‘คาร์ฟูร์’ เปลี่ยนชื่อป้ายเป็น ‘บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า’ (BigC Extra) หลังควบกิจการเสร็จ หลังจากกลุ่มทุน “คาสิโน” ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าของโมเดิร์นเทรดเครือ “บิ๊กซี” (BigC) ประสบความสำเร็จในการประมูลซื้อกิจการของโมเดิร์นเทรด “คาร์ฟูร์” (Carrefour) ที่บริษัทแม่ตัดสินใจถอนตัวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ภาวะการแข่งขันในตลาดโมเดิร์นเทรดก็ร้อนระอุขึ้นมาเรื่อยๆ
สงครามโมเดิร์นเทรด-ไฮเปอร์มาร์เก็ตระอุในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เราเห็นสงครามระหว่างบิ๊กซี+คาร์ฟูร์ กับเจ้าตลาด “เทสโก้ โลตัส” ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และทีวี โดยเฉพาะ “สงครามคูปองส่วนลด” ที่ทั้งสองค่ายสลับกันโต้ตอบผ่านการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแทบจะตลอดเวลา
สงครามครั้งนี้สะท้อนว่า “บิ๊กซี+คาร์ฟูร์” มั่นใจในศักยภาพของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ที่จะผนึกห้างสาขาจากทั้งสองแบรนด์ เขย่าบัลลังก์ “โลตัส” ที่ครองแชมป์แบบทิ้งห่างมานาน
และเช่นกัน สงครามครั้งนี้ก็สะท้อนว่า “โลตัส” เองก็หวาดหวั่นและหวั่นไหวกับ “คู่แข่งหน้าเดิม” ที่ผนึกกำลังมาแบบแพ็คคู่แค่ไหน
ย้อนรอย “บิ๊กซี” ซื้อ “คาร์ฟูร์”คาร์ฟูร์ ประเทศไทย มีสาขารวม 42 สาขา โดยเป็นค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 34 สาขา และในสาขาเหล่านี้ มีพื้นที่ให้ร้านค้าเช่าจำนวน 37 สาขา เมื่อรวมสาขาทั้งหมดแล้ว จะทำให้เครือบิ๊กซีมีสาขาถึง 103 สาขา โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่มีสาขาเพิ่มขึ้นเท่าตัว การควบกิจการครั้งนี้มีมูลค่า 35,500 ล้านบาท
เดิมที บิ๊กซี เป็นอันดับ 2 ในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตของไทย ด้วยยอดขาย 69,000 ล้านบาท จาก 111 สาขา โดยแบ่งออกเป็นค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 69 สาขา และเป็นส่วนของพัฒนาศูนย์การค้า ที่มีพื้นที่ศูนย์การค้าให้เช่า 69 สาขา
ในแถลงการณ์ของ “บิ๊กซี” ระบุว่าการควบกิจการจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2554
“คาร์ฟูร์” เปลี่ยนป้ายเป็น “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” แล้วล่าสุดมีรายงานว่า ห้าง “คาร์ฟูร์” หลายสาขาเริ่มเปลี่ยนป้ายชื่อเป็น “บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า” (BigC eXtra) แล้ว ซึ่งเป็นการแสดงการเปลี่ยนแปลงในระดับแบรนด์อย่างชัดเจน
ตอนนี้ทั้งบิ๊กซีและคาร์ฟูร์ยังไม่มีคำแถลงอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้ แต่คาดว่าเมื่อการรีแบรนด์เสร็จ จะเห็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ BigC eXtra ครั้งใหญ่เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ใหม่ได้
ก่อนหน้านี้โปรโมชันต่างๆ ในห้างคาร์ฟูร์เอง ก็เริ่มใช้โปรโมชันลักษณะเดียวกับบิ๊กซี มาสักระยะหนึ่งแล้ว เช่น การใช้สัญลักษณ์เท่ากับหรือน้อยกว่า เพื่อแสดงว่าราคาสินค้าของตัวเองถูกกว่าห้างคู่แข่ง
ที่มา
http://www.siamintelligence.com/carrefour-bigc-extra/