมน้ำกรด อัดไฟฟ้าช้าช้า ไม่เกิน 5 แอมป์ ราวแปดชั่วโมง
• ก่อนถอดแบตเตอรี่ อย่าทดสอบใดใดที่จะทำให้เครื่องยนต์หมุน เพื่อดูว่าติดเครื่องยนต์ได้หรือไม่ โดยเด็ดขาด
• น้ำอาจจะเข้าไปอยู่ในกระบอกสูบ อาจจะเท่านั้นก็พอแล้ว แต่น้ำจะไม่อัดตัวเหมือนอากาศ เวลาถูกบีบก็อาจจะทำให้ก้านสูบคดได้เลย
จากนั้น ก็กลับมาถอดหัวเทียน สำหรับรถยนต์เบนซิน หรือหัวฉีด สำหรับรถยนต์ดีเซล
โดยปกติ เครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรล หัวฉีดตัวไหนต้องเป็นตัวนั้น อย่าสลับหัวฉีด จึงขอให้ทำ Tag ผูกเอาไว้กับหัวฉีดที่ถอดออก
คือหัวฉีดคอมมอนเรล สมัยหลังหลังนี้ มักจะมีรหัสอยู่ที่หัวฉีด เวลาเปลี่ยนหัวฉีดก็จะต้องแจ้งคอมพิวเตอร์ให้รับทราบ
รับรู้รหัสเสียก่อนจะใช้งานได้ จึงแนะนำเอาไว้เลยว่า อย่าสลับตำแหน่งหัวฉีดเป็นดีที่สุด
แล้วดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาดูครับ คราบน้ำมันเครื่องนั้นจะติดอยู่ที่ก้านวัด เอาไปอังกับไฟร้อนร้อน
ถ้ามีน้ำผสมอยู่ก็จะเห็นแตกเป็นลายงาขึ้นมาในน้ำมันเครื่องนั้นเลย แต่อย่างไร เปลี่ยนเสียเลยจะดีกว่า
เช่นเดียวกับน้ำมันเกียร์ ที่แม้จะเป็นระบบปิด แต่น้ำก็ยังซึมเข้าไปได้ทางปากซีลที่เป็นซีลกันน้ำมันออก แต่ไม่ได้กันน้ำมันเข้า
น้ำมันเกียร์สีแดง จะกลายเป็นสีนมสดชมพู น่ารับประทานเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่ควรรับประทาน
น้ำมันเฟืองท้ายจะเปิดเฟืองออกมาดูก็ได้ ถ้าน้ำมันที่ไหลออกมาไม่มีน้ำผสม ก็ไม่เป็นไร น้ำมันเกียร์ธรรมดาก็เช่นกัน
แต่ถ้าไม่ประมาท ก็เปลี่ยนเสียให้หมดเลยดีกว่าครับ
น้ำระบายความร้อนก็ต้องเปลี่ยน เพราะอาจจะมีน้ำสกปรกเข้าไปผสมแล้ว
-------------------------
หลอดไฟหน้า ถอดโคมออก เทน้ำทิ้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดก่อน เขย่าให้สิ่งสกปรกออกมาให้มากที่สุดที่จะมากได้
แล้วค่อยลองใช้ไปก่อน อย่าลืมฉีดคอนแท็กคลีนเนอร์ เข้าไปที่หัวขั้นสายไฟ และที่ขั้วหลอดไฟฟ้า
ทีนี้ Contact Cleaner นั้น หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป และตามร้านอะไหล่หรือประดับยนต์ ราคากระป๋องละไม่เกินสองร้อยบาท
ใช้กระป๋องเดียวก็พอครับ
ถอดขั้วไฟที่ต่อกันทุกขั้ว ในห้องเครื่องยนต์ และในรถยนต์ที่เห็นออก ในห้องเครื่องถอดทีละขั้ว เอา Contact Cleaner ฉีดเข้าไปทั้งสองด้าน
แล้วใส่กลับเข้าหากันทันที เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และการจำไม่ได้ว่าถอดจากไหน
