เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
วันที่ 18 เมษายน 2024, 09:39:42
หน้าแรก ช่วยเหลือ เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก



  • ข้อมูลหลักเว็บไซต์
  • เชียงรายวันนี้
  • ท่องเที่ยว-โพสรูป
  • ตลาดซื้อขายสินค้า
  • ธุรกิจบริการ
  • บอร์ดกลุ่มชมรม
  • อัพเดทกระทู้ล่าสุด
  • อื่นๆ

ประกาศ !! กรุณาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ : https://forums.chiangraifocus.com/index.php?topic=1025412.0

+  เว็บบอร์ด เชียงรายโฟกัสดอทคอม สังคมออนไลน์ของคนเชียงราย
|-+  ศูนย์กลางข้อมูลเชียงราย
| |-+  ศาสนา กิจกรรมทางวัด (ผู้ดูแล: ap.41, ลุงหนาน)
| | |-+  บทสวดมนต์ สำคัญๆ จากพระไตรปิฎก
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
หน้า: [1] พิมพ์
ผู้เขียน บทสวดมนต์ สำคัญๆ จากพระไตรปิฎก  (อ่าน 10147 ครั้ง)
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:15:07 »

คาถาอุณหิสวิชัย


ก่อน สวดควรจะจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยก่อนและควรอารธนาศีล5ก็ดีหรือศีล8ก็ดี เพื่อยังความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ อาศัยความบริสุทธิ์ของศีลเป็นเครื่องหนุนและเป็นกำลังในการสวดมนต์ทุกๆอย่าง ทุกๆบท

นะโม 3 จบ

อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อนุตตะโร
สัพพะ สัตตะหิ ตัตถายะ ตัง ตะวัง คัณหาหิ เทวะเต
ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
พยัคเฆ นาเค วิเส ภูเต อะกาละ มะระเณนะ วา
สัพพัส มา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กาละมาริตัง
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนัง คะรุง
ปะเรสัง เทสะนัง สุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ

คำ แปล

เทวเต ดูกรเทวดาทั้งหลาย พระธรรมนี้ชื่อว่าอุณหิสสวิชัย เป็นยอดแห่งพระธรรมทั้งหลายเป็น
ประโยชน์แก่สัตว์ทั้งมวล ท่านจงเอาพระธรรมนี้เป็นที่พึ่ง อุตสาห์สวดบ่นสาธยายทุกเช้าค่ำ ย่อมห้ามเสีย ซึ่งภัยทั้งปวง อันจะเกิดขึ้นจากผีปิศาจหมู่พยัคฆะงูใหญ่น้อย และพญาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายจะไม่ตาย ผู้ใดได้เขียนไว้ก็ดี ได้ฟังก็ดี ได้สวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันก็ดี จะมีอายุยืน เทวเต ดูกรเทวดา ทั้งหลาย ท่านจงมีความสุขเถิด


บทสวดอานิสงส์คาถาอุณหิสวิชัย


สักกัตวา พุทธะรัตนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง หิตัง เทวะนุสสานัง
พุทธะเตเชนะ โสตถินา  นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ทุกขา วูปะสะเมนตุ เมฯ
สักกัตวา ธัมมะรัตนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง ปะริฬาหู ปะสะมะนัง
ธัมมะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ภะยา วูปะสะเมนตุ เมฯ
สักกัตวา สังฆะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง อาหุเนยยัง ปาหุเนยยัง
สังฆะเตเชนะ โสตถินา นัสสันตุ ปัททะวะ สัพเพ โรคาวูปะสะเมนตุ เมฯ

นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ทุกขา (  “ เม “ สวดให้เราเอง สวดให้คนอื่นเปลี่ยนป็น “ เต “)


คำแปล

อนึ่ง บุคคลผู้ใดบูชาแก้วทั้ง 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นยาอันอุดม ย่อมคุ้ม
ครองผู้นั้นให้พ้นจากทุกข์ภัยพยาธิทั้งปวง ด้วยอำนาจพระอุณหิสสวิชัยนี้ จะรักษาคุ้มครองให้ชีวิตของท่านเจริญสืบ ต่อไป ท่านจงรักษาไว้ให้มั่นอย่าให้ขาดเถิด เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนาลง เทวดาทั้งหลายมีท้าวอมรินทร์เป็นประธานได้ดื่มรสแห่งพระสัทธรรมเป็นอัน มาก ฝ่าย สุปติฏฐิตาเทพบุตร มีจิตน้อมไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนานั้น ได้กลับอัตตภาพใหม่ คือ มีกายอันผ่องใส เป็นเทวบุตรหนุ่มคืนมาแล้วจะมี อายุยืนตลอดไปถึงพระพุทธพระนามว่า ศรีอริยเมตไตรยลงมาตรัสจึงจะจุติจากเทวโลก ลงมาสู่มนุษย์โลก เป็นพระอรหันตขีณาสวะองค์หนึ่ง ดังนั้นขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงสำเนียกไว้ในใจแล้วประพฤติปฏิบัติในพระ คาถา อุณหิสสวิชัย ก็จะสมมโนมัยตามความปรารถนาทุกประการ

(คาถาบท นี้ เป็นพระคาถาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทาน ให้เทพบุตรอุณหิสวิชัยได้ท่อง พระคาถานี้จึงได้มีอายุอยู่ในสวรรค์ต่อไปอีก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 26 กรกฎาคม 2012, 12:37:30 โดย ClassicHome » IP : บันทึกการเข้า
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #1 เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:19:46 »

อานิสงส์คาถาอุณหิสสวิชัย

ในสมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่เหนือพระแท่นศิลาอาสน์ภาย

ใต้ต้นปาริกชาติ ณ ดาวดึงสพิภพ ตรัสพระสัทธรรม เทศนา อภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพุทธมารดา ใน

กาลครั้งหนึ่งนั้นมีเทพบุตรองค์หนึ่ง นามว่าสุปติฏฐิตา ได้เสวยทิพย์สมบัติอยู่ชั้นดาวดึงส์มาช้านาน ก็อีก 7 วัน จะสิ้นบุญจุติจากดาวดึงส์ ลงไปอุบัติในนรกเสวยทุขเวทนาอยู่ตลอดแสนปี ครั้นสิ้นกรรมในนรกนั้นแล้วก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน 7 จำพวก เสวย วิบากกรรมอยู่ 500 ชาติ ทุก ๆ จำพวก

ยังมีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า อากาสจารินี ซึ่งเป็นผู้รู้ บุรพกรรมของสุปติฏฐิตาเทพบุตร อาศัยความคุ้นเคยสนิทสนมกลมเกลียวกันตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์ เคยได้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันในอดีตชาติล่วงมาแล้ว มองเห็นอกุศลกรรมตามทัน จะสนองผลแก่สหายของตนก็มีจิตปรานีใคร่จะอนุเคราะห์ จึงเข้าไปสู่สำนักของสุปติฏฐิตาเทพบุตร แล้วก็บอกเหตุที่จะสิ้นอายุภายในอันเร็ว ๆ นี้ ตลอดทั้งที่จะไปเกิดในนรก ครั้งพ้นจากนรกแล้ว จะต้องไปกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานให้ทราบสิ้นทุกประการ ฝ่ายสุปติฏฐิตาเทพบุตร ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความสะดุ้งตกใจกลัว คิดปริวิตก บุพพนิมิต 4 ประการ คือดอกไม้ทิพย์ร่วงโรย ประการหนึ่ง สรีระ ร่างกายมัวหมองไม่ผ่องใส ประการหนึ่ง ผ้าทิพย์ภูษา เครื่องทรงเศร้าหมองไม่ผ่องใส ประการหนึ่ง ครั้งทรงผ้าสไบเข้าก็ร้อนกระวนกระวายไปประการหนึ่งบุพพนิมิตเหล่านี้ก็ปรากฏแก่สุปติฏฐิตาเทพบุตร บุพพนิมิต 4 ประการนี้ ปรากฏแก่เทพบุตรหรือเทพธิดาองค์ใดแล้ว เทพบุตรธิดาองค์นั้น จะต้องจุติจากเทวโลกอย่างแน่นอน

เมื่อ สุปติฏฐิตาเทพบุตร ทราบชัดเจนเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่นิ่งนอนใจใคร่จะหาเครื่องป้องกัน จึงเข้าไปสู่สำนักท้าวอเมรินทราธิราชเจ้า ถวายอภิวาทแล้วกราบทูลเหตุการณ์ให้ทรงทราบ แล้วทูลอ้อนวอนขอชีวิตในสำนักอมรินทร์ โดยอเนกปริยายท้าวเธอตรัสตอบว่า ชื่อว่าความตายนี้เราเห็นผู้ใหญ่ในสรวงสวรรค์ ก็ไม่อาจห้ามบุพพกรรมอันมีกรรมแรงนี้ได้ เราเห็นอยู่แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั่ว 3 ภพ พระองค์เสด็จประทับอยู่ใต้ต้นปาริกชาติ มาเราจะพาเข้าเฝ้ากราบทูลอาราธนา ให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ สุปติฏฐิตาเทพบุตร ถือเครื่องสักการบูชาตามเสด็จท้าวอมรินทราธิราช เข้าสำนักพระมหามุนีนาถพระศาสดาจารย์แล้ว กราบทูลเหตุการณ์เหล่านั้น ให้พระองค์ทรงทราบโดยสิ้นเชิง แล้วพระองค์ทรงแสดงบุพพกรรมของ สุปติฏฐิตาเทพบุตร องค์นี้เกิดเป็นมนุษย์มีความเห็นผิด เป็นผู้ประมาทตั้งอยู่ในมิจฉาทิฏฐิเป็นพรานฆ่าเนื้อเบื่อปลาเป็นผู้มีใจแข็งกระด้าง ตบตีบิดามารดาต่อสมณชีพราหมณ์ ไม่ลุกรับนิมนต์ให้อาสนะที่นั่งภิกษุสงฆ์ผู้เข้าไปสู่สำนัก แม้เห็นแล้วก็ทำเป็นไม่เห็นเสีย ด้วยวิบากผลอกุศลกรรมอันนี้ตามทันเข้า สุปติฏฐิตาเทพบุตรจึงได้ไปเกิดในนรกตลอดแสนปี ครั้นพ้นจากนรกขึ้นมาก็จะไปกำเนิดแห่งสัตว์ 7 จำพวก คือเป็นแร้ง เป็นรุ้ง เป็นกา เป็นเต่า เป็นหนู เป็นสุนัข และเป็นคนหูหนวกตาบอดอย่างละ 500 ชาติ ด้วยอำนาจอกุศลกรรมนั้นแหละ ขอมหาบพิตรจงทราบด้วยประการฉะนี้

เมื่อท้าวอมรินทร์ทรงทราบแล้ว ก็มีความเมตตาสงสารแก่สุปติฏฐิตาเทพบุตร ยิ่งนัก จึงกราบ
ทูลให้พระองค์ทรงแสดงพระสัจธรรมเทศนาอันจะเป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลก ช่วยชีวิตเทพบุตรองค์นี้ไว้ไม่ให้ตายลงภายใน 7 วันนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเทศนาคาถาอุณหิสสวิชัย มีใจความดังต่อไปนี้

อตฺถิ อุณฺหิสฺสวิชโย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร สพฺพสตฺตหิตตฺถาย ตํ ตฺวํ คณฺหาหิ เทวเต ปริวชฺเช ราชทณฺเฑ อมนุสฺเสหิ ปาวเก พยคฺเฆ นาเค วิเสภูเต อกาลเรเณน วา สพฺพสฺมา มรณา มุตฺโต ฐเปตุวา กาลมาริตํ ตสฺเสว อานุภาเวน โหตุ เทโว สุขี สทาสุทฺธสีลํ สมทาย ธมฺมํ สุจริตํ จเร ตสฺ เสว อานุภาเวน โหตุ เทโว สุขี สทา ลิกฺขิตตํ ปูชํ ธารณํ วาจนํ ครุ ปเรสํ สุตฺวา ตสฺส อายุปวฑฺฒตีติ ฯ เทวเต

