เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 29 มีนาคม 2024, 02:00:21
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  เรื่องล้านนา ภาษากำเมือง
| | |-+  ต้าวตังสี่ ปฐมบทแห่งความเป็นมงคล โดย พนมกร นันติ
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน ต้าวตังสี่ ปฐมบทแห่งความเป็นมงคล โดย พนมกร นันติ  (อ่าน 1695 ครั้ง)
maekok_14
คือคนของพระราชา คือข้าของแผ่นดิน
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,253



« เมื่อ: วันที่ 21 สิงหาคม 2012, 21:46:51 »



ในวิถีชีวิตของชาวล้านนานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน  ยังคงอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่บรรพบุรุษสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ตาม  ในการดำเนินชีวิตของชาวล้านนาหรือสังคมไทยในปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญ ความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องของความเป็นสิริมงคลกับชีวิตเป็นอย่างมาก  ในการประกอบพิธีการมงคลต่างๆ หรือแม้กระทั่งการที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหนึ่งของชาวล้านนา  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้าน เปิดกิจการ ทำบุญบ้าน งานฉลองสมโภชต่างๆ นอกจากจะดูเรื่องของเวลาและฤกษ์ที่เป็นมงคลแล้ว  ก่อนการเริ่มต้นของงานต่างๆ เหล่านั้นจะมีพิธีกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านยึดถือและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  นั่นก็คือพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่  ซึ่งผู้เขียนเองได้เห็นพิธีกรรมเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก  จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังคงสืบทอดและยึดถือปฏิบัติกันอยู่ พิธีนี้มีความสำคัญอย่างไรกับวิถีชีวิตของชาวล้านนา
   ไม่ว่าจะทำประกอบพิธีอะไรที่เกี่ยวกับงานที่เป็นมงคลทุกครั้ง ชาวล้านนามักจะเริ่มต้นจากการบอกกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิให้รับรู้รับทราบ  และเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมาปกป้องคุ้มครองให้กิจการงานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  ด้วยพิธีกรรมที่เรียกว่า “ขึ้นท้าวทั้งสี่” ขึ้น หมายถึงการเริ่มขึ้น หรือเริ่มต้นพิธีกรรมอันเป็นมงคลนั่นเอง



“ท้าวทั้งสี่” หมายถึงอะไร  ผู้เขียนขออธิบายขยายความตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ถ่ายทอดให้ฟังดังนี้ ท้าวทั้งสี่หมายถึง มหาเทพทั้ง ๔ พระองค์ ซึ่งทำหน้าที่คอยดูแลโลก และคอยปกป้องคุ้มครองและป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ตลอดจนอำนวยความสุขความเจริญแก่มนุษย์ ดังนั้นท้าวทั้งสี่ในภาษากลาง ก็หมายถึง ท้าวจตุโลกบาลนั่นเอง(ชาวล้านนาออกเสียงว่า ต๊าวตังสี่)  ซึ่งเทพทั้ง ๔ พระองค์นี้จะประจำอยู่ในทิศทั้งสี่ของศูนย์กลางของจักรวาล คือเขาพระสุเมรุซึ่งในวันขึ้นหรือแรม ๑๕ ค่ำ มหาเทพทั้งสี่พระองค์จะคอยตรวจตราโลกด้วยตนเอง และทรงเป็นหัวหน้าของเทพในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิก แต่ละพระองค์มีอายุกำหนด ๕๐๐ ปีทิพย์ ซึ่งท้าวทั้งสี่พระองค์นี้ได้แก่ ท้าวเวสสุวัณ ท้าวธตรฐะ ท้าววิรุฬหกะ และท้าววิรูปักข์



