แผ่นดินเชียงราย : ในเงื้อมเงาของกาลเวลา
หลักฐานว่าพบเครื่องมือหิน และหลักฐานอื่นๆ ทั้งในบริเวณลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำอิงและแม่น้ำโขง ซึ่งเชื่อกันว่าผู้คนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมหินเหล่านั้นน่าจะเป็นชนเผ่าลัวะ แต่ในมิติของตำนานชนเผ่าแรกที่อพยพตามลำน้ำโขงขึ้นมาตั้งบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นนั้นกลับเป็นชนเผ่าขอม ไม่ใช่ขอมเมืองเขมรและในอีสานที่สร้างปราสาทหินอันอลังการแต่เป็น ขอมดำ ชาวน้ำจากเมืองโพธิสารหลวง คำว่าขอมในที่นี้คือผู้คนที่รับวัฒนธรรมขอมจากดินแดนเขมรปัจจุบันซึ่งผู้จดจารตำนานสุวรรณโคมคำเรียกชนเผ่านี้ว่า ขอมดำ นักวิชาการบางท่าน สันนิษฐานว่าขอมดำคือชนเผ่าไท-ลาวในประเทศลาว แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่าเป็นขอมที่มาจากดินแดนเขมรด้วยสาเหตุสองประการ คือ ประการแรกแก่งหลี่ผีที่ถือเป็นปราการธรรมชาติขวางกั้นแม่น้ำโขงนั้นมีช่องทางเล็กๆที่อพยพผ่านขึ้นมาทางน้ำได้ เพราะกองทัพไทยนำโดยพระยาสุรสีห์ เคยยกทัพไปตีเขมรและขุดคลองอ้อมแก่งหลี่ผีได้ในปี พ.ศ.2321 ครั้งนั้นยกพลทัพเรือไปถึงหนึ่งหมื่นคน(บุญช่วย ศรีสวัสดิ์,ราชอาณาจักรลาว,หน้า 418-419) ถึงแม้จะต่างยุคกันแต่เชื่อว่าชาวโพธิสารหลวงซึ่งเป็นชนเผ่าที่ชำนาญทางน้ำย่อมจะลัดเลาะข้ามแก่งหลี่ผีได้ ประการที่สอง ปัจจุบันมีการค้นพบวัตถุโบราณของขอมดำในจังหวัดนครพนม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อไหน้ำผึ้งเป็นต้น กรมศิลปากรตรวจสอบเบื้องต้นแล้วระบุว่าเป็นของชาวขอมดำ ทางโรงเรียนดงดาวแจ้งวิทยาคม จังหวัดนครพนมกำลังศึกษาวิจัยอยู่ ในนครพนมเองก็มีชนเผ่าอยู่แล้ว 9 เผ่า แต่ขอมดำพึ่งพบเป็นชนเผ่าที่สิบ ขอมดำผู้สร้างพระเจ้าพรหมให้เป็นวีรบุรุษขับไล่ขอมดำเมืองอุมงคเสลาจากหน้าใบลานล้านนาดำดินไปโผล่ที่นครพนมได้อย่างไร เราคงรับรู้กันในอนาคตอันใกล้นี้
เมืองสุวรรณโคมคำซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าเป็นเกาะใหญ่ริมฝั่งโขงฝั่งลาว ตรงดอนมูลเยื้องปากแม่น้ำกกลงไปเล็กน้อยๆ ตรงข้ามบ้านสวนดอก อำเภอเชียงแสน ซึ่งหากเป็นจริงขณะนั้นสุวรรณโคมคำต้องเป็นเมืองของชาวเชียงราย เพราะมีเพียงตำนานฝ่ายล้านนาที่ระบุการเกิดขึ้น คงอยู่และล่มสลายไปของเมืองสุวรรณโคมคำ เอกสารฝ่ายลาวเท่าที่ผู้เขียนตรวจสอบทั้งฉบับราษฎร์และฉบับรัฐ ไม่ปรากฏรายละเอียดใดใด การไม่กล่าวรายละเอียด ไม่มีวรรณกรรมลายลักษณ์และมุขปาฐะ ให้สืบค้นจึงไม่น่าจะเป็นเมืองในชนเผ่าลาวโบราณ เพียงแต่ในกระแสโลกาภิวัตน์ ทางการลาวและบริษัทอีซี่ทัวร์ของไทยกำลังปลุกปั้นให้สุวรรณโคมคำใหม่ที่บ้านต้นผึ้ง ประเทศลาว เป็นเมืองสุวรรณโคมคำจริงๆ แต่เท่าที่ผู้เขียนได้เดินทางไปสำรวจตรวจสอบพบว่าซากพระพุทธรูปและเจดีย์ต่างๆ นั้นน่าจะเป็นเมืองยุคหลังๆที่รับเอาพุทธศาสนาเข้าไปในลาวแล้ว ไม่น่าจะเก่ากว่าเมืองเชียงแสนไปได้ แต่ที่น่าสนใจคือระหว่างทางจากเมืองห้วยทรายถึงบ้านต้นผึ้ง ประมาณกึ่งกลางทางฝากตะวันออก เราพบศิวลึงค์ที่สร้างแปลงจากหินธรรมชาติ ตีนเขากลางลำห้วยไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก พบทั้งศิวลึงค์และโยนี ขนาดใหญ่พอสมควรซึ่งหากชาวสุวรรณโคมคำเป็นขอมดำจริง ศิวลึงค์และโยนีที่พบน่าจะเป็นเค้าเงื่อนความเชื่อในยุคขอมดำได้ดีกว่าซากเจดีย์และซากพระพุทธรูป
หลังเมืองสุวรรณโคมคำล่มสลายลง มีขอมดำส่วนหนึ่งไปตั้งเมืองขึ้นใหม่คือเมืองอุมงคเสลา จากนั้นตำนานสิงหนวัติหรือสิงหนติก็กล่าวถึงการเดินทางเข้ามาตั้งเมืองโยนกนาคพันธุ์ของกลุ่มสิงหนวัติซึ่งตั้งในบริเวณเมืองสุวรรณโคมคำเดิม ซึ่งยุคนี้เป็นที่มาของการเรียกชื่อชาวเชียงรายลุ่มแม่น้ำกกว่าชาวโยนก หรือ คนโยน และเป็นคนยวนในที่สุด หลังจากชาวเมืองกินปลาเอี่ยนเผือกจนเกิดอาเพศเมืองล่มลงเป็นหนองน้ำ ชาวโยนกท่รอดตายก็มาสร้างเวียงปรึกษา
จากนั้นตำนานเชียงแสนจึงรับช่วงต่อมานับตั้งแต่ปู่เจ้าลาวจกไต่เกรินลงมาจากฟากฟ้ามาตั้งเมืองแถบแม่สาย เมืองต่างๆก็วิวัฒนการสืบสายกันตามกาลเวลามาถึงรัชกาลที่ 25 คือพระเจ้าลาวเมงซึ่งทรงอภิเษกสมรสกับนางเทพคำข่าย ประสูติพญามังรายมารวบรวมผู้คนแว่นแคว้นยวนเชียงแสนผนวกเข้ากับแว่นแคว้นหริภุญชัยและชาวพิงครัฐ เป็นการรวบรวมคนยวนเข้ากับชาวลุ่มแม่น้ำปิง สถาปนาเป็นรัฐล้านนาขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่พญามังรายเป็นต้นมานักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ไม่ใช่ยุคปรัมปราคติอีกต่อไป แต่หากพินิจเนื้อหาตำนานอย่างเป็นกลางตัดถ้อยทวนคำอย่างไม่มุ่งเน้นรายละเอียดเกินไปจะเห็นได้ว่าตำนานทั้งสามยุค คือยุคขอมดำ ยุคชาวสิงหน จนถึงยุคยวนเชียงแสน ล้านแล้วแต่มีเนื้อความสอดรับกันอย่างลงตัว อธิบายได้ว่าแผ่นดินเชียงรายนี้ มีผู้คนมาอาศัยมานานนักแล้ว อารยธรรมต่างๆเจริญและเสื่อมลงจนไม่อาจคาดเดาจนชี้ชัดว่าชนเผ่าบรรพกาลชาวเชียงร่ายมีรูปร่างหน้าตาเป็นเช่นไร แต่ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือ วัฒนธรรมยวน ที่มีตัวอักษร มีขนบธรรมเนียมที่ผิดแผกแตกต่างจากชาวลื้อ ชาวไต ชาวลาวอย่างชัดเจน