ดูกรเทวดาทั้งหลาย พระธรรมนี้ชื่อว่าอุณหิสสวิชัย เป็นยอดแห่งพระธรรมทั้งหลายเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งมวล ท่านจงเอาพระธรรมนี้เป็นที่พึ่ง อุตสาห์สวดบ่นสาธยายทุกเช้าค่ำ ย่อมห้ามเสียซึ่งภัยทั้งปวง อันจะเกิดขึ้นจากผีปิศาจหมู่พยัคฆะงูใหญ่น้อย และพญาเสนาอำมาตย์ทั้งหลายจะไม่ตาย ผู้ใดได้เขียนไว้ก็ดี ได้ฟังก็ดี ได้สวดมนต์ภาวนาอยู่ทุกวันก็ดี จะมีอายุยืน เทวเต ดูกรเทวดา ทั้งหลายท่านจงมีความสุขเถิด อนึ่งบุคคลผู้ใดบูชาแก้วทั้ง 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เป็นยาอันอุดม ย่อมคุ้มครองผู้นั้นให้พ้นจากทุกข์ภัยพยาธิทั้งปวง ด้วยอำนาจพระอุณหิสสวิชัยนี้ จะรักษาคุ้มครองให้ชีวิตของท่านเจริญสืบต่อไป ท่านจงรักษาไว้ให้มั่นอย่าให้ขาดเถิด เมื่อจบพระสัทธรรมเทศนาลง เทวดาทั้งหลายมีท้าวอมรินทร์เป็นประธานได้ดื่มรสแห่งพระสัทธรรมเป็นอันมาก ฝ่าย สุปติฏฐิตาเทพบุตร มีจิตน้อมไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนานั้น ได้กลับอัตตภาพใหม่ คือ มีกายอันผ่องใส เป็นเทวบุตรหนุ่มคืนมาแล้วจะมีอายุยืนตลอดไปถึงพระพุทธพระนามว่า ศรีอริยเมตไตรยลงมาตรัสจึงจะจุติจากเทวโลกลงมาสู่มนุษย์โลก เป็นพระอรหันตขีณาสวะองค์หนึ่ง ดังนั้นขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงสำเนียกไว้ในใจแล้วประพฤติปฏิบัติในพระคาถา อุณหิสสวิชัย ก็จะสมมโนมัยตามความปรารถนาทุกประการ
IP : บันทึกการเข้า
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #2 เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:23:14 »

อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
จตุตถวรรค จวมานสูตร
อรรถกถาจวมานสูตร
ในจวมานสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อายจัง

บทว่า ยทา แปลว่าในกาลใด บทว่า เทโว ได้แก่เทวดาเหล่าอุปบัติเทพ.

ก็เทวดามี ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ ๑ อุปบัติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑.
ในเทวดา ๓ จำพวกเหล่านั้น กษัตริย์ผู้เป็นพระราชาทั้งหลายชื่อว่าสมมติเทพ. เทวดาผู้สูงกว่านั้นขึ้นไปเริ่มแต่เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้น ชื่อว่าอุปบัติเทพ. พระขีณาสพ ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.
แต่ในพระสูตรทรงประสงค์เอาเทพชั้นกามาวจร ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า บทว่า เทโว ได้แก่ อุปบัติเทพ.
บทว่า เทวกายา ความว่า จากชุมนุมแห่งเทพ หรือจากตำแหน่งแห่งเทพ. อธิบายว่า จากเทวโลก เพราะว่ากายศัพท์นี้ บ่งถึงการอยู่กันเป็นหมู่.

บทว่า จวนธมฺโม ความว่า มีความตายเป็นธรรมดา. อธิบายว่า มีมรณะปรากฏแล้ว เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ.

บทว่า ปญฺจสฺส ปุพฺพนิมิตฺตานิ ปาตุภวนฺติ ความว่า บุพนิมิตแห่งความตาย ๕ ประการย่อมเกิดขึ้น หรือปรากฏแก่เทพนั้นผู้มีมรณะปรากฏแล้ว.

บทว่า มาลา มิลายนฺติ ความว่า ดอกไม้ที่เทพบุตรนั้นประดับนั้นจะเหี่ยวคือหมดความงดงาม เหมือนโยนไปที่แดดในเวลาเที่ยง.

บทว่า วตฺถานิ กิลิสฺสนฺติ ความว่า (อาภรณ์คือ) ผ้าที่เทพบุตรนั้นนุ่งห่มแล้วมีสีเหมือนพระอาทิตย์อ่อนๆ ที่ทอแสงอยู่ในอากาศที่ปราศจากเมฆหมอกในสรทสมัย มีสีต่างๆ จางลง ไม่แวววาว เศร้าหมอง เหมือนถูกโยนลงไปในโคลนแล้วขยำในขณะนั้นทีเดียว.

บทว่า กจฺเฉหิ เสทา มุจฺจนฺติ ความว่า ในขณะนั้น หยาดเหงื่อหลั่งไหลออกจากรักแร้ทั้งสองของเทพบุตร ผู้มีร่างปราศจากคราบเหงื่อไคลมาก่อน เหมือนแก้วมณีโดยกำเนิดที่บริสุทธิ์ดี และเหมือนรูปหล่อทองคำที่ศิลปินผู้เชี่ยวชาญตกแต่งแล้ว ก็ไม่ใช่ไหลออกจากรักแร้อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่เหงื่อกาฬก็จะไหลออกจากร่างกายทั้งสิ้นของเทพบุตรนั้น โดยที่กายของเทพบุตรเป็นเสมือนหนักอึ้งด้วยข่ายที่ประดับประดาล้วนไปด้วยข่ายแห่งมุกดาที่ตนประดับแล้ว.

บทว่า กาเย ทุพฺพณฺณิยํ โอกฺกมติ ความว่า ในชั้นต้นเริ่มแต่ปฏิสนธิ ร่างกายจะแผ่รัศมีพวยพุ่งไปตลอดสถานที่โยชน์ ๑ บ้าง ๒ โยชน์บ้าง จนถึงที่ประมาณ ๑๒ โยชน์บ้าง ตามอานุภาพ (ของตน) จะปราศจากชราภาพ มีฟันหักและหนังย่นเป็นต้น ความหนาว ความร้อน จะไม่เข้าไปกระทบกระทั่ง จะเป็นเหมือนเทพธิดารุ่นสาวอายุราว ๑๖ ปี จะเป็นเหมือนเทพบุตรรุ่นหนุ่มอายุราว ๒๐ ปี (แต่) ในขณะนั้นเอง ความผิดรูปผิดร่าง (ขี้เหร่) จะเข้ามาแทนที่ คือสถิตอยู่ในกายที่สิ้นรัศมี หมดเดช.

บทว่า สเก เทโว เทวาสเน นาภิรมติ ความว่า จะไม่ยินดี คือไม่ได้ความชื่นใจในทิพอาสน์สำหรับเล่นและบำเรอกับด้วยหมู่สาวสวรรค์ของตน.