ท้าวกุเวร หรือเวสสุวัณณ์ หรือไพสรพณ์ บางทีก็เรียกท้าวไพศพ เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์ทั้งหลาย ไทยเราถือว่าเป็นนายของพวกภูตผีปีศาจทั้งหมดทั้งมวลอีกต่างหาก มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ
ท้าวธตรฐะ เป็นใหญ่ในพวกคันธัพพะ หรือพวกคนธรรพ์ที่ชอบร้อง รำ และดีดสี ตี เป่า มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ
ท้าววิรุฬหกะ หรือท้าววิรุฬหก เป็นใหญ่ในพวกกุมภัณฑ์ ซึ่งเป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง ในทางวิชาการระดับเข้มข้น ท่านจัดไว้ต่างหากจากพวกยักษ์  มีหน้าที่รักษาโลกอยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ
ท้าววิรูปักขะ เป็นใหญ่ในพวกนาค อย่างที่ปรากฏในบทสวดแผ่เมตตาแก่ งู ทั้งหลายว่าวิรูปักเขหิเม เมตตัง...นั่นเอง ชื่อว่าวิรูปักข์หรือวิรูปปักขะ นอกจากจะเป็นชื่อของท่านแล้ว ยังเป็นชื่อของงูใหญ่ตระกูลหนึ่งด้วย มีหน้าที่ดูแลโลกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ
ท้าวทั้งสี่หรือเทพทั้ง ๔ พระองค์นี้มีสวรรค์เป็นของตัวเอง เรียกชื่อว่า จาตุมหาราชิก เป็นสวรรค์ชั้นแรกสุดในจำนวนสวรรค์หกชั้นของไทย ตามตำราบอกว่าอยู่บนยอดเขา ยุคันธร หรือบางทีก็เรียกว่า ยุคนธร ซึ่งเป็นเทือกเขาชั้นในสุดที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุหรือภูเขาหลักโลก หรือแกนกลางของจักรวาล



ในการประกอบพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่แบบล้านนานั้น นอกเหนือจากจะกล่าวถึงเทพทั้งสี่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการกล่าวอันเชิญพระอินทร์และพระแม่ธรณีอีกด้วย ซึ่งชาวล้านนาเชื่อกันว่าพระอินทร์ซึ่ง “กินสองสวัรค์” คือ เป็นอธิบดีของสวรรค์ ทั้งชั้นดาวดึงส์และจาตุมหาราชิก   ส่วนพระแม่ธรณีนั้นปรากฏในแง่ของผู้ที่คอยเป็นสักขีพยานและรับรู้ถึงการกระทำการอันเป็นกุศลบุญทั้งหลาย ซึ่งเราจะเห็นได้หว่าหลังจากที่เราทำบุญทุกครั้งเราจะกรวดน้ำ  และนำน้ำนั้นไปเทลงบนแผ่นดินเพื่อให้พระแม่ธรณีได้รับรู้ถึงการทำบุญทั้งปวง
ในการประกอบการมงคลต่างๆ ที่ผู้เขียนได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนต้นแล้วเช่น การปลูกบ้านใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ งานฉลองถาวรวัตถุในศาสนา หรือแม้แต่เทศกาลตรุษสงกรานต์ต่างๆ ถือว่าต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ เพื่อบอกกล่าวและอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ทุกครั้ง  วัดบางแห่งทางภาคเหนือจะมีการสร้างแท่นเพื่อบูชาท้าวทั้งสี่ไว้ภายในบริเวณวัด  และเมื่อมีกิจกรรมหรืองานบุญในประเพณีวันสำคัญๆ ต่างๆ ชาวบ้านมักจะไปไหว้และบอกกล่าวท้าวทั้งสี่เพื่อความเป็นสิริมงคล  ซึ่งวัดที่ผู้เขียนมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็กก็จะเห็นมีแท่นท้าวทั้งสี่มาตั้งแต่จำความได้  และในวันสำคัญๆ ต่างๆ ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวไปวางตามมุมต่างๆ ของแท่นพร้อมทั้งจุดเทียนเพื่อเป็นการบูชาซึ่งใช้แทนสะตวงหรือเครื่องบัตรพลีด้วย  
ผู้เขียนจะอธิบายวัสดุอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้ที่มีความจำเป็นในการประกอบพิธีดังกล่าว  โดยเริ่มจาก