จนถึงคอมพิวเตอร์ ก็ควรจะกราวด์ตัวเองเสียก่อน โดยการใช้โลหะรัดข้อมือ ล่ามสายไฟจากโลหะลงดิน สักพักหนึ่ง หรือตลอดเวลาที่แตะต้องคอมพิวเตอร์
เพราะคอมพิเตอร์นั้นรับกระแสไฟฟ้าแค่ 5 ถึง 8 โวลต์เป็นอย่างสูง ในตัวเรามีไฟฟ้าสถิตได้สูงถึง 3,000 โวลต์
จึงควรระวังอย่าแตะต้องคอมพิวเตอร์ เพราะอาจจะทำให้เกิดลัดวงจรเป็นจุดจุดภายในคอมพิวเตอร์
ที่ไม่เสียหายไปแล้ว แต่จะลดสมรรถนะลงไปทีละน้อย เพราะความเสียหายเล็กเล็กน้อยน้อยอย่างนี้แหละครับ
เอาคอมพิวเตอร์ออกมาหรือแกะสายแพที่เชื่อมคอมพิวเตอร์กับระบบปฏิบัติการของรถ แล้วฉีดขั้วสายด้วย Contact Cleaner ก่อนจะต่อกลับเข้าไปใหม่
ตรวจเปลี่ยนน้ำมันเชื้อเพลิง กรองน้ำมันเชื้อเพลิงถ้าจำเป็น ให้เรียบร้อย ดูสายพานว่าแห้งดี ไม่มีรอยแตกภายใน น้ำมันในหม้อพวงมาลัยพาวเวอร์ก็ควรจะเปลี่ยนเสียด้วยนะครับ
เสร็จแล้วค่อยดูที่สวิทช์กุญแจอีกที ว่ามีโคลนเข้าไปจับไหม ถอดออกมาทำความสะอาดได้
จากนั้น ก็ติดตั้งแบตเตอรี่เข้าไปกับรถยนต์ แล้วหมุนเครื่องเหมือนสตาร์ท แต่เมื่อยังไม่ได้ใส่หัวเทียน หรือหัวฉีด ก็ยังไม่ติด
แต่จะเป็นการไล่น้ำออกจากกระบอกสูบได้อย่างดี อย่าไปยืนอยู่บริเวณที่รูหัวเทียนจะพ่นน้ำออกมานะครับ แรงนะ จะบอกให้
เสร็จพิธีกรรมไล่น้ำแล้ว ก็ใส่หัวเทียน หรือหัวฉีดเข้าที่ แย๊กปั๊มหัวฉีดดีเซลนิดหน่อย สักสิบครั้ง พอให้ตึงมือ กดยากแล้วก็พอ
จากนั้น ก็ลองติดเครื่องดูครับ น้ำมันเครื่องอย่าลืมเติมลงไปก่อนนะ ใช้เบอร์ 30 นั่นแหละ ข้างล่างจะเป็น 5 หรือ 10W ก็ได้ ไม่ผิดอะไรเท่าไร
ถ้าเครื่องยนต์ติดได้ ก็ปล่อยให้เดินเบาอยู่สักครู่ ระหว่างนั้น ลงมาฟังเสียงเครื่องยนต์ทำงาน
แล้วพอเครื่องร้อน ก็ขึ้นไปลองขยับรถไปมาสักหน่อย ฟังเสียงผ้าเบรก ฟังเสียงเพลา
แล้วค่อยตรวจละเอียดโดยช่างชำนาญงานกันอีกที แต่ตอนนี้ เครื่องยนต์ของคุณปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง ยกเครื่อง หรือโยนเครื่องยนต์ทิ้ง ไม่ว่าใครจะแนะนำอย่างไร
เพียงแต่อย่าเพิ่งขับรถไปไหนไกลไกลนะครับ จนกว่าจะได้เช็กเบรก เช็กคลัทช์ ให้ดีเสียก่อนว่าปลอดสนิม ปลอดน้ำ และผ้าคลัทช์ไม่ล่อนหลุดออกมา
ลองทำดูเองก็ได้ครับ และขอส่งใจมาช่วยช่างยนต์จำเป็นทุกท่าน
ขอให้เพื่อนช่าง ให้ความเป็นธรรม และน้ำใจ กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วยนะครับ
เครดิต...คุณธเนศร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
ความรู้ดีมากเลยครับ +1