ได้ยินว่า ความตายจักมีแก่เทพบุตรนั้นโดย ๗ วันด้วยการนับวันในมนุษย์ เพราะฉะนั้น บุพนิมิตเหล่านี้จึงปรากฏด้วยการเกิดขึ้นแห่งบุพนิมิตนั้น เทพบุตรนั้นย่อมถูกความโศกมีกำลังครอบงำด้วยคิดว่า เราต้องพลัดพรากจากสมบัติเห็นปานนี้ ด้วยเหตุนี้ ความกระวนกระวายอย่างใหญ่หลวงย่อมเกิดขึ้นในกายของเทพบุตรนั้น ด้วยเหตุนั้น เหงื่อจึงไหลออกจากลำตัวโดยประการทั้งปวง เทพบุตรบางองค์ที่มีทุกข์หาประมาณมิได้ตลอดกาลเนิ่นนานมา เมื่อไม่สามารถจะยับยั้งทุกข์นั้นไว้ได้ คร่ำครวญปริเทวนาการอยู่ว่า เราร้อน เรากลุ้ม ไม่ได้ความแช่มชื่นในที่ไรๆ พรำเพ้อ ละเมอ เที่ยวไปในที่นั้นๆ บางองค์ตั้งสติได้ แม้ไม่ได้แสดงความผิดปกติทางกายและวาจา เมื่ออดกลั้นทุกข์ คือความพลัดพรากจากของรักไม่ได้ จะเดือดร้อนเที่ยวไป.

ก็บุพนิมิตเหล่านี้ย่อมปรากฏเฉพาะเทวดาผู้มเหศักดิ์ทั้งหลายเท่านั้น เหมือนนิมิตทั้งหลายมีอุกกบาต แผ่นดินไหวและจันทรคราสเป็นต้น จะปรากฏแก่ผู้มีบุญใหญ่ในโลก เช่นพระราชาและราชมหาอมาตย์เป็นต้น หาปรากฏแก่คนทั่วไปไม่.

ก็เทวดาบางเหล่ารู้นิมิตเหล่านั้นที่เกิดแล้วว่า นิมิตเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุพนิมิตแห่งมรณะ ไม่ใช่รู้หมดทุกองค์.

ในเทพบุตรเหล่านั้น เทพบุตรที่เกิดด้วยกุศลธรรมอย่างอ่อน ก็จะกลัวไปว่า บัดนี้ใครเล่าจะรู้ว่า เราจักเกิดในที่ไหน?

ส่วนพวกที่มีบุญมากจะไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ด้วยคิดว่าเราได้ให้ทานได้รักษาศีล ได้สั่งสมบุญไว้มากแล้ว เราจุติจากโลกนี้แล้ว เป็นอันหวังได้สุคติทีเดียว. ก็เทวดาทั้งหลาย ครั้นถือเอาบุพนิมิตที่ปรากฏขึ้นอย่างนี้นั้นแล้ว ย่อมเข้าไปสู่สวนนันทนวัน สวนนันทนวันมีประจำอยู่ในเทวโลกทุกชั้นทีเดียว.

บทว่า ตีหิ วาจาหิ อนุโมทนฺติ ความว่า เทวดาทั้งหลายย่อมอนุโมทนาด้วยคำทั้ง ๓ ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวในบัดนี้ คือย่อมยังความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดขึ้น ย่อมให้สบายใจ หรือกระทำความบันเทิงอันสมควรแก่สภาพการณ์ในขณะนั้น ด้วยสามารถแห่งความสบายใจนั้น. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวความของบทว่า อนุโมทนฺติ เป็นโอวทนฺติ.

บทว่า อิโต ความว่า จากเทวโลก.
บทว่า โภ เป็นอาลปนะ (คำร้องเรียก).
บทว่า สุคตึ ได้แก่ คติที่ดี อาจารย์ทั้งหลายกล่าวหมายถึงมนุษยโลก.
บทว่า คจฺฉ ความว่า เข้าถึงด้วยสามารถแห่งการถือปฏิสนธิ.
บทว่า เอว วุตฺเต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงถ้อยคำที่เทวดาเหล่านั้นจะพึงกล่าวแก่เทพบุตรนั้น โดยนัยมีอาทิว่า ท่านจากเทวโลกนี้แล้วจงไปสู่สุคติเถิด ในครั้งนั้นอย่างนี้ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คือรูปหนึ่งผู้ไม่ปรากฏโดยนามและโคตร นั่งอยู่ในบริษัทนั้น เป็นผู้ฉลาดในอนุสนธิ ได้กราบทูลคำนี้อาทิว่า กึ นุ โข ภนฺเต อะไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า นี้ด้วยประสงค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสุคติเหล่านี้ไว้โดยไม่แปลกกัน ไม่แจ่มแจ้งเลย อย่ากระนั้นเลย เราจักให้พระองค์ตรัสสุคติเป็นต้นเหล่านั้นให้ชัดเจน (กว่านี้อีก) ความเป็นมนุษย์อันเทวดาทั้งหลายประสงค์ยิ่งนัก โดยเป็นเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งคุณพิเศษมีศรัทธาเป็นต้น และโดยเป็นเหตุแห่งการเข้าถึงความเป็นเทวดา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความเป็นมนุษย์แล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลายดังนี้
IP : บันทึกการเข้า
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #3 เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:23:59 »

บทว่า สุคติคมนสงฺขาตํ ความว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วโดยชอบว่า ไปสู่สุคติ. อธิบายว่า ทรงสรรเสริญ คือทรงชมแล้ว.

บทว่า ยํ ในคำว่า ยํ มนุสฺสภูโต นี้เป็นกิริยาปรามาส ด้วยบทว่า ยํ นั้น ท่านเท้าความถึงกิริยาคือการได้เฉพาะ ในบทว่า ปฏิลภติ นี้. อธิบายว่า ได้เฉพาะซึ่งศรัทธา.

บทว่า มนุสฺสภูโต ความว่า เกิดแล้วในมนุษย์ทั้งหลาย.

อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ถึงความเป็นมนุษย์ เพราะเหตุที่ผู้ที่เกิดในเทวโลกโดยมากยากที่จะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระ ตถาคตเจ้า ไม่เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มนุสฺสภูโต ดังนี้.

บทว่า ตถาคตปฺปเวทิเต ธมฺมวินเย ความว่า ในคำสอนที่สงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓ ที่พระตถาคต คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.