สะตวง หรือ กระทง  ชาวล้านนาจะทำสะตวงสี่เหลี่ยมจากกาบของต้นกล้วย จะใส่เครื่องบูชาสังเวยท้าวทั้งสี่ลงไป  ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารคาว-หวาน หมาก เมี่ยง บุหรี่ ขนมและผลไม้ต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๖ สะตวง(ใช้เป็นเครื่องสังเวยท้าวทั้งสี่ ๔ สะตวง ใช้เป็นเครื่องสังเวยพระอินทร์ ๑ สะตวง และใช้เป็นเครื่องสังเวยพระแม่ธรณี ๑ สะตวง)  แต่ละมุมของสะตวงจะมี “ตุงจ้อ” หรือ “ช่อ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุงชัย แต่ตุงจ้อมีขนาดเล็กกว่า หรือบางแห่งจะทำเป็นรูปร่มกระดาษเล็กๆ ปักไว้ทั้ง ๔ มุม  มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปักตุงจ้อทั้ง ๔ มุม ของสะตวงนี้  ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ตำราด้วยกัน
โดยตำราหนึ่งจะใช้ตุงจ้อสีขาวทั้งหมด  เพราะเชื่อว่าเทพทุกองค์จะมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แล้ว  ดังนั้นสัญลักษณ์ที่แทนองค์เทพทุกองค์จะเป็นสีขาว  แต่ในอีกตำราหนึ่งจะใช้ตุงจ้อที่มีสีแตกต่างกันไปเช่นตุงจ้อสีเขียวปักสะตวงด้านบนสุดสำหรับบูชาพระอินทร์  ตุงจ้อสีแดงบูชาท้าววิรุฬหกะ ตุงจ้อสีฟ้าบูชาท้าวธตรฐะ ตุงจ้อสีดำบูชาท้าววิรูปักขะ ตุงจ้อสีหม่นหรือเทาบูชาท้าวกุเวร และตุงจ้อสีขาวบูชาพระแม่ธรณี ซึ่งถือตามสีกายของเทพองค์นั้นๆ ซึ่งแต่ละตำราและแต่ละครูจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคนจะร่ำเรียนและสืบทอดมา
ปราสาทหรือแท่นบูชาท้าวทั้งสี่ ในพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่จะมีการจัดเตรียมแท่นสำหรับวางเครื่องบัตรพลีหรือเครื่องสังเวย ซึ่งมักทำจากเสาไม้หรือต้นกล้วยที่มีคานยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ ปลายเสาและปลายคานจะมีแผ่นไม้ไว้เป็นแท่นรองรับสะตวง หรือกระทงเครื่องสังเวย ซึ่งขณะประกอบพิธีจะวางสะตวงไว้บนแท่น เพื่อบูชาพระอินทร์และท้าวทั้งสี่ตลอดจนวางบนดินส่วนโคนเสาติดกับพื้นดินเพื่อบูชาพระแม่ธรณี
   และที่ขาดไม่ได้ก็คือขั้นตั้งที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วในฉบับก่อนหน้านี้  พร้อมทั้งน้ำขมิ้นส้มบ่อย เพื่อใช้ประพรมเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลกับผู้เข้าร่วมพิธี เวลาที่ประกอบพิธี ส่วนใหญ่มักทำในตอนเย็นก่อนหน้างานหนึ่งวัน หากไม่ทันก็อาจทำในเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องให้เสร็จก่อนจะเริ่มงานโดยทิ้งระยะเวลาพอสมควร  และทิศที่ประกอบพิธีส่วนใหญ่มักเลือกเอาทิศตะวันออกของสถานที่นั้นๆ เพราะชาวล้านนาถือว่าเป็นทิศที่เป็นมงคลกับชีวิต



ผู้รวบรวม-เรียบเรียง นายพนมกร  นันติ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
๑.    พระครูรัตนกิตติญาณ(ศรีชุ่ม กิตติญาโณ) เจ้าอาวาสวัดเกตุแก้ว อ.พาน จงเชียงราย
๒.    พระคณุพิศาลธรรมานุรักษ์  รองเจ้าอาวาสวัดเกตุแก้ว อ.พาน จงเชียงราย
๓.    พระครูสมุห์นวัตถกรณ์ อริยเมธี เจ้าอาวาสวัดดงหนองเป็ด อ.เมือง จ.เชียงราย
๔.    อาจารย์นิพนธ์  อ้ายไชย อาจารย์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ห้องเรียนวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!