คืออะไรเหรอครับ..
วิหารจามเทวี
เมื่อราว พ.ศ. ๑๒๕๓ พระแม่เจ้าจามเทวีกษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาเยี่ยมพระเจ้าอนันตะยศ ราชบุตรที่มาครองนครเขลางค์ลำปาง ขณะที่เดินทัพจะนำฉัตรทองคำไปบูชาพระธาตุลำปางหลวง พอไปถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ปรากฏช้างพระที่นั่งก็ทรุดลงหมอบคู้ชูงวงในท่าคารวะ
พระแม่เจ้าเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงทรงพักพล ณ ที่นั้นหนึ่งคืน พอตกกลางคืนจึงทรงอธิฐานว่า ถ้า ณ ที่นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็ขอให้ปรากฏปาฏิหาริย์ขึ้น ขาดคำพระดำรัสของพระแม่เจ้า ก็ปรากฏแสงฉัพพรรณรังสีแห่งพระบรมสารีริกธาตุ พวยพุ่งออกมาจากจอมปลวกแห่งหนึ่ง
จึงทรงให้ปลูกวิหารขึ้น ณ ที่จอมปลวกนั้น ด้วยมณฑปปราสาท ตลอดจนก่อสิงห์คาบนาง สร้างกู่จ๊างนบ ปลูกต้นไม้สะหรี (ศรีมหาโพธิ์) ก่อโขงประตูไว้พร้อมสรรพ แล้วให้นามอารามแห่งนี้ว่า “วัดปงจ๊างนบ” ต่อมาหลายร้อยปีนามนี้ก็เพี้ยนไปเป็น “วัดปงยางคก” มาจนกระทั่งทุกวันนี้
บูรณฆฎะ หมายถึง หม้อดอก ในภาษาล้านนา สื่อความหมายถึงหม้อน้ำแจกันดอกบัว ที่ใช้สักการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนใหญ่พบตามวิหารล้านนา และเป็นหนึ่งในมงคล ๑๐๘ อย่างในรอยพระพุทธบาท
บูรณฆฎะพระวิหารจามเทวี วัดปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เป็นจิตรกรรมบนฝาผนังแต้มทอง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความเป็นอิสระ สร้างสรรค์ลวดลายพรรณพฤกษาที่เกี่ยวพันกัน รวมสื่อถึงความสมัครสมานสามัคคี ความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ของชุมชน
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต และถือเป็นสิริมงคลแก่ชาวพุทธที่นับถือและศรัทธา...
หากเรามองดูเผิน ๆ ก็จะเห็นว่าลวดลายของแต่ละหม้อน้ำนั้น ดูคล้ายคลึงกันไปหมด แต่ถ้าเราลองพิจารณา สังเกตดูในรายละเอียดให้ดีน่ะครับ จะเห็นความแตกต่างในลีลา และลูกเล่นที่แพรวพราวยิ่งนัก...
รอยดาบการรบเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๓ ระหว่างหนานทิพย์ช้าง กับ ท้าวมหายศแม่ทัพพม่า