เพราะว่า คำสอนนั้น ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะชื่อว่าธรรม เหตุที่ไม่ปราศไปจากธรรม และชื่อว่าวินัย เพราะฝึกเวไนยสัตว์ตามสมควรแก่กิเลส.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะแนะนำผู้มีกำเนิดแห่งบุคคลผู้มีนัยน์ตามีธุลีน้อย. ที่ชื่อว่าเป็นธรรม เพราะไม่ปราศไปจากธรรม เหตุที่สมบูรณ์ไปด้วยอุปนิสัย.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะฝึกด้วยธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่ฝึกด้วยท่อนไม้และศาสตรา.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะการฝึกนั้นประกอบด้วยธรรม.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะนำเข้าไปหาธรรมเพื่อมรรคผลและนิพพานตามลำดับ.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะเป็นเครื่องแนะนำที่เป็นไปแล้วโดยธรรมมีมหากรุณาและพระสัพพัญุตญาณเป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะพระธรรมเป็นเครื่องนำเข้าไปหาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นองค์ธรรม เป็นธรรมกาย เป็นธรรมสวามี ไม่ใช่นำเข้าไปหาธรรมของนักตรรกวิทยาทั้งหลาย.

อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะเป็นเครื่องแนะนำที่เป็นไปแล้วในธรรม คือมรรคผลหรือในธรรมอันเป็นวิสัยที่จะพึงให้สำเร็จ ในพระธรรมวินัยนั้น.

บทว่า สทฺธํ ปฏิลภติ ความว่า ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นโดยนัยมีอาทิว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม (ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว).

อธิบายว่า ผู้มีศรัทธา เมื่อปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ตามที่ทรงสอนไว้ ย่อมยังใจให้ยินดีในทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ และปรมัตถประโยชน์.

ในบทว่า สุลทฺธลาภสงฺขาตํ นี้ มีอธิบายว่า
การใช้เงิน ทอง นาและสวนเป็นต้น ย่อมนำความสุขในการใช้สอยมาให้สรรพสัตว์ ห้ามทุกข์มีความหิวและความระหายเป็นต้น บรรเทาความยากจนเงินทองเสียได้ เป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีมุกดาเป็นต้น และนำมาซึ่งสันตติในโลกมาให้ฉันใด
แม้ศรัทธาที่เป็นโลกิยะและโลกุตระก็ฉันนั้น จะนำวิบากสุขที่เป็นโลกิยะและโลกุตระมาให้ตามที่เกิดขึ้น จะหักห้ามทุกข์มีชาติชราเป็นต้นเสียได้ จะระงับความยากจนคุณธรรมเสียได้ จะเป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น และจะนำมาซึ่งสันตติในโลกแก่เหล่าชนผู้ปฏิบัติด้วยสัทธาธุระ.

สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศและโภคะ
จะอยู่ประเทศใดๆ ก็เป็นผู้ที่เขาบูชาแล้วในประเทศนั้นๆ
ทีเดียว ดังนี้.๑-
IP : บันทึกการเข้า
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #4 เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:26:23 »

คาถาโพชฌังคปริตร


ตำนาน

สมัย หนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระมหากัสสปะอาศัยอยู่ในปิปผลิคูหา บัง เกิดโรคาพาธแรงกล้า อาการหนักขึ้นทุกวันขณะที่พระผู้มีพระภาค ทรงสถิตอยู่ในสมาบัติ เมื่อถึงกาลอันควร ทรงออกจากสมาบัติแล้ว จึงทรงมีพระกรุณาโปรด เสด็จไปเยี่ยมอาการไข้ของพระมหากัสสปะเถระ ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนานั้น พระมหากัสสปะ มีจิตโสมนัสยินดีรื่นเริงในธรรม ลุกขึ้นกราบพระบาท หายจากอาการไข้โดยพลัน

อีกครั้ง ขณะที่พระบรมศาสดา ทรงประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ ครานั้นพระมหาโมคคัลลานะ อาศัยอยู่ ณ เขาคิชฌกูฎ เกิดอาการอาพาธหนัก พระบรมศาสดาเมื่อทรงออกจากสมาบัติแล้วไปเสด็จไปเยี่ยมอาการป่วยของพระโมคคัล ลานะ แล้วทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระมหาโมคคัลลานะฟัง พระมหาโมคคัลลานะนั้นก็หายจากอาการป่วยโดยพลัน

แม้พระ บรมศาสดาเอง เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงพระประชวรหนัก ด้วยโรคปวดท้อง มิมียาใด ๆ รักษาให้หายได้ จึงมีพระพุทธฎีการับสั่งให้พระจุนทะเถระ แสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระองค์ทรงสดับ เมื่อพระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการจบลง พระบรมศาสดาก็ทรงหายจากอาการประชวรโดยพลัน ทรงเสด็จลุกขึ้นจากพระบรรทมได้ในทันที

กาลนี้ ขอเชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย สาธยายโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้แก่คนยาก ได้สดับเพื่อความสวัสดี จะพึงมีแก่ข้าต่อไป


คำแปล

โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม โรคก็หายได้ในบัดดล

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง ๓ องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ.
IP : บันทึกการเข้า
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #5 เมื่อ: วันที่ 23 กรกฎาคม 2012, 10:29:25 »

อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ มหากัสสปสูตร



อรรถกถามหากัสสปสูตร
มหากัสสปสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อายจัง

บทว่า ราชคเห ได้แก่ ใกล้นครอันมีชื่ออย่างนี้.

จริงอยู่ นครนั้นเรียกว่าราชคฤห์ เพราะพระเจ้ามหามันธาตุ และพระเจ้ามหาโควินท์เป็นต้นปกครอง บางอาจารย์พรรณนาในข้อนี้โดยประการอื่นมีอาทิว่า ชื่อว่าราชคฤห์ เพราะเป็นเรือนของพระราชาผู้เป็นข้าศึก ที่ใครๆ ครอบงำได้ยาก. ท่านอาจารย์เหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร.

คำว่า ราชคฤห์นั้นเป็นชื่อของนครนั้น. ก็นครราชคฤห์นี้นั้น เป็นเมืองอยู่ในสมัยพุทธกาล และสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ ในกาลอื่น เป็นเมืองร้าง พวกยักษ์ยึดครองกลายเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์เหล่านั้น.

คำว่า เวฬุวนํ ในคำว่า เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป เป็นชื่อของวิหารนั้น.
ได้ยินว่า พระเวฬุวัน นั้นล้อมด้วยกำแพงสูง ๑๘ ศอก ประดับด้วยคันธกุฎีใหญ่สมควรเป็นที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และด้วยสิ่งอื่นมีปราสาท กุฎี ที่เร้น มณฑป ที่จงกรม และซุ้มประตูเป็นต้น ภายนอกแวดล้อมด้วยไม้ไผ่ มีสีเขียว น่ารื่นรมย์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เวฬุวัน. และเรียกว่ากลันทกนิวาปะ เพราะเป็นที่ให้เหยื่อแก่พวกกระแต.

ได้ยินว่า สมัยก่อน พระราชาองค์หนึ่งเสด็จประพาสพระราชอุทยานนั้น ทรงเมาน้ำจัณฑ์ จึงบรรทมกลางวัน ฝ่ายบริวารของพระราชานั้น คิดว่า พระราชาบรรทมหลับแล้ว ถูกประเล้าประโลมด้วยดอกไม้และผลไม้ จึงหลีกไปคนละทิศละทาง.

ครั้งนั้น งูเห่าเลื้อยออกจากโพรงไม้ต้นหนึ่ง ด้วยกลิ่นเลื้อยมาตรงพระราชา. รุกขเทวดาเห็นดังนั้นจึงคิดว่า เราจะช่วยชีวิตพระราชา จึงแปลงเพศเป็นกระแต ไปร้องขึ้นที่ใกล้พระกรรณ. พระราชาทรงตื่นบรรทม งูเห่าก็เลื้อยกลับไป. พระราชาทรงเห็นดังนั้นจึงทรงพระดำริว่า กระแตนี้ให้ชีวิตเรา จึงทรงเริ่มตั้งเหยื่อแก่พวกกระแตในที่นั้น และทรงให้ป่าวประกาศประทานอภัย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมา ที่นั้นจึงนับว่า กลันทกนิวาปะ ก็คำว่า กลันทกะ เป็นชื่อของพวกกระแต. ในพระเวฬุวัน กลันทกนิวาปะ นั้น

บทว่า มหากสฺสโป ความว่า ชื่อว่ามหากัสสปะ เพราะเป็นพระกัสสปะผู้ใหญ่ เหตุประกอบด้วยคุณอันใหญ่มีศีลขันธ์เป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง พระมหาเถระองค์นี้เรียกว่า มหากัสสปะ เพราะเทียบกับพระกุมารกัสสปเถระ.

บทว่า ปิปฺผลิคุหายํ ความว่า ได้ยินว่า ที่ใกล้ประตูถ้ำนั้นได้มีต้นดีปลีต้นหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้ำนั้นจึงปรากฏว่า ปิปผลิคูหา. ที่ถ้ำปิปผลิคูหานั้น.

บทว่า อาพาธิโก ความว่า ชื่อว่าอาพาธิกะ เพราะมีอาพาธ อธิบายว่า มีการป่วยไข้.
บทว่า ทุกฺขิโต ความว่า ชื่อว่ามีทุกข์ เพราะเกิดทุกข์ที่อิงอาศัยกาย อธิบายว่า ประสบทุกข์.
บทว่า พาฬฺหคิลาโน ได้แก่ ผู้มีความเป็นไข้หนัก. แต่พระมหากัสสปะมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นความไข้นั้นได้. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นของท่าน จึงได้เสด็จไปในที่นั้น ตรัสโพชฌงคปริตร. ด้วยโพชฌงคปริตรนั้นนั่นเอง พระเถระจึงหายขาดจากอาพาธนั้น.
สมจริงดังที่ตรัสไว้ในโพชฌงคสังยุตว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัสสปะอาพาธ เป็นทุกข์
มีไข้หนัก อยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา. ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาค
เจ้าเสด็จออกจากที่เร้น เสด็จเข้าไปหาพระมหากัสสปะถึงที่อยู่
ครั้นแล้วได้ประทับบนอาสนะที่ตบแต่งไว้ ครั้นประทับนั่งแล้ว
ฯลฯ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า กัสสปะ เธอพอทนได้หรือ พอยัง
อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาสร่างลงไม่กำเริบหรือ
ที่สุดของความสร่างทุกขเวทนาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏ
หรือ.

พระมหากัสสปะทูลว่า ข้าพระองค์ทนไม่ได้ ยังอัตภาพ
ให้เป็นไปไม่ได้ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มีทุกขเวทนาอย่างแรง
กล้า ยังกำเริบ ไม่สร่างลง พระเจ้าข้า ความสิ้นสุดแห่งความ
กำเริบยังปรากฏ ความสร่างลงไม่ปรากฏ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กัสสปะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้
เรากล่าวชอบแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ อะไรบ้าง?

ดูก่อนกัสสปะ คือ สติสัมโพชฌงค์ อันเรากล่าวชอบแล้ว
อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน ฯลฯ

ดูก่อนกัสสปะ อุเบกขาสัมโพชฌงค์แล เรากล่าวชอบแล้ว
อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน, ดูก่อนกัสสปะ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าว
ชอบแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

พระมหากัสสปะทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โพชฌงค์ดีแท้
ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีแท้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ ท่านพระมหากัสสปะ
ดีใจ เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า. และท่านพระ
มหากัสสปะก็ได้หายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นก็เป็น
อันชื่อว่าพระมหากัสสปะละได้แล้วอย่างนั้น.


เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
อถโข อายสฺมา มหากสฺสโป อปเรน สมเยน ตมฺหา อาพาธา วุฏฺฐาสิ
ครั้นสมัยต่อมา ท่านพระมหากัสสปะก็หายจากอาพาธนั้น.

บทว่า เอตทโหสิ ความว่า ท่านพระมหากัสสปะฉันบิณฑบาตที่สัทธิวิหาริกนำเข้าไปถวาย ในวันเป็นไข้ในกาลก่อน ก็ได้อยู่ในวิหารนั้นแหละ ครั้นท่านหายจากอาพาธนั้นแล้ว ได้มีความปริวิตกนี้ว่า ไฉนหนอ เราพึงเที่ยวไปบิณฑบาตยังเมืองราชคฤห์.

บทว่า ปญฺจมตฺตานิ เทวตาสตานิ ได้แก่ นางอัปสรผู้มีเท้าดังสีเท้านกพิราบประมาณ ๕๐๐ ผู้บำเรอท้าวสักกเทวราช.