วัฒนธรรมยวนเชียงรายที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมล้านนานั้นคงไม่ได้ก่อกำเนิดแบบโอปาติกะ แบบปู่เจ้าลาวจกที่ไต่บันไดฟ้าลงมา คงสั่งสมบ่มเพาะจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกาลกร่อนกาลมาหลงเหลือให้ชาวเราได้ศึกษาและรักษาไว้อย่างน้อยก็หวังว่าวัฒนธรรมยวนคงไม่ล่มสลายในยุคของเรา ชื่อ เชียงราย นั้นมาปรากฏอีกครั้งในตำนานว่าเมื่อพญามังรายมาสร้างเมืองเชียงรายในพ.ศ1805ซึ่งสร้างตามขนบจักราช คือ เอาภูเขาสูงเป็นศูนย์กลางหรือสะดือเมือง ซึ่งเมืองในยุคแรกของคนยวนมักเอาภูเขาหรือต้นไม้มงคลเป็นสะดือเมือง เป็นศรีแก่เมือง การสร้างเมืองเชียงรายนี้ พญามังรายได้อภิเศกสมรสกับธิดาเมืองเชียงเรือง น่าจะเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในแผ่นดินเชียงรายปัจจุบัน และไม่นานนักก็ให้กำเนิดเจ้าชายในปีเดียวกับการสร้างเมืองเชียงราย และปีต่อๆมาถึง 3 พระองค์ คือ ขุนเครื่อง ขุนครามและขุนเครือ ต่อมาเมื่อพญามังรายได้เข้าตีเมืองหงสาและเมืองอังวะดินแดนประเทศพม่า เมือมอญหงสาได้ถวายพระราชธิดาคือนายปายโคเป็นบาทบริจาอีกนางหนึ่ง ดังนั้นพญามังรายมีมเหสีแลพระชายาอย่างน้อย 2 พระองค์ เมื่อพญามังรายสร้างเมืองอยู่เชียงใหม่แล้ว พญามังรายทรงนำพระราชมารดาและพระชายาทั้งสองไปอยู่ด้วย ดังปรากฏในตำนานต่างๆ ตรงกันว่าเมื่อมีผู้นำต้นศรีมหาโพธิ์มาทูลเกล้าฯถวายนั้น พญามังรายทรงโปรดให้พระราชมารดาและพระมเหสีทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่วัดกานโถม เวียงกุมกาม ดังนั้นวัดที่พระราชมารดาและพระชายาของพญามังรายจะเสด็จไปทำบุญเป็นประจำน่าจะเป็นวัดกานโถม เวียงกุมกาม ไม่น่าจะเป็นวัดมิ่งเมือง อำเภอเมืองเชียงรายตามที่นักวิชาการบางท่านพยายามจะสร้างเรื่องราวให้น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเวียงวังอยู่ที่เมืองเชียงใหม่และเวียงกุมกามจะเดินทางมาทำบุญที่เชียงรายต้องเดินทางมาจะต้องใช้เวลาหลายวัน บวนช้างเดินทางได้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตรต่อวันเท่านั้น
จากนั้นเมืองเชียงรายก็มีเจ้าที่ยศระดับกษัตริย์บ้างระดับเจ้านายต่ำกว่าลงมาบ้างมาปกครองตามการศึกษาของ ชรินทร์ แจ่มจิตติ์ ระบุรายชื่อผู้ครองเมืองเชียงราย ดังนี้
1.พญามังราย พ.ศ.1805-1817
2.ขุนเครื่อง พ.ศ.1818-1818
3.พญามังราย พ.ศ.1819-1824
4.มังคราม พ.ศ.1824-1870
5.พญาแสนภู พ.ศ.1871-1887
6.ท้าวมหาพรหม พ.ศ.1888-1943
7.ท้าวยี่กุมกาม พ.ศ.1944-1956
8.ท้าวเจ็ด พ.ศ.1957-1980
9.หมื่นค้อม พ.ศ.1980-1990
10.ท้าวบุญเรือง พ.ศ.1991-2019
11.หมื่นทะละ พ.ศ.2020-2029
12.พระยอดเชียงราย พ.ศ.2029-2036?
