เจ้าสัว"เจริญ"เล็งเช่าที่ล้านไร่ในลาวปลูกพืชธุรกิจกาแฟของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ใน สปป.ลาว ไปได้สวย มั่นใจอีก 5 ปีข้างหน้าผลิตกาแฟพันธุ์อราบิก้าได้ถึง 5,000 ตัน/ปี เดินหน้าลุยสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำโขง 1 ล้านไร่ ก่อนเจรจาขอสัมปทานเช่าปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าว วางแผนลงทุนพม่าหลังจากเปิดประเทศ
นายโยทัย จาง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เทอราโกร จำกัด ในกลุ่มบริษัทพรรณธิอร เปิดเผยว่า เทอราโกรได้เข้าไปดำเนินธุรกิจปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยขอสัมปทานเช่าพื้นที่ขนาด 3,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 18,750 ไร่) เริ่มทำการปลูกมาแล้ว 4 ปี ในปี 2555 นี้เป็นปีแรกที่เริ่มเก็บเกี่ยว
ถึงขณะนี้มีผลผลิต 100 ตัน คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถผลิตได้ 5 พันตัน/ปี สำหรับการขาย ขายตามราคาตลาดโลกคือ 5 เหรียญสหรัฐ/กก. มีตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งนำเข้ากาแฟถึง 4 แสนตัน/ปี และอีกช่องทางหนึ่งคือส่งเข้าโรงแรมของบริษัทในกลุ่ม
ปัจจัยในการเลือกพื้นที่คือเป็นพื้นที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสม อุณหภูมิเฉลี่ย 20-25 องศาเซลเซียส สภาพดินเป็นดินภูเขาไฟ มีปล่องภูเขาไฟอยู่ตรงกลางพื้นที่ กาแฟอราบิก้าเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ในพื้นที่ ให้ผลผลิตดีเมื่อเทียบกับเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟที่พัฒนาโดยชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ 100 กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกกาแฟเป็น Coffee Zone เทียบเท่าอินโดนีเซีย และแมนดาริน และยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศไทยอีกด้วย
ในอนาคตจะมีการขยายธุรกิจในไทยหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายและภาษี เนื่องจากกาแฟจัดเป็นพืชอ่อนไหว และขณะนี้ไทยยังมีกำแพงภาษีอยู่ รวมทั้งเรื่องพื้นที่ใน สปป.ลาว ได้เปรียบประเทศไทย ตรงที่ลาวมีพื้นที่ราบผืนเดียวขนาดใหญ่ ในขณะที่ไทยเป็นพื้นที่ภูเขา อย่างไรก็ตามหากได้รับการส่งเสริมที่ดี บางพื้นที่ในประเทศไทยก็ยังมีศักยภาพในการผลิตกาแฟอีกมาก เช่น จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีสภาพอากาศเหมาะสม และเป็นจังหวัดชายแดนสามารถติดต่อกับต่างประเทศได้ง่าย
นายโยทัยกล่าวว่า ตลาดกาแฟโลกเติบโตปีละ 3-5% แต่ในอนาคตวัฒนธรรมการดื่มของจีนจะทำให้มีการเติบโตมากขึ้น จากเดิมที่คนจีนดื่มชา ขณะนี้เริ่มมีการดื่มกาแฟมากขึ้น ถ้าคนจีนดื่มกาแฟคนละ 1 แก้ว/วัน จะผลักให้ราคากาแฟและการเติบโตสูงขึ้น นอกจากจีนแล้ว เกาหลีใต้ก็ดื่มกาแฟมากขึ้น จากกระแสของซีรีส์เกาหลีเรื่อง Coffee Prince ทำให้คนเกาหลีรุ่นใหม่มองว่ากาแฟเป็นสินค้าไฮเอนด์
สำหรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 3 ปีข้างหน้า มีข้อดีตรงที่คนไทยจะมีโอกาสได้บริโภคกาแฟจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งกาแฟของแต่ละพื้นที่จะมีรสชาติแตกต่างกัน
นายโยทัยเปิดเผยอีกว่า นอกจากกาแฟแล้ว กลุ่มบริษัทพรรณธิอรยังเข้าไปลงทุนปลูกพืชชนิดอื่นด้วย ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา รวมทั้งมีการปลูกข้าวเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาเช่าพื้นที่กับรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งพื้นที่ที่ทำการสำรวจไว้เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำโขงประมาณ 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ตกลงกันได้แล้ว ประมาณ 3 หมื่นเฮกตาร์ (ประมาณ 187,500 ไร่) นอกจากใน สปป.ลาวแล้วยังมีการปลูกปาล์ม ตั้งโรงงานแปรรูปปาล์ม และท่าเรือ ในเกาะกง ประเทศกัมพูชาอีกด้วย ส่วนประเทศพม่านั้นอยู่ในระหว่างการวางแผน
สำหรับกลุ่มพรรณธิอร ถือเป็น 1 ใน 5 ธุรกิจหลักเครือทีซีซี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 10,000 ล้านบาท ในนามบริษัท พรรณธิอร จำกัด ประเภทกิจการลงทุนและให้กู้ยืมเงิน โดยมีบริษัททีซีซี โฮลดิ้ง ถือหุ้นในบริษัทนี้ 100% โดยนายเจริญได้วางเป้าหมายให้กลุ่มพรรณธิอรเป็น "เรือธง" ในธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ต่อยอดพื้นฐานจากการพัฒนาที่ดินของกลุ่มทีซีซีแลนด์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภายใต้แนวคิดที่ว่าจากที่ดินที่มีอยู่จำนวนมากของกลุ่ม จะลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าให้กับที่ดินผืนนั้น ๆ ได้อย่างไร
บริษัทพรรณธิอรจึงเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ ปัจจุบันแบ่งสายธุรกิจออกเป็น 4 ธุรกิจย่อย ประกอบไปด้วย 1)ธุรกิจน้ำตาล ในนามบริษัทคริสตอลลา (Cristalla) มีโรงงานน้ำตาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ โรงงานน้ำตาลแม่วัง และโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี
2)ธุรกิจการเพาะปลูก (Plantation) ในนามบริษัทเทอราโกร 3)ธุรกิจปุ๋ย ในนามบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด มีโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีตรามงกุฎ อยู่ที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และ 4)ธุรกิจอาหาร ในนามบริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน)
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1337312981&grpid=&catid=no&subcatid=0000