บทว่า อุสฺสุกฺกํ อาปนฺนานิ โหนฺติ ความว่า นางอัปสรเหล่านั้นคิดจะถวายบิณฑบาตแก่พระเถระ จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ ใส่ภาชนะทองเอาไปยืนอยู่ระหว่างทาง พลางกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรับบิณฑบาตนี้ จงสงเคราะห์พวกดิฉัน ต่างก็ขวนขวายในการถวายบิณฑบาต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อายสฺมโต มหากสฺสปสฺส ปิณฺฑปาตปฏิลาภาย เพื่อให้ท่านพระมหากัสสปะได้รับบิณฑบาต.

ได้ยินว่า ท้าวสักกเทวราชทราบความเป็นไปแห่งจิตของพระเถระ จึงส่งนางอัปสรเหล่านั้นไปด้วยพระดำรัสว่า พวกเธอจงไปถวายบิณฑบาตแก่พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปเถระ กระทำให้เป็นที่พึ่งของตน.

ความจริง ท้าวสักกเทวราชนั้นได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า บรรดานางอัปสรทั้งหมดนี้ที่ไปถึง บางคราว พระเถระพึงรับบิณฑบาตจากมือของนางอัปสรแม้สักคน ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่นางตลอดกาลนาน. พระเถระห้ามนางอัปสรผู้กำลังพูดว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงรับบิณฑบาตของดิฉัน ขอท่านจงรับบิณฑบาตของดิฉัน แล้วกล่าวว่า พวกเธอได้ทำบุญไว้แล้ว มีโภคะมาก จงหลีกไป เราจะสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจ แล้วจึงห้ามอีกครั้งกะนางอัปสรผู้พูดอยู่ว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงอย่าทำพวกดิฉันให้พินาศเลย จงสงเคราะห์พวกดิฉันเถิด จึงดีดนิ้วมือกล่าวซ้ำกะพวกอัปสรผู้ไม่ปรารถนาจะหลีกไป ซึ่งยังอ้อนวอนอยู่ว่า พวกเธอไม่รู้ประมาณตน จงหลีกไปเถิด.

นางอัปสรเหล่านั้นได้ยินเสียงดีดนิ้วมือของพระเถระ เมื่อไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงหนีไปยังเทวโลกตามเดิม.

เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปญฺจมตฺตานิ เทวตาสตานิ ปฏิกฺขิปิตฺวา ห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐.

บทว่า ปุพฺพณฺหสมยํ ได้แก่ สมัยหนึ่ง คือเวลาหนึ่ง ตอนเช้า.

บทว่า นิวาเสตฺวา ความว่า นุ่งห่มอย่างมั่นคง โดยการเปลี่ยนเครื่องนุ่งห่มในพระวิหาร. บทว่า ปตฺตจีวรมาทาย ความว่า ห่มจีวรแล้ว ถือบาตร. บทว่า ปิณฺฑาย ปาวิสิ ได้แก่ เข้าไปบิณฑบาต.

บทว่า ทลิทฺทวิสิขา ได้แก่ ถิ่นเป็นที่อยู่ของคนเข็ญใจ.

บทว่า กปณวิสิขา ได้แก่ ที่อยู่ของคนยากจน เพราะถึงความเสื่อมสิ้นโภคะ.

บทว่า เปสการวิสิขา ได้แก่ ที่อยู่ของช่างหูก.


บทว่า อทฺทสา โข ภควา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นอย่างไร? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงว่า กัสสปบุตรของเรา หายจากอาพาธแล้ว กำลังทำอะไรหนอ ทั้งที่ประทับนั่งในพระเวฬุวันนั่นแล ได้ทรงเห็นด้วยทิพยจักษุ.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบเนื้อความที่ท่านพระมหากัสสปะห้ามบิณฑบาตทิพย์ มีสูปะและพยัญชนะมากมาย ที่นางอัปสร ๕๐๐ นำเข้าไปถวาย แล้วกล่าวถึงข้อปฏิบัติในการสงเคราะห์คนกำพร้า.

บทว่า อิมํ อุทานํ ได้แก่ ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงอานุภาพแห่งความคงที่ของพระขีณาสพ โดยแสดงความเป็นผู้มักน้อยเป็นประธาน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนญฺญโปสึ ความว่า ชื่อว่าอัญญโปสี เพราะเลี้ยงคนอื่น. ผู้ไม่เลี้ยงคนอื่น ชื่อว่าอนัญญโปสี.

อธิบายว่า ชื่อว่าไม่มีเพื่อนสอง คือเป็นผู้เดียว เพราะไม่มีคนอื่นที่ตนจะต้องเลี้ยง. ด้วยคำนั้น ท่านแสดงถึงพระเถระเป็นผู้เลี้ยงง่าย.

จริงอยู่ พระเถระเลี้ยงเฉพาะตนด้วยจีวรเครื่องบริหารกาย และด้วยบิณฑบาตเครื่องบริหารท้อง ชื่อว่าเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่งอยู่. ไม่เลี้ยงใครๆ อื่น ในบรรดาญาติมิตรเป็นต้น เพราะเป็นผู้ไม่ติดในอารมณ์ไหนๆ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอนัญญโปสี เพราะไม่มีภาระที่ตนอันคนอื่นคนใดคนหนึ่งจะพึงเลี้ยง. ความจริง ผู้ที่มีปัจจัย ๔ เนื่องในทายกผู้ให้ปัจจัยคนเดียวเท่านั้น ไม่ชื่อว่าอนัญญโปสี เพราะมีความประพฤติเนื่องกับคนๆ เดียว.


ฝ่ายพระเถระอาศัยกำลังแข้ง เที่ยวบิณฑบาตโดยนัยดังกล่าว ในคาถามีอาทิว่า ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ เป็นผู้ใหม่ในตระกูลทั้งหลายเป็นนิตย์ ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารที่เจือปน. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชมเชยผู้นั้นด้วยปฏิปทาอันเปรียบด้วยพระจันทร์.

บทว่า อญฺญาตํ แปลว่า มีชื่อเสียงปรากฏ คือมีเกียรติยศแผ่ไปด้วยคุณตามความเป็นจริง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีชื่อเสียงปรากฏ เพราะเป็นผู้มักน้อย สันโดษด้วยภาวะที่ไม่ต้องเลี้ยงผู้อื่นนั้นนั่นแล. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อญฺญาตํ ชื่อว่าอันคนอื่นไม่รู้จัก โดยให้ผู้อื่นรู้จักตน เหตุไม่ปรารถนาลาภสักการะ และชื่อเสียง เพราะละตัณหาได้แล้วโดยประการทั้งปวง. ความจริง คนที่ยังไม่ปราศจากตัณหา มีความปรารถนาลามก ย่อมให้คนอื่นรู้จักตน โดยประสงค์ความยกย่องด้วยการหลอกลวง.