จากนั้น ล้านนานั้นเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง (พ.ศ.2110) จนถึง พ.ศ.2317 ในสมัยกรุงธนบุรี มีผู้นำล้านนาในยุคนั้น คือ พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละไปสวามิภักดิ์กับไทยสยาม และร่วมกันขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่ แต่พม่ายังคงมีอำนาจในเมืองเชียงแสนอยู่เป็นระยะๆ ปฏิกิริยาที่คนยวนต้องการเป็นอิสระจากพม่านั้น ในบันทึกของคนยวนเรียกว่า “ ฟื้นม่าน ” ซึ่งนับตั้งแต่ล้านนาเสียเอกราชก็มีหลักฐานว่ามีการฟื้นม่านในหลายเมือง เช่น พ.ศ.2138 เมืองน่านฟื้นม่าน , พ.ศ.2143 เชียงรายฟื้นม่าน , พ.ศ.2157 เมืองลำปางฟื้นม่าน, พ.ศ.2167 เชียงของฟื้นม่าน การฟื้นม่านแต่ละเมืองเป็นการฟื้นม่านในลักษณะที่ต่างเมืองต่างทำไม่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง เป็นสภาวะที่บ้านแตกสาแหรกขาด ระส่ำระสาย ซึ่งต่างเมืองต่างเอาตัวรอด ล้านนาจึงอ่อนแอลง ถึงแม้ว่ากองทัพไทยสยามและไทยวนจะร่วมกันขับไล่กองทัพพม่าออกจากเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.2317 แต่อำนาจของพม่าก็ยังมีอำนาจอยู่อีก 30 ปีต่อมาจึงขับล้างอำนาจพม่าได้สำเร็จในสงครามขับไล่พม่าใน พ.ศ.2347 นั้นกองทัพฝ่ายไทยสยามประกอบด้วยทัพหลวงนำโดย กรมหลวงเทพหริรักษ์ และกองทัพยวนประกอบด้วยกองทัพเมืองเชียงใหม่ , ลำปาง, และน่าน ยกทัพไปล้อมเชียงแสนเดือนเศษ ในบันทึกกล่าวว่าทหารกองทัพไทยสยามผิดน้ำ ผิดอากาศล้มตายเป็นอันมาก จึงยกทัพกลับ คงเหลือแต่ทัพล้านนา 3 เมือง ล้อมเมืองเชียงแสนอยู่ชาวเมืองเชียงแสนอดอยาก ประกอบกับมีเจ้าเมืองเทิง และ เจ้าเมืองเชียงของ ชื่อ เจ้าอก เป็นผู้ฆ่าทหารพม่าที่รักษาประตูดินขอ แล้วเปิดประตูเมืองรับกองทัพล้านนา กองทัพล้านนา จึงตีเมืองเชียงแสนแตกและขับไล่อำนาจพม่าออกไป ผลจากสงครามเมืองเชียงแสนถูกกวาดต้อนชาวเมืองทั้งหมด 23,000 คนเศษไปอาศัยตามเมืองเชียงใหม่ ลำปาง แพร่และน่าน ในคัมภีร์ใบลานคำเมืองพื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน ฉบับวัดเมธังกราวาส บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า “ สักกราชได้ 1166 ตัว ปีกาบไจ้ เดือน 7 เชียงใหม่ ลคอร เมืองน่าน ยกกำลังขึ้นมาแวดเวียงเชียงแสน เถิงเดือน 9 ออก 5 ค่ำ เชียงของ เทริง เจ้าอกเป็นเค้า ชาวเชียงของ เทริง ทังมวลเป็นไฟในไขปะตูเวียง พาเอาลคอร เชียงใหม่ เมืองน่าน เข้าเผาเวียงได้แล้ว เถิงเดือน 9 เพ็ง ก็เอาตัวไพร่ไทยชาวเชียงแสนทังมวล ลงมาขับปัดนับเสี้ยง บ่ค้างสักคน ” และคัมภีร์ใบลานอีกชิ้นหนึ่งคือ คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน บันทึกไว้ว่า “ เมื่อนั้นเจ้าอกอันเปนชาติเชื้อเมืองเชียงของนั้นเป็นไฟใน ก็ตามลูกน้องอันรู้อยู่รักสาปะตูตายเสี้ยงแล้ว ก็ไขปะตูดินขอเอาเสิก็เข้าเวียงเดือน 9 ปฐม ออก 8 ค่ำ วัน 5 ไทยรวายสัน ยามสายฟ้ายก เมืองเชียงแสนแตกเสี้ยงปางสุด โป่ซุกม่านก็พ่ายหนีออกเวียงไปแล เพิ่นบ่ทันได้ตัวแล เพิ่นได้ตัวโมยหงวร นาขวาลูกเมียไพร่ไทยทั้งมวล ลงไปเชียงใหม่ ลคอร แพล่ น่านนับเสี้ยง ยังค้างแต่ดินกับน้ำแล ”