บทว่า ทนฺตํ ความว่า ฝึกตนแล้ว เพราะอรรถว่า ฝึกตนอย่างสูงสุดในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยอำนาจฉฬังคุเบกขา อุเบกขามีองค์ ๖.

บทว่า สาเร ปติฏฺฐิตํ ได้แก่ ตั้งลงในวิมุตติสาระ หรือตั้งอยู่ในศีลสาระเป็นต้น มีศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะเป็นต้น.

บทว่า ขีณาสวํ วนฺตโทสํ ความว่า ชื่อว่าขีณาสวะ เพราะละอาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้นได้โดยสิ้นเชิง จากนั้นแล ชื่อว่าวันตโทสะ เพราะคายโทษ มีราคะเป็นต้นได้โดยประการทั้งปวง.

บทว่า ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ความว่า เรากล่าวบุคคลนั้น คือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ ซึ่งมีคุณตามที่กล่าวแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

แม้ในที่นี้ พึงทราบความต่างกันแห่งเทศนา โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.


จบอรรถกถามหากัสสปสูตรที่ ๖
IP : บันทึกการเข้า
samurai_ฅนเมือง
VIP
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,120



« ตอบ #6 เมื่อ: วันที่ 24 กรกฎาคม 2012, 18:27:23 »

(มีตกหล่นไปคับ)
บทสวด อุณหิสวิชัย บรรทัดที่7กับ 8 ตกไป
คือ
   สุทธะสีลัง สะมาทายะ  ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
   ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา


บทสวด สักกัตวา บรรทัดที่ 2 ตกไป
คือ
 ปัททะวา สัพเพ ภะยา วูปะสะเมนตุ (ต่อท้าย นัสสันตุ  หน้าคำว่า เมฯ ) (บางที่ใช้ เต แทน เม)
IP : บันทึกการเข้า

หลายคนเรียนไม่จบแต่พบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นคนใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ปัญญาไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ในจิตใจที่ใฝ่รู้
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #7 เมื่อ: วันที่ 25 กรกฎาคม 2012, 08:00:00 »

โมทนาสาธุ และขอบพระคุณมากค่ะ เดี๋ยวจะลองเช็คอีกครั้งค่ะ ขอทราบที่มาของฉบับเต็มที่ท่าน samurai_ฅนเมือง มีด้วยค่ะ  จะได้ลองดูหลายๆ แห่ง เพราะที่คัดมา จาก 84000 ค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 25 กรกฎาคม 2012, 08:04:27 โดย ClassicHome » IP : บันทึกการเข้า
m11
เตรียมอนุบาล
*
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 27


เกิดมาทั้งทีก็มีแต่น้ำตาตกเข่า


« ตอบ #8 เมื่อ: วันที่ 25 กรกฎาคม 2012, 09:31:35 »

 ยิ้มกว้างๆ อนุโมทนาบุญด้วยครับ
IP : บันทึกการเข้า
samurai_ฅนเมือง
VIP
ระดับ ป.ตรี
***
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,120



« ตอบ #9 เมื่อ: วันที่ 25 กรกฎาคม 2012, 20:00:19 »

โมทนาสาธุ และขอบพระคุณมากค่ะ เดี๋ยวจะลองเช็คอีกครั้งค่ะ ขอทราบที่มาของฉบับเต็มที่ท่าน samurai_ฅนเมือง มีด้วยค่ะ  จะได้ลองดูหลายๆ แห่ง เพราะที่คัดมา จาก 84000 ค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

555+ ไม่มีที่มาฉบับเต็มหลอกคับ ผมท่องจำเอา (ท่องแบบเมืองเหนือ)
แต่ลอกเช็คดูนะคับ  บางที่อาจไม่เหมือนกันก็ได้...
IP : บันทึกการเข้า

หลายคนเรียนไม่จบแต่พบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นคนใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ปัญญาไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ในจิตใจที่ใฝ่รู้
ClassicHome
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #10 เมื่อ: วันที่ 26 กรกฎาคม 2012, 12:19:57 »

โมทนาสาธุกับคุณ samurai_ฅนเมือง ด้วยค่ะ บทสักกัตวานั้น ลงผิดจริงด้วยค่ะ โมทนาสาธุ ที่ท่านมาช่วยแก้ ปกติตนเองก็สวดอยู่แล้ว แต่พอมาลง คิดว่าคงพิมพ์ถูก ที่ 84000 เลยไม่ได้เช็ค ขอบพระคุณมากๆ ค่ะ จะได้ถูกต้อง ภาษาบาลี ต้องแม่นยำ หากขาดตกท่อนใดไปความหมายบางทีเปลี่ยนไป หรือไม่ครบเลย ค่ะ

ส่วนคาถาอุณหิสสวิชัย ขอยังคงไว้ตามเดิมตามที่ได้มา เพราะลงเหมือนกันหมดค่ะ หากคุณ samurai_ฅนเมือง สวดอยู่แล้วขอโมทนาสาธุด้วยค่ะ หากคาถา ทีท่านได้มานั้น มีเพิ่มเติม มีที่มา มีคำแปลเพิ่มเติมมา อย่างนี้ หากไม่รบกวน รบกวนนำมาเผยแพร่ต่อด้วยค่ะ จะได้รู้ว่ามีแตกต่างกันอย่างไร ใครรจนาขึ้น อย่างนี้ค่ะ โมทนากับท่านด้วยค่ะ สาธุ สาธุ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันที่ 26 กรกฎาคม 2012, 12:22:59 โดย ClassicHome » IP : บันทึกการเข้า
หน้า: [1] พิมพ์ 
« หน้าที่แล้ว ต่อไป »
กระโดดไป:  


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น

 
เรื่องที่น่าสนใจ
 

ข้อความที่ท่านได้อ่านบนกระดานข่าวแห่งนี้ เกิดขึ้นจากการเขียนโดยสาธารณชน และตีพิมพ์แบบอัตโนมัติ ผู้ดูแลเว็บไซต์แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
และไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ผู้อ่านจึงต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองด้วยตัวเอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และศีลธรรม พาดพิง ละเมิดสิทธิบุคคอื่น ต้องการแจ้งลบ
กรุณาส่งลิงค์มาที่
เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกให้ทันที..."

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2013, Simple Machines
www.chiangraifocus.com

Valid XHTML 1.0! Valid CSS!