จากสารที่ยกมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ฟื้นม่านที่แท้ก็คือชาวล้านนา มีชาวเมืองเชียงใหม่ ชาวลคอรลำปาง และชาวเมืองน่าน เป็นผู้ล้อมเมืองมีผู้เปิดประตูเวียงรับก็คือ เจ้าอก เจ้าเมืองเชียงของและเจ้าเมืองเทิง ดังนั้นผู้ฟื้นม่านแท้จริงก็ตือคนยวนของเรานั่นเองหาใช่ไทยใต้ไทยสยามไม่เพราะกองทัพไทยสยามผิดดินผิดน้ำหลบลี้หนีทัพพ่ายค้านไปก่อนหน้านี้แล้ว จากนั้น เชียงรายก็เข้าสู่ยุคราชวงค์เจ้าเจ็ดตน บางช่วงเวลา เชียงรายเป็นเมืองร้าง จนต้องขนประชากรเชียงแสนเดิมและชาวพิงครัฐเดิม คือลุ่มน้ำปิง เชียงใหม่ ลำพูน ฯ มาเป็นประชากรยวนเชียงราย รวมทั้งชาวกาวน่าน ชาวกาวแพร่ก็เข้ามาตั้งรกรากอีกครั้งหนึ่ง เชียงรายฝันเฝือนจากประเทศเอกราช แปรเปลี่ยนเป็นประเทศราชและเสียเอกราช จึงเริ่มเป็นบ้านเป็นเมืองเรืองรุ่งอีกครั้งหนึ่ง
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการกล่าวถึงแผ่นดินเชียงรายโดยสังเขปด้วยหน้ากระดาษจำกัด เวลาจำเกลี่ยจึงไม่อาจฉายภาพแต่ละยุค แต่ละสมัยให้เห็นได้อย่างแจ้งชัดแก่แก้วแก่นใจ แต่เท่าที่ผ่านมาทั้งหมดชาวเชียงรายควรภาคภูมิใจว่า ตั้งแต่แรกว่านับตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคปรัมปราคติ ยุคตำนานสู่ยุคประวัติศาสตร์ ชาวยวนเชียงรายยังรักษาผืนแผ่นดิน รักษาวัฒนธรรมไว้ได้ และได้รังสรรค์สิ่งดีงามไว้ในแผ่นมากมาย ที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง คือ พญามังราย นักรบผู้หาญกล้าต่อกรกับกองทัพพม่าและจีน , พระแก้วมรกต พบครั้งแรกที่เชียงราย ชาวเชียงรายต้องเป็นผู้สร้างเป็นผู้รักษาจนในที่สุด สุด พระแก้วมรกตจากเชียงรายเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในสยามประเทศ , ตัวอักษรล้านนาแพร่กระจายไปสู่ประเทศลาว แพร่ขยายสู่สิบสองพันนา , ท่วงทำนองซอเชียงแสนได้รับการยกยอยอมรับให้เป็นบทนโมเป็นทำนองแรกๆที่ช่างซอต้องบรรเลงในการขับซอ ,ลายผ้ายวนเชียงแสนงดงามแพร่หลายไปสู่ยวนแม่แจ่ม ยวนราชบุรี ด้านบุคคล พระรัตนปัญญาเถระ ชาวเชียงราย รจนาชินกาลมาลีปกรณ์ ผลงานเอกอุด้านภาษาบาลี, ท้าวสุนทรพจนกิจ ชาวเชียงแสนเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ในล้านนา สามารถนฤมิตคีตกานท์ใหม่ๆได้ เช่น ซอยิ้น เป็นต้น นักเขียนเชียงรายได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ เช่น บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ,มาลา คำจันทร์ และ ท่าน ว.วชิรเมธี เรามีเก้าสล่าเชียงราย สล่าแต้มฮูปล้านนาที่มีผลงานคับโลก ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ชาวเชียงรายรังสรรค์ปั้นแต่งผลงานไว้อวดโลก แล้วเราชาวเชียงรายที่เห็นและเป็นอยู่เล่า จะรังสรรค์สิ่งใดให้ชาวเชียงรายบ้าง?
อ้างอิง
ชรินทร์ แจ่มจิตต์.บันทึกเมืองเชียงราย.เชียงราย : สยามโฆษณาและการพิมพ์,ม.ป.ป.(เอกสารอัดสำเนา)
บดินทร์ กินาวงค์ และคณะ.ประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย-เชียงแสน.เชียงใหม่: โรงพิมพ์มิ่งเมือง,2546.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์.ราชอาณาจักรลาว. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์รับพิมพ์,ม.ป.ป.
สรัสวดี อ๋องสกุล ประวัติศาสตร์ล้านนา กรุงเทพฯ: : สำนักพิมพ์อัมรินทร์ ,พิมพ์ครั้งที่ 2 ,2539.
จาